Tag: การพลัดพราก

การยอมพรากจากคู่ คือที่สุดของทุกข์ในการมีคู่

January 1, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 697 views 0

พิมพ์เรื่องคนโสดมาก็มาก ตอนนี้พิมพ์ในมุมคนคู่บ้าง เชื่อไหมว่าสุดท้ายเมื่อคนมีคู่เข้าใจธรรมะ เขาก็จะหันมาเป็นโสดกันทั้งนั้น

มีหลักฐานมากมายจากพระไตรปิฎก โดยเฉพาะพระเวสสันดรชาดก ซึ่งจะมีตอนหนึ่งที่มีการสละภรรยาเป็นทาน ในชาดกบทนี้ เป็นชาดกที่ผมรับรู้มาว่าคนข้องใจกันมาก ไม่เข้าใจว่าการสละลูก เมียเป็นทานคือการบำเพ็ญบารมีตรงไหน ซึ่งจริง ๆ มันก็เข้าใจยากจริง ๆ นั่นแหละ เป็นเรื่องเหนือโลก เหนือสามัญสำนึกของคนทั่วไปไปแล้ว

เชื่อไหมว่าถ้าเราบำเพ็ญไปเรื่อย ๆ คู่ครองของเราก็จะมีบารมีที่มากตามไปเรื่อย (เพื่อปราบเรานั่นแหละ) เขาจะมาแบบครบเลย หน้าตา ฐานะ การศึกษา นิสัย มารยาท ธรรมะ จะดีพร้อม งามพร้อม หรือถ้าไม่พร้อมก็จะมีจุดเด่นพิเศษที่เราพ่ายแพ้ ไม่ยอมปล่อยเพราะยึดสิ่งนั้นไว้

การปฏิบัติธรรมในเรื่องคู่ในบทจบก็คือ “เขาดีขนาดนี้ ยอมสละเขาได้ไหมล่ะ” มันจะยากก็ตรงนี้นี่แหละ คนก็งง จะสละทำไม ก็เขาเป็นคนดี เขาก็ดีกับเราขนาดนี้

เจอคู่ชั่ว ๆ นี่มันทิ้งกันไม่ยากหรอก ดีไม่ดีเขาก็ทิ้งเรา แต่เจอคู่ดีนี่มันทิ้งยาก ติดสวรรค์ ติดสุข ติดความเป็นเทวดา(มีอำนาจ มีคนบำเรอ) หรือไม่ก็ติดลาภ ยศ สรรเสริญ ฯลฯ

พอคนทำดี มันจะมีกุศลกรรมให้ได้รับ บางทีมันจะมาในรูปของคู่ครอง แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า แม้สิ่งนั้นจะเป็นลาภ แต่ก็เป็นลาภเลว ที่คนหลงดีใจได้ปลื้มกับมัน อยู่กับมัน แล้วก็แช่อยู่ในภพคู่ครองนั้น ๆ นานนนนนนนน…

ให้คิดก็คิดกันไม่ออกเลยนะ เจอคู่ดีสมบูรณ์ครบพร้อมจะออกยังไง จะถอนใจออกมายังไง ก็มีแต่จะเอาเขาเป็นที่พึ่งเท่านั้นแหละ ชีวิตติดเมถุน มันจะติดเสพความเป็นเทวดา ความเป็นคนพิเศษ ความมีอำนาจ มีการให้เกียรติ ให้ความรัก ความเอาใจ ความสำคัญ เป็นเครื่องร้อยรัดคนไว้กับทุกข์ เรียกว่าเมถุนสังโยค

แต่เชื่อไหม แม้จะดีแค่ไหน มันจะมีจุดพร่อง มีจุดพลาดเสมอ ทีนี้คนที่หลงจะมองข้ามจุดพร่องตรงนี้ไป แล้วไม่เอามาพิจารณาทุกข์ พอไม่เป็นทุกข์ มันก็ไม่เห็นโทษภัยอื่น ๆ ที่ตามมา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ เพราะมันเป็นกิเลสฝั่งติดสุข มันจะแกะยาก ถอนยาก

