Tag: การเบียดเบียน

การไม่กินเนื้อสัตว์ เป็นเรื่องของจิตใจ

April 7, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,326 views 0

การไม่กินเนื้อสัตว์ เป็นเรื่องของจิตใจ

ความเจริญของจิตใจนั้นสามารถชี้วัดได้จากสิ่งหนึ่ง คือการลดการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ซึ่งเป็นผลที่เจริญขึ้นจากการทำความเห็นให้ถูกต้องโดยลำดับ

การไม่กินเนื้อสัตว์นั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับจิตใจโดยตรง เพราะการจะเลิกกินเนื้อสัตว์นั้นเราจะต้องหักห้ามใจ บังคับใจ ไม่ให้ใจนั้นหลงไปกินเนื้อสัตว์เหล่านั้น

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ จะไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยความเมตตา หวังประโยชน์เกื้อกูลต่อสัตว์ทั้งปวง ก็เป็นจิตที่เมตตาจนถึงรอบที่จะลงมือทำ ไม่ใช่แค่คิดเมตตาแต่ปากยังเป็นเหตุให้เบียดเบียนอยู่ หรือว่าจะเป็นเรื่องของสุขภาพ การหักห้ามใจไม่กินเนื้อสัตว์นั้นเป็นเรื่องที่จะทำให้ไม่เบียดเบียนตนเอง ถ้ากินแล้วตนเองก็เป็นทุกข์ เป็นโรค ก็ต้องฝืนใจเลิก นั่นเพราะใจที่ทุกข์จากเหตุแห่งสุขภาพนั้นมีน้ำหนักกว่าสุขเมื่อได้เสพเนื้อสัตว์ หรือจะเหตุผลอื่นใดก็ตาม การลด ละ เลิกสิ่งที่เป็นภัยต่อตนเองและผู้อื่นย่อมเป็นเรื่องดีทั้งสิ้น

แต่การจะเลิกกินนั้นไม่ง่าย หากเราตั้งใจละเลิกกินเนื้อสัตว์สักอย่างที่เราเคยติด เช่นเนื้อวัว การจะออกจากเนื้อวัวได้ต้องหักห้ามใจไม่ไปกินเป็นเบื้องต้น จนพิจารณาเห็นโทษภัยของการกินเนื้อวัวจนความอยากนั้นจางคลาย จึงค่อยๆ ขยับไปเลิกหมู ไก่ ปลา สัตว์เล็กสัตว์น้อยอื่นๆ จนถึง นม ไข่ น้ำผึ้ง ฯลฯ ซึ่งหลายคนก็สามารถตัดทุกอย่างทั้งชีวิตได้ในทันที แต่อีกหลายคนก็ไม่สามารถทำแบบนั้นได้ การเลิกกินเนื้อสัตว์นั้นต้องมีกำลังใจที่หนักแน่นและสำคัญที่สุดคือกำลังของปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงในโทษชั่วของการที่เรายังกินเนื้อสัตว์เหล่านั้น

ในขณะที่เรากำลังพยายามลด ละ เลิก ก็จะมีเสียงสะท้อนกับสังคม คำชื่นชมจากคนเห็นดีกับไม่กินเนื้อสัตว์ ไปจนถึงคำประชดประชันจากคนที่มีอคติต่อการไม่กินเนื้อสัตว์ เป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญ ถ้าเราเลิกแค่เนื้อวัวเราก็จะเจอการกระทบระดับหนึ่ง แต่ถ้าเลิกหมู ไก่ ปลา ไปอีกก็จะเจอแรงกระทบอีกระดับหนึ่ง ยิ่งถ้าไม่กิน นม ไข่ เนย น้ำผึ้ง ด้วยแล้วยิ่งจะเจอมากเข้าไปอีก ชมก็ชมมาแรง นินทาก็นินทามาแรง และยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเราเป็นผู้นำเสนอข้อดีของการไม่กิน ชักชวนผู้อื่นให้ละเว้นเนื้อสัตว์ แม้จะมีจิตที่ยินดีแบ่งปันสิ่งดีให้กับคนอื่นเช่นนั้น ถึงจะสื่อสารอย่างถูกกาลเทศะอย่างไรก็ตาม แต่ก็จะไม่สามารถหนีสรรเสริญนินทาพ้น

