Tag: การแบ่งปัน

ตลาดอาริยะ สีมาอโศก

January 19, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 814 views 0

ตลาดอาริยะ สีมาอโศก

วันนี้ไปงานตลาดอาริยะที่โคราช มีเวลาอยู่ไม่มาก ด้วยข้อจำกัดของการเดินทางและธุระช่วงเที่ยง แต่ก็ตัดสินใจไป ระยะทางไปราว ๆ 150 กม. ไม่ใกล้ไม่ไกล พอไปได้ ก็ได้ประสบการณ์หลายอย่างที่่คุ้มค่า

1.เชื่อมโลก
เข้าไปก็เห็นแต่ชาวบ้านทั้งนั้น เรียกว่าประสบความสำเร็จในการเชื่อมกับชุมชนคนท้องถิ่น ทำให้เขาได้เข้ามารู้จัก ได้เข้ามาศึกษาว่าการปฏิบัติธรรมแนวนี้เป็นอย่างไร ทาน คืออะไร การทำทานเป็นอย่างไร งานตลาดก็ดูเหมือนเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ได้มีส่วนเชื่อมพี่เชื่อมน้องเข้ามา

2.อาหารมังสวิรัติ
คนจะได้รู้จักอาหารที่ไม่ใส่เนื้อสัตว์มากขึ้น มันเป็นเรื่องแปลกมาก ที่คนทั่วไปเข้ามาต่อแถวกินอาหารมังสวิรัติ ก็จริงอยู่ที่ว่าราคาถูกมาก แต่ประโยชน์คือเขาได้รู้จัก ได้เลี้ยงชีวิตด้วยอาหารที่ไม่เบียดเบียน แม้เขาจะกินไม่หมด ไม่ถูกปาก เททิ้ง แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะเอาไปทำปุ๋ยต่อได้ แค่ให้เขาได้มีโอกาสได้ศึกษา ได้สัมผัส มันก็เป็นคุณค่ามากแล้ว

3.ของดีราคาถูก
ผมเป็นคนที่ซื้อของบ่อย เลือกซื้อเลือกหา ก็ต้องบอกว่าเขาหาของมาขายถูกจริง ๆ แล้วก็เป็นของดี ที่ใช้งานได้ อย่างวันนี้ได้ด้ามจอบ 30 บาท ปกติทั่วไปก็เห็นว่า 60+ ก็สารพัดอย่างที่เขาเอามาขายในราคาแบ่งปัน ตรงนี้ชาวบ้านจะได้ประโยชน์ชัดเจน

4.การแบ่งปัน
ในมุมคนขายก็คงจะได้โอกาสแบ่งปันอยู่แล้ว สำคัญอยู่ตรงคนซื้อนี่แหละ เพราะมีมากกว่าคนขาย และดูเหมือนจะมีมากกว่าของที่ขายด้วย คนซื้อก็ได้ประโยชน์ในการหัดแบ่งปันคนอื่น ไม่เอาไว้คนเดียวหมด เช่นด้ามจอบนี่มันถูกนะ ผมจะซื้อสำรองไว้หลาย ๆ อันก็ไม่เสียหาย เงินก็พอมี แต่ของมันมีจำกัด แบ่งคนอื่นจะมีประโยชน์กับเขามากกว่า เราเอามาก็ไม่ได้ใช้หรอก แค่สำรอง จะใช้จริงแค่อันเดียว ก็ซื้อมาอันเดียว เราก็สละสิทธิ์ให้คนอื่นต่อ แม้ราคามันจะถูกยั่วใจมากมายก็ตาม แต่ประโยชน์ของการแบ่งปันมันมีมากกว่า เราก็เลยมาฝึกแบ่งปันด้วยในฐานะผู้ซื้อ

5.กระทบโลก
ขึ้นชื่อว่านักปฏิบัติธรรม มันก็ต้องกล้าที่จะกระทบโลก ก็อย่างว่ามีแต่ชาวบ้าน เขาก็แต่งตัวสวยหล่อตามที่เขาชอบนั่นแหละ ก็เข้ามากระทบคนวัด คนมากมายปะปน นิสัยต่างกัน ศีลธรรมต่างกัน มันก็จะมีการกระทบกระทั่ง ชนกัน เพราะมันไม่เสมอกัน อันนี้แหละ ผมคิดว่าคือความบันเทิงของนักปฏิบัติธรรม มันก็ต้องกระทบ กระทบแล้วก็ตรวจใจไปว่าไปชอบหรือชังอะไรเพราะอะไร มันมีผัสสะให้ตรวจ มีเวทนาเป็นความจริงให้รู้ มันสนุก มันจริง ไม่ต้องเสียเวลานึกปั้นว่าเราเจออย่างนั้นอย่างนี้จะเป็นยังไง เอาชนกันจริง ๆ นี่สนุก ยิ่ง contrast เยอะ ๆ จะยิ่งปั่นป่วนมาก แต่ก็ไม่ได้มากเกินควบคุม เพราะที่นี่ก็ยังเป็นวัด คนทั่วไปเขาก็ดูสำรวมอยู่

…ไปอยู่ราว ๆ 3 ชั่วโมง มานั่งนึกทบทวนก็ได้ประมาณนี้แหละครับ จริง ๆ ประเด็นมันก็เยอะไปหมดแหละ แต่นึกไม่ออก ใช้เวลาน้อย อาหารก็น้อย ปรุงได้น้อยตามไปด้วย ใครสนใจก็ตามศึกษากันเอา ประเด็นพวกนี้ครูบาอาจารย์ท่านแจกไว้หมดแล้วนั่นแหละ แต่อันนี้ผมเอาที่ตัวเองไปประสบพบเจอมาเล่ากันในมุมของผม

ทานนี้เพื่อให้

September 7, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,748 views 0

ทานนี้เพื่อให้

 

ทานนี้เพื่อให้

การทำบุญทำทาน หรือการสละให้ออกไปนั้น เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนทุกคนบนโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เป็นการลดความอยากได้อยากมี เป็นบุญ เป็นกุศล เป็นสิ่งที่ควรให้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน

ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ นอกจากการแบ่งปันเผื่อแผ่กันแล้ว สัตว์ทั้งปวงหามีที่พึ่งอย่างอื่นไม่ ” ดังนั้นการให้ทานจึงเป็นสิ่งที่ควรพึงกระทำอย่างสม่ำเสมอ

การให้ทานจะมีผลมากนั้นก็ขึ้นอยู่กับทานนั้นลดกิเลสหรือไม่? เราได้สละออก ได้ให้ไปจริงหรือไม่? บางครั้งเรามักจะเห็นคนที่ให้หรือบริจาคทาน ไม่ได้ให้อย่างแท้จริง เมื่อให้ไปแล้วแต่ยังมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ ยังคาดหวัง ยังแลกเปลี่ยนอยู่

เช่น เราให้ขนมกับเพื่อน เราให้ไปแล้วนะ แล้วเพื่อนเอาขนมที่เราให้ไปให้หมากิน เรากลับโกรธเพื่อน อันนี้คือเราไม่ได้ให้ไปจริงๆ

เช่น เมื่อเราทำบุญบริจาค เราให้ไปแล้วนะ แต่เราไปตั้งจิตขอให้สมหวังอย่างนั้นอย่างนี้ อันนี้คือเราไม่ได้ให้ไปจริงๆ

เช่น เราแนะนำ เราบอกสิ่งดีๆให้กับเพื่อนไปแล้ว แต่เพื่อนกลับไม่ทำตามที่เราแนะนำ ตามที่เราเห็นว่าดี กลับไปทำตรงข้าม แล้วเราไม่พอใจที่เขาไม่ทำตามเรา อันนี้คือเราไม่ได้ให้ไปจริงๆ

เช่น เราบอกคนที่ทำให้เราโกรธว่า “เอาเถอะ…ให้อภัยไม่ถือโทษกัน” เราบอกด้วยปาก ท่าทีของเราก็ดูปกติ คนนั้นเขาก็เชื่อนะ แต่ในใจเรายังโกรธ ยังเคือง ยังไม่พอใจอยู่ ยังไม่อยากเจอ ไม่อยากคบหา อันนี้คือเราไม่ได้ให้ไปจริงๆ

การให้ทานที่ยังมีความหวังว่าจะได้อะไรกลับมาตอบแทนหรือยังยึดมั่นถือมั่นเป็นเจ้าของอยู่นั้น เป็นการให้ทานไม่ถูกไม่ควรสักเท่าไรนัก

การให้ทานที่จะเกิดกุศลมาก ต้องเป็นทานที่ให้เพื่อที่จะให้ ให้เพื่อที่จะไม่ได้รับอะไรเลย ให้เพื่อหมดตัวหมดตน ให้เพื่อหมดความอยากได้ ให้เพื่อที่จะไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากจะเอาอะไรอีก ให้จนไม่มีอะไรจะเอา…

ในชีวิตของเราในแต่ละวันนั้น มีการให้ทานอยู่ในหลายรูปแบบ ทั้งวัตถุทาน ธรรมทาน อภัยทาน ถ้าเราพิจารณาให้ดีว่าการให้ทานที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งนั้น เราได้ให้ไปจริงหรือไม่ ยังคิดจะเอาอะไรอยู่หรือไม่ ก็จะเป็นการสร้างโอกาสในการทำทานที่ให้ผลเจริญ เป็นกุศล ที่ทำได้โดยไม่จำเป็นต้องรอไปทำบุญทำทานที่วัด ไม่ต้องรอตักบาตรตอนเช้า

วัตถุทาน เช่น เราสามารถแบ่งขนมให้เพื่อนกินได้หรือไม่ แบ่งของให้เพื่อนยืมได้หรือไม่ มีน้ำใจช่วยเหลือคนอื่นได้หรือไม่

ธรรมทาน เช่น เราแนะนำสิ่งดีให้กับคนอื่น พูดสิ่งที่ดี ที่พาลดกิเลสให้กับคนอื่น เมื่อมีปัญหาในกลุ่ม เราพูดเพื่อลดความบาดหมาง ลดโลภ โกรธ หลง หรือกระทั่งสอนให้เขาเข้าใจวิธีการทำให้ชีวิตไม่ทุกข์ก็เป็นธรรมทาน

อภัยทาน เช่น มีคนทำไม่ถูกใจเรา รถคันหน้าขับปาดแซงเรา คันหลังเปิดไฟสูงไล่เรา คันข้างๆเบียดเข้ามา เราให้อภัยเขาได้ไหม , เพื่อนร่วมงานนินทาเรา เจ้านายว่าเรา เราให้อภัยเขาได้ไหม , เห็นข่าวไม่ดีไม่งาม คนทำผิด ทำชั่ว ทำเลว เราให้อภัยเขาได้ไหม , มีคนพูดไม่ถูกใจเรา ทำไม่ถูกใจเรา คิดไม่ตรงใจเรา เราให้อภัยเขาได้ไหม

ดังจะเห็นได้ว่า การทำทานนั้นสอดร้อยไปในทุกจังหวะชีวิตของเรา หากคนมีปัญญารู้จักเก็บเกี่ยวกุศลสูงสุดของทุกๆเหตุการณ์ในแต่ละวัน ก็เรียกได้ว่าเป็นผู้ที่ไม่ประมาท รู้จักทำทานอยู่เสมอ แม้ว่าจะไม่ได้มีภาพลักษณ์เหมือนคนที่ใจบุญ ทำบุญตักบาตรนุ่งขาวห่มขาวไปวัดเป็นประจำอย่างที่สังคมเข้าใจ แต่เขาก็จะได้รับแต่สิ่งที่ดีในชีวิต เพราะผลแห่งทานเหล่านั้นนั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

7.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์