Tag: ความทุกข์

ยุคสมัยที่มีความเร่งสูง

June 9, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 550 views 0

นึกถึงสมัยก่อนที่กว่าจะได้เจอพระพุทธเจ้า ต้องเดินทางกันนาน หลายวันหลายเดือน จึงจะได้เจอได้ฟังธรรม

มายุคนี้เรียกว่าง่ายและทันใจมาก อยากฟังธรรมจากครูบาอาจารย์ก็แค่ต่ออินเตอร์เน็ต ดูรายการสดก็ได้ ดูคลิปย้อนหลังก็ได้ อยากจะฟังกี่รอบก็ไม่มีปัญหา เรียกว่า เข้าถึงธรรมได้ง่ายกว่ายุค 2500 ปีก่อนมาก ๆ

หรือแม้แต่ยุคโควิด19 ที่ไปทำกิจกรรมกลุ่มไม่ได้ ก็ยังมี app ประชุม ซึ่งผมได้ลองแล้ว รู้สึกว่ามันเป็นเครื่องมือที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ได้ดีมาก ระยะทางแทบจะไม่เป็นปัญหาเลย แต่ถ้าเน็ตมีปัญหาก็ตัวใครตัวมัน

แต่ในความสะดวกนี้ก็มีความเร่ง คือทุกอย่างมันไวไปหมด คนที่จะทำดี ศึกษาสิ่งที่ดีก็จะทำได้ไว ส่วนคนที่เขาทำชั่ว ชั่วเหล่านั้นมันก็แพร่ได้ไว คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว มีให้เห็นกันทุกเสี้ยววินาทีในอินเตอร์เน็ต

ชั่ว คืออะไร? ชั่วคือ คิด พูด ทำ แล้วส่งเสริมกิเลส เพิ่มความโลภ โกรธ หลง ตัวเองก็กิเลสเพิ่ม คนอื่นก็กิเลสเพิ่ม จากที่ดูผ่าน ๆ แล้ว ประเมินว่าความชั่วที่เผยแพร่ไปจะไวและกว้างกว่าความดีอยู่หลายขุม

ในขณะที่เรากำลังใช้ชีวิตเพลิน ๆ บนโลกที่หมุนด้วยความเร่ง อาจจะทำให้เราเสื่อมและไหลลงไปสู่ความทุกข์โดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้

พอผมตระหนักว่า ยุคนี้มันไวจนน่ากลัว ผมก็เริ่มรู้สึกว่าประมาทไม่ได้แล้ว มันไม่ใช่ว่าอะไร ๆ จะคงอยู่ตลอดกาล ความเร่งหมายถึงมันจะจบเร็วขึ้น ใช่ว่าครูบาอาจารย์จะอยู่กับเราตลอดไป ในยุคสมัยที่มีความเร่งเช่นนี้ อะไรก็เกิดขึ้นได้ เพราะมันเปลี่ยนแปลงไวจนจับไม่ทัน

ชีวิตเราก็เช่นเดียวกัน โลกมันเร่งขนาดนี้ เราจะอยู่ได้นานขนาดนั้นเชียวหรือ สิ่งที่คิดไว้ อาจจะโดนรวบให้เกิดภายในไม่กี่ปีก็ได้

ซึ่งก็มีเหตุการณ์ที่ผมเคยประเมินว่ามันจะเกิด ตอนนั้นก็คิดว่าน่าจะต้องรอสัก 10 ปี แต่มันดันเกิดภายใน 2-3 ปี เรียกว่าหาร 3 ได้เลย มันเร็วกว่าที่ประเมินไว้มาก แสดงว่าวิบากกรรมของโลกนี้มันเร่ง โลกมันร้อน มันไม่ได้หมุนช้าเหมือนแต่ก่อน มันหมุนไว และไวจนน่ากลัว

ตอนนี้ก็พยายามขยันเรียนให้มากที่สุด เพราะไม่รู้ว่าจะมีอะไรมาพรากความปกติในชีวิตไปอีก แค่โควิดก็ไม่ธรรมดาแล้ว สั่นไปทั้งโลก เขาก็ประเมินว่ายังมีปัญหาใหญ่ ๆ อีกเยอะที่จะตามมา อันนี้แค่สิ่งที่เขามีข้อมูลนะ มันยังมีสิ่งที่ไม่เคยเปิดเผยตัวซ่อนอยู่อีกเยอะ

โสดดีหรือมีคู่ – ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

November 18, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,000 views 0

ผมได้ร่วมโครงการเก็บข้อมูลเพื่อการวิจัย โครงการโสดดีหรือมีคู่ โดยจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม ครับ ล่าสุดก็มีผลงานออกมาเผยแพร่กันมากมายทีเดียว เป็นแนวคิดของคนที่ปฏิบัติตนให้เป็นโสด ตามแนวทางของพุทธศาสนา ด้วยวิธีการสอนแบบแพทย์วิถีธรรม ก็ติดตามกันได้ครับ เนื้อหาด้านล่างก็ยกมาสำรองไว้ แต่ในหน้าหลักจริง ๆ ก็จะเป็นหน้า โสดดีหรือมีคู่ ครับ

 

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ ชื่อเล่น: ดิน เพศ:ชาย อายุ:36 ปี สถานภาพ:โสด (เคยมีแฟน)
รู้จักและปฏิบัติตามหลักแพทย์วิถีธรรมมาแล้วเป็นระยะเวลา:6 ปี

ก่อนพบแพทย์วิถีธรรม ท่านมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการอยู่เป็นโสดหรือมีคู่อย่างไร?
ตั้งแต่เด็กจนโตขึ้นมา ก็ศึกษาธรรมะทั่ว ๆ ไป ความคิดไม่เคยเปลี่ยนไปเลย คือ การอยู่เป็นโสด ไม่เคยมีในหัว ไม่รู้จัก ไม่รู้ว่าดีอย่างไร ไม่สนใจ ไม่ใช่เป้าหมาย แน่นอนว่าความเชื่อก็ต้องเป็นด้านตรงกันข้าม คือเชื่อว่ามีคู่แล้วชีวิตมันจะเป็นสุขแน่นอน อย่างน้อยก็ได้สุขจากสารพัดเสพ

จริง ๆ ในการมีคู่มันก็ทุกข์อยู่ แต่สุขลวงมันก็บังไว้ ให้หลง ให้งง ให้แสวงหา ให้ยึดติดอยู่แบบนั้น ไม่ละ ไม่หน่าย ไม่คลาย นั่นเพราะยังไม่เห็นทุกข์ที่เป็นของแท้ของจริง แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วจะเป็นทุกข์แสนสาหัสอยู่ก็ตาม แต่ด้วยความมืดบอด ตามองเห็น แต่ปัญญาไม่มี จึงไม่เห็นความจริงตามความเป็นจริง อีกทั้งธรรมะโลก ๆ จนถึงกระทั่งกลุ่มที่ศึกษา ก็ไม่มีพลังในการส่งเสริมการเป็นโสด ไม่สอนให้เห็นโทษภัยของการมีคู่ แม้ธรรมะที่แสดงอยู่ในโลกตามที่ได้รู้ เมื่อศึกษาดูก็ไม่ได้รู้สึกถึงโทษภัยใด ๆ เลย

หลังพบแพทย์วิถีธรรม ท่านมีความคิดเห็นอย่างไร?
มาเข้าค่ายครั้งแรกเป็นค่ายสุขภาพ แต่เมื่อได้ยินอาจารย์หมอเขียว ยกธรรมะในหมวดของการอยู่เป็นโสดและคนคู่ โดยยกพระไตรปิฎกมาอ้างอิง ก็ได้รู้มากขึ้น ได้เข้าใจถึงน้ำหนักที่มากขึ้น ได้ความชัดเจนอย่างที่ไม่เคยรู้มาก่อน

แต่ถึงกระนั้นความอยากมีคู่ก็ไม่ได้หายจางไปไหน ความรู้ยังคงเป็นเพียงแค่ความรู้ ไม่ใช่ความเข้าใจตามจริง ก็ยังมีจิตแสวงหาอยู่ สมัยนั้นก็นั่งหน้าเวที อาจารย์ก็แสดงธรรมเรื่องคู่ ใจก็คิดถามอาจารย์ว่า แล้วมีได้ไหม? แล้วมีได้ไหม? ว่าแล้วก็หาทางจนได้ มันมีช่องเล็ก ๆ ให้มุดเข้าไป เป็นช่องอนุโลมของเด็กน้อย เราก็คิดว่าเราไม่ไหวหรอกชาตินี้ ขอมีก่อนแล้วกันนะ เอาฐานนี้แหละ

ไป ๆ มา ๆ เจอของจริงเลย คือต้องเจอทุกข์จากความรักจริง ๆ ใช้เวลาเกือบ 2 ปีกว่าจะเข้าใจ ว่าความทุกข์ที่แท้จริงคืออะไร ประโยชน์ที่แท้จริงคืออะไร อะไรคือการเกื้อกูล อะไรคือการเบียดเบียน อะไรคือความรักที่แท้จริง อะไรคือความลวงของกิเลส แต่กว่าจะผ่านมันมาได้ก็ไม่ได้ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก ถ้าจะเปรียบเทียบก็เหมือนผ่านสงความมา แขนขาด ขาขาด จากการรบไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งในสองปี เล่นจริง รักจริง เจ็บจริง ทุกข์จริง เรียกว่าสาหัส แต่ก็ทำให้ได้เข้าใจทุกกระบวนการของกิเลสในเรื่องความรัก ตั้งแต่เกิดยันดับ จะเรียกว่าคุ้มค่าไหม? ก็ไม่หรอก เพราะถ้าเราไม่หลงไปแบบนั้นมันก็ดีกว่า เพราะอะไรที่ทำไปแล้วมันก็จะกลายเป็นวิบากกรรม มันก็ต้องรับ มันก็ต้องทนใช้

สุดท้ายก็พบว่าที่พระพุทธเจ้าตรัส ที่ครูบาอาจารย์สอน นี่แหละจริงที่สุด ผาสุกที่สุด ทางอื่นไม่สุขเลย ทุกข์ไม่จบไม่สิ้น ตอนนี้เราปฏิบัติจนได้ปัญญามาแล้ว เราก็ไม่ต้องไปโง่แสวงหาทุกข์มาใส่ตัวแล้ว มันก็สบายไป

ท่านมีการปฏิบัติต่อไปอย่างไร?
การปฏิบัติต่อจากนี้ ก็ตั้งใจว่าจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่นอย่างแท้จริง ให้ได้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป คือตนเองก็ยินดีในการอยู่เป็นโสด ยินดีในธรรมที่พาให้คนเป็นโสด และยังส่งเสริมผู้อื่นให้ยินดีและปฏิบัติตนในการอยู่เป็นโสด หรือถ้าอยู่เป็นคู่ ก็ให้มีศิลปะในการพราก ในการปฏิบัติเพื่อความละหน่ายจากคลายจากความยึดมั่นในความผูกพันธ์ ในบทละครที่หลงไปเล่น เพราะจริงๆ แล้ว สถานะคู่คือสถานะสมมุติที่คนปั้นกันขึ้นมาเอง จริง ๆ มันไม่มีอะไรหรอก คนเต็มคน จะไม่ต้องการแสวงหาคนอื่นมาเติม และยังสามารถเผื่อแผ่แบ่งปันโดยไม่ยึดมั่นถือมั่น หรือสำคัญมั่นหมายว่านี่เป็นเรา นี่เป็นของเรา นี่เป็นคนของเรา นี่คนรักเรา นี่ญาติเรา นี่เพื่อนสนิทเรา ฯลฯ มันจะเป็นอิสระจากสภาพยึดจะเสพสิ่งดีจากบุคคลหนึ่ง ๆ

และเพื่อการเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับผู้อื่น ก็จะพยายามรักษาระยะห่างกับเพศตรงข้ามที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับชีวิต ไม่ให้สนิทเกินไป ไม่ให้หวั่นไหวจนเกินเลย โดยใช้ปัญญาของเรานี่แหละ ในการตรวจจับอาการที่ดูเหมือนจะเป็นอกุศล ถ้ามีแนวโน้มว่าท่าจะไม่ดีก็ถอยออกมา หรือคบหาในระยะที่ไม่ใกล้จนเป็นอกุศลในใจเขา


โสดดีหรือมีคู่

เลือกกิน เลือกกรรม

October 1, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,465 views 0

เลือกกิน-เลือกกรรม

เลือกกิน เลือกกรรม

ศาสนาพุทธนั้นเป็นศาสนาแห่งปัญญา มีความรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ สิ่งใดทำไปแล้วเป็นไปเพื่อความสุขความเจริญ หรือสิ่งใดเป็นไปเพื่อความทุกข์และเสื่อมถอย นั่นเพราะมีความรู้ในเรื่องกรรมและผลของกรรมอย่างแจ่มแจ้ง

พระพุทธเจ้านั้นท่านเป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง กรรมใดที่กระทำลงไปแล้ว จะให้ผลดีร้ายเช่นไร ท่านรู้ได้ทั้งหมด ท่านยังตรัสไว้ด้วยว่า “บาปแม้น้อย อย่าทำเสียเลยดีกว่า” ท่านยังเปรียบไว้อีกว่า “เราไม่ควรดูหมิ่นในบาปที่เล็กน้อย แม้น้ำหยดทีละหยดก็ทำให้หม้อเต็มได้ บาปนั้นก็เช่นกัน” นั่นหมายถึง แม้อกุศลกรรมเพียงเล็กน้อยก็มีผล การกระทำใด ๆ ล้วนมีผลทั้งหมด และมีผลต่างกันไปตามเหตุของกรรมนั้นๆ

ศาสนาพุทธนั้นปฏิบัติไปเพื่อความพ้นทุกข์ ไม่ใช่ปฏิบัติไปเพื่อสั่งสมความทุกข์ให้กับตนเอง พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ใน “อนายุสสสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๒ ข้อ ๑๒๕)” ว่าด้วยเหตุที่ทำให้อายุสั้นและอายุยืน หนึ่งในเหตุที่ทำให้อายุสั้นนั้นคือกินของที่ย่อยยาก และเหตุที่ทำให้อายุยืนนั้นคือกินของที่ย่อยง่าย ซึ่งพุทธนั้นเป็นศาสนาที่ปฏิบัติไปเพื่อให้เป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น การที่ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้นมีอายุยืนจะเป็นประโยชน์มาก เรื่องนี้คงจะไม่มีใครเห็นแย้ง ดังนั้นเพื่อประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ก็ควรจะเลือกกินของที่ย่อยง่ายเป็นหลัก หากไม่ได้ยึดว่าร่างกายนี้เป็นตัวเราของเราก็ควรจะเลือกกินสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายนี้และเพื่อให้ผู้อื่นได้ประโยชน์จากการที่ร่างกายนี้ยังทำงานได้ดีอยู่

เช่นเดียวกับคนที่มีอาการแพ้อาหารบางอย่าง การ “เลือกที่จะไม่กิน” อาหารที่แพ้นั้น ก็ถือว่าเป็นปัญญาทั่วไป ไม่ทำความลำบากให้แก่ตน เพราะถ้ากินไปแล้วป่วยหรือเสียชีวิต ก็จะไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ใดเลย เพราะการทำความลำบากให้แก่ตนนี้เป็นหนึ่งในเหตุที่จะทำให้อายุสั้นตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้

เช่นเดียวกับคนที่เลือกเฟ้นอาหารที่มีคุณค่า เลือกอาหารที่ไร้สารพิษ และ “เลือกที่จะไม่กิน” อาหารหรือวัตถุดิบที่มีสารพิษมากเช่น เนื้อสัตว์ พืชผักรวมถึงวัตถุดิบอื่นๆ ที่มีโอกาสที่จะมีสารพิษตกค้าง แม้แต่การเลือกที่จะไม่กินอาหารขยะ , ขนม นม เนย ฯลฯ ก็เป็นการทำความสบายให้แก่ตน ให้ตนได้มีสุขภาพดี อายุยืน อย่างน้อยก็ลดเหตุปัจจัยในการเกิดโรคลงได้ การทำความสบายให้แก่ตนนี้เป็นหนึ่งในเหตุที่จะทำให้อายุยืนตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้

ในส่วนของฆราวาสนั้นก็คงไม่ได้ปฏิบัติยากเท่าไหร่ ผู้ที่อยากเป็นอยู่อย่างผาสุกก็จะเลือกสิ่งที่ย่อยง่ายและไม่มีโทษให้กับตนเอง และจะเลือกสิ่งดีเหล่านั้นแบ่งปันให้แก่ผู้อื่นด้วยเช่นกัน

แล้วทีนี้นักบวชล่ะจะทำอย่างไร ในเมื่อนักบวชควรจะเป็นผู้เลี้ยงง่ายบำรุงง่าย แล้วจะเลือกกินสิ่งที่ดีมีประโยชน์อย่างไร

นักบวชในพระพุทธศาสนานั้นมีจะกระบวนการหนึ่งที่เรียกว่าเป็นการพิจารณาอาหาร คือพิจารณาว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ และพิจารณาลงไปให้ลึกถึงกิเลสภายใน สิ่งใดเสพแล้วลดกิเลส สิ่งใดเสพแล้วเพิ่มกิเลส และพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในกาลามสูตรว่า สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ให้เข้าถึงสิ่งนั้น สิ่งใดที่เป็นโทษให้ละเว้นสิ่งนั้นเสีย นี่คือการเลือกอย่างชัดเจน

คำว่าผู้เลี้ยงง่ายบำรุงง่ายนั้นหมายรวมถึงผู้ที่ไม่ทำตนให้เป็นภาระด้วย ดังที่กล่าวมาข้างตน ถ้ากินไม่เลือกแล้วเกิดผลให้เจ็บป่วย เป็นโรค ก็ไม่ควรเรียกว่าเป็นผู้เลี้ยงง่ายบำรุงง่าย เพราะการเจ็บป่วยนั้นจะทำให้เป็นผู้เลี้ยงยากบำรุงยากในทันที

จริงอยู่ที่นักบวชนั้นไม่ควรเลือกที่จะรับตามที่สมมุติโลกนั้นเข้าใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าห้ามเลือกที่จะกิน ทุกกรรมกิริยาที่เกิดขึ้นระหว่างกินนั้น ล้วนมีผลทั้งหมดทั้งสิ้น มือที่เอื้อมไปตักของที่ย่อยยากและมีโทษมากเช่นเนื้อสัตว์ ก็ควรกำหนดรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นโทษ ไม่เป็นไปเพื่อความสบาย ทุกการขยับ การตัก การนำเข้าปาก การเคี้ยว ล้วนมีผลทั้งหมดทั้งสิ้น เว้นเสียแต่ว่าไม่มีความรู้เรื่องกรรม ไม่มีสติมากพอจะจับเจตนาซึ่งอาจจะปนเปื้อนด้วยกิเลส ก็จะไม่สามารถเข้าใจได้ว่า อันนี้เราทำบาปกรรมอยู่ จึงสะสมบาปกรรมที่ไม่รู้ตัวว่าทำไปเรื่อย ๆ  ซึ่งตรงกับที่ยกไว้ข้างต้นว่า บาปแม้น้อยก็สะสมกลายเป็นบาปที่เต็มรูปได้ เมื่อบาปเต็มที่ กิเลสก็เต็มขั้น กามก็โต อัตตาก็แกร่งกล้า ถ้าไม่สึกไปแสวงหากาม ก็แสวงหากามในคราบผ้าเหลืองนั่นแหละ

พระพุทธเจ้าตรัสเหตุของการเกิดตัณหาใน “ตัณหาสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๑ ข้อ ๙)” ไว้สี่ข้อ โดยรวมแล้วก็คือปัจจัยสี่ หนึ่งในนั้นคือ ตัณหาเกิดด้วยการบิณฑบาต นั่นก็หมายถึงกิเลสมันเกิดก็เพราะเรื่องห่วงกินนี่แหละ ดังนั้นนักบวชก็ควรจะพิจารณาในการกินของตน ว่ากินสิ่งใดแล้วกิเลสมันเพิ่มก็ไม่ควรกิน กินสิ่งใดแล้วร่างกายเป็นทุกข์ ทำให้อายุสั้น ก็ไม่ควรกิน กินสิ่งใดแล้วเป็นไปเพื่อส่งเสริมความมัวเมา ก็ไม่ควรกิน

ที่บอกว่าควร “เลือกกิน” นั้นเพราะ นักบวชนั้นพึงรู้เองว่าสิ่งใดสมควรหรือไม่สมควร เพราะไม่มีใครมาบังคับใครให้ใครตักอะไรใส่ปากได้ มือก็เป็นของท่าน ปากก็เป็นของท่าน กรรมก็เป็นของท่าน ท่านล้วนกำหนดกรรมของท่านเอง

การจะกินทุกอย่างนั้น ก็ดูจะเป็นคนละโมบไปเสียอีก เพราะหากผู้ศรัทธาเขาเอาอาหารมาพันอย่าง ก็ต้องกินทุกอย่างจนพุงแตกกันเลยเชียวหรือ ส่วนการจะกินเพื่อให้เขาศรัทธา ให้เขาดีใจปลื้มใจนี่มันก็ควรจะประมาณให้เหมาะสมเป็นบางกรณี ไม่ใช่กินให้เขาทุกวันจนตัวเองอ้วน เดินลำบาก ขยับลำบาก ป่วยเป็นโรค อันนี้ก็เป็นการทำให้ตนเองเป็นทุกข์ไปเปล่า ๆ มันต้องเลือกกินสิ่งที่มีประโยชน์เพื่อตนเป็นหลัก ไม่ใช่มุ่งเอาใจคนอื่นเป็นที่ตั้ง

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “อย่าพรากประโยชน์ตน เพื่อผู้อื่นแม้มาก” หมายถึงไม่จำเป็นต้องไปทำเพื่อใครขนาดที่ตนเองต้องทนทุกข์ทรมาน ต้องกิเลสเพิ่ม ต้องอายุสั้น ต้องเสียโอกาสในการปฏิบัติธรรม แม้สิ่งเหล่านั้นจะดูเหมือนมีประโยชน์มากก็ตามที

ถ้าเขามีมาวางให้เลือก ก็เลือกกินสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่ว่า เขาเอาไก่ทอดมาวาง เอาผัดผักมาวาง มีแค่สองอย่างนี้ ว่าแล้วก็ตักไก่ทอดใส่ปากก่อนเลย อันนี้ต้องอ่านจิตตัวเองดี ๆ ว่าทำไมมันไปเอาของที่มันมีโทษก่อน เพราะแม้ในทางโลก เขาก็รู้กันอยู่แล้วว่า เนื้อสัตว์ทอดนั้นเป็นอาหารที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ นา ๆ อันนี้ปัญญาโลก ๆ ก็รู้ได้ คนที่รักษาสุขภาพเขาก็รู้ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ถึงปัญญาโลกุตระหรอก ถ้าปัญญาโลกุตระนี่ไม่มีแล้วที่จะกินสิ่งที่เป็นโทษ มีแต่กินสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างเดียวเท่านั้น

สรุปรวมแล้วศาสนาพุทธนั้น “เลือก” ที่จะศึกษาและปฏิบัติเพื่อเว้นขาดจากสิ่งชั่ว ที่ให้โทษ ที่ทำให้เป็นทุกข์ทำ ฯลฯ มุ่งทำสิ่งที่ดี และทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องใส เพราะรู้ชัดว่าสิ่งที่ทำนั้นจะเกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น ทั้งในปัจจุบันและอนาคตทีเดียว

1.10.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ทาสเนื้อสัตว์ ไม่ได้กินก็ทุกข์ กินก็สะสมทุกข์

December 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,033 views 1

ทาสเนื้อสัตว์ ไม่ได้กินก็ทุกข์ กินก็สะสมทุกข์

ทาสเนื้อสัตว์ ไม่ได้กินก็ทุกข์ กินก็สะสมทุกข์

ชีวิตที่อิสระนั้นไม่ได้หมายถึงการที่เราจะสามารถจับจ่ายใช้สอยสิ่งใดๆได้ตามความต้องการ แต่หมายถึงเป็นอิสระจากความอยาก อิสระจากความทุกข์ที่ไม่จำเป็นต้องมีในชีวิต

อาจจะจริงที่ว่า เรามีสิทธิ์ที่จะใช้เงินที่เรามีซื้อสิ่งใดๆ ก็ได้ ตามที่เราต้องการ แม้ว่าเราจะดูเหมือนมีอิสระในการซื้อขาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นอิสระจากความอยาก

กิเลสได้บงการเราตั้งแต่ก่อนที่เราจะได้คิดด้วยซ้ำ ทำให้เราหลงมัวเมาในรสสุขลวงของสิ่งนั้น ยกตัวอย่างเช่นเนื้อสัตว์ เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นในชีวิตเลย ไม่จำเป็นต้องกินก็ได้ ไม่กินก็มีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข แข็งแรง สุขภาพดี สามารถทำงานได้เหมือนคนทั่วไป

ซึ่งแน่นอนว่าความจริงตามความเป็นจริงมันคือสิ่งที่ไม่จำเป็น ไม่มีสาระ ไม่ต้องฆ่า ไม่ต้องเอามาขาย ไม่ต้องซื้อกินก็ได้ แต่กิเลสก็ได้สร้างความลวงขึ้นมาให้มันจำเป็น ให้มันดูมีคุณค่า มีประโยชน์ ให้คนรู้สึกกังวลว่าถ้าขาดมันเราจะต้องไม่เป็นสุข ทั้งร่างกายและจิตใจ

ทางด้านร่างกายก็พยายามหาผลวิจัยกันไปต่างๆนาๆ ว่าจะขาดธาตุนั้นธาตุนี้ จะไม่สมบูรณ์แข็งแรง จะป่วยเป็นโรค ฯลฯ ข้อมูลมากมายที่จะมาอ้างอิงว่าชีวิตคนเราขาดเนื้อสัตว์ไม่ได้ ขาดแล้วจะเป็นภัย ทำให้คนหลง ทำให้คนกังวล ทำให้คนกลัว ไม่กล้าพราก ไม่กล้าเลิกกินเนื้อสัตว์ ทั้งๆที่ทั้งหมดนั้นอาจจะไม่เป็นความจริงเลยก็ได้ คือได้ผลวิจัยมาจริง ถูกต้องตามหลักการวิจัยจริง แต่สิ่งเหล่านั้นไม่จำเป็นจะต้องใช้ในชีวิตจริงซึ่งบางครั้งก็เป็นความจริงในความลวง คือเป็นความจริงที่ถูกอยู่เพียงมุมหนึ่ง แต่ในมุมอื่นๆกลับไม่มีคุณค่า เป็นเรื่องจริงที่ไม่มีประโยชน์

ทางด้านจิตใจก็หลงกันไปตั้งแต่การติดรสเนื้อสัตว์ หลงว่ามันต้องใส่เนื้อส่วนนี้จึงจะอร่อย อาหารชนิดนี้ต้องใส่กระดูกถึงจะอร่อย หลงติดในรสเนื้อสัตว์ทั้งๆที่จริงแล้วมันอาจจะเป็นรสเครื่องเทศจนแยกไม่ออกว่าอันไหนรสเนื้อ อันไหนรสเครื่องเทศ ก็มัวเมากับเนื้อสัตว์อยู่แบบนั้น ติดไปถึงขั้นเข้าใจว่าการมีเนื้อสัตว์กินคือคนมีฐานะ สั่งเมนูเนื้อสัตว์แพงๆได้คือคนรวย การกินเนื้อสัตว์คือวัฒนธรรมของชนเผ่าที่เจริญ ใครไม่กินเนื้อไม่มีรสนิยม ฯลฯ หรือขั้นหนักหนาเลย ก็เช่น ฉันคือสัตว์กินเนื้อ ฉันเกิดมาเพื่อกินเนื้อสัตว์ ถ้าไม่ได้กินเนื้อสัตว์ฉันขอตายดีกว่า อยู่ไปทำไมถ้าไม่มีเนื้อสัตว์กิน …มันก็บ้าบอกันไปตามประสาคนโดนกิเลสลวงนั่นแหละ

ทีนี้ “ใจเป็นประธานของสิ่งทั้งปวง” ซึ่งจะมีผลตีกลับไปทางด้านร่างกายอีกที ถ้าหากขาดเนื้อสัตว์ก็จะเกิดอาการ ”มโน” ที่จิตได้ปั้นขึ้นมาว่า หากขาดเนื้อสัตว์แล้วฉันจะหมดแรงบ้าง ฉันจะไม่แข็งแรงบ้าง ฉันจะป่วยบ้าง ฉันจะคิดงานไม่ออกบ้าง ฯลฯ นี่ใจมันหลอกร่างกายซ้อนเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง คนไม่รู้ทันกิเลสก็เมาหมัดเลยทีนี้ กลายเป็นว่าเนื้อสัตว์มีอิทธิพลต่อชีวิตฉันจริงๆ มันเกิดผลทางลบจริงๆ ถ้าไม่มีเนื้อสัตว์ฉันตายแน่ๆ

สรุปว่าสุดท้ายกลายเป็นสภาพของ “ทาส” ที่จำเป็นต้องมีเนื้อสัตว์ในการดำรงชีวิต ถ้าไม่มีเนื้อสัตว์แล้วมันจะทรมาน กิเลสมันตีเอาๆ ให้เกิดทุกข์จากความอยาก อดกลั้นได้สักพักก็ตบะแตกกลับไปกินใหม่ ได้กินสะสมใจก็สะสมกิเลสเพิ่มอีก กินเนื้อสัตว์ไปก็สุขหนอ สุขหนอ ว่าแล้วเราอย่าพยายามเลิกกินเนื้อสัตว์เลย มันเป็นทุกข์ ฝืนธรรมชาติ เราต้องเป็น “ทางสายกลวง” นี่แหละดี กินทั้งเนื้อทั้งผัก ไม่โต่งไปทางด้านใดด้านหนึ่ง

พอคิดแบบนี้มันก็นรกเลย ความเห็นไปในทางของ “กาม” ด้านเดียว คือสุดโต่งไปทางกามเลย ไม่ใช่ “ทางสายกลาง” ที่เว้นขาดจากการมัวเมาในกามและการทรมานตนด้วยอัตตา แต่เป็น “ทางสายกาม” ที่มุ่งเสพกามโดยมีวาทกรรมเท่ๆ เอามาอ้างเพื่อให้เสพตามกิเลสโดยไม่รู้สึกผิดกลายเป็นธรรมะวิบัติ ปฏิบัติแบบกลวงๆ แพ้กามไปด้วยความยินดี เพราะหลงว่าตนชนะ??? (ปราบธรรมะด้วยกิเลสได้)

อาการของ “ทาสเนื้อสัตว์” จะไม่ยอมพรากจากเนื้อสัตว์ จะหาเหตุผลที่ฟังแล้วดูดีน่าเชื่อถือมานำเสนอให้ตัวเองและผู้อื่นได้กินเนื้อสัตว์แบบไม่ต้องอายใคร หรือถ้าในหมู่นักปฏิบัติธรรมก็จะมีชุดประโยคยอดฮิตเช่น กินเป็นเพียงธาตุเลี้ยงร่างกาย กินไม่ได้ยึดติดรสชาติ หรือการปฏิบัติธรรมไม่ได้อยู่ที่การกิน ฯลฯ ถ้าไม่ระวังให้ดีกิเลสมันก็อาจจะพาเฉโกไปได้ เพราะโง่ไม่รู้ทันตัณหา คนดับตัณหาได้จริงก็ไม่มีปัญหา แต่คนไม่ทันตัณหาก็เรียกว่าโกหกซ้อนลงไปอีกชั้น คือตัวเองอยากกินอยู่แล้วโกหกว่าไม่อยาก พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ตัณหา เกิดเพราะปัจจัยสี่ หนึ่งในนั้นคืออาหาร ถ้าไม่ทันความอยากในอาหารที่กินอยู่ทุกวัน ก็เรียกได้ว่าไม่มีทางทันกิเลส ก็อ้างกินเถียงกินกันไปวันๆ

เพราะเอาเข้าจริง คนที่ยังกินเนื้อสัตว์ก็หลีกเลี่ยงจากความเป็น “ทาสเนื้อสัตว์” ไม่ได้ หากเรายังต้องกิน ต้องเลี้ยงร่ายกายจากการเบียดเบียนเขามา การเบียดเบียนด้วยการฆ่านี่มันหยาบมันร้ายมากนะ แค่นึกถึงก็ไม่เอาด้วยแล้ว คนที่จิตใจเจริญแล้วจะสะดุ้งกลัวต่อการร่วมบาปนี้ ไม่ยินดีในการร่วมบาปนี้ แต่พวกทาสเนื้อสัตว์ก็จะเฉย ถึงรู้ว่าสัตว์ถูกฆ่ามาก็จะยังเฉยๆ เพราะถ้าคิดมากพูดมากแล้วจะไม่ได้กินเนื้อสัตว์ สู้อย่าไปคิดอย่าไปพิจารณาที่มาของมันเลย “มันเป็นเนื้อมาแล้ว มันตายมาแล้ว” ว่าแล้วก็กินไปโดยทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ “กินๆไปเถอะอย่าคิดมาก กินอะไรก็ตายเหมือนกัน (แต่ฉันขอกินเนื้อนะ)”

การหลุดพ้นจากความเป็นทาส นอกจากจะไม่เอาจิตไปผูกพันด้วยแล้ว ยังต้องถอนร่างกายออกจากความผูกพันด้วย ไม่ใช่บอกว่าจิตไม่รู้สึกรักหรือเกลียดอะไร แต่ปากก็กินเอากินเอา ไม่หยุดกินสักที บางทียังขอเพิ่ม มีผักมาเสริมก็ไม่กินผัก ตักเอาแต่เนื้อ เลือกกินแต่เนื้อเป็นหลัก กี่ปีกี่ชาติก็กินอยู่แบบนั้น กลายเป็นพวก “ปากว่าตาขยิบ

นี่แหละลีลาของ “ทาสเนื้อสัตว์” ที่หลงว่าตนเองไม่ได้เป็นทาส แต่จริงๆ ก็เป็นทาส เพราะไม่สามารถพรากเนื้อสัตว์ออกจากชีวิตได้ ไม่สามารถห่างเนื้อสัตว์ได้ ห่างกายใจก็คิดถึง จึงต้องแสวงหาเนื้อสัตว์มาบำเรอกิเลสตนอยู่เรื่อยไป เพื่อบรรเทาความทุกข์จะความอยากนั้น

คนที่เป็นทาสเนื้อสัตว์จึงน่าสงสารเช่นนี้ เพราะต้องไปซื้อไปหาเนื้อสัตว์ที่เขาเลี้ยงมา กักขังมา ลากมา เฆี่ยนมา ฆ่ามา ชำแหละมาให้เรากิน ต้องสังเวยชีวิตผู้อื่นเพื่อบำเรอสุขตนเอง ถึงต้องมีส่วนเบียดเบียนผู้อื่นก็ยอมจำนน เพราะหลงว่าสุขของเนื้อสัตว์นั้นมีมากกว่าผลกรรมที่ได้รับ หลงเข้าใจไปว่าการได้มาซึ่งเนื้อสัตว์นั้นตนเองไม่มีส่วนรับผลเสีย มีแต่รับสุขจากเสพ จึงเข้าใจว่าคุ้มค่าที่จะเสพ กิเลสมันพาหลงมัวเมาแบบนี้ สะกดให้คนกลายเป็นทาสที่ไม่มีเหตุผล ให้เป็นคนที่ไม่รู้ความเกี่ยวเนื่องของสรรพสิ่ง ให้เป็นคนไม่รู้ชัดในเรื่องกรรมและผลของกรรม

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น” ดังนั้นถึงเราจะกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาโดยไม่มีความรักชอบเกลียดชัง แต่เราก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของวงจรการเบียดเบียน นั่นหมายถึงเราก็ต้องรับส่วนแบ่งของความมีโรคมากและอายุสั้นตามกรรมที่มีส่วนทำด้วย สรุปว่ากินไปก็มีแต่จะสร้างทุกข์ให้ตัวเองเท่านั้นเอง

ซึ่งคนเราก็จะเป็น “ทาสเนื้อสัตว์” ถูกคล้องคอด้วยความอยากไปอีกนานจนกว่าจะมีปัญญาเห็นว่า การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้น เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นเพื่อมาบำเรอตน เป็นความสร้างความสุขให้ตนโดยการทำทุกข์ให้กับผู้อื่น เป็นไปเพื่อความไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เพื่อความเดือดร้อน เพื่อความจองเวรจองกรรมกันชั่วกาลนาน

– – – – – – – – – – – – – – –

18.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)