สรรเสริญก็ทำให้อัตตาโต ยิ่งมีคนชื่นชมมากๆ ก็สามารถทำให้หลงติดดีได้ นินทาก็เช่นกัน มันจะมาในทุกรูปแบบ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทั้งสุภาพและหยาบ ซึ่งจะคอยแซะให้เราตบะแตกแสดงความโกรธ นี่ก็เป็นเรื่องที่เราต้องฝึกจิตใจ อดทนข่มใจไม่ลอยไปตามคำชม ไม่ขุ่นมัวไปตามคำนินทา

สรุปแล้ว ตลอดเส้นทางแห่งการละเว้นเนื้อสัตว์ ย่อมจะเจอโจทย์ที่หลากหลายเข้ามาฝึกใจ ทั้งจากข้างในและข้างนอก ความอยากกินเขาเราเองก็ว่าหนักแล้ว เสียงจากสังคมก็ยิ่งหนักเข้าไปอีก คนที่จิตใจไม่ตั้งมั่นในการทำความดี ไม่มีกำลังใจ ไม่มีปัญญา ก็จะหวั่นไหวได้ง่าย เจอโลกเขาลากกลับไปกินเนื้อสัตว์ ก็กลับไปกินตามเขา เพราะใจง่ายนั่นเอง การไม่กินเนื้อสัตว์จึงเป็นเรื่องของจิตใจที่ต้องฝึกฝนเช่นนี้

– – – – – – – – – – – – – – –

15.3.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กิเลสสอนรัก ธรรมะสอนรู้

February 7, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 10,562 views 2

กิเลสสอนรัก ธรรมะสอนรู้

กิเลสสอนรัก ธรรมะสอนรู้

กิเลสสอนว่า …หาคู่ดีไม่ได้ อยู่เป็นโสดดีกว่า มีคู่ดีนั้นเป็นสุขที่สุดในชีวิต

ธรรมะสอนว่า … ผู้รู้ย่อมประพฤติตนเป็นโสด ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเรื่องคู่ย่อมเศร้าหมอง

– – – – – – – – – – – – – – –

กิเลสจะเอาแต่สร้างเงื่อนไขให้ไปเสพสุขโลกีย์ จะมีคู่ยังต้องมีให้มันสุขยิ่งกว่าสุขเดิม ต้องมีให้เสพมากขึ้น พาให้ต้องการอย่างไม่รู้จักพอ โดยมีภาพฝันแบบอุดมคติไว้ว่าถ้าได้เสพอย่างนั้นอย่างนี้ ฉันจะต้องสุขแน่นอน ความเห็นของกิเลสหรืออธรรมมักจะเป็นไปในแนวทางนี้ คือต้องแสวงหาตามที่หลงติดหลงยึดมาเสพจึงจะเป็นสุข

ส่วนธรรมะจะสร้างข้อปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลส ไม่ให้กิเลสได้เสพสมใจ ชะลอ ต่อต้าน ผลักไส ทำลาย ไล่บดขยี้กำลังของกิเลสที่มี การประพฤติตนเป็นโสดคือการทำลายเหตุแห่งการไปมีคู่เรื่อยๆ จนหมดสิ้น ตั้งแต่ภายนอกจนไปถึงภายใน ภายนอกเราก็ไม่ไปยั่วกิเลสใคร ไม่แต่งตัวแต่งหน้า ไม่ทำให้ตนดูโดดเด่นล่อตาล่อใจใครไม่สื่อสารเรื่องที่จะพาให้รักใคร่ชอบพอกันในเชิงชู้สาว ภายในเราก็ล้างความใคร่อยากเสพสุขลวงจากการมีคู่ออกจากจิตใจเสีย กำจัดกิเลสออกจากจิตวิญญาณ โดยใช้ธรรมะเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว

เรามีสิทธิ์เลือกที่จะฟังคำสอนจากทางใดก็ได้ ไม่ว่าจะฟังกิเลสก็ตาม จะฟังธรรมะก็ตาม แต่ความแตกต่างนั้นคือผลที่จะได้รับ กิเลสนั้นพาให้เกิดความทุกข์ ความชั่ว ความเบียดเบียน โทษภัยสารพัด ความฉิบหายวายวอดทั้งชีวิตและจิตใจ ส่วนธรรมะจะพาให้เกิดความสุข ความดี ความเกื้อกูล ความเจริญงอกงามทั้งชีวิตและจิตใจเช่นเดียวกัน เรามีอิสระที่จะเลือก และเลือกตามที่เราเห็นว่าเหมาะควร แต่สิ่งที่เราเลือก จะเป็นตัวกำหนดสิ่งที่เราจะได้รับเช่นกัน

กิเลสคือความหลงว่าสิ่งผิดเป็นสิ่งถูก หลงว่ารู้ทั้งๆที่ตนเองไม่รู้ ธรรมะคือความจริงที่จะสอนให้รู้ว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควรเพราะอะไรอย่างมีเหตุผล ผู้หลงมัวเมาย่อมจมอยู่กับการเสพสุขที่เต็มไปด้วยโทษภัยและการเบียดเบียน ส่วนผู้รู้ย่อมพาตนออกจากเหตุที่จะทำให้เป็นทุกข์เหล่านั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

29.1.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ความฉลาดที่จะกินเนื้อสัตว์ได้อย่างมีเหตุมีผล

December 20, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,355 views 0

ฉลาดเฉโก คือ กิเลสฉลาด

ไม่ใช่ปัญญาที่พาพ้นทุกข์ แต่เป็นความฉลาดของกิเลสที่พาให้เป็นทุกข์ด้วยการหาช่องในการเสพสิ่งที่ไร้สาระ

การเห็นโทษภัยของการเบียดเบียนเพราะกินเนื้อสัตว์ เป็นปัญญาระดับพื้่นๆ คนทั่วไปก็สามารถรู้ได้เข้าใจได้ ว่าการที่เรายังกินเนื้อสัตว์อยู่จะไปมีส่วนในการเบียดเบียน

ถ้ายังไม่มีปัญญาเห็นโทษของความตื้นระดับนี้ ก็อย่าหวังจะมีปัญญาในระดับลึกเลย พระอริยะก็เป็นหวังเลย พระอรหันต์ยิ่งไม่ต้องหวังเลย เพราะนี้มันปัญญาระดับที่คนดีทั่วไปยังเข้าใจได้เท่านั้นเอง ถ้ายังเข้าใจไม่ได้แล้วจะหวังให้ตนเองมีปัญญาสูงกว่านั้นได้อย่างไร

การเห็นโทษภัยของการเบียดเบียนกันด้วยการฆ่านี้เป็นเรื่องหยาบ การปฏิบัติธรรมของพุทธต้องเป็นไปตามลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด ไม่ใช่อยู่ๆโผล่มาเป็นพระอรหันต์เลย มันต้องละอบายมุขให้ได้ก่อน ศีล ๕ ให้ได้ก่อน การเบียดเบียนตื้นๆเช่นนี้เอาออกให้ได้ก่อน

ไม่ใช่จะมาตีกินว่าฉันบรรลุธรรมขั้นนั้นขั้นนี้แล้ว หาช่องให้ตัวเองเสพ อันนั้นมันเฉโก กิเลสมันฉลาด มันไม่มีความสะดุ้งกลัวต่อการเบียดเบียน ไม่มีหิริโอตตัปปะ ธรรมะมันจะขัดกันวุ่นวายไปหมด มีแต่วาทะว่าฉันนี้เลิศ แต่ไม่ลดการเบียดเบียน

สรุปไว้ก่อนเลยว่า ถ้ายังไม่มีปัญญาเห็นโทษของการกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา ก็อย่าเฉโกว่าตัวเองมีปัญญามากกว่านั้นเลย ที่ยากกว่านั้นยังมีอีกเยอะ

