Tag: รักษาจิตใจ

สนทนาธรรมในสวน

May 1, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,320 views 0

สนทนาธรรมในสวน

วันนี้ผมได้จัดกิจกรรมเล็กๆ ขึ้นมา เป็นการเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมวงสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ธรรมะกัน ซึ่งในงานนี้เราก็จัดกันในสวน

ผมเลือกสวนสาธารณะ เพราะมันมีความเป็นสาธารณะ ใครมาใช้ก็ได้ จะไม่มาก็ได้ นั่งตรงไหนก็ได้ แถมยังมีห้องน้ำ และร้านค้าไว้บริการอีก ที่สำคัญคือฟรี ผมเชื่อว่าเราควรศึกษาธรรมะด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้โดยไม่ทำให้ทุกข์จนเกินทน

ผมเลือกที่จะนั่งใต้โคนไม้ใหญ่ บนพื้นที่นั่งนั้นไม่มีหญ้า มีแต่เศษใบไม้ การนั่งของเรานั้นจึงไม่ได้สร้างความเสียหายให้ต้นหญ้า จนต้องลำบากคนดูแลอีกทีหนึ่ง แต่สิ่งนั้นก็ไม่ได้สำคัญเท่ากับการที่เราได้ตรวจใจว่า เราติดความนุ่ม ความสบายรึเปล่า หญ้านี่มันนุ่มนะ นั่งไปแล้วมันสบาย แต่เราพามานั่งในที่ที่มันไม่ได้สบายขนาดนั้น เป็นแค่พื้นดินที่มีเศษใบไม้อยู่ แต่ถ้าปูเสื่อก็พอนั่งได้ ถึงจะไม่ปูก็นั่งได้อยู่ดี เอาแค่มันไม่เลอะเทอะไม่ชื้นแฉะก็พอแล้ว

ผมเลือกเวลาค่อนข้างเช้าในการสนทนา เพราะเหมาะสมทั้งสภาพอากาศและการขัดเกลาจิตใจ ผมเห็นคนที่เขารักษาสุขภาพตื่นมาวิ่งกันตั้งแต่ก่อนตีห้าครึ่ง แล้วคนรักธรรมะ รักษาจิตใจอย่างเรา จะนอนตื่นสาย มาทำกิจกรรมกันสายๆ ก็คงจะไม่ใช่แนวทางที่เจริญแน่ๆ ผมจึงเลือกเวลาเช้าตรู่ในการนัด ซึ่งครั้งนี้นัดเวลา 7.00 น. แต่ครั้งหน้าก็อาจจะปรับเป็นเช้ากว่านี้ เพราะ 7 โมงนี่คนมาวิ่งเต็มสวนแล้ว ถ้าคนรักสุขภาพเขามาออกกำลังกายได้ คนรักธรรมะก็ควรจะมาสนทนาธรรมแต่เช้าได้เหมือนกัน (จริงๆ เราควรจะแกร่งกว่าเขานะ แต่จะให้เช้ามากในกรุงเทพฯ มันก็จะเดินทางลำบากสำหรับคนไม่มีรถส่วนตัว)

ในตอนแรกผมตั้งใจรับคนมากที่สุดไว้ที่ 15 คน แต่สมัครกันมาก็น้อยกว่านั้นเยอะ และมาจริงๆไม่กี่คน แต่เมื่อได้เริ่มกิจกรรม คุยธรรมะกัน ผมพบว่าคนเยอะก็ไม่ดีหรอก อย่างมาก 5 คน ก็พอแล้ว เพราะแต่ละคนก็มีเรื่องราวของตัวเอง ดังนั้นถ้าคนเยอะไปมันจะได้แต่น้ำ เนื้อไม่มีเวลาเจาะ เพราะผมเองก็คงจะไม่ได้บรรยายธรรมะเป็นหลัก แต่เป็นการถามตอบกันเป็นส่วนใหญ่ ถามมาเราก็ขยายธรรมะตามที่เราได้เรียนรู้มา แนะนำกันว่าสิ่งไหนเป็นประโยชน์ สิ่งไหนเป็นโทษ โดยใช้ไตรสิกขาเป็นแกนในการสนทนากัน

ผมเชื่อเสมอว่าการสนทนาธรรมนั้นเป็นทางแห่งการหลุดพ้นจากกิเลส เพราะผมก็ได้ประโยชน์กับการสนทนาธรรมนี้มาโดยตลอด และที่สำคัญผมไม่ได้คิดเอาเอง แต่ตรงตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าการฟังธรรมการสนทนาธรรมกันนี่แหละ ที่จะทำให้หลุดพ้นจากกิเลส (เหตุแห่งวิมุตติ ๕) ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ผลักดันให้ผมได้จัดกิจกรรมในครั้งนี้เพราะเชื่อว่า หากเราสร้างโอกาสในการสนทนาธรรมให้ผู้อื่น ก็จะเกิดกุศลทุกฝ่าย คนพูดก็ได้ประโยชน์ คนฟังก็ได้ประโยชน์ มีแต่คนได้ประโยชน์ ผมจึงคิดว่าผมก็คงจะทดลองจัดต่อไป และศึกษาปรับปรุงให้การสนทนาธรรมนี้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด

กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อการหลุดพ้นจากทุกข์ เป็นไปเพื่อความผาสุกอย่างยั่งยืน เป็นไปเพื่อความดับกิเลสอย่างสิ้นเกลี้ยง เป็นไปเพื่อนิพพาน ดังนั้นก็จะขอเชิญชวนผู้ที่สนใจศึกษามุ่งหวังมรรคผลอย่างแท้จริง ได้เข้ามาร่วมศึกษา มาลองพิสูจน์กันว่าทางนี้สามารถพ้นทุกข์ได้จริงไหม ทางนี้นั้นไม่ใช่ทางอื่นใด ก็คืออริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งประกอบด้วยการคิด พูด ทำอย่างถูกตรง โดยใช้ไตรสิกขา คืออธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ให้เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส เป็นไปเพื่อการพราก ไม่สะสม เพื่อการละหน่ายคลาย เพื่อความผาสุกอย่างยั่งยืน

– – – – – – – – – – – – – – –

1.5.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เข้าวัดทำบุญนิสัยแย่

September 20, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,938 views 0

เข้าวัดทำบุญนิสัยแย่

เข้าวัดทำบุญนิสัยแย่

เรื่องนี้มักจะเป็นเรื่องที่ทำให้หลงเข้าใจผิด ทำให้พุทธศาสนิกชนที่ไม่ได้ศรัทธาอย่างจริงจังนึกสงสัยว่า การทำบุญและการเข้าวัดนั้นดีจริงหรือ ในเมื่อคนที่เข้าวัดทำบุญ ยังมีนิสัยที่โกรธ โลภ หลงมัวเมาอยู่เหมือนเดิม ดีไม่ดียังมีอาการเมาบุญเข้าไปอีก ทำให้หลายคนเกิดความลังเลสงสัย หรือแม้กระทั่งเสื่อมศรัทธาในศาสนา

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า คนที่เข้าวัดทำบุญส่วนใหญ่นั้น เป็นคนที่หาที่พึ่งทางจิตใจ เพราะจิตใจของเขาเหล่านั้นอ่อนแอ เปราะบาง สับสน วิตก กังวล สงสัย ไม่เข้าใจ วัดจึงเหมือนเป็นศูนย์รวมคนป่วยทางจิตใจและผู้แสวงหาทางพ้นทุกข์ไปรวมกันมากมาย ทีนี้กุญแจของเรื่องนี้ก็คือ พระสามารถเป็นหมอที่จะรักษาจิตใจหรือให้ปัญญาแก่ผู้แสวงหาทางเดินของชีวิตได้หรือไม่ สามารถสอนให้คนเป็นคนดีได้หรือไม่

ถ้าพระของวัดนั้นๆ สอนแค่เรื่องทำบุญทำทาน ไม่สอนลดกิเลส คนที่ไปก็อาจจะกลายเป็นเมาบุญ แย่งกันทำบุญ เพราะกลัวตัวเองจะต้องตกนรก กลายเป็นดงผีเปรตโลภเสพบุญกันในวัดนั้นแหละ

มันไม่ผิดเลยถ้าพระที่วัดนั้นๆจะสอนธรรมแค่ระดับการทำทาน ถือศีลหรือทำสมถะในแบบทั่วไป นั่นเพราะท่านก็อาจจะเข้าใจแค่นั้น ซึ่งเอาเข้าจริงๆ พระก็คือคนธรรมดาที่ห่มผ้าเหลืองไปเรียนรู้ธรรมนั่นแหละ ส่วนท่านจะมีความรู้มากแค่ไหนก็อยู่ที่ความเพียรของท่าน ปัญญาที่ท่านมีไม่ได้มีเพราะผ้าเหลือง แต่มีเพราะความเพียรในการศึกษาเรื่องทางธรรมของท่าน แต่หลักสำคัญอยู่ที่ว่า ปัญญาและความรู้นั้น เป็นความรู้ที่สามารถพาลดกิเลส หรือทำได้แค่เยียวยาทุกข์ หรือจะกลายเป็นพาสะสมกิเลส ดังเช่นพระที่ใช้เดรัจฉานวิชาในทุกวันนี้

ดังจะเห็นได้ตามที่กล่าวมา อย่าว่าแต่คนไปวัดเลย พระในวัดก็อาจจะไม่ได้เก่งขนาดที่ว่าจะสอนให้คนพ้นทุกข์ ทีนี้คนทุกข์กับคนทุกข์มาอยู่ด้วยกันมันก็ทุกข์ไปด้วยกันนั่นแหละ มีแต่จะทุกข์น้อยทุกข์มากเท่านั้นเอง พระก็มีทุกข์มีกิเลสของพระ โยมก็มีทุกข์มีกิเลสของโยม ในเมื่อล้างกิเลสกันไม่เป็น ก็เลยพากันเสพกิเลสเพื่อจะได้เสพสุขพักหนึ่งเท่านั้น

การปฏิบัติสมถะทั้งหลาย คือการพานั่งสมาธิ เดินจงกรมนั้น หากได้ศึกษาและเรียนรู้ขอบเขตของการทำสมถะจะพบว่าเป็นการปฏิบัติที่มีเป้าหมายในการทำจิตให้นิ่ง กดข่มจิต ดับความคิด การทำสมถะนี้ ไม่สามารถทำให้บรรลุธรรมใดๆได้ ไม่สามารถทำให้ลดกิเลสได้

สามารถลองดูด้วยตัวเองก็ได้ เช่น วางขนมอร่อยๆที่ชอบไว้ตรงหน้า ทีนี้นั่งสมาธิเข้าภวังค์ไปเลย 1 ชั่วโมง 1 วัน 3 วัน 7 วัน แล้วออกมากิน ถามว่า ความอร่อยนั้นจะลดลงไหม? ความสุขจากเสพลดลงไหม? ไม่ลดลงหรอก เพราะความอร่อยถูกสร้างจากวิญญาณที่มีกิเลส เมื่อไม่ได้ดับกิเลส มันก็ยังรู้สึกอร่อยเหมือนเดิมนั่นแหละ

การทำสมถะคือการดับความคิด ดับจิต ถ้าเก่งมากก็ดับสัญญา คือดับความจำได้หมายรู้กันไปเลย แต่ไม่ได้ดับกิเลสนะ ศาสนาพุทธสอนให้ดับกิเลส ไม่ได้ดับความคิด ต้องเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่ใช่ทำตัวเป็นผู้ไม่รู้ ไม่ตื่น ผู้เฉยๆ

รู้ในที่นี้ คือรู้แจ้งเรื่องกิเลส ตื่นตัวไม่หลับใหลเมามายในอวิชชาหรือความโง่ที่พาให้หลงไปในกิเลส ผู้เบิกบานนั้นเกิดจากความปล่อยวางความเศร้ามองที่เกิดจากกิเลสในใจ

การปฏิบัติแบบพุทธต้องมีเป้าหมายแบบนี้ ไม่อย่างนั้นก็จะปฏิบัติกันไปผิดๆ จึงได้ผลแบบไม่เต็มประสิทธิภาพ ดังจะเห็นได้จากคนเข้าวัดทำบุญมากมาย แต่นิสัยแย่ ขอลาไปปฏิบัติธรรม 7 วัน กลับมายังเอาเปรียบยังนินทาคนอื่นเหมือนเดิม นั่นเป็นเพราะเขาปฏิบัติมาผิดทาง สอนกันผิดทาง หรืออาจจะสอนถูก แต่คนผู้นั้นมีบาปมาก ไม่ตั้งใจเรียนก็อาจจะทำให้ฟังมาผิดๆ

ในสมัยพุทธกาลก็มีมาแล้ว มีคนที่ฟังพระพุทธเจ้าเทศน์ตั้งนาน แต่ก็กลับไปแบบไม่ได้อะไร ขนาดมหาบุรุษที่เก่งที่สุดในจักรวาลให้สัจจะอยู่ตรงหน้าก็ยังไม่สามารถเข้าใจและเกิดปัญญาใดๆได้ เหตุการณ์ดังนี้ก็มีให้เห็นมาแล้ว

ดังนั้น การไปเข้าวัดทำบุญ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถทำให้กลายเป็นคนดีได้เลย ดังจะเห็นตัวอย่างในสังคมทุกวันนี้ คนที่เขาทำไม่ดี ทำชั่ว เขาก็ไปวัดทำบุญเหมือนกันกับเราใช่ไหม แต่ทำไมเขาก็ยังไม่หยุดทำชั่ว ไม่หยุดทำเลว ยังโกหก ปลิ้นปล้อน หลอกลวงอยู่เลย

แก่นแท้ของการไปเข้าวัดทำบุญก็คือไปพบปะครูบาอาจารย์ที่มีความสามารถในการสอนสั่งเราไปในทางที่ลด ละ เลิก การยึดมั่นถือมั่นได้ สามารถสอนให้เราล้างกิเลสได้ โดยสามารถบอกขั้นตอนได้อย่างละเอียดพิสดาร เข้าใจได้ไม่ยากนัก ไม่ซับซ้อน เราก็ไปพบท่าน ฟังสัจธรรมจากท่าน แล้วนำมาปฏิบัติจนเกิดผล คือกิเลสเราลดได้จริง นั่นแหละทางถูกที่ควร

แต่ถ้าใครไปวัดทำบุญ เพียงแค่ทำบุญ ใส่บาตร ฝึกสมถะ ก็เหมือนไปเอาแต่เปลือก แต่สะเก็ด เอาแต่ใบ เอาคุณค่าแค่บางส่วน ไม่ได้เอาแก่น เหมือนคนเข้าป่าไปหวังจะเอาแก่นไม้ แต่ก็เด็ดใบไม้กลับบ้านไป แล้วหลงเข้าใจว่าใบไม้นั้นเป็นแก่น แล้วมันจะเป็นคนดีได้อย่างไร….

– – – – – – – – – – – – – – –

20.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์