Tag: การให้ทาน
นกน้อยกับงูจำแลง
โลกหมุนไวจังพี่จ๋า สาวคุกเข่าขอแฟนหนุ่มแต่งงาน พร้อมมอบสินสอดเป็นรถบิ๊กไบค์ !
วันก่อนเห็นข่าวผู้หญิงเขาเอาของบรรณาการมาเพื่อขอผู้ชายแต่งงาน ข่าวนี้อาจจะดูแปลกในเมืองไทย แต่สำหรับผม ก็คิดว่าไม่แปลกอะไรถ้าจะมีเหตุการณ์แบบนี้
สมัยนี้ผู้ชายอย่างเรา ๆ นี่ก็ใช่ว่าจะประคองตัวให้โสดได้ง่าย เพราะผู้หญิงทั้งหลายช่างขยันปั้นเสริมเติมแต่งให้มันดูดีดูงาม ดูน่าสนใจ งามไม่พอยังเก่งอีก เก่งไม่พอยังเป็นคนดีอีก เป็นคนดีไม่พอยังรวยอีก เอ้า ว่าแล้วก็เอาลาภเหล่านั้นมาล่อให้เราหลง
ผู้ชายอย่างเรา ๆ นี่ก็เปรียบเสมือนนกน้อย (เปรียบซะน่าหมั่นไส้) ที่มีอิสระ จะบินไปไหนก็ได้ ตามแต่ใจ อยู่เป็นโสดไปจนแก่ก็ยังเท่ หรือจะไปบวชก็ทางสะดวก แถมบวชแล้วยังเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ได้อีก
แต่ก็ดันมาหลงผู้หญิง โทษของผู้หญิงนี่พระพุทธเจ้าท่านเปรียบไว้ค่อนข้างแรง ก่อนอ่านก็ตั้งจิตตั้งใจดีๆ หายใจลึกๆ ท่านเปรียบโทษของหญิงไว้ดั่งงูพิษ ( พระไตรปิฎก เล่ม ๒๒ ข้อ ๒๓๐ “สัปปสูตรที่ ๒” )
ผมก็จะเปรียบเปรยหญิงไว้ดั่งงู ทีนี้เจ้างูจะล่อนกก็ต้องแปลงกาย ทำตัวให้เล็กๆ เหมือนหนอนน้อย ให้ดูน่ารัก สวย สดใส ร่าเริง แอ๊บแบ๊ว~ เจ้านกน้อยหน้าโง่ๆ ก็ไม่รู้เรื่องอะไร เห็นงูเป็นหนอนก็เลยจะเข้าไปจิกกิน …ต่อจากนั้นก็คิดต่อกันเอง
จริงๆ ในเพจนี้ แฟนเพจผู้หญิงเยอะกว่าผู้ชายนะ ที่ผมยกเรื่องนี้มาก็เห็นว่ามันค่อนข้างเป็นการกระทำที่แกว่งเท้าหานรกให้ตัวเองเหลือเกิน อย่าไปเอาเยี่ยงอย่างเขาเลย แม้แต่การทอดสะพาน ส่งสายตา หรือแอบให้ท่าก็อย่าไปทำ ให้นึกเอาว่าสงสารนกน้อยหน้าโง่ๆ มันไม่รู้อะไรหรอก มันไม่รู้ว่าผู้หญิงอย่างเราๆ นี่ร้ายแค่ไหน ถือว่าปล่อยลูกนกลูกกาไป
การให้ทานที่มีอานิสงส์มากก็คือปล่อยนกน้อย(ผู้ชาย)เหล่านั้นไป นั่นแหละ อย่าเอาเขามาเป็นตัวเราของเราเลย เพราะขืนเอาเขาเข้ามาขังไว้ สุดท้ายเขาก็ทุกข์ เราก็ทุกข์ คนอื่นๆก็เป็นทุกข์
ทานนี้เพื่อให้
ทานนี้เพื่อให้
การทำบุญทำทาน หรือการสละให้ออกไปนั้น เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนทุกคนบนโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เป็นการลดความอยากได้อยากมี เป็นบุญ เป็นกุศล เป็นสิ่งที่ควรให้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน
ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ นอกจากการแบ่งปันเผื่อแผ่กันแล้ว สัตว์ทั้งปวงหามีที่พึ่งอย่างอื่นไม่ ” ดังนั้นการให้ทานจึงเป็นสิ่งที่ควรพึงกระทำอย่างสม่ำเสมอ
การให้ทานจะมีผลมากนั้นก็ขึ้นอยู่กับทานนั้นลดกิเลสหรือไม่? เราได้สละออก ได้ให้ไปจริงหรือไม่? บางครั้งเรามักจะเห็นคนที่ให้หรือบริจาคทาน ไม่ได้ให้อย่างแท้จริง เมื่อให้ไปแล้วแต่ยังมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ ยังคาดหวัง ยังแลกเปลี่ยนอยู่