เดี๋ยวคนเขาจะเข้าใจผิดว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาเทวดา ที่สามารถเบียดเบียนผู้อื่นได้โดยไม่มีผลกรรมอะไรที่ต้องรับผิดชอบ มันจะพาโง่ พามิจฉาทิฏฐิวุ่ยวายกันไปหมด มันจะแก้ยาก

พระไตรปิฏกมีหลักฐานไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่าผู้เจริญในทางพุทธศาสนา ตัวเองก็ต้องไม่ฆ่า และไม่ชักชวนให้ผู้อื่นฆ่าทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งยังต้องสรรเสริญคุณของการไม่ฆ่านั้นอีก (เล่ม 19 ข้อ 1459)

ถ้าตัวเองยังกินเนื้อที่เขาฆ่ามาอยู่ มันก็คือการทำให้คนเข้าใจว่าการให้กันด้วยเนื้อที่เขาฆ่ามานั้นดี มันก็ผิดหลักปฏิบัติทั้งยังขัดกับความรู้สึกของผู้ไม่เบียดเบียนอยู่เนืองๆ

แต่ก็เอาเถอะ… คนปฏิบัติแบบมิจฉา ก็ย่อมได้มิจฉาผลเป็นธรรมดา การที่เขาเหล่านั้นจะไม่มีหิริโอตตัปปะย่อมเป็นเรื่องธรรมดาเช่นกัน

คนที่ไม่ยึดติดจะโอนอ่อนไปสู่สิ่งที่เป็นกุศล สิ่งที่ไม่เบียดเบียน แต่คนที่ยึดติด กิเลสจะพาเฉโกให้ไปทางเบียดเบียน จะเถียงกิน ทำอย่างไรก็ได้ให้ตัวเองได้กิน แม้จะกล่าวตู่ว่าพระพุทธเจ้าฉันเนื้อสัตว์ก็ยังกล่าวได้โดยไม่ละอายใจใดๆ เพราะไม่ได้ศึกษามานั่นเอง

สรุปสุดท้ายไว้ว่า สาวกของพระพุทธเจ้าแท้ๆ เป็นผู้ไม่เบียดเบียนทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่วนพวกที่ยังเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นอยู่โดยไม่รู้สึกผิดนั้น ก็สุดแล้วแต่จะพิจารณา… (เล่ม 25 ข้อ 29)

ทาสเนื้อสัตว์ ไม่ได้กินก็ทุกข์ กินก็สะสมทุกข์

December 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,033 views 1

ทาสเนื้อสัตว์ ไม่ได้กินก็ทุกข์ กินก็สะสมทุกข์

ทาสเนื้อสัตว์ ไม่ได้กินก็ทุกข์ กินก็สะสมทุกข์

ชีวิตที่อิสระนั้นไม่ได้หมายถึงการที่เราจะสามารถจับจ่ายใช้สอยสิ่งใดๆได้ตามความต้องการ แต่หมายถึงเป็นอิสระจากความอยาก อิสระจากความทุกข์ที่ไม่จำเป็นต้องมีในชีวิต

อาจจะจริงที่ว่า เรามีสิทธิ์ที่จะใช้เงินที่เรามีซื้อสิ่งใดๆ ก็ได้ ตามที่เราต้องการ แม้ว่าเราจะดูเหมือนมีอิสระในการซื้อขาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นอิสระจากความอยาก

กิเลสได้บงการเราตั้งแต่ก่อนที่เราจะได้คิดด้วยซ้ำ ทำให้เราหลงมัวเมาในรสสุขลวงของสิ่งนั้น ยกตัวอย่างเช่นเนื้อสัตว์ เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นในชีวิตเลย ไม่จำเป็นต้องกินก็ได้ ไม่กินก็มีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข แข็งแรง สุขภาพดี สามารถทำงานได้เหมือนคนทั่วไป

