Tag: การเบียดเบียน

ฆ่าตัวตาย บาปอย่างไร?

December 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,317 views 0

ฆ่าตัวตาย บาปอย่างไร?

ฆ่าตัวตาย บาปอย่างไร?

ถาม: คุณดิณห์ ช่วยบอกผมหน่อย ว่าการฆ่าตัวตาย บาปได้อย่างไร ในเมื่อ เราตายคนเดียว คนอื่นไม่ได้ตายด้วย สมมติว่าถ้าเราไม่เหลือใครแล้ว และไม่มีใครให้ห่วง ไม่มีใครห่วง การตายของเราก็ไม่น่าทำให้ใครเดือดร้อนนะครับ

ตอบ: เป็นบาปเพราะทำให้ตัวเองเดือดร้อน เป็นการเบียดเบียนตนด้วยความเห็นผิดครับ

เพราะเราอาจจะเห็นว่าชาติก่อนไม่มี ชาติหน้าไม่มี ทำอะไรไปก็ไม่มีผล เช่นเดียวกับการฆ่าตัวตายไม่มีผล ย่อมดับสูญไป สลายไป สิ่งที่ทำลงไปแล้วถูกยกเลิกทั้งหมด จึงมักคิดเห็นว่าการฆ่าตัวตายในเงื่อนไขที่ว่าไม่เหลือใครไม่มีผลกระทบกับใครเพราะเรามองแต่องค์ประกอบในชาตินี้ ไม่ได้รู้เหตุที่มา และไม่รู้ที่ไปของมัน

ซึ่งจริงๆ การฆ่าตัวตาย มีผลกระทบกับตัวเราเองโดยตรงเลย ด้วยความที่เราสำคัญผิด คิดว่าตัวเราเป็นของเรา เรามีสิทธิ์ขาดที่จะตัดสินใจทำอะไรก็ได้ แน่นอนว่าภาพที่เห็นคงจะเป็นเช่นนั้น แต่การกระทำใด ๆ ล้วนมีผลดีและร้ายอยู่ ถ้าเราทำดีเราก็จะได้รับผลดี ถ้าเราทำชั่วเราก็จะได้รับผลชั่ว

ทีนี้ชีวิตและร่างกายที่เราได้มานี่มันไม่บังเอิญนะ การที่เราเกิดมาครบ 32 มีสติปัญญาสามารถเข้าถึงคำสอนในศาสนาได้นี่มันไม่ได้มาลอยๆ มันไม่ใช่จับฉลากมาได้ มันมีเหตุมีที่มา เอาง่ายๆว่าเราต้องทำคุณงามความดีมาพอสมควรถึงจะได้สิทธิ์นั้น

สมมุติว่าเราต้องทำดีสัก 100 หน่วย ถึงจะมีสิทธิ์เกิดมาบนแผ่นดินที่มีธรรมะของพระพุทธเจ้าประกาศอยู่ เราก็ทำดีสะสมมาหลายต่อหลายชาติกว่าจะสะสมได้ความดี 100 หน่วย ทีนี้พอเกิดมาเราก็มีความเห็นว่า เราไม่มีญาติเป็นห่วง เราตายไปก็ไม่น่าจะทำให้ใครเดือดร้อน ว่าแล้วเราก็ฆ่าตัวตาย ทิ้งความดี 100 หน่วยที่ได้สะสมมาอย่างไม่เสียดาย

กรรมดีเมื่อได้รับแล้วก็หมดไป เมื่อเราได้รับผลนั้น คือทำดีจนเกิดมาบนแผ่นดินที่มีธรรมะของพระพุทธเจ้าประกาศอยู่ ผลนั้นก็จบไป ดี 100 หน่วยที่ทำมาก็หายไป ถ้าอยากได้ใหม่ก็ต้องทำดีใหม่

ชี้กันชัดๆว่าการฆ่าตัวตายคือการโยนสิ่งที่ดีทิ้งไปโดยไม่รู้ว่ามันดี ชีวิตนี่มันดีนะ มันมีคุณค่า คนเกิดมาแล้วสามารถสร้างคุณค่าให้กับตัวเองได้ จะตกต่ำจนเป็นมหาโจรก็ได้ จะดีจนเป็นพ่อพระก็ได้ หรือจะพัฒนาจนถึงขั้นเป็นพระอรหันต์ก็ได้ หนึ่งชีวิตมันมีโอกาส มีคุณค่าแบบนี้ แล้วทีนี้เราไม่สนใจเลยว่ามันมีที่มายังไง เราได้มาเราไม่เห็นค่า เห็นแค่ว่าถึงโยนชีวิตทิ้งไปก็ไม่เดือดร้อนใคร เราก็โยนสิ่งดีทิ้งไปแบบนั้น

ซึ่งลักษณะนี้ก็เข้ากับอุปกิเลสแบบหนึ่งคือ ลบหลู่คุณท่าน คือลบหลู่ ตีทิ้ง มองข้ามคุณความดีที่ตนทำมานี่แหละ แทนที่จะเอาร่างกาย ทรัพย์สิน ปัญหา ไปสร้างคุณค่าสร้างกรรมดีให้เราและโลกได้ใช้ แต่เรากลับเอาทั้งหมดไปโยนทิ้ง

ลองนึกภาพว่าเราต้องสร้างบันไดเพื่อไปให้ถึงยอดเขา เราก็เพียรสร้างมาหลายภพหลายชาติ แล้วชาติใดชาติหนึ่งก็เกิดความเห็นว่าจะสร้างทำไม ว่าแล้วก็พังบันไดเหล่านั้นทิ้ง สุดท้ายมันก็ต้องวนกลับไปเริ่มสร้างใหม่อยู่ดีนั่นแหละ เพราะนอกจากจะหลุดพ้นวัฏสงสารนี้ด้วยธรรมะของพระพุทธเจ้า โดยการทำลายกิเลสแล้ว ทางอื่นไม่มี ก็ต้องทำใหม่ เริ่มใหม่ แล้วชาติใดเห็นผิดอีก ก็ทำลายที่ตนเองสร้างมา แล้วก็วนกลับไปเกิดในกองทุกข์ พอทุกข์แล้วก็อยากพ้นทุกข์ ก็สร้างบันไดหนีทุกข์ใหม่ แล้วก็ทำลายไปอีก วนเวียนไปอยู่เช่นนี้