ไม่ต้องไปคิดถึงระดับพระเวสสันดรหรอก อันนั้นมันไกลไป ไม่ใช่ฐานะที่คนทั่วไปจะทำได้ แต่ก็ใช้หมวดทานมาเป็นกรรมฐานได้

เช่น คนดีนี่ใคร ๆ ก็อยากได้ใช่ไหม แล้วเราเอามาเก็บไว้คนเดียว คนอื่นเขาก็ไม่ได้ใช้ ถ้าเราสละออกไป คนอื่นเขาก็ดีใจ เพราะเราปล่อยคนดีคนหนึ่งกลับไปให้โลก เขาก็ไม่ต้องมาแย่งเรา ไม่ต้องผิดศีล

ยิ่งถ้าเราปล่อยเขาไปแล้วเขาไม่มีคู่ใหม่ ยิ่งดีใหญ่เลย เขาก็จะได้ใช้ชีวิตเอาไปทำประโยชน์อย่างอื่น ไม่ต้องบำเรอเรา ไม่ต้องบำเรอใครอีกให้เสียเวลาชีวิต

ที่สำคัญเราจะช่วยเขาได้ เราจะพาเขาเจริญได้ เพราะการผูกกันไว้นี่มันเจริญได้ยาก มันติดเพดาน มันมีอกุศลวิบากต่อกันมาก แต่ถ้าเราปล่อยได้ เขาจะเห็นเราเป็นตัวอย่าง อาจจะขัดข้องขุ่นใจบ้าง แต่เขาจะจำว่ามันมีสิ่งดีกว่าการอยู่เป็นคู่กันอยู่ในโลก นั่นก็คือการไม่อยู่เป็นคู่กันนั่นเอง

ยกตัวอย่างมาแล้วก็รู้สึกว่ายากโคตร ๆ แต่จะเป็นโสดอย่างผาสุกได้ต้องพิจารณาธรรมหมวดนี้เหมือนกัน มันจะเป็นกระบวนการหนึ่งในการก้าวเข้าสู่การเป็นโสดอย่างยั่งยืน มันต้องยินดีที่จะสละโควต้าของตัวเองที่จะมีคู่ไปให้คนอื่น

ไม่ต้องห่วงหรอก เราล่อลวงคนอื่นมาไม่รู้กี่ชาติต่อกี่ชาติ มันเป็นไปไม่ได้เลยที่วิบากกรรมเขาจะไม่มาเอาคืน ถึงจะตั้งจิตเป็นโสด แต่ก็จะมีผู้ท้าชิงอยู่นั่นแหละ

ดังนั้นอย่าไปกังวลเลยว่าจะไม่มีคู่ หรือจะสละไปแล้ว แล้วเขาจะหายไป เขาไม่หายไปไหนหรอก เขาก็วนเวียนมาอยู่นั่นแหละ ด้วยเหตุที่ทำบาปด้วยกันไว้มาก และถ้าเป็นคนดีจะมีอีกแรงหนึ่งคือเป็นที่รักของเขา เขาก็ยึดไว้

แท้จริงแล้วคู่ครองเป็นสภาพสมมุติที่คนยึดไว้ ความเป็นพ่อแม่ลูกยังดูจริงยิ่งกว่า แต่คนกลับไม่ค่อยยึดอาศัย ไม่ค่อยเห็นจะมีใครตั้งตนเป็นโสดเพื่อที่จะได้ใช้เวลาดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่าสักเท่าไหร่ จริง ๆ มันก็สมมุติเหมือนกันนั่นแหละ แต่ดันไปหลงสมมุติตัวที่มันตื้น มันเบียดเบียน มันเป็นบาป แล้วดันทิ้งสมมุติที่เป็นความเกื้อกูล เป็นกุศล

