Tag: ธรรมชาติ
การปฏิบัติธรรม ตามธรรมชาติและเหนือธรรมชาติ
การปฏิบัติธรรม ตามธรรมชาติและเหนือธรรมชาติ
ในวีดีโอที่แนบมานั้น เป็นเรื่องราวของกิ้งกือกระสุนที่เดินผ่านเส้นทางของฝูงมด เป็นความบังเอิญตามธรรมชาติที่ไม่ได้จัดฉากหรือบังคับชีวิตใด ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติของมัน
เราจะเห็นได้ว่าเมื่อกิ้งกือกระสุนถูกมดรังควาน มันก็จะม้วนตัวมันให้กลม มีเปลือกเป็นเกราะ ทำให้มดไม่สามารถเข้ามากัดได้ แต่นั่นอาจจะหมายถึงมดตัวเล็ก ถ้ามดตัวใหญ่นั้นเดินผ่านมาและสนใจกิ้งกือกระสุนล่ะ มันจะทำอย่างไร? มดตัวใหญ่นั้นสามารถกัดถุงพลาสติกเหนียวๆให้ขาดได้ ถ้ามันเข้ามารุมกัดกิ้งกือกระสุนล่ะ จะเป็นอย่างไร?
กลับมาที่เรื่องการปฏิบัติธรรม…
ถ้าฝูงมดคือสิ่งที่จะเข้ามากระตุ้นกิเลส และกิ้งกือกระสุนคือตัวเรา เมื่อเราได้กระทบกับสิ่งกระตุ้นกิเลส เราก็สามารถใช้ความอดทน ใช้สติ ใช้กำลังของจิตกดข่มอาการได้สิ่งเหล่านี้เป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์และสัตว์ที่จะต่อต้านสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควรด้วยกำลังเท่าที่ตนมี
แต่ถ้ามีการกระตุ้นกิเลสที่มากขึ้นล่ะ ถ้ามีมดตัวใหญ่เข้ามา กิ้งกือกระสุนตัวนั้นจะทำอย่างไร มันก็คงจะถูกมดยักษ์ค่อยๆกัดจนตาย เพราะไม่สามารถต้านทานพลังของมดได้ เช่นเดียวกับที่คนส่วนมากไม่สามารถต้านทานพลังของการยั่วกิเลสที่มีพลังเกินกว่าสติของตนได้
เราอาจจะสามารถฝึกจิตให้แข็งแกร่งได้ ให้มีสติรู้เท่าทันกิเลสได้ เหมือนกับกิ้งกือกระสุนที่พัฒนาตัวเองให้โตขึ้นและมีเปลือกที่หนาขึ้นได้ แต่นั่นก็เป็นเพียงวิธีปฏิบัติที่เป็นไปตามธรรมชาติ เป็นไปตามวิถีของโลก ซึ่งนักปฏิบัติธรรมสำนักไหน ศาสนาใดก็สามารถทำได้ ซึ่งถ้ายกฤๅษีขึ้นมาก็จะเห็นภาพได้ชัด
ฤๅษีนั้นสงบนิ่ง เว้นขาดจากการบริโภคกาม น่าเคารพ น่าเลื่อมใส เหมือนกับกิ้งกือกระสุนที่สามารถป้องกันมดกัดได้อย่างสมบูรณ์ แต่นั่นก็เป็นเพียงวิธีหนึ่งในการป้องกันและไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดที่มีอยู่ในโลกนี้
หลักการปฏิบัติของพุทธนั้น ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่ป้องกันเท่านั้น ในทางจิตนั้นพุทธก็จะมุ่งพัฒนา แต่จะต่างกันตรงที่มีเป้าหมายคือการหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง
การหลุดพ้นของพุทธไม่ใช่การปล่อยให้กิเลสเข้ามาและยอมรับมัน ไม่ใช่กิ้งกือกระสุนที่เดินฝ่าดงมด และปล่อยให้ตนโดนมดกันโดยทำเป็นไม่รู้ร้อนรู้หนาว ไม่ใช่เพียงแค่มีความสามารถอดทนและปล่อยวางความเจ็บปวดได้ ไม่ใช่ผู้ที่ทำเหมือนปล่อยวางแต่ตัวยังจมอยู่กับกิเลส
การหลุดพ้นของพุทธนั้นคือหลุดพ้นจากกิเลส ลองนึกภาพกิ้งกือกระสุนที่เดินผ่าดงมด แต่มดไม่สนใจ เหมือนอยู่กันคนละมิติ ถึงจะเดินไปบนเส้นทางเดียวกันแต่ก็จะเดินผ่านกันไปโดยที่ไม่แตะต้องกัน ถึงจะเผลอไปแตะต้องแต่ก็ไม่ไปเกี่ยวกัน ไม่เป็นของกันและกัน นั่นเพราะผู้ที่ล้างกิเลสจนหมดตัวหมดตน การยั่วกิเลสใดๆย่อมไม่สามารถทำให้ผู้ที่หลุดพ้นไปข้องเกี่ยวได้
ดังนั้นการผลการปฏิบัติธรรมแบบพุทธจึงเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก ไม่อยู่ในวิสัยของโลก รู้ได้เฉพาะผู้ที่ปฏิบัติได้จริง เดาเอาก็ไม่ได้ คิดคำนวณยังไงก็ไม่มีวันถูก แม้มันจะเป็นเรื่องที่มีเหตุผล แต่ก็ไม่สามารถใช้ตรรกะใดๆมาอธิบายได้
จะเป็นไปได้อย่างไรที่กิ้งกือกระสุนจะเดินอยู่บนเส้นทางของฝูงมดที่หิวโหยโดยไม่โดนมดรุมทึ้ง อย่างเก่งก็แค่ม้วนตัวขดเป็นก้อนกลม ป้องกันมดกัด หรือรอเวลาที่มดเดินไปจนหมด ไม่มีทางหรอกที่จะเดินไปพร้อมๆกับมดโดยที่มดไม่กัด ธรรมชาติของมดย่อมกัดเป็นธรรมดา นั่นหมายถึงมันเป็นเรื่องเหนือธรรมชาตินั่นเอง
การที่เราจะสามารถต้านทานกิเลสด้วยกำลังของจิตนั้นก็เป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ควรศึกษาและปฏิบัติให้มีผลยิ่งขึ้น แต่การจะรู้และมั่นใจว่ากิเลสจะไม่สามารถทำอะไรเราได้อีกต่อไป หรือที่เรียกกันว่าหลุดพ้นจากกิเลสนั้น คือสภาพที่สามารถปล่อยให้ผัสสะเข้ามากระทบได้โดยที่ไม่ต้องทำอะไรอีกเลย ไม่ต้องอดทน ไม่ต้องบังคับ ไม่ต้องกดข่ม แม้จะปล่อยให้สิ่งที่เคยติดเคยยึด เคยชอบเคยชังเข้ามากระทบอีกสักเท่าไหร่ก็ไม่มีผล แม้ไม่มีการป้องกันใดๆเลยก็ไม่มีผล แม้จะปล่อยให้เข้ามาปะทะโดยไม่เตรียมตัวเตรียมใจใดๆก็ไม่มีผล
นั่นเพราะไม่มีกิเลสซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้เกิดผลในจิตใจอีกต่อไป เมื่อไม่มีกิเลส แม้จะมีผัสสะก็ไม่มีผลอะไร เหมือนกับกิ้งกือกระสุนที่แม้จะมีฝูงมดอยู่ตรงหน้าก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ต่างกับคนที่มีกิเลส เมื่อหลงเข้าไปในฝูงมดย่อมจะต้องป้องกัน หากไม่ป้องกันก็ต้องเจ็บปวด ทุกข์ทรมานจากความอยากทั้งหลายที่เกิดขึ้นเพราะสิ่งกระตุ้นและยั่วยวนกิเลสเหล่านั้น
– – – – – – – – – – – – – – –
7.9.2558
ถ้าฉันอยู่ไปจนถึง ๑๐๐ ปี
ถ้าฉันอยู่ไปจนถึง ๑๐๐ ปี
ฉันคงได้เผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง การพลัดพรากจากลา
ได้เห็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปของหลายสิ่ง
ได้เห็นความไม่เที่ยง ความทุกข์ และความลวงของสิ่งต่างๆ
ได้เห็นเด็กน้อยในวันนี้เติบโตจนกระทั่งกลายเป็นคนแก่
ได้เห็นคนวัยเดียวกัน และคนที่สูงวัยในวันนี้ จากไปทีละคน
ไม่ว่าจะคนดีหรือคนชั่วล้วนถูกกรรมกลืนกินไปตามกาลเวลา
ฉันคงได้แต่มองดูการเปลี่ยนแปลงของโลกไปอย่างเงียบๆ
เมื่อฉันนึกถึงวันนั้น ในวันที่ฉันจะมีอายุ ๑๐๐ ปี ในอนาคต
ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในวันนี้ราวกับว่าเป็นเรื่องตลก
คนที่เคยรัก ค่อยๆแก่ เจ็บป่วย และตายจากฉันไป
คนที่เคยชัง ก็ค่อยๆ ตายจากโลกนี้ไปเช่นเดียวกัน
คนที่เคยสวย เคยหล่อ ค่อยๆเหี่ยวย่น แก่ชรา และตาย
คนที่รวยล้นฟ้า มีหน้าที่การงานดี มีชื่อเสียง ก็ตายไปเช่นกัน
มันดูเป็นเรื่องตลกที่ฉันยังหลงมัวเมาอยู่กับหลายสิ่งในวันนี้
ในอนาคตข้างหน้า ในวันที่ฉันมีอายุถึง ๑๐๐ ปี
คนที่เคยอยู่ข้างฉัน เป็นเพื่อนฉัน เป็นกำลังใจให้ฉันในวันนี้
ก็คงจะทยอยหายจากชีวิตของฉันไปจนเกือบหมด
คงไม่เหลือใครที่จำอดีตในวันนี้ของฉันได้ แม้แต่ตัวฉันเอง
ตัวตนของฉันย่อมจะถูกกลืนหายไปตามกาลเวลาเช่นกัน
ฉันในวันนี้ กับฉันในอนาคตก็คงจะไม่ใช่คนเดียวกัน
ในเมื่อฉันได้เห็นว่าความเป็นฉันมันไม่แน่นอนอย่างนี้
ฉันก็ไม่รู้ว่าจะต้องเป็นฉันในแบบทุกวันนี้ไปทำไม
แม้แต่คนรอบตัวฉันก็ไม่แน่นอน ฉันก็ไม่รู้จะยึดไว้ทำไม
ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องถูกกรรมและกาลพรากไป
ฉันก็ไม่รู้จะต่อต้านมันไปเพื่ออะไร …
ในเมื่อความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นสิ่งที่แน่นอน
แล้วฉันจะไปหวังให้สิ่งที่ฉันรัก อยู่กับฉันตลอดไปได้อย่างไร
สิ่งที่ฉันจะทำได้ก่อนที่ฉันจะมีอายุถึง ๑๐๐ ปี ไม่ใช่การไขว่คว้า
แต่เป็นการพยายามปล่อยวางในสิ่งที่ฉันยังยึดมั่นถือมั่น
ปล่อยวางให้ได้ก่อนกรรมและกาลเวลาจะมาพรากมันไป
ถึงฉันจะไม่ยอมปล่อยให้สิ่งที่รักนั้นจากไป
แต่วันหนึ่งมันก็ต้องจากฉันไปอยู่ดี
ดังนั้นฉันจึงตัดสินใจที่จะลงมือก่อน
ฉันจะไม่รอกรรม ฉันจะไม่รอกาลเวลามาพรากมันไป
ฉันจะทำลายความยึดมั่นถือมั่นเหล่านั้นด้วยตัวฉันเอง
ทั้งคนที่ฉันรัก คนที่ฉันชัง และไม่ว่าสิ่งใดที่รัก สิ่งใดที่ชัง
ฉันจะปล่อยให้สิ่งเหล่านั้น เป็นไปตามธรรมชาติของมัน
ฉันจะอยู่กับสิ่งเหล่านั้น อย่างกลมกลืนไปตามธรรมชาติของมัน
แต่ฉันจะไม่เอาสิ่งนั้นเข้ามาเป็นของฉัน เป็นตัวฉัน เป็นชีวิตของฉัน
ฉันอยากให้เป็นการก้าวไปสู่ ๑๐๐ ปีที่ดีที่สุดในช่วงชีวิตของฉัน
แม้ว่าฉันอาจจะอยู่ได้ไม่ถึง ๑๐๐ ปีก็ตาม…
– – – – – – – – – – – – – – –
28.8.2558
ธรรมชาติ?
ธรรมชาติ?
มีหลายคนให้เหตุผลว่าธรรมชาติของคน กินได้ทั้งพืชและสัตว์ กล่าวว่าการกินสัตว์นั้นเป็นไปตามธรรมชาติ
แต่ธรรมชาติที่ว่านั้นกลับไม่ใช่ธรรมชาติของสัตว์ ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเป็น สัตว์ส่วนมากเกิดและตายในวงจรอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ เกิดแล้วก็ตาย ตายแล้วก็เกิด วนเวียนอยู่เช่นนั้นไม่จบไม่สิ้น
จริงอยู่ที่ว่าในโลกนี้มีเนื้อสัตว์บางอย่างทีี่กินได้โดยไม่ผิดบาป นั่นคือเนื้อที่มาจากสัตว์ที่ตายเอง และเดนสัตว์ที่ถูกผู้ล่ากินเหลือ เนื้อสัตว์เหล่านี้เป็นไปตามธรรมชาติ
แต่เนื้อสัตว์ที่ได้มาทุกวันนี้ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ควรแล้วหรือที่เราจะกล่าวอ้างหาความถูกต้องในการกินเนื้อสัตว์โดยไม่พิจารณา ให้ถี่ถ้วนว่าตรรกะเหล่านั้นมันช่างขัดแย้ง ขัดแข้งขัดขากันในตัวเอง
ในเมื่อเราไม่ได้เคารพธรรมชาติเสียหมด เรากลับเลือกเฉพาะธรรมชาติที่เราได้เสพ เลือกรับรู้เฉพาะที่เราเห็นว่าเราได้ประโยชน์ แต่กลับมองข้ามธรรมชาติของสิ่งอื่น มองข้ามธรรมชาติตามความเป็นจริง ความย้อนแย้งที่ไม่เข้ากันเช่นนี้ ไม่เป็นไปตามธรรมชาติเลย
กินผักกินหญ้ากับการหลุดพ้น กินอย่างวัวควาย กินอย่างมนุษย์
กินผักกินหญ้ากับการหลุดพ้น กินอย่างวัวควาย กินอย่างมนุษย์
การลดเนื้อกินผักนั้นเป็นหนึ่งในข้อปฏิบัติที่จะลดการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เป็นทางแห่งบุญ สร้างกุศลกรรมอันมีแต่ประโยชน์ฝ่ายเดียว ไม่มีโทษใดๆเลย หากผู้ลดเนื้อกินผักนั้นมีความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์
แม้ว่าการลดเนื้อกินผักจะถูกมองว่าไม่สามารถทำให้พ้นทุกข์ หรือหลุดพ้นจากสิ่งใดได้ นั่นก็เป็นเรื่องปกติ เพราะหากผู้ที่ไม่มีความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ก็จะไม่สามารถเข้าใจได้ว่า สิ่งเหล่านี้นำมาใช้ปฏิบัติอย่างไร ลดกิเลสอย่างไร เป็นประโยชน์อย่างไร ซึ่งการทำให้ทุกคนมีสัมมาทิฏฐินั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นการเห็นต่างกันย่อมจะเป็นเรื่องธรรมดา
การลดเนื้อกินผักนั้นมิใช่การทำให้หลุดพ้นจากทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะขอบเขตของมันก็เพียงแค่ทำลายความอยากในการกินเนื้อสัตว์ ดังนั้นประสิทธิผลสูงสุดของมันก็แค่เพียงทำให้ความอยากกินเนื้อสัตว์หมดไป ทำให้หลุดพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์ ทำให้ไม่ต้องกลายเป็นทาสเนื้อสัตว์ ซึ่งก็เป็นประโยชน์ที่มากเกินพอแล้วสำหรับการดำรงชีวิตในสังสารวัฏนี้
เพราะพระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า การเบียดเบียนทำให้เกิดโรคมากและอายุสั้น ดังนั้นผู้ที่คิดจะบำเพ็ญบุญกุศลอยู่ในโลกนี้ ย่อมใช้การไม่เบียดเบียนนี่เอง ยังอัตภาพให้คงอยู่ เพื่อสร้างโอกาสให้ชีวิตได้เรียนรู้ที่จะทำให้เกิดบุญ และกุศลมากยิ่งขึ้น
กินอย่างวัวควาย
การลดเนื้อกินผัก มักจะถูกนำไปเปรียบเทียบว่า “ถ้าการไม่กินเนื้อสัตว์สามารถหลุดพ้นได้จริง วัวควายกินแต่หญ้าทั้งชีวิตก็หลุดพ้นไปแล้ว”
ต้องทำความเข้าใจอย่างนี้ว่า วัวควายเหล่านั้นมันไม่ได้กินเนื้อสัตว์ ไม่ได้มีความอยากกินเนื้อสัตว์ เอาเนื้อสัตว์ไปให้มันก็ไม่กิน เพราะมันไม่มีสัญญาแบบนั้น มันไม่ได้หลงว่าเนื้อสัตว์กินได้ เป็นของน่าใคร่ เป็นของควรบริโภค ดังนั้นไม่ว่าจะให้เนื้อสัตว์ชั้นดีแค่ไหน มันก็ไม่กิน
แต่กับคนที่มีกิเลส ให้เนื้อสัตว์ไป เขาก็กิน ถ้าลองเอาเนื้อสัตว์ชั้นดีมายั่ว เขาก็อยาก ร้านไหนจัดโปรโมชั่นเนื้อสัตว์หายากราคาถูกเมื่อไหร่ผู้คนก็ต่างกรูกันเข้าไปกิน เดินทางแสวงหาเนื้อสัตว์ชั้นดีมาบำเรอความอยากของตนโดยมีข้ออ้างในการกินเนื้อสัตว์มากมาย เช่น เราต้องการโปรตีน เราต้องการวิตามิน เราต้องกินเพื่ออยู่ ฯลฯ จึงทำให้หมกมุ่นอยู่กับการกินเนื้อสัตว์นั้นเอง
ถามว่า “วัวควายมันมีความอยากเหมือนคนไหม? ” มันไม่มีนะ มันต่างกันตรงนี้ เพราะวัวควายมีขอบเขตของจิต มันเกิดมาโดยมีข้อจำกัดมาก จิตวิญญาณก็พัฒนาไม่ได้มาก กิเลสก็พัฒนาไม่ได้มาก มันเกิดมาเพื่อชดใช้กรรมหรือเพราะจิตนั้นยังไม่พัฒนาสู่ความเป็นมนุษย์
ดังนั้นการจะเอาวัวควายไปเทียบกับคนในบริบทของการบรรลุธรรมมันไม่สามารถเทียบกันได้ มันคนละบริบท มันคนละอย่าง
การเอาวัวควายไปเทียบกับคนนั้นเพราะไม่รู้ความแตกต่างของการปฏิบัติในจิต วัวควายมันไม่ต้องปฏิบัติอะไรเพราะมันไม่ได้มีความอยากหรือยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ แตกต่างจากคนที่มีความอยากและความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์เหล่านั้น ถ้ามองเห็นเพียงว่าการลดเนื้อกินผักไม่ใช่หนทางขัดเกลาความอยากของตน ก็เป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่ไม่เข้าใจการปฏิบัติตนสู่ความพ้นทุกข์ เพราะหากเราไม่ขัดเกลาความอยากแล้ว จะพ้นจากทุกข์ได้อย่างไร?
การจะเข้าใจว่ากินอย่างวัวควายไม่บรรลุธรรมก็เป็นเรื่องจริง หากว่ากินโดยที่ไม่รู้ประโยชน์ สักแต่ว่ากิน ไม่รู้ไปถึงตัณหา อุปาทานก็จะเป็นการกินผักกินหญ้าไปเช่นนั้นเอง แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นอย่างนั้น คนที่กินผักกินหญ้าก็ยังเป็นคนที่ทำคุณประโยชน์ให้โลกมากกว่าเพราะไม่เบียดเบียนตนเองด้วยส่วนแห่งอกุศลกรรม ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น จึงเป็นชีวิตที่กินผักกินหญ้าที่มีประโยชน์ต่อโลก ไม่ตกต่ำไปกว่าสัตว์อย่างวัวควาย ควรค่าที่เกิดมาเป็นคน
กินอย่างมนุษย์
การลดเนื้อกินผักอย่างมนุษย์ผู้เจริญแล้ว คืองดเว้นการเบียดเบียนสัตว์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เมื่อรู้ว่าตนเองนั้นยังเป็นเหตุที่เขาจะต้องฆ่าสัตว์ ก็จะมีความยินดีที่จะงดเว้นเหตุแห่งการเบียดเบียนเหล่านั้นเสีย
เป็นความเจริญของจิตใจที่มีเมตตาขยายขอบเขตออกไปมากกว่าการเลี้ยงชีวิตตนเอง เพราะถ้าเราคนถึงแต่ชีวิตตนเอง มีแต่ความเห็นแก่ตัว เราก็จะใช้สิ่งอื่นมาบำเรอตนโดยที่ไม่สนใจว่าสิ่งนั้นจะมีต้นเหตุที่มาเช่นไร
ความเห็นแก่ตัวหรือจะเรียกว่าความเห็นแก่กิน หรือการกินโดยไม่ใช้ปัญญาไตร่ตรองว่าเนื้อสัตว์นั้นเป็นเนื้อที่สมควรหรือไม่ เนื้อที่เขาฆ่ามาย่อมไม่ใช่เนื้อที่สมควรบริโภค เนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาไม่ควรสนับสนุนด้วยประการทั้งปวง เนื้อที่เขาฆ่ามาย่อมเป็นที่น่ารังเกียจของผู้เจริญ
แต่ความเห็นแก่ตัวนั้นจะทำให้จิตใจคับแคบ สายตาคับแคบ มองเห็นเพียงแค่เนื้อสัตว์นั้นทำให้ชีวิตตนดำรงอยู่ มองเห็นเป็นเพียงวัตถุสิ่งของที่อยู่ตรงหน้า มองเห็นแค่ในระยะที่ตนเองเอื้อมถึง ไม่มองไปถึงเหตุเกิดที่มาของสิ่งเหล่านั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ ผู้ที่ไม่สามารถมองเห็นเหตุเกิดของสรรพสิ่งทั้งปวงย่อมไม่สามารถดับทุกข์หรือบรรลุธรรมใดๆได้เลย
กินลดเนื้อกินผักอย่างมนุษย์ผู้เจริญ จึงเป็นการกินผักที่มองไปถึงเหตุเกิด มองไปถึงสิ่งที่ทำให้ต้องไปกินเนื้อสัตว์ นั้นก็คือความอยากได้อยากเสพเนื้อสัตว์ ความหลงติดหลงยึดในเนื้อสัตว์ ความยึดมั่นถือมั่นในคุณค่าลวงที่โลกปั้นแต่งให้กับเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามาเหล่านั้น และมุ่งทำลายเหตุเหล่านั้นโดยการไม่ให้อาหารกิเลส ทรมานกิเลส ไม่ตามใจกิเลส
ดังนั้นการลดเนื้อกินผักของผู้มีความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ก็คือการไม่ยอมไปกินเนื้อสัตว์นั้นตามที่กิเลสลากให้ไปกิน กิเลสจะหาเหตุผลมากมายให้ได้ไปเสพเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา ให้ไปเบียดเบียนโดยที่ไม่ต้องรู้สึกผิด ให้หลงว่าการกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นไม่มีผล
ทุกการกระทำใดๆที่มีเจตนาย่อมสั่งสมเป็นกรรม การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาก็ย่อมมีผลเช่นกัน ซึ่งผลกรรมของมันก็จะต่างกับการกินพืชผักอย่างแน่นอน ดังนั้นผู้ที่มีปัญญาย่อมไม่แสวงหาเหตุผลในการสร้างอกุศลกรรมใดๆให้ตนเอง ไม่หาเหาใส่หัวโดยที่ไม่จำเป็น เพราะหากไม่มีความอยากกินเนื้อสัตว์แล้ว แม้จะมีเนื้อสัตว์ชั้นดีที่ผู้คนต่างใคร่อยาก มาวางอยู่ตรงหน้า จัดให้กินฟรีๆทุกวี่ทุกวัน ก็ไม่มีความหมายใดๆ สำหรับผู้หลุดพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์เลย เป็นความหลุดพ้นจากความเป็นทาส
จึงสรุปได้ว่าการลดเนื้อกินผักอย่างมนุษย์คือการขัดเกลากิเลสที่เกาะกุมอยู่ในจิตใจ ซึ่งเป็นเหตุที่จะทำให้อยากจะไปเสพเนื้อสัตว์ แต่การลดเนื้อกินผักอย่างวัวควายก็เป็นธรรมชาติของวัวควาย และเป็นความเข้าใจของผู้ที่ยังเห็นไม่รอบ ยังไม่เห็นกิเลส ยังไม่เห็นตัวตนของความอยากนั้น ยังไม่สามารถเข้าใจได้ว่าความอยากนั้นเป็นภัยแก่ตนอย่างไร ยังไม่รู้ว่าตัณหาเป็นเหตุของอุปาทาน ที่จะทำให้เกิด ภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส
– – – – – – – – – – – – – – –
19.7.2558