Tag: จิตใจ
การไม่กินเนื้อสัตว์ เป็นเรื่องของจิตใจ
การไม่กินเนื้อสัตว์ เป็นเรื่องของจิตใจ
ความเจริญของจิตใจนั้นสามารถชี้วัดได้จากสิ่งหนึ่ง คือการลดการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ซึ่งเป็นผลที่เจริญขึ้นจากการทำความเห็นให้ถูกต้องโดยลำดับ
การไม่กินเนื้อสัตว์นั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับจิตใจโดยตรง เพราะการจะเลิกกินเนื้อสัตว์นั้นเราจะต้องหักห้ามใจ บังคับใจ ไม่ให้ใจนั้นหลงไปกินเนื้อสัตว์เหล่านั้น
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ จะไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยความเมตตา หวังประโยชน์เกื้อกูลต่อสัตว์ทั้งปวง ก็เป็นจิตที่เมตตาจนถึงรอบที่จะลงมือทำ ไม่ใช่แค่คิดเมตตาแต่ปากยังเป็นเหตุให้เบียดเบียนอยู่ หรือว่าจะเป็นเรื่องของสุขภาพ การหักห้ามใจไม่กินเนื้อสัตว์นั้นเป็นเรื่องที่จะทำให้ไม่เบียดเบียนตนเอง ถ้ากินแล้วตนเองก็เป็นทุกข์ เป็นโรค ก็ต้องฝืนใจเลิก นั่นเพราะใจที่ทุกข์จากเหตุแห่งสุขภาพนั้นมีน้ำหนักกว่าสุขเมื่อได้เสพเนื้อสัตว์ หรือจะเหตุผลอื่นใดก็ตาม การลด ละ เลิกสิ่งที่เป็นภัยต่อตนเองและผู้อื่นย่อมเป็นเรื่องดีทั้งสิ้น
แต่การจะเลิกกินนั้นไม่ง่าย หากเราตั้งใจละเลิกกินเนื้อสัตว์สักอย่างที่เราเคยติด เช่นเนื้อวัว การจะออกจากเนื้อวัวได้ต้องหักห้ามใจไม่ไปกินเป็นเบื้องต้น จนพิจารณาเห็นโทษภัยของการกินเนื้อวัวจนความอยากนั้นจางคลาย จึงค่อยๆ ขยับไปเลิกหมู ไก่ ปลา สัตว์เล็กสัตว์น้อยอื่นๆ จนถึง นม ไข่ น้ำผึ้ง ฯลฯ ซึ่งหลายคนก็สามารถตัดทุกอย่างทั้งชีวิตได้ในทันที แต่อีกหลายคนก็ไม่สามารถทำแบบนั้นได้ การเลิกกินเนื้อสัตว์นั้นต้องมีกำลังใจที่หนักแน่นและสำคัญที่สุดคือกำลังของปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงในโทษชั่วของการที่เรายังกินเนื้อสัตว์เหล่านั้น
ในขณะที่เรากำลังพยายามลด ละ เลิก ก็จะมีเสียงสะท้อนกับสังคม คำชื่นชมจากคนเห็นดีกับไม่กินเนื้อสัตว์ ไปจนถึงคำประชดประชันจากคนที่มีอคติต่อการไม่กินเนื้อสัตว์ เป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญ ถ้าเราเลิกแค่เนื้อวัวเราก็จะเจอการกระทบระดับหนึ่ง แต่ถ้าเลิกหมู ไก่ ปลา ไปอีกก็จะเจอแรงกระทบอีกระดับหนึ่ง ยิ่งถ้าไม่กิน นม ไข่ เนย น้ำผึ้ง ด้วยแล้วยิ่งจะเจอมากเข้าไปอีก ชมก็ชมมาแรง นินทาก็นินทามาแรง และยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเราเป็นผู้นำเสนอข้อดีของการไม่กิน ชักชวนผู้อื่นให้ละเว้นเนื้อสัตว์ แม้จะมีจิตที่ยินดีแบ่งปันสิ่งดีให้กับคนอื่นเช่นนั้น ถึงจะสื่อสารอย่างถูกกาลเทศะอย่างไรก็ตาม แต่ก็จะไม่สามารถหนีสรรเสริญนินทาพ้น
สรรเสริญก็ทำให้อัตตาโต ยิ่งมีคนชื่นชมมากๆ ก็สามารถทำให้หลงติดดีได้ นินทาก็เช่นกัน มันจะมาในทุกรูปแบบ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทั้งสุภาพและหยาบ ซึ่งจะคอยแซะให้เราตบะแตกแสดงความโกรธ นี่ก็เป็นเรื่องที่เราต้องฝึกจิตใจ อดทนข่มใจไม่ลอยไปตามคำชม ไม่ขุ่นมัวไปตามคำนินทา
สรุปแล้ว ตลอดเส้นทางแห่งการละเว้นเนื้อสัตว์ ย่อมจะเจอโจทย์ที่หลากหลายเข้ามาฝึกใจ ทั้งจากข้างในและข้างนอก ความอยากกินเขาเราเองก็ว่าหนักแล้ว เสียงจากสังคมก็ยิ่งหนักเข้าไปอีก คนที่จิตใจไม่ตั้งมั่นในการทำความดี ไม่มีกำลังใจ ไม่มีปัญญา ก็จะหวั่นไหวได้ง่าย เจอโลกเขาลากกลับไปกินเนื้อสัตว์ ก็กลับไปกินตามเขา เพราะใจง่ายนั่นเอง การไม่กินเนื้อสัตว์จึงเป็นเรื่องของจิตใจที่ต้องฝึกฝนเช่นนี้
– – – – – – – – – – – – – – –
15.3.2559
โอวาทปาฏิโมกข์ : ไม่ทำบาปทั้งปวง มุ่งทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส
โอวาทปาฏิโมกข์ : ไม่ทำบาปทั้งปวง มุ่งทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส
เนื่องในโอกาสวันมาฆบูชา จึงขอหยิบยกหลักธรรม ๓ ข้อ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เมื่อสองพันหกร้อยกว่าปีก่อน เป็นหลักธรรมที่แสดงให้เห็นถึงหลักการปฏิบัติธรรมของศาสนาพุทธ จะนำมาขยายกันในบทความนี้
หลายคนอาจจะเคยได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับหลักธรรม ๓ ข้อนี้มาไม่มากก็น้อย ซึ่งในบทความนี้ก็จะขยายกันตามที่ได้ศึกษามา อาจจะแตกต่างหรือคล้ายคลึงกับที่ท่านได้ยินได้ฟังมาก็ได้ ซึ่งก็ขอให้ลองพิจารณากันดู
ไม่ทำบาปทั้งปวง
การไม่ทำบาปของพุทธ คือการไม่ทำบาปในทุกๆกรณี ไม่มีช่องว่างใดๆ ไว้ให้ทำบาปเลย ไม่มีชั่วและดีผสมกันในเนื้อแท้ของพุทธ บาปนั้นคืออะไร? บาปนั้นก็คือ “กิเลส” ซึ่งตรงข้ามกับ “บุญ” หรือการชำระกิเลส ถ้าบุญคือการทำให้กิเลสลดลง บาปนั้นก็คือการทำให้กิเลสเพิ่มขึ้น การสนองความอยากก็ตาม การสะสมความยึดมั่นถือมั่น หรือ โลภ โกรธ หลง ก็เป็นบาปทั้งนั้น ข้อนี้เป็นธรรมที่เป็นเป้าหมายที่ควรเข้าถึงเป้าหมายหนึ่ง ซึ่งไม่ได้หมายความจะทำได้ทันที เพราะในภาคปฏิบัตินั้นจะต้องศึกษาให้รู้จัก “โทษของบาป” และยับยั้งการทำสิ่งที่เป็นบาปเหล่านั้น ผู้ที่ไม่ทำบาป ไม่ทำสิ่งที่กิเลสบงการ หากว่าพอใจเพียงแค่ธรรมข้อนี้ ก็ถือว่าเป็นผู้เจริญในระดับหนึ่ง โดยภาพรวมก็จะเหมือนฤๅษีที่ไม่ทำบาป สงบนิ่ง สันโดษ พอเพียง ฯลฯ
มุ่งทำแต่ความดี
ศาสนาพุทธนั้นไม่เคยมองข้ามการทำความดี ท่านให้ตั้งมั่นอยู่ในความดี ไม่หยุดทำดี ไม่ประมาทในความดีแม้น้อย สิ่งใดที่เป็นสิ่งดี หรือพิจารณาแล้วว่าดีมากกว่าเสีย เป็นกุศลมากกว่าอกุศล ก็จะยินดีทำ ไม่นิ่งเฉย ไม่ดูดาย ไม่หลีกหนีหน้าที่ เอาภาระ ไม่หนีโลก ไม่หนีสังคม เพราะการเกื้อกูลสังคมและโลกนั้นคือสิ่งดีที่ควรทำ ผู้ที่ทำแต่ความดีนั้น หากว่าพอใจเพียงแค่ธรรมข้อนี้ ก็ถือว่าเป็นผู้เจริญในระดับหนึ่ง โดยภาพรวมก็จะเหมือนคนดีหลายๆ คนที่โลกนั้นยกย่อง พวกเขามุ่งทำดี อดทน เสียสละได้กระทั่งชีวิต ทำดีตามที่โลกสรรเสริญและความเข้าใจตามภูมิปัญญาของท่านนั้นๆ
ทำจิตใจให้ผ่องใส
หลักธรรมข้อนี้เป็นข้อที่พิเศษ จะตีความเชิงโลกียะก็ได้แบบหนึ่ง ตีความเชิงโลกุตระก็ได้อีกแบบหนึ่ง ซึ่งจะขยายในมุมของโลกียะให้ทำความเข้าใจกันก่อน
การทำจิตใจให้ผ่องใสตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไปนั้น คือการทำจิตใจให้สงบจากสภาวะที่ขุ่นมัวจากกิเลสที่เกิดขึ้น เช่นโกรธก็ไประงับโกรธ ด้วยวิธีใดๆ ก็ตามที่แต่ละคนได้ศึกษามา ก็จะสามารถเปลี่ยนจิตใจที่ขุ่นมัวเป็นจิตใจที่ผ่องใสได้ อันนี้เป็นความรู้ทั่วไป ปฏิบัติกันโดยทั่วไป เข้าใจกันโดยทั่วไป เป็นสามัญของโลก
ในส่วนของโลกุตระนั้นเป็นเนื้อแท้ของศาสนาพุทธ ไม่มีศาสนาใดเหมือน ตามที่ได้ยกมุมของโลกียะไว้ข้างต้นนั้น ไม่ว่าศาสนาใดก็สามารถทำให้ให้ใจสงบแล้วกลับมาผ่องใสเช่นนั้นได้ด้วยวิธีเชิงสมถะ ซึ่งการทำจิตใจให้ผ่องใสอย่างพุทธที่แท้จริงนั้น คือการล้วงลึกเข้าไปถึงเหตุที่ทำให้จิตนั้นไม่ผ่องใส เช่น ถ้าเกิดความโกรธ ก็จะรู้ไปถึงเหตุแห่งความโกรธนั้น ว่าไปหลงผิดคิดเห็นอย่างไรจึงทำให้ความโกรธนั้นเกิดขึ้น และดับเหตุนั้นรวมถึงสามารถที่จะดับความโกรธได้ด้วยเช่นกัน การดับเหตุนั้นคืออะไร คือการเข้าไปดับภพของกิเลสนั้นๆ ที่เกิดขึ้นในจิตใจด้วยปัญญารู้แจ้งโทษชั่วของกิเลสนั้นๆ จนภพ ๓ (กามภพ รูปภพ อรูปภพ) นั้นดับ จึงไม่ยึดมั่นถือมั่นและคลายตัณหาในที่สุด เพราะไม่ได้ยึดว่าสิ่งนั้นเป็นฉัน เป็นของฉัน เป็นสิ่งที่ฉันควรได้ จึงปรากฏเป็นสภาพจิตใจที่ผ่องใสจากกิเลส โดยไม่ต้องไปกำหนดเป็นครั้งคราวตอนที่จิตใจนั้นขุ่นมัวเหมือนวิธีโลกียะ ถ้าทำเรื่องใดได้ก็จะผ่องใสอย่างถาวรในเรื่องนั้น ไม่เวียนกลับมาขุ่นมัวอีก นี่คือวิธีการทำจิตใจให้ผ่องใสในเชิงโลกุตระซึ่งเป็นแก่นแท้ของพุทธเป็นความหมายที่แท้จริงของการทำจิตใจให้ผ่องใส
….เมื่อยึดเอาหลักธรรม ๓ ข้อนี้มาปฏิบัติ ชาวพุทธก็จะอดทนอดกลั้น ไม่ทำบาปได้ง่ายนัก จนถึงขั้นไม่ทำบาปเลย และหมั่นทำความดี มุ่งสร้างแต่กุศลกรรม ไม่ประมาทในกุศลกรรมแม้สิ่งนั้นจะดูน้อยนิด ถ้าหากว่ามีโอกาสทำได้ก็จะทำ ซึ่งจะใช้กุศลกรรมนี้นี่เองเป็นสิ่งที่มาหล่อเลี้ยงชีวิต สุดท้ายคือการทำจิตใจให้ผ่องใสจากกิเลส นอกจากจะไม่ทำบาปแล้ว ยังกำจัดบาปนั้นให้หมดสิ้นไปได้ด้วย เป็นผู้ที่แก้ไขปัญหาของจิตใจได้อย่างบริสุทธิ์สมบูรณ์ เปรียบดังภาชนะที่เป็นแตกรั่วเป็นรูเป็นช่องมียาพิษคือกิเลสไหลทะลักแสดงตัวตนออกมา นอกจากจะคอยอุดรอยรั่วแล้วยังสามารถนำยาพิษคือกิเลสนั้นออกได้อีกด้วย คือทำให้ไม่มีตัวตนของกิเลสในจิตใจ พอไม่มีกิเลส ไม่มียาพิษ ก็ไม่ต้องมาคอยอุด เพราะไม่มีอะไรที่มันจะรั่วหรือทะลักออกมา
การปฏิบัติธรรมนั้นจะต้องมีเบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย ควรรู้ฐานะของตัวเอง ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมจึงจะเจริญ หมายถึงเลือกปฏิบัติให้เหมาะสมกับกำลังของตัวเอง โดยใช้ศีลมาเป็นเครื่องขัดเกลาตน ตั้งแต่ ศีล ๕ , ๘, ๑๐, ไปจนถึงจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ปฏิบัติไปโดยลำดับ มีขั้นตอน มีความเจริญไปโดยลำดับ หยุดบาปได้โดยลำดับ ทำดีมากขึ้นได้โดยลำดับ และทำจิตใจให้ผ่องใสได้โดยลำดับ การปฏิบัติธรรมะของศาสนาพุทธย่อมมีลำดับเช่นนี้ ลาดลุ่มเหมือนฝั่งทะเล ไม่ชันเหมือนเหว ไม่ใช่เพื่อบรรลุธรรมในทันที แต่เป็นไปเพื่อให้ศึกษาจนรู้จักโทษชั่วของกิเลสอย่างแจ่มแจ้งโดยลำดับ( พระไตรปิฎก เล่ม ๒๓ ปหาราทสูตร ข้อ ๑๐๙)
– – – – – – – – – – – – – – –
21.2.2559
บทวิเคราะห์ : การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่มีผลต่อจิตใจจริงหรือ?
บทวิเคราะห์ : การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่มีผลต่อจิตใจจริงหรือ?
มีข้อขัดแย้งกันในประเด็นของจิตใจที่เปลี่ยนแปลงไปในทางเจริญเมื่อไม่กินเนื้อสัตว์ บ้างก็ว่ามีผล บ้างก็ว่าไม่มีผล หรือถึงจะมีผลก็ไม่ใช่สาระสำคัญอะไร ไม่ใช่สิ่งที่น่าใส่ใจเอามาปฏิบัติ ซึ่งในความจริงแล้วมีผลหรือไม่มีผล เรามาลองวิเคราะห์กันดู
“การไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาคือการไม่ส่งเสริมการเบียดเบียน” ความเห็นนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก เป็นสมการแบบแปรผันตามกัน เพราะการที่เราจะได้กินเนื้อสัตว์ก็มาจากการฆ่าในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เป็นหลัก
ทีนี้คนจำนวนหนึ่งที่มีจิตเมตตา ได้รับรู้ถึงการเบียดเบียนที่โหดร้ายทารุณ จึงตั้งใจหยุดการบริโภคหรือหยุดสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสัตว์ ให้สังเกตตรงนี้ว่า จากเมตตานั้นพัฒนาเป็นกรุณา คือนอกจากสงสารแล้วยังลงมือทำด้วย ไม่ใช่ว่าสงสารแล้วยังกินเนื้อเขาอยู่ ซึ่งตรงนี้เป็น”ผล”ที่ได้เกิดขึ้นแล้ว
มีคนบางพวกซึ่งอาจจะเมตตา แต่ไม่ได้กรุณาอะไร ไม่ได้คิดจะลงมือเปลี่ยนแปลงอะไรให้เกิดสิ่งดีขึ้น คือมีจิตสงสารแต่ก็ปล่อยวางทั้งๆที่ยังไม่ได้ทำอะไร ความเข้าใจเช่นนี้คือทางลัดของกิเลสนั่นเอง ถ้าถามว่าจิตเช่นนี้จะเจริญหรือไม่ ก็ต้องบอกว่า “ไม่” เพราะสุดท้ายก็เสพกามเหมือนเดิม กินเนื้อสัตว์เหมือนเดิม เป็นปัญญากิเลสทั่วไปในสังคม ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็มีได้ ต่างจากกรณีแรกคือเมตตาแล้วกรุณา คือหยุดเสพกามอันเป็นเหตุให้เบียดเบียนนั้นด้วยจะเห็นได้ว่าการตั้งจิตดังเช่นว่า “ถ้าเลือกได้” จะไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาเลยตลอดชีวิตจึงเป็นเรื่องยากที่ไม่ได้ปฏิบัติกันโดยทั่วไป
การปฏิบัติธรรมให้จิตใจเจริญนั้นมีหลักคือละเว้นจากอกุศล เข้าถึงกุศล ดังนั้นผู้ที่มีความเห็นอกเห็นใจในสัตว์แล้วลงมือช่วย ย่อมมีผลเจริญขึ้นในจิตใจขึ้นมาบ้างแล้ว ต่างจากผู้ที่ไม่สามารถทำจิตเมตตาให้เจริญถึงขั้นลงมือละเว้นทั้งที่มีองค์ประกอบที่เอื้อให้ทำได้
นี่เป็นเพียงเรื่องของเมตตาที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ยังไม่ต้องเข้าหลักปฏิบัติในศาสนาอะไรที่ลึกซึ้ง ก็เห็นแล้วว่ามีผล และไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้โดยทั่วไป เพราะทำได้ลำบาก ต้องใช้ความพยายามต้องอดทนอดกลั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความอดทนอดกลั้น(ขันติ) นั้นเป็นเครื่องเผากิเลสที่ดีอย่างยิ่ง การจะกล่าวว่าการอดทนไม่กินเนื้อสัตว์ไม่มีผลนั้น ย่อมไม่ใช่ความเห็นที่ถูกต้องนัก
การประมาทในกุศลแม้น้อย ก็ยังถือว่าเป็นความประมาทที่ยิ่งใหญ่ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่สรรเสริญความหยุดอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย จะกล่าวไปใยว่า เราจะสรรเสริญความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย อนึ่ง เราย่อมสรรเสริญความเจริญ ไม่สรรเสริญความหยุดอยู่ ไม่สรรเสริญความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย”
ความเจริญของจิตใจแม้เพียงเล็กน้อย สามารถพัฒนาไปเป็นความเจริญที่ยิ่งใหญ่ต่อไปได้ ผิดกับคนที่ไม่เห็นดีกับผู้ที่คิดจะนำความเจริญมาสู่จิตใจตน เขาย่อมตกลงสู่ความเสื่อม และยึดมั่นถือมั่นในความเห็นที่ต่อต้านการเข้าถึงกุศลธรรมนั้น จนปิดประตูในการทำกุศลเหล่านั้นเพราะเห็นว่าไม่มีค่า ไม่สำคัญ ไม่มีผล จนเสื่อมจากกุศลธรรมในเรื่องนั้นไปในที่สุด
ผู้ที่ไม่สามารถเห็น “ผล” ในการตั้งใจหยุดเบียดเบียน คือผู้ที่ไม่มีญาณปัญญารับรู้ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับผู้ที่ยังมีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) เพราะในความเห็นที่ถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิที่ยังเป็นสาสวะ) ในข้อแรกได้กล่าวไว้ว่า “ทานที่ทำแล้วมีผล” แล้วมีผลอย่างไรจึงจะสัมมาทิฏฐิ คือทานที่ทำแล้วนั้นมีผลในการลดกิเลส ลดความหลงติดหลงยึดได้
การจะมีสัมมาทิฏฐิไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่เรื่องที่รับรู้กันโดยทั่วไป ไม่ใช่แค่อ่านตามแล้วจะเข้าใจได้ แต่ต้องมีญาณปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติอย่างถูกตรงนั้นอยู่ในตน ดังนั้นการที่ใครจะมีความเห็นว่า “การไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา ไม่มีผลต่อความเจริญในจิตใจ” ก็เป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่ยังมีมิจฉาทิฏฐิ คือไม่สามารถรับรู้ได้ว่า สิ่งใดทำแล้วมีผล สิ่งใดทำแล้วไม่มีผล ทำอย่างไรจึงมีผล ทำอย่างไรจึงไม่มีผลเพราะไม่มีญาณรู้ในผลที่เกิดขึ้นได้
ความเห็นว่ากรรมและผลของกรรมมีผลนั้นเป็นหนึ่งในสัมมาทิฏฐิ ผู้ที่เห็นว่ากรรมที่ทำนั้นไม่มีผล ไม่เห็นว่าสิ่งใดที่ทำลงไปไม่ว่าจะดีหรือร้ายนั้นมีผล ก็จะทำให้เกิดความประมาท และร้ายยิ่งกว่าสำหรับผู้ที่รู้ว่ากรรมนั้นส่งผลเสีย เบียดเบียน เป็นทุกข์ แต่ก็ไม่คิดจะหยุดทำกรรมชั่วนั้นทั้งๆที่สามารถหยุดได้ คนเช่นนี้ไม่มีกำลังในการต้านความชั่วเลย สติก็ไม่มี ปัญญาก็ไม่มี จึงใช้ชีวิตโดยประมาท ปล่อยให้กรรมชั่วนั้นดำเนินต่อไป
พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “ ธรรม ๓ ประการนี้เป็นลักษณะของคนพาล ๑. ไม่เห็นว่าสิ่งที่เป็นโทษนั้นเป็นโทษ ๒.เมื่อเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นโทษแล้วไม่แก้กลับให้ถูกตามธรรม ๓. เมื่อผู้อื่นชี้ให้เห็นโทษ ก็ไม่ยอมรับรู้ตามธรรมนั้น “ ดังนั้นผู้ที่ได้รับรู้แล้วว่าสิ่งใดเบียดเบียน แต่ไม่พยายามหลีกเลี่ยงหรือละเว้น ทั้งยังทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ย่อมไม่สามารถเข้าถึงกุศลธรรม กลายเป็นคนพาลในที่สุด
จริงอยู่ที่ว่า ในหมู่ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์อาจจะมีผู้ที่ไม่ได้มีผลเจริญในจิตใจขึ้นมาเลย แต่ก็ไม่สามารถเหมาได้ว่าทุกคนนั้นไม่มีผล เพราะคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยความเห็นถูกตรงก็มี ดังนั้นการจะเหมาเอาว่าการไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาไม่มีผล จึงเป็นความประมาทของผู้ที่กล่าวข้อความเช่นนี้
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ผู้ประมาทก็เหมือนกับคนที่ตายแล้ว เช่นเดียวกันกับคนที่คิดว่าการไม่กินเนื้อสัตว์ไม่มีผล เขาย่อมตายจากกุศลธรรมที่ควรจะเกิด ตายจากความเจริญที่ควรจะมี ตายจากความดีที่เคยเป็นมา
– – – – – – – – – – – – – – –
8.10.2558
STRONGER TOGETHER เราจะเติบโตและแข็งแกร่งไปด้วยกัน
STRONGER TOGETHER เราจะเติบโตและแข็งแกร่งไปด้วยกัน
ความรุนแรงและการก่อการร้ายนั้นได้ยกระดับและเข้าใกล้กับชีวิตคนเมืองกรุงมากขึ้นทุกขณะ คอยเตือนให้เราได้ระลึกว่าชีวิตนั้นไม่แน่นอนอย่างไร เราจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้จิตใจของเราเติบโตและแข็งแกร่งขึ้นเพื่อที่จะก้าวผ่านสถานการณ์เหล่านี้ไปได้
เราอาจจะเคยได้ยินข่าวการก่อการร้าย การวางระเบิด ที่มีผู้คนบาดเจ็บล้มตายในภาคใต้ของไทย ซึ่งสำหรับคนกรุงเทพแล้ว ก็คงจะเป็นอะไรที่ไกลตัว แม้ได้ยินก็ยังไม่เข้าใจ แม้จะเห็นภาพก็ยังไม่ค่อยรู้สึก แต่ในตอนนี้ได้มีเหตุก่อการร้ายขึ้นที่กลางกรุง ในจุดที่ผู้คนพลุกพล่าน เราได้เห็นภาพ ได้รู้สึก และได้เข้าใจอย่างชัดเจนว่าความรุนแรงของการก่อการร้ายนั้นส่งผลต่อร่างกายและจิตใจอย่างไร
การระเบิดนั้นไม่ได้สร้างแค่ความเสียหายต่อชีวิตและจิตใจของผู้ที่อยู่ในบริเวณนั้น แต่กระจายออกไปยังคนกรุงเทพ คนไทย และอีกอื่นๆอีกหลายคนบนโลก
ระเบิดที่เกิดขึ้นนั้นได้ทำลายชีวิตและความปกติสุขในจิตวิญญาณของหลายๆคนไปในทันที หลายคนต้องพบกับความหวาดกลัวในการเดินทาง หลายคนต้องเสียเวลาไปกับข่าวสารที่มากมายมหาศาล โดยไม่รู้ว่าอันไหนจริงอันไหนหลอก หลายคนต้องเสียสติไปกับกระแสของความโลภ โกรธ หลง หรือกิเลส
ซึ่งกิเลสนี้เองคือสิ่งที่ทำให้เราหวาดกลัว ทำให้เราแสวงหาข้อมูลเกินความจำเป็น ทำให้เราเร่งเร้าอยากจะให้จับคนร้ายได้ไวๆทั้งที่หลักฐานและเหตุปัจจัยยังไม่เหมาะสม ทำให้เราโกรธคนร้าย โกรธคนนู้น โกรธคนนี้ โกรธใครก็ตามที่เราคิดว่าผิด ทำให้เราหลงมัวเมาว่าเรากำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งที่จริงแล้วมันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่สมควรในขณะนั้นก็ได้ ซึ่งกิเลสนี้เอง คือสิ่งที่ทำลายความสามัคคี ทำลายความแข็งแกร่งของจิตใจ ทำให้เราถดถอยและอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ
การที่เราจะสามารถเติบโตและแข็งแกร่งไปด้วยกันได้ คือการร่วมสร้างสังคมที่มีความเข้มแข็งทางด้านจิตใจ ไม่ตื่นตระหนกต่อสิ่งเร้า ไม่ไหลตามกระแสแห่งกิเลส แต่ก็ไม่ลอยเหนือปัญหาจนไม่เอาภาระบ้านเมือง
ซึ่งสิ่งแรกที่เราควรจะทำคือรับรู้ความจริงตามความเป็นจริง เพียงแค่รับรู้ ยังไม่ต้องรีบวิเคราะห์ เพราะเพียงแค่เรารับรู้ข้อมูลต่างๆที่ประดังเข้ามา กิเลสก็จะสั่งให้เราคิด พูด และทำลงไปตามใจกิเลส เช่นเราเข้าใจว่าคนคนหนึ่งน่าจะเป็นคนสั่งการ เราจึงวิเคราะห์ตามข้อมูลที่เรามี และเผยแพร่ความคิดของเราออกไป นั่นหมายถึงเรากำลังเดาเอาล้วนๆ ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความจริงตามความเป็นจริง เพราะเราไม่ได้มีข้อมูลความจริงทั้งหมด เรารู้ความจริงบางส่วน แล้วเอามาผสมกับความจำของเรา ปรุงออกมาเป็นข้อมูลใหม่ที่เราคิดว่ามันน่าจะเป็นจริง และสุดท้ายเราก็เชื่อมั่นว่ามันเป็นจริงเสียด้วย และนั่นคือการทำงานของกิเลสที่สัมฤทธิ์ผล
เชื้อของความอ่อนแอในสังคมไม่ได้เกิดขึ้นจากระเบิด แต่เกิดขึ้นจากกิเลสในจิตใจของเรา หากว่าเราส่งเสริมกันด้วยถ้อยคำของกิเลส พยายามวิเคราะห์ ชี้นำ ชักนำให้เกลียดคนนั้นชอบคนนี้ พยายามหาคนผิดทั้งที่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน พยายามเสนอความเห็นทั้งที่ไม่รู้จริง พยายามคาดเดาเหตุการณ์ ทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินกรรมคนอื่น เป็นผู้พิพากษาคนอื่น ซึ่งเกิดจากความหลงยึดดีในตนเอง อาการเหล่านี้เองที่จะทำลายสังคมได้รุนแรงกว่าระเบิดหลายเท่านัก
ระเบิดหนึ่งลูกอาจจะพรากชีวิตคนได้หลายสิบคน แต่การระเบิดของกิเลสในจิตใจของแต่ละคน ที่แพร่กระจายออกไปอย่างต่อเนื่องหลังจากนั้น ได้ทำลายจิตวิญญาณแห่งความผาสุก ทำลายสติ ทำลายปัญญา ทำลายความเมตตา ทำลายความดีงามทั้งหลายของตนเองและผู้อื่นได้อีกนับไม่ถ้วน
การเติบโตและความแข็งแกร่งที่แท้จริง คือการทนได้แม้อยู่ในสภาพที่ไม่น่าจะทนไหว ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการกำเริบของกิเลสเช่นนี้ เราสามารถหาความเจริญได้ ใช้โอกาสนี้พัฒนาให้จิตใจของเราเติบโตและแข็งแกร่งขึ้นได้ด้วยการอดทน ข่มใจ ไม่ปล่อยตัวให้ไกลไปตามกระแสของความโลภ โกรธ หลง ที่จะชักนำให้เราไหลลงสู่ความเสื่อมและความอ่อนแอทั้งหลาย
กิเลสนั้นนำมาซึ่งความชั่ว ความแตกแยก ความถดถอย ความอ่อนแอ ความทุกข์ โรคภัย ฯลฯ ดังนั้นเราจึงควรเว้นขาดจากการส่งเสริมกิเลสซึ่งกันและกัน ไม่กล่าวถ้อยคำหรือแสดงความเห็นที่ทำให้กิเลสกำเริบ ทำให้เกิดความโกรธ อาฆาต ชิงชัง รังเกียจใครเลย
ซึ่งการไม่ไหลไปตามกิเลสนี้ไม่ได้หมายถึงการไม่เอาภาระ หรือไม่ทำหน้าที่พลเมืองดี เราปล่อยวางเฉพาะในเรื่องกิเลส เราไม่ไหลตามกระแสของความโลภ โกรธ หลง แต่เรายังจะทำหน้าที่ของคนที่อยู่ในสังคม ถ้ามีภัยเราก็ช่วยกันแก้ ช่วยกันป้องกัน แต่เราจะไม่ช่วยปลุกปั่น ไม่ยุยงส่งเสริมให้ใครเกลียดใคร เราสามารถรังเกียจกิเลสได้แต่อย่าเกลียดคนมีกิเลส
ดังนั้นการจะเติบโตและแข็งแกร่งไปด้วยกันได้คงจะไม่มีทางอื่นนอกจากจะหยุดตัวเองจากการไหลตามกระแสของความมัวเมาในกิเลสทั้งหลาย เรียนรู้ที่จะพาตัวเองออกจากกระแสเหล่านั้นจนกระทั่งหลุดออกมาได้สำเร็จ แม้เข้าไปในกระแสแต่ก็ไม่ปนไม่เปื้อนและไม่หลงติดหลงยึด สามารถกลับเข้าไปและออกมาได้อย่างอิสระ สุดท้ายคือช่วยเหลือผู้อื่นให้หยุดชั่ว หยุดไหลไปตามกระแสกิเลส จนกระทั่งแนะนำวิธีให้ออกจากกระแสแห่งความเสื่อมเหล่านั้นได้และนี่คือที่สุดของความแข็งแกร่งในมหาจักรวาล
– – – – – – – – – – – – – – –
18.8.2558