ซึ่งแน่นอนว่าความจริงตามความเป็นจริงมันคือสิ่งที่ไม่จำเป็น ไม่มีสาระ ไม่ต้องฆ่า ไม่ต้องเอามาขาย ไม่ต้องซื้อกินก็ได้ แต่กิเลสก็ได้สร้างความลวงขึ้นมาให้มันจำเป็น ให้มันดูมีคุณค่า มีประโยชน์ ให้คนรู้สึกกังวลว่าถ้าขาดมันเราจะต้องไม่เป็นสุข ทั้งร่างกายและจิตใจ

ทางด้านร่างกายก็พยายามหาผลวิจัยกันไปต่างๆนาๆ ว่าจะขาดธาตุนั้นธาตุนี้ จะไม่สมบูรณ์แข็งแรง จะป่วยเป็นโรค ฯลฯ ข้อมูลมากมายที่จะมาอ้างอิงว่าชีวิตคนเราขาดเนื้อสัตว์ไม่ได้ ขาดแล้วจะเป็นภัย ทำให้คนหลง ทำให้คนกังวล ทำให้คนกลัว ไม่กล้าพราก ไม่กล้าเลิกกินเนื้อสัตว์ ทั้งๆที่ทั้งหมดนั้นอาจจะไม่เป็นความจริงเลยก็ได้ คือได้ผลวิจัยมาจริง ถูกต้องตามหลักการวิจัยจริง แต่สิ่งเหล่านั้นไม่จำเป็นจะต้องใช้ในชีวิตจริงซึ่งบางครั้งก็เป็นความจริงในความลวง คือเป็นความจริงที่ถูกอยู่เพียงมุมหนึ่ง แต่ในมุมอื่นๆกลับไม่มีคุณค่า เป็นเรื่องจริงที่ไม่มีประโยชน์

ทางด้านจิตใจก็หลงกันไปตั้งแต่การติดรสเนื้อสัตว์ หลงว่ามันต้องใส่เนื้อส่วนนี้จึงจะอร่อย อาหารชนิดนี้ต้องใส่กระดูกถึงจะอร่อย หลงติดในรสเนื้อสัตว์ทั้งๆที่จริงแล้วมันอาจจะเป็นรสเครื่องเทศจนแยกไม่ออกว่าอันไหนรสเนื้อ อันไหนรสเครื่องเทศ ก็มัวเมากับเนื้อสัตว์อยู่แบบนั้น ติดไปถึงขั้นเข้าใจว่าการมีเนื้อสัตว์กินคือคนมีฐานะ สั่งเมนูเนื้อสัตว์แพงๆได้คือคนรวย การกินเนื้อสัตว์คือวัฒนธรรมของชนเผ่าที่เจริญ ใครไม่กินเนื้อไม่มีรสนิยม ฯลฯ หรือขั้นหนักหนาเลย ก็เช่น ฉันคือสัตว์กินเนื้อ ฉันเกิดมาเพื่อกินเนื้อสัตว์ ถ้าไม่ได้กินเนื้อสัตว์ฉันขอตายดีกว่า อยู่ไปทำไมถ้าไม่มีเนื้อสัตว์กิน …มันก็บ้าบอกันไปตามประสาคนโดนกิเลสลวงนั่นแหละ

ทีนี้ “ใจเป็นประธานของสิ่งทั้งปวง” ซึ่งจะมีผลตีกลับไปทางด้านร่างกายอีกที ถ้าหากขาดเนื้อสัตว์ก็จะเกิดอาการ ”มโน” ที่จิตได้ปั้นขึ้นมาว่า หากขาดเนื้อสัตว์แล้วฉันจะหมดแรงบ้าง ฉันจะไม่แข็งแรงบ้าง ฉันจะป่วยบ้าง ฉันจะคิดงานไม่ออกบ้าง ฯลฯ นี่ใจมันหลอกร่างกายซ้อนเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง คนไม่รู้ทันกิเลสก็เมาหมัดเลยทีนี้ กลายเป็นว่าเนื้อสัตว์มีอิทธิพลต่อชีวิตฉันจริงๆ มันเกิดผลทางลบจริงๆ ถ้าไม่มีเนื้อสัตว์ฉันตายแน่ๆ

