Tag: คนพาล
ทำไมจึงต้องวางตนให้พ้นและห่างไกลจากคนพาล?
พระพุทธเจ้าตรัสสอนเกี่ยวกับมงคลชีวิตไว้หลายประการ ประการแรกคือ ให้ห่างไกลคนพาล
เป็นปัญญาแรกของการเข้าสู่ความเป็นมงคล คือต้องรู้ว่านั่นคือคนพาล นั่นคือความพาล นั่นเป็นโทษ นั่นเป็นสิ่งที่ต้องอยู่ให้ห่าง คือไม่เข้าไปคบหาหรือคลุกคลีกับคนพาล
เพราะคนพาลนั้นมีการเพ่งโทษเป็นกำลังและยังชักนำให้เป็นไปในทางเสื่อม การเพ่งโทษของคนพาลคือ คบกันไป เดี๋ยวก็ชักนำให้ไปเพ่งโทษคนนั้นคนนี้ ดีไม่ดีสุดท้ายจะกลายมาเพ่งโทษถือสาเราเสียเอง การชักนำสู่ความเสื่อมคือ พาให้ผิดศีล ไม่สนับสนุนในการเพิ่มศีล ไม่เข้าหาธรรม พาหมกมุ่นอบายมุข ให้มัวเมาในกาม ให้หลงในอัตตา
ถ้าไม่มีปัญญาเห็นโทษของคนพาล ก็จะคลุกอยู่กับคนพาล นอกจากจะไม่พาพ้นทุกข์แล้ว เผลอ ๆ ยังไปติดธาตุแห่งความพาลเพิ่มขึ้นมาอีก
ดังนั้นอันดับแรกของการปฏิบัติตนสู่ความผาสุก คือห่างไกลคนพาลให้ได้ก่อน อันนี้ง่ายที่สุด ชัดที่สุด ก็เอาคนพาลที่เป็นบุคคลให้ชัดเจนก่อน
เพราะความพาลนี่มันแพร่กระจายได้ แทรกซึมได้ เลียนแบบกันได้ พระพุทธเจ้าท่านจึงให้ห่างมาก่อน
แล้วมาคบบัณฑิตต่อ จึงจะดำเนินไปสู่ทางเจริญ ไม่คบบัณฑฺิตนี่ปิดประตูเจริญเลย เพราะธรรมในศาสนาพุทธเรียนรู้เองไม่ได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนจะบรรลุธรรมต้องเริ่มจากคบสัตบุรุษเท่านั้น
ผมใช้หลักนี้ในการคัดคนเป็นหลักเลย ใครที่เขาดูเหมือนจะดีนี่ต้องดูว่าเขาคบใครเป็นบัณฑิต เขาถือใครว่าบัณฑิต เขายกให้ใครใหญ่กว่าเขา หรือเขาถือว่าใครเป็นคนพาล เขาห่างไกลใคร ก็ต้องพิจารณากันไป เพราะสมัยนี้คนพาลมาแสร้งว่าเป็นบัณฑิตเยอะ มันก็ต้องพิสูจน์
อย่างบางคนก็มีแต่ความอวดเก่ง แต่ไม่มีความจริง คือเก่งวาทะ อวดดี อวดรู้ เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า โมฆะบุรุษนั้น เมื่อเรียนธรรม แม้จะรู้อยู่หลายสูตร แต่ก็ไม่มีประโยชน์อะไรนอกจากเอาความรู้ธรรมนั้นไปดูถูก อวดเบ่ง อวดดี หรือไม่ก็เอาไว้กันคนมานินทาเท่านั้นเอง
ยกเว้นน้อยท่านที่จะมีภูมิเก่ามามาก ท่านเหล่านั้นจะแสดงกำลังให้เห็นทั้งนามทั้งรูปว่ามีของจริง ถ้าเราสัมมาทิฏฐิ เราจะรู้ได้เองว่าสู้ไม่ได้ เพราะรูปก็จะเหนือกว่า นามก็จะเหนือกว่าอย่างถูกสมมุติ ที่เห็นได้อย่างชัดเจน
อย่างเช่นที่ผมแจกแจงธรรมะในหมวดคนโสดคนคู่ คนที่เขาสัมมาทิฏฐิแต่ไม่มีภูมิเท่า เขาจะรู้ได้เองว่าเขาแจกขนาดนี้ไม่ได้ เขาไม่ละเอียดละออเท่า เขาจะรู้ว่าเขาไม่ชัดในสภาวะขนาดนี้ คนไม่รู้ธรรมจริงแจกสภาวะเป็นภาษาไม่ได้หรอก ให้แจกล่ะงงเป็นไก่ตาแตกเลย หรือไม่ก็พูดวน พูดมั่ว พูดไม่เต็มปาก ถ้าไม่เชื่อเอาหัวข้อที่ผมพิมพ์เด่น ๆ ไปขยายสิ เดี๋ยวผมจะติให้ เชื่อไหมว่าผมติเก่งกว่าผมพิมพ์อีกนะ เพราะตินี่มันง่าย หาจุดผิดนี่มันง่าย ยิ่งเราชัดในเรื่องไหน ๆ เราจะรู้จุดพลาดของเรื่องนั้น ๆ
เช่น ผมเผยแพร่ธรรมในหมวดคนโสดคนคู่ คนที่เขายังหลงผัวหลงเมียอยู่ ถ้าเขามีความเห็นถูกอยู่บ้าง เขาจะไม่กล้ามาแสดงความเก่งให้เห็นเลย เพราะเขาจะรู้ว่าเขาอยู่ในจุดด้อย น้ำท่วมปาก พูดไม่ออก พูดมาก็โดนสวน ผมก็ถามง่าย ๆ กลับนั่นแหละ ทำไมยังอยู่กับคู่? ยังมีประโยชน์อะไร? มีอะไรติดใจ? ไม่มีประโยชน์ใหญ่กว่านี้ให้ทำหรอ? กตัญญูผัวเมียมันดีกว่ากตัญญูพ่อแม่ตรงไหน? ฯลฯ เชื่อไหม ถาม ๆ ไปถ้าคนไม่มีภูมิถึง เขาจะหลุด เขาจะตอบไม่ได้ แล้วเขาจะโกรธ แต่ผมไม่ถามหรอก เพราะคนมีปัญญาเขาไม่มาสู้กับเราตั้งแต่แต่แรกแล้ว เราจะไปเปลืองแรงกับคนไม่มีปัญญากันทำไม
ถ้าคนเหนือกว่าเขาจะโชว์ภูมิให้รู้จักกัน ก็ไม่ยากหรอก เดี๋ยวเขาจะแสดงเพลงกระบี่เดียวกันที่ล้ำลึกกว่าให้เราได้เห็นเอง คือที่เราทำได้ เขาก็จะทำให้ดู และจะแสดงสิ่งที่เราทำไม่ได้เพิ่มเติมให้เราได้ศึกษาอีกด้วย คนที่เหนือกว่าเขาจะมีศิลปะในการแสดงตัวตนให้งดงาม หนักแน่น และน่าเลื่อมใส
ส่วนคนมิจฉาทิฏฐิก็ไม่รู้อะไรหรอก ดีไม่ดี พูดข่มเราเสียอีก สำคัญตนว่าเหนือกว่าเราเสียอีก ทั้ง ๆ ที่ทำอะไรก็ไม่ชัดเจน ก็มีเหมือนกัน
อันนี้เป็นมิติของคนพาลที่ล้ำลึกขึ้น คือเป็นคนพาล แต่แสร้งว่าเป็นบัณฑิต แสร้งว่าเป็นผู้รู้ เป็นกับดักที่ดักทั้งตัวเองทั้งคนอื่นไปในตัว
ดังนั้น ผมจึงใช้หลักนี้ในการประเมินข้อธรรม คนไม่เคยพบกัน ไม่เคยสัมผัสความจริงของกันและกันมันจะศึกษากันยาก เก่งสุดได้แค่สื่อภาษา การแจกแจงรายละเอียดนั่นแหละ คือการเผยให้ชัดเจนขึ้น บางทีมาเป็นข้อธรรม มาเป็นคำคม มันรู้ไม่ได้ชัด มันตรวจความจริงได้ยาก ว่าเป็นบัณฑิตจริงรึเปล่า เพราะจำมาก็มี เหมือนคำที่เขาว่า “พระใบลานเปล่า” รู้มากรู้หมดแต่เอาตัวไม่รอดก็มี
เพราะการจะศึกษา การจะช่วยเหลือ แบ่งปันเกื้อกูลกันนั้นต้องมีของจริง คือทำตัวให้เป็นตัวอย่างได้จริง จะมีกำลังมาก ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “บัณฑิตพึงทำตนให้ได้ในคุณอันสมควรก่อน แล้วจึงสอนผู้อื่นภายหลัง จะไม่มัวหมอง”
บางทีแจกมาก แต่เป็นลักษณะก็อบเกรด A ก็มีเหมือนกัน พูดเหมือนครูบาอาจารย์เป๊ะ ๆ แต่ลอกมาล่าโลกธรรม ก็มีเหมือนกัน ในกลุ่มปฏิบัติธรรมก็มีให้เห็นอยู่บ่อย ๆ
คนพาลจึงมีสองมิติใหญ่ ๆ คือพาลให้เห็นกันชัด ๆ กับแบบพาลที่แสร้งว่าตนเป็นบัณฑิต แม้สองประเภทนี้ ก็ควรจะห่างไกลเข้าไว้ เพราะคบไว้ก็ไม่มีประโยชน์อะไร
แล้วจึงหาบัณฑิตจริง ๆ คบบัณฑิตที่รู้ธรรมแจ่มแจ้ง ทำตนเองและได้ตามนั้นจริง บูชาบัณฑิตนั้นด้วยการปฏิบัติตาม จึงจะทำให้พ้นภัยและพ้นทุกข์
จุดเริ่มต้นของการปฏิบัติธรรมคือ ห่างไกลคนพาล คบบัณฑิต เอาที่เป็นบุคคล ตัวตนเราเขา จริง ๆ นี่แหละ เพราะมันต้องอาศัยการพรากออกจากธาตุที่เลว และการศึกษาจากธาตุที่ดี จิตจึงจะเจริญได้ ต้องอาศัยรูปถึงจะเรียนรู้นามได้ ไม่ใช่นึกคิดหรือศึกษาด้นเดาเอาเองแล้วจะบรรลุได้
คนพาลมีอำนาจ (กรณีศึกษา ลูกนกกาเหว่า)
เมื่อเช้าได้ดูคลิปลูกนกกาเหว่า ที่เรียกว่าร้ายตั้งแต่เกิด ก็เหมือนกับคนพาลที่มีความมุ่งร้ายในสันดาน
ในสารคดีเขาเล่าว่า… แม่นกกาเหว่าจะไข่ไว้ในรังของนกชนิดอื่น แต่ไข่ของนกกาเหว่าจะฟักไวกว่า และมักจะตัวใหญ่กว่า ทำให้มันได้กินอาหารก่อน โตก่อน พอโตกว่าแล้วก็ดันไข่ใบที่ยังไม่ฟักตกจากรัง แล้วก็ดันลูกนกตัวอื่นให้ตกจากรัง ทั้ง ๆ ที่ตามันยังไม่ลืมเลยนะนั่น ให้เหลือไว้แต่ตัวเอง เพื่อที่จะได้ความรักและอาหารแต่ผู้เดียว
ลูกนกกาเหว่าก็เหมือนคนพาล ครูบาอาจารย์ได้เคยเตือนให้ระวังคนพาล คนฐานศีลต่ำ จะเข้ามามีอำนาจในหมู่กลุ่ม ทำให้ไม่เจริญ ชะงัก เพราะคนพาลเขาจะสกัดดาวรุ่ง ไม่ให้ใครเด่นหรือใหญ่ไปกว่าเขา
การที่ลูกนกกาเหว่าฟักออกมาก่อน ก็เหมือนกับคนพาลที่เข้ามาในกลุ่มก่อน แล้วชิงพื้นที่ ล่าโลกธรรม ล่าบริวาร ล่าอำนาจ ตัวอ้วนใหญ่ เบ่งกร่างสร้างบารมีไปเรื่อย ๆ
ทีนี้พอตัวเองใหญ่แล้ว น้องที่เป็นลูกแท้ ๆ ของแม่นก จะมาเกิด ก็เกิดไม่ได้ เพราะคนพาลชิงทำลายไปก่อน จะโตก็โตไม่ได้ เพราะคนพาลจะฆ่าเสียให้ตาย
ทั้ง ๆ ที่ลูกนกกาเหว่าก็ไม่ใช่ลูกแท้ ๆ ไม่ใช่เชื้อสายของนกในรังนั้น เป็นเพียงแขกที่มาอาศัย แต่กลับไม่ทำตัวเหมือนแขก ไม่ปฏิบัติตามวัฒนธรรม ทำตัวกร่าง ใหญ่ บ้าอำนาจ ใช้ความเก่งของตัวเองไปเบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น เพื่อให้ตนได้เสพสุขแต่เพียงผู้เดียว
ผลเสียของการมีคนพาลเข้ามาในกลุ่มคือ กลุ่มจะไม่เจริญ จะติด จะชะงัก ศีลธรรมจะเสื่อมถอย อธรรมจะเข้าแทรก กามและอัตตาจะจัด พัฒนาได้ยาก ครูบาอาจารย์จะเมื่อยหัว เพราะบางทีตอนเขาทำชั่วเขาก็ไม่ได้บอก เหมือนกับลูกนกกาเหว่าที่แอบผลักลูกนกตัวอื่นให้หล่นจากรังตอนแม่นกไม่อยู่
กลุ่มไหนที่ปล่อยให้คนพาล คนไม่ดี คนไม่มีศีลมีอำนาจ หมู่กลุ่มนั้นก็จะพินาศเหมือนลูกนกตัวอื่น ๆ ในรังที่มีลูกนกกาเหว่า
แต่ถ้าเป็นหมู่พุทธะจะต่างออกไป คนพาลจะแทรกซึมอยู่ไม่ได้ เหมือนกับที่พระโมคคัลลานะได้จับพระทุศีลลากออกไปจากองค์ประชุมหมู่สงฆ์ นี่คืออำนาจของผู้ที่ไม่หวาดหวั่นต่อการมีอยู่ของคนพาล
พระพุทธเจ้าตรัสลักษณะของศาสนาพุทธไว้ว่า ทะเลไม่เก็บซากศพฉันใด พุทธย่อมไม่เก็บคนพาลไว้ฉันนั้น พุทธจะซัดเอาคนพาล คนชั่ว คนผิดศีลออกจากกลุ่ม เป็นธรรมดา
ห่างไกลคนพาล คือตัวอย่างของคนดี
ความเด็ดขาดที่จะตัดสิ่งไม่ดีออกจากชีวิตคือคุณสมบัติหนึ่งที่จะช่วยให้ชีวิตเป็นอยู่ผาสุก
ความห่วงกังวลก็เหมือนแผลเหมือนฝี ต้องคอยระวัง เจ็บปวดอยู่เป็นประจำ ชีวิตที่เนื่องด้วยคนพาลก็เช่นเดียวกัน
คนพาลคือผู้ที่ไม่ประพฤติไปตามธรรม ไม่เอาธรรมะ เกเร เอาแต่ใจ หมกมุ่นกับกิเลส
ถ้าชีวิตของเรานั้นห่างไกลคนพาลได้ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ความเป็นจริงคือ เรามักจะรู้ตัวเมื่อสายไปเสียแล้ว คนพาลนั้นร้ายยิ่งกว่าเสือ เสืออย่างเก่งก็แค่ทำร้าย กัดเราตาย แต่ไม่มีพิษภัยมากกว่านั้น คนพาลนั้นมีพิษยิ่งกว่า แสร้งว่าเป็นคนดี ซ่อนตัวตนของความพาลอย่างแนบเนียน กว่าที่เราจะรู้ตัวก็เรียกว่าถลำคบหาไปเยอะ ใกล้เกินไป
แต่เมื่อเรารู้แล้วว่า คนนี้เป็นคนพาล คิดนี้ผิดศีล คนนี้พูดกลับกลอก ไม่พูดตามจริง พูดผิดเพี้ยนบิดเบี้ยว ไม่ปฏิบัติตามธรรม เราก็ควรจะออกห่างมา เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัว การไปเตือนคนพาลจะยิ่งทำให้เขาจองเวรเรา คือเขาไม่ฟังเราแล้วก็หนึ่งประเด็น เขาจะเห็นว่าเราเป็นศัตรูของเขาก็อีกประเด็น ดังนั้น ถ้าเห็นความพาลแล้ว ผมจะเลือกถอยออกมาเลย
ยิ่งถ้าผิดศีลกันชัด ๆ นี่ไม่ต้องพูดถึง ส่วนใหญ่ก็จะให้เวลาประมาณหนึ่ง เพื่อจะดูว่าสำนึกบาปไหม ถ้าดูท่าทีแล้วไม่สำนึกก็ต้องห่างไว้ คนผิดศีลแล้วรู้ตัวยังพอคบหาได้ แต่คนผิดศีลแล้วไม่สำนึกคบไม่ได้
ทีนี้มันก็ต้องอาศัยความเด็ดขาดอยู่เหมือนกัน เพราะถ้าไม่เด็ดขาด อนุโลม คบกันไป ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากจะไม่ช่วยคนพาลคนนั้น ไม่ทำประโยชน์ให้ตัวเองด้วย แล้วยังกลายเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับคนที่เขาศรัทธาเราด้วย
ถ้าเราชัดเจน คนที่ดูเราอยู่ เขาจะมั่นใจขึ้น ถ้าเราไม่คบใครเขาจะถอยตามเรา ถ้าเราไม่คบคนพาล แล้วเขาไม่คบคนพาลตามเรา อันนั้นมันก็ดี แต่ถ้าเราไม่คบคนพาลแล้วเขายังคบคนพาลอยู่ก็เรื่องของเขา แต่เราก็ทำหน้าที่ของเราให้เห็นแล้ว เราทำให้ดูชัดเจนแล้ว ว่าเราคบหรือไม่คบใคร
มันต้องอาศัยความเด็ดขาดเหมือนพระโมคคัลลานะที่จับพระทุศีลโยนออกจากองค์ประชุมนั่นแหละ แต่เราไม่ต้องทำถึงขั้นนั้นหรอก อันนั้นบารมีระดับอัครสาวก อย่างเราก็ทำให้ชัดเจนที่ตัวเราก็พอ
ให้เราพ้นจากอำนาจบารมีของคนพาล แน่ล่ะสมัยนี้คนพาลเขาไม่ได้มาตัวเปล่า ๆ ส่วนใหญ่ก็พกอำนาจ พกบารมีกันมาเยอะ ๆ ทั้งนั้น เพราะเขารู้ว่าจะใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ให้เขาได้เสพสมใจในกิเลสเขาได้ ยิ่งพาลลึกซึ้ง ยิ่งมีอำนาจมาก แสวงหาอำนาจมาก ใช้อำนาจมาก และบ้าอำนาจมาก จะยิ่งใหญ่ โต พองไปเรื่อย ๆ
ที่เขาโตก็เพราะว่าเราไม่เด็ดขาด ไปเติมอาหาร ไปเป็นแขนขาให้เขานั่นแหละ ถ้าเรายังอยู่ใต้อำนาจของคนพาลอยู่ ก็ยังเป็นมิจฉาชีพอยู่ มรรคผิด ในข้อมิจฉาอาชีวะ ที่ว่า “การมอบตนในทางที่ผิด” คือมอบตนรับใช้คนชั่วคนพาล คือการอยู่ใต้อำนาจ ใต้บารมีของคนพาล
ชีวิตมันต้องเป็นอิสระจากความชั่ว ไม่ถูกความชั่วบงการสิถึงจะผาสุก บางคนตัวเองไม่ทำชั่วแล้ว แต่ยังถูกความชั่วบงการอยู่ มันก็ยังมีส่วนผิดอยู่ดี
มันก็เลยต้องอาศัยความเด็ดขาดในการออกจากสิ่งไม่ดีนั้น ๆ แน่นอนว่ามีผลกระทบ แต่สุดท้ายมันจะดี เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ตัวเราก็ได้ห่างไกลคนพาล คนอื่นเห็นเขาจะได้รู้ชัดเจนขึ้น เขาจะได้ตัดสินใจเลยว่าจะไปเติมพลังทางไหน ส่วนคนพาลก็ไม่ได้อาหารจากเรา ความพาลของเขาก็จะไม่เติบโตเพราะความไม่เด็ดขาดของเรา
คนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง เป็นอย่างไร?
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า คนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง หรือแปลเป็นภาษาบ้าน ๆ ว่า คนพาลชอบเพ่งโทษ หรือ การเพ่งโทษคือพลังของคนพาล
ผมจะยกตัวอย่างให้อ่านกันกับเคสเพ่งโทษถือสา แบบมีอคติฝังใจ จะได้ศึกษาว่าถ้าแบบนี้ให้ห่างไว้
ก็เคยมีครั้งหนึ่งที่ผมคุยกับกับเพื่อนอีก 2 คน คนหนึ่งเป็นเพื่อนใหม่ คุยกันก็หลายเรื่อง จนเราพูดทักเพื่อนใหม่ไป เขาก็รีบสรุปเลยว่า เราเพ่งโทษในเรื่องที่เขาพูด เพราะเราไปทักในเรื่องที่เขาศรัทธา ทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้มีเจตนาเพ่งโทษ แต่เรามีเจตนาจะช่วยเพื่อน เห็นเพื่อนจิตใจฟุ้งฟูล้นปลี่ไปกับโลกธรรม ก็เห็นว่าเป็นเพื่อนนักปฏิบัติธรรม แล้วเขาสนใจมาศึกษาร่วมกับเรา ก็เลยช่วย เราทักกิเลสเขา แต่เขาไปตีความว่าเราเพ่งโทษเรื่องเขา
แต่อันนั้นเขาคิดคนเดียวนะ อีกสองเสียงไม่ได้เห็นตามเขา คือผมก็เห็นอย่างผม เพื่อนอีกคนก็เห็นอย่างผม ได้ฟังก็เข้าใจว่าไม่ได้เพ่งโทษอะไร เพียงแค่บอกกัน มันเป็นเรื่องเข้าใจผิดประเด็นกัน แต่เพื่อนใหม่นี่พอเขาเข้าใจอย่างนั้น เหมือนจิตเขาหลุดเลย เขา”เดา“ไปว่าเราเพ่งโทษเขาอีก นี่มันเพ่งโทษซ้อนในเพ่งโทษ เป็นนรกตื้น ๆ ที่ผมคิดว่าไม่น่าจะเกิด ก็ยังเกิดได้
ปกติถ้าไม่มีใครขอไว้ ผมจะไม่ไปติหรือไปทักใครเป็นส่วนตัว หรือถึงจะขอไว้ แต่ก็จะดูอินทรีย์พละด้วยว่าไหวหรือไม่ ซึ่งปกติผมคุยกับเพื่อนสนิทก็ทักกัน วิเคราะห์เรื่องกิเลสประจำอยู่แล้ว เรียกว่าชินล่ะนะ
ทีนี้เอามาตรฐานที่เราทำประจำมาใช้กับเพื่อนที่เข้ามาใหม่ แล้วความเห็นมันไม่ตรงกัน แล้วเขาปรับไม่ทัน เขาเพ่งโทษไปแล้ว เขาปิดประตูไปแล้ว ไม่ฟังเสียงคนอื่นแล้ว เขาถอนความเห็นผิดไม่ได้แล้ว อธิบายไปก็ไม่ช่วยอะไร
ผ่านไปไม่กี่วัน เพื่อนสนิทผมไปคุยปรับใจให้ เพราะเห็นว่าเขาเพ่งโทษแค่ผม ไม่ได้เพ่งโทษเพื่อน น่าจะพอฟังกันได้อย่างไม่มีอคติ แต่ที่ไหนได้ เพื่อนสนิทผมมาเล่าให้ฟังทีหลังว่า พูดไม่เข้าเลย เหมือนมีอะไรกั้น เขาไม่ฟัง แถมจิตเขาฝังความเข้าใจผิดไปอย่างยึดมั่นถือมั่นแล้วด้วย
โอ้โห! ผมนี่ซึ้งเลย เวลาคนจะโง่ นี่เขาโง่ได้หนักแน่นจริง ๆ คนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลังจริง ๆ เดาเอาเอง สรุปเอง ชิงชังเอง ยึดเอง แล้วพาลมาข่มผมซ้ำด้วยนะว่าผมไปเพ่งโทษ ภูมิผมไม่ถึง ไม่น่าเล่าให้ผมฟัง
ทั้งที่จริง ๆ มันตรงกันข้าม เหมือนมีเด็กได้ของเล่นชิ้นใหม่มา แล้วตื่นเต้น เอามาอวด ผมก็ทักไปว่าความตื่นเต้นมันไม่งาม เด็กก็โกรธ ไม่พอใจ แล้วสรุปว่าไม่น่าเอาของเล่นมาโชว์เราเลย อะไรประมาณนี้ …
ก็เอานะ แบบนี้ก็ห่าง ๆ กันไว้ จริง ๆ เขาก็ห่างจากเราไปเพราะเขาเพ่งโทษ ถือสา ดูถูก เขาก็ไม่ศรัทธาเราอยู่แล้วนั่นแหละ
เจอแบบนี้ก็ได้เรียนรู้ว่า อย่าไปรีบปักใจเชื่อว่าเขาจะรับเราไหวนะ บางคนเหมือนจะแกร่ง แต่ก็ได้แค่ท่าดี อินทรีย์พละเป็นเรื่องของจิต ไม่ใช่ท่าที ไม่ใช่บุคลิก ดูเผิน ๆ ดูไม่ออกหรอก ต้องคบคุ้นกันนาน ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ
ก็ได้เรียนรู้อีกว่าไม่ต้องไปเอาภาระมาก บางทีบางเรื่องมันก็ต้องดูกันไปยาว ๆ ก่อนจะตัดสินใจช่วย ไม่ช่วยนี่ไม่ยากเท่าไหร่ ไม่ต้องคิดอะไร แต่ถ้าจะช่วย ศรัทธาเขาต้องเต็มที่ เต็มใจ ไม่ใช่มาแบบลองของ อันนั้นเสียเวลาสุด ๆ
จะมีอะไรเสียเวลาชีวิตเท่ากับไปคบคนพาล สร้างกุศลก็ได้น้อย ส่วนบุญนี่ไม่มีเลย เพราะคนพาลไม่ใช่เนื้อนาบุญ ไม่ต้องไปลงทุน ไม่ต้องไปยุ่งมาก