Tag: สติปัฏฐาน
รู้ดีรู้ชั่วด้วยศีล
รู้ดีรู้ชั่วด้วยศีล
โลกปัจจุบันนี้ได้ดำเนินผ่านยุคที่พุทธศาสนารุ่งเรืองที่สุดจนกระทั่งมาถึงกึ่งกลางพุทธกาล หลายสิ่งเปลี่ยนผันไปความชั่วกลายเป็นสิ่งดีในสายตาผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ความดีก็ดูเหมือนว่าจะไร้ค่าลงไปทุกที ทุกวันนี้เราสามารถทำสิ่งที่ชั่วได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิดบาปอะไรด้วยเหตุผลประมาณว่าใครๆเขาก็ทำกัน จนสิ่งชั่วนั้นกลายเป็นค่านิยม เป็นความเข้าใจ เป็นมาตรฐาน สิ่งเดียวที่สามารถแยกดีแยกชั่วที่แท้จริงได้นั่นก็คือ “ศีล”
ศีลเป็นตัวกำหนดขอบเขตอย่างชัดเจนว่าสิ่งใดเบียดเบียนสิ่งใดไม่เบียดเบียน ศีลมีตั้งแต่ระดับที่ปฏิบัติไม่ยากจนเกินไปคือศีล ๕ จนกระทั่งถึงศีลระดับสูงอีกมากมาย ซึ่งนั่นหมายถึงหากต้องการขัดเกลาตนเองให้เป็นผู้ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นก็ต้องศึกษาในศีล
ศีลที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นั้นเป็นของที่ประเสริฐที่สุด เป็นสัจจะที่ถูกกล่าวออกมาจากบุรุษที่เก่งที่สุดในโลก เป็นความดีที่คัดสรรค์มาแล้ว เราไม่ควรจะตัดหรือบัญญัติใหม่ หรือกล่าวว่าศีลแต่ละข้อนั้นก็เหมือนๆกัน หรือเห็นว่าศีลเป็นเพียงพื้นฐานของการปฏิบัติธรรม ผู้ที่กล่าวเช่นนั้นอาจจะยังไม่เข้าใจแก่นสารสาระของศีล ไม่เข้าใจวิธีปฏิบัติศีล ไม่เข้าใจกระบวนการของไตรสิกขา ไม่รู้จักการชำระล้างกิเลส ไม่เข้าถึงแก่นของพุทธ
สติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน ศีล หิริโอตตัปปะ
สติกับศีลนั้นทำงานต่างกัน สตินั้นไม่ใช่ตัวแยกดีแยกชั่ว แต่เป็นตัวรู้ว่าขณะนั้นเกิดสภาวะใดในจิตใจขึ้น เป็นเพียงตัวรู้เฉยๆ ส่วนศีลคือตัวแยกเลยว่าสิ่งใดคือดี สิ่งใดชั่ว ถ้าอยู่ในศีลคือดี ผิดศีลคือชั่ว ส่วนความรู้สึกผิดกลัวต่อบาปที่เกิดขึ้นเรียกว่าหิริโอตตัปปะ เป็นสภาพของจิตที่เจริญมาจากการศึกษาศีล
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราถือศีล ๕ ไม่ฆ่าสัตว์ ในตอนแรกเราก็อาจจะยังตบยุงอยู่เพราะหิริโอตตัปปะยังไม่เจริญถึงขั้นสกัดขั้นไม่ให้ทำบาปได้ ส่วนสติสัมปชัญญะก็จะเป็นตัวรู้ว่าถูกยุงกัด ยุงกัด เจ็บ เจ็บ โกรธ โกรธ นี่คือระดับสติทั่วไป ถ้าจับได้ก็อาจจะสามารถข่มใจได้บ้าง หรือแม้จะมีสติก็อาจจะตบยุงได้ เพราะสภาวะที่จะมากั้นไม่ให้ลงมือทำบาปจริงๆจะเริ่มที่ขั้นของโอตตัปปะคือละอายต่อบาปจนไม่กล้าทำบาปแล้ว ส่วนหิรินั้นแค่เกรงกลัว ทำให้บางทีก็มีตามใจกิเลสแอบตบบ้าง แต่ตบไปแล้วก็จะรู้สึกผิด และถ้าเป็นสติปัฏฐาน ๔ จะระลึกรู้ไปถึงจิตที่มีกิเลสปน จะรู้ลึกไปถึงเหตุปัจจัยในการเกิดความโกรธ ว่ากิเลสใดที่ทำให้ตัดสินใจจะตบยุง และรู้ไปถึงธรรมที่จะมาขัดกิเลสนั้นๆ
ตัวอย่างที่สอง เราหัดกินมังสวิรัติ แม้จะเห็นคุณในการไม่เบียดเบียนสัตว์ทางอ้อมจนกระทั่งอธิศีลเพิ่มขึ้นมาในขอบเขตของศีลข้อ ๑ นั่นคือเรามีปัญญารู้แล้วว่ากินมังสวิรัติไม่เบียดเบียนอย่างไร กินเนื้อสัตว์เบียดเบียนอย่างไร เรียกว่าแยกดีแยกชั่วได้แล้ว เมื่อปฏิบัติไปต้องกระทบกับเมนูเนื้อสัตว์ สติเป็นเพียงตัวรู้ว่าเกิดอาการอะไรขึ้นในจิต แต่ศีลจะเป็นตัวกำหนดขอบเขตของดีและชั่ว ถ้าดีคืออดทนถือศีลต่อไป ถ้าชั่วก็ข้ามกำแพงศีลธรรมไปกินตามกิเลส
ตัวอย่างที่สาม ถ้าเราไม่ถือศีลกินมื้อเดียว ก็เรียกได้ว่ายังไม่ได้เริ่มแยกดีแยกชั่ว ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการกินหลายมื้อนั้นมีโทษภัยอย่างไร เข้าใจว่ามาตรฐานต้องสามมื้อ อันนี้เกิดจากไม่มีปัญญาศึกษาในสาระของศีล พอไม่รู้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่วก็ไม่ถือศีล เพราะฉะนั้นถืงจะมีสติแค่ไหนแต่ถ้ายังแยกดีแยกชั่วไม่ได้ ก็ยังกินสามมื้อเหมือนปกติ แม้จะกินไปอย่างมีสติรู้ตัวอย่างเต็มที่เคี้ยวข้าวทีละคำอย่างช้าๆ ค่อยๆ กลืน แต่ก็ไม่มีปัญญารู้ว่ากินสามมื้อชั่วอย่างไร กินมื้อเดียวดีอย่างไร