สภาพของคนที่คิดฆ่าตัวตายมักจะเกิดจากการไม่เห็นคุณค่าในตนเอง เป็นสภาพของความหดหู่ ซึมเศร้า หรือโกรธจัดซึ่งเกิดจากความไม่ได้ดั่งใจ ฯลฯ เป็นลักษณะหนึ่งของกิเลสที่สามารถแก้ไขได้ อยู่ในระดับของอบาย คือหยาบ ฉิบหาย เสียหายมาก เพราะถือว่าล้มโต๊ะ ทำลายคุณค่าที่ทำมาทั้งหมด

จริงๆแล้วไม่ใช่ว่าเราไม่มีคุณค่ากับใครหรอก เพียงแค่เราไม่รู้เท่านั้นเองว่ามี และไม่รู้จักการสร้างคุณค่า การที่เราหายไปนั้นมีผลกับคนอื่นไม่มากก็น้อย

ทรัพยากรที่เราใช้มาตั้งแต่เด็กจนโต สัตว์กี่ตัวที่ตายไปเพราะเรากิน ต้นไม้กี่ต้นหายไปเพราะการเรียนรู้ของเรา หลายสิ่งที่เราผลาญมาจนถึงวันนี้ เราสร้างคุณค่าชดเชยคืนให้กับมันอย่างเหมาะสมแล้วหรือยัง เราใช้ชีวิตเพื่อโลกให้มากพอกับที่เราเคยเอามาจากโลกแล้วหรือยัง หรือเราจะมาเพื่อเพียงเสพสุขแล้วเลือกที่จะจากโลกนี้ไปโดยทิ้งหนี้กรรมไว้ ไม่ยอมชำระสะสาง

ถึงแม้เราจะเหลือเป็นคนสุดท้ายในโลก ไม่มีใครให้ห่วง ไม่เหลือใครมาห่วงเรา ก็ยังไม่เห็นความจำเป็นว่าจะต้องทิ้งคุณค่าที่ตนมีไปเลย เรายังสามารถใช้ชีวิตสร้างสรรค์โลกได้นานตราบเท่าที่เราจะอยู่ไหว ถึงเวลาที่สมควรก็ปล่อยให้ร่างกายมันตายไปเอง ให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่รีบเร่ง ไม่ฝืน ไม่ต่อต้าน มีแต่จะเสริมให้โลกนั้นหมุนเวียนไปอย่างสงบร่มเย็น

ในวัฏสงสารอันยาวนานนี้ หากสิ่งใดจะสำคัญที่สุดก็คือตัวเราเอง มีแต่ตัวเราเองเท่านั้นที่เป็นผู้สร้างกรรม และเป็นผู้รับผลกรรมเหล่านั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

7.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

บทความมังสวิรัติต่อจากนี้

December 6, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,223 views 0

ก่อนหน้านี้ผมก็เขียนบทความชี้โทษของการกินเนื้อสัตว์และบอกประโยชน์ของการไม่กินเนื้อสัตว์ที่ประยุกต์เข้ากับคำสอนของศาสนาพุทธ มาจำนวนหนึ่งแล้วนะครับ

บทความก่อนๆหน้านี้ สำหรับผมเรียกว่าบทความเรียกน้ำย่อยแล้วกัน เพราะโดยมากจะใช้ภาษาที่ปรับให้เบา เกลาธรรมให้ง่าย สะกิดกิเลสกันพอประมาณ ไม่รุนแรงมาก

แต่หลังจากตอนนี้ผมคิดว่า จะเพิ่มน้ำหนักแล้วนะครับ เพราะกิเลสสมัยนี้มันหนา ถ้าผมไม่ลงแรงมากขึ้นก็จะขูดกันไม่ออกครับ

อย่างบทความล่าสุด “การซื้อเนื้อสัตว์ คือหุ้นส่วนร่วมฆ่า” ก็เริ่มๆจะเพิ่มน้ำหนักขึ้นมาแล้วครับ และอาจจะมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผมจะประมาณดูอีกทีครับ

ในมุมของผู้ปฏิบัติธรรม ผมเห็นว่า การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานี่มันเป็นการเบียดเบียนแบบที่เห็นกันชัดๆเลยนะ ถ้าไม่มีปัญญาเห็นโทษของสิ่งนี้ แล้วศีลในระดับที่ยากกว่าเช่น การกินมื้อเดียว, การประพฤติตนเป็นโสด, การพอเพียง นี่จะเข้าใจได้อย่างไร มันต้องใช้ปัญญามากกว่านั้นในการเข้าถึงคุณของสิ่งเหล่านั้นนะ

นี่แค่เรื่องตื้นๆยังไม่เห็นโทษกัน ไม่ต้องคุยกันเรื่องยากกว่านี้หรอก เพราะที่เห็นกันอยู่ทนโท่ว่าเบียดเบียนกันฆ่ากัน ยังไม่รุ้ไม่เห็นว่าเป็นโทษ ยังทำไม่รู้ไม่ชี้ แล้วที่ยากกว่านี้มันจะเข้าใจได้อย่างไร มันก็ถือปฏิบัติกันเอาเท่ๆ เท่านั้นแหละ

เรียกว่าปฏิบัติธรรมเท่ๆ ถือปฏิบัติให้มันดูเท่ๆ น่าเคารพ (สีลัพพตุปาทาน) แต่ไม่มีปัญญาเห็นโทษ

เพราะถ้ามีปัญญาจริงมันต้องเห็นโทษตั้งแต่เรื่องตื้นๆอย่างการไม่สนับสนุนเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาแล้ว

พุทธในไทยไม่ค่อยมีลำดับ ไม่มีเบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย อยู่ๆก็ไปอยู่กลางมหาสมุทรเลย แต่เรื่องตื้นๆกลับไม่รู้ …มันขัดกับที่พระพุทธเจ้าตรัสอยู่นะ ลองตรวจสอบตัวเองกันให้ดี

ธรรมชาติของผู้ไม่เบียดเบียน

December 3, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 11,536 views 0

ธรรมชาติของผู้ไม่เบียดเบียน

ธรรมชาติของผู้ไม่เบียดเบียน

ณ การประชุมมังสวิรัติ เอเชีย แปซิฟิก ( APVC ) ครั้งที่ 7 วันที่ 27 พฤศจิกายน 2558

บทคัดย่อ

ธรรมชาติของสัตว์นั้นย่อมเบียดเบียนกันเป็นธรรมดา แต่ธรรมชาติของผู้ที่จะพ้นจากความเป็นสัตว์ ไปสู่ความเจริญโดยลำดับย่อมละเว้นการฆ่าและการเบียดเบียน