สรุปกันสั้น ๆ ว่า อาการทุกข์ที่เกิดเพราะไม่อยากพราก ไม่อยากสละจากคู่ นั่นแหละคือประตู ถ้ารู้แจ้งในทุกข์นี้ก็จบ จิตจะปล่อย จะยอมพราก สละได้ ทิ้งได้ ตามเหตุปัจจัย ไม่ยึดติดว่าคนคนนั้นเป็นคู่อีกต่อไป จะเข้าใจทั้งสัญญาแบบโลก ๆ กับการไม่ยึดสัญญาแบบโลก ๆ จะตัดสินใจตามกุศลเป็นหลัก

หัดพิมพ์มุมคนคู่ เอาไว้เท่านี้ก่อน ได้เหลี่ยมหนึ่งก็ยาวแล้ว ไว้วันหลังค่อยว่ากันใหม่

ถ้าฉันอยู่ไปจนถึง ๑๐๐ ปี

August 29, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,438 views 0

ถ้าฉันอยู่ไปจนถึง ๑๐๐ ปี

ถ้าฉันอยู่ไปจนถึง ๑๐๐ ปี

ฉันคงได้เผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง การพลัดพรากจากลา

ได้เห็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปของหลายสิ่ง

ได้เห็นความไม่เที่ยง ความทุกข์ และความลวงของสิ่งต่างๆ

ได้เห็นเด็กน้อยในวันนี้เติบโตจนกระทั่งกลายเป็นคนแก่

ได้เห็นคนวัยเดียวกัน และคนที่สูงวัยในวันนี้ จากไปทีละคน

ไม่ว่าจะคนดีหรือคนชั่วล้วนถูกกรรมกลืนกินไปตามกาลเวลา

ฉันคงได้แต่มองดูการเปลี่ยนแปลงของโลกไปอย่างเงียบๆ

เมื่อฉันนึกถึงวันนั้น ในวันที่ฉันจะมีอายุ ๑๐๐ ปี ในอนาคต

ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในวันนี้ราวกับว่าเป็นเรื่องตลก

คนที่เคยรัก ค่อยๆแก่ เจ็บป่วย และตายจากฉันไป

คนที่เคยชัง ก็ค่อยๆ ตายจากโลกนี้ไปเช่นเดียวกัน

คนที่เคยสวย เคยหล่อ ค่อยๆเหี่ยวย่น แก่ชรา และตาย

คนที่รวยล้นฟ้า มีหน้าที่การงานดี มีชื่อเสียง ก็ตายไปเช่นกัน

มันดูเป็นเรื่องตลกที่ฉันยังหลงมัวเมาอยู่กับหลายสิ่งในวันนี้

ในอนาคตข้างหน้า ในวันที่ฉันมีอายุถึง ๑๐๐ ปี

คนที่เคยอยู่ข้างฉัน เป็นเพื่อนฉัน เป็นกำลังใจให้ฉันในวันนี้

ก็คงจะทยอยหายจากชีวิตของฉันไปจนเกือบหมด

คงไม่เหลือใครที่จำอดีตในวันนี้ของฉันได้ แม้แต่ตัวฉันเอง

ตัวตนของฉันย่อมจะถูกกลืนหายไปตามกาลเวลาเช่นกัน

ฉันในวันนี้ กับฉันในอนาคตก็คงจะไม่ใช่คนเดียวกัน

ในเมื่อฉันได้เห็นว่าความเป็นฉันมันไม่แน่นอนอย่างนี้

ฉันก็ไม่รู้ว่าจะต้องเป็นฉันในแบบทุกวันนี้ไปทำไม

แม้แต่คนรอบตัวฉันก็ไม่แน่นอน ฉันก็ไม่รู้จะยึดไว้ทำไม

ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องถูกกรรมและกาลพรากไป

ฉันก็ไม่รู้จะต่อต้านมันไปเพื่ออะไร …

ในเมื่อความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นสิ่งที่แน่นอน

แล้วฉันจะไปหวังให้สิ่งที่ฉันรัก อยู่กับฉันตลอดไปได้อย่างไร

สิ่งที่ฉันจะทำได้ก่อนที่ฉันจะมีอายุถึง ๑๐๐ ปี ไม