สรุปว่าสุดท้ายกลายเป็นสภาพของ “ทาส” ที่จำเป็นต้องมีเนื้อสัตว์ในการดำรงชีวิต ถ้าไม่มีเนื้อสัตว์แล้วมันจะทรมาน กิเลสมันตีเอาๆ ให้เกิดทุกข์จากความอยาก อดกลั้นได้สักพักก็ตบะแตกกลับไปกินใหม่ ได้กินสะสมใจก็สะสมกิเลสเพิ่มอีก กินเนื้อสัตว์ไปก็สุขหนอ สุขหนอ ว่าแล้วเราอย่าพยายามเลิกกินเนื้อสัตว์เลย มันเป็นทุกข์ ฝืนธรรมชาติ เราต้องเป็น “ทางสายกลวง” นี่แหละดี กินทั้งเนื้อทั้งผัก ไม่โต่งไปทางด้านใดด้านหนึ่ง

พอคิดแบบนี้มันก็นรกเลย ความเห็นไปในทางของ “กาม” ด้านเดียว คือสุดโต่งไปทางกามเลย ไม่ใช่ “ทางสายกลาง” ที่เว้นขาดจากการมัวเมาในกามและการทรมานตนด้วยอัตตา แต่เป็น “ทางสายกาม” ที่มุ่งเสพกามโดยมีวาทกรรมเท่ๆ เอามาอ้างเพื่อให้เสพตามกิเลสโดยไม่รู้สึกผิดกลายเป็นธรรมะวิบัติ ปฏิบัติแบบกลวงๆ แพ้กามไปด้วยความยินดี เพราะหลงว่าตนชนะ??? (ปราบธรรมะด้วยกิเลสได้)

อาการของ “ทาสเนื้อสัตว์” จะไม่ยอมพรากจากเนื้อสัตว์ จะหาเหตุผลที่ฟังแล้วดูดีน่าเชื่อถือมานำเสนอให้ตัวเองและผู้อื่นได้กินเนื้อสัตว์แบบไม่ต้องอายใคร หรือถ้าในหมู่นักปฏิบัติธรรมก็จะมีชุดประโยคยอดฮิตเช่น กินเป็นเพียงธาตุเลี้ยงร่างกาย กินไม่ได้ยึดติดรสชาติ หรือการปฏิบัติธรรมไม่ได้อยู่ที่การกิน ฯลฯ ถ้าไม่ระวังให้ดีกิเลสมันก็อาจจะพาเฉโกไปได้ เพราะโง่ไม่รู้ทันตัณหา คนดับตัณหาได้จริงก็ไม่มีปัญหา แต่คนไม่ทันตัณหาก็เรียกว่าโกหกซ้อนลงไปอีกชั้น คือตัวเองอยากกินอยู่แล้วโกหกว่าไม่อยาก พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ตัณหา เกิดเพราะปัจจัยสี่ หนึ่งในนั้นคืออาหาร ถ้าไม่ทันความอยากในอาหารที่กินอยู่ทุกวัน ก็เรียกได้ว่าไม่มีทางทันกิเลส ก็อ้างกินเถียงกินกันไปวันๆ

เพราะเอาเข้าจริง คนที่ยังกินเนื้อสัตว์ก็หลีกเลี่ยงจากความเป็น “ทาสเนื้อสัตว์” ไม่ได้ หากเรายังต้องกิน ต้องเลี้ยงร่ายกายจากการเบียดเบียนเขามา การเบียดเบียนด้วยการฆ่านี่มันหยาบมันร้ายมากนะ แค่นึกถึงก็ไม่เอาด้วยแล้ว คนที่จิตใจเจริญแล้วจะสะดุ้งกลัวต่อการร่วมบาปนี้ ไม่ยินดีในการร่วมบาปนี้ แต่พวกทาสเนื้อสัตว์ก็จะเฉย ถึงรู้ว่าสัตว์ถูกฆ่ามาก็จะยังเฉยๆ เพราะถ้าคิดมากพูดมากแล้วจะไม่ได้กินเนื้อสัตว์ สู้อย่าไปคิดอย่าไปพิจารณาที่มาของมันเลย “มันเป็นเนื้อมาแล้ว มันตายมาแล้ว” ว่าแล้วก็กินไปโดยทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ “กินๆไปเถอะอย่าคิดมาก กินอะไรก็ตายเหมือนกัน (แต่ฉันขอกินเนื้อนะ)”

การหลุดพ้นจากความเป็นทาส นอกจากจะไม่เอาจิตไปผูกพันด้วยแล้ว ยังต้องถอนร่างกายออกจากความผูกพันด้วย ไม่ใช่บอกว่าจิตไม่รู้สึกรักหรือเกลียดอะไร แต่ปากก็กินเอากินเอา ไม่หยุดกินสักที บางทียังขอเพิ่ม มีผักมาเสริมก็ไม่กินผัก ตักเอาแต่เนื้อ เลือกกินแต่เนื้อเป็นหลัก กี่ปีกี่ชาติก็กินอยู่แบบนั้น กลายเป็นพวก “ปากว่าตาขยิบ

นี่แหละลีลาของ “ทาสเนื้อสัตว์” ที่หลงว่าตนเองไม่ได้เป็นทาส แต่จริงๆ ก็เป็นทาส เพราะไม่สามารถพรากเนื้อสัตว์ออกจากชีวิตได้ ไม่สามารถห่างเนื้อสัตว์ได้ ห่างกายใจก็คิดถึง จึงต้องแสวงหาเนื้อสัตว์มาบำเรอกิเลสตนอยู่เรื่อยไป เพื่อบรรเทาความทุกข์จะความอยากนั้น

คนที่เป็นทาสเนื้อสัตว์จึงน่าสงสารเช่นนี้ เพราะต้องไปซื้อไปหาเนื้อสัตว์ที่เขาเลี้ยงมา กักขังมา ลากมา เฆี่ยนมา ฆ่ามา ชำแหละมาให้เรากิน ต้องสังเวยชีวิตผู้อื่นเพื่อบำเรอสุขตนเอง ถึงต้องมีส่วนเบียดเบียนผู้อื่นก็ยอมจำนน เพราะหลงว่าสุขของเนื้อสัตว์นั้นมีมากกว่าผลกรรมที่ได้รับ หลงเข้าใจไปว่าการได้มาซึ่งเนื้อสัตว์นั้นตนเองไม่มีส่วนรับผลเสีย มีแต่รับสุขจากเสพ จึงเข้าใจว่าคุ้มค่าที่จะเสพ กิเลสมันพาหลงมัวเมาแบบนี้ สะกดให้คนกลายเป็นทาสที่ไม่มีเหตุผล ให้เป็นคนที่ไม่รู้ความเกี่ยวเนื่องของสรรพสิ่ง ให้เป็นคนไม่รู้ชัดในเรื่องกรรมและผลของกรรม

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น” ดังนั้นถึงเราจะกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาโดยไม่มีความรักชอบเกลียดชัง แต่เราก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของวงจรการเบียดเบียน นั่นหมายถึงเราก็ต้องรับส่วนแบ่งของความมีโรคมากและอายุสั้นตามกรรมที่มีส่วนทำด้วย สรุปว่ากินไปก็มีแต่จะสร้างทุกข์ให้ตัวเองเท่านั้นเอง

ซึ่งคนเราก็จะเป็น “ทาสเนื้อสัตว์” ถูกคล้องคอด้วยความอยากไปอีกนานจนกว่าจะมีปัญญาเห็นว่า การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้น เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นเพื่อมาบำเรอตน เป็นความสร้างความสุขให้ตนโดยการทำทุกข์ให้กับผู้อื่น เป็นไปเพื่อความไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เพื่อความเดือดร้อน เพื่อความจองเวรจองกรรมกันชั่วกาลนาน

– – – – – – – – – – – – – – –

18.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)