สัตว์นั้นล่าและหากินโดยสัญชาติญาณ เพราะความหิวจึงทำให้มันต้องเบียดเบียน การล่าของสัตว์นั้นก็เพียงเพื่อดำรงชีวิตไปวันต่อวัน เป็นการกินเพื่ออยู่ ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน เป็นไปตามธรรมชาติของผู้ล่า ที่จะต้องล่าเพื่อดำรงชีวิต

แต่มนุษย์นั้นต่างออกไป ในปัจจุบันมนุษย์ไม่ได้ล่าสัตว์ไว้กินเพื่อดำรงชีวิต แต่เป็นการเข้าไปควบคุมชีวิตสัตว์ ควบคุมการเกิด การเติบโต การแก่ และการตายของสัตว์ ให้เป็นไปในความต้องการของตน วางบทบาทไว้เป็นยิ่งกว่าผู้ล่า ให้อยู่เหนือสัตว์ทั้งปวง โดยอ้างสิทธิ์ต่างๆในการควบคุมชีวิตสัตว์เหล่านั้น และเรียกสิ่งนั้นว่าเป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นธรรมชาติที่มนุษย์ยัดเยียดให้กับสัตว์

การที่มนุษย์ยังเบียดเบียนอยู่นั้นก็เพราะกิเลส เราควบคุมสัตว์เหล่านั้นเพราะกิเลส เรากินสัตว์เหล่านั้นเพราะกิเลส เป็นไปตามธรรมชาติของผู้มีกิเลส แต่ไม่ใช่ธรรมะของผู้ที่จะก้าวสู่ความพ้นทุกข์

ผู้ที่จะดำเนินชีวิตไปสู่ความผาสุกที่ยั่งยืนโดยลำดับ ย่อมศึกษาเพื่อที่จะละเว้นจากการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เพราะการเบียดเบียนเหล่านั้นคือเหตุแห่งทุกข์

บทบรรยาย

ธรรมชาติของผู้เบียดเบียน

ธรรมชาติของผู้เบียดเบียน

สัตว์นั้นมีความเบียดเบียนกันเป็นธรรมชาติ นกล่าหนู สิงโตล่ากวาง เราอาจจะได้เห็นภาพที่น่าสยดสยองจากการล่า แต่นั่นก็ไม่น่ากลัวเท่ากับการเบียดเบียนของคน คนนั้นมีความซับซ้อนมากกว่าสัตว์ ฉลาดกว่าสัตว์ จึงใช้ความฉลาดนั้นในการเบียดเบียนได้มากกว่า

การเบียดเบียนของคนที่มีต่อสัตว์นั้น คือการเข้าไปควบคุมชีวิตสัตว์ตั้งแต่กระบวนการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทำตัวเสมือนพระเจ้าที่ชี้เกิด ชี้เป็น ชี้ตายแก่สัตว์เหล่านั้นได้ อุปโลกน์สิทธิ์ขึ้นมาว่า “ฉันนี้มีอำนาจในการจัดการชีวิตเธอ” สัตว์มันไม่เกิดก็ไปข่มขืนให้มันเกิด สัตว์ใดไม่มีประโยชน์ก็ยัดเยียดความตายให้มัน นี้คือความเบียดเบียนของคนผู้หนาไปด้วยกิเลส

เพราะคนมีความรัก โลภ โกรธ หลง คือรักที่จะเสพสุขในเนื้อสัตว์นั้น โลภอยากได้เนื้อสัตว์มาบำเรอตนตลอดไป ถ้าไม่มีเนื้อสัตว์ก็จะโกรธและหงุดหงิด เพราะคนนั้นหลงว่าเนื้อที่เขาฆ่ามานั้นมีคุณ หลงในรสเนื้อสัตว์ จึงทำให้คนต้องเบียดเบียนสัตว์เพื่อมาสนองตัณหาของตน ธรรมชาติของผู้เบียดเบียนจึงเป็นเช่นนี้

ธรรมชาติของผู้ไม่เบียดเบียน

ธรรมชาติของผู้ไม่เบียดเบียน

ศาสนาพุทธนั้นไม่ยินดีในความเบียดเบียน แม้ศาสนาใดในโลกต่างก็ไม่ยินดีในความเบียดเบียน กระทั่งกลุ่มคนที่ไม่มีศาสนาหรือไม่นับถือศาสนาใดๆ ก็ยังมีจิตที่จะเว้นขาดจากการเบียดเบียน ดังนั้นการไม่เบียดเบียนสัตว์ด้วยการกินเนื้อของมัน จึงเป็นศีลธรรมพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ สามารถเข้าใจกันได้โดยสามัญ เป็นเรื่องที่จะทำให้ทุกชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกซึ่งในตอนนี้เราก็จะกล่าวกันเฉพาะการไม่เบียดเบียนในมุมมองของพระพุทธศาสนา

ผู้ไม่ทำร้ายและไม่เบียดเบียน

ในบทโอวาทปาติโมกข์ (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๐ ข้อ ๕๔ ) ได้มีตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า “ผู้ที่ทำร้ายผู้อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต” ศาสนาพุทธไม่ได้กำหนดว่านักบวชคือผู้โกนผมห่มผ้า การเป็นนักบวชนั้นเป็นได้ด้วยการประพฤติตนให้อยู่ในคุณอันสมควร การไม่ทำร้ายเป็นคุณสมบัติหนึ่งของนักบวชในศาสนาพุทธ ผู้ที่ทำร้ายผู้อื่นอยู่แม้จะเป็นผู้โกนผมห่มผ้าก็ไม่เรียกว่าเป็นนักบวช

ที่เข้มข้นไปกว่านั้น คือ “ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ” สมณะหมายถึงผู้สงบจากกิเลส ในศาสนาพุทธนั้นมี สมณะ ๔ คือพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ เรียกรวมๆว่า พระอริยะ คือสภาพที่เจริญสู่ความพ้นทุกข์โดยลำดับ ซึ่งเป็นเป้าหมายของการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา

ท่านทั้งหลายเหล่านี้มีความไม่เบียดเบียนเป็นธรรมดาและบริสุทธิ์ผ่องใสโดยลำดับ หากเราเทียบกับการไม่เบียดเบียนที่เข้าใจกันว่า “การไม่กินเนื้อสัตว์คือการไม่เบียดเบียนสัตว์” ธรรมข้อนี้แม้ปุถุชนยังสามารถเข้าใจได้ เห็นตามได้ ปฏิบัติได้ ลดการเบียดเบียนได้ แล้วพระอริยะที่มีปัญญาห่างไกลกับพวกปุถุชน จะไม่มีปัญญารู้ถึงคุณแห่งการไม่เบียดเบียนนี้เชียวหรือ?

