Tag: ปล่อยปลา
ปลาข้างทาง
ปลาข้างทาง
เช้าเมื่อวานฝนตกลงมาอย่างหนัก และค่อย ๆ ซาไปในตอนสาย ระหว่างที่ผมกำลังเดินออกจากบ้านเพื่อที่จะไปขึ้นรถประจำทาง ก็พบกับปลาตัวหนึ่งนอนอยู่ข้างทาง
ปลาตัวนี้ตัวไม่ใหญ่นัก ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ปลาจะมาอยู่บนถนนหลังฝนตก เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เจอได้บ่อย ๆ ปลาจะมาตามท่อที่น้ำล้นและติดอยู่บนถนนเมื่อน้ำลด
ผมยืนดูปลาตัวนี้สักพัก ก็คิดว่าจะเอาอย่างไรกับมันดี มันก็อยู่ข้างทาง รถก็วิ่งผ่านมาใกล้ ๆ เห็นท่าจะรอดยาก ไม่ตายเพราะรถก็ตายเพราะมด แล้วก็นึกขึ้นได้ว่าพกถุงพลาสติกไว้ใส่ของกันฝน ก็เลยเอาปลาใส่ถุงแบบรวมน้ำ ซึ่งตอนแรกก็คิดว่าจะเอาไปปล่อยที่บึงสาธารณะใกล้บ้าน แต่พอคิดไปคิดมาก็นึกขึ้นได้ว่า เหมือนบึงเขาจะไม่ให้ปล่อยสัตว์น้ำ สุดท้ายก็เลยปล่อยปลาลงท่อไป
จากเหตุการณ์นี้ก็นึกขึ้นได้ว่า หากจะปล่อยปลาให้ถูกธรรม ก็คงจะต้องปล่อยแบบนี้ คือมีปลามานอนพะงาบพะงาบต่อหน้าแล้วช่วยมัน ทำแบบนี้ไม่มีผลเสียกับใคร และไม่ผิดธรรมด้วย ส่วนที่ซื้อปลาไปปล่อยนั้น พวกเขาผิดตั้งแต่ซื้อขายชีวิตสัตว์แล้ว พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ว่า อย่าทำการค้าที่ผิด มันจะไม่พ้นทุกข์ หนึ่งในนั้นคือค้าขายชีวิตสัตว์ (มิจฉาวณิชชา ๕) ดังนั้นเมื่อเราไปข้องเกี่ยวกับกระบวนการขายชีวิตสัตว์ ไม่มีทางเลยที่เราจะได้มันมาอย่างถูกธรรม มันผิดแน่ ๆ และไม่ควรประเมินว่าผลสุดท้ายมันจะดีกว่า ในเมื่อกระดุมเม็ดแรกมันผิด เม็ดต่อ ๆ ไปมันก็ติดผิดไปเรื่อย จะดีกว่าไหมที่เราจะแก้ความเห็นผิดตั้งแต่แรก ให้มันไม่ต้องผิดซ้ำผิดซ้อนกันไปอีก
เพราะพุทธทุกวันนี้แทบจะไม่รู้ผิดรู้ถูกกันแล้ว เอาแต่ตามที่ใจเห็นว่าดี เอาแต่ตามที่ประเพณีเห็นว่าควร ส่วนจะถูกธรรม ถูกตามที่พระเถระ(เถรวาท) ได้รวบรวมไว้หรือไม่นั้นชาวพุทธส่วนมากไม่ได้สนใจแล้ว ซึ่งมันก็ไม่แปลกว่าทำไมบ้านเมืองมีแต่เรื่องน่าสลด นั่นเพราะกระดุมเม็ดแรกมันติดไว้ผิด เม็ดต่อมาจนถึงปัจจุบันก็ผิดหมดนั่นแหละ หากใครได้ศึกษาและตรวจสอบตามหลักฐานจนพบว่าสิ่งที่ตนเองมีความคิดเห็นหรือความเข้าใจที่ผิด ก็ให้รีบเร่งแก้ไขความเห็นผิดนั้น เพราะการแก้ตัวไม่ได้ช่วยให้ความเห็นผิดนั้นกลับเป็นถูกได้ แม้จะเถียงชนะโลก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะชนะมารและพ้นจากความเห็นผิดไปได้
6.5.2560
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
การลดกิเลส ความดีที่เข้าใจได้ยาก
การลดกิเลส ความดีที่เข้าใจได้ยาก
หากเราจะกล่าวกันถึงเรื่องลดกิเลสนั้น ก็เป็นเสมือนเรื่องนามธรรมที่มองไม่เห็น เป็นเรื่องที่ไม่น่าสนใจ เป็นเรื่องที่ถูกลืมไปแล้วในสังคมพุทธบ้านเรา
เรามักจะมองเห็นการทำดีที่เป็นรูปธรรมได้ชัดเจน ใครทำดีก็ทำไปตามที่สังคมเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งดี แต่การลดกิเลสกลับเป็นเรื่องที่ดูมีคุณค่าน้อย ดูเป็นเรื่องอุดมคติ มองไม่เห็น วัดไม่ได้ ไม่เหมือนการทำดีตามสังคมนิยมทั่วไปที่เห็นภาพกันได้ชัดเจนเลยว่าใครทำอะไร เท่าไหร่ อย่างไร…
(ต้องขออภัยที่ในบทความนี้ต้องยกตัวอย่างการปล่อยปลา ซึ่งผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาให้กระทบใคร การปล่อยปลาช่วยเหลือปลาก็เป็นสิ่งดีถ้าปลานั้นได้รับความทุกข์ทรมานอยู่ ซึ่งการช่วยเหลือเกื้อกูลสัตว์เป็นสิ่งที่ดีสามารถทำได้ เป็นสิ่งที่เป็นกุศล แต่กระนั้นผู้เขียนก็ไม่ได้สนับสนุนในการซื้อขายชีวิตสัตว์เพราะเป็นมิจฉาวณิชชาหรือการค้าขายที่ชาวพุทธไม่ควรทำ)
หากเราจะเปรียบเทียบการทำดีในมุมที่สังคมเข้าใจกับการลดกิเลส ก็จะยกตัวอย่างในกรณีการปล่อยปลา คนที่คิดว่าการปล่อยปลาดีนั้น เขาก็จะนำปลามาปล่อย ปล่อยตัวเดียวคนก็ยินดีประมาณหนึ่ง ปล่อยเป็นล้านตัวคนก็ร่วมยินดีกันยกใหญ่ เข้าใจตามประสาสังคมว่าเป็นบุญใหญ่ ความดีแบบนี้มันเห็นได้ง่าย ผู้คนเข้าใจ ร่วมยินดี ให้ความเคารพ
แต่ถ้ามาเรื่องลดกิเลส เราอาจจะไม่ได้ซื้อหรือหาปลามาปล่อยลงแม่น้ำเหมือนคนอื่นเขา แต่เราปล่อยให้ปลาใช้ชีวิตไปตามธรรมชาติของมัน ไม่ซื้อ ไม่จับ ไม่กินมัน คือละเว้นการกินเนื้อปลาตลอดชีวิตเพราะรู้ว่าความอยากกินเนื้อปลานั้นยังผลให้ต้องเบียดเบียนปลา และเบียดเบียนตนเองด้วยอกุศลกรรมและทุกข์จากความอยากกิน สุดท้ายจึงกลายเป็นคนที่ไม่กินปลา
ความดีที่เห็นและที่เป็น
หากจะถามว่าเราสามารถเห็นความดีแบบไหนได้ง่าย โดยส่วนมากเขาก็จะตอบว่าปล่อยปลาล้านตัว เขาไม่มาสนใจคนที่เลิกกินเนื้อปลาหรอก เพราะมันเป็นรูปธรรม มันชัดเจน เข้าใจง่าย
แต่หากจะถามว่าอะไรเป็นความดีมากกว่า ก็ต้องตอบว่าการลดกิเลส เพราะการลดความอยากได้นั้นคือการปฏิบัติสู่หนทางสู่การพ้นทุกข์ การทำลายกิเลสจนสิ้นเกลี้ยงเป็นเป้าหมายของศาสนาพุทธ แม้จะทำได้แค่เรื่องเดียวก็เป็นเรื่องที่มีกุศลมากแล้ว เป็นความดีมากแล้ว
ความชั่วที่เห็น
หากจะถามว่าเราจะเห็นสิ่งชั่วแบบไหนได้ง่าย โดยส่วนมากเขาก็จะตอบว่าปล่อยปลาล้านตัว คนที่ช่างสังเกตก็จะมองว่าแล้วหาปลามาจากไหน จับมาหรือเพาะพันธุ์มา แล้วจะทำให้ระบบนิเวศเสียไหม แล้วทำไมไม่เลิกกินปลาเสียเลย เห็นบางคนปล่อยปลาแล้วก็ไปกินปลาต่อ ซึ่งการทำดีแบบโลกๆก็คงจะหนีไม่พ้นสรรเสริญและนินทา
ส่วนการทำลายความอยากจะไม่สามารถเห็นสิ่งชั่วได้เลย เพราะไม่ไปเบียดเบียนให้มันชั่ว ไม่ยุ่งกับสัตว์อื่นให้ต้องมีอกุศลกรรมใดๆ แม้จะไม่ได้ดีโดดเด่นอะไร แต่เพียงแค่ไม่มีชั่วปนอยู่เลยก็เพียงพอแล้ว และไม่ต้องได้รับสรรเสริญนินทามาก จนเสี่ยงต่อการเกิดสิ่งชั่วขึ้นอีก
ความจริงที่ปรากฏ
การปล่อยปลา หรือการทำดีที่เข้าใจกันโดยทั่วไปเช่น การสละทรัพย์สร้างวัตถุ การสละแรงงาน ฯลฯ เหล่านั้นมีความไม่แน่นอน นั่นหมายถึงไม่สามารถทำได้ตลอดเวลา อาจจะมีเหตุปัจจัยให้ทำได้หรือไม่ได้ก็ได้ ดังนั้นการทำความดีตามที่โลกเข้าใจนั้น ยังมีข้อจำกัดที่มาก ไม่สามารถทำได้ทุกวัน
แต่การละเว้นปลานั้น เป็นความดีที่ทำได้ทุกวัน ทุกมื้ออาหาร โดยเฉพาะคนที่ทำลายกิเลสได้จริง เขาก็จะดีของเขาไปทุกวันเช่นนั้น ไม่ต้องรอโอกาส ไม่ต้องมีเวลาพิเศษ ไม่ต้องสละทรัพย์ใดๆเพื่อความดี แต่เป็นการสละกิเลสเพื่อความดี ความดีก็จะคงอยู่กับตัวเขาไปเช่นนั้น ทุกวัน ทุกเวลา และสามารถละเว้นสิ่งอื่นๆได้ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อสร้างความดีในตนสะสมไปอีก
ความจริงตามความเป็นจริง
หากเอาความดีตามที่โลกเข้าใจนั้นก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องทางรูปธรรม เข้าวัด ปล่อยปลา ทำทาน สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล สร้างวัด ฯลฯ แต่ในทางพุทธศาสนาแล้ว เราไม่ได้มุ่งเน้นด้านวัตถุหรือรูปธรรมมากนัก แต่จะเน้นหนักไปทางด้านจิตใจหรือเรื่องนามธรรมเป็นส่วนใหญ่
ความดีสูงสุดที่มนุษย์ควรจะกระทำคือการชำระกิเลส การปฏิบัติตนให้พ้นจากกิเลส ที่เป็นเหตุแห่งความชั่วทั้งปวง ดั้งนั้นความเป็นพุทธจึงไม่ได้มุ่งเน้นการทำดีเป็นอันดับแรก แต่เอาการหยุดชั่วมาเป็นสิ่งแรกที่มนุษย์สมควรทำ การจะหยุดชั่วได้นั้น จะต้องหยุดที่กิเลส ถ้ายังมีกิเลสอยู่ก็จะยังชั่วอยู่ เมื่อหยุดชั่วได้หมดก็จะเป็นความดีไปในตัว แต่กระนั้นท่านก็มิได้บอกให้หยุดชั่วแล้วอยู่เฉยๆ แต่ให้เพียรทำดีด้วย คือสร้างประโยชน์ให้ตนเองและผู้อื่นไปด้วย สุดท้ายแล้วคือหมั่นทำจิตใจของตนให้ผ่องใสจากกิเลสอื่นๆที่ยังหมักหมมในจิตใจให้หมดสิ้น
– – – – – – – – – – – – – – –
28.7.2558