Tag: ความยึดดี

กะลา 3 ใบ

February 28, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,329 views 0

กะลา 3 ใบ

กะลา 3 ใบ

ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม โดยการใช้การกินมังสวิรัติมาเป็นโจทย์และสามารถประยุกต์ใช้กับกิเลสอื่นๆได้ (* เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจปฏิบัติธรรม )

การปฏิบัติธรรมตามแนวทางของศาสนาพุทธนั้นดำเนินไปเพื่อ “ความเป็นกลาง ไม่โต่งไปทางด้านกามและอัตตา” คือไม่ไปเสพตามกิเลสและไม่ทรมานตัวเองด้วยความยึดดี ซึ่งในบทความนี้จะมาอธิบายความแตกต่างของการปฏิบัติธรรมโดยใช้มังสวิรัติกับการกินมังสวิรัติโดยทั่วไป

กะลา…

กะลา 3 ใบ จะถูกแทนด้วยสภาวะสามแบบ ใบแรก ก็คือกามในเนื้อสัตว์ การมีความอยากกินเนื้อสัตว์ ที่ยังไปกินเนื้อสัตว์นั้นๆอยู่ ยังไม่สามารถเลิกเนื้อสัตว์ได้

ใบที่สอง จะเป็นอัตตาในเนื้อสัตว์ คือความยึดมั่นถือมั่นว่าเนื้อสัตว์นั้นจำเป็นต่อชีวิต เนื้อสัตว์มีประโยชน์ ไม่กินเนื้อสัตว์จะป่วย กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ต้องมีเนื้อสัตว์ หรือความยึดในมิติอื่นๆ เช่นยึดในกามคุณ คือติดรสชาติของเนื้อสัตว์ หรือยึดในโลกธรรม คือเห็นว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่แสดงความอุดมสมบูรณ์ของชีวิต ยิ่งกินเนื้อที่คนเขาว่าดีเท่าไหร่คนอื่นก็จะยิ่งชื่นชมและอิจฉามากเท่านั้น

ส่วนใบที่สาม จะเป็นอัตตาในมุมยึดดี เป็นความรู้สึกว่าฉันเป็นคนดี ฉันไม่เบียดเบียนสัตว์ เป็นความยึดมั่นถือมั่นว่าเราไม่ควรเบียดเบียนสัตว์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งวัตถุดิบทางตรงและสังเคราะห์ หรือยึดมั่นถือมั่นจนกระทั่งไม่ยอมให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของเซลล์สัตว์เข้ามาร่วมในอาหารที่กิน ซึ่งอาจจะมีโลกธรรมเข้ามาเป็นแรงผลักดันในการยึดเช่น อยากได้ชื่อว่าเป็นคนดี อยากให้คนชม อยากให้คนนับถือ

…ซึ่งกะลา 3 ใบนั้นแท้จริงแล้วก็คือภพที่คนเข้าไปติดไปยึดอยู่นั่นเอง เราจะมาอธิบายภาพกันต่อไปเพื่อให้เห็นรายละเอียดของความต่างระหว่างคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ คนที่เลิกกินเนื้อสัตว์ และคนที่ปฏิบัติธรรม

ก). คนที่ยังกินเนื้อสัตว์

คนที่ยังมีความอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ โดยทั่วไปแล้วก็มักจะต้องกินตามความอยาก จะอยู่ในกามภพของเนื้อสัตว์ คือยังไปเสพ ไปติด ไปยึดในการกินเนื้อสัตว์อยู่ ถ้าแบบหยาบๆก็คือเสพติดเนื้อสัตว์ขนาดว่าต้องตระเวนหาเนื้อที่เขาว่าดีมากิน ร้านไหนดีก็ตามไปกิน ถ้าแบบกลางๆ ก็คนกินเนื้อสัตว์ทั่วไป อย่างดีหน่อยก็พวกรักสุขภาพที่กินผักมากกว่ากินเนื้อสัตว์

ถึงแม้ว่าจะเป็นคนที่เห็นโทษของการกินเนื้อสัตว์ แต่ถ้ายังอยากกินเนื้อสัตว์จนต้องไปกินอยู่ก็ยังถือว่าอยู่ในภพนี้ ยังไม่ตัดให้ขาด ยังวนเวียนอยู่ในการกินเนื้อสัตว์ แม้จะเลิกกินได้เป็นสิบปียี่สิบปี แล้ววนกลับมากินด้วยความอยากก็ถือว่ายังไม่สามารถทำลายกามภพได้

คนส่วนมากในสังคมปัจจุบันจะอยู่ในภพนี้ แม้ว่าเขาจะเห็นโทษหรือไม่เห็นโทษของการกินเนื้อสัตว์ก็ตาม ภาพที่เห็นก็คือยังกินเนื้อสัตว์อยู่ แต่สิ่งที่ซ่อนไว้ข้างใต้นั้นก็คืออัตตาที่หลงว่าการกินเนื้อสัตว์ดี การกินเนื้อสัตว์เป็นสุข เมื่อมีการยึดมั่นถือมั่นนี้ จึงส่งผลให้เกิดการพาตัวเองไปเสพเนื้อสัตว์ตามที่ใจอยาก

ข). คนที่เลิกกินเนื้อสัตว์

เมื่อเห็นโทษของการกินเนื้อสัตว์มากเข้า คนบางพวกจึงหันมาลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจ พยายามที่จะเลิกกินเนื้อสัตว์นั้นเสียทั้งหมด ซึ่งหลายคนก็สามารถผ่านพ้นกามภพนั้นได้ นั่นหมายถึงไม่ไปกินเนื้อสัตว์อีกเลย

กระบวนการเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติธรรมแต่อย่างใด แต่เป็นสามัญสำนึกหรือการยึดดีถือดีโดยธรรมชาติของคน เป็นความดีทั่วไปที่เข้าใจได้ไม่ยากว่าการกินเนื้อสัตว์คือการทำสิ่งไม่ดีทางอ้อม อยากทำดีก็เลิกกินเนื้อสัตว์มันก็เท่านี้

ความอยากให้เกิดดีนั้นคือหมายให้เกิดผล แต่เหตุคือจะต้องเลิกกินเนื้อสัตว์ ด้วยแรงบันดาลใจอะไรก็ได้เช่น ไม่อยากเบียดเบียน สงสารสัตว์ รักษาสุขภาพ ฯลฯ แต่ภาพสุดท้ายที่ได้จากการเลิกกินเนื้อสัตว์คือจะได้ภาพคนดีติดมาไม่มากก็น้อย ซึ่งถ้าใครพอใจในจุดนี้ก็มักจะจบที่ตรงนี้ กินมังสวิรัติได้ กินเจได้สมบูรณ์ก็จบไป ไม่ศึกษาต่อ เพราะได้อยู่ในภพคนดีที่ตนต้องการแล้ว

การเกิดภพเช่นนี้ไม่ใช่การทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ แต่เป็นการกดข่มความอยากกินเนื้อสัตว์ไว้ด้วยความยึดดี เหมือนเอากะลาคนดีมาครอบความชั่วไว้ มันก็จะเห็นแต่ความดี ส่วนที่ซ่อนอยู่นั้นไม่รู้ ซึ่งความยึดดีถือดีนี้จะสามารถกดข่มความอยากจนมิดเลยก็ได้

การกดข่มด้วยความยึดดีจะเปลี่ยนสภาพกามในเนื้อสัตว์มาเป็นกามในผัก แต่จะพัฒนาจนปรุงแต่ง รูปร่าง กลิ่น สี รส ของอาหารให้เหมือนเนื้อสัตว์ได้ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสังเคราะห์ สิ่งเหล่านี้คือหลักฐานว่าความอยากไม่ตาย เพียงแต่กดมันไว้ด้วยความยึดดี พอมันอยากแต่ไม่ได้กินสิ่งที่อยากมันก็สร้างสิ่งทดแทนมาเท่านั้นเอง ซึ่งสมัยนี้สิ่งทดแทนเหล่านี้หาได้ง่ายและราคาไม่แพงจนเกินไป

ทีนี้ปัญหามันก็จะอยู่ที่ความยึดดีนี่แหละ ถามว่าคนที่อยู่ในภพเช่นนี้เลิกกินเนื้อสัตว์ทั้งชีวิตได้ไหม? ก็จะบอกเลยว่าได้ เพราะเวลายึดดีถือดีนี่มันยึดกันข้ามภพข้ามชาติได้เลย บางคนเกิดมาชาตินี้แค่คิดก็สามารถเลิกกินเนื้อสัตว์ได้เลย อาการแบบนี้คือมีพลังกดข่มสะสมมามาก

แต่ถ้าถามเรื่องกิเลสก็จะไม่รู้ชัดแจ้ง ถามเรื่องความอยากก็จะไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพราะไม่ได้ใช้ปัญญาในการทำลายกิเลส แต่ใช้พลังสมถะ พลังจิต พลังเจโต อัตตาฝ่ายดีในการกดข่มความอยาก จึงเกิดสภาพ กดดัน อึดอัด ไม่โปร่ง ไม่โล่ง เจ้าระเบียบ ไม่ปล่อยวาง ติดดียึดดี เต็มไปด้วยกฎ ไม่ยืดหยุ่น แข็งกร้าว เอาแต่ใจ หมกมุ่น ถือตัวถือตน โดนด่าไม่ได้ โดนดูถูกไม่ได้รังเกียจคนกินเนื้อ รังเกียจที่ต้องกินเนื้อสัตว์ ทุกข์เมื่อเห็นเมนูเนื้อสัตว์ฯลฯ

ยิ่งคนที่มีอัตตามากและฝึกสมถะมามากจะสามารถกดกามภพ คือไม่ไปเสพ กดรูปภพ คือไม่คิดจะเสพ ลงได้แบบไม่ทันรู้ตัว คือกดข่มแบบอัตโนมัติ เป็นไปตามสัญชาติญาณ เอาง่ายๆว่าจะดูสงบไม่หวั่นไหวเหมือนผู้บรรลุธรรมกันเลยทีเดียว ทั้งที่จริงๆแล้วเป็นสภาพของจิตที่กดข่มความชั่วโดยอัตโนมัติแล้วสติไม่ทันรู้ตัวก็หลงว่าตัวเรานั้นพ้นจากอัตตาได้เช่นกันบางทีหลงเข้าใจว่าการกระบวนการทำงานของจิตเหล่านั้นคือสติไปด้วย ทั้งๆที่สภาวะใดๆที่ทำโดยอัตโนมัติและไม่มีปัญญานั้นไม่มีสติเป็นองค์ประกอบทั้งนั้น

จึงขอยืนยันเลยว่าการลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจได้ทั้งชีวิต ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติธรรมที่ถูกแนวทางพุทธแม้แต่นิดเดียว แม้ผู้ที่ไม่ปฏิบัติธรรม ไม่มีศาสนา หรือมิจฉาทิฏฐิที่เสื่อมที่สุดในโลกก็สามารถที่จะไม่กินเนื้อสัตว์ได้

ค). คนที่ปฏิบัติธรรม

การปฏิบัติธรรม โดยใช้วิถีปฏิบัติของพุทธศาสนาเข้ามาเรียนรู้กิเลส โดยใช้การลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติเข้ามาเป็นโจทย์ในการฝึกปฏิบัตินั้นจะต่างออกไปจากการใช้ความยึดดีเข้ามากลบความชั่ว

เพราะการปฏิบัติที่ถูกต้องไปโดยลำดับนั้น จะให้ผลคือการทำลายทีละภพไปตามลำดับตั้งแต่เลิกกินเนื้อสัตว์ ทำลายความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ และทำลายความติดดี ยึดดีถือดีว่าฉันเป็นคนที่เลิกกินเนื้อสัตว์

นั่นคือการทำลายแต่ละภพที่จิตได้ยึดมั่นถือมั่นไว้โดยลำดับ ซึ่งจะต่างไปจากการกดข่ม เพราะมีขั้นตอนและกระบวนการที่เป็นไปโดยลำดับตั้งแต่หยาบ กลาง ละเอียด ไม่ได้ใช้อัตตาเข้ามากดข่มความชั่วแล้วเลิกกินเนื้อสัตว์ในทันที

ผลที่แตกต่างจากวิธีที่ใช้อัตตาเข้ามาช่วยในการเลิกกินเนื้อสัตว์ คือมีความยืดหยุ่น มีปัญญารู้แจ้งในโทษชั่วของความอยากกินเนื้อสัตว์ รู้เหลี่ยมรู้มุมของกิเลสที่เจอมา ไม่สุขไม่ทุกข์ใดๆ แม้ว่าจะต้องกินเนื้อสัตว์ หรือไม่ได้กินเนื้อสัตว์ เพราะไม่มีความยึดมั่นถือมั่นใดๆอีก

แต่โดยสามัญแล้วจะไม่ไปกินเนื้อสัตว์ เพราะมีปัญญารู้ว่ากินแล้วจะเกิดผลร้ายอย่างไร ไม่ใช่การไม่ไปกินเพราะความยึดดีถือดีด้วยอัตตา สภาพสุดท้ายจะเหมือนคนที่กินมังสวิรัติทั่วไป

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นถึงความต่าง ซึ่งสุดท้ายแล้ว ก็แล้วแต่ว่าใครจะสนใจและพอใจที่จะอยู่ในภพแบบไหน บางคนยังอยากเสพ บางคนยังยินดีกับการยึดดี ชอบเป็นคนดี หรือจะเรียนรู้การทำลายภพก็สามารถเลือกเอาได้ตามกำลังศรัทธา

– – – – – – – – – – – – – – –

27.2.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ทำไมเธอไม่กินมังสวิรัติ?

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,755 views 0

ทำไมเธอไม่กินมังสวิรัติ?

ทำไมเธอไม่กินมังสวิรัติ?

…เป็นคำถามที่ยังสงสัย หรือเป็นเราเองที่กำลังหลงลืมอะไรไป?

หลายคนที่สามารถลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจได้ดี มักจะมีคำถามลึกๆอยู่ในใจว่า ลดเนื้อกินผักมันยากตรงไหน กินเนื้อสัตว์มันดีตรงไหน แล้วกินผักมันไม่ดีอย่างไร ในเมื่อมีข้อมูลมากมายมายืนยันว่ากินผักแล้วดี ทำไมเธอถึงยังไม่เลิกกินเนื้อสัตว์

ท่ามกลางความสงสัย เขาเหล่านั้นก็มักจะกระหน่ำโถมใส่ข้อมูลในด้านดีของมังสวิรัติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาพความโหดร้ายของการฆ่าสัตว์ บทความที่ทำให้ตระหนัก ข้อมูลวิจัยและข้อมูลอ้างอิงต่างๆ ทั้งในด้านสุขภาพและด้านจิตใจ ในสมัยนี้เราก็มักจะใช้ เฟสบุ๊ค เว็บบอร์ด เว็บไซต์ ฯลฯ เป็นเครื่องมือในการให้และกระจายข้อมูลกัน แต่ยิ่งทำก็ยิ่งไม่เข้าใจและกลับยิ่งสงสัย คนบางส่วนหันมากินมังสวิรัติก็จริง แต่ทำไมคนอีกมากมายกลับไม่สนใจ ไม่ใยดี แม้ว่าเราจะเสนอข้อมูลให้เขาเหล่านั้นได้เห็นผ่านช่องทางที่เรามีเท่าไหร่แต่เขาก็ยังไม่ยินดีที่จะมากินมังสวิรัติ

ทำไม? เพราะอะไร? หรือเขาไม่เมตตาเหมือนเรา ไม่อดทนเหมือนเรา ไม่มีศีลเหมือนเรา หรือเป็นเราเองที่กำลังหลงเข้าใจอะไรบางอย่างผิดไป….

1).หรือเป็นเราเองที่เข้าใจผิด

บางครั้งเมื่อเราทำอะไรได้ง่ายจนเกินไป เราก็มักจะมองข้ามรายละเอียดหลายๆอย่างไป หลงคิดว่าทุกคนต้องเข้าใจเหมือนเรา เห็นเหมือนเรา ทำได้เหมือนเรา เราเริ่มที่จะเอาตัวเองหรือกลุ่มของตนเป็นมาตรฐานในการวัดคน จึงเริ่มก่อเกิดอัตตาทั้งในตัวเราเองและอัตตาในกลุ่มของเรา

จนกระทั่งเราหลงเข้าใจไปว่าการกินมังสวิรัตินั้นเป็นปกติของชีวิตเป็นมาตรฐานที่สังคมของเราส่วนใหญ่ทำได้ เราก็จะยิ่งสงสัยมากขึ้นไปอีกเมื่อเห็นคนมีความสุขกับการกินเนื้อสัตว์ และแม้เราจะพยายามบอกหรือถ่ายทอดมากเท่าไหร่ก็ยังไม่มีผล ถึงจะมีผลก็เป็นผลที่กดดันเขา บีบคั้นเขา ใช้ความดีเข้าไปอัดกระแทกจนคนกินเนื้อสัตว์หวาดผวา

ในความจริงแล้วยุคสมัยนี้เราต้องยอมรับว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นเรื่องปกติ การลดเนื้อกินผักเป็นเรื่องไม่ปกติ คนปกติเขาไม่ทำกัน ไม่มีใครอยากพรากจากความอร่อยของเนื้อสัตว์ คนจำนวนมากแม้ได้เห็นภาพสัตว์ตาย ข้อความที่ร้องขอหรือกระตุ้นจิตสำนึก จนกระทั่งได้รับข้อมูลวิจัยมากมาย แต่ก็ไม่สามารถที่จะเลิกเนื้อสัตว์ได้

คนที่เลิกได้ก็เลิกได้ แต่คนที่เลิกไม่ได้ก็คือเลิกไม่ได้ และไม่คิดจะเลิกกินเนื้อสัตว์ หากเราเอาความดีความชั่วความเมตตามาวัด เราก็จะได้ผลที่ผิดเพี้ยนไปจากความจริง เพราะแท้จริงแล้วไม่มีใครอยากทำชั่วหรืออยากเบียดเบียนคนอื่น แต่เพราะกิเลสอันคือความอยากเสพในตัวเขา กระตุ้นให้เขาอยากกิน ให้เขาแสวงหา ให้เขาหลงวนเวียนอยู่กับเนื้อสัตว์

2). ใจเขาใจเรา

เมื่อเรามีกิเลส การจะเลิกเบียดเบียนนั้นทำได้ยาก ถึงแม้จะแค่ในขั้นลดก็ยังทำได้ยากเช่นกัน ถ้าเราลองเข้าใจในเรื่องกิเลสให้มากอีกสักนิดก็จะไม่มีคำถามว่าทำไมคนอื่นไม่หันมากินมังสวิรัติ มากินผักลดเนื้อกัน เพราะเข้าใจในเรื่องกิเลสจึงจะสามารถปล่อยวางได้ ไม่ตั้งคำถาม ไม่กดดัน ไม่บีบคั้นใครๆ

หากเรามองว่าการกินมังสวิรัติเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับเราแล้วมัวแต่มองไปยังคนที่กินเนื้อแล้วรู้สึกว่าตนเองนั้นทำได้ดีกว่า เก่งกว่า เมตตากว่า เบียดเบียนน้อยกว่า ความรู้สึกเหล่านี้จะก่อตัวเป็นอัตตาทำให้เราเป็นคนยึดดีและติดดีในที่สุด

ให้เราลองพิจารณาถึงคนที่มีศีลสูงกว่า เบียดเบียนน้อยกว่า ยกตัวอย่างเช่น พระที่ฉันอาหารมื้อเดียว ท่านก็เบียดเบียนโลกน้อยกว่าเราจริงไหม เพราะปกติเรากินตั้งสามมื้อเสียทั้งเงินเสียทั้งเวลาในการกิน แต่ท่านกินมื้อเดียวก็สามารถเอาเวลาที่ไม่ได้กินมื้ออื่นมาทำประโยชน์ได้มากขึ้น เหลืออาหารให้คนอื่นมากขึ้น เพราะไม่ได้เอาอาหารมาบำเรอตัวเองจนเกินความจำเป็น

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่ากินมื้อเดียวนี่ดีที่สุดในโลกนะ และการกินมื้อเดียวนี่มีประโยชน์มากนะ ทำให้เจ็บป่วยน้อย ลำบากกายน้อย เบากายเบาใจ มีกำลัง เป็นอยู่ผาสุก (กกจูปมสูตร) เห็นไหมมีแต่ประโยชน์ทั้งนั้นเลย ก็เหมือนกับการที่เราอยากให้คนอื่นหันมากินมังสวิรัตินั่นแหละ เราก็มองว่าเป็นสิ่งดี เป็นกุศล มีประโยชน์

ทีนี้เราลองมาดูบ้างถ้ามีคนยื่นสิ่งที่มีประโยชน์กว่าการกินสามมื้อ มาเสนอให้เรากินมื้อเดียวนี้ เราจะเอาไหม? เราจะเห็นดีกับเขาไหม? เราจะทำตามเขาไหม? ถึงสิ่งนั้นจะดีแต่มันก็ทำได้ไม่ง่ายเลยใช่ไหม?

ก็เหมือนกับที่เราไปอยากให้คนอื่นเขามากินมังสวิรัติเหมือนเรานั่นแหละ ถ้าเราเริ่มเห็นแล้วว่ากิเลสมันเป็นแบบนี้ มันทำงานแบบนี้ มันดื้อด้านแบบนี้ มันจะหาเหตุผลมากมายเพื่อไม่ให้เข้าถึงสิ่งที่ดี ถึงแม้ว่าจะมีสิ่งที่มีประโยชน์มาอยู่ตรงหน้ามันก็จะไม่เอาแบบนี้

เราก็จะเข้าใจคนที่ยังติดกับการกินเนื้อสัตว์อยู่ได้โดยไม่สงสัย เพราะเข้าใจว่าเรื่องกิเลสเป็นเรื่องยาก ฐานใครก็ฐานมัน เขาทำได้เท่านั้นมันถูกตามกิเลสของเขาอย่างนั้น เราทำได้ขนาดนี้เรายังไม่อยากพัฒนาไปมากกว่านี้เลย

3). เจียมตัว

เมื่อเราเข้าใจเรื่องกิเลสเราก็จะมีแนวโน้มที่อ่อนนุ่มลง ไม่ถือตัวถือตน ไม่อวดดิบอวดดี อ่อนน้อมถ่อมตน เป็นมังสวิรัติที่เจียมตัว ไม่กดดันใคร ไม่บีบคั้นใคร ไม่เสนอให้ใครขุ่นใจ มีการประมาณที่ดีให้เหมาะกับจิตใจของผู้ฟัง

การอ่อนน้อมถ่อมตนนี้เองคือคุณสมบัติของผู้เมตตา เป็นผู้มีธรรมะในตนเพราะไม่มีอัตตา ไม่ยกตนข่มท่านให้ใครมัวหมอง มีแต่จิตเมตตาให้ทั้งสัตว์และคนที่ยังมีกิเลส เข้าใจว่าสัตว์นั้นก็ต้องรับกรรมของเขา และเข้าใจว่าคนนั้นก็ต้องสู้กับกิเลสไปตามฐานที่เขามี จะให้เขาทำเกินกำลังที่เขามีมันจะไม่ไหว เขาจะทรมานจนกระทั่งไม่ทำเสียเลยยังจะดีกว่า

ความทรมานจากความยึดดีถือดีนี้เองคือ อัตตกิลมถะ หรือทางโต่งในด้านอัตตา ไม่เป็นไปในทางสายกลาง หากเราเองยังมีความยึดดีถือดีจนไปทำให้ใครลำบากใจอยู่นั้นก็ไม่สามารถเรียกว่าอยู่บนทางสายกลาง แม้ว่าเราจะสามารถออกจากความอยากกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว แต่ถ้ายังมีอัตตา ยึดว่าตนทำได้ทำไมคนอื่นทำไมได้ ทำไมเขาไม่เมตตา ทำไมเขาไม่เลิกเบียดเบียน มันก็ยังสร้างความทุกข์ทรมานให้กับตนเองและผู้อื่นอยู่ดีนั่นเอง

ดังนั้นนักมังสวิรัติที่เข้าใจในเรื่องมังสวิรัติจริงๆก็จะเป็นผู้ที่เข้าใจผู้อื่น เพราะเข้าใจว่ากิเลสเป็นแบบนี้ ก็จะเจียมตัวปฏิบัติตนเองในแนวทางลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจต่อไปโดยไม่สงสัยและไม่ไปยุ่งวุ่นวายในการปฏิบัติของคนอื่น

– – – – – – – – – – – – – – –

7.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กินร่วมใจ : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องทดลองกินเนื้อสัตว์

December 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,454 views 0

กินร่วมใจ : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องทดลองกินเนื้อสัตว์

กินร่วมใจ : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องทดลองกินเนื้อสัตว์

การตรวจสอบระดับที่ 3 ที่จะกระทุ้งให้เห็นกิเลสอย่างเด่นชัด แบบชัดแจ้งอยู่ในใจกันเลยทีเดียว การจะมาถึงระดับนี้ได้เราจำเป็นต้องผ่านในระดับ 1 และ 2 ด้วยใจที่โปร่งโล่งสบายมาก่อน หากอ่านและทดสอบตัวเองในระดับ 1,2 แล้ว ยังมีอาการขุ่นเคืองใจไม่ว่าจากกามหรืออัตตา ก็ถือว่ายังไม่ผ่าน

การที่เรายังไม่ผ่านด่านง่ายแล้วจะกระโดดมาเล่นด่านยากนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์อะไร นอกจากจะไม่สามารถจัดการกับกิเลสแล้วยังจะโดนกิเลสเล่นงานซ้ำอีก เพราะในด่านนี้ก็จะเข้าไปคลุกวงในกับกิเลสมากขึ้น เข้าไปใกล้มากขึ้น จนเรียกได้ว่าหลายคนคงจะไม่เห็นด้วยกับวิธีนี้

สติปัฏฐานยังคงเป็นเครื่องมือที่จำเป็นมากสำหรับการตรวจจับสภาวะของกิเลสที่เกิดขึ้นในจิตใจ ใครที่มาถึงขั้นตอนนี้แบบกดข่มก็จะยิ่งเป็นภัยกับตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ ธรรมะนั้นเหมือนดาบสองคมยิ่งลึกก็จะยิ่งเข้าใจยาก พอไม่สามารถเข้าใจได้ก็อาจจะเกิดการเพ่งโทษกันเกิดขึ้น แต่จริงๆแล้วเพราะเราไม่เข้าใจนัยสำคัญของธรรมนั้นต่างหาก

ขั้นตอนที่ 1).คำเตือน!!

ถ้ายังไม่ผ่านบททดสอบใจตัวเองในระดับที่ 1 , 2 ก็ไม่ควรจะอ่านบทความนี้ต่อ เพราะบทความนี้จะเป็นภัยมากถึงมากที่สุดต่อผู้ที่ยังไม่สามารถจัดการกับกิเลสได้

อีกประการหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการกินมังสวิรัติ บทความนี้อาจจะไม่เหมาะกับท่านเลย หากท่านต้องการให้บทความนี้สอนกินมังสวิรัติ เนื้อหาเหล่านั้นไม่มีอยู่ในบทความนี้ เพราะในบทความนี้เราจะสอนเฉพาะเรื่องกิเลสโดยใช้มังสวิรัติมาเป็นเครื่องมือในการขัดเกลากิเลส ซึ่งอาจจะไม่มีประโยชน์กับท่านที่ไม่ได้แสวงหาหนทางลด ละ เลิกการยึดมั่นถือมั่น

การทดสอบต่อไปนี้ทำเพื่อตรวจสอบให้เห็นว่ายังคงมีกิเลสเหลืออยู่ในจิตใจเท่านั้นไม่ใช่การกระทำที่ทำโดยทั่วไป ไม่ใช่ทำเป็นประจำ แต่กระทำเฉพาะผู้ที่ต้องการความมั่นใจว่าตนเองนั้นไม่ได้มีความอยากในเนื้อสัตว์จริงๆ เพื่อสร้างความมั่นใจอย่างแท้จริงแบบไม่ต้องคิดเอาเอง จินตนาการไปเอง เพราะทดสอบกันอยู่ตรงหน้า ถ้ากามและอัตตายังเกิดอยู่ก็ไปพิจารณาธรรมใหม่ แต่ถ้าไม่เกิดอะไรขึ้นรู้สึกเฉยๆก็จบกันไป

ขั้นตอนที่ 2).กินร่วมใจ

ในการกินที่ร่วมไปกับใจนั้นเป็นคำที่ยกมาเพื่อเปรียบเทียบกับการกินที่ใกล้ใจมากที่สุด เมื่อเรามั่นใจว่าเรารู้สึกว่าไม่อยากกินเนื้อสัตว์อย่างเต็มที่แล้ว จะมีอะไรมาทดสอบใจเราได้ดีเท่ากับ “การทดลองกิน” เมนูที่ชอบ สิ่งที่เคยติดในอดีต หรือสิ่งที่เคยฝันไว้ ที่เขาว่าดีว่าเลิศคือสิ่งไหน ถ้ามีโอกาส มีทุน มีปัจจัยที่เหมาะสม ก็ทดลองดูเลย ไม่ใช่สิ่งเสียหายที่เราจะลองทดสอบ

จะลองเคี้ยวให้ละเอียดสุดละเอียด สูดดมทุกกลิ่นที่มี สัมผัสทุกคำที่เคี้ยว ลิ้มรสทุกอย่างที่มีแล้วก็คายทิ้งไปก็ได้ เพียงแค่ได้สัมผัสสิ่งที่เคยยึด เคยติด เคยเป็นตัวเป็นตนของเรา เราสามารถจะรับมันเข้ามาและปล่อยมันทิ้งอย่างสบายใจได้หรือไม่ ทำโดยไม่ฝืน ไม่ลำบาก ให้รู้ดีในใจว่าจะทำอีกกี่ครั้งผลก็เหมือนเดิม ยังเฉยๆอยู่เหมือนเดิม ก็ถือว่าผ่านบททดสอบนี้

ขั้นตอนที่ 3). ตรวจสอบกาม

เมื่อเราได้ลองกินเนื้อไป หากเรายังไม่ผ่านพ้นความอยากกินเนื้อสัตว์ อาการจะออกตั้งแต่ก่อนจะหยิบชิ้นเนื้อเข้าปากอย่างรู้สึกได้ ให้ค่อยๆสังเกตตัวเองว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ถ้าคิดว่าไม่ไหวรู้ดีว่าในใจนั้นอยากกินก็ไม่ต้องไปกินให้เสียเวลา เพราะมันเห็นกิเลสชัดๆอยู่แล้ว ถือว่าสอบตกตั้งแต่ยังไม่เริ่ม

ส่วนผู้ที่ยังเฉยๆจนกระทั่งกินเข้าปากไปแล้วเคี้ยว ก่อนกินก็ไม่รู้สึกอะไรนะ แต่พอเคี้ยวกลับมีความสุข จะเริ่มเสียดายที่ต้องทิ้ง เสียดายรส อยากจะกลืนลงคอ อยากกินอีกคำ อยากกินอีกเรื่อยๆ แม้ว่าจะคายทิ้งไม่กลืนแต่ความอยากจะยังคงอยู่ มันจะหลอกหลอนให้จิตวนเวียนกลับไปคิดถึงเมนูเนื้อจานนั้น ไม่สามารถตัดให้ขาดไปจากใจได้

ความสุขนี่แหละคือตัววัดว่ายังเหลือความอยากอยู่เท่าไหร่ ถ้ารู้สึกสุขก็คือกามขึ้น ถ้าทุกข์ก็คืออัตตาขึ้น มันจะมีอยู่สองอย่างที่มักจะเกิดขึ้น ในกรณีที่ไม่เกิดทั้งสองอย่างก็คือภาวะของอุเบกขา คือเฉยๆ ในกรณีนี้ต้องมาตรวจกันอีกทีว่าเป็นอุเบกขาแบบเคหสิตเวทนา หรือเนกขัมมเวทนา ถ้าให้คนทั่วไปมากินก็อาจจะรู้สึกเฉยๆได้ เพราะตรวจใจตัวเองไม่เป็น รับรู้ความรู้สึกไม่ได้ ปากก็บอกว่าเฉยๆ แต่ในใจก็รู้สึกสุขอยู่เล็กๆ เช่นในกรณีที่เรากินจนอิ่มแล้ว ให้ของที่เราชอบมากินต่อเราก็ไม่อยากกิน เฉยๆ แบบนี้มันคือความเฉยๆแบบชาวบ้าน ไม่ใช่การบรรลุธรรมหรือพ้นความอยากอะไรเลย

ขั้นตอนที่ 4). ตรวจสอบอัตตา

เราสามารถเห็นอัตตาได้ตั้งแต่ยังไม่กินเนื้อสัตว์นั้นๆ คือจะมีความรังเกียจถ้าจะต้องกลับไปกิน แม้ใครจะบอกให้ลองกลับไปกินก็จะไม่ยินดีทดลองเพราะทั้งรังเกียจเนื้อสัตว์ รังเกียจการกินเนื้อสัตว์ และรังเกียจการที่ตัวเองจะได้ชื่อว่าเป็นมังสวิรัติที่ไปกินเนื้อสัตว์ มันจะทุกข์ใจตั้งแต่เริ่มคิด อันนี้ก็เป็นลักษณะของอัตตา

ความยึดมั่นถือมั่นยังเกิดได้ในระหว่างกินและหลังกิน แม้ว่าจะทำเพียงแค่เคี้ยวแต่ไม่กลืน แต่จะรู้สึกขยะแขยง ขุ่นใจ กระวนกระวายใจ ไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบายใจ ให้ลองอีกก็ไม่อยากลอง หรือถ้าอัตตาแรงจัดๆก็จะรังเกียจวิธีนี้ไปเลย

ในบางครั้งอัตตาคือตัวบังไม่ให้เห็นกามคือเรามีอัตตามากจนไปกดข่มกาม ไปกลบกามไว้ จริงๆเราอาจจะรู้สึกสุขที่ได้กินได้เคี้ยวนะ แต่ความยึดดีมันไม่ยอม มันจะสร้างเหตุผลขึ้นมาทันทีที่เรารู้สึกสุข ตบความสุขทิ้งไปโดยไม่รู้ตัว เรียกว่าไม่มีสติไม่รู้รับกิเลสตามความเป็นจริง การมีอัตตามากๆจะบังทุกสิ่งทุกอย่างและกลบมันไว้ภายใต้ภาพของคนดีเหมือนการกวาดฝุ่นเข้าไปซุกในพรม แน่นอนว่าในเวลาปกติเราจะไม่เห็นฝุ่นนั้น แต่ถ้าเปิดพรมออกมาก็คงจะฝุ่นคลุ้งกันเลยทีเดียว

อัตตาก็เหมือนกับพรมที่สามารถเอากามเข้าไปซุกข้างในได้อย่างแนบเนียน เราสามารถซ่อนความอยากไว้ในความยึดดีได้ ลักษณะเหล่านี้คือลักษณะเด่นของสมถะวิธี เป็นวิธีของฤๅษี ที่ใช้การกดข่มเข้าไปในภพ ใช้อัตตามากดกาม ไม่ให้กามได้แสดงอาการ ดังนั้นผู้ที่ใช้วิธีนี้จะทำให้การตรวจสอบความอยากทั้งหมดที่ทำมาไร้ประโยชน์ในทันที

ขั้นตอนที่ 5). สรุปผล

ในการตรวจสอบนี้จะได้ผลที่ค่อนข้างชัดว่าเรายังอยากกินอยู่หรือไม่ เรายังมีอัตตามากอยู่หรือไม่ ผู้ที่เรียนรู้กิเลสต้องทำลายกามไปพร้อมๆกับอัตตา ถ้าถามว่าทำลายกามหรือความอยากกินทั้งหมดก่อนแล้วค่อยมาทำลายอัตตาได้ไหมก็ต้องตอบว่าได้ แต่มันไม่ง่ายที่จะมาทำลายอัตตาทั้งหมดตอนท้าย ถ้าเราไม่ทยอยล้างตั้งแต่แรก อัตตานี่แหละจะเป็นตัวกั้นไม่ให้เราล้างอัตตา มันจะยึดดีถือดี ไม่ยอมให้เราทำอะไรกับมันง่ายๆ ใครมาสอนก็ไม่ฟัง ใครมาบอกก็ไม่เชื่อ เชื่อแต่ตัวเองเท่านั้น ฉันทำได้ ฉันเก่งที่สุด ฉันกินมังสวิรัติมาแล้วกว่า … ปี มันจะมีข้ออ้างและเหตุผลมากมายที่จะไม่ล้างอัตตา

ก็เหมือนกันกับคนที่ติดเนื้อสัตว์นั่นแหละ มันจะมีเหตุผลและข้ออ้างมากมายที่จะไม่ออกจากความอยากกินเนื้อสัตว์ แต่อัตตาจะต่างออกไปเพราะมีความยากมากกว่า นั่นเพราะโดยรวมมันอยู่ฝั่งดี เพราะไม่เบียดเบียนสัตว์แล้ว แต่ถ้าสังเกตให้ดีคนที่มีอัตตามากๆจะก็จะไปเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ มักจะทำให้เกิดบรรยากาศที่กดดัน อึดอัด เพราะความยึดดีถือดีนั่นเอง

ผู้ปฏิบัติธรรมพึงทบทวนตนเองอยู่เสมอว่าเรานั้นอ่อนน้อมถ่อมตนหรือไม่ เรากำลังทำตัวใหญ่คับฟ้าหรือไม่ เพียงแค่กินมังสวิรัติได้เราถึงกับยกหางตัวเองว่าเป็นคนดีแล้วอย่างนั้นหรือ มีคนดีอีกมากมายที่เสียสละเพื่อสังคมและโลกแต่เขาไม่ได้กินมังสวิรัติและเขาก็ไม่เคยอวดตนว่าเขาเป็นคนดี แล้วเราทำดีได้เพียงเล็กน้อยยังกล้าอวดแบบนี้มันก็เหมือนที่เขาว่าแมงป่องมีพิษน้อยแต่อวดโอ้ชูหาง ส่วนงูมีพิษมากแต่ไม่แสดงออกง่ายๆ

อัตตาก็เช่นกัน จะทำให้เราภูมิใจในความดีอยู่ลึกๆ ถ้าใครชมก็จะฟูใจตาม แต่ถ้าใครด่าก็จะร้อนรน จากสภาพของเทวดาตกไปเป็นเดรัจฉานทันที คนดีที่ไม่ล้างอัตตาก็มีแต่จะเป็นภัยแก่ตนเองและผู้อื่น แต่ก็เป็นเรื่องยากสุดยากที่จะยอมรับว่าตัวเองมีอัตตา ใครเล่าจะยอมทิ้งคราบคนดี จะยอมลอกคราบแห่งความดีทิ้ง เมื่อไม่ยอมทิ้งมันก็ติดดียึดดีอยู่แบบนั้น มันก็เป็นความดีที่ไม่ดีที่สุดอยู่นั่นเอง

ติดตามต่อได้ที่

Facebook Group : Buddhism Vegetarian (มังสวิรัติวิถีพุทธ)

กินมังอหังการ

December 5, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,674 views 0

กินมังอหังการ

กินมังอหังการ

…วิเคราะห์อาการติดดีในทุกระยะของการกินมังสวิรัติ

ในบทความนี้จะวิเคราะห์และไขสภาพอาการติดดีหรือในเรื่องของอัตตาในทุกระยะของการกินมังสวิรัติตั้งแต่เริ่มกินไปจนกระทั่งถึงสภาพอนัตตาคือไม่มีตัวตนให้เป็นทุกข์อีกต่อไป โดยจะแบ่งระยะของความยึดเป็น 5 ข้อ ลองมาอ่านกันเลย

1).ความยึดดีของคนกินเนื้อสัตว์

ความยึดของคนกินเนื้อสัตว์ชอบเนื้อสัตว์เป็นชีวิตจิตใจ เขาหลงว่าเนื้อสัตว์ดี จึงยึดดีนั้นไว้ และเข้าใจว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นดี นำประโยชน์มาให้กับเขา ประโยชน์ทางโลกที่มีการส่งเสริมกันมาอย่างเนิ่นนานคือต้องกินอาหารให้ครบห้าหมู่ โดยตัวแทนของโปรตีนก็คือเนื้อสัตว์ พอเรารับรู้ว่าโปรตีนต้องเนื้อสัตว์ แล้วกินมาทั้งชีวิตมันก็จะจำและยึดมั่นถือมั่นว่าเนื้อสัตว์นี้เองคือโปรตีนที่ดีที่สุดที่ร่างกายต้องการ เป็นความเข้าใจทางโลกที่ถูกต้องตามที่เขาสอน แต่ไม่ถูกต้องตามธรรมเพราะพระพุทธเจ้าตรัสว่า การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น ดังนั้นการยึดว่าเนื้อสัตว์คือโปรตีนที่ดีที่สุดนั้นคงไม่ใช่อย่างแน่นอน

หรือความเชื่อที่ว่าคนเราเป็นสัตว์กินเนื้อนั้นก็เป็นอัตตาหรือการยึดเนื้อสัตว์ว่าดี ถ้ายึดระดับนี้อาจจะมีเหตุหลายอย่าง แต่เหตุหลักนั้นคือการเสพติดรสเนื้อสัตว์ เมื่อเกิดความอยากเสพจึงเกิดความยึด ไม่อยากพรากไปจากเนื้อสัตว์จึงต้องสร้างเกราะอัตตาขึ้นมาเพื่อให้ตัวเองได้มั่นใจในการเสพเนื้อสัตว์มากขึ้น เพื่อให้เสพได้อย่างเป็นสุขและสบายใจมากขึ้น จะได้ไม่รู้สึกผิดเวลาไปเจอสื่อของมังสวิรัติ เป็นสภาพที่เกิดการต่อต้านมังสวิรัติขึ้นเองโดยธรรมชาติของกิเลส

ขึ้นชื่อว่ากิเลสแล้วมันย่อมปกป้องตัวเองและพยายามให้เราหามาเสพ เราเรียกการสะสมกิเลสสนองกิเลสว่า “บาป” และการจะลดกิเลสจนถึงดับกิเลสเราเรียกว่า”บุญ” เป็นเรื่องยากที่คนจะเอาชนะกิเลสและยอมลดกิเลส นอกจากจะไม่สามารถเอาชนะกิเลสได้แล้วยังโดนกิเลสเพิ่มอัตตาเข้าไปอีกหนาขึ้นไปเรื่อยๆ นี้เองคือความยึดว่าเนื้อสัตว์ดีของคนที่ยังติดเนื้อสัตว์ทั่วไป

อัตตาของคนกินเนื้อสัตว์เมื่อยึดดีแล้วจะทำให้ต่อต้านการลดเนื้อกินผัก ต่อต้านการกินมังสวิรัติ ต่อต้านการกินเจ หากต้องเจอข้อมูลมังสวิรัติมากๆหรือโดนกล่าวหาว่ากินเนื้อไม่ดีก็อาจจะเกิดการโต้เถียง เอาชนะ ทะเลาะเบาะแว้งเหตุเพราะตนนั้นยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์

2). ความยึดดีของคนที่กินมังสวิรัติได้และยังคงกินเนื้อสัตว์

ในระยะที่เจริญขึ้นมาบ้างแล้ว เราสามารถรับรู้โทษชั่วของการเบียดเบียนได้บ้างจึงหันมากินมังสวิรัติ แต่ก็ยังไม่สามารถตัดเนื้อสัตว์ได้ในหลายๆเหตุผล อาจจะตัดสำหรับตัวเองไม่ได้หรืออาจจะตัดสำหรับคนอื่นไม่ได้เช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่น เรารู้ว่ามังสวิรัติดีนะ แต่ถ้ามีโอกาสเราก็จะกลับไปกินเนื้อสัตว์โดยมีเหตุผลต่างๆนาๆให้กลับไปกิน เช่นความพอดีบ้างละ ธาตุอาหารบ้างละ สุขภาพบ้างละ จริงๆรากทั้งหมดนั้นมาจากความอยากนั่นละ ในมุมของการตัดสำหรับคนอื่นเช่น เรากินมังสวิรัติได้บ้างแล้ว แต่ยังไม่เห็นดีกับการให้ลูกหลานกินหรือให้คนป่วยกินเพราะยังมีความหลงผิดในความรู้และยังมีความยึดในเนื้อสัตว์อยู่

สำหรับคนที่อยู่ในระยะกลางนี้จะเรียกว่าครึ่งๆกลางๆก็ได้ จะเป็นผีก็ไม่ใช่เป็นคนก็ไม่เชิง จะมังสวิรัติก็ไม่ชัดจะกินเนื้อสัตว์ก็ไม่เต็มที่ กินมังสวิรัติก็กินอย่างไม่รู้สาระ ไม่รู้กิเลส กินผ่านๆไปในแต่ละมื้อ จะกินเนื้อสัตว์ก็มีฟอร์ม มีลีลาก่อนกิน อ้างเหตุผลพอประมาณให้ดูดีแล้วค่อยกิน ก็จะวนเวียนเช่นนี้ไปเรื่อยๆ

แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีความยึดดี ใครบอกว่ามังสวิรัติไม่ดีนี่ก็จะโกรธ จะไม่พอใจ เพราะตนเองนั้นกินมังสวิรัติ แต่ถ้าบอกให้เลิกกินเนื้อสัตว์ไปเลยก็จะทำไม่ได้ เพราะยังไปยึดเนื้อสัตว์ว่าดีอยู่เช่นกัน เหมือนคนสองจิตสองใจยังไม่ยอมเลือกข้างชัดเจน ยังแยกกุศลอกุศลไม่ชัด ไม่ชัดแจ้งในธรรม ไม่ชัดเจนในกรรม

ในระยะนี้หลายคนอาจจะหลงยึดไปได้ว่านี่แหละคือความพอดีที่สุดในชีวิต คือกินเนื้อบ้างกินผักบ้างไม่ให้ทรมานตัวเองเกินไป ซึ่งเป็นทางสายกลางคนละแบบกับของพุทธ แต่จะหลงเข้าใจไปว่าถูกทางพ้นทุกข์ เข้าใจว่าพอดี เป็นกลาง ไม่ยึดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

ถ้าเข้าไปในสภาวะเช่นนี้เรียกว่าหลงบรรลุธรรม เพราะเดินมายังไม่ถึงครึ่งทางก็หลงเข้าใจว่าถึงเป้าหมายแล้ว คนจะมาติดในระยะนี้เยอะมาก จะมายึดอยู่แค่ระยะนี้แล้วสร้างเกราะอัตตามาพอกไว้แล้วจะไม่ยินดีไปต่อ ไม่ยินดีในความดีที่มากกว่า เพราะถ้าอยู่ตรงนี้จะได้เสพทั้งเนื้อสัตว์ที่สนองกิเลสตัวเองได้และกินผักซึ่งเป็นข้ออ้างเอาไว้อวดว่าตนดีได้ เรียกได้ว่าสร้างเกราะเพื่อทำบาปโดยป้องกันไม่ให้ความดีเข้าไปถึงตัวและไม่ให้ใครมาว่าเราว่าชั่ว แล้วเสพกิเลสอยู่ในภพ อยู่ในสภาวะในอัตตาที่ตัวเองสร้างไว้ ไม่ยอมให้ใครไปยุ่ง

ถึงระยะนี้จะเริ่มอัตตาแรงและเป็นภัยมากขึ้น เพราะหลงยึดว่าเนื้อก็ดีผักก็ดี เมื่อเจอคนที่กินแต่เนื้อสัตว์จะไม่มีอาการเท่าไหร่เพราะยังเสพกิเลสเช่นเดียวกัน จะพูดออกไปมากก็ไม่ได้เพราะตัวเองก็ยังชอบเนื้อสัตว์อยู่ แต่ถ้าเจอคนที่กินมังสวิรัติเก่งๆมาข่ม ก็จะเกิดอาการต่อต้านขึ้นมาทันที มีเหตุผลต่างๆนาๆที่จะบอกว่าเนื้อบ้างผักบ้างดี คนกินมัง 100% สิไม่ดี ไม่ปล่อยวาง ไม่พอดี เห็นไหมว่าอัตตาจะทำให้มองเห็นกรงจักรเป็นดอกบัว เห็นคนมีศีลเป็นคนไม่มีสาระ

คนกินเนื้อจะไม่ค่อยมีปัญหาในการกระทบกับคนกินมังสวิรัติมากนัก เพราะโดยส่วนใหญ่จะมีความรู้สึกผิดบาปและยอมรับในศีลจึงเกิดศรัทธาในคนกินมังสวิรัติ ยกเว้นคนที่กินเนื้อจนเข้าระดับยึดเนื้อสัตว์ว่าดีจะเป็นอีกกรณี แต่คนที่หลงยึดดีในเนื้อและผักเป็นความพอดีนั้น จะไม่เคารพในศีลที่สูงกว่าของผู้กินมังสวิรัติได้ดีกว่า เพราะหลงเข้าใจไปว่าตนเองนั้นบรรลุธรรม ตนเองก็สามารถกินมังสวิรัติได้ แต่ด้วยความพอดีจึงกลับมากินเนื้อบ้างกินผักบ้าง เป็นทางสายกลางที่เข้าใจไปเอง และยังมองว่ามังสวิรัติสุดโต่ง

ตรงนี้เองคือบาปและอกุศลที่จะต้องได้รับมากขึ้น เป็นนรกที่หนักกว่าคนกินเนื้อสัตว์ เพราะยิ่งเจริญขึ้นมาบ้างยิ่งต้องระวังต้องสำรวม ระวังจะไปมีอัตตา เพราะการมีอัตตานอกจากจะทำให้เราไม่เจริญแล้วยังทำให้เราหลงผิดคิดว่าตนบรรลุธรรม แล้วมีอาการยึดดี อวดดี หลงตนเองจนทำให้ไปปรามาสผู้ที่มีศีลมากกว่าได้

การจะออกจากความเหยาะแหยะต้องใช้ความจริงจังเข้ามาช่วย คือเลือกไปทางด้านใดด้านหนึ่งจะเลือกด้านมังสวิรัติก็ได้ จะเลือกกินเนื้อก็ได้ ถ้าทำดีทำชั่วชัดเจนผลกรรมมันก็จะชัดเจนมากขึ้นไปด้วย คนที่ทำดีมากก็เห็นดีมาก คนที่เบียดเบียนมากก็จะได้รับผลเสียมาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะเปลี่ยนแปลงตัวเองไปอีกจุดที่เจริญขึ้น จำเป็นต้องล้างอัตตาเสียก่อนเพราะความยึดทำให้เราก้าวออกไปไม่ได้ ทำให้เราไม่พัฒนา ส่วนการเปลี่ยนแปลงไปสู่จุดที่เสื่อมลงนั้นไม่ใช่เรื่องยากอะไร พอมันไม่ทำดี มันก็สะสมชั่วไปในตัวนั่นเอง

3). ความยึดดีของคนกินมังสวิรัติ

คนที่กินมังสวิรัติได้ 100% ไม่ตกร่วง ไม่พลั้งเผลอ แม้ว่าจะต้องออกไปนอกสถานที่ ไปประชุม ไปต่างจังหวัด ไปกินข้าวกับเพื่อน ไปงานเลี้ยงครอบครัว ไปที่ไหนๆก็สามารถลดเนื้อกินผักได้ สามารถอนุโลมได้บ้างในบางกรณี แต่การจะไปหยิบชิ้นเนื้อเข้าปากนั้นไม่มีแล้ว อาหารใดที่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์อย่างชัดเจนเพื่อให้ได้รสเนื้อสัตว์เป็นองค์ประกอบนั้นไม่เอาแล้ว ความอยากกินเนื้อสัตว์นั้นไม่มีแล้ว

หรือแม้กระทั่งผู้ที่กินมังสวิรัติได้นานๆ หลายเดือนติดต่อกัน หรือหลายปีติดต่อกันก็จะอนุโลมให้อยู่ในหมวดนี้แม้ว่าจะกลับไปกินเนื้อสัตว์บ้างก็ตาม แต่ลักษณะของการยึดมังสวิรัติว่าดีนั้นมีเต็มที่แล้วเพียงแต่อินทรีย์พละอาจจะยังไม่พอ

ในระยะนี้ถือว่าเจริญได้มากแล้ว พ้นภัยจากการเบียดเบียนสัตว์อื่นแล้ว เป็นบุญมาก เป็นกุศลมาก แต่มักจะต้องมาติดอัตตายึดว่ามังสวิรัติดี กินมังสวิรัติแล้วเป็นคนดี ดูดี ศีลดี มีบุญ มีปัญญา มีสติ จะเริ่มรู้สึกไม่ดีกับเนื้อสัตว์อย่างชัดเจน ไม่สามารถกินร่วมในวงเนื้อสัตว์ได้อย่างสบายใจ กินมังเขี่ยแล้วเป็นทุกข์เพราะรู้สึกขยะแขยง รวมทั้งรู้สึกไม่ดีกับคนกินเนื้อสัตว์ มีอาการข่มคนที่กินเนื้อสัตว์และคนที่ยังกินมังสวิรัติไม่ได้เต็มที่

เมื่อมีคนมาแซว ด่า ว่า คนที่กินมังสวิรัติว่าโง่หรือบ้าจะมีอาการรุนแรงมาก เพราะยึดดีมาก ความรุนแรงจะเกิดตามสภาพที่ลดเนื้อสัตว์ได้ ยิ่งลดได้สมบูรณ์ก็จะยิ่งมีความยึดดีรุนแรง ไม่พอใจรุนแรง โกรธรุนแรง

คนที่อยู่ในระยะนี้จะยิ่งหลงว่าตัวเองบรรลุธรรมมากขึ้นไปอีก เพราะไม่เบียดเบียนแล้วดูเป็นคนดีมาก ผู้คนต่างสรรเสริญเป็นเหมือนพ่อพระแม่พระของสัตว์อื่น สามารถสอนคนกินเนื้อสัตว์ได้เต็มที่เพราะตัวเองไม่กินเนื้อสัตว์แล้ว มีบารมีมาก มีพลังมาก ซึ่งโดยส่วนมากจะเข้าใจว่าสุดทางแล้ว จบแล้ว บรรลุแล้ว ซึ่งก็ยังไม่ใช่เสียทีเดียวมันยังมีดีกว่านั้นอีก

แต่เมื่อเกิดการยึดดีแล้ว ก็จะไม่ยินดีในการพัฒนาจิตใจต่อ ไม่ยินดีในการดับอัตตา เพราะหลงว่าอัตตานั้นเป็นของดี หลงในความดีความดูดีของผู้กินมังสวิรัติ กอดไว้เป็นอัตตาของตน อาจเพราะหลงในยศ สรรเสริญ และสุขที่ได้รับมากขึ้นในระยะนี้จึงทำให้หลงยึดและไม่ยอมไปต่อ

เมื่อจิตมันยึดไม่ยอมไปต่อแล้วมีผู้มาชี้ให้เห็นถึงโทษภัยของอัตตานั้น ก็จะเกิดการต่อต้านเพราะตนหวงแหนอัตตา เมื่อต่อต้านก็สามารถออกอาการได้หลายรูปแบบไม่ต่างกับคนยึดมั่นถือมั่นทั่วไป สามารถโกรธ ไม่พอใจ ทะเลาะเบาะแว้งได้เหมือนคนทั่วไป มีความอยากเอาชนะเป็นแรงผลักดันเพราะยึดว่าสิ่งที่ตัวเองเชื่อนั้นถูกต้องสมบูรณ์แล้ว ถ้าอย่างดีก็คือสงบไม่ตอบโต้ แต่ไม่เชื่อไม่พิจารณาตามให้เห็นถึงโทษของอัตตา พอไม่เชื่อคนที่มาชี้ให้เห็นอัตตามันก็ยึด พอมันยึดก็ไปไหนไม่ได้ ติดอยู่ในภพนี้ต่อไป

4).ความยึดดีของคนกินมังสวิรัติที่มองกลับมาที่คนยึดดี

ในระยะนี้จะเป็นขั้นกว่าของคนที่กินมังสวิรัติได้ ซึ่งผู้ที่อยู่ในระยะนี้จะสามารถกินมังได้ 100% ไม่มีความอยาก ไม่มีอัตตาไปอัดคนกินเนื้อ ไม่รังเกียจเนื้อสัตว์ สามารถกินอาหารร่วมจานกับผู้อื่นได้โดยไม่ทุกข์ แม้อาหารนั้นจะมีส่วนประกอบของสัตว์ปนอยู่บ้างก็จะสามารถอนุโลมไปได้เป็นกรณีๆแต่จะไม่ทำบ่อย โดยหลักอยู่ที่ความไม่ทุกข์ใจใดๆเลยนั่นเอง

แม้จะมีใครมาด่าว่ามังสวิรัติอย่างไร ใครจะว่าโง่ว่าบ้าก็ยังเฉยๆ สามารถกินมังสวิรัติไปได้พร้อมๆกับการรับคำด่าของคนอื่นและยังสามารถสอนเขากลับด้วยท่าทีสุภาพ ด้วยเมตตา ด้วยความเห็นใจ ด้วยความเข้าใจในเวลาเดียวกัน

ผู้อยู่ในระยะนี้คือผู้เจริญมากแล้วพ้นภัยจากความทุกข์ของอัตตามาได้มากแล้ว ไปกินมังสวิรัติที่ไหนก็ไม่ทุกข์ ใครจะกินเนื้อเราก็ไม่ทุกข์ ไปดูสัตว์ถูกฆ่าดูเนื้อสัตว์ในตลาดเราก็ไม่ทุกข์

แต่มันจะเหลือทุกข์จากอัตตาอย่างหนึ่งซึ่งเป็นอัตตาปลายสุดท้ายคือยึดสภาพนี้ว่าดี ยึดว่าสภาพที่พ้นจากการเสพเนื้อสัตว์และพ้นจากอัตตามากแล้วนี่คือดี จึงทำให้มีอัตตาเหลือในส่วนหนึ่ง เมื่อมองลงไปในคนจำพวกมังสวิรัติที่ยึดดี อัตตาแรงๆก็จะรู้สึกทุกข์ รู้สึกเห็นใจ รู้สึกอยากสอน แต่คนกินเนื้อสัตว์ คนกินเนื้อกินผักเราไม่ไปทุกข์กับเขาแล้วนะ แต่จะมาทุกข์กับพวกกินมังได้ดีแล้วติดดีนี่แหละ

ถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะการที่เราจะออกจากชั่วได้เราต้องใช้ความดี ความยึดดีเป็นตัวช่วยผลักดันเราออกมา ทีนี้พอเราผ่านมาได้มันจะเหลือความยึดดีอยู่ เหลืออัตตาอยู่ จึงเป็นเหตุที่ว่าทำไมเมื่อผ่านมาแล้วมักจะมีปัญหากับคนที่มีลักษณะเหมือนเราก่อนหน้านี้ก็เพราะว่าเราเพิ่งเคยผ่านมา เราเพิ่งเห็นทุกข์มา เราเห็นว่ามันไม่ดี เราก็เกลียด พอเราออกมาได้เจริญมาได้เราก็ยังเหลือความยึดดี สิ่งนี้เองจะทำให้เราทุกข์กับคนที่ตามหลังเรามาติดๆ

ความยึดดีตรงนี้แม้จะบางและน้อยแต่ก็ยังเป็นความชั่วอยู่ดี ยังเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นอยู่ดี แต่ข้อดีของคนที่อยู่ในระยะนี้คือเขาเหล่านั้นจะล้างอัตตาเป็นแล้ว เพราะล้างมาตั้งแต่ตอนกินมังสวิรัติติดดีแล้ว เมื่อพบกับอาการที่เราไปข่ม ไปอวด ก็จะสามารถจับอาการเหล่านี้ได้เอง และล้างกิเลสได้เอง ผู้ที่อยู่ในระยะนี้คือผู้ที่เจริญแล้ว แม้จะยังขัดเกลาตัวเองไม่สำเร็จแต่ก็คือผู้ที่จะก้าวเข้าสู่ความพ้นทุกข์จากเนื้อสัตว์และความยึดดีในมังสวิรัติในสักวันหนึ่ง

5).ความไม่ยึดดี

เป็นสภาวะสุดท้ายที่เป็นเป้าหมายปลายทางของนักมังสวิรัติทุกคน เป็นสภาพที่สุขที่สุด ไม่มีอะไรเปรียบได้ ไม่มีอะไรหักล้างได้ ความไม่ยึดดีหรือไม่มีอัตตา หรือจะเรียกว่าอนัตตาคือไม่มีตัวตนแห่งทุกข์ ไม่มีตัวตนให้ทุกข์ ไม่มีตัวตนของกิเลสในเนื้อสัตว์และความยึดดีในมังสวิรัติเหลืออยู่

ชีวิตยังมีอยู่ ร่างกายและอวัยวะยังมีอยู่ การย่อยสลายอาหารเป็นพลังงานยังมีอยู่ แต่สิ่งที่ทำให้ทุกข์ในเรื่องของมังสวิรัตินั้นไม่มีแล้ว ไม่ว่าใครจะทำอย่างไร จะพูดอะไร ใครจะกินเนื้อ ใครจะกินมังสวิรัติ ใครจะติดดี ใครจะเจริญ เราจะไม่ไปทุกข์กับเขาไม่ไปยินร้ายกับเขาจะมีแต่ความยินดี แม้จะเห็นคนกินเนื้อก็ยินดี กินมังสวิรัติก็ยินดี กินครึ่งๆกลางๆก็ยินดี เพราะเข้าใจแล้วว่าคนมันก็เป็นแบบนี้ แม้วันนี้เขาจะยังกินเนื้อสัตว์อยู่ วันหน้าเขาอาจจะเป็นนักมังสวิรัติที่กล้าแกร่งก็ได้ และแม้บางคนจะกินมังสวิรัติอยู่ ในวันหนึ่งเขาอาจจะเลิกกินมังสวิรัติกลับไปกินเนื้อสัตว์ก็ได้ มันไม่เที่ยงทั้งในเรื่องความเจริญและความเสื่อม เข้าใจแล้วว่าการจะมาล้างกิเลสในการกินมังสวิรัติให้สิ้นเกลี้ยงนั้นยากสุดยาก พอเห็นความจริงดังนั้นจิตจึงตั้งไว้ที่อุเบกขา

แม้จะมีเหตุการณ์ใดเข้ามากระทบ เราก็จะเมตตา กรุณา มุทิตา และจบลงที่อุเบกขาได้เสมอ ช่วยคนไปแล้ววางใจได้เสมอ ไม่ติดไม่ยึด ไม่ทุกข์ร้อนใดๆ กับเพื่อนชาวมังสวิรัติหรือเพื่อนมนุษย์ผู้ยังกินเนื้อและสัตว์ทั้งหลาย เพราะรู้แจ้งแล้วในเรื่องกิเลสและกรรม รู้ชัดจากอดีต ปัจจุบัน และอนาคต รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากกรรม และสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปนั้นก็เกิดขึ้นจากกรรมที่เรากำลังตัดสินใจทำด้วย เมื่อชัดเจนในกรรมดังนั้นจึงเข้าใจคนในทุกฐานะของการกินมังสวิรัติ จะไม่โกรธไม่เกลียดใครเลย

ความเข้าใจทั้งหมดนั้นเกิดจากการสะสมความรู้ตั้งแต่ยังเสพติดเนื้อสัตว์ผ่านพ้นมาจนถึงระดับนี้ได้ ได้ผ่านการเรียนรู้ในทุกระดับมาหลายภพหลายชาติจนรู้ชัดเจนในทุกเหลี่ยมทุกมุม พอรู้ทั้งหมดมันก็รู้ว่าอัตตานี่มันไม่ดี มันชั่ว มันเลว มันเป็นตัวขวางกั้นไม่ให้เราบรรลุธรรม ก็จะทำลายอัตตานั้นทิ้งไปจนกระทั่งเป็นอนัตตา

เรื่องของมังสวิรัติทั้งหมดมันก็จบตรงนี้นี่เอง ส่วนจะเลือกทำอะไรต่อไปนั้นก็อยู่กุศลหรืออกุศลเท่านั้น ไม่มีบุญหรือบาปอีกต่อไป เพราะไม่มีตัวตนให้มีกิเลส ให้มีการสะสมกิเลส หรือให้มีการดับกิเลส เพราะมันไม่มีอะไรเหลือให้ทำแล้วจึงมีแต่ทำความดีต่อไปเท่านั้นเอง

ในสภาพนี้จึงสามารถกินมังสวิรัติต่อไปได้อย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น เป็นแต่เพียงว่ายึดอาศัย อาศัยให้เกิดความดี อาศัยให้เกิดความสมบูรณ์แก่ร่างกายนี้ อาศัยให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ศึกษาและปฏิบัติตาม เป็นแบบอย่างแห่งความดีด้วยความเมตตาที่มีต่อผู้อื่นสืบไป

– – – – – – – – – – – – – – –

4.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์