ดังนั้นการเบียดเบียนจึงไม่ใช่วิสัยอันสมควรของพระอริยะ หากท่านเหล่านั้นได้รับรู้แล้วว่ากรรมใดๆที่ตนได้ทำ ไปมีส่วนเบียดเบียนโดยที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ท่านก็จะเว้นจากอกุศลกรรมเหล่านั้นเสีย

พระอริยะไม่เบียดเบียน

ย้ำกันไปอีกจากพระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ข้อ ๒๙ “บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นอริยะเพราะเบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง บุคคลที่เราเรียกว่าเป็นอริยะเพราะไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง” จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าไม่เรียกผู้ที่ยังเบียดเบียนสัตว์อื่นว่าเป็นพระอริยะ ซึ่งเป็นสภาพที่ย้ำและยืนยันว่าศาสนาพุทธไม่ยินดีในการเบียดเบียน และไม่ยอมรับผู้ที่เบียดเบียนอย่างไร้สำนึกเข้าเป็นสาวกในศาสนา

ไม่เบียดเบียน ชักชวนผู้อื่นให้ไม่เบียดเบียน กล่าวชมการไม่เบียดเบียน

สรุปกันด้วยข้อความตอนหนึ่งจากพระไตรปิฎก เล่ม ๑๙ ข้อ ๑๔๕๙ มีเนื้อหาว่าด้วย สัตว์ทั้งหลายย่อมไม่ชอบใจในการถูกเบียดเบียนและทำร้าย แม้เราก็ไม่ชอบใจในสิ่งเหล่านั้น ดังนั้นเราจึงไม่ควรทำสิ่งที่เราไม่ชอบกับใครเลย ข้อความที่ตัดมาตอนท้ายคือ “อริยสาวกพิจารณาเห็นดังนั้นแล้ว ตนเองย่อมงดเว้นจากปาณาติบาตด้วย ชักชวนผู้อื่นเพื่องดเว้นจากปาณาติบาตด้วย กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นปาณาติบาตด้วย กายสมาจารของอริยสาวก ย่อมบริสุทธิ์โดยสามส่วนอย่างนี้

แปลความให้สอดคล้องกับเนื้อหาได้ว่า สาวกพระพุทธเจ้าเห็นว่าผู้ใดก็ไม่ชอบใจการทำร้ายและการเบียดเบียน ซึ่งเป็นเหตุให้ชีวิตสัตว์ตกร่วง(ปาณาติบาต) ตนเองก็จะไม่ทำร้ายและเบียดเบียน ชักชวนให้ผู้อื่นไม่ทำร้ายและเบียดเบียน ทั้งยังต้องพูดชมในประโยชน์ของการไม่เบียดเบียน ดังเช่นว่าถ้าพบเห็นใครไม่เบียดเบียน เช่นจัดกิจกรรมงดเนื้อสัตว์มากินผัก ก็ย่อมจะสรรเสริญและชอบใจในการไม่เบียดเบียนนั้น ความประพฤติของสาวกพระพุทธเจ้าต้องประกอบด้วยสามส่วนนี้ จึงจะเรียกว่า “พระอริยะ

ดังจะเห็นได้ว่า ศาสนาพุทธแท้ๆ ไม่ยินดีในการเบียดเบียนเลยแม้น้อย ไม่มีการทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ หรือทำผิดแล้วไม่แก้ไข มีแต่ความเห็นที่ยินดีในการไม่เบียดเบียน ไม่ใช่ผู้ที่ยังเบียดเบียนอยู่แล้วอ้างตนเป็นสาวก ซึ่งยังขัดกับหลักธรรมที่ยกมาข้างต้น

เพราะเห็นผิดจึงหลงเบียดเบียน

เพราะเห็นผิดจึงหลงเบียดเบียน

การที่คนเรานั้นยังเบียดเบียนสัตว์อื่นมาเพื่อความสุขของตนอยู่นั้นคือความเห็นผิด การที่เรามีความเห็นผิดเช่นนั้นเพราะเรา เห็นประโยชน์ในการเบียดเบียนมากกว่าโทษ และการที่เห็นเช่นนั้นได้เพราะมีกิเลสเป็นตัวสร้างความลวงให้เห็นผิดเป็นถูก จึงเกิดสภาพหลงติดหลงยึดในขั้นอบาย กาม โลกธรรม อัตตา โดยลำดับ

การติดเนื้อสัตว์ในระดับอบาย คือความหยาบและหนักหนา มีความต้องการกินเนื้อสัตว์ในปริมาณมาก เช่นบุฟเฟ่ต์ ทั้งหลาย มีงานเลี้ยงก็ระดมเนื้อสัตว์มากินกันอย่างไม่อั้น อย่างนี้คือความเห็นผิดที่จมลึกมาก

ในขั้นกาม คือติดในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสของเนื้อสัตว์ คนที่หลงติดในขั้นนี้จะต้องการเนื้อสัตว์ไม่มากเท่าระดับอบาย แต่จะต้องการความพิถีพิถัน ความอร่อย เรียกว่าถ้ามีของอร่อยอยู่ต่างประเทศก็สามารถเดินทางไปกินได้ แสวงหาแต่เนื้อสัตว์ที่ว่าอร่อย ถ้าไม่ถูกใจก็เป็นทุกข์

ในขั้นโลกธรรม คือความหลงในโลก ตนเองก็ไม่ได้ติดเนื้อสัตว์มากนัก แต่ก็กลัวจะเข้าสังคมไม่ได้ กลัวคนอื่นนินทา กลัวว่าจะเป็นคนดีเกินหน้าเกินตาใคร สารพัดความกลัวที่ไม่กล้าหลุดจากความชั่วในสังคม เขาพาทำชั่วอะไรก็ทำไปกับเขาอย่างนั้น เพราะกลัวไม่เป็นที่ยอมรับ