เมื่อเราศึกษาไปจะพบว่าสภาวธรรมแต่ละอย่างนั้นมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน แต่ทำคนละหน้าที่กัน เราจึงควรศึกษาให้เห็นสภาวะเหล่านั้นในตน ไม่เช่นนั้นก็อาจจะต้องงงกับสมมุติโลกที่หลากหลาย เช่นคำว่า “สติ” คำเดียว เขาครอบคลุมทุกอย่างเลยก็มี หรือแม้แต่เข้าใจว่าถ้ารู้ธรรม จำธรรมได้ ก็สามารถบรรลุธรรมได้ ความเห็นเหล่านั้นเกิดจากการไม่ศึกษาธรรมให้ถ่องแท้ ไม่เข้าใจไตรสิกขา ไม่รู้ความสัมพันธ์ของศีล สมาธิ ปัญญา ไม่คบบัณฑิต ไม่มีกัลยาณมิตร
รู้ดีรู้ชั่วด้วยศีลกับลูกหมูสามตัว
ในบทความนี้ก็จะยกตัวอย่างประกอบภาพไว้สามตัวอย่าง ซึ่งก็แนะนำให้ดูภาพประกอบบทความและค่อยๆทำความเข้าใจไปควบคู่กัน ในตัวอย่างแรกคือหมูดำ ที่ใช้ชีวิตไปสบายๆ ไม่ยินดีถือศีล ตัวอย่างที่สองคือหมูขาว ที่ถือศีลเพื่อความดีงาม ป้องกันความชั่ว และตัวอย่างสุดท้ายคือหมูชมพูที่ศึกษาศีลเพื่อที่จะชำระกิเลสไปโดยลำดับ
คนไม่มีศีล(หมูดำ)
คนที่ไม่มีศีล ก็ไม่ต้องทุกข์ร้อนลำบากใจอะไร ไม่ต้องมีอะไรขัดใจเมื่อตนเองอยากได้อยากเสพสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่น เหมือนปลาที่ว่ายอยู่ในน้ำแต่ไม่เห็นน้ำ คือแม้จะจมอยู่ในกองกิเลสแต่ก็ไม่รู้ตัวว่าอยู่ในกองกิเลส จึงใช้ชีวิตโดยประมาท โดยไม่รู้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว
ศีลเป็นเครื่องวัดกิเลสที่ดีมาก เมื่อเราถือศีลก็จะสามารถเห็นพลังของกิเลสที่จะทำลายศีลนั้นๆ ด้วยเหตุผลที่น่าเชื่อถือต่างๆนาๆ แม้กระทั่งเหตุผลที่ทำลายคุณค่าของศีลก็อาจถูกสร้างขึ้นมาจากกิเลสได้เช่นกัน
เมื่อศีลคือเครื่องทรมานสำหรับคนกิเลสหนา เขาเหล่านั้นจึงไม่ถือศีล ไม่ศรัทธาศีล ไม่ยินดีศึกษาในศีล เพราะความขยาดทุกข์ที่จะต้องเจอเมื่อถือศีล ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกคนจะถือศีลได้ เพราะกิเลสนั้นจะเป็นมารที่มาคอยขัดขวาง ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาธรรมะอย่างถูกตรงมักจะไม่มีวิธีการจัดการกับกิเลส สุดท้ายก็ทิ้งศีลและยึดกิเลสไว้แทน การไม่ถือศีลจึงเป็นเรื่องง่ายกว่าสำหรับพวกเขา
และเมื่อไม่มีศีล ก็ไม่มีอะไรเข้ามาแยกดีแยกชั่ว จึงมักจะใช้ตรรกะของตนเข้ามาเป็นตัวกำหนดว่าอะไรดีอะไรชั่ว ไม่ได้ใช้หลักการของพระพุทธเจ้า แต่เปลี่ยนมาใช้หลักกู เมื่อไม่เห็นตามพระพุทธเจ้าก็คือคนที่มีความเห็นผิด เมื่อเขามีความเห็นความเข้าใจที่ผิด ก็จะคิดผิดตามไปด้วย ดังนั้นหลักการตัดสินดีชั่วก็จะผิดแปลกตามไปด้วยเช่นกัน
คนถือศีล (หมูขาว)
คนที่ถือศีล คือคนที่มีศรัทธาและปัญญาเห็นคุณค่าของศีล แต่ก็มักจะถือศีลอย่างงมงาย เข้าใจว่าศีลนั้นเป็นเพียงแค่กฎ เป็นข้อบังคับไม่ให้ทำชั่ว โดยมีการปฏิบัติศีลในลักษณะของการกดข่มความชั่ว ใช้ศีลเป็นเครื่องเตือนใจไม่ให้ทำชั่ว ให้อยู่ในกรอบของความดีงาม
ซึ่งคนเหล่านี้ก็ถือว่าเจริญแล้ว เพราะพยายามละเว้นสิ่งที่จะเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เพราะแยกดีแยกชั่วได้บ้างแล้ว สิ่งใดชั่วก็ควรจะละเว้น สิ่งใดที่ดีก็ควรจะทำ แต่ก็ยังมีความลำบากในการถือศีล เพราะต้องคอยกดข่มความอยาก อดทนข่มใจเพื่อไม่ให้ผิดศีล จึงมีข้อจำกัดในการถือศีล เพราะถือศีลแต่ไม่ได้ชำระกิเลส เพียงแค่ใช้ศีลเป็นกรอบแห่งความดีงามและป้องกันสิ่งชั่วเท่านั้น
คนที่ถือศีลจะสามารถรู้ได้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่วและรู้ว่ายังมีศีลที่ละเว้นสิ่งที่ชั่วอีกมาก ซึ่งเขาอาจจะทำได้หรือไม่ได้ก็ได้ แต่ก็สามารถเห็นขอบเขตพรมแดนที่แบ่งแยกดีชั่วได้แล้ว
สรุปสองหมู คือทางโต่งสองด้าน
ทั้งหมูดำและหมูขาว คือแนวทางที่มีโอกาสจะลำเส้นเข้าไปในทางโต่งได้ง่าย หมูดำผู้ที่ไม่ยินดีในการถือศีลก็มักจะ โต่งไปทางกาม ไปติดสุขจากการเสพ เพราะไม่มีศีลมาเป็นตัวคอยขัดขวาง จึงสามารถทำชั่วได้โดยไม่มีขอบเขต ชั่วก็ไม่รู้ว่าชั่ว มักจะจมไปกับกามและห่างไกลจากทางสายกลางไปเรื่อยๆ
หมูขาวคือผู้ยินดีในการถือศีล แม้ว่าตนเองจะไม่ไปทำชั่วแล้ว แต่ก็มักจะมีทิศทางที่โต่งไปในด้านของอัตตา ไปในแนวทางการถือศีลอย่างยึดมั่นถือมั่น ถือศีลอย่างตึงเครียด กดดัน บีบคั้น จนสร้างความทุกข์ทรมานให้กับตนเอง ก็เป็นทางโต่งอีกด้านหนึ่ง ซึ่งแม้ว่าจะอยู่บนพื้นฐานของความดี แต่ก็ยังเป็นความดีที่สร้างทุกข์ให้ตนเองอยู่ ซึ่งการทำทุกข์ให้ตนเองก็คือชั่ว ชั่วก็คือกิเลส และนั่นก็คือทางโต่งอีกด้าน
คนศึกษาศีล (หมูชมพู)
คนที่ศึกษาและปฏิบัติศีลอย่างถูกตรง จะรู้วิธีถือศีลให้เกิดความเจริญ ไม่โต่งไปทั้งด้านกามและอัตตา คือไม่ทิ้งศีลเพื่อไปเสพอย่างมัวเมา และไม่ยึดมั่นถือมั่นในศีลจนทุกข์ทรมาน
ผู้ที่ศึกษาศีลจะใช้ศีลเป็นตัวกำหนดกรอบในการชำระกิเลส ใช้ศีลเป็นเขตในการปฏิบัติธรรม ด้วยพื้นฐานของปัญญาที่เห็นคุณค่าของศีลนั้นๆ หรือเรียกว่าเป็นไปตามอินทรีย์พละ เมื่อถือศีลแล้วก็จะค่อยๆชำระกิเลสไปด้วยสติปัญญาที่ตนมี ใช้กำลังจิตในการข่มอาการของกิเลสที่จะกำเริบ ใช้สติในการรู้ตัวตนของกิเลสเพื่อที่จะทำลาย และใช้ปัญญาเข้ามาพิจารณาโทษภัยของกิเลสนั้นๆ จนทำลายกิเลสไปได้โดยลำดับ
เมื่อถือศีลจนชำระกิเลสในขอบเขตหนึ่งได้ ก็จะขยายเพิ่มศีลในส่วนอื่นๆต่อไป ในส่วนเดิมก็ไม่ต้องทำแล้วเพราะกิเลสหมดแล้ว ก็ขยับไปทำอธิศีลหรือสร้างขอบเขตในการปฏิบัติธรรมขึ้นมาใหม่ เช่นตอนนี้ถือศีล ๕ ได้โดยไม่ลำบากใจแล้วนะ ก็ขยับฐานศีลขึ้นไปจากฐานเดิม เช่นมังสวิรัติ คือนอกจากไม่ฆ่าเองแล้วยังไม่สนับสนุนให้ใครฆ่าอีกด้วย ไม่เบียดเบียนทั้งทางตรงทางอ้อม พอขยับฐานก็ต้องตั้งมั่นในศีล ศึกษาศีลไปพร้อมๆกับ สร้างอธิจิตและอธิปัญญา ไตรสิกขาจึงเป็นการศึกษาที่ไปด้วยกันเป็นกระบวน ไม่แยกปฏิบัติ เมื่อแยกปฏิบัติจึงไม่เรียกว่าไตรสิกขา เมื่อไม่ใช้ไตรสิกขาที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าให้ศึกษาเพื่อการพ้นทุกข์ แล้วจะเอาผลสำเร็จมาจากไหน
ดังนั้นการศึกษาและปฏิบัติธรรมควรเริ่มต้นจากศีล โดยเรียนรู้กระบวนการปฏิบัติของไตรสิกขา เพื่อความเจริญก้าวหน้า ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ถือศีลอย่างงมงาย แต่เป็นผู้ถือศีลเพื่อชำระกิเลส
– – – – – – – – – – – – – – –
2.7.2558
ไม่มีศีล ไม่มีปัญญา
การจะเห็นตัวตนของกิเลสได้นั้น ว่ามันหลงเสพหลงติดหลงยึดอะไร ถ้าไม่มีศีลก็ยากนักที่จะเห็นสิ่งเหล่านั้นได้
เพราะคนไม่มีศีลก็ไม่ต้องรู้สึกทุกข์อะไร ไม่ต้องมีกฏ ไม่ต้องมีข้อบังคับ แต่คนมีศีลเขาจะใช้ทุกข์ที่เกิดเมื่อถือศีลนั่นแหละ มาเป็นตัวแกะรอยหาเหตุแห่งทุกข์
นั่นหมายถึงคนที่มีศีลจะมีผัสสะมากกว่าคนไม่มีศีล เพราะถ้าไม่มีศีลมันก็ไม่ต้องมีอะไรมาทำให้รู้สึกผิดชอบชั่วดีให้ต้องเกิดเวทนา
เมื่อผัสสะเกิดแต่ละครั้ง เราสามารถใช้สติปัฏฐานเข้าไปตรวจหาตัวตนของกิเลสนั้นได้ เมื่อมีสิ่งกระทบกายภายนอก จึงรับรู้ถึงกายข้างใน คือรู้เข้าไปถึงการเปลี่ยนแปลงของจิตด้วย
เมื่อรู้ถึงการเปลี่ยนแปลง ก็ให้รู้ต่อว่าเป็นเวทนาแบบใด เช่นเป็นทุกข์ ก็มาต่อว่าที่ทุกข์นั้นเพราะเรามีกิเลสใดปนเปื้อนอยู่ในจิตของเรา ความอยากเสพที่ทำให้จิตนั้นขุ่นมัวคืออะไร โลภ โกรธ หลง แล้วมันโลภยังไง มันโกรธเพราะอะไร มันหลงสุขในอะไร เมื่อหาเจอแล้วก็ ใช้ธรรมที่ตรงข้ามกันเข้ามาพิจารณาเพื่อหักล้างพลังของกิเลส
กระบวนการของสติปัฏฐานจะมีความต่อเนื่องตั้งแต่ กาย เวทนา จิต ธรรม ส่งต่อกันไปโดยลำดับ แล้วก็ทำซ้ำไปเรื่อยๆเมื่อผัสสะเกิดแต่ละครั้ง ขุดคุ้ยหากิเลสแล้วก็ล้างไปเรื่อยๆ วันหนึ่งเดี๋ยวก็หมดเอง
ซึ่งก็จะหมดตามขอบเขตของศีลนั้นๆ ตั้งศีลไว้กว้างเท่าไหร่ก็กำจัดกิเลสเท่านั้น พอเสร็จแล้วก็ขยับศีลไปทำเรื่องอื่นต่อ ศึกษาศีลข้ออื่นต่อ
จึงจะเห็นได้ว่า กระบวนการกำจัดกิเลสนั้นต้องเริ่มจากศีล ส่วนจะเป็นศีลอะไรนั้นก็ให้เลือกศึกษาให้สมควรแก่กำลัง ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรมก็จะเจริญได้ไว
ปฏิบัติธรรมไม่มาไม่ไป
การปฏิบัติธรรมนี่ถ้า “ไม่เห็นตัวกิเลส” จะปฏิบัติไม่ไปไหนเลยนะ ถ้าหลงไปว่า “ความคิด” นั้นคือรากของกิเลสยิ่งแล้วใหญ่ พาลจะไปดับความคิดให้มันวุ่นวายกันไปอีก
จุดที่ควรจะสนใจคือเหตุใดที่ทำให้เราเกิดความคิดนั้นๆ เราหลงเสพ หลงติด หลงยึดในอะไร ลากกิเลสที่ติดออกมาเป็นตัวๆเลย อย่าไปลากออกมาทั้งยวง ถ้าบอกว่า “ความหลง” แบบนี้มันกว้างเกินไป จัดการกิเลสไม่ได้หรอก
ต้องระบุให้ชัดเลยว่าหลงสุขใดตอนที่ได้สัมผัสสิ่งนั้น อย่างเช่นเรื่องการมีคู่ เราสุขตอนที่เขาบอกรัก จับตรงนี้ให้ได้ก่อนแล้ว ค่อยขุดหารากต่อไปอีกที
ถ้าหาเจอแล้วก็ค่อยพิจารณาธรรมกันไป ว่าสุขนั้นเกิดเพราะเรายึดมั่นถือมั่นอะไรไว้ จึงทำให้อยากได้อยากเสพสิ่งนั้น มาถึงขั้นตอนนี้ก็เพียรทำได้แล้ว จะสมถะหรือวิปัสสนาอะไร อัตราส่วนเท่าไหร่ก็แล้วแต่ความถนัด
(ที่กล่าวมาคือส่วนสรุปของ สติปัฏฐาน เพื่อไปสู่ธรรมวิจัยและวิริยะ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของโพชฌงค์ ๗)
= = = = = = = = = = =
**แนะนำบทความที่เกี่ยวข้องเหตุแห่งทุกข์
สมถะติดสุข ฤๅษีติดภพ
สมถะติดสุข ฤๅษีติดภพ ความฉิบหายของผู้ยึดมั่นถือมั่นในการปฏิบัติธรรมเพียงแค่ในกรอบของสมถะ
ในบทความนี้จะชี้ไปถึงความเห็นผิดของผู้ที่ติดภพในการสมถะแบบตรงไปตรงมา เพราะการหลงทางเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ขวางกั้นไม่ให้พบกับความสุขแท้ เพราะหลงเพียงแค่สุขลวงของความสงบที่ได้จากสมาธิแบบมิจฉาทิฏฐิ
ผู้เขียนไม่ได้ต้องการข่มผู้ที่เน้นการปฏิบัติสมถะแต่อย่างใด เพราะหลายครั้งผู้เขียนก็จำเป็นต้องใช้พลังของสมถะเข้ามาร่วมในการปฏิบัติธรรมเช่นกัน เพียงแค่ต้องการให้ “ผู้ที่หลงในสมถะเพียงอย่างเดียว” นั้นได้พิจารณาถึงความยึดมั่นถือมั่นที่จะนำไปสู่ความเนิ่นช้า
จึงได้สรุปออกมาเป็นหัวข้อเพื่อเสนอให้พิจารณาทั้งหมด 8 หัวข้อดังนี้
1). สับสนอลหม่านสมถะวิปัสสนา
ในปัจจุบันนักปฏิบัติธรรมจำนวนมาก มักสับสนกับบัญญัติ สมถะ วิปัสสนา และศัพท์อื่นๆอีกมากมายที่หลายต่อหลายคนได้นำมาตั้งชื่อให้เกิดความแตกต่าง ด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม แนวทางหลักของการปฏิบัตินั้นมีด้วยกันอยู่สองวิธีคือสมถะที่เป็นอุบายให้เกิดความสงบทางใจ และวิปัสสนาที่เป็นอุบายให้เกิดปัญญา
ทีนี้ก็มีหลายสำนักที่มีความเห็นผิด ตั้งชื่อสมถะของตนเองว่าวิปัสสนาบ้าง ไม่ใช่ว่าเพราะเขาตั้งใจล่อลวง แต่นั่นเพราะเขาไม่สามารถเข้าใจวิปัสสนาได้ จึงมีสำนักวิปัสสนาที่พากันทำแต่สมถะเต็มไปหมด เข้าวัดถือศีลก็พากันทำแต่สมถะ แม้ชื่อจะบอกว่าเป็นการปฏิบัติอะไรก็แล้วแต่ สุดท้ายก็พากันไปปฏิบัติให้เกิดความสงบจิตสงบใจ ซึ่งเป็นลักษณะของสมถะทั้งสิ้น
2). โลกนี้มีแต่สมถะ
พอมีสายสมถะมากเข้าและหลอมรวมวิปัสสนาที่ผิดเพี้ยนเข้าไปกับสมถะ โลกนี้จึงมีแต่การปฏิบัติสมถะ แม้จะมีชื่อว่าสมถะและวิปัสสนา ก็จะมีแต่สมถะ กลายเป็นเหมือนก่อนพุทธกาลที่มีแต่สมถะ
ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ที่ถูกตรงจริงๆ ก็มักจะหลงในความสงบความสุขของสมถะได้ง่าย เพราะการฝึกสมถะนั้นจะทำให้จิตใจแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ สามารถทนต่อสิ่งกระทบได้ดีขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดความสงบจนกระทั่งติดความสงบนั้น
พอมันพบความสุขจากความสงบก็จะไม่เอาอะไรแล้ว กลายเป็นโลกนี้มีแต่สมถะ แม้จะมีกำลังสติมาก เจโตมาก แต่ก็ไม่ใช่แนวทางของพุทธเลย เหมือนโลกก่อนพุทธกาลยังไงอย่างนั้น
3). ตีทิ้งวิปัสสนา
ผู้ที่ติดสมถะมากๆและ “ไม่เข้าใจวิปัสสนา” จะตีทิ้งวิธีวิปัสสนาไว้ท้าย จัดไว้เป็นกระบวนสุดท้าย ไว้ทำทีหลัง ซึ่งจริงๆแล้วเขาอาจจะไม่ได้เข้าใจเลยสมถะกับวิปัสสนานั้นทำงานคนละแบบกันและสามารถทำงานร่วมกันได้โดยไม่ต้องไปสลับกันทำ
ผู้ที่เข้าใจทั้งสมถะและวิปัสสนาจะสามารถใช้ทั้งสองอย่างได้ในเวลาเดียวกันไม่เหมือนกับคนที่หลงแต่สมถะ ที่ว่าจะทำสมถะสักทีก็ต้องมีเวลา ต้องไปวัด ต้องหาความสงบ อันนี้ยังไม่เข้าใจสมถะดีเสียด้วยซ้ำ เพราะการทำสมถะจริงๆแล้วไม่จำเป็นต้องไปสงบ แต่สมถะนั่นแหละคือตัวที่ทำให้จิตสงบ
ทีนี้พอเข้าใจวิปัสสนาไม่ได้ เข้าใจไม่รอบด้าน เข้าใจว่าการคิดพิจารณาเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แล้วไปเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมคือการหยุดคิด มันก็จะตีทิ้งวิปัสสนา กลายเป็นคนติดภพติดป่าไป ทั้งๆที่ในอริยมรรคมีองค์ 8 นั้นให้คิด พูด ทำ ไปในทำนองเดียวกัน ไม่ใช่ว่าหยุดคิดแล้วหนีโลกไปทำสมถะ แล้วกลับเข้าเมืองมาค่อยคิด ถ้าเข้าใจแบบนี้ยังไม่เข้าใจการปฏิบัติมรรค ยังปฏิบัติแบบฤๅษีชีไพรอยู่
4). สงบจนหลงว่าบรรลุธรรม
เมื่อทำสมถะเอามากๆ กำลังก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงสามารถกดกิเลสได้มากขึ้น ถึงขั้นกดโดยอัตโนมัติไม่รู้ตัวเลยก็ว่าได้ กดจนทุกอย่างหาย ดับความคิด ดับสัญญาไปเลย
ในสมัยพุทธกาลนั้นก็มีอาจารย์ของพระพุทธเจ้า ซึ่งไปได้ถึงอรูปฌานขั้นท้ายๆ แต่นั้นเป็นฌานฤๅษี ไม่ใช่ฌานแบบพุทธ ถึงจะได้มากแค่ไหนก็ไม่ได้ทำให้บรรลุธรรม ซึ่งเป็นโชคดีของคนในสมัยนั้นที่ได้พบกับพระพุทธเจ้า แต่น่าเสียดายที่อาจารย์ของพระพุทธเจ้านั้นไม่มีโอกาสได้รู้ความจริง
มาถึงในสมัยนี้ความเข้าใจในการปฏิบัติกลับผิดเพี้ยนและเอนเอียงในไปทิศทางของฤๅษี หมายเอาความสงบจากสมถะเป็นการบรรลุธรรม ยกตัวอย่างเช่นการนั่งสมาธิ รายละเอียดไม่มีอะไรมากก็เพียงแค่นั่งกดให้นิวรณ์ดับไป จึงเกิดสภาพของฌานไปตามลำดับ ซึ่งก็เกิดได้เป็นลักษณะของฌานโลกีย์ทั่วไป
ด้วยความที่ไม่คบสัตบุรุษ (ผู้รู้สัจธรรมหรืออาจารย์ที่สัมมาทิฏฐิ) ไม่มีกัลยาณมิตร จึงไม่มีผู้ตรวจสอบสภาวะเหล่านั้น เมื่อเกิดสภาพของฌานจึงหลงว่าตนนั้นบรรลุธรรม เป็นผู้หลุดพ้นบ้าง เป็นพระอริยะบ้าง
ทั้งๆที่มรรคหรือวิธีปฏิบัตินั้นผิดทางตั้งแต่แรก ผลที่ได้มาย่อมผิด แล้วไปยึดเอาผลที่ผิดเป็นผลที่ถูก ซึ่งเป็นเรื่องปกติของโลก (มิจฉาทิฏฐิ) เพราะการปฏิบัติสมาธิของพุทธนั้นไม่ใช่การนั่งสมาธิ ไม่ใช่การทำสมถะ ไม่อยู่ในหมวดของสมถะเลย ถ้าจะเรียกว่าสมาธินั้นก็ใช่ แต่ไม่ใช่สัมมาสมาธิอันเป็นอริยะ ซึ่งคนละแบบกับสมาธิในมรรค 8
สัมมาสมาธินั้นเกิดจากการปฏิบัติสัมมาอริยมรรคทั้ง 7 องค์อย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นสภาพของสมาธิ ไม่ใช่การไปนั่งหลับตาสมาธิกดจิตจบสงบไปแบบนั้น ถ้าทำเช่นนั้นมันจะต่างกับฤๅษีอย่างไร?
5). ปัญญาที่เกิดจากสมถะ
ผู้เข้ามาศึกษาธรรมใหม่ๆก็มักจะได้ยินคำว่า “สติมาปัญญาเกิด” ซึ่งจริงๆแล้วคำนี้สามารถแยกอธิบายได้สองอย่าง แบบที่เข้าใจทั่วไปเลยก็คือ เจริญสติ ฝึกสมาธิ ฝึกสมถะไปมากๆแล้วปัญญาจะเกิดเอง กับอีกแบบคือปฏิบัติธรรมด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วเกิดสติปัฏฐานชำแหละกิเลสจนเกิดปัญญา
ปัญญาของสมถะจะเป็นในกรณีแรก และวิปัสสนาจะเป็นกรณีที่สอง โดยส่วนมากแล้วมักจะตกในกรณีของสมถะคือฝึกสติเข้าไปมากๆ เดี๋ยวปัญญามันจะมาเอง สรุปคือการปฏิบัติธรรมไม่มีอะไรนอกจากฝึกสติ ทำสมาธิไปเรื่อยๆแล้วปัญญามันจะมาเอง …มันจะง่ายขนาดนั้นจริงหรือ?
ผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนาจนเกิดผลจะเห็นว่าปัญญาที่ได้จากการสมถะและวิปัสสนาเป็นคนละระดับกัน ปัญญาในสติมาปัญญาเกิดของสมถะนั้นจะเป็นปัญญาโลกียะทั่วไป เกิดจากกิเลสสงบเท่านั้น ซึ่งสายสมถะมักจะสอนว่าให้จิตว่างจากความคิด หรือให้หยุดคิดก่อนปัญญาจึงจะเกิด นี้คือมรรคของสมถะ ซึ่งต่างไปจากมรรคของพุทธ
เพราะปัญญาของพุทธนั้นเป็นปัญญารู้แจ้งกิเลส ไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง ไม่ได้ผุดขึ้นมาเอง ไม่ได้เกิดแบบไม่มีเหตุไม่มีผล ไม่ใช่เรื่องลึกลับ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ไม่มีคำว่า “ฟลุ๊ก” เพราะปัญญานั้นต้องสร้างขึ้นมาเอง พิจารณาเอาเองจนเกิดปัญญา ใครทำให้ก็ไม่ได้ นั่งสงบแค่ไหนก็ไม่ได้ ไม่สร้างเหตุแล้วจะมาหวังผลจากไหน? มันต้องคิดเอา ทบทวนเอา พิจารณาเอา พิจารณาที่ไหน? ก็พิจารณาไปที่เกิดกิเลสนั่นแหละ
ต่างจากปัญญาสมถะที่ไม่ต้องทำอะไรมาก ดับจิต ดับความคิด ดับความขุ่นเคืองโดยใช้วิธีต่างๆของสมถะซึ่งแล้วแต่จะเรียก ก็สามารถได้ความสงบและปัญญาในระดับที่กิเลสสงบได้แล้ว แต่จะหมายความว่านั่นคือปัญญาที่เป็นผลของวิปัสสนานั้นจะขอยืนยันว่า “ไม่ใช่”
6). สติสัมปชัญญะไม่เหมือนสติปัฏฐาน ๔
การฝึกสติทุกวันนี้ส่วนมากและมากที่สุดจะเป็นการฝึกความรู้ตัวทั่วพร้อมหรือการฝึกสติสัมปชัญญะ แม้สิ่งที่เรียกว่าสติปัฏฐาน ๔ ก็เป็นการฝึกสติธรรมดา ที่เอากาย เวทนา จิต ธรรม มาเป็นที่หมายบ้าง ทั้งๆที่กระบวนการเหล่านั้นก็เป็นเพียงการฝึกสติทั่วไปเท่านั้นเอง ถ้าพิจารณารายละเอียดก็จะดูเหมือนๆกันไปหมด ต่างกันที่จุดที่เพ่งสมาธิ จุดที่รวมจิตลงไป สุดท้ายก็กลายเป็นการฝึกสมถะทั้งหมดอยู่ดี
สติสัมปชัญญะกับสติปัฏฐาน ๔ นั้นทำงานไม่เหมือนกันเลย ผู้ที่ยังแยกไม่ออก ไม่กระจ่างในความต่างก็จะแยกเอาสติปัฏฐาน ๔ มาเป็นตัวฝึกสติสัมปชัญญะ ซึ่งจริงๆแล้วสติปัฏฐาน ๔ เป็นกระบวนการชำแหละกิเลสที่ทำงานต่อเนื่องกันตั้งแต่ กาย เวทนา จิต ธรรม ไม่ใช่แยกกันทำ เพราะมันแยกไม่ได้ องค์ธรรมทั้งหมดต้องทำงานร่วมกัน ที่แยกกันทำได้เพราะไม่เข้าใจแล้วก็นำมาฝึกปฏิบัติปนเปกันไประหว่างสติสัมปชัญญะและสติปัฏฐาน ๔
ในอวิชชาสูตรยังมีอ้างอิงไว้ว่าต้องทำสติสัมปชัญญะให้ถึงพร้อม จึงจะทำให้เจริญถึงการสำรวมอินทรีย์ให้ถึงพร้อม เมื่อสำรวมอินทรีย์ให้ถึงพร้อม จึงเกิดสุจริตทั้งกายวาจาใจ เจริญไปถึงสติปัฏฐาน ๔ ดังนั้นสติปัฏฐาน ๔ จึงไม่ได้ทำงานเป็นตัวกดหรือตัวรู้อย่างทั่วๆไป แต่ทำงานเครื่องชำแหละกิเลส เมื่อเจริญสติปัฏฐาน ๔ จนถึงพร้อม จึงจะเจริญต่อถึงโพชฌงค์ จนกระทั่งถึงวิชชาและวิมุตติต่อไป
จึงจะเห็นได้ว่า ก่อนจะถึงสติปัฏฐานนั้น สติสัมปชัญญะต้องพร้อม สำรวมอินทรีย์แล้วทั้งหมด เกิดสุจริตสามแล้วด้วย แล้วยังเหลืองานอะไรให้สติปัฏฐานทำต่อ? ก็มีแต่ชำแหละให้เห็นตัวกิเลสจริงๆเท่านั้นแหละ ไม่ใช่งานของการกดข่มหรือทำให้เกิดสภาพรู้ตัวอะไรอีก เพราะการกดจิตให้สงบ มันทำไปตั้งแต่ขั้นตอนก่อนหน้านั้นแล้ว
7). การแยกปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา
การยึดสมถะนั้นเกิดจากความเห็นผิด เพราะเห็นเพียงว่าการมีสติเพียงอย่างเดียวก็สามารถบรรลุธรรมได้ หรือแค่สะสมสติให้เต็มรอบก็จะสามารถหลุดพ้นได้ ถ้าถามว่าหลุดได้ไหมมันก็หลุดได้แบบฤๅษีนั่นแหละ สมถะก็มีมรรคและผลแบบสมถะเหมือนกันและทำให้หลงบรรลุธรรมได้ง่ายเหมือนกัน
ความไม่เข้าใจไตรสิกขา หรือการปฏิบัติอธิศีล อธิจิต อธิปัญญาว่าแท้จริงแล้ว สามสิ่งนี้เป็นเหมือนกับสิ่งเดียวกัน แต่ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน มันไปด้วยกัน ไม่แยกจากกัน ส่งเสริมกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปฏิบัติเพียงแค่เพิ่มกำลังจิตหรือกำลังสติแล้วมันจะได้ศีลและปัญญาไปด้วย
หากไม่เข้าใจว่าทั้งสามสิ่งนั้นทำงานร่วมกันอย่างไรจะเกิดสภาพของการปฏิบัติอย่างเดียวจนสุดโต่ง ในทิศทางของการเพิ่มกำลังจิตก็จะเป็นการเจริญสติ ทำสมาธิ แบบต่างๆ ซึ่งปลายทางก็คือฤๅษีนั่นเอง
การปฏิบัตินั้นต้องเริ่มจากศีล ไม่ใช่แค่การถือศีล แต่เป็นการศึกษาศีล ว่าจะทำอย่างไรเราจะสามารถถือศีลนั้นด้วยใจบริสุทธิ์ ศีลนั้นทำให้เห็นกิเลสอย่างไร แล้วเราจะทำอย่างไรกับกิเลส เมื่อเห็นกิเลสก็จะต้องใช้กำลังจิตในการข่มใจ และปัญญาในการพิจารณาทำลายกิเลส ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆจนกิเลสตาย ก็เพิ่มศีลเข้าไปอีก อธิศีลให้ยากขึ้นอีก นี้คือไตรสิกขาที่ศีล สมาธิ และปัญญาที่ทำงานไปด้วยกันอย่างสอดคล้อง
เพราะเมื่อเพิ่มศีล มันก็ต้องยกระดับจิตและปัญญาเพื่อที่จะชำระกิเลสในศีลนั้นๆให้บริสุทธิ์ มันจึงเป็นการสร้างความเจริญทั้งกระบวนการไปพร้อมๆกัน ผู้ปฏิบัติจึงมีศีล สมาธิ ปัญญาที่แกร่งกล้าขึ้นเรื่อยๆ
8). ไม่แสวงหาอาจารย์
มาถึงต้นเหตุจริงๆที่ทำให้คนติดสมถะก็คือการไม่แสวงหาอาจารย์ มีความคิดเห็นจำนวนมาก เห็นว่าไม่ต้องแสวงหาอาจารย์ให้ยุ่งยาก บ้างก็ว่าอาจารย์อยู่ในตน ซึ่งถ้าความหมายนั้นคือการเพียรปฏิบัติในตน รู้ในตนนั่นก็ถูกของเขา
แต่ในความจริงแล้วการปฏิบัติธรรมในแบบของพุทธไม่มีอาจารย์ไม่ได้ ยกเว้นเขาเหล่านั้นจะมีบุญบารมีมากพอที่จะรู้ได้ด้วยตนเอง แต่ในหัวข้อนี้จะเอาค่ามาตรฐานกึ่งพุทธกาลที่ส่วนใหญ่จะเป็นคนบุญน้อยมาเกิดเป็นตัวอ้างอิง
คนผู้ไม่แสวงหาอาจารย์แล้วคิดว่าตนเองนั้นปฏิบัติจนเข้าใจเองได้นั้นโดยมากแล้วมักจะเป็นคนเมาอัตตา คนแบบนี้จะขอผ่านไปก่อนไม่อธิบายในหัวข้อนี้ อีกส่วนคือผู้ที่แสวงหาอาจารย์แล้วยึดมั่นถือมั่นว่าอาจารย์ตนเองนั้นแหละคือผู้บรรลุธรรม ในหัวข้อนี้จะมีขยายในประเด็นนี้
ก่อนจะเข้าประเด็น จะขอเสริมในเรื่องของการแสวงหาอาจารย์เสียก่อน ในอวิชชาสูตรได้แสดงให้เป็นว่าต้องได้พบสัตบุรุษ ( ผู้มีสัจธรรม เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าแท้ๆ หรือพระอริยะ ) เสียก่อนจึงจะสามารถเจริญในธรรมได้ และสัมมาทิฏฐิข้อ ๑๐ ยังระบุว่าต้องรู้ว่า มีผู้รู้โลกุตระธรรมอยู่ในโลกนี้ แล้วต้องรู้ด้วยว่าเป็นใครอยู่ที่ไหน และเข้าไปศึกษาให้รู้แจ้ง ทั้งนี้ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นเป็นเรื่องลึกซึ้ง เห็นตามได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต เดาเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะอริยสาวก ดังนั้นหากไม่มีสาวกของพระพุทธเจ้าเป็นผู้สาธยายธรรมนั้นให้ฟัง ก็อย่าหวังเลยว่าชาตินี้จะบรรลุธรรม
เพราะในเมื่อตนเองไม่รู้โลกุตระธรรม แล้วไม่ได้ฟังโลกุตระธรรม แล้วจะเอาผลแบบโลกุตระมาจากไหน ไม่มีเหตุมันก็ไม่มีผล ศึกษาและปฏิบัติแบบโลกียะมันก็ได้แบบโลกียะ บ้างก็หลงว่าบรรลุธรรมกันไปตามเรื่องตามราว ตามวิบากบาปของแต่ละคน
ดังนั้นจึงขอสรุปไว้ในเรื่องของการหาอาจารย์ว่า ถ้ายังไม่เจออาจารย์ที่มั่นใจว่าใช่จริงๆ ปฏิบัติไปก็เท่านั้น ปฏิบัติไปก็หลงทาง สู้หยุดชั่วทำดีไปเรื่อยๆจะดีกว่า
มาต่อในส่วนของผู้ที่แสวงหาอาจารย์แล้วยึดมั่นถือมั่นว่าอาจารย์ของตนนั้นของจริง เราจะรู้ได้อย่างไรว่าท่านเหล่านั้นเป็นของจริง แล้วอีกหลายท่านไม่จริงอย่างไร? เราจะรู้ได้อย่างไร? ในเมื่อโดยพื้นฐานแล้วเราจะมีมิจฉาทิฏฐิเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เราจะเชื่อตนเองได้อย่างไร
มีแต่คนโง่เท่านั้นที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น คนที่มีปัญญาจะรู้ว่าตัวเองโง่ ดังนั้นจึงไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วใช้เวลาศึกษาพิจารณาธรรมะของหลายๆสาย ทดลองพากเพียรปฏิบัติจนเกิดผลเจริญขึ้นในตนเอง ทั้งยังมีจิตที่เปิดกว้างรับฟังความเห็นที่แตกต่างในการปฏิบัติจึงจะสามารถเรียนรู้จนเจริญไปถึงสัมมาทิฏฐิข้อ ๑๐ ได้ คือการที่รู้แล้วว่าอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีนั้นมีอยู่ รู้ด้วยว่าใคร เพราะมีปัญญาเกิดขึ้นในตน นั่นเพราะตนเองปฏิบัติตามก็สามารถพ้นทุกข์ได้จากธรรมของท่านเหล่านั้นนั่นเอง
แต่โดยมากจะไม่เป็นเช่นนั้น มักจะยึดอาจารย์จนกลายเป็นอัตตา แต่ที่ซวยที่สุดคือยึดอาจารย์ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดอาจารย์ที่เป็นฤๅษี ก็เลยพากันติดภพติดสุขกันทั้งอาจารย์ทั้งศิษย์ พอติดสงบติดสุขแล้วมันก็ยึดมั่นถือมั่น พอยึดมั่นถือมั่นว่าของตัวเองถูกก็เริ่มว่าของคนอื่นผิด พอยึดมากๆก็จะเริ่มไปกล่าวหาว่าตนเองถูกผู้อื่นผิดไปเรื่อย กล่าวหาคนที่ผิดก็ได้วิบากบาปส่วนหนึ่ง แต่วันหนึ่งก็จะมีโอกาสไปกล่าวหาผู้ที่ถูกซึ่งวันนั้นเองเป็นวันที่นรกเปิดต้อนรับผู้ที่ยึดมั่นถือมั่น
เพราะการเพ่งโทษผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบหรือสาวกของพระพุทธเจ้านั้นทำให้มีวิบากบาปอันแสนจะเจ็บปวดรวดร้าวน่าสยดสยองยิ่งกว่าความตายด้วยกัน ๑๑ ประการ ใครเมาอัตตามากก็จะมีสิทธิ์ที่จะไปเพ่งโทษผู้อื่นได้ นี้แหละคือความซวยของผู้ที่ไปยึดอาจารย์ที่ผิด อาจารย์ที่ปฏิบัติผิดย่อมไม่สามารถทำให้กิเลสลดได้จริง ไม่สามารถทำให้เกิดผลเจริญได้จริง ในทางตรงกันข้ามจะยิ่งทำให้กิเลสโต กามหนาอัตตาจัดขึ้นเรื่อยๆ
จึงสรุปปัญหาทั้งหมด 8 ข้อรวมที่ประโยคนี้ว่า เลือกอาจารย์ผิด ก็ปฏิบัติผิดกันไปข้ามภพข้ามชาติ เพราะความยึดมั่นถือมั่นในทางผิดก็ล้างไม่เป็น ทางที่ถูกก็ไม่รู้ แถมยังมีโอกาสไปเพ่งโทษคนดี ปรามาสในธรรมของคนที่ถูกอีก ไม่รู้จะต้องวนเวียนปฏิบัติผิดไปอีกกี่ภพกี่ชาติ จึงจะสามารถกลับตัวมาปฏิบัติในสิ่งที่ถูกที่ควรเสียที
เหมือนในยุคสมัยของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นดีในธรรมของพระพุทธเจ้า คนบนโลกมีมากมาย แต่คนที่ศรัทธานั้นมีเพียงหยิบมือเดียว
– – – – – – – – – – – – – – –
8.4.2558