เช่น เราให้ขนมกับเพื่อน เราให้ไปแล้วนะ แล้วเพื่อนเอาขนมที่เราให้ไปให้หมากิน เรากลับโกรธเพื่อน อันนี้คือเราไม่ได้ให้ไปจริงๆ
เช่น เมื่อเราทำบุญบริจาค เราให้ไปแล้วนะ แต่เราไปตั้งจิตขอให้สมหวังอย่างนั้นอย่างนี้ อันนี้คือเราไม่ได้ให้ไปจริงๆ
เช่น เราแนะนำ เราบอกสิ่งดีๆให้กับเพื่อนไปแล้ว แต่เพื่อนกลับไม่ทำตามที่เราแนะนำ ตามที่เราเห็นว่าดี กลับไปทำตรงข้าม แล้วเราไม่พอใจที่เขาไม่ทำตามเรา อันนี้คือเราไม่ได้ให้ไปจริงๆ
เช่น เราบอกคนที่ทำให้เราโกรธว่า “เอาเถอะ…ให้อภัยไม่ถือโทษกัน” เราบอกด้วยปาก ท่าทีของเราก็ดูปกติ คนนั้นเขาก็เชื่อนะ แต่ในใจเรายังโกรธ ยังเคือง ยังไม่พอใจอยู่ ยังไม่อยากเจอ ไม่อยากคบหา อันนี้คือเราไม่ได้ให้ไปจริงๆ
การให้ทานที่ยังมีความหวังว่าจะได้อะไรกลับมาตอบแทนหรือยังยึดมั่นถือมั่นเป็นเจ้าของอยู่นั้น เป็นการให้ทานไม่ถูกไม่ควรสักเท่าไรนัก
การให้ทานที่จะเกิดกุศลมาก ต้องเป็นทานที่ให้เพื่อที่จะให้ ให้เพื่อที่จะไม่ได้รับอะไรเลย ให้เพื่อหมดตัวหมดตน ให้เพื่อหมดความอยากได้ ให้เพื่อที่จะไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากจะเอาอะไรอีก ให้จนไม่มีอะไรจะเอา…
ในชีวิตของเราในแต่ละวันนั้น มีการให้ทานอยู่ในหลายรูปแบบ ทั้งวัตถุทาน ธรรมทาน อภัยทาน ถ้าเราพิจารณาให้ดีว่าการให้ทานที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งนั้น เราได้ให้ไปจริงหรือไม่ ยังคิดจะเอาอะไรอยู่หรือไม่ ก็จะเป็นการสร้างโอกาสในการทำทานที่ให้ผลเจริญ เป็นกุศล ที่ทำได้โดยไม่จำเป็นต้องรอไปทำบุญทำทานที่วัด ไม่ต้องรอตักบาตรตอนเช้า
วัตถุทาน เช่น เราสามารถแบ่งขนมให้เพื่อนกินได้หรือไม่ แบ่งของให้เพื่อนยืมได้หรือไม่ มีน้ำใจช่วยเหลือคนอื่นได้หรือไม่
ธรรมทาน เช่น เราแนะนำสิ่งดีให้กับคนอื่น พูดสิ่งที่ดี ที่พาลดกิเลสให้กับคนอื่น เมื่อมีปัญหาในกลุ่ม เราพูดเพื่อลดความบาดหมาง ลดโลภ โกรธ หลง หรือกระทั่งสอนให้เขาเข้าใจวิธีการทำให้ชีวิตไม่ทุกข์ก็เป็นธรรมทาน
อภัยทาน เช่น มีคนทำไม่ถูกใจเรา รถคันหน้าขับปาดแซงเรา คันหลังเปิดไฟสูงไล่เรา คันข้างๆเบียดเข้ามา เราให้อภัยเขาได้ไหม , เพื่อนร่วมงานนินทาเรา เจ้านายว่าเรา เราให้อภัยเขาได้ไหม , เห็นข่าวไม่ดีไม่งาม คนทำผิด ทำชั่ว ทำเลว เราให้อภัยเขาได้ไหม , มีคนพูดไม่ถูกใจเรา ทำไม่ถูกใจเรา คิดไม่ตรงใจเรา เราให้อภัยเขาได้ไหม
ดังจะเห็นได้ว่า การทำทานนั้นสอดร้อยไปในทุกจังหวะชีวิตของเรา หากคนมีปัญญารู้จักเก็บเกี่ยวกุศลสูงสุดของทุกๆเหตุการณ์ในแต่ละวัน ก็เรียกได้ว่าเป็นผู้ที่ไม่ประมาท รู้จักทำทานอยู่เสมอ แม้ว่าจะไม่ได้มีภาพลักษณ์เหมือนคนที่ใจบุญ ทำบุญตักบาตรนุ่งขาวห่มขาวไปวัดเป็นประจำอย่างที่สังคมเข้าใจ แต่เขาก็จะได้รับแต่สิ่งที่ดีในชีวิต เพราะผลแห่งทานเหล่านั้นนั่นเอง
– – – – – – – – – – – – – – –
7.9.2557