ในขั้นอัตตา คือความเห็นว่าเนื้อสัตว์นั้นเป็นคุณประโยชน์ที่ชีวิตสมควรได้รับ มีสารอาหารที่มีคุณค่า ฯลฯ มีความเห็นความเข้าใจว่าเนื้อสัตว์ดี เนื้อสัตว์เป็นตัวตนของเรา ถ้าเป็นระดับหยาบๆก็จะเป็น ฉันเป็นสัตว์กินเนื้อ, ฉันเกิดมาเพื่อกินเนื้อ ฯลฯ พ่อแม่บางคนไม่กินเนื้อสัตว์ได้อย่างปกติแล้ว แต่กลับมีความเห็นว่าลูกต้องกินเนื้อสัตว์เพื่อความเจริญเติบโต นี่คือความเห็นที่ยังหลงว่าเนื้อสัตว์เป็นอัตตาอยู่ ยังไม่มีปัญญาเห็นความจริง แค่กดข่มความอยากไว้เฉพาะในตนเท่านั้น แต่ไม่รู้ไม่เห็นโทษตามความเป็นจริง

เมื่อมีกิเลสบังตา จึงมีข้ออ้างขึ้นมาเพื่อที่จะให้ได้เสพตามที่กิเลสสั่ง ถ้าข้ออ้างทั่วไปก็เช่น คนเราต้องกินให้ครบห้าหมู่ ,คนกินได้ทั้งพืชและสัตว์, เดี๋ยวขาดวิตามินขาดสารอาหาร, หากินยาก ฯลฯ หรือถ้าเป็นคนดีมีศีลธรรมขึ้นมาแต่มีความเห็นผิดก็มักจะมีความเห็นเช่นว่า กินเขาไปแล้วเราไปทำดีเขาได้บุญ, กินเขาแล้วไปไถ่ชีวิตเพื่อนเขา, กินเขาแล้วทำบุญส่งไปให้เขา ก็เป็นลักษณะของความเห็นผิดที่เกาไม่ถูกที่คัน ผิดแล้วไม่แก้ไข ซ้ำยังไปแก้ไขที่ปลายเหตุ ไม่แก้ต้นเหตุ

หรือที่หนักไปกว่านั้นคือทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ไปเลย เช่น สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม, มันเป็นแค่ธาตุ ๔ , กินเพื่อบำรุงขันธ์ ฯลฯ จริงๆถ้าเป็นสมัย 30-40 ปีที่อินเตอร์เน็ตยังไม่เข้ามาก็พอจะรับฟังได้ แต่การกล่าวอ้างเช่นนี้ในยุคสมัยนี้ถือว่าเป็นคนล้าสมัย เหมือนกับรถที่เติมได้แต่น้ำมันเบนซิน 95 ทั้งๆที่ในปัจจุบันเขาเติม e85 กันได้มากมายแล้ว นั่นคือในยุคก่อนๆนั้นเราไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ทางโภชนาการของอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ได้ง่ายนัก เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะต้องกินอะไรทดแทนเนื้อสัตว์ไม่ให้ร่างกายขาด แต่สมัยนี้ค้นไปยังไงก็มีข้อมูล แถมพืชผักหลายชนิดยังให้คุณค่ามากกว่าเนื้อสัตว์ด้วย ดังนั้นคนที่ยังเบียดเบียนอยู่โดยที่ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้คือคนที่ตั้งใจล้าสมัยเพื่อให้ตัวเองได้เสพรสเนื้อสัตว์สมใจ ไม่ฉลาด ไม่มีปัญญาขวนขวายในความไม่เบียดเบียน ไม่มีคุณสมบัติของผู้เจริญ

ต้องแก้ความเห็นผิดด้วยความจริง

ต้องแก้ความเห็นผิดด้วยความจริง

การที่คนเรานั้นยังเห็นผิดอยู่ก็เพราะยังไม่รู้แจ้งความจริงตามความเป็นจริง การแสดงความเป็นจริง ก็เช่น การเสนอให้เห็นว่า การกินเนื้อสัตว์ไปเบียดเบียนสัตว์อย่างไร เบียดเบียนตนเองอย่างไร หรือเบียดเบียนสิ่งแวดล้อมอย่างไร เอาผลกระทบ เอาความจริงมานำเสนอให้เห็นจริงกัน

เพราะถ้ายังมีความลวงอยู่ก็จะไม่มีความจริง ธรรมชาติของกิเลสนั้นจะลวงคนให้เบียดเบียนกันเป็นธรรมดา เราจึงต้องใช้ธรรมะ ใช้ความจริงที่ชี้ให้เห็นว่าการเบียดเบียนเป็นโทษเข้าไปแก้ความเห็นผิดนั้น

เมื่อคนเราไม่เห็นความจริงว่าการกินเนื้อสัตว์เบียดเบียนอย่างไร ก็จะไม่มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป( หิริโอตตัปปะ ) การที่คนไม่มีความละอายเหล่านั้นเพราะไม่มีศีล ในปัจจุบันคนมีศีลเพียงแค่หยาบๆ เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ก็จะไม่ฆ่าอยู่เช่นนั้น แต่ถ้าให้คนอื่นฆ่ามากินก็ไม่เป็นไร ถือว่าเป็นการหยุดนิ่ง ไม่พัฒนา ในขณะที่ค่ารวมๆกิเลสในโลกนั้นสูงขึ้น เหมือนน้ำทะเลที่กำลังจะละลายท่วมพื้นโลก เหล่าคนผู้ประมาทตั้งบ้านอยู่ชายฝั่งและเห็นว่าแค่นี้ก็เพียงพอ เหมือนคนที่เห็นว่าแค่ไม่ฆ่าก็เพียงพอ

การไม่มีอธิศีลคือความเสื่อมของชาวพุทธ อธิศีลคือการพัฒนาการไม่เบียดเบียนโดยลำดับ อย่างที่ยกมาในพระไตรปิฎกก่อนหน้านี้ นอกจากเราจะไม่ฆ่าแล้วเรายังต้องชักขวนให้คนอื่นไม่ฆ่า ซ้ำยังต้องกล่าวชมประโยชน์ในการไม่ฆ่าและไม่เบียดเบียนอีกด้วย เมื่อคนไม่มีการพัฒนาศีล ก็จะจมลงในความเสื่อมไปเรื่อยๆ ทำให้แก้ไขความเห็นผิดได้ยาก จึงต้องเบียดเบียนและเวียนวนไปตามวิถีโลกต่อไป

คนเห็นผิดมากกว่าคนเห็นถูก

คนเห็นผิดมากกว่าคนเห็นถูก

เป็นเรื่องธรรมดาที่ในโลกนี้จะมีคนเห็นผิดมากกว่าคนเห็นถูก จึงมีคำเปรียบดังจำนวนขนโคที่มากกว่าจำนวนเขาโค ดังนั้นการที่เราจะหวังว่าให้ทุกคนไม่เบียดเบียนนั้น จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แม้พระพุทธเจ้าที่เป็นบุรุษที่เก่งที่สุดในจักรวาลก็ยังไม่สามารถทำให้ทุกคนในโลกเป็นคนดีได้ทั้งหมด ดังนั้นผู้ที่ชักชวนให้คนอื่นลดการเบียดเบียนจึงต้องทำใจยอมรับความธรรมดาเหล่านี้ด้วย

ความยึดมั่นถือมั่น เบียดเบียนผู้อื่นอย่างไร

ความยึดมั่นถือมั่น เบียดเบียนผู้อื่นอย่างไร

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น สิ่งใดที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น สิ่งนั้นจะไม่ทุกข์ เป็นไม่มี” ไม่ว่าเราจะยึดในสิ่งใดทั้งร้ายและดี สิ่งเหล่านั้นต่างก็สร้างทุกข์ทั้งสิ้น

การยึดชั่วเป็นสิ่งที่เห็นโทษภัยได้ง่าย จึงละได้ง่าย แต่การยึดดีนั้นเห็นโทษได้ยาก เข้าใจได้ยาก จึงละได้ยากเพราะความดีนั้นเป็นสิ่งที่คนแสวงหา เป็นเป้าหมายของมนุษย์ทุกคนผู้หวังความผาสุก แต่เมื่อได้มาซึ่งสิ่งที่ดีหรือมีความดีนั้นในตนแล้ว ถ้ายังยึดดี ทำดีแล้ววางดีไม่เป็น ต้องการให้เกิดดีตลอด ก็ยังเป็นสาเหตุให้เกิดทุกข์ได้

หลายคนมักจะเมตตาสัตว์ แต่กลับไม่เมตตาคนด้วยกัน อาจเพราะเรามีความรักในสัตว์นั้นมาก โลภอยากให้คนอื่นมาเอาดีอย่างเรา และโกรธเมื่อเขาไม่สามารถทำดีได้อย่างใจเรา สุดท้ายก็เพราะเราหลงยึดดี ทำให้เกิดการถกเถียงจนกระทั่งทะเลาะเบาะแว้ง แข่งดีเอาชนะกันระหว่างคนที่กินเนื้อสัตว์กับคนไม่กินเนื้อสัตว์

การพยายามเอาชนะกันด้วยความดีก็ยังเป็นสิ่งชั่วอยู่ดี ถ้าให้ดีคือไม่ต้องแข่งดีเอาชนะกันเลยจะดีกว่า ใครทำดีได้ก็ทำไป ใครทำไม่ได้ก็ศึกษาโทษของความชั่วนั้นไป การที่เรายังแข่งดีเอาชนะคนอื่นด้วยความยึดดีของเรานั้น คือการเบียดเบียนกันด้วยทิฏฐิ ยังเป็นผู้เบียดเบียนผู้อื่นอยู่ และยังเบียดเบียนตนด้วยความเห็นผิดอยู่นั่นเอง

ทำอย่างไรจึงจะทำให้เขาเลิกกินเนื้อสัตว์

ทำอย่างไรจึงจะทำให้เขาเลิกกินเนื้อสัตว์

การชักชวนให้เขาเห็นโทษในการเบียดเบียน ชี้นำให้เขาเลิกกินเนื้อสัตว์นั้นหากเป็นผู้ที่ศรัทธากัน เห็นตรงกัน ยอมฟังกันบ้างก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอะไรนัก

แต่คนส่วนมากมักจะไม่ต้องการเลิกกินเนื้อสัตว์ เขามักจะพยายามหลบเลี่ยงการได้รับข้อมูลว่าดังเช่นว่าเนื้อสัตว์เป็นโทษ เนื้อสัตว์ได้มาจากการเบียดเบียน หรือเรียกว่า “ไม่อยากฟัง” แล้วเราจะทำอย่างไรกับคนที่ไม่อยากฟัง เราไม่ได้จะไปยัดเยียดเขานะ แต่เราอยากช่วยเขาให้พ้นภัยจากการเบียดเบียนและหันมาประพฤติตนสู่ความผาสุก

พระพุทธเจ้าตรัสเหตุแห่งความเห็นที่ถูกต้องไว้สองประการ 1.คือการยอมฟังความเห็นที่แตกต่างบ้าง 2.คือการทำใจในใจโดยแยบคายพิจารณาลงไปถึงที่เกิด การที่เขาไม่ยอมฟัง ก็เรียกได้ว่าปิดประตูสู่ความเห็นที่ถูกแล้ว ทีนี้เราจะทำอย่างไร ให้เขาได้เห็นคุณค่าของการไม่เบียดเบียนแม้จะไม่ยอมรับฟังก็ตาม

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “บัณฑิตพึงตั้งตนอยู่ในคุณอันสมควรก่อน ค่อยสอนผู้อื่นภายหลัง จึงไม่มัวหมอง” นั่นหมายถึงก่อนที่เราจะไปสอนใครให้เห็นประโยชน์ของการไม่เบียดเบียน เราก็ควรจะทำตนเองให้เป็นผู้ไม่เบียดเบียนเสียก่อน ถ้ายังตบยุง ทำร้ายสัตว์อยู่ก็ยังพร่องอยู่ ไปสอนใครเขาก็ไม่เชื่อ เพราะเขายังเห็นว่าเรายังเบียดเบียนอยู่ แม้ในที่สุดจะเบียดเบียนผู้อื่นด้วยความยึดดีก็จะต้องไม่ทำ

พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ ได้มีโศลกธรรมว่า “ความบริสุทธิ์เท่านั้น ที่จะชนะทุกสิ่งทั้งโลกในที่สุด” นั่นหมายความว่า เราทำความไม่เบียดเบียนนี้ให้บริสุทธิ์สมบูรณ์เถอะ แล้วธรรมะจะชนะอธรรมเอง หากเราเป็นผู้ไม่เบียดเบียนที่บริสุทธิ์แท้ เขาจะเกิดปัญญารับรู้ถึงความสงบเย็นของเราได้เอง แล้วเขาก็จะหันมาศรัทธาเรา ยอมรับฟังเรา และยอมทำใจในใจให้เห็นตามเราในที่สุด

ทีนี้จะต้องทำความไม่เบียดเบียนไปนานเท่าไหร่จึงจะเห็นผล ไม่อยากให้เขาต้องกินเนื้อสัตว์และเบียดเบียนสัตว์อยู่อย่างนี้ เพราะต้องก่อกรรมที่เบียดเบียนสะสมไปทุกวัน ความเห็นนี้เกิดจากใจของเราที่เร่งผล อยากให้เกิดสิ่งดีไวๆอย่างใจเรา คุณหมอเขียว ใจเพชร กล้าจน ได้มีคำกล่าวไว้ว่า “ให้โอกาสกันหลายๆชาติหน่อย” เป็นคำที่เอ่ยมาจากความเมตตาอย่างนับชาติไม่ได้ คือช่วยชาตินี้ไม่ได้ก็ไปช่วยชาติหน้า หรือไม่ก็ชาติต่อๆไป ให้โอกาสเขาได้เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ไม่รีบร้อน ไม่ยัดเยียด อดทน รอคอย ให้อภัย ทำตนเป็นผู้ชี้ทางเท่านั้น หน้าที่ทำความเข้าใจเป็นเรื่องของเขา เขาจะเอาหรือไม่เอาก็ได้ เราก็ไม่ต้องไปทุกข์เพราะเขาไม่เอาดี และควรเป็นสุขทุกครั้งเมื่อได้ทำดี คือทำดีอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องเกิดดี ทำดีแล้ววางดีไปเลย ไม่ต้องรอรับผลใดๆ ปล่อยให้มันเป็นไปตามวิบากกรรมของเขา

ปัญหาการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ต้องแก้ที่ต้นเหตุ

ปัญหาการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ต้องแก้ที่ต้นเหตุ

พระพุทธเจ้าสอนให้เรารู้ว่า การดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ ถ้าไม่ดับที่เหตุ ผลมันก็ไม่ดับ ความทุกข์นั้นเกิดจากการที่เราอยากกินเนื้อสัตว์ นั่นหมายถึงเหตุแห่งทุกข์คือ ความอยากเสพอะไรสักอย่างในเนื้อสัตว์ ดังนั้นการดับทุกข์ต้องดับ ความอยากเสพสิ่งนั้น ด้วยการทำความเห็นผิดที่ว่าเนื้อสัตว์เหล่านั้นเป็นสิ่งที่น่าใคร่น่าเสพให้เป็นความเห็นถูกที่ว่าเนื้อสัตว์มันก็เป็นของมันเช่นนั้น ไม่จำเป็นต้องไปหลงติดหลงยึดมัน ไม่มีมันก็ได้

หรือสรุปรวมได้ว่า ควรจะมาศึกษาในอริยสัจ ๔ คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เพื่อการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ซึ่งเป็นเหตุเกิดของการเบียดเบียนทั้งหมดทั้งสิ้นในโลกนี้

สรุป

สรุป…

คนที่เลี้ยงกิเลสไว้ย่อมเป็นผู้ที่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นอยู่เสมอ เป็นธรรมชาติของผู้เบียดเบียนที่จะหมุนเวียนไปสู่ความเสื่อม เหมือนกับการวนลงไปฐานเจดีย์ที่ยิ่งกว้างและไกลจากยอด ส่วนธรรมชาติของผู้ไม่เบียดเบียนย่อมศึกษาและปฏิบัติตนเพื่อการลดล้างกิเลส คือการเวียนไปสู่ความเจริญ เหมือนกับการวนขึ้นไปยังยอดเจดีย์ที่ยิ่งสูงก็ยิ่งน้อย นั่นคือเมื่อเราเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นน้อย ทุกข์ก็จะน้อยลงไปด้วย และเวียนไปจนถึงจุดสูงสุดที่จะเหลือแต่ธรรมะ ไม่มีชาติ ไม่มีการเกิดและดับของกิเลสอีกต่อไป

ธรรมชาติของผู้ไม่เบียดเบียน

บทวิเคราะห์ : การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่มีผลต่อจิตใจจริงหรือ?

October 13, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,645 views 0

การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่มีผลต่อจิตใจจริงหรือ?

บทวิเคราะห์ : การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่มีผลต่อจิตใจจริงหรือ?

                มีข้อขัดแย้งกันในประเด็นของจิตใจที่เปลี่ยนแปลงไปในทางเจริญเมื่อไม่กินเนื้อสัตว์ บ้างก็ว่ามีผล บ้างก็ว่าไม่มีผล หรือถึงจะมีผลก็ไม่ใช่สาระสำคัญอะไร ไม่ใช่สิ่งที่น่าใส่ใจเอามาปฏิบัติ ซึ่งในความจริงแล้วมีผลหรือไม่มีผล เรามาลองวิเคราะห์กันดู

การไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาคือการไม่ส่งเสริมการเบียดเบียน” ความเห็นนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก เป็นสมการแบบแปรผันตามกัน เพราะการที่เราจะได้กินเนื้อสัตว์ก็มาจากการฆ่าในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เป็นหลัก

ทีนี้คนจำนวนหนึ่งที่มีจิตเมตตา ได้รับรู้ถึงการเบียดเบียนที่โหดร้ายทารุณ จึงตั้งใจหยุดการบริโภคหรือหยุดสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสัตว์ ให้สังเกตตรงนี้ว่า จากเมตตานั้นพัฒนาเป็นกรุณา คือนอกจากสงสารแล้วยังลงมือทำด้วย ไม่ใช่ว่าสงสารแล้วยังกินเนื้อเขาอยู่ ซึ่งตรงนี้เป็น”ผล”ที่ได้เกิดขึ้นแล้ว

มีคนบางพวกซึ่งอาจจะเมตตา แต่ไม่ได้กรุณาอะไร ไม่ได้คิดจะลงมือเปลี่ยนแปลงอะไรให้เกิดสิ่งดีขึ้น คือมีจิตสงสารแต่ก็ปล่อยวางทั้งๆที่ยังไม่ได้ทำอะไร ความเข้าใจเช่นนี้คือทางลัดของกิเลสนั่นเอง ถ้าถามว่าจิตเช่นนี้จะเจริญหรือไม่ ก็ต้องบอกว่า “ไม่” เพราะสุดท้ายก็เสพกามเหมือนเดิม กินเนื้อสัตว์เหมือนเดิม เป็นปัญญากิเลสทั่วไปในสังคม ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็มีได้ ต่างจากกรณีแรกคือเมตตาแล้วกรุณา คือหยุดเสพกามอันเป็นเหตุให้เบียดเบียนนั้นด้วยจะเห็นได้ว่าการตั้งจิตดังเช่นว่า “ถ้าเลือกได้” จะไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาเลยตลอดชีวิตจึงเป็นเรื่องยากที่ไม่ได้ปฏิบัติกันโดยทั่วไป

การปฏิบัติธรรมให้จิตใจเจริญนั้นมีหลักคือละเว้นจากอกุศล เข้าถึงกุศล ดังนั้นผู้ที่มีความเห็นอกเห็นใจในสัตว์แล้วลงมือช่วย ย่อมมีผลเจริญขึ้นในจิตใจขึ้นมาบ้างแล้ว ต่างจากผู้ที่ไม่สามารถทำจิตเมตตาให้เจริญถึงขั้นลงมือละเว้นทั้งที่มีองค์ประกอบที่เอื้อให้ทำได้

นี่เป็นเพียงเรื่องของเมตตาที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ยังไม่ต้องเข้าหลักปฏิบัติในศาสนาอะไรที่ลึกซึ้ง ก็เห็นแล้วว่ามีผล และไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้โดยทั่วไป เพราะทำได้ลำบาก ต้องใช้ความพยายามต้องอดทนอดกลั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความอดทนอดกลั้น(ขันติ) นั้นเป็นเครื่องเผากิเลสที่ดีอย่างยิ่ง การจะกล่าวว่าการอดทนไม่กินเนื้อสัตว์ไม่มีผลนั้น ย่อมไม่ใช่ความเห็นที่ถูกต้องนัก

การประมาทในกุศลแม้น้อย ก็ยังถือว่าเป็นความประมาทที่ยิ่งใหญ่ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่สรรเสริญความหยุดอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย จะกล่าวไปใยว่า เราจะสรรเสริญความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย อนึ่ง เราย่อมสรรเสริญความเจริญ ไม่สรรเสริญความหยุดอยู่ ไม่สรรเสริญความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย

ความเจริญของจิตใจแม้เพียงเล็กน้อย สามารถพัฒนาไปเป็นความเจริญที่ยิ่งใหญ่ต่อไปได้ ผิดกับคนที่ไม่เห็นดีกับผู้ที่คิดจะนำความเจริญมาสู่จิตใจตน เขาย่อมตกลงสู่ความเสื่อม และยึดมั่นถือมั่นในความเห็นที่ต่อต้านการเข้าถึงกุศลธรรมนั้น จนปิดประตูในการทำกุศลเหล่านั้นเพราะเห็นว่าไม่มีค่า ไม่สำคัญ ไม่มีผล จนเสื่อมจากกุศลธรรมในเรื่องนั้นไปในที่สุด

ผู้ที่ไม่สามารถเห็น “ผล” ในการตั้งใจหยุดเบียดเบียน คือผู้ที่ไม่มีญาณปัญญารับรู้ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับผู้ที่ยังมีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) เพราะในความเห็นที่ถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิที่ยังเป็นสาสวะ) ในข้อแรกได้กล่าวไว้ว่า “ทานที่ทำแล้วมีผล” แล้วมีผลอย่างไรจึงจะสัมมาทิฏฐิ คือทานที่ทำแล้วนั้นมีผลในการลดกิเลส ลดความหลงติดหลงยึดได้

การจะมีสัมมาทิฏฐิไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่เรื่องที่รับรู้กันโดยทั่วไป ไม่ใช่แค่อ่านตามแล้วจะเข้าใจได้ แต่ต้องมีญาณปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติอย่างถูกตรงนั้นอยู่ในตน ดังนั้นการที่ใครจะมีความเห็นว่า “การไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา ไม่มีผลต่อความเจริญในจิตใจ” ก็เป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่ยังมีมิจฉาทิฏฐิ คือไม่สามารถรับรู้ได้ว่า สิ่งใดทำแล้วมีผล สิ่งใดทำแล้วไม่มีผล ทำอย่างไรจึงมีผล ทำอย่างไรจึงไม่มีผลเพราะไม่มีญาณรู้ในผลที่เกิดขึ้นได้

ความเห็นว่ากรรมและผลของกรรมมีผลนั้นเป็นหนึ่งในสัมมาทิฏฐิ ผู้ที่เห็นว่ากรรมที่ทำนั้นไม่มีผล ไม่เห็นว่าสิ่งใดที่ทำลงไปไม่ว่าจะดีหรือร้ายนั้นมีผล ก็จะทำให้เกิดความประมาท และร้ายยิ่งกว่าสำหรับผู้ที่รู้ว่ากรรมนั้นส่งผลเสีย เบียดเบียน เป็นทุกข์ แต่ก็ไม่คิดจะหยุดทำกรรมชั่วนั้นทั้งๆที่สามารถหยุดได้ คนเช่นนี้ไม่มีกำลังในการต้านความชั่วเลย สติก็ไม่มี ปัญญาก็ไม่มี จึงใช้ชีวิตโดยประมาท ปล่อยให้กรรมชั่วนั้นดำเนินต่อไป

พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “ ธรรม ๓ ประการนี้เป็นลักษณะของคนพาล ๑. ไม่เห็นว่าสิ่งที่เป็นโทษนั้นเป็นโทษ ๒.เมื่อเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นโทษแล้วไม่แก้กลับให้ถูกตามธรรม ๓. เมื่อผู้อื่นชี้ให้เห็นโทษ ก็ไม่ยอมรับรู้ตามธรรมนั้น “ ดังนั้นผู้ที่ได้รับรู้แล้วว่าสิ่งใดเบียดเบียน แต่ไม่พยายามหลีกเลี่ยงหรือละเว้น ทั้งยังทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ย่อมไม่สามารถเข้าถึงกุศลธรรม กลายเป็นคนพาลในที่สุด

จริงอยู่ที่ว่า ในหมู่ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์อาจจะมีผู้ที่ไม่ได้มีผลเจริญในจิตใจขึ้นมาเลย แต่ก็ไม่สามารถเหมาได้ว่าทุกคนนั้นไม่มีผล เพราะคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยความเห็นถูกตรงก็มี ดังนั้นการจะเหมาเอาว่าการไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาไม่มีผล จึงเป็นความประมาทของผู้ที่กล่าวข้อความเช่นนี้

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ผู้ประมาทก็เหมือนกับคนที่ตายแล้ว เช่นเดียวกันกับคนที่คิดว่าการไม่กินเนื้อสัตว์ไม่มีผล เขาย่อมตายจากกุศลธรรมที่ควรจะเกิด ตายจากความเจริญที่ควรจะมี ตายจากความดีที่เคยเป็นมา

– – – – – – – – – – – – – – –

8.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)