Tag: วิปัสสนา

ภาวนา กับ การเจริญสติ ต่างกันอย่างไร

July 27, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 6,456 views 1

ภาวนา กับ การเจริญสติ ต่างกันอย่างไร

ภาวนา กับ การเจริญสติ ต่างกันอย่างไร

ภาวนา คือการทำให้เกิดผลเจริญ แล้วเจริญอย่างไร? แล้วอะไรเจริญ?อะไรคือตัววัดความเจริญ? ก็วนกลับมาที่หลักใหญ่ของพุทธนั่นคือการหลุดพ้นจากกิเลสคือความเจริญ

ภาวนานั้นคือการทำให้เกิดผลเจริญ แต่เราจะเจริญจากอะไร? ก็เริ่มจากทานและศีลนั่นเอง หมายถึงว่าทำทานและปฏิบัติศีลอย่างไรให้ลดกิเลสได้ ซึ่งจะไปตรงกับสัมมาทิฏฐิที่ยังมีกิเลสหมักหมมอยู่ (สัมมาทิฏฐิที่เป็นสาสวะ ๑๐) จะขอยกตัวอย่างมาในข้อ ๑ คือ ทานที่ให้แล้วมีผล (อัตถิ ทินนัง)

หมายถึงการทำทานนั้นมีผลให้ลดกิเลสได้จึงเป็นสัมมาทิฏฐิ ถ้าทานใดๆที่ทำแล้วไม่มีผลลดกิเลส เช่น ทำทานแล้วยังโลภ ขอนั่นขอนี่ อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ทำทานแล้วอยากให้คนมาชื่นชม ทำทานแล้วหวังสวรรค์ หรือหวังจะเป็นเทวดา พรหม ฯลฯ แบบนี้เรียกว่าทำทานแล้วเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่มีผลเจริญ ไม่มีการภาวนา

ในเรื่องของศีลก็เช่นกัน การปฏิบัติศีลที่สามารถชำระกิเลสได้ คือถือศีลไปทั้งร่างกาย วาจา จนถึงใจ ทำลายกิเลสที่หมักหมมในสันดานได้ก็เรียกว่ามีผลเจริญ

ดังนั้นภาวนาคือสภาพของการปฏิบัติทานและศีลอย่างสัมมาทิฏฐิจนสามารถละกิเลสในสันดาน ทำให้ ความโลภ โกรธ หลง จางคลายและสลายหายไปอย่างถาวรโดยลำดับ

ซึ่งการที่ทานและศีลจะมีผลเจริญได้นั้นจะสามารถทำได้โดยสองวิธีนั่นคือสมถะและวิปัสสนา การทำสมถะคือใช้อุบายมาบริหารจิต กดข่ม อดทน ใช้การล่อหลอกจิตไม่ให้หลงตามกิเลสไป ส่วนวิปัสสนาคืออุบายให้เกิดปัญญา พิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าสิ่งใดควรละเว้น สิ่งใดควรเข้าถึง สิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ ทำให้เจริญถึงขนาดที่ทำลายกิเลสที่คอยมาลวงว่าสิ่งชั่วที่ยึดมั่นถือมั่นนั้นเป็นสิ่งดี ให้แหลกสลายไปจนสามารถเกิดปัญญารู้ความจริงตามความเป็นจริงได้

การเจริญสติ คือการทำให้กำลังของสติเจริญขึ้น สามารถฝึกได้หลายวิธี หากมองโดยภาพรวมแล้วก็คือลักษณะหนึ่งของการทำสมถะ คือมีหลักอยู่ที่การสร้างอุบายขึ้นมาให้กลับมารู้สึกตัว ให้อยู่กับปัจจุบัน ให้รู้ตัวทั่วพร้อมในขณะนั้นๆ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับการฝึกสมถะ คือสร้างกำลังจิตให้สามารถกลับมาอยู่กับปัจจุบัน ไม่หลงตามกิเลสต่างๆที่มาล่อลวง

ผู้ที่เจริญสติมากเข้าก็จะสามารถเรียนรู้ค่ามาตรฐานของจิต คือรู้ว่าปกติเป็นเช่นนี้ แล้วเมื่อมีสิ่งกระทบเกิดขึ้นให้จิตใจแกว่งก็จะสามารถใช้อุบายต่างๆที่ได้ร่ำเรียนมาเช่นการกำหนดลมหายใจ การขยับร่างกาย การใช้ข้อธรรมต่างๆ เข้ามาเป็นอุบายล่อให้จิตนั้นกลับสู่ค่ามาตรฐาน กลับเป็นปกติได้

ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้กิเลสตายได้ เพราะเป็นการทำให้กิเลสที่กำเริบนั้นสงบลงไปเป็นครั้งคราว หากฝึกจนเก่งก็จะสามารถสงบกิเลสที่กำเริบโดยอัตโนมัติ บางทีก็หายไปโดยที่ไม่ทันรู้ตัว จนบางครั้งอาจทำให้ผู้ฝึกปฏิบัติหลงไปได้ ซึ่งการแก้ปัญหาของจิตใจเช่นนี้ไม่สามารถทำให้พ้นทุกข์อย่างยั่งยืนได้ เพราะไม่ได้ดับเหตุที่เกิด

เหตุคือกิเลสมันกำเริบได้อย่างไร จริงอยู่ที่มันมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป แต่ปัญหาคือทำไมมันจึงเกิดขึ้นอีก แล้วเราจะดับเหตุที่เกิดนั้นได้อย่างไร แล้วเหตุที่เกิดนั้นคืออะไร ถ้าไม่ศึกษาอริยสัจ ๔ ให้ถ่องแท้ก็คงจะไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้

แต่กระนั้นการเจริญสติก็ยังมีผลดีในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะช่วยควบคุมใจไม่ให้สร้างปัญหาให้ตนเองและผู้อื่นได้ การฝึกสติ ทำสมาธิ ทำสมถะด้วยวิธีต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มกำลังให้กับจิต ให้จิตแข็งแกร่ง ทนทานต่อสิ่งเร้า ซึ่งจะเอื้อให้การวิปัสสนานั้นเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้การเจริญสติโดยทั่วไปนั้นต่างจากสติปัฏฐาน ๔ เนื่องจากมีความเห็นความเข้าใจในการปฏิบัติที่แตกต่างกัน การเจริญสติโดยมากมุ่งเน้นไปในทางสมถะ เป็นอุบายทางจิต สะสมกำลังของจิต แต่สติปัฏฐาน ๔ นั้นเป็นสติที่ระลึกรู้กิเลส ชำแหละกิเลส ให้รู้ว่ากิเลสใดที่มีในจิตใจ โดยเริ่มตั้งแต่เห็นกายของกิเลส โดยการรู้ความผิดปกติของกายนอกจนมาเห็นกายกิเลสข้างในที่เป็นต้นเหตุของปัญหา เห็นกิเลสในเวทนา เห็นกิเลสในจิต และไปจบที่เห็นว่าธรรมใดที่จะมากำจัดกิเลสนั้น ซึ่งเป็นเรื่องของญาณปัญญา

ภาวนาและการเจริญสติต่างกันอย่างไร

สรุปดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าต่างกันที่ผล แต่หากผู้ที่ปฏิบัตินั้นไม่สามารถปฏิบัติจนถึงระดับชำระกิเลสได้ ก็จะมองเห็นว่าเหมือนกัน ไม่ต่างกัน ซึ่งแท้ที่จริงมันมีความต่างในขอบเขตของผลที่เจริญจากการปฏิบัติหากจะเปรียบเทียบก็เหมือนกับการเดินขึ้นเขาที่เต็มไปด้วยหมอก มองจากข้างล่างมันก็ดูเหมือนกัน มีเพียงวิธีเดียวที่จะรู้ว่ายอดเขาไหนสูงกว่าคือเดินให้สุด ให้พ้นม่านหมอกที่บังตาไว้ ก็จะเห็นได้เองว่าต่างกันเช่นไร

ซึ่งในปัจจุบันมีวิถีการปฏิบัติที่หลากหลายแตกต่างกันไปตามทิฏฐิของแต่ละคน แต่หลักยึดเดียวที่จะบอกได้ว่าสิ่งนั้นถูกทางหรือผิดทางคือลดกิเลสได้จริงไหม? กิเลสจางคลายได้จริงไหม? กิเลสตายจริงไหม? แล้วจะตรวจสอบกันอย่างไร ก็ตรวจสอบกันจากทานและศีลนั่นแหละ

ว่าสามารถให้ทานจนกิเลสออกไปได้จนหมดตัวหมดตนไหม ที่มันให้ไม่ได้นั่นเพราะมีกิเลสมันขวางกั้น ถือศีลแล้วยังทุกข์ใจอยู่อีกไหม เพราะทุกข์ที่เกิดเมื่อถือศีลก็คือทุกข์จากกิเลส การเจริญสติทำให้รู้เท่าทันกิเลส และการทำให้เกิดผลเจริญหรือภาวนานั้นคือสภาพผลเจริญที่เกิดจากการปฏิบัติทานศีลอย่างสัมมาทิฏฐิจนมีผลชำระล้างกิเลสได้จริงจนมีสภาพสุดท้ายคือไม่มีความทุกข์ใดๆเกิดขึ้นในจิตใจในเรื่องที่ได้ปฏิบัตินั้นอีกเลย

ตัวอย่างประกอบให้เห็นภาพชัดขึ้น

ยกตัวอย่างความโกรธแล้วกันนะ ภาวนามีผลเจริญถึงระดับที่ดับความโกรธได้สนิท เพราะเข้าไปดับที่เหตุ แต่ถ้าทำไม่ถึงก็คือไม่ถึงนะ ใช่ว่ามันจะทำได้ง่ายๆ มันมีผล ไม่ใช่ไม่มี แต่มันอยู่ที่ทำให้มีผลจนกิเลสตายได้รึเปล่า พอดับแล้วมันก็จะไม่เกิดอีก ไม่โกรธอีก ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องๆหนึ่ง สำหรับคนๆหนึ่งก็ได้ ไม่ใช่ต้องทำได้ทุกเรื่อง

การ เจริญสติโดยมากจะสร้างตัวรู้ สร้างความระลึกรู้ ไปรู้ความโกรธ ไปรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้น แล้วจะทำอะไรต่อจากนั้นก็แล้วแต่จะสอนกัน บ้างก็ข่มให้ดับ บ้างก็ดูจนความโกรธมันหายไปแบบนั้นแหละ บ้างก็ใช้ธรรมะตบทิ้ง เช่นทุกอย่างไม่มีตัวตน ความโกรธไม่ใช่ของเรา สุดท้ายไม่ว่าจะอะไรก็คือไม่เข้าไปโกรธตามถ้ามีสติมากพอ

ต่างกันตรงที่ภาวนาดับที่เหตุ(ของการเกิดความโกรธ) การเจริญสติโดยทั่วไปนั้นจะไปดับที่ผล(ความโกรธ)

การ จะทำให้เกิดผลเจริญคือทำลายกิเลสได้ต้องมีสติเป็นตัวตั้งอยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าแค่มีสติแล้วจะรู้ทุกอย่าง มันมีขั้นตอนต่อจากนั้นอีกมากกว่าจะถึงการทำลายกิเลสในเรื่องๆนั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

27.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

สมถะติดสุข ฤๅษีติดภพ

April 24, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,085 views 1

สมถะติดสุข ฤๅษีติดภพ ความฉิบหายของผู้ยึดมั่นถือมั่นในการปฏิบัติธรรมเพียงแค่ในกรอบของสมถะ

ในบทความนี้จะชี้ไปถึงความเห็นผิดของผู้ที่ติดภพในการสมถะแบบตรงไปตรงมา เพราะการหลงทางเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ขวางกั้นไม่ให้พบกับความสุขแท้ เพราะหลงเพียงแค่สุขลวงของความสงบที่ได้จากสมาธิแบบมิจฉาทิฏฐิ

ผู้เขียนไม่ได้ต้องการข่มผู้ที่เน้นการปฏิบัติสมถะแต่อย่างใด เพราะหลายครั้งผู้เขียนก็จำเป็นต้องใช้พลังของสมถะเข้ามาร่วมในการปฏิบัติธรรมเช่นกัน เพียงแค่ต้องการให้ “ผู้ที่หลงในสมถะเพียงอย่างเดียว” นั้นได้พิจารณาถึงความยึดมั่นถือมั่นที่จะนำไปสู่ความเนิ่นช้า

จึงได้สรุปออกมาเป็นหัวข้อเพื่อเสนอให้พิจารณาทั้งหมด 8 หัวข้อดังนี้

1). สับสนอลหม่านสมถะวิปัสสนา

ในปัจจุบันนักปฏิบัติธรรมจำนวนมาก มักสับสนกับบัญญัติ สมถะ วิปัสสนา และศัพท์อื่นๆอีกมากมายที่หลายต่อหลายคนได้นำมาตั้งชื่อให้เกิดความแตกต่าง ด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม แนวทางหลักของการปฏิบัตินั้นมีด้วยกันอยู่สองวิธีคือสมถะที่เป็นอุบายให้เกิดความสงบทางใจ และวิปัสสนาที่เป็นอุบายให้เกิดปัญญา

ทีนี้ก็มีหลายสำนักที่มีความเห็นผิด ตั้งชื่อสมถะของตนเองว่าวิปัสสนาบ้าง ไม่ใช่ว่าเพราะเขาตั้งใจล่อลวง แต่นั่นเพราะเขาไม่สามารถเข้าใจวิปัสสนาได้ จึงมีสำนักวิปัสสนาที่พากันทำแต่สมถะเต็มไปหมด เข้าวัดถือศีลก็พากันทำแต่สมถะ แม้ชื่อจะบอกว่าเป็นการปฏิบัติอะไรก็แล้วแต่ สุดท้ายก็พากันไปปฏิบัติให้เกิดความสงบจิตสงบใจ ซึ่งเป็นลักษณะของสมถะทั้งสิ้น

2). โลกนี้มีแต่สมถะ

พอมีสายสมถะมากเข้าและหลอมรวมวิปัสสนาที่ผิดเพี้ยนเข้าไปกับสมถะ โลกนี้จึงมีแต่การปฏิบัติสมถะ แม้จะมีชื่อว่าสมถะและวิปัสสนา ก็จะมีแต่สมถะ กลายเป็นเหมือนก่อนพุทธกาลที่มีแต่สมถะ

ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ที่ถูกตรงจริงๆ ก็มักจะหลงในความสงบความสุขของสมถะได้ง่าย เพราะการฝึกสมถะนั้นจะทำให้จิตใจแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ สามารถทนต่อสิ่งกระทบได้ดีขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดความสงบจนกระทั่งติดความสงบนั้น

พอมันพบความสุขจากความสงบก็จะไม่เอาอะไรแล้ว กลายเป็นโลกนี้มีแต่สมถะ แม้จะมีกำลังสติมาก เจโตมาก แต่ก็ไม่ใช่แนวทางของพุทธเลย เหมือนโลกก่อนพุทธกาลยังไงอย่างนั้น

3). ตีทิ้งวิปัสสนา

ผู้ที่ติดสมถะมากๆและ “ไม่เข้าใจวิปัสสนา” จะตีทิ้งวิธีวิปัสสนาไว้ท้าย จัดไว้เป็นกระบวนสุดท้าย ไว้ทำทีหลัง ซึ่งจริงๆแล้วเขาอาจจะไม่ได้เข้าใจเลยสมถะกับวิปัสสนานั้นทำงานคนละแบบกันและสามารถทำงานร่วมกันได้โดยไม่ต้องไปสลับกันทำ

ผู้ที่เข้าใจทั้งสมถะและวิปัสสนาจะสามารถใช้ทั้งสองอย่างได้ในเวลาเดียวกันไม่เหมือนกับคนที่หลงแต่สมถะ ที่ว่าจะทำสมถะสักทีก็ต้องมีเวลา ต้องไปวัด ต้องหาความสงบ อันนี้ยังไม่เข้าใจสมถะดีเสียด้วยซ้ำ เพราะการทำสมถะจริงๆแล้วไม่จำเป็นต้องไปสงบ แต่สมถะนั่นแหละคือตัวที่ทำให้จิตสงบ

ทีนี้พอเข้าใจวิปัสสนาไม่ได้ เข้าใจไม่รอบด้าน เข้าใจว่าการคิดพิจารณาเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แล้วไปเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมคือการหยุดคิด มันก็จะตีทิ้งวิปัสสนา กลายเป็นคนติดภพติดป่าไป ทั้งๆที่ในอริยมรรคมีองค์ 8 นั้นให้คิด พูด ทำ ไปในทำนองเดียวกัน ไม่ใช่ว่าหยุดคิดแล้วหนีโลกไปทำสมถะ แล้วกลับเข้าเมืองมาค่อยคิด ถ้าเข้าใจแบบนี้ยังไม่เข้าใจการปฏิบัติมรรค ยังปฏิบัติแบบฤๅษีชีไพรอยู่

4). สงบจนหลงว่าบรรลุธรรม

เมื่อทำสมถะเอามากๆ กำลังก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงสามารถกดกิเลสได้มากขึ้น ถึงขั้นกดโดยอัตโนมัติไม่รู้ตัวเลยก็ว่าได้ กดจนทุกอย่างหาย ดับความคิด ดับสัญญาไปเลย

ในสมัยพุทธกาลนั้นก็มีอาจารย์ของพระพุทธเจ้า ซึ่งไปได้ถึงอรูปฌานขั้นท้ายๆ แต่นั้นเป็นฌานฤๅษี ไม่ใช่ฌานแบบพุทธ ถึงจะได้มากแค่ไหนก็ไม่ได้ทำให้บรรลุธรรม ซึ่งเป็นโชคดีของคนในสมัยนั้นที่ได้พบกับพระพุทธเจ้า แต่น่าเสียดายที่อาจารย์ของพระพุทธเจ้านั้นไม่มีโอกาสได้รู้ความจริง

มาถึงในสมัยนี้ความเข้าใจในการปฏิบัติกลับผิดเพี้ยนและเอนเอียงในไปทิศทางของฤๅษี หมายเอาความสงบจากสมถะเป็นการบรรลุธรรม ยกตัวอย่างเช่นการนั่งสมาธิ รายละเอียดไม่มีอะไรมากก็เพียงแค่นั่งกดให้นิวรณ์ดับไป จึงเกิดสภาพของฌานไปตามลำดับ ซึ่งก็เกิดได้เป็นลักษณะของฌานโลกีย์ทั่วไป

ด้วยความที่ไม่คบสัตบุรุษ (ผู้รู้สัจธรรมหรืออาจารย์ที่สัมมาทิฏฐิ) ไม่มีกัลยาณมิตร จึงไม่มีผู้ตรวจสอบสภาวะเหล่านั้น เมื่อเกิดสภาพของฌานจึงหลงว่าตนนั้นบรรลุธรรม เป็นผู้หลุดพ้นบ้าง เป็นพระอริยะบ้าง

ทั้งๆที่มรรคหรือวิธีปฏิบัตินั้นผิดทางตั้งแต่แรก ผลที่ได้มาย่อมผิด แล้วไปยึดเอาผลที่ผิดเป็นผลที่ถูก ซึ่งเป็นเรื่องปกติของโลก (มิจฉาทิฏฐิ) เพราะการปฏิบัติสมาธิของพุทธนั้นไม่ใช่การนั่งสมาธิ ไม่ใช่การทำสมถะ ไม่อยู่ในหมวดของสมถะเลย ถ้าจะเรียกว่าสมาธินั้นก็ใช่ แต่ไม่ใช่สัมมาสมาธิอันเป็นอริยะ ซึ่งคนละแบบกับสมาธิในมรรค 8

สัมมาสมาธินั้นเกิดจากการปฏิบัติสัมมาอริยมรรคทั้ง 7 องค์อย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นสภาพของสมาธิ ไม่ใช่การไปนั่งหลับตาสมาธิกดจิตจบสงบไปแบบนั้น ถ้าทำเช่นนั้นมันจะต่างกับฤๅษีอย่างไร?

5). ปัญญาที่เกิดจากสมถะ

ผู้เข้ามาศึกษาธรรมใหม่ๆก็มักจะได้ยินคำว่า “สติมาปัญญาเกิด” ซึ่งจริงๆแล้วคำนี้สามารถแยกอธิบายได้สองอย่าง แบบที่เข้าใจทั่วไปเลยก็คือ เจริญสติ ฝึกสมาธิ ฝึกสมถะไปมากๆแล้วปัญญาจะเกิดเอง กับอีกแบบคือปฏิบัติธรรมด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วเกิดสติปัฏฐานชำแหละกิเลสจนเกิดปัญญา

ปัญญาของสมถะจะเป็นในกรณีแรก และวิปัสสนาจะเป็นกรณีที่สอง โดยส่วนมากแล้วมักจะตกในกรณีของสมถะคือฝึกสติเข้าไปมากๆ เดี๋ยวปัญญามันจะมาเอง สรุปคือการปฏิบัติธรรมไม่มีอะไรนอกจากฝึกสติ ทำสมาธิไปเรื่อยๆแล้วปัญญามันจะมาเอง …มันจะง่ายขนาดนั้นจริงหรือ?

ผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนาจนเกิดผลจะเห็นว่าปัญญาที่ได้จากการสมถะและวิปัสสนาเป็นคนละระดับกัน ปัญญาในสติมาปัญญาเกิดของสมถะนั้นจะเป็นปัญญาโลกียะทั่วไป เกิดจากกิเลสสงบเท่านั้น ซึ่งสายสมถะมักจะสอนว่าให้จิตว่างจากความคิด หรือให้หยุดคิดก่อนปัญญาจึงจะเกิด นี้คือมรรคของสมถะ ซึ่งต่างไปจากมรรคของพุทธ

เพราะปัญญาของพุทธนั้นเป็นปัญญารู้แจ้งกิเลส ไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง ไม่ได้ผุดขึ้นมาเอง ไม่ได้เกิดแบบไม่มีเหตุไม่มีผล ไม่ใช่เรื่องลึกลับ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ไม่มีคำว่า “ฟลุ๊ก” เพราะปัญญานั้นต้องสร้างขึ้นมาเอง พิจารณาเอาเองจนเกิดปัญญา ใครทำให้ก็ไม่ได้ นั่งสงบแค่ไหนก็ไม่ได้ ไม่สร้างเหตุแล้วจะมาหวังผลจากไหน? มันต้องคิดเอา ทบทวนเอา พิจารณาเอา พิจารณาที่ไหน? ก็พิจารณาไปที่เกิดกิเลสนั่นแหละ

ต่างจากปัญญาสมถะที่ไม่ต้องทำอะไรมาก ดับจิต ดับความคิด ดับความขุ่นเคืองโดยใช้วิธีต่างๆของสมถะซึ่งแล้วแต่จะเรียก ก็สามารถได้ความสงบและปัญญาในระดับที่กิเลสสงบได้แล้ว แต่จะหมายความว่านั่นคือปัญญาที่เป็นผลของวิปัสสนานั้นจะขอยืนยันว่า “ไม่ใช่

6). สติสัมปชัญญะไม่เหมือนสติปัฏฐาน ๔

การฝึกสติทุกวันนี้ส่วนมากและมากที่สุดจะเป็นการฝึกความรู้ตัวทั่วพร้อมหรือการฝึกสติสัมปชัญญะ แม้สิ่งที่เรียกว่าสติปัฏฐาน ๔ ก็เป็นการฝึกสติธรรมดา ที่เอากาย เวทนา จิต ธรรม มาเป็นที่หมายบ้าง ทั้งๆที่กระบวนการเหล่านั้นก็เป็นเพียงการฝึกสติทั่วไปเท่านั้นเอง ถ้าพิจารณารายละเอียดก็จะดูเหมือนๆกันไปหมด ต่างกันที่จุดที่เพ่งสมาธิ จุดที่รวมจิตลงไป สุดท้ายก็กลายเป็นการฝึกสมถะทั้งหมดอยู่ดี

สติสัมปชัญญะกับสติปัฏฐาน ๔ นั้นทำงานไม่เหมือนกันเลย ผู้ที่ยังแยกไม่ออก ไม่กระจ่างในความต่างก็จะแยกเอาสติปัฏฐาน ๔ มาเป็นตัวฝึกสติสัมปชัญญะ   ซึ่งจริงๆแล้วสติปัฏฐาน ๔ เป็นกระบวนการชำแหละกิเลสที่ทำงานต่อเนื่องกันตั้งแต่ กาย เวทนา จิต ธรรม ไม่ใช่แยกกันทำ เพราะมันแยกไม่ได้ องค์ธรรมทั้งหมดต้องทำงานร่วมกัน ที่แยกกันทำได้เพราะไม่เข้าใจแล้วก็นำมาฝึกปฏิบัติปนเปกันไประหว่างสติสัมปชัญญะและสติปัฏฐาน ๔

ในอวิชชาสูตรยังมีอ้างอิงไว้ว่าต้องทำสติสัมปชัญญะให้ถึงพร้อม จึงจะทำให้เจริญถึงการสำรวมอินทรีย์ให้ถึงพร้อม เมื่อสำรวมอินทรีย์ให้ถึงพร้อม จึงเกิดสุจริตทั้งกายวาจาใจ เจริญไปถึงสติปัฏฐาน ๔ ดังนั้นสติปัฏฐาน ๔ จึงไม่ได้ทำงานเป็นตัวกดหรือตัวรู้อย่างทั่วๆไป แต่ทำงานเครื่องชำแหละกิเลส เมื่อเจริญสติปัฏฐาน ๔ จนถึงพร้อม จึงจะเจริญต่อถึงโพชฌงค์ จนกระทั่งถึงวิชชาและวิมุตติต่อไป

จึงจะเห็นได้ว่า ก่อนจะถึงสติปัฏฐานนั้น สติสัมปชัญญะต้องพร้อม สำรวมอินทรีย์แล้วทั้งหมด เกิดสุจริตสามแล้วด้วย แล้วยังเหลืองานอะไรให้สติปัฏฐานทำต่อ? ก็มีแต่ชำแหละให้เห็นตัวกิเลสจริงๆเท่านั้นแหละ ไม่ใช่งานของการกดข่มหรือทำให้เกิดสภาพรู้ตัวอะไรอีก เพราะการกดจิตให้สงบ มันทำไปตั้งแต่ขั้นตอนก่อนหน้านั้นแล้ว

7). การแยกปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา

การยึดสมถะนั้นเกิดจากความเห็นผิด เพราะเห็นเพียงว่าการมีสติเพียงอย่างเดียวก็สามารถบรรลุธรรมได้ หรือแค่สะสมสติให้เต็มรอบก็จะสามารถหลุดพ้นได้ ถ้าถามว่าหลุดได้ไหมมันก็หลุดได้แบบฤๅษีนั่นแหละ สมถะก็มีมรรคและผลแบบสมถะเหมือนกันและทำให้หลงบรรลุธรรมได้ง่ายเหมือนกัน

ความไม่เข้าใจไตรสิกขา หรือการปฏิบัติอธิศีล อธิจิต อธิปัญญาว่าแท้จริงแล้ว สามสิ่งนี้เป็นเหมือนกับสิ่งเดียวกัน แต่ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน มันไปด้วยกัน ไม่แยกจากกัน ส่งเสริมกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปฏิบัติเพียงแค่เพิ่มกำลังจิตหรือกำลังสติแล้วมันจะได้ศีลและปัญญาไปด้วย

หากไม่เข้าใจว่าทั้งสามสิ่งนั้นทำงานร่วมกันอย่างไรจะเกิดสภาพของการปฏิบัติอย่างเดียวจนสุดโต่ง ในทิศทางของการเพิ่มกำลังจิตก็จะเป็นการเจริญสติ ทำสมาธิ แบบต่างๆ ซึ่งปลายทางก็คือฤๅษีนั่นเอง

การปฏิบัตินั้นต้องเริ่มจากศีล ไม่ใช่แค่การถือศีล แต่เป็นการศึกษาศีล ว่าจะทำอย่างไรเราจะสามารถถือศีลนั้นด้วยใจบริสุทธิ์ ศีลนั้นทำให้เห็นกิเลสอย่างไร แล้วเราจะทำอย่างไรกับกิเลส เมื่อเห็นกิเลสก็จะต้องใช้กำลังจิตในการข่มใจ และปัญญาในการพิจารณาทำลายกิเลส ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆจนกิเลสตาย ก็เพิ่มศีลเข้าไปอีก อธิศีลให้ยากขึ้นอีก นี้คือไตรสิกขาที่ศีล สมาธิ และปัญญาที่ทำงานไปด้วยกันอย่างสอดคล้อง

เพราะเมื่อเพิ่มศีล มันก็ต้องยกระดับจิตและปัญญาเพื่อที่จะชำระกิเลสในศีลนั้นๆให้บริสุทธิ์ มันจึงเป็นการสร้างความเจริญทั้งกระบวนการไปพร้อมๆกัน ผู้ปฏิบัติจึงมีศีล สมาธิ ปัญญาที่แกร่งกล้าขึ้นเรื่อยๆ

8). ไม่แสวงหาอาจารย์

มาถึงต้นเหตุจริงๆที่ทำให้คนติดสมถะก็คือการไม่แสวงหาอาจารย์ มีความคิดเห็นจำนวนมาก เห็นว่าไม่ต้องแสวงหาอาจารย์ให้ยุ่งยาก บ้างก็ว่าอาจารย์อยู่ในตน ซึ่งถ้าความหมายนั้นคือการเพียรปฏิบัติในตน รู้ในตนนั่นก็ถูกของเขา

แต่ในความจริงแล้วการปฏิบัติธรรมในแบบของพุทธไม่มีอาจารย์ไม่ได้ ยกเว้นเขาเหล่านั้นจะมีบุญบารมีมากพอที่จะรู้ได้ด้วยตนเอง แต่ในหัวข้อนี้จะเอาค่ามาตรฐานกึ่งพุทธกาลที่ส่วนใหญ่จะเป็นคนบุญน้อยมาเกิดเป็นตัวอ้างอิง

คนผู้ไม่แสวงหาอาจารย์แล้วคิดว่าตนเองนั้นปฏิบัติจนเข้าใจเองได้นั้นโดยมากแล้วมักจะเป็นคนเมาอัตตา คนแบบนี้จะขอผ่านไปก่อนไม่อธิบายในหัวข้อนี้ อีกส่วนคือผู้ที่แสวงหาอาจารย์แล้วยึดมั่นถือมั่นว่าอาจารย์ตนเองนั้นแหละคือผู้บรรลุธรรม ในหัวข้อนี้จะมีขยายในประเด็นนี้

ก่อนจะเข้าประเด็น จะขอเสริมในเรื่องของการแสวงหาอาจารย์เสียก่อน ในอวิชชาสูตรได้แสดงให้เป็นว่าต้องได้พบสัตบุรุษ ( ผู้มีสัจธรรม เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าแท้ๆ หรือพระอริยะ ) เสียก่อนจึงจะสามารถเจริญในธรรมได้ และสัมมาทิฏฐิข้อ ๑๐ ยังระบุว่าต้องรู้ว่า มีผู้รู้โลกุตระธรรมอยู่ในโลกนี้ แล้วต้องรู้ด้วยว่าเป็นใครอยู่ที่ไหน และเข้าไปศึกษาให้รู้แจ้ง ทั้งนี้ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นเป็นเรื่องลึกซึ้ง เห็นตามได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต เดาเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะอริยสาวก ดังนั้นหากไม่มีสาวกของพระพุทธเจ้าเป็นผู้สาธยายธรรมนั้นให้ฟัง ก็อย่าหวังเลยว่าชาตินี้จะบรรลุธรรม

เพราะในเมื่อตนเองไม่รู้โลกุตระธรรม แล้วไม่ได้ฟังโลกุตระธรรม แล้วจะเอาผลแบบโลกุตระมาจากไหน ไม่มีเหตุมันก็ไม่มีผล ศึกษาและปฏิบัติแบบโลกียะมันก็ได้แบบโลกียะ บ้างก็หลงว่าบรรลุธรรมกันไปตามเรื่องตามราว ตามวิบากบาปของแต่ละคน

ดังนั้นจึงขอสรุปไว้ในเรื่องของการหาอาจารย์ว่า ถ้ายังไม่เจออาจารย์ที่มั่นใจว่าใช่จริงๆ ปฏิบัติไปก็เท่านั้น ปฏิบัติไปก็หลงทาง สู้หยุดชั่วทำดีไปเรื่อยๆจะดีกว่า

มาต่อในส่วนของผู้ที่แสวงหาอาจารย์แล้วยึดมั่นถือมั่นว่าอาจารย์ของตนนั้นของจริง เราจะรู้ได้อย่างไรว่าท่านเหล่านั้นเป็นของจริง แล้วอีกหลายท่านไม่จริงอย่างไร? เราจะรู้ได้อย่างไร? ในเมื่อโดยพื้นฐานแล้วเราจะมีมิจฉาทิฏฐิเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เราจะเชื่อตนเองได้อย่างไร

มีแต่คนโง่เท่านั้นที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น คนที่มีปัญญาจะรู้ว่าตัวเองโง่ ดังนั้นจึงไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วใช้เวลาศึกษาพิจารณาธรรมะของหลายๆสาย ทดลองพากเพียรปฏิบัติจนเกิดผลเจริญขึ้นในตนเอง ทั้งยังมีจิตที่เปิดกว้างรับฟังความเห็นที่แตกต่างในการปฏิบัติจึงจะสามารถเรียนรู้จนเจริญไปถึงสัมมาทิฏฐิข้อ ๑๐ ได้ คือการที่รู้แล้วว่าอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีนั้นมีอยู่ รู้ด้วยว่าใคร เพราะมีปัญญาเกิดขึ้นในตน นั่นเพราะตนเองปฏิบัติตามก็สามารถพ้นทุกข์ได้จากธรรมของท่านเหล่านั้นนั่นเอง

แต่โดยมากจะไม่เป็นเช่นนั้น มักจะยึดอาจารย์จนกลายเป็นอัตตา แต่ที่ซวยที่สุดคือยึดอาจารย์ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดอาจารย์ที่เป็นฤๅษี ก็เลยพากันติดภพติดสุขกันทั้งอาจารย์ทั้งศิษย์ พอติดสงบติดสุขแล้วมันก็ยึดมั่นถือมั่น พอยึดมั่นถือมั่นว่าของตัวเองถูกก็เริ่มว่าของคนอื่นผิด พอยึดมากๆก็จะเริ่มไปกล่าวหาว่าตนเองถูกผู้อื่นผิดไปเรื่อย กล่าวหาคนที่ผิดก็ได้วิบากบาปส่วนหนึ่ง แต่วันหนึ่งก็จะมีโอกาสไปกล่าวหาผู้ที่ถูกซึ่งวันนั้นเองเป็นวันที่นรกเปิดต้อนรับผู้ที่ยึดมั่นถือมั่น

เพราะการเพ่งโทษผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบหรือสาวกของพระพุทธเจ้านั้นทำให้มีวิบากบาปอันแสนจะเจ็บปวดรวดร้าวน่าสยดสยองยิ่งกว่าความตายด้วยกัน ๑๑ ประการ ใครเมาอัตตามากก็จะมีสิทธิ์ที่จะไปเพ่งโทษผู้อื่นได้ นี้แหละคือความซวยของผู้ที่ไปยึดอาจารย์ที่ผิด อาจารย์ที่ปฏิบัติผิดย่อมไม่สามารถทำให้กิเลสลดได้จริง ไม่สามารถทำให้เกิดผลเจริญได้จริง ในทางตรงกันข้ามจะยิ่งทำให้กิเลสโต กามหนาอัตตาจัดขึ้นเรื่อยๆ

จึงสรุปปัญหาทั้งหมด 8 ข้อรวมที่ประโยคนี้ว่า เลือกอาจารย์ผิด ก็ปฏิบัติผิดกันไปข้ามภพข้ามชาติ เพราะความยึดมั่นถือมั่นในทางผิดก็ล้างไม่เป็น ทางที่ถูกก็ไม่รู้ แถมยังมีโอกาสไปเพ่งโทษคนดี ปรามาสในธรรมของคนที่ถูกอีก ไม่รู้จะต้องวนเวียนปฏิบัติผิดไปอีกกี่ภพกี่ชาติ จึงจะสามารถกลับตัวมาปฏิบัติในสิ่งที่ถูกที่ควรเสียที

เหมือนในยุคสมัยของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นดีในธรรมของพระพุทธเจ้า คนบนโลกมีมากมาย แต่คนที่ศรัทธานั้นมีเพียงหยิบมือเดียว

– – – – – – – – – – – – – – –

8.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

สมถะและวิปัสสนา กลยุทธ์และการประมาณตน

April 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,982 views 0

สมถะและวิปัสสนา กลยุทธ์และการประมาณตน

ดาวน์โหลดภาพขนาดเต็ม | Download full size image

สมถะและวิปัสสนา กลยุทธ์และการประมาณตน

การทำกิจกรรมการงานใดๆนั้นเราควรทำให้เหมาะสมแก่กำลังของตน การปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน เราควรปฏิบัติธรรมที่สมควรแก่ธรรมที่เรามี จึงจะเกิดความเจริญ

ในบทความนี้จะขยายเกี่ยวกับกลยุทธ์ของการใช้สมถะและวิปัสสนาโดยการนำเจโตและปัญญาเข้ามาร่วมอธิบาย

เจโต นั้นคือกำลัง พลัง ความทนทาน การปฏิบัติสมถะจะสามารถทำให้เจโตพัฒนาได้ เช่นผู้ฝึกฝนสมาธิ เดินจงกรม ฯลฯ ก็จะมีภาพลักษณ์โดยทั่วไปที่ดูสงบ ทนต่อสิ่งกระทบหรือสิ่งเร้าได้ดีกว่าตอนที่เขาไม่เคยฝึกสมถะมาก่อน

ปัญญา นั้นคือความรู้ เป็นความรู้ระดับโลกียะ จนถึงระดับโลกุตระ คือรู้แจ้งแทงตลอดในทุกลีลาของกิเลสก็จะเรียกรวมว่าปัญญา เกิดได้จากหลายๆปัจจัย โดยเฉพาะการวิปัสสนาที่ถูกตรงจะทำให้เข้าถึงปัญญาโลกุตระได้

เราสามารถแจกแจงสภาพที่เกิดได้กว้างๆ สี่สภาวะดังนี้

๑). เจโตน้อย ปัญญาน้อย

โดยทั่วไปแล้วคนที่มีเจโตน้อยปัญญาน้อย เมื่อเจอกับต้องกระทบกับสิ่งที่ไม่ถูกใจ ไม่พอใจ ก็จะหลุด โกรธ ตบะแตก เรียกว่าพ่ายแพ้ต่อกิเลสไป โดนกิเลสจับไปกินหมด

ดังนั้นกลยุทธ์ในผู้ที่มีเจโตและปัญญาน้อยเมื่อเจอกับผัสสะที่เกินประมาณหรือศีลที่ยากเกินจะรับไหวก็คือหนีก่อน การหนีนี้เองก็เป็นการประมาณตนไม่ให้เกิดสภาพที่ทรมานตัวเองมากเกินไป ซึ่งก็เป็นกุศลอยู่มาก เพราะเป็นการลดอัตตาและลดโอกาสในการสร้างกรรมชั่วอื่นๆอีกมากมาย

บางคนมีกำลังน้อยปัญญาน้อย แต่ก็พยายามอดทนต่อสู้กับสิ่งกระทบโดยที่ไม่รู้ตัวเลยว่าได้หลุดแสดงความโกรธออกไปแล้ว หรือมีจิตอกุศลไปแล้ว ซึ่งการทนอยู่ในสภาพที่เกินกำลังจะรับไหวนั้นไม่เป็นผลดีกับใครเลย

เมื่อเราเรียนรู้แล้วว่าเรายังมีเจโตและปัญญาที่น้อยไปสำหรับการต่อกรกับเรื่องนั้นๆ ก็ให้หนีจากเรื่องนั้นมาก่อน การจะรู้ตัวจนกระทั่งหนีนี้เองก็ต้องใช้สติและปัญญาด้วยเช่นกัน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนเจโตและปัญญาน้อยจะยอมหนีจากสถานการณ์ตรงหน้า เพราะคนเราเวลายึดมั่นถือมั่นแล้วมันจะเห็นช้างเป็นมด มันจะสู้หมด อัตตามันใหญ่เกินจะยอมหนีหรือยอมแพ้

๒). เจโตมาก ปัญญาน้อย

ผู้ที่มีเจโตมากย่อมจะรับกับสิ่งกระทบได้ดี เช่นโดนเขานินทาด่าว่าต่อหน้าก็ยังสามารถใช้กำลังของจิต กดข่มความโกรธให้สงบได้ ซึ่งการกดข่มกิเลสได้นี้เอง จะช่วยให้เกิดความสุจริตอย่างน้อยๆก็ทางกาย วาจา ซึ่งจะทำให้ไม่ไปสร้างกายกรรม และวจีกรรมให้เกิดความแตกแยก ร้าวฉาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี

หากผู้ที่มีเจโตมากและสามารถเข้าใจวิปัสสนาได้ ก็จะค่อยๆพิจารณาทบทวนเหตุการณ์นั้นไป เหมือนกับว่าแบ่งงานมาทำ ไม่ได้ทำทั้งก้อน เพราะหากทำทั้งก้อน แล้วเราปัญญาน้อยมันก็ทำไม่ไหว ตายเปล่าๆ ดังนั้นการกดข่มไว้ส่วนหนึ่ง พิจารณาส่วนหนึ่ง ตรงกับที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ให้พรากไม้ที่ชุ่มด้วยยาง ออกจากน้ำก่อน แล้วจึงค่อยเผา” คือถ้าไฟเราไม่แรงขนาดกองไฟนี่มันเผาไม้เปียกยาก มันต้องทำให้ไม้แห้งเสียก่อน มันก็เผาได้ง่ายขึ้นเหมือนกับการที่ใช้สมถะกดไว้ก่อนแล้วค่อยวิปัสสนาก็เป็นสิ่งที่สมควรทำในผู้ที่มีเจโตมากปัญญาน้อย

ปัญหาของผู้ที่มีเจโตมาก มักจะเกิดในลักษณะของกดข่มจนดับไปโดยไม่รู้ตัว กระทำความดับไปด้วยความไม่ตั้งใจ เพราะชินในความสงบที่เคยได้รับ เมื่อผัสสะเกิดก็มักจะเกิดสภาพกดข่มจนดับไปโดยอัตโนมัติ ยิ่งผู้ที่ไม่ได้เรียนรู้วิปัสสนาหรือเข้าใจความหมายและวิธีปฏิบัติของวิปัสสนาผิด ก็จะไม่ได้ทำวิปัสสนา แม้จะมีเจโตมาก กดข่มกิเลสให้ดับลงได้ แต่ก็ไม่ใช่ทางของพุทธ เป็นเพียงวิธีทั่วไปที่ปฏิบัติกันก่อนจะมีศาสนาพุทธ นิยมกันมากในหมู่ฤๅษี

๓). เจโตน้อย ปัญญามาก

ผู้ที่มีปัญญามาก แม้จะมีเจโตน้อย ก็สามารถทำลายกิเลสได้ เพราะปัญญานี้เองคือตัวทำลายกิเลสให้สิ้นเกลี้ยงอย่างแท้จริง

เราสามารถใช้ปัญญาพิจารณาสิ่งกระทบนั้นๆจนเกิดสภาพรู้แจ้งเห็นจริงในทุกลีลาของกิเลสได้ พอมันรู้จริงเห็นจริง ตามความเป็นจริง มันก็จะไม่ยินดีไปเสพสมใจตามกิเลสเหมือนเคย เพราะรู้แล้วว่ากิเลสมันไม่เที่ยง มันคือตัวทุกข์ มันไม่ใช่ตัวเราของเรา รู้ไปด้วยว่ามันทำให้เกิดกรรมชั่วแค่ไหนอย่างไรแล้วเราต้องมารับผลกรรมชั่วอีกเท่าไหร่ รู้ไปถึงคุณและโทษ กุศลอกุศลที่เกี่ยวกับกิเลสตัวนั้นๆ

เมื่อรู้แจ้งเห็นจริงตามนี้ก็สามารถทำลายกิเลสได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้พลังของเจโตมากดข่มไว้ แน่นอนว่าโดยภาษาแล้วดูจะไม่สมบูรณ์นัก แต่เป็นลักษณะของปัญญาวิมุตติคือการหลุดพ้นด้วยปัญญา เมื่อปัญญาทำให้หลุดพ้นมันก็เลยไม่ต้องใช้กำลังอะไรอีก ศาสนาพุทธนั้นเป็นศาสนาแห่งปัญญา คือความรู้โลก (โลกียะ+โลกุตระ) อย่างแจ่มแจ้ง

ดังนั้นเมื่อผัสสะหรือศีลใดที่เราต้องเผชิญ หากเราพอจะรู้ตัวว่ามีพลังปัญญามากก็ให้เพ่งเพียรพิจารณาก็จะสามารถหลุดพ้นได้โดยไม่ยากไม่ลำบากนัก ปัญญาที่มากนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ จะเกิดจากการบำเพ็ญเพียรศึกษาและสะสมมาหลายชาติ ไม่ใช่แค่คิดว่าตัวเองฉลาดรอบรู้แล้วจะมีปัญญามาก ซึ่งจะรู้ได้เองเวลาพิจารณากิเลสว่ามากหรือน้อย

๔). เจโตมาก ปัญญามาก

สภาพของเจโตและปัญญาที่มากนี้เอง จะสามารถรับมือกับทุกๆผัสสะและกิเลสได้ดีที่สุด โดยมากแล้วจะเป็นผู้ที่มีบุญบารมีสะสมมาจนเต็มรอบ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่จะอยู่ๆจะสามารถรับมือกับผัสสะได้โดยไม่หวั่นไหว และมีปัญญามากพอจะพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริงได้

การหลุดพ้นด้วยเจโตและปัญญา คือแม้สัมผัสกับสิ่งกระทบอยู่ก็ไม่ได้หวั่นไหวและมีปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในกิเลสนั้นๆคือสภาวะของอุภโตภาควิมุตติ เป็นที่สุดของผลแห่งการปฏิบัติแล้ว

*ข้อควรระวัง

การประมาณตนในการใช้กลยุทธ์ต่างๆนั้นมีข้อควรระวังดังนี้

อย่าประมาท

ในเรื่องหนึ่งเราอาจจะเก่ง เราอาจจะสามารถทนต่อสิ่งหนึ่งได้ดี แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถทนหรือใช้ปัญญาเข้าใจทุกสิ่งได้ กิเลสนั้นมีสภาพหยาบ กลาง ละเอียด ศีลก็มีระดับของความยาก แม้เราจะสามารถผ่านผัสสะทั่วไปหรือศีลง่ายๆได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าศีลอื่นๆจะใช้กลยุทธ์เดิมได้

ซึ่งโดยมากเมื่อเพิ่มศีล หรืออธิศีลมากขึ้นเรื่อยๆ ศีลที่เพิ่มขึ้นมานั้นมักจะอยู่ในระดับที่ยากขึ้น เรามักจะต้องใช้กลยุทธ์หนีอยู่บ่อยครั้ง เพราะกำลังกับปัญญาไม่มากพอ

แต่ด้วยความประมาทและความไม่เข้าใจในระดับที่ต่างของผัสสะและศีล ทำให้เกิดการใช้กลยุทธ์เดิมเช่น ผู้ที่มาทางสายเจโต ก็มักจะเข้าใจว่ากดข่มไว้ก่อนแล้วค่อยพิจารณา ซึ่งอันนั้นมันก็อาจจะทำได้แค่ของง่ายๆ พอมาเจอโจทย์ยากๆที่สมควรหนี แต่เราประมาทหลงว่ามันง่าย เราก็ใช้แผนเดิม สุดท้ายโดนกิเลสกินรวบ

อย่าโลภ

ความโลภอยากบรรลุธรรมไวนี้เองคือสิ่งที่ทำให้เกิดความผิดพลาดในการปฏิบัติอยู่บ่อยครั้ง เหตุจากความประมาทไม่ประมาณตนให้เหมาะกับสถานการณ์นั้นๆ แล้วหวังผลมากกว่าที่ควรจะได้

เช่นจริงๆแล้ว เราควรจะค่อยๆกดข่มแล้วพิจารณาไปทีละน้อย แบ่งงานทำ กำหนดขอบเขตให้เหมาะสมปัญญา พอเราคิดว่าเรากดข่มได้เราจึงเพิ่มขอบเขตการปฏิบัติด้วยความโลภ คิดว่าฉันทำได้ ฉันเอาอยู่ สุดท้ายพอเอาเข้าจริงๆทานกำลังกิเลสไม่ไหว แพ้กิเลสไปในที่สุด การแพ้กิเลสด้วยการประมาณผิดก็จะได้ผลอย่างหนึ่ง แต่การแพ้กิเลสด้วยความโลภจึงประมาณผิดก็ได้ผลอีกอย่างหนึ่ง

อย่าเปรียบเทียบ

การเปรียบเทียบนี้เองเป็นหลุมดักของผู้ที่ไม่รู้ เรามักจะชอบเปรียบเทียบอ้างอิงวิธีการปฏิบัติของครูบาอาจารย์หลายๆท่าน ทั้งๆที่ความจริงแล้ว “เรามีกรรมเป็นของของตน” นั่นคือทุกคนนั้นต่างกรรมต่างวาระ มีกิเลสที่ยึดต่างกัน มีบุญบารมีมาไม่เท่ากัน ดังนั้นกลยุทธ์ที่จะใช้เผชิญหน้าต่อกิเลสหนึ่งๆก็ย่อมต่างกันไปตามกัน

พอเราเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นด้วยความไม่มั่นใจแล้วเราก็จะยึดทางของเขามาปฏิบัติว่า เรายังไม่เหมือนครูบาอาจารย์เลยนะ มีคำกล่าวว่า “ให้เอาเยี่ยงอย่าท่าน แต่อย่าเอาอย่างท่าน” คือให้เอาเฉพาะสิ่งที่ดี แต่ไม่ต้องไปทำตามทั้งหมด

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าท่านเหล่านั้นหลุดพ้นกิเลสด้วยปัญญาที่มาก ทีนี้เราปัญญาน้อย เราก็หลงว่าต้องทำแบบนี้เท่านั้น เพราะท่านก็สอนมาแบบนี้ (ก็เพราะท่านผ่านมาในลักษณะนี้) เราก็เลยทำตามท่านทั้งๆที่ปัญญาน้อย เจโตก็น้อย สุดท้ายก็ตายเรียบ ดังเช่นที่มีกรณีในสังคมนักปฏิบัติธรรมบ่อยๆในข้อกล่าวหาที่ว่า สายเจโตก็เอาแต่สมถะ หรือสายวิปัสสนาก็เอาแต่คิด ซึ่งจะสรุปเรื่องนี้กันในข้อต่อไป

การเปรียบเทียบในมุมที่มั่นใจเกินตัวก็เช่นกัน เมื่อเราปฏิบัติได้ดีกว่าผู้อื่นในบางมุมเราก็จะหลงเปรียบเทียบว่าฉันเจโตมากกว่าบ้าง ฉันปัญญามากกว่าบ้าง จะเป็นเหตุให้เกิดอติมานะ คือการดูถูก ดูหมิ่นคนอื่น ซึ่งเมื่อคนเรามีกรรมต่างกัน ก็ต้องมีการปฏิบัติต่างกันเป็นธรรมดา เขาอาจจะหลุดพ้นด้วยเจโตก็ได้ ปัญญาก็ได้ ตามกรรมของเขา ซึ่งก็ไม่เกี่ยวอะไรกับเราเลย

อย่ายึดมั่นถือมั่น

ความถือดีนั้นทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นได้ง่าย แม้จะเป็นผู้ที่ปฏิบัติได้แล้วหรือเพียงแค่เรียนรู้มาอย่างผิวเผินแต่ยังไม่เคยปฏิบัติก็ตาม หากเกิดความถือดี ถือว่าของตนดีแล้วก็มักจะเกิดความยึดมั่นถือมั่น

การยึดมั่นถือมั่นเกิดได้จากหลายเหตุปัจจัย สรุปรวมๆได้ว่า “โง่” พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น สิ่งใดที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นจะไม่ทุกข์เป็นไม่มี

ความยึดมั่นถือมั่นนี่เองมักจะเป็นนรกของนักปฏิบัติ หรือคนที่ศึกษาธรรมะ เพราะตนปฏิบัติเช่นนั้นก็มักจะยึดแนวทางนั้นเป็นแนวทางหลักและบางทีถึงกับไปหลงมิจฉาทิฏฐิว่าทางนี้เองคือทางพ้นทุกข์ เมื่อมีการแนะนำหรือสั่งสอนผู้อื่นก็จะยึดแต่แนวทางที่ตนเชื่อเป็นหลักโดยที่ไม่เปิดช่องให้ความเห็นต่างใดๆเข้ามาแทรกแซง

ซึ่งโดยสามัญของโลกแล้ว ก็มักจะยึดกันผิดๆ คนมิจฉาทิฏฐิก็มักจะเห็นว่าตัวเองสัมมาทิฏฐิอยู่แล้ว พอเห็นผิดเป็นถูก มันก็ยึดไปทั้งที่จริงแล้วมันผิด พอยึดแล้วก็ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมให้ใครมาเปลี่ยน ไม่ยอมให้ใครโต้แย้ง ไม่ยอมให้ใครมาพิสูจน์ ไม่ยอมละวางอัตตา ยึดมั่นถือมั่นอยู่เช่นนั้น มันก็เป็นนรกดีๆนี่เอง

ถึงแม้ว่าแนวทางที่ได้ปฏิบัตินั้นจะเคยเกิดผลเจริญกับตนเองก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เกิดความเจริญในคนอื่น หรือไม่ได้หมายความว่าจะเกิดความเจริญต่อตนเองในการปฏิบัติที่ยากขึ้น เพราะเมื่อปฏิบัติธรรมไปจนเจริญมากขึ้น จะพบว่ากิเลสระดับ หยาบ กลาง ละเอียดนั้น ไม่สามารถใช้สูตรสำเร็จในการปฏิบัติใดๆได้อย่างลงตัว ความแววไวในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์จึงเป็นคุณสมบัติของผู้ปฏิบัติธรรม

– – – – – – – – – – – – – – –

7.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การปฏิบัติร่วมกันของสมถะและวิปัสสนา

April 6, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,087 views 0

การปฏิบัติร่วมกันของสมถะและวิปัสสนา

การปฏิบัติร่วมกันของสมถะและวิปัสสนา

โดยทั่วไปแล้วเรามักจะได้ยินความสัมพันธ์ของสมถะและวิปัสสนากันไปต่างๆนาๆ บ้างก็ว่าต้องคู่กันเสมือนขาทั้งสองข้างต้องก้าวไปด้วยกัน แต่จะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ เราจะมาขยายกันในบทความนี้ด้วย 8 หัวข้อที่จะมาเสนอข้อมูลในหลายๆ ประเด็น

1).สมถะและวิปัสสนา

สมถะนั้นเป็นการใช้อุบายต่างๆเข้ามาควบคุมใจ ไม่ว่าเราจะใช้วิธีนั่งสมาธิ เดินจงกรม สร้างตัวรู้ เจริญสติ เพ่งกสิณ หรือใช้การคิดบวกหรือพิจารณาธรรมเพื่อ “กด” ให้เกิดสภาพนิ่งของใจ ไม่ว่าจะอุบายเช่นไรแต่ถ้ากระทำไปเพื่อให้เกิดความสงบใจ นั้นคือสมถะทั้งสิ้น

ส่วนวิปัสสนานั้นเป็นอุบายทางปัญญา ที่จะทำให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง ไม่ใช่ตามที่กิเลสอยากให้เป็น

สมถะนั้นมีอยู่คู่โลกนานแล้ว ต่างจากวิปัสสนาซึ่งเป็นวิธีของพุทธโดยตรง หากจะกล่าวว่าสิ่งใดถูกตรงก็คือวิปัสสนา แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้ตีทิ้งสมถะ เพราะสามารถใช้เป็นอุปการะได้ คือเป็นเครื่องช่วยให้เจริญวิปัสสนาให้ดีขึ้นได้ แต่จะช่วยอย่างไรจะไปขยายกันในข้อต่อไป

2).สมถะอย่างเดียวทำได้ไหม

ตอบว่าได้ แต่ถ้าจะให้บรรลุธรรมตามแนวทางของพุทธนั้นตอบว่าไม่ได้

เมื่อเราทำแต่สมถะเราก็จะได้ผลแบบสมถะ (มิจฉาผล) ทางของสมถะคืออุบายทางใจ ยิ่งทำยิ่งสงบ ยิ่งทำยิ่งติดภพ จมดิ่งเข้าไปในความมืด ดับความคิด ดับสัญญา ดับไม่เหลืออะไรเลย สภาพของผู้ทำสมถะนั้นมักจะมีภาพลักษณ์ที่ดูสงบต่อสถานการณ์ได้ดี

ถ้าในยุคสมัยก่อนก็จะเรียกว่าฤๅษี แต่ตอนนี้ไม่มีภาพเช่นนั้นแล้ว เพราะเปลี่ยนรูปกันมาอยู่ในผู้ปฏิบัติธรรม ทั้งฆราวาสทั้งนักบวชก็มีฤๅษีปนอยู่มาก ซึ่งมรรค(วิถีการปฏิบัติ)ของเขาเหล่านั้นมักจะหนักไปในทิศทางของทำสมาธิ การระลึกรู้ หรือวนเวียนอยู่กับการควบคุมกดข่มจิตใจให้เกิดสภาพสงบ

3).วิปัสสนาอย่างเดียวทำได้ไหม

ตอบว่าได้ ซึ่งวิปัสสนานี้เองเป็นกระบวนการโดยตรงของพุทธอยู่แล้ว

เราสามารถวิปัสสนาเพียงอย่างเดียวได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งสมถะเลย หากเรามีเจโตหรือพลังของจิตที่เคยสะสมไว้มากพอ เรียกได้ว่าสามารถพิจารณาทำลายกิเลสได้ด้วยปัญญาล้วนๆจนถึงปลายทางได้เลย เพราะถ้ามีปัญญาเต็มรอบมันก็ไม่ต้องไปกดข่มกิเลสให้เสียเวลา ชักดาบออกมาแล้วเชือดทิ้งได้ทันที

แต่ถ้าเรากำลังน้อย อินทรีย์พละอ่อน ก็อาจจะเหมือนเอาไม้จิ้มฟันไปสู้กับช้าง สมถะจะเข้ามาเติมเต็มในจุดนี้ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้สมถะกดข่มได้เสมอไป เพราะมีองค์ประกอบอื่นที่ส่งผลเช่น กรรมและผลของกรรม หรือเหตุการณ์ที่เกินกำลังมากไป

สภาพของคนที่วิปัสสนาแต่ไม่มีกำลังมากพอก็เหมือนกับนักมวยผู้มีทักษะที่เก่งแต่ไม่ฝึกซ้อมร่างกาย ดังนั้นการจะเอาชนะกิเลสนั้นก็ยากหน่อย แต่ก็มีโอกาสถึงเป้าหมาย ต่างจากสมถะอย่างเดียวแม้จะเอาดีแค่ไหนก็ไม่ได้ทำให้บรรลุธรรมใดๆ

4).อะไรสำคัญกว่ากัน

ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จะเห็นว่าน้ำหนักของวิปัสสนามากกว่าเพราะมีมรรคผลในแบบพุทธอย่างชัดเจน แต่ถึงกระนั้นก็ไม่สามารถจะสรุปได้ว่าอะไรสำคัญกว่ากันได้ชัดเจนเสมอไป

เราไม่สามารถบอกได้ว่าต้องใช้สมถะกดก่อนแล้วค่อยวิปัสสนาจึงจะถูก อันนี้มันก็ผิดสำหรับคนอินทรีย์พละแก่กล้า เพราะถ้าเขาไปเสียเวลาสมถะ เขาก็พ้นทุกข์ช้า และผิดไปจากสัจจะของพระพุทธเจ้านั่นคือธรรมใดวินัยใดเป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า ธรรมนั้นไม่ใช่ของพระพุทธเจ้า

และถ้าบอกว่าใช้แต่วิปัสสนา สุดท้ายก็ถึงอยู่ดี มันก็ถูก แต่ถ้ามันทำให้ช้า มันก็ผิด เพราะเมื่อปฏิบัติถึงระดับหนึ่ง ศึกษาสามอย่างคืออธิศีล อธิจิต อธิปัญญาไประดับหนึ่ง อินทรีย์พละที่มีอยู่มันจะเริ่มไม่พอ เพราะศีลที่ยากขึ้นจะต้องใช้จิตที่มากขึ้นและปัญญาที่มากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นผู้มีอินทรีย์พละแก่กล้าแม้ว่าจะวิปัสสนาได้ไวในช่วงแรก สามารถชำแหละกิเลสจนรู้แจ้งเห็นจริงได้ แต่ก็อาจจะไม่สามารถใช้ต่อกรกับกิเลสทุกตัวได้

ดังนั้นการจะสรุปว่าอะไรสำคัญกว่าคงต้องประเมินตามสถานการณ์ เพราะแต่ละคนมีกรรมเป็นของตน มีกิเลสของตัวเอง จึงต้องใช้วิธีและสัดส่วนในการแก้ของตนเอง ไม่ใช่ว่าจะมาสรุปว่าต้องสมถะมากกว่าหรือวิปัสสนามากกว่า ความยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ทำให้บรรลุธรรมได้ไว แต่ความว่องไวในการปรับความพอดีของสมถะและวิปัสสนาต่างหากจึงทำให้เจริญ

5).กลยุทธ์ในการรับมือกับผัสสะ

เมื่อมีผัสสะหรือสิ่งที่เข้ามากระทบทาง หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ การรับมือกับผัสสะโดยทั่วไปอย่างไม่ต้องศึกษากันเลยก็คือใช้สมถะกดข่มความคิดไม่ดีไว้ ถ้าเก่งขึ้นมาหน่อยก็เป็นสมถะจากการศึกษาธรรมะ เจริญสติบ้าง สร้างตัวรู้บ้าง ใช้ข้อธรรมะบ้าง ก็เอาไว้กดข่ม ดับความฟุ้งซ่าน ดับความคิดนั่นเอง

สมมุติว่ามีเหตุการณ์ดังเช่นว่า คนมานินทาเราทั้งต่อหน้าและลับหลัง สมถะในระดับสามัญสำนึก จะกดไว้ด้วยการรักษาภาพลักษณ์ สงบสยบความเคลื่อนไหว ถ้าเป็นผู้ศึกษาธรรมก็จะมีท่าของสมถะมากขึ้นในการตบผัสสะนั้นๆทิ้งเช่น บริกรรม ยุบหนอ พองหนอ , พุทโธ ,ตั้งสติรู้ไปที่ร่างกาย หรือใช้ข้อธรรมเข้ามาตบว่า ทุกสิ่งไม่เที่ยง มันเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ไม่ใช่ตัวเราของเรา สมถะจะทำงานในลักษณะนี้

ส่วนวิปัสสนานั้นจะต่างออกไปเพราะการวิปัสสนาได้นั้นต้องมีพื้นฐานของสติที่สมบูรณ์อยู่แล้ว นั่นหมายถึงว่าคนที่สามารถทำวิปัสสนาในระหว่างเกิดผัสสะนั้น เขามีอินทรีย์พละแกร่งพออยู่แล้ว จึงสามารถชำแหละกิเลส คือเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ของการนินทาได้ตรงนั้น ขณะนั้น จนกระทั่งสามารถทำให้เจริญถึงขั้นรู้แจ้งเห็นจริงได้จนทำลายกิเลสกันทั้งๆที่ถูกนินทาอยู่นั่นแหละ

ซึ่งผลของวิปัสสนานั้นเมื่อเกิดปัญญารู้แจ้งจริงๆแล้วก็ถือว่าจบ คำนินทาเหล่านั้นแม้จะมีก็เหมือนไม่มีอีกต่อไป มาอีกเป็นกองทัพก็เฉยๆ จะต่างกับสมถะตรงที่ว่าสมถะจะใช้การกด เมื่อปริมาณผัสสะมากเข้าๆ ก็จะเกินกำลังที่จะกดได้ ซึ่งแต่ละคนจะมีขอบเขตในการกดที่จำกัด ที่นี้พอสายสมถะโดนผัสสะกระทุ้งเอามากๆ สุดท้ายก็จะออกอาการที่เรียกว่าตบะแตกนั่นเอง

ดังนั้นกลยุทธ์ในการรับมือกับผัสสะเมื่อเข้าใจสมถะและวิปัสสนาจึงควรใช้ให้เป็นประโยชน์ เช่น ถ้าเรื่องนี้เริ่มเกินกำลังก็ให้กดไว้ก่อน ปัดทิ้งไปก่อน ปล่อยวางไปก่อน แล้วค่อยเก็บไปวิปัสสนาทีหลังก็ได้ แต่ถ้ามีกำลังมากพอ เจอผัสสะกระทบแล้วไม่ถึงกับออกอาการมาก เช่นโดนนินทาต่อหน้าแล้วยังเฉยๆ แต่ยังมีความไม่สบายใจ อึดอัดบ้างก็ให้ทำวิปัสสนาไปเลย ไม่ต้องไปข่ม เพราะมันจะเสียเวลาและเสียของสดไป นั่นเพราะการจะรู้ถึงกิเลสได้ต้องเผชิญกับผัสสะสดๆ กระทบกันสดๆ แม้ว่าเราจะสามารถระลึกย้อนได้แต่ก็ไม่ใช่ของสด เป็นของแห้ง พอใช้แทนกันได้แต่ไม่ดีเท่าสิ่งที่มากระทบสดๆ

6).การประมาณกำลัง

การใช้สมถะและวิปัสสนาไม่ได้ใช้เพื่อรับผัสสะหรือรับมือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันในชีวิตเพียงอย่างเดียว แต่ผู้ปฏิบัติธรรมนั้นจะใช้ศีลเข้ามาช่วยในการศึกษากิเลส ซึ่งจะต้องใช้สมถะและวิปัสสนาในกระบวนการเหล่านี้เช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่นว่า เราตั้งใจว่าจะลดเนื้อกินผักให้ได้มากที่สุด เมื่อเราตั้งศีลนี้ขึ้นมา ผัสสะจะมากกว่าคนที่ไม่ได้ตั้งศีล ศีลจะทำหน้าที่เป็นตัวชี้ให้เห็นถึงกิเลสที่ควรกำจัด เช่น เราไปกินข้าวกับเพื่อนร่วมงาน เรายังจะลดเนื้อกินผักได้ไหม ความอยากเราเกิด เรารู้ตัวไหม แล้วอยากขึ้นมาเราจะทำอย่างไร จะกดข่มความอยากคงสภาพรูปสวยด้วยสมถะไปก่อนดีไหม หรือมีแรงพอจะวิปัสสนาเลยไหม หรือจะเอาไว้ก่อน ยอมแพ้กิเลสไปก่อน

ธรรมนั้นไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ ปัญญาไม่ได้เกิดขึ้นเอง สติมาปัญญาไม่ได้มาเองโดยอัตโนมัติ ถ้าเป็นปัญญาจากสภาพกิเลสสงบมันก็ใช่ แต่อธิปัญญานั้นต้องสร้างเอง จะมีผลได้ก็ต้องสร้างเหตุเอง หลักของวิปัสสนาคือการสร้างปัญญาให้เจริญขึ้นในจิตใจ ถ้าเอาแต่กดข่มด้วยสมถะ ปัญญาก็จะไม่เกิดเพราะไม่ได้วิปัสสนาต่อ ถ้าไม่ขยันวิปัสสนาไม่ติดกามก็ติดภพอยู่แบบนั้น

ยกตัวอย่างที่สองให้เห็นการประมาณที่ชัดขึ้น นั่นคือศีลที่ยากมากขึ้น เช่นเราตั้งใจจะถือศีลกินมื้อเดียว เราไม่เคยทำมาก่อนเลย แต่เราเห็นว่าศีลนี้ดีนะ เขาว่าดี พระพุทธเจ้าก็ว่าดี แม้เราจะยังไม่เห็นได้ชัดอย่างเขาว่ามันดีอย่างไร แต่เบื้องต้นเราก็ว่าดี อันนี้เรียกว่ามีปัญญาที่เป็นมรรค แต่เมื่อถึงเวลาจริงมันไม่มีปัญญาพอที่จะกินมื้อเดียวนะ คือมันรู้ว่าดีแต่มันกินไม่ได้ มันจะไปกินหลายมื้ออยู่เรื่อย ใช้สมถะกดก็แล้ว ทุกอย่างไม่เที่ยง ไม่มีตัวตนก็แล้ว สุดท้ายก็ตบะแตก ว่าแล้วก็ปล่อยวางศีล เดินตามกิเลสไปกินหลายมื้อเหมือนเดิมเฉยๆอย่างนั้น

แบบนี้เรียกว่าเกินกำลัง เพราะประมาณกำลังของกิเลสต่ำเกินไป ถ้าสมถะกดไม่ลงก็แทบจะไม่ต้องพูดถึงวิปัสสนา เพราะเมื่อพ่ายแพ้ให้กับกิเลสมากๆมันจะท้อได้เหมือนกัน วิปัสสนาไปมันก็แพ้กิเลสเท่านั้นเอง และมันไม่ได้ง่ายขนาดว่าพิจารณากันครั้งเดียวผ่าน มันต้องใช้เวลาขึ้นอยู่กับว่าทำสะสมมาเท่าไหร่ ไม่ใช่ว่ากดข่มด้วยสมถะเก่งแล้วจะสามารถถือศีลนี้ได้เสมอไป แม้จะถือได้ด้วยสมถะแต่ถ้าไม่ทำวิปัสสนามันก็ไม่มีปัญญา มันก็ถือศีลแบบถือไว้อย่างนั้น ถือแบบงมงาย ถือแบบกดข่มเท่านั้นเอง

7). ผลของความพอดีจากสมถะและวิปัสสนา

ความพอดีของสมถะและวิปัสสนาที่ตอบสนองต่อผัสสะหรือสิ่งที่เข้ามากระทบคือเกิดความเจริญสูงสุด ความเจริญนี้ไม่ได้หมายถึงสามารถกดข่มได้อย่างยอดเยี่ยมหรือพิจารณาทีเดียวเกิดปัญญารู้แจ้ง แต่หมายถึงประสิทธิภาพสูงสุดที่จะสามารถทำได้ของคนนั้นๆ บางคนมีปัญญาต่อกิเลสในเรื่องนั้นๆ 50% การรักษาสภาพที่พอดีพอเหมาะสูงสุดอาจจะหมายถึง สมถะ 0 วิปัสสนา 100 หรือสมถะ 80 วิปัสสนา 20 ก็เป็นได้ และการเจริญจาก 50% ไปสู่ 51% ก็อาจจะเป็นความเจริญสูงสุดที่คนผู้นั้นทำได้ ณ เวลานั้นก็เป็นได้

เพราะศาสนาพุทธไม่ได้สอนให้กระทำความดับในทันที แต่สอนให้เกิดปัญญาไปตามลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด โดยใช้ไตรสิกขาคืออธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เข้ามาเพื่อช่วยก้าวข้ามกิเลสสามภพ คือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ ซึ่งสภาพของกิเลสในแต่ละภพนี้เองก็คือความหยาบ กลาง ละเอียดไปโดยลำดับ

เราไม่สามารถใช้สมถะในการทำลายภพของกิเลสเหล่านี้ได้ เพราะสมถะทำได้อย่างมากก็แค่กดข่ม แต่จะสามารถกดข่มได้กี่ภพกี่ชาตินั้นไม่รู้ ส่วนตัวที่จะทำลายภพชาติของกิเลสจริงๆนั้นคือวิปัสสนา ดังนั้นเมื่อปฏิบัติอย่างถูกตรง ประมาณกำลังให้เหมาะก็จะมีทิศทางที่จะเจริญไปเรื่อยๆจนกระทั่งถึงผลสุดท้ายคือสภาพหลุดพ้นจากกิเลสหรือวิมุตติในที่สุด

8). สับสนสมถะวิปัสสนา

ในปัจจุบันมีความสับสนในวิธีการปฏิบัติของสมถะและวิปัสสนาอยู่มาก ทั้งในส่วนของบัญญัติภาษาและในส่วนของการปฏิบัติ

ในส่วนของบัญญัติภาษา มีอยู่มากที่เรียกสมถะของตนว่าวิปัสสนา ตั้งชื่อว่าวิปัสสนาแบบนั้นแบบนี้ แต่พอปฏิบัติก็ใช้การกดข่มจิตเข้ามาเป็นหลักในการปฏิบัติ หรือทั้งสมถะและวิปัสสนาของเขาก็เป็นแค่สมถะ แต่ไปแตกวิธีปฏิบัติสมถะว่านั่งสมาธิ แล้วหมายเอาว่าการใช้ธรรมเข้ามาพิจารณากดข่มกิเลสนั้นเป็นวิปัสสนา คือถ้าอยู่ในแนวทางของอุบายทางใจนั่นก็คือสมถะทั้งหมด จะตั้งชื่ออย่างไรก็แล้วแต่ แต่โดยสัจจะมันก็สมถะอยู่ดี

ถามว่าทำได้ไหม มันก็ทำได้ แต่ก็น่าจะเรียนรู้ความต่างของสมถะและวิปัสสนา ไม่ใช่ปฏิบัติแต่สมถะและสมถะ แบบนี้มันก็พากันไปติดภพเท่านั้นเอง วิปัสสนาก็ยังเข้าใจไม่ได้ แล้วยังเข้าใจผิดไปอีก แบบนี้จะติดอีกนานแสนนาน

ในส่วนของการปฏิบัตินั้นมีความสับสนอยู่มากเช่นเดียวกับบัญญัติภาษา บางคนก็กล่าวหาว่าการคิดนั้นผิด ทั้งๆที่วิปัสสนานั้นเป็นการคิดพิจารณาเพื่อให้เกิดปัญญา ซึ่งโดยมากจะเป็นสายสมถะที่กระทำแต่การหยุดคิดแล้วหมายเอาการหยุดคิดนั้นเป็นวิปัสสนา มันก็เลยสับสนเช่นนี้

ถ้าหนักๆเข้าก็ข่มว่าวิปัสสนานั้นเอาแต่คิด ยิ่งคิดยิ่งฟุ้งซ่าน ซึ่งมันก็ถูกอย่างที่เขาว่า แต่ถ้าจะบอกว่าผิดทางนั้นก็ตอบว่าไม่ใช่ เพราะวิปัสสนาไม่ใช่ภพของการกดข่ม ไม่ได้ทำเพื่อความสงบอย่างสมถะ คนที่ติดสมถะและไม่มีปัญญาวิปัสสนาก็จะไม่เข้าใจการชำแหละกิเลสด้วยปัญญาจากความฟุ้งเหล่านั้น ที่มันฟุ้งซ่านเพราะมันมีกิเลส วิปัสสนานั้นกระทำต่อกิเลส ไม่ได้กระทำต่อความฟุ้งซ่านดังเช่นสมถะวิธี

เมื่อผู้ทำสมถะไม่ได้เรียนรู้วิปัสสนาก็จะไม่เข้าใจและพากันตีทิ้งวิปัสสนา เข้าไปติดภพ ติดสงบ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติเพราะสภาพสงบของสมถะมันสบายจริงๆ มันไม่ต้องคิด ไม่ต้องเอาภาระ ไม่ต้องอะไรมาก เหมาะจะเอาไว้พักจิต ซึ่งสรุปแล้วมันก็เป็นเพียงแค่อุบายทางใจเอาไว้พักเมื่อคิดพิจารณาทำลายกิเลสด้วยวิปัสสนาจนหัวร้อนนั่นแหละประมาณว่าเป็นที่พักริมทางเมื่อต้องเดินทางไกล

ทีนี้บางคนติดสบายก็หมายเอาสมถะเข้ามาเป็นทางปฏิบัติ หนักเข้าก็หมายว่าเป็นทางบรรลุธรรม ตีทิ้งวิปัสสนาไปเลยก็มีเหมือนกัน ถ้าจะยืนยันกันก็มีหลักฐานมากมายในยุคพุทธกาล ในสมัยนั้นพระพุทธเจ้าเทศน์โปรดหลายท่านไม่กี่ประโยคก็บรรลุธรรมได้ นั่นเพราะท่าน “คิด” พิจารณาตามโดยแยบคาย เห็นไหม คนที่มีอินทรีย์พละแก่กล้าไม่จำเป็นต้องใช้สมถะเลย

บางคนที่เข้าใจสมถะและวิปัสสนาอย่างผิวเผิน พอปฏิบัติมันก็แยกไม่ออก ปนเปกันไป ทำสมถะอยู่แต่ก็เข้าใจว่าทำวิปัสสนา หรือพวกที่วิปัสสนาก็เรียนรู้เพียงทฤษฏี คือรู้โดยภาษานะว่าวิปัสสนาเป็นอย่างไร แต่พอปฏิบัติก็กลายเป็นสมถะหมด

– – – – – – – – – – – – – – –

5.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)