Tag: ความเรียบง่าย

ความประหยัดเรียบง่ายของชีวิตมังสวิรัติ

June 6, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 676 views 0

วันก่อนไปซื้อมะเขือเปราะมาทำแกง กิโลกรัมละ 20 บาท กก. นึงแบ่งกินได้ประมาณ 2 วันกว่า ๆ

มาคิดถึงเนื้อสัตว์ ราคาเนื้อสัตว์ในยุคปัจจุบันโดยเฉลี่ยน่าจะไม่เคยลงไปแตะถึง 20 บาท/กก. นี่เรากินผืชกินผัก เราก็ประหยัดได้มากกว่า เรียบง่ายกว่าด้วย เพราะผักนี่ไม่ต้องแช่ตู้เย็นก็อยู่ได้ ส่วนเนื้อสัตว์นี่ถ้าไม่มีตู้เย็น แล้วไม่เอาไปแตกแดด ก็เน่ากันเลยล่ะ

ในเชิงบริหารชีวิต การกินผักมีประสิทธิภาพกว่าอย่างชัดเจน ทั้งประหยัด เรียบง่าย และแข็งแรง ผมไปตรวจเลือดเมื่อต้นปี หลังจากไม่กินเนื้อสัตว์มา 7 ปีกว่า ผลเป็นที่น่าพอใจมาก หมอที่แจ้งผลแปลกใจว่ามันดีผิดจากทั่ว ๆ ไปในคนรุ่นนี้

ในเชิงกิเลส ผักนั้นมีกามน้อยกว่าเนื้อสัตว์มาก ทั้งสัมผัส และกลิ่น ส่วนรสเขาก็ปรุงจากพืชจากเกลือนั่นแหละ เนื้อสัตว์นี่จืดมาก ไม่เหมือนผักหลายชนิดที่เอามาลวกแล้วหวานขึ้นอย่างชัดเจน

คนส่วนมากเขาก็ปรุงเนื้อสัตว์โดยอาศัยพืชผัก เกลือนี่แหละ มันเลยกินได้ขึ้นมา เป็นรสอร่อยขึ้นมา คนไม่กินเนื้อสัตว์ ขาดเนื้อสัตว์ได้ ไม่ตาย แต่คนขาดพืชผักนี่น่าจะอายุไม่ยืน ไม่เจริญอาหาร อาจจะขาดใจตายได้

แต่ก็มีส่วนกลับของโลก ที่คนกลับไปปรุงพืชผักให้เป็นเนื้อสัตว์ นี่คือมายาของกิเลส ที่จะปั้นปรุงแต่งให้เป็นรสรูปสัมผสที่คนหลงพอใจ ผลออกมาคือ ได้เนื้อเทียมที่ราคาแพงกว่าเนื้อสัตว์มาก ทั้งที่จริง ๆ แล้วพืชผักส่วนใหญ่ราคาไม่แพง แต่พอเอาไปปรุงปั้นแต่งเป็นเนื้อเทียม ราคากลับแพงจนน่าตกใจ

การหากินกับกิเลสคนนั้นบาปมาก ทั้งที่เราสามารถสร้างการรับรู้ในการไม่กินเนื้อสัตว์ให้ประหยัดเรียบง่ายได้ แต่ด้วยอำนาจของกิเลส และแนวคิดในเชิงทุนนิยม เขาก็จะทำตรงกันข้าม คือผลิตมาให้คนอยากเสพ แล้วเอาเงินมาก ๆ เยอะ ๆ ขายแพง ๆ วางตำแหน่งให้ดูสูง ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ มันก็คือซากพืชที่ผ่านกระบวนการอุตสาหกรรม ไร้ความสด ลดคุณค่า เพิ่มตัณหา พายากจน

การกินผักท้องถิ่นตามฤดูกาลกลับเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยได้พบเห็นเท่าไรนักในกลุ่มสนทนาเกี่ยวกับการเลิกกินเนื้อสัตว์ เพราะมันธรรมดาเกินไป ไม่สมใจกิเลส เขาต้องเอาเมนูโก้ ๆ หรู ๆ มาโชว์กัน ให้เกิดความอยาก

จริง ๆ คนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยปัญญานี่เขาไม่ต้องเอาของกินอร่อย ๆ หน้าตาดี ๆ มาล่อหรอก ก็กินพืชผัก ต้มผัดแกงทอดไปเป็นธรรมดานี่แหละ ความธรรมดาคือความเรียบง่าย เป็นสากล ชาวบ้านก็ทำตามได้ จะรวยจะจนก็ทำตามได้หมด แต่ถ้าไปกินแพง ๆ ชาวบ้านเขาตามไม่ได้ มันก็ไม่ใช่วิถีชีวิตปกติ จึงเป็นได้แค่วิถีชีวิตของกลุ่มคนมีอันจะกินกลุ่มหนึ่งเท่านั้นเอง

ชีวิตจะง่าย เมื่อไม่มีเนื้อสัตว์

February 7, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,455 views 0

ชีวิตจะง่าย เมื่อไม่มีเนื้อสัตว์

ชีวิตที่ตั้งอยู่บนความเรียบง่าย คือชีวิตที่กินใช้อย่างประหยัด พอเพียง ไม่นำสิ่งของหรือส่วนเกินใดๆ ที่ไม่จำเป็น เข้ามาเปลืองพื้นที่ในชีวิต เช่นเดียวกันกับชีวิตที่ไม่มีเนื้อสัตว์ มันช่างเรียบง่าย ประหยัด และยาวนาน

ผมได้ลองใช้ชีวิตอยู่บ้านต่างจังหวัด บ้านของผมอยู่ห่างจากบ้านอื่นๆ ราวสองร้อยเมตร ห่างจากชุมชนใกล้เคียงประมาณหนึ่งกิโลเมตร ที่บ้านยังไม่ได้นำไฟฟ้าจากการไฟฟ้าเข้ามา มีเพียงไฟฟ้าที่ผลิตเองจากแผงโซล่าเซลล์ให้พอใช้สูบน้ำ,เปิดไฟ,ชาร์จโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์พกพาเท่านั้น ดังนั้นการจะหวังว่าจะได้ใช้ทีวี ตู้เย็น พัดลม ฯลฯ ในชีวิตประจำวันก็ลืมไปได้เลย

เมื่อผมได้มาทดลองอยู่อย่างประหยัด เรียบง่าย มีสิ่งอำนวยความสะดวกน้อย จึงมีข้อจำกัดหลายๆ อย่าง ในการหาสิ่งใดๆก็ตามมาปรนเปรอกิเลส

เนื้อสัตว์ก็เป็นวัตถุอีกชนิดที่มีอิทธิพลต่อจิตใจคนมาก ถึงขนาดว่าขาดกันไม่ได้ เป็นคุณค่า เป็นชีวิตจิตใจสำหรับใครหลายคนกันเลยทีเดียว แต่สำหรับผม เนื้อสัตว์ไม่ได้มีคุณค่าอะไรเลยในชีวิต เป็นเพียงวัตถุแท่งก้อนอ่อนนุ่มที่หากกินเข้าไปแล้ว ย่อยยาก เป็นโทษ เป็นเหตุแห่งโรค สร้างกลิ่นตัว ราคาแพง เน่าเสียง่าย เก็บรักษายาก และอีกหลายๆ ข้อเสียของเนื้อสัตว์เมื่อเทียบกับพืชผัก แม้มันจะทำให้อิ่มท้องและสร้างพลังงานได้ก็ตาม แต่ผมก็ไม่จำเป็นต้องเลือกพลังงานจากแหล่งเหล่านั้น ในเมื่อมีสิ่งที่มีคุณค่าและประโยชน์มากกว่าขายกันอยู่ทั่วไป

หากว่าผมยังหลงติดหลงยึดในเนื้อสัตว์ ผมจะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสภาพที่มีข้อจำกัดเช่นนี้ได้ เรื่องแรกคือการจัดเก็บเนื้อสัตว์ มันไม่สามารถวางไว้ในอุณหภูมิห้องได้ เพราะจะทำให้เน่าเสียและมีสัตว์อื่นมากินได้ง่าย ต่างกับผักที่ซื้อมาวางไว้เป็นอาทิตย์ยังคงสภาพเดิมได้ดีอยู่ เช่น ฟักทอง ผักกาดขาว กะหล่ำปลี มะเขือยาว หอมใหญ่ มันต่างๆ ฯลฯ ถ้าต้องการเสพเนื้อสัตว์เป็นประจำ นั่นหมายถึงต้องมีตู้เย็นหรือสร้างที่เก็บกักความเย็นเพิ่มให้มันวุ่นวายมากกว่าการเก็บผัก นี่คือเริ่มจะฟุ้งเฟ้อสิ้นเปลืองแล้ว

เรื่องที่สองคือหากไม่ได้คำนึงถึงการจัดเก็บ เลือกที่จะออกไปซื้อเนื้อสัตว์ทุกวัน ก็ยังเป็นค่าใช้จ่ายและการเสียพลังงานที่ไม่จำเป็นอยู่ดี เพราะเมื่อเทียบกับผัก ผมสามารถออกไปซื้อผักมาครั้งเดียวอยู่ได้เกือบครึ่งเดือน อย่างต่ำๆก็ หนึ่งสัปดาห์

เรื่องที่สามคือค่าใช้จ่ายต่อหนึ่งมื้อนั้น เนื้อสัตว์ยังไงก็มีค่าใช้จ่ายมากกว่าผัก และเมื่อเทียบมวลต่อน้ำหนัก หนึ่งกิโลกรัมของเนื้อสัตว์นั้นจะได้น้อยกว่ามวลของผัก คือซื้อผักหนึ่งกิโลกรัมจะดูได้เยอะกว่า ซึ่งเมื่อพิจารณาต่อไปอีกว่าการได้มาซึ่งเนื้อสัตว์หนึ่งกิโลกรัมต้องใช้อาหารสัตว์มากมายเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ต่างจากผัก คือผักหนึ่งกิโลกรัม ก็มีอย่างมากแค่ปุ๋ยกับน้ำเท่านั้น เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ น้ำก็ต้องกิน พืชผักสัตว์ก็ต้องกิน อาหารเสริมสัตว์ก็ต้องกิน ไหนจะกระบวนการฆ่า ชำแหละอีก มีขั้นตอนยุ่งยากกันมากเลยทีเดียว ผักนี่เก็บมาเอารากล้างน้ำสลัดดินออกเขาก็เอามาขายกันแล้ว

เรื่องที่สี่คือเนื้อสัตว์ ผลิตเองไม่ได้ ถึงจะเลี้ยงเองแต่ชาวพุทธเขาก็จะไม่ฆ่าสัตว์กัน ไม่จ้างวานผู้อื่นฆ่าด้วย และไม่แกล้งทำเป็นมองไม่เห็นหากรับรู้ว่าผู้อื่นฆ่ามาด้วย ดังนั้นแม้จะเลี้ยงสัตว์ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้เนื้อสัตว์เป็นผลผลิตทันทีเมื่อใจอยากเสพ คงจะต้องรอให้ฟ้าผ่ามันตาย หรือมันเดินไปโดนรถชนตายเอง หรืออะไรที่ทำให้มันตายของมันเองเท่านั้นถึงจะกินมันได้ , ต่างจากผักที่สามารถปลูกเองได้ โตเมื่อไหร่ก็กินได้ คิดอะไรไม่ออกก็ปลูกผักบุ้ง ปลูกง่ายโตไว และหากมีเวลาก็ปลูกธัญพืช และปลูกข้าวไว้กินเองได้ ผักหลายชนิดยิ่งตัดก็ยิ่งงอกออกมา บ้างก็ปักชำใหม่ได้ บางชนิดเก็บเกี่ยวแล้วก็หว่านใหม่ ได้ผลผลิตไม่จบไม่สิ้น

ถ้าชาวพุทธอยากกินเนื้อสัตว์ก็คงต้องเลี้ยงกันหลายร้อยตัว จะได้มีสัตว์ตายไปตามกรรมบ้างบางเวลา จะได้รอเสพโดยไม่ต้องให้ใครฆ่าเขามากิน แต่พอนึกถึงภาพนั้นก็ดูลำบากยุ่งยากขึ้นมาทันที

เมื่อผมพิจารณาด้วยเหตุปัจจัยดังนี้แล้ว การที่เรายังต้องการเสพเนื้อสัตว์อยู่นั้นจะสร้างความลำบากยุ่งยากให้กับชีวิตอย่างมาก ต้องมีสิ่งต่างๆมาเพิ่มเติมมากกว่าชีวิตที่กินผักเป็นหลัก อย่างน้อยๆ ตอนนี้ก็อยู่ได้สบายโดยไม่ต้องลากสายไฟเข้ามาให้เสียเงินเสียทองผมจึงยังไม่เห็นเลยว่าอะไรที่จะทำให้ชีวิตมันง่ายไปมากกว่าการที่เราไม่ต้องหาเนื้อสัตว์มากินอีก

หรือถ้าผู้ใดจะเห็นต่างก็สามารถเห็นเช่นนั้นได้ เพียงแต่ควรจะต้องอยู่บนเหตุปัจจัยเดียวกัน คือมีสิ่งอำนวยความสะดวกน้อย ถึงจะมีเงินก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปจ่ายเพื่อให้ตนเองได้เสพสมใจ แบบนั้นมันไม่ขัดเกลา การอยู่อย่างขัดเกลาคือมีสิ่งอำนวยความสะดวกพอประมาณ ให้มีแค่พอกินพอใช้ ไม่ให้ฟุ้งเฟ้อ ให้เกิดความเจริญทางจิตวิญญาณ ให้พอเกิดประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น

– – – – – – – – – – – – – – –

26.1.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

อาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ ทำง่าย ประหยัด สุขภาพดี

July 17, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,706 views 0

อาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ ทำง่าย ประหยัด สุขภาพดี

อาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ ทำง่าย ประหยัด สุขภาพดี

จากประสบการณ์ทำอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์กินเอง พบว่าแต่ละอย่างนั้นทำได้ง่าย และประหยัด

ความง่ายเริ่มจากผมมีความจำเป็นต้องไปพักในบ้านที่ไม่มีตู้เย็น ซึ่งผักนี้เอง มันเก็บง่าย เก็บได้หลายวัน ต่างจากเนื้อสัตว์ที่ต้องมีตู้เย็น ผักจึงเป็นความเรียบง่ายของชีวิต นี่ขนาดว่าซื้อผักกินนะ ถ้าปลูกเองจะเรียบง่ายกว่านี้อีก

ความประหยัดนั้นเห็นได้ชัดอยู่แล้ว เทียบมวลของเนื้อสัตว์กับผักพื้นบ้านทั่วไปในตลาดต่อกิโลกรัม ย่อมจะได้มวลของผักมากกว่า อิ่มกว่า แต่ไม่แน่นท้องเท่าเนื้อสัตว์ โดยค่ารวมๆแล้วแม้เราจะกินผักเป็นหลัก แต่ค่าใช้จ่ายก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย เพราะผักมีราคาถูกกว่าเนื้อสัตว์มากในความอิ่มที่เท่ากัน

ในเรื่องสุขภาพ มีงานวิจัยหลากหลายที่แสดงผลว่าเนื้อสัตว์เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคภัย เป็นสิ่งที่รู้กันเป็นสามัญในสังคม โดยเฉพาะตามหลักของพระพุทธเจ้าที่ว่า “การเบียดเบียนทำให้เกิดโรคมากและอายุสั้น” ยิ่งสร้างภูมิปัญญาให้กับชาวพุทธได้มั่นใจในการไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นเพื่อรักษาสุขภาพและชีวิตด้วย

ดังนั้นการไม่กินเนื้อสัตว์ แล้วหันมากินผัก จะตรงกับคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า “ให้กินสิ่งที่หาได้ง่ายและไม่มีโทษ

การกินผักนั้นหาได้ง่าย ราคาถูก ปลูกเองก็ได้ ไม่มีโทษ ส่วนเนื้อสัตว์แม้จะหาซื้อได้ง่าย แต่ก็เลี้ยงเองไม่ง่าย ฆ่าเองก็บาป ต้องรอซื้อจากที่เขาฆ่ามา ไม่ดีต่อสุขภาพ จึงเป็นสิ่งที่หาได้ยากและมีโทษ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งไม่ควรด้วยประการทั้งปวง

minimal life ในมุมมองของผม

April 25, 2013 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,481 views 0

minimal life อาจจะเป็นคำที่หลายๆคน เคยรู้จักกันมาบ้างแล้ว ผมเริ่มต้นคำนี้มาจาก minimal art ซึ่งเป็นผลงานศิลปะซึ่งสร้างสรรค์ความเรียบง่ายให้ดูน่าสนใจ

สำหรับความหมายนั้น 

minimal = ขั้นต่ำ,ต่ำสุด,เล็กมาก

life = ชีวิต

ดังนั้น minimal life ในมุมมองของผม หมายถึงการใช้ชีวิตที่กินน้อยใช้น้อย หรือความต้องการขั้นต่ำสุดเท่าที่จะทำให้สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุข

คำว่า minimal , minimum นั้นจะตรงกันข้ามกับ MAXIMUM หรือมากที่สุดนั่นเอง สำหรับสังคมในปัจจุบันนั้นกำลังไปในทิศทางของ MAXIMUM ซึ่งเป็นไปด้วยกระแสสังคม การโฆษณา การตลาด อะไรก็ว่าไป เรากำลังถูกสร้างให้ต้องการสิ่งของหรืออะไรมากมาย ทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นอาจจะใช้ทั้งชีวิตหรือใช้ทั้งชีวิตก็ยังไม่พอที่จะคว้าเอามาก็ได้ บ้าน รถ ชีวิตที่หรูหรา ลาภ ยศ ซึ่งมากเท่าไหร่ก็ไม่พอ

คำว่า “พอ” นี่มันยาก ใครจะบอก หรือพูดว่าพอก็สามารถกล่าวอ้างได้ แต่ใครจะทำให้พอจริงๆได้ หรือ “พอใจ” อย่างแท้จริงได้ อาจจะมีข้ออ้างมากมายว่าฉันได้สิ่งนี้สิ่งนั้นแล้วจะพอ แต่ก็มักจะมีอะไรมาทำให้อยากได้มากขึ้นไปอีก ไม่สุดหรือถึงค่า MAXIMUM จริงๆเสียที มันขยับเพดานความต้องการเพิ่มไปได้เรื่อยๆ ตามที่คนเรายังไม่พอ

จนผมต้องกลับมาทบทวนคำว่า “พอ” นอกจากพอแล้วยังต้องลดอีก ลดทุกอย่างให้เข้าสู่ความจำเป็น เท่าที่ชีวิตจะเป็นปกติสุขได้ นั่นคือ minimum คำว่า minimal ของแต่ละคนก็ไม่เท่ากันอีก ขึ้นกับพื้นฐานของแต่ละคน แต่ที่แน่นอนว่าแตกต่างกับ MAXIMUM ก็คือ มันมีจุดจบ เพราะยังไงค่าสุดท้ายของมันก็คือ 0  ก็คือไม่มีอะไรเลยนั่นเอง ( ไม่มีติดลบหรอกนะ )

การใช้ชีวิตแบบ minimal life เป็นแนวคิดที่เบียดเบียนธรรมชาติน้อย เบียดเบียน (ใจ) ตัวเองน้อย ไม่ต้องลำบาก มีแค่พอดี สามารถแบ่งปันกลับไปธรรมชาติและสังคมได้ เพราะส่วนใหญ่เมื่อเรากินน้อยใช้น้อย ก็มักจะมีของเหลือใช้เป็นธรรมดา ไม่ต้องอยากได้อะไร ไม่อยากได้ของใคร ไม่อยากเป็นอะไร เป็นอิสระจากความต้องการทั้งปวง