Tag: ปฏิบัติ
พอเพียง
พอเพียง
เมื่อเราได้รับสิ่งที่ดี ได้เห็นตัวอย่างที่ดี ได้ฟังคำสอนที่ดี ฯลฯ โดยมากแล้วเราก็มักจะเก็บมันไว้บนที่สูง เก็บไว้บนหิ้ง คือรับรู้และยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่มักจะไม่ได้เอามาทำให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควร แม้จะมีศรัทธาแต่ก็ยังคงเป็นพลังศรัทธาที่อ่อนแอ
…เมล็ดข้าวนี้ ถ้าเราเอามากอดเก็บไว้บูชา ประโยชน์ก็จะเกิดประมาณหนึ่ง คือเป็นสิ่งที่ทำให้ระลึกถึงสิ่งที่ดี แต่ถ้าเราเอาเมล็ดข้าวนี้ไปปลูก สักวันหนึ่งเราก็จะได้เมล็ดข้าวอีกมากมาย สามารถนำไปสร้างประโยชน์ให้ตนเองและผู้อื่นได้
เช่นเดียวกันกับการที่เราได้รับสิ่งที่ดี ได้เห็นตัวอย่างที่ดี ได้ฟังคำสอนที่ดี ฯลฯ ถ้าเรานำมาศึกษาเรียนรู้ เพียรพยายามปฏิบัติตาม สักวันหนึ่งเราก็จะเกิดผลนั้นในตนเอง เป็นเอง มีเอง สามารถทำตนให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นได้อีกมากมาย
ปลูกข้าวก็สามารถแบ่งปันเมล็ดข้าวได้ ทำตนให้เป็นคนดีก็สามารถแบ่งปันสิ่งดีได้ ศึกษาเพื่อให้เกิดธรรมะในตนก็จะสามารถแบ่งปันธรรมะได้เช่นกัน ผู้ที่สามารถปฏิบัติตนตามสิ่งดี ตามตัวอย่างที่ดี ตามคำสอนที่ดีจนเกิดผลในตนได้จริง จะต้องมีศรัทธาอย่างแรงกล้า ตั้งมั่น ยืนหยัด มั่นคง แข็งแกร่ง ไม่หวั่นไหว
…..
ผมได้เมล็ดพันธุ์แห่งความ “ พอเพียง ” นี้มา และเริ่มปลูกในวันนี้ เพราะเมล็ดพันธุ์ที่ปลูกวันนี้ ย่อมจะโตได้ไวที่สุดเท่าที่มันจะเจริญเติบโตได้ แต่ถ้าหากเราปล่อยเมล็ดพันธุ์ทิ้งไว้ มันก็จะเสื่อมไปตามกาลเวลา เหมือนกับความดีงาม หากเราไม่พยายามทำ จิตใจของเราก็จะเสื่อมและต่ำลงไปตามกาลเวลาเช่นกัน
ผมไม่รู้หรอกว่ามันจะงอก, มันจะรอด, มันจะโต, มันจะสมบูรณ์จนสามารถออกรวงให้เก็บเกี่ยวผลได้หรือไม่ แต่เมล็ดพันธุ์ที่ได้มานั้นมีมากมาย เหมือนกับสิ่งดีงาม ตัวอย่างที่ดีงาม คำสอนที่ดีงามต่าง ๆ นั้นมีมากมาย แม้เราจะไม่ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติตามบางเรื่อง แต่ก็มีหลากหลายเรื่อง หลากหลายมุม ให้เราได้ยึดถือและฝึกปฏิบัติตามสิ่งที่ดีงามเหล่านั้น
การปลูกข้าวก็เช่นกัน มันอาจจะไม่สำเร็จในครั้งแรก แต่ผมก็จะพากเพียรพยายามศึกษาเรียนรู้ แม้จะปลูกไม่ขึ้น ไม่เห็นผล ก็จะพยายามปลูกไปเรื่อย ๆ เพราะรู้ดีว่า ผลของการปลูกสำเร็จนั้น เป็นสิ่งดีที่ควรให้เกิดขึ้น ปลูกข้าวได้ ก็ได้กินอิ่ม ได้แบ่งปัน ปลูกความดีงามในใจตน ก็ได้สุขเหนือสุข และสามารถแบ่งปันสุขนั้นให้กับโลกนี้ได้ด้วย
ที่ ๆ ดีที่สุดของเมล็ดข้าวคือดิน ที่ ๆ ดีที่สุดของความดีงามคือในจิตใจของตนเอง
– – – – – – – – – – – – – – –
4.11.2559
สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย ภาคปฏิบัติ
*ควรศึกษาเนื้อหาในบทความ “สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย” เพื่อความเข้าใจที่เพิ่มมากขึ้น
สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย ภาคปฏิบัติ (การละเว้นการค้าขายเนื้อสัตว์บนมรรควิถี)
เมื่อเราได้เรียนรู้ข้อควรปฏิบัติเพื่อละเว้นสิ่งที่จะสร้างทุกข์และวิบากบาป ที่จะมาสกัดกั้นไม่ให้ตัวเราเข้าถึงความผาสุกที่แท้จริง เราก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของการปฏิบัติ
เมื่อเราได้เรียนรู้จากวณิชชสูตรแล้วว่า ไม่ควรค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์ ดังนั้นภารกิจต่อมาคือการปฏิบัติสู่บทบัญญัตินั้นโดยลำดับ ซึ่งไม่ใช่ว่าคนทุกคนจะใช้การหักดิบได้ตั้งแต่แรก เราจึงควรศึกษาข้อปฏิบัติเพื่อเข้าถึงคุณประโยชน์เหล่านั้น
การค้าที่ผิด นั้นคือมิจฉาวณิชชา การจะเข้าสู่สัมมาวณิชชาหรือการค้าขายที่ถูกได้นั้น ไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนด้วยข้อกำหนด แต่เป็นการเปลี่ยนไปถึงจิตวิญญาณ เปลี่ยนจากจิตที่มีความเห็นในทางมิจฉาไปสู่สัมมาโดยลำดับ ลดความผิดลง เพิ่มความถูกต้องทีละก้าว ทีละก้าว จนมีความเห็นที่ตรงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างแนบเนียนสนิท
การละเว้นการค้าขายเนื้อสัตว์บนมรรควิถีในบทความนี้ เราจะใช้สัมมาอริยมรรคเป็นทางปฏิบัติในการละความมิจฉาในเรื่องการค้าขาย เฉพาะสองข้อนี้เป็นหลัก
1). สัมมาทิฏฐิ – คือการทำความเห็นให้ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ เห็นทุกข์ของการค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์ เห็นเหตุนั้น เห็นวิธีดับทุกข์นั้น และเห็นวิธีปฏิบัตินั้น สัมมาทิฏฐิเป็นด่านแรก เป็นเหมือนกระดุมเม็ดแรก เป็นเหมือนหางเสือที่กำหนดทิศทางของเรือ การมีความเห็นถูกไม่ได้หมายความว่าจะต้องหมดกิเลส ถ้าเรามีความเข้าใจเช่นว่า การค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์ทำให้สัตว์ต้องเป็นทุกข์ การทำสิ่งที่ผิดจากที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้นคือทางแห่งทุกข์ การเบียดเบียนคนอื่นคือการเบียดเบียนตนเอง เห็นลงไปถึงเหตุว่าความอยากและความหลงติดหลงยึดในเรื่องใดที่ทำให้ทุกข์นั้นเกิด แล้วจะดับมันอย่างไรจะทำเป็นลืมว่าเคยมีบัญญัตินี้หรือจะทำลายความเห็นผิดนี้
แม้จะยังมีความอยากซื้อขายอยู่ แต่ถ้ามีความเห็นไปในทางลด ละ เลิก ก็เรียกได้ว่ามีความเห็นที่ถูกตรงแล้ว ในขั้นนี้แม้เราจะยังออกจากการค้าขายไม่ได้ แต่ให้มีความเห็นไปในทิศทางที่ว่าการค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์เป็นทางแห่งทุกข์ให้ได้ก่อน ถ้ายังไม่มีความเห็นเช่นนี้หรือเห็นค้านแย้งไปในทิศทางตรงข้าม ก็ควรศึกษาเพิ่มเติมเพื่อเข้าถึงประโยชน์ของสิ่งนี้
ถ้าทิฏฐิยังไม่ตรง ก็ยังไม่ต้องปฏิบัติอะไร เพราะปฏิบัติไปก็จะผิด จะมีทิศทางไปทางมิจฉามรรค จะเนิ่นช้า จะหลงทาง มีแต่จะเสียเวลาไปเปล่าๆ ดังนั้นจึงควรเน้นหนักไปที่ทิฏฐิ ทำให้เกิดความเห็นดีเห็นงามในการเข้าถึงประโยชน์นี้ให้ได้ก่อน ให้มีฉันทะก่อน จึงค่อยปฏิบัติมรรคองค์อื่นๆต่อไป
2). สัมมาสังกัปปะ – คือการคิดพิจารณาที่จะทำลายความเห็นผิดที่มีอยู่ไปโดยลำดับ คิดเรื่องประโยชน์ของการไม่ค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์ และคิดเรื่องโทษของการจมอยู่กับสิ่งนั้น คิดย้อนแย้งกับกิเลส เถียงกิเลส ไม่เอาตามกิเลส มันอยากจะซื้อก็ไม่ซื้อ ไม่รีบซื้อ หรือซื้อให้น้อยกว่าปกติ
3). สัมมาวาจา – คือการเจรจาสื่อสารสิ่งที่ถูกตรง ถ้าต้องพูดกันในประเด็นเหล่านี้ ก็ให้พูดเรื่องการเบียดเบียนเป็นโทษ ว่าการค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์เป็นโทษอย่างไร ถ้าไม่ค้าขายจะเป็นประโยชน์อย่างไร พูดให้เป็นไปตามธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่พูดตามที่กิเลสสั่ง
4). สัมมากัมมันตะ – ทำกิจกรรมการงานที่ถูกตรง สิ่งแรกคือไม่ไปค้าขาย เพราะเป็นเหตุในการเบียดเบียนซึ่งอยู่ในกรอบของศีลข้อ ๑ ,เว้นขาดจากการลักขโมย ไม่รับของที่เขาขโมยมา ไม่รับของโจร ไม่รับของที่เขาฆ่ามา และเว้นขาดจากการลุ่มหลงในกามคุณของสัตว์และเนื้อสัตว์ พิจารณาก่อนเสพ ไม่หลงไปในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสของสัตว์และเนื้อสัตว์นั้น
5). สัมมาอาชีวะ– คือไม่เลี้ยงชีพด้วยการค้าขายชีวิตสัตว์และเนื้อสัตว์ ถึงจะมีอาชีพนั้นอยู่ก็ค่อยๆปรับเปลี่ยน ลดการค้าที่ยุ่งเกี่ยวกับสัตว์และเนื้อสัตว์ ปรับเปลี่ยนให้มีส่วนผิดน้อยลง และเพิ่มส่วนที่ถูกให้มากเรื่อยๆตามลำดับ หาอาชีพหรือรายได้เสริมอื่นทำ หรือหาช่องทางอื่นในการดำรงชีพ ละเว้นจากมิจฉาอาชีวะ ไม่ล่อลวงให้คนอื่นหลงในสัตว์และเนื้อสัตว์ ไม่เอาลาภที่ได้จากการเกี่ยวข้องกับสัตว์และเนื้อสัตว์มาสร้างลาภอื่นๆเพิ่มเติมให้กับตน
6). สัมมาวายามะ – เพียรทำสิ่งที่ถูกตรง สิ่งใดที่ผิดก็อย่าทำเพิ่ม เพียรแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดไป เพียรทำสิ่งดีที่ยังทำไม่ได้ให้เจริญขึ้น และรักษากระบวนการของความเพียรเหล่านี้ให้เจริญยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ในขั้นตอนความเพียรนี้เอง แม้สิ่งใดที่ยังทำไม่ได้ในตอนแรก เราก็เพียรล้างความเห็นผิดของเราไปโดยลำดับ เพียรออกจากสิ่งชั่ว เพียรเข้าหาสิ่งดี เพียรที่จะลดการเบียดเบียน เพียรพยายามลดความยึดมั่นถือมั่นที่จะก่อให้เกิดทุกข์
7). สัมมาสติ – มีสติในการระลึกรู้กิเลส รู้ว่ากิเลสเข้ามาเมื่อใด ความเห็นใดเป็นความเห็นของกิเลส ความคิดใดเป็นความคิดของกิเลส คำพูดใดเป็นคำพูดของกิเลส กิจกรรมการงานและอาชีพใดเป็นไปเพื่อเสริมกิเลสสร้างอกุศล และความเพียรใดไม่เป็นไปเพื่อลดล้างกิเลส ให้มีสติจับอาการของกิเลสให้ได้ โดยใช้สติปัฏฐาน ๔ ผ่านกาย เวทนา จิต ธรรม คือจับอาการของกิเลสที่เกิดได้ รู้สุขทุกข์ที่เกิดมานั้นเพราะจิตมีกิเลสตัวใดปะปน และใช้ธรรมที่เหมาะควรมาพิจารณากิเลสนั้นซ้ำๆย้ำๆ ใคร่ครวญ ทบทวนจนกระทั่งปัญญาเจริญขึ้น คือสร้างธรรมใหม่ขึ้นมาบนธรรมเดิม เป็นธรรมะที่ละเอียดลึกซึ้งขึ้น ไม่ปะปนไปด้วยกิเลส ใสสะอาดกว่าธรรมเดิมที่เคยมีโดยลำดับ
8). สัมมาสมาธิ – ความตั้งมั่นในมรรคทั้ง ๗ องค์นั่นแหละ คือสัมมาสมาธิของพุทธ คือทำมรรคทั้ง ๗ ด้วยความตั้งมั่น นั่นคือความเป็นสมาธิที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์
….เมื่อปฏิบัติดังนี้จะเกิดความเจริญขึ้นโดยลำดับ จะเกิดปัญญารู้แจ้งโทษชั่วของการค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์มากขึ้น มีปัญญารู้หนทางหลีกเลี่ยงสิ่งที่ผิด มีความเห็นที่มีความชัดเจนในแนวทางการพ้นทุกข์มากขึ้นโดยลำดับ ซึ่งการปฏิบัตินั้นไม่ใช่เพื่อการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทันที แต่เป็นไปเพื่อสร้างปัญญาให้เกิด และให้ความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นผลที่เกิดขึ้นเองด้วยเหตุที่ปัญญานั้นเจริญขึ้น
เมื่อมรรคถูก ผลก็ถูก คือจะมีความเห็นไปในแนวทางที่เป็นข้าศึกต่อกิเลส เป็นผู้ไม่เบียดเบียน ปฏิบัติตามข้อควรปฏิบัติคือไม่ค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์ได้โดยไม่มีความทุกข์ใดๆมารบกวนจิตใจ
– – – – – – – – – – – – – – –
10.8.2558
สมถะ-วิปัสสนา เมื่อใช้ตามแนวทางอริยสัจ ๔
สมถะ-วิปัสสนา เมื่อใช้ตามแนวทางอริยสัจ ๔
สมถะและวิปัสสนานั้นเป็นสิ่งที่ปฏิบัติแตกต่างกัน ผลที่ได้ก็จะแตกต่างกัน เราจึงควรเรียนรู้ความต่างของสมถะและวิปัสสนาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สมถะ คือ การใช้อุบายให้เกิดความสงบใจ เข้ามาควบคุมใจ ซึ่งจะเป็นการกดข่ม ตัดรอบ ทำเป็นลืม เปลี่ยนเรื่อง คิดบวก ฯลฯ การกระทำให้จิตที่ฟุ้งซ่านนั้นดับไปโดยทันทีจะอยู่ในลักษณะของสมถะ
วิปัสสนา คือ การใช้อุบายให้เกิดปัญญา ให้มองเห็นความจริงตามความเป็นจริง โดยการคิดพิจารณาความจริง ให้จิตเกิดปัญญารู้แจ้งว่าความจริงที่ไม่ถูกปนเปื้อนด้วยกิเลสนั้นเป็นเช่นไรเจริญไปตามลำดับหยาบ กลาง ละเอียด ไม่ได้เป็นไปเพื่อความดับในทันที
สมถะ-วิปัสสนา สำหรับผู้ที่เข้าใจทั้งสองกระบวนการ จะบริหารการใช้อุบายเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ใช้สมถะกดกิเลสไม่ให้ออกฤทธิ์ก่อนแล้วใช้ช่วงเวลานั้นๆพิจารณาความจริงตามความเป็นจริงไป ถ้าไม่มีพลังของสมถะเลย แล้ววิปัสสนาอย่างเดียวก็จะช้า จะแพ้กิเลสจนท้อหรือกระทั่งเลิกพิจารณา ส่วนถ้าสมถะอย่างเดียวก็จะกดข่ม ตัดรอบกันอย่างเดียวจนไม่มีปัญญาใดๆเกิดขึ้น ได้เพียงความสงบเท่านั้น
และในบทความนี้เราก็จะมาไขความต่างของสมถะและวิปัสสนา เมื่อปฏิบัติตามแนวทางของอริยสัจ ๔
๑). ทุกข์
เมื่อมีทุกข์เกิดขึ้นนั้นก็หมายถึงเรามีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดสักสิ่งหนึ่งแล้วเราไม่ได้สิ่งนั้นมาเสพ ยกตัวอย่างเช่นมีคนมานินทาเราแล้วเราโกรธก็จะเป็นทุกข์ขึ้นมา
๑.๑ ). สมถะกับทุกข์ เมื่อเห็นทุกข์นั้นก็จะเห็นความโกรธที่เกิดขึ้นนั้นเป็นตัวทุกข์
๑.๒ ). วิปัสสนากับทุกข์ เมื่อเห็นทุกข์นั้นก็จะเห็นว่าการโกรธนั้นเป็นตัวทุกข์
๑.๓ ). สรุปทุกข์ ในมุมมองของสมถะและวิปัสสนานั้นจะเห็นแตกต่างกันอยู่บ้าง คือสมถะจะเห็นความโกรธเป็นทุกข์ แต่วิปัสสนาจะเห็นว่าการที่เราต้องมาลำบากโกรธจนลำบากกายลำบากใจนี่แหละเป็นทุกข์ ความต่างคือสมถะมักจะมองความโกรธเป็นเรื่องนอกตัวไม่ใช่ตัวเรา แต่วิปัสสนาจะมองความโกรธเป็นเรื่องที่เกิดจากภายในซึ่งจะมีผลต่อไปถึงสมุทัย
การมองว่าทุกข์นั้นไม่ใช่ตัวเราของเราตั้งแต่ตอนแรกจะทำให้เราไม่คิดจะสืบหาสาเหตุแห่งทุกข์นั้นต่อไป เพราะไป “คิด” ว่าทุกข์ไม่ใช่เรา ความโกรธไม่ใช่เรา โดยที่กิเลสนั้นยังไม่ได้ถูกทำให้แสดงตัวและชำระให้สิ้น นั่นหมายความว่าการกดข่มจะทำให้ไม่สามารถเข้าถึงประโยชน์สูงสุดของการเกิดทุกข์ได้
๒).สมุทัย
การเห็นทุกข์นั้นเป็นประตูแรกของการเห็นธรรม แต่การเห็นเหตุแห่งทุกข์นั้นจำเป็นต้องใช้ความเพียรและปัญญาที่มากกว่า ขึ้นชื่อว่าเหตุก็ต้องศึกษาให้เห็นเหตุซึ่งจะยากเย็นแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับผู้ที่ผูกปมกิเลสนั้นๆไว้
๒.๑ ).สมถะกับสมุทัย จะเห็นความโกรธนี่เองเป็นเหตุแห่งทุกข์ ทุกข์เพราะโกรธ ทุกข์เพราะคิดปรุงแต่ง ทุกข์เพราะมีตัวตน ทุกข์เพราะไม่มีสติ ฯลฯ
๒.๒ ).วิปัสสนากับสมุทัย จะค้นลงไปในความโกรธว่าสิ่งใดเป็นเหตุแห่งความโกรธนั้น แน่นอนว่าการมีอัตตานั้นคือปลายทาง แต่การวิปัสสนานั้นจะมองหาความจริงที่แท้จริงไปตามลำดับ ขุดค้นเหตุไปเรื่อยๆ เช่น โกรธเพราะเราเกลียดเขาอยู่แล้ว นั่นเพราะเขาเคยทำไม่ดีกับเรา คนอื่นนินทาเราไม่โกรธแต่คนนี้เราโกรธ ที่เขาเคยทำไม่ดีกับเราเราก็ฝังใจ ที่เขาทำไม่ดีนั้นไม่ดีจริงหรือไม่ แล้วถ้าไม่ดีจริงทำไมเราต้องถือสา ที่เราถือสาเพราะเรามีอคติอะไรอยู่แล้วรึเปล่า?
ซึ่งการหาเหตุนี้เองจะขุดค้นลงไปตามลำดับ ซึ่งจะไม่เจอเหตุแห่งทุกข์ตั้งแต่แรก จึงจำเป็นต้องใช้ไตรสิกขาเข้ามาช่วยกระทุ้งกระแทกให้เห็นเหตุให้ชัดขึ้น
๒.๓ ).สรุปสมุทัย ที่สมุทัยนี้เองจะเริ่มเห็นความต่างของสมถะวิธีและวิปัสสนาวิธีอย่างชัดเจน ในมิติของความลึกในการแก้ปัญหา สมถะจะมองปัญหาแค่ผิวเผิน ส่วนวิปัสสนานั้นจะขุดลงไปที่เหตุที่แท้จริง นั่นก็เพราะว่าถ้าหาเหตุแห่งทุกข์ไม่ได้ การเห็นความจริงตามความเป็นจริงนั้นก็เป็นไปไม่ได้เลย
๓).นิโรธ
นิโรธคือการดับทุกข์ การดับทุกข์นั้นสามารถดับได้หลายวิธี มีทั้งดับชั่วคราวและดับถาวร มีกลยุทธ์และวิถีทางในการดับหลายแบบ แต่จะสรุปคร่าวๆออกมาจากผลของสมถะและวิปัสสนาด้วยกันสองแนวทาง
๓.๑ ).สมถะกับนิโรธ เมื่อเห็นทุกข์ของความโกรธและเห็นว่าความโกรธ ความคิด การมีตัวตน การไม่มีสตินั้นเป็นเหตุแห่งทุกข์ สมถะจึงดับทุกข์ด้วยการดับความคิด ดับการปรุงแต่ง การคิดว่าต้องไม่มีตัวตน หรือการใช้สติ ซึ่งการดับเช่นนั้นเป็นการดับแบบชั่วคราว ดับเฉพาะไฟที่ลุกขึ้นแต่ไม่ได้ดับเชื้อไฟ นี้เองคือความตื้นของสมถะที่ลงไปไม่ถึงเหตุ แต่ถึงกระนั้นการดับแบบชั่วคราวก็สามารถดับข้ามภพข้ามชาติได้ แต่ที่แน่นอนคือมันไม่ถาวร
๓.๒ ).วิปัสสนากับนิโรธ เมื่อเห็นความทุกข์ของความโกรธ และค้นเจอเหตุแห่งทุกข์แล้ว ยกตัวอย่างเช่นว่า จริงๆที่มีอคติจนเป็นเหตุแห่งความโกรธเมื่อได้รับการนินทาก็คือ คนคนนี้มีท่าทีหยิ่งในตอนแรกที่พบกันแล้วเราไม่ถูกใจ ดังนั้นเหตุแห่งทุกข์ก็คือความอยากได้รับการยอมรับ การเอาใจใส่จากคนอื่นนั่นเอง ซึ่งการจะทำให้กิเลสดับไปนั้น วิปัสสนาจะมาดับกันที่ตรงนี้ จะพิจารณาธรรมกันตรงที่เหตุ ใช้ไตรลักษณ์ก็ใช้ที่เหตุ ใช้กรรมและผลของกรรมก็ใช้ที่เหตุ ใช้การพิจารณาประโยชน์และโทษก็กระทำที่เหตุ ซึ่งเมื่อดับเหตุที่แท้จริงได้ จึงจะเป็นการดับที่แท้จริง ตามที่ควรจะเป็นจริงๆ
๓.๓ ).สรุปนิโรธ จะเริ่มเห็นได้ชัดแล้วว่าเมื่อระบุเหตุของปัญหาที่ต่าง ก็จะมีวิธีการแก้ปัญหาที่ต่าง ตรงนี้เองที่เป็นขีดจำกัดที่ว่าทำไมทำสมถะอย่างเดียวจึงไม่บรรลุธรรมหรือกลายเป็นฤๅษี เพราะสมถะไม่ได้ดับทุกข์ที่เหตุ แต่มักจะไปดับที่ผล ถึงแม้จะมีการหาเหตุแต่ก็มักจะเป็นหารวมๆ ใช้วิธีการเป็นรูปแบบ ซ้ำๆ ย้ำๆ เรียกได้ว่ากิเลสแบบไหนก็ใช้วิธีการเดิม ทุกอย่างเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ทุกอย่างไม่เที่ยงไม่ใช่ตัวเราของเรา มันก็ใช้ธรรมะเข้ามากดข่มเท่านั้นเอง เพราะแท้จริงแล้วการดับกิเลสในแต่ละอย่างนั้นมีความต่างในองค์ประกอบหลายๆอย่างอยู่ หลายคนก็หลายรูปแบบ เพราะแต่ละคนผูกปมสะสมกิเลสมาไม่เท่ากัน การแก้ไขปัญหาก็ต่างกัน ความยุ่งยากซับซ้อนก็ต่างกัน ดังนั้นเมื่อสมุทัยไม่ถึงเหตุ นิโรธก็ไม่ถึงผลตามแนวทางของพุทธ
๔). มรรค
มรรค คือวิถีทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์อย่างถูกตรง ประกอบด้วยความเข้าใจ การคิด พูด ทำ เลี้ยงชีพ ความเพียร การระลึกรู้ และความเป็นสมาธิที่ถูกตรง เกิดปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์จะต้องประกอบด้วยมรรคทั้ง ๘ องค์ที่สมบูรณ์ครบพร้อม ซึ่งการจะเกิดมรรคทั้ง ๘ ได้ จะต้องกระทำมรรคในข้อ ๑-๗ อย่างถูกตรงจนกระทั่งเกิดเป็นสภาพของสัมมาสมาธิ ซึ่งหมายถึง ความเข้าใจ คิด พูด ทำ เลี้ยงชีพ ขยัน มีสติอยู่ตลอดเวลานั่นเอง
๔.๑ ).สมถะกับมรรค ในเมื่อสมถะมองความโกรธ เพราะความคิด การปรุงแต่ง การมีตัวตน การไม่มีสติเป็นปัญหา ดังนั้นจึงต้องดับปัญหาเหล่านี้ ซึ่งมรรคของสมถะจะกลายเป็นดำดิ่งสู่ความสงบ การกดข่ม การตัดรอบ การวางเฉย การใช้ธรรมะหรือเหตุผลต่างๆมากระทำต่อความฟุ้งซ่านนั้นๆ เช่นความโกรธไม่ใช่เรา ความโกรธไม่เที่ยง มาเป็นเครื่องมือสะกดจิต จนจิตสงบจากกิเลสนั้นๆ เป็นสภาพที่ความโกรธสงบลงเพราะใช้อุบายทางใจเข้ามาบริหารและความคุม ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นไปตามสัมมาอริยมรรค เป็นเพียงวิถีทางทั่วไปตามแบบฉบับของสมถะซึ่งเป็นพื้นฐานของมนุษย์ในโลกอยู่แล้ว การทำสมถะนี้ไม่ว่าศาสนาใดก็ใช้กัน ซึ่งพุทธเองก็ใช้เป็นเครื่องอุปการะเหมือนกันแต่ไม่ได้ใช้เป็นหลักในการปฏิบัติ
๔.๒ ).วิปัสสนากับมรรค เมื่อเห็นตัวกิเลสที่ทำให้เกิดทุกข์แล้ว จึงทำการคิดพิจารณากิเลสนั้นๆไปตามความจริงที่เป็นจริง ไม่ใช่ตามกิเลส โดยใช้ศีลมาเป็นเครื่องชี้วัด ซึ่งในตอนแรกมันจะไม่สามารถมองเห็นความจริงตามความเป็นจริงได้ แต่จะเห็นโน้มเอียงไปตามกิเลส แม้ว่าจะมีสัมมาทิฏฐิแล้วก็ตาม ซึ่งการจะทำให้คิดได้ตามจริงนั้นก็ต้องอาศัยการพูด ทำ เลี้ยงชีพ ไปตามหลักแห่งความพ้นทุกข์ และพิจารณากิเลสนั้นๆโดยใช้ความเพียรและมีสติเป็นที่ตั้งเพื่อชำแหละกิเลสที่โผล่มาจากการใช้ศีลจับ เพื่อกระทำทิฏฐิให้ถูกตรงโดยลำดับ ทั้งหมดนี้เพื่อผลแห่งความคิดที่ถูกต้องถูกต้องให้ถึงพร้อม
วิปัสสนานี้เองเป็นความคิดอย่างแน่แท้ แต่เป็นการคิดที่สวนทางกับกิเลส เป็นการคิดที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ (สัมมาสังกัปปะ)ซึ่งมีคนจำนวนมากเข้าใจผิดว่าวิปัสสนาไม่ใช่การคิด การทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงนี่เองคือการคิด แต่มันอยู่ที่รายละเอียดว่าคิดอย่างไรจึงจะถูกทางพ้นทุกข์ ถ้าไม่คิดเลยก็กลายเป็นสมถะ
๔.๓ ).สรุปมรรค วิปัสสนานั้นไม่ได้ปฏิเสธการมีสติ หรือการคิด พูด ทำใดๆ เพราะจำเป็นต้องปฏิบัติมรรคทุกองค์อยู่แล้วเพื่อให้เกิดสัมมาสมาธิซึ่งเป็นผลจากการเห็นความจริงตามความเป็นจริง และยังไม่ได้ปฏิเสธการใช้สมถะเข้ามาร่วมในกระบวนการต่างๆเพื่อกดกิเลสไว้ เช่นมีความโกรธเราก็กดไว้ ก่อนที่เราจะตอบโต้ด้วยความโกรธ แต่จะไม่กดจะดับทั้งหมด เราจะยังต้องใช้เชื้อแห่งความโกรธที่เหลือมาเป็นเป็นต้นทางแห่งสมุทัย จนกระทั่งสามารถนำมาปฏิบัติตามมรรคได้
แต่มรรคของสมถะนั้นก็สามารถถึงสมาธิได้เหมือนกัน แต่ก็ยังเป็นมิจฉาสมาธิ เพราะเกิดมาจากมิจฉามรรค นั่นเพราะทิฏฐิผิดรูปผิดรอยตั้งแต่แรก โดยเฉพาะผู้ที่เข้าใจว่าการดับ การไม่คิด การมีสติตลอดเวลาคือการพ้นทุกข์ เหล่านี้คือผู้หลงผิดไปติดสมถะทั้งสิ้น เพราะแท้จริงแล้วการดับหมายถึงการดับกิเลส ไม่ใช่การดับผลของกิเลส การไม่คิดหมายถึงไม่คิดตามกิเลส ไม่ใช่ไม่คิดอะไรเลย และถ้าเป็นความคิดที่ย้อนแย้งกิเลสยิ่งต้องคิด และการมีสตินั้นจำเป็นต้องมีในการวิปัสสนาเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ใช่ตัวบรรลุธรรม เพราะหลักของวิปัสสนานั้นคือทำให้เกิดปัญญารู้เห็นจริงตามความเป็นจริง สติเป็นเสมือนเครื่องหล่อเลี้ยงที่จำเป็นต้องมี แต่ไม่ใช่ตัวที่จะทำให้เกิดปัญญา เพราะสิ่งที่ทำให้เกิดปัญญาก็คือสัมมาสังกัปปะที่เกิดจากสัมมาทิฏฐิเป็นตัวตั้ง มรรคทั้ง ๗ องค์ทำงานส่งเสริมกันจนกระทั่งเกิดสัมมาสมาธิเป็นองค์ที่แปด ซึ่งเป็นตัวจบของกิเลสนั้นๆหมายถึงเกิดสภาพของวิมุตติหรือการหลุดพ้นจากกิเลสอย่างถาวร
สัมมาสมาธิไม่ใช่การนั่งสมาธิ ไม่ใช่การกดข่มจิต หรือกระทำใดๆต่อจิตจนเกิดสภาพสมาธิ ลักษณะเหล่านี้เป็นวิธีของสมถะ ให้ผลเป็นสมาธิจริง แต่เป็นมิจฉาสมาธิ เป็นแบบทั่วไป ศาสนาใดก็ทำได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นพุทธ เพราะทางพ้นทุกข์พุทธนั้นมีทางเดียวคือ สัมมาอริยมรรค นั่นหมายถึงจะต้องถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์อย่างถาวรด้วย ไม่ใช่การดับอย่างชั่วคราว แม้จะดับได้ข้ามภพข้ามชาติแต่ถ้าไม่ถาวรก็ไม่มีประโยชน์ ซึ่งจะทำให้ติดภพ ติดสงบ ติดดีเข้าไปอีก กลายเป็นฤๅษีไปอีก เนิ่นช้าไปอีก ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ธรรมใดวินัยใดเป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า ธรรมนั้นวินัยนั้นไม่ใช่ของเราคถาคต”
ดังนั้นการใช้สมถะเข้ามาช่วยกดข่มกิเลสในกรณีที่มีความรุนแรงมากนั้นก็สามารถทำได้และเป็นกุศล แต่หากจะตั้งสมถะเป็นเป้าหมายในการบรรลุธรรมก็ขอสรุปเลยว่าจะต้องวนเวียนติดสุขอยู่ในโลกอีกนานแสนนาน เพราะโดยหลักแล้วสมถะไม่ได้เข้าไปแก้ปัญหาที่เกิดเลย เพียงแต่ทำปัญหาที่เกิดให้ดับและจบไปเท่านั้น จึงต้องวนเวียนเกิดดับๆอยู่เรื่อยไปเพราะเหตุยังไม่ดับนั่นเอง
– – – – – – – – – – – – – – –
6.3.2558
ศีล สมาธิ ปัญญา ภาคปฏิบัติ
ศีล สมาธิ ปัญญา ภาคปฏิบัติ
การปฏิบัติธรรมนั้น ต้องประกอบไปด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา เป็นการปฏิบัติไปทั้งหมดภายในเวลาเดียวกันไม่แยกจากกัน ในศีลก็มีสมาธิและปัญญา ในปัญญาก็มีศีลและสมาธิ
พระพุทธเจ้าตรัสว่าผู้มีศีลย่อมมีปัญญา ผู้มีปัญญาย่อมมีศีล และทั้งหมดทั้งมวลนั้นจะเป็นไปเพื่อกันและกัน หากเรานำมาแยกปฏิบัติ จะเกิดสภาพที่เรียกได้ว่าขาดๆเกินๆ เช่น…
…ถ้าปฏิบัติแต่ศีล ก็จะกลายเป็นคนเคร่งเครียดในศีล ถือศีลแบบยึดมั่นถือมั่น ถือโดยไม่มีปัญญา ไม่รู้สาระในศีล รู้แค่ว่าถือศีลแล้วดี ยิ่งถือศีลมากๆยิ่งดี กลายเป็นหลงงมงายในศีลไป
…ถ้าปฏิบัติแต่สมาธิ ก็จะกลายเป็นเหมือนฤาษี เข้าภพ เข้าฌาน เข้าภวังค์ สะสมพลังสติ เมาสติ เหมือนนักกล้ามที่ออกกำลังกายเพื่อกล้ามเนื้อ แต่ก็ไม่รู้จะเอาความแข็งแกร่งนั้นไปทำประโยชน์อะไร อย่างเก่งก็ดับความคิด ดับสัญญา แต่ดับกิเลสไม่เป็น
…ถ้าปฏิบัติแต่ปัญญา ก็จะกลายเป็นพวกฟุ้งซ่าน อ่านพระไตรปิฏกมากมาย จำได้พูดคล่องเหมือนนกแก้วนกขุนทอง แต่ไม่เข้าใจสาระ ไม่เข้าใจวิธีการปฏิบัติ รู้แค่ตามที่ได้ยินได้ฟังมา
จะเห็นได้ว่าถ้าเรามุ่งแต่ปฏิบัติตัวใดตัวหนึ่งก็จะทำให้หลงมัวเมาไปได้ และโดยส่วนมากผู้ที่หลงมัวเมามักจะไม่รู้ตัว และยึดมั่นถือมั่นในแนวทางที่ตนเองได้ปฏิบัติมา ทำให้การปฏิบัติธรรมไปสู่ความผาสุกนั้นเนิ่นช้าไปเรื่อยๆ เรามาลองดูว่าถ้าปฏิบัติแล้วขาดบางอย่างไปจะเป็นอย่างไร
…ถ้าขาดศีลก็จะฟุ้งไปไกล มักจะหลงว่าตัวเองบรรลุธรรม มีกำลังสติ สามารถตั้งจิตให้มั่น คงสภาพนั้นๆ เกิดสมาธิได้นาน แถมมีปัญญา คิดและเข้าใจไปเองว่าตนเองมีกำลังสติมาก และเข้าใจธรรมได้ขนาดนี้ ต้องบรรลุธรรมแน่เลย เข้ารกเข้าพงกันไปตามความฟุ้งซ่านของปัญญา
…ถ้าขาดสมาธิก็ยากที่จะเจริญในการปฏิบัติธรรม เหมือนคนอยากวิ่งมาราธอนแต่ร่างกายอ่อนแอ วิ่งไปได้สักพักก็หมดแรง แข่งงานไหนก็ไม่ถึงเส้นชัยกับเขาเสียที แม้จะสามารถถือศีลได้อย่างมีปัญญา แต่ถ้ากำลังสติน้อย ก็ยากที่จะเอาชนะกิเลส ยากที่จะดำเนินไปสู่ปัญญาที่เป็นผลได้
…ถ้าขาดปัญญาก็จะกลายเป็นเหมือนฤาษีที่เคร่งวินัย สามารถถือศีลที่ยากๆ และลำบากได้ง่ายๆ เพราะมีสติมาก แต่เป็นการถือศีลแบบยึดมั่นถือมั่น ถือศีลแล้วล้างกิเลสไม่เป็น ถือศีลไปอย่างนั้น ไม่รู้คุณค่า ไม่รู้สาระ ไม่รู้วิธีใช้ศีลให้เกิดปัญญา โดยมากแล้วจะมีรูปสวย ภาพลักษณ์ดูดี คนในสังคมนิยมชมชอบ เพราะจะดูนิ่งและสงบมาก แต่ถ้าให้สอนหรือถ่ายทอดก็จะสอนไม่เป็น ยิ่งสอนยิ่งงง พอโดนไล่ถามมากๆก็มักจะโกรธ หรือไล่ให้ไปปฏิบัติจะรู้เอง เพราะตนเองนั้นไม่ได้บรรลุธรรม ไม่ได้ดับกิเลส เมื่อดับกิเลสไม่เป็นก็ไม่สามารถสอนหรือบอกใครได้
แต่ถ้าคนที่ปฏิบัติถูกทาง การขาดตัวใดตัวหนึ่ง หรือปฏิบัติขาดๆเกินๆจะไม่เกิดขึ้น ศีล สมาธิ และปัญญา จะเสริมเติมกันเองตลอด ยกระดับขึ้นไปพร้อมๆกัน ไม่โต่งไปด้านใดด้านหนึ่งมากนัก เมื่อเห็นดังนี้แล้ว เรามาเข้าภาคปฏิบัติกันเลย
1). ปฏิบัติศีลด้วยปัญญาที่เป็นมรรค
ก่อนที่ใครสักคนจะปฏิบัติศีลนั้น เขาจำเป็นต้องมีปัญญาในเบื้องต้น ที่จะทำให้ยินดีที่จะปฏิบัติศีลนั้น เช่นเห็นคุณค่าของศีล เห็นว่าศีลนั้นดี เช่นถือศีลข้อ๑ ไม่ฆ่าสัตว์อย่างเคร่งครัด เพราะเห็นแล้วว่าศีลข้อนี้จะทำให้ตนไม่ทำบาป การถือศีลนั้นจึงต้องมีปัญญาร่วมด้วยเสมอ ส่วนคนไม่มีปัญญาก็จะไม่ถือศีลเพราะมองว่าศีลนั้นเป็นของไร้สาระ ไม่มีประโยชน์ เหตุนั้นเพราะเขาเองไม่มีปัญญาพอที่จะเห็นสาระและประโยชน์ในศีลนั้นๆ
2). ปฏิบัติศีลด้วยสมาธิ
เมื่อตั้งศีล ถือศีล พร้อมเอาศีลมาปฏิบัติแล้ว จากนี้ก็ต้องใช้ความอึด ความอดกลั้น ความอดทน ใช้สติ ใช้ขันติ ให้เกิดสภาพของศีลอย่างต่อเนื่อง คือถือศีลอย่างมีสมาธิ ในขั้นตอนนี้ไม่ง่าย เพราะเปรียบได้กับการเข้าสมรภูมิรบ เช่นเราตั้งศีลว่าจะไม่กินกาแฟ เมื่อเราได้กลิ่นกาแฟ กิเลสก็มักจะหาเหตุผลให้เราไปเอากาแฟมากินเสมอ หรือนั่งอยู่เฉยๆ ก็อาจเกิดอาการอยากกาแฟขึ้นมาเลยก็ได้ สมาธิจะเข้ามาทำงานอย่างมากในช่วงนี้ ต้องอด ต้องทน ต้องฝืนต่อพลังของกิเลสในจิตใจ กดข่มมันไว้ ไม่ไปเสพสิ่งที่เราตั้งใจว่าจะละเว้นไว้ เราสามารถเพิ่มพลังสมาธิ หรือกำลังสติได้โดยการฝึกสมถะ
3).สมาธิไปสู่ปัญญา
เมื่อคงสภาพของสมาธิได้แล้ว จึงใช้ปัญญาเข้ามาพิจารณา หรือที่เรียกว่าวิปัสสนา คือการพิจารณาให้รู้เห็นตามความเป็นจริง พิจารณาคุณประโยชน์ของการออกจากสิ่งที่เป็นภัย พิจารณาโทษของสิ่งที่เป็นภัย พิจารณากรรมและผลของกรรมหากเรายังไปเสพสิ่งที่เป็นภัย พิจารณาไตรลักษณ์ คือความอยากเสพนั้นทำให้เราทุกข์อย่างไร ความอยากเสพนั้นไม่เที่ยงอย่างไร มันไม่ได้เกิดตลอดใช่หรือไม่ มันเกิดแล้วมันก็ดับไป พิจารณาอนัตตา คือความไม่ใช่ตัวตนของทุกข์นั้น ความอยากไม่ใช่เรา กิเลสไม่ใช่เรา เรายึดมันมาเอง เราเป็นคนต้อนรับกิเลสเข้ามาในชีวิตเราเอง แท้จริงมันไม่ใช่เรา
4).ปัญญาที่เป็นผลเจริญ
เมื่อสามารถถือศีล อย่างมีสมาธิ และใช้ปัญญาที่เป็นมรรค คือทางเดิน คือกระบวนการ พิจารณาล้างกิเลส จนกระทั่งถึงจุดหนึ่งที่ปัญญานั้นเต็มรอบ จะสามารถที่จะดับกิเลสนั้นได้อย่างสิ้นเกลี้ยงจะเกิดสภาวะของฌานไปตามลำดับ คือปีติ สุข อุเบกขา ซึ่งจะข้ามวิตกวิจารณ์ไป เพราะทำตั้งแต่ในข้อสามแล้ว ฌานนี้จะไม่เหมือนกับวิธีเข้าฌานนั่งสมาธิ เพราะเป็นฌานเพ่งเผากิเลส จะเกิดก็ต่อเมื่อได้ทำการล้างกิเลสจนเกิดปัญญาที่เป็นผล รู้แจ้งในกิเลสนั้นๆ ซึ่งการเกิดสภาพของฌานแรงหรือเบา ผ่านไปเร็วหรือตั้งอยู่นาน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่นความยากของกิเลสนั้นๆ หรือความเคยชินของการฆ่ากิเลส
5).ปฏิบัติไปจะค่อยๆยากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนมหาสมุทร ลาด ลุ่ม ลึก ไปตามลำดับ
การปฏิบัตินั้น ไม่ได้หมายความว่าจะทำทีเดียวบรรลุธรรมถึงวิมุตติได้เลย จะรู้แจ้งเข้าใจได้เลย แต่จะต้องทำไปตามลำดับ เกิดปัญญาไปตามลำดับ เพิ่มพลังสติไปตามลำดับ ปฏิบัติอธิศีล แปลว่า ยกระดับศีลไปเรื่อยๆ เพื่อปฏิบัติอธิจิต และอธิปัญญา การปฏิบัติเช่นนี้จะเจริญไปเรื่อยๆ แม้ว่าเราจะปฏิบัติศีลที่ยากขึ้น แต่มันจะไม่รู้สึกยากเหมือนกับตอนแรกที่เราเริ่มปฏิบัติธรรม
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าตอนแรกเราตั้งใจเลิกกาแฟเลย มันจะยากมาก มันจะตัดใจยาก มันจะทรมาน มันจะแพ้กิเลสอยู่เรื่อยไป แต่ถ้าเราหัดลดปริมาณการดื่มจากวันละสองแก้วเป็นวันละแก้ว ค่อยๆหัดละจากกินทุกวันเป็นสัปดาห์ละ 3 วัน เพิ่มวันที่ละให้เยอะขึ้นจาก 3..4..5.. วัน จนถึง 1 เดือน 2 เดือน สุดท้ายก็จะสามารถตัดสินใจเลิกได้ง่ายขึ้น เพราะเราปฏิบัติธรรมไปตามลำดับ เจริญไปตามลำดับ เก็บสะสมพลังสติ พลังปัญญาไปตามลำดับ
6).เมื่อถึงเป้าหมาย สามารถอนุโลมถอยกลับมาได้
เมื่อเราปฏิบัติจนสามารถล้างกิเลสนั้นได้จริง เรียกว่าถึงวิมุตติ จะมีสภาพรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงในความอยากนั้น จะไม่มีวันที่จะกลับไปอยากเสพอีก รู้โทษชั่วของการเสพสิ่งนั้น รู้ชัดว่าต้องปฏิบัติอย่างไรถึงจะสามารถทำลายกิเลสนั้นได้ จึงสามารถย้อนกลับไปสอนหรือแนะนำคนที่ยังไม่ผ่านกิเลสด่านนั้นได้ หรือกระทั่งสามารถอนุโลมกลับไปเสพได้ในบางกรณี โดยไม่เกิดบาป เพราะบาปคือการสั่งสมกิเลส ผู้ที่กำจัดกิเลสสิ้นเกลี้ยงแล้ว แม้จะกลับไปเสพก็ไม่บาปแต่อย่างใด แต่จะมีอกุศล หรือโทษภัยบางอย่างเช่น ถ้ากลับไปกินกาแฟ ก็ไม่ได้กินเพราะความอยาก ไม่ได้ติดใจในรสชาติ แต่มีเหตุจำเป็นต้องใช้สารที่ทำให้ตาสว่าง จึงยอมรับผลเสียต่อสุขภาพนั้นไป และถ้าไม่จำเป็นก็จะไม่กลับไปใช้วิธีนั้นอีก จะสามารถทำให้ปัญญาเจริญขึ้นไปได้อีก หาวิธีเลี่ยงสิ่งนั้นเก่งขึ้นอีกเรื่อยๆ เพราะรู้แน่ชัดแล้วว่ายิ่งเสพยิ่งทุกข์
ในขั้นตอนนี้ คนที่หลงว่าตนบรรลุธรรมมักจะเอาไปอวดอ้างว่าตนเองบรรลุธรรมแล้ว ไม่เกิดกิเลสแล้วจึงเสพได้ เสพไปจิตไม่เกิด ไม่คิดอะไร ความหลงในลักษณะนี้มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล วิธีตรวจสอบคือ เราต้องปฏิบัติตนให้เป็นผู้บรรลุธรรมเอง ก็จะทำให้รู้ความแตกต่างของคนที่หลงว่าตนบรรลุธรรม กับคนที่บรรลุธรรมจริง ได้ชัดเจนขึ้น จะประมาณได้เก่งขึ้นว่าแตกต่างกันอย่างไร อันไหนจริง อันไหนหลอก จะกระจ่างขึ้น แต่ก็ไม่ทั้งหมด เพราะมีส่วนของวิบากกรรมที่อาจจะมาทำให้การประเมินผิดพลาดได้
เมื่อทุกสิ่งไม่เที่ยง และโลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ การจะไปสนใจคนอื่นนั้นเป็นการเสียเวลาเปล่าๆ สู้เอาเวลาที่มีมาเพ่งเพียรปฏิบัติให้ตนเองเกิดผลเจริญจะดีกว่า ส่วนใครจะของจริงของปลอมอย่างไรมันก็เรื่องของเขา บาปบุญของเขา อะไรดีเราก็ช่วยเหลือส่งเสริม อะไรไม่ดีเราก็ห่างเข้าไว้
7).ได้มาหนึ่ง แต่ต่อไปก็จะง่ายขึ้นเพราะทำเป็นแล้ว
เมื่อสามารถเข้าใจกระบวนการปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือการปฏิบัติไตรสิกขา คืออธิศีล อธิจิต อธิปัญญาแล้ว ความเข้าใจนี้หมายถึงเข้าใจตั้งแต่มรรคไปจนถึงผล เข้าใจตั้งแต่การเริ่มมีปัญญา มาปฏิบัติ จนทำลายกิเลสนั้น ก็จะสามารถนำกระบวนการนี้ไปทำลายกิเลสตัวอื่นๆได้ เพราะกิเลสทุกตัวก็ทำลายเหมือนกันนั่นเอง คือพิจารณาลงไปถึงที่เกิดแล้วใช้ปัญญาพิจารณาทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียต่างๆ เพื่อดับมัน
ในกรณีที่ทำลายกิเลสตัวใหญ่หรือตัวที่ติดมากได้แล้ว เราจะสามารถเก็บตัวเล็กตัวน้อยได้ง่ายขึ้น เช่นเราติดกาแฟแล้วทำลายความอยากกาแฟทิ้ง เราจะสามารถพิจารณาฆ่ากิเลสที่เกี่ยวเนื่องกับกาแฟได้ง่ายขึ้น เช่น ชา โกโก้ เพราะอยู่ในหมวดของความอยากในรส กลิ่น ของกินเล่น ซึ่งก็แล้วแต่ว่าใครจะติดสิ่งใดในมุมไหน ซึ่งเหลี่ยมมุมของกิเลสในแต่ละคนก็จะต่างกัน
8).พลาดไปกับกิเลสเป็นเรื่องปกติ
คนที่ตั้งใจปฏิบัติศีล เพื่อล้างกิเลสนั้น ถ้าปฏิบัติใหม่ๆมักจะมีอัตตาแรง แพ้ไม่เป็น แพ้แล้วชอบล้มเลิก แพ้แล้วชอบตีตัวเองซ้ำ โทษตัวเอง ทำทุกข์ทับถมตน อยากทำลายกิเลสไวๆ อยากให้เกิดผลมากกว่าที่ปฏิบัติ เข้าใจว่าการที่ตนเองปฏิบัตินั้นต้องผ่านกิเลสได้ พอผ่านไม่ได้ก็ทุกข์ อกหักอกพัง
บ้างก็เจ็บ ขยาด หนีไปเลียแผลกันอยู่นาน บ้างก็เลิกถือศีลนั้นไประยะหนึ่ง บ้างก็เลิกปฏิบัติธรรมไปเลย นั่นเพราะเราคาดหวังความสมบูรณ์แบบ คิดว่าทุกอย่างต้องสำเร็จดังใจ คิดว่าเราต้องทำได้ คิดว่าเราต้องไม่พลาด ทั้งๆที่ไม่ได้มองความจริงเลยว่ากิเลสเราช่างหนาและยิ่งใหญ่นัก การจะเอาชนะมันด้วยการคิดเอา จินตนาการเอานั้นเป็นไปไม่ได้เลย
การพลาดไปกับกิเลสแม้ว่าเราจะถือศีล อย่างตั้งมั่น มีสติอย่างเต็มเปี่ยม มันก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องเกิด เพราะถ้ากิเลสใดง่าย เราก็จะผ่านมันไปแบบไม่สนใจ ไม่รู้คุณค่า เมื่อผ่านกิเลสง่ายๆได้หมด สุดท้ายก็ต้องตั้งศีลที่ยากขึ้น หรือปฏิบัติอธิศีล เช่น จากกินสามมื้อ ก็หันมากินมื้อเดียว เมื่อถือศีลเกินฐานเดิม ความผิดพลาดก็มักจะมีเป็นเรื่องธรรมดา
การพ่ายแพ้กิเลสเป็นเรื่องธรรมดา แต่เราจะไม่ล้มนาน และเราจะไม่แพ้ตลอดไป ถึงแม้ว่าเราจะแพ้ เราก็จะหน้าด้านสู้ ตั้งหน้าตั้งตาพิจารณาโทษของกิเลสนั้นต่อไปเรื่อยๆอย่างไม่ย่อท้อ
9).ฝึกสติแต่ไม่ปฏิบัติศีล
เรามักจะได้เห็นการฝึกสติ ที่ไม่ปฏิบัติศีลอยู่เป็นประจำ ดังที่ยกตัวอย่างไปข้างต้น หากเราปฏิบัติ เจริญสติ แต่ไม่มีเป้าหมาย ก็เหมือนคนที่เพาะกล้ามแต่ไม่รู้จะเอากล้ามไปทำประโยชน์อะไร เหมือนมีดที่ลับคมดีแล้ว แต่ก็ไม่ได้เอาไปหั่นอะไร เหมือนคนที่เรียนรู้วิชามากมาย แต่ก็ไม่ได้เอาไปทำประโยชน์อะไร
การปฏิบัติศีลเหมือนการเข้าสมรภูมิรบ ผู้ที่ฝึกสติแต่ไม่สนใจศีล ก็เหมือนกับสิงห์สนามซ้อม หมูสนามจริง เพราะจริงๆแล้ว เราสามารถพัฒนากำลังสติของเราได้ระหว่างที่ปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญาไปพร้อมๆกัน ซึ่งผู้ปฏิบัติอย่างถูกตรงจะสามารถรู้ถึงกำลังสติของตัวเองที่เจริญขึ้นมาได้ เป็นสัมมาสติ เป็นสติที่มีเพื่อการดับกิเลส ไม่ใช่การฝึกสติแบบฤาษีชีพราหมณ์ ซึ่งการฝึกสติหรือทำสมาธิสะสมพลังฌานเช่นนั้นมีมาก่อนศาสนาพุทธแล้ว เป็นการฝึกสติและสมาธิทั่วๆไป ที่มีอยู่คู่โลกตราบโลกแตก ไม่ได้พิเศษเหมือนสติแบบพุทธ หรือสัมมาสติ คือสติที่เป็นไปเพื่อการทำลายกิเลสเท่านั้น
ผู้ที่ฝึกมิจฉาสติมากอาจจะทำให้ไปหลงในฤทธิ์ ในคุณวิเศษ หรือหลงในมโนมยอัตตาของตัวเอง คือการที่จิตตัวเองปั้นภาพ หรือเสียง เหตุการณ์ อารมณ์ ความสุข ฯลฯขึ้นมาเอง เช่นการเห็นผี เห็นนรก เห็นสวรรค์ เป็นการปั้นที่เกิดมาจากกิเลส ดึงสัญญาที่เคยจำไว้ออกมาเป็นภาพ ภาพที่เห็นจะเห็นจริงๆ เสียงที่ได้ยินจะได้ยินจริงๆ แต่ไม่ใช่ของจริง จะรับรู้ได้อยู่คนเดียว เห็นเทวดา ผีสาง นรกสวรรค์ก็เป็นไปตามจินตนาการของคนนั้นคนเดียว กลายเป็นหลงว่าบรรลุธรรม หลงไปติดภพ ติดนิมิต ติดมโนมยอัตตา
คนเหล่านี้จะสามารถพบเหตุการณ์ที่คนอื่นไม่เห็นได้ แต่นั่นไม่ใช่สาระของการปฏิบัติธรรม เพราะกิเลสไม่ตาย อย่างมากก็ได้แค่กดข่มข้ามภพข้ามชาติ เหมือนอาจารย์ของพระพุทธเจ้า คืออุทกดาบส และอาฬารดาบส เข้าได้ถึงอรูปฌาน แต่ทั้งหมดเป็นฌานฤาษี ไม่ใช่ฌานแบบพุทธ ฌานพุทธต้องเกิดจากการเพ่งเผากิเลสเท่านั้น นอกนั้นเป็นสภาวะของการกดจิตให้ดำดิ่งลงไปในภพต่างๆทั้งสิ้น
10).ปฏิบัติศีลเกินกำลังสติ
ก่อนจะเข้าเรื่องว่าอะไรมากไปน้อยไปจะขอเกริ่นเรื่องทางสายกลางเสียก่อน ทางสายกลางของพุทธนั้นต้องเว้นจากทางโต่งสองด้าน คือเว้นจากกามสุขัลลิกะ และอัตตกิลมถะ ซึ่งเป็นบทแรกที่พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรม นั่นคือธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
กามสุขัลลิกะ คือการไปเสพสุขลวง ไปเสพสิ่งที่ทำให้เกิดความสุขและความสุขนั้นมาจากกิเลส ท่านให้เว้นจากทางนี้คือไม่ไปเสพสุขลวง
อัตตกิลมถะ คือการทรมานตนเองด้วยอัตตา คือมีความยึดดี ถือดี ท่านให้เว้นจากทางนี้เช่นกัน คือไม่ให้มีอัตตา
การจะปฏิบัติให้เข้าสู่ทางสายกลางนั้นต้องเว้นจากทางโต่งทั้งสองด้าน กามก็ไม่ไปเสพ อัตตาก็ไม่มี จึงจะเข้าสู่สภาวะของทางสายกลางหรือสัมมาอริยมรรคมีองค์ ๘
การปฏิบัติศีลเกินกำลังสติมักจะเกิดกับคนที่ประมาณไม่เก่ง คนที่โลภ คนที่ไม่เข้าใจการปฏิบัติศีล ก็มักจะถือศีลที่เกินกำลัง เช่นตัวเองอินทรีย์พละน้อย แต่ก็ฝืนไปถือศีลอพรหมจริยา ในระดับอธิศีล คือการไม่มีคู่ ประพฤติตนเป็นโสด ทีนี้ตอนตั้งศีลมันก็คิดเอาได้ แต่พอปฏิบัติจริงมันทำไม่ได้ จิตใจมันโหยหา อยากได้ใครสักคนมาครอบครอง ต้องพบกับความเหงา ความหดหู่ ยิ่งถือศีลยิ่งเก็บกด เพราะในใจอยากมีคู่ แต่มีปมในใจบางอย่างที่ต้องปกป้องตัวเองด้วยการโสด จึงเกิดทุกข์ภายในตัวเอง เข้าข่ายอัตตกิลมถะ(ทางโต่งไปด้านอัตตา)ยึดศีลนั้นว่าดี ทั้งๆที่ศีลนั้นเกิดฐานของตัวเองไปมาก เกินกำลังสติปัญญาของตัวเองไปมาก นอกจากจะไม่เจริญทางจิตใจแล้ว ยังกลายเป็นบาป เพราะมีการทรมานตัวเองด้วยการยึดดี ซึ่งเมื่อปฏิบัติไม่เป็นไปในทางสายกลาง โต่งไปทางด้านอัตตา ก็ไม่มีทางที่จะบรรลุธรรมได้
หรืออาจจะเปลี่ยนขั้วกลับไปทางกามสุขัลลิกะ (ทางโต่งด้านการเสพสุขลวง) ตบะแตก ทำลายศีลตัวเอง เข้าใจว่าถือศีลไปก็ทุกข์ ว่าแล้วก็ไปมีคู่มันซะเลย แต่ไปมีคู่จากความอยาก ความเก็บกด สุดท้ายก็จะเป็นภัยต่อตัวเองอยู่ดี เพราะแทนที่จะมีคู่ด้วยสภาพปกติ แต่กลับเป็นมีคู่ด้วยอาการอยากเสพอย่างรุนแรง มีอาการดูดดึงอย่างรุนแรง เพราะเป็นอาการที่ตีกลับจากทางโต่งด้านอัตตา
ผู้ที่เริ่มปฏิบัติธรรมควรปฏิบัติไปตามฐานของตัวเอง ให้เจริญไปตามลำดับ ค่อยเป็นค่อยไปเหมือนมหาสมุทรค่อยๆลาด ลุ่ม ลึกไปตามลำดับ ไม่ชันเหมือนเหว
11).ปฏิบัติกลับหน้าเป็นหลัง
ดังที่กล่าวมาแล้วว่าการปฏิบัติธรรมของศาสนาพุทธนั้นเป็นไปตามลำดับ คือการละในสภาวะส่วนของกามสุขัลลิกะ หรือละการหลงเสพก่อน แล้วค่อยละฝั่งอัตตา
เช่นเมื่อเราติดกาแฟ ก็ควรจะทำลายความอยากเสพกาแฟก่อน ไม่ใช่ไปพิจารณาไม่ยึดมั่นถือมั่นตั้งแต่แรก เพราะถ้าพิจารณาล้างอัตตา ล้างความยึดมั่นถือมั่นก่อน มันก็จะเฉโกหรือฉลาดไปในทางกิเลส คือกลายเป็นไม่ยึดมั่นถือมั่นในการกินกาแฟ ว่าแล้วก็กลับไปกินกาแฟเหมือนเดิม แล้วหลงว่าตัวเองบรรลุธรรม
คือลักษณะที่ไม่ล้างกิเลสไปตามลำดับ เอาหลังมาหน้า เอาหน้าไปข้างหลัง ล้างอัตตาก่อนล้างกาม พอไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ไปเสพกามแบบไม่ยึดมั่นถือมั่น มันก็ชั่วอยู่นั่นเอง
พระพุทธเจ้าท่านให้ละกิเลสนั้นทั้ง3ภพ คือละ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ไปตามลำดับ โดยใช้ไตรสิกขา คืออธิจิต อธิศีล อธิปัญญา ดังกระบวนการ 1-7 ที่ได้อธิบายไปข้างต้น
เราต้องละกามภพก่อน กามภพ คือสภาพที่ยังไปเสพ ไปติด ไปยึด ไปเอาสิ่งนั้นมาเป็นของตัว แล้วค่อยละรูปภพ คือสภาพที่ไม่ไปเสพแล้ว แต่ยังมีอาการอยากเสพที่เห็นได้ในจิตตัวเอง ซึ่งก็สามารถข่มใจไม่ให้ไปเสพไว้ได้ และสุดท้ายคืออรูปภพคือสภาวะที่มองไม่เห็นความอยากเป็นรูป ไม่เห็นการปรุงแต่งความอยากชัดๆแล้ว แต่เมื่อไม่ได้เสพจะหลงเหลืออาการขุ่นใจ ไม่สบายใจ โหยหา พะวง หรือจิตใจไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบายนั่นเอง เมื่อละสามภพนี้ไปตามลำดับ จึงจะสามารถพบกับวิมุตติได้
ดังนั้น ผู้ที่ปฏิบัติธรรมแบบล้างอัตตา หรือล้างความยึดมั่นถือมั่นก่อน โดยที่ไม่ได้ล้างกาม คือการที่ยังไปเสพสมใจในสิ่งที่ชอบ หรือติดนั้นอยู่ จะเกิดสภาพบรรลุธรรมหลอกๆ หลงว่าตนบรรลุธรรมแล้วเสพได้ กลายเป็นพวกเฉโก ไม่บรรลุธรรม ไม่พ้นทุกข์ เพราะเอาหลังมาหน้า เอาหน้าไปข้างหลัง ปฏิบัติไม่ถูกวิธี
– – – – – – – – – – – – – – –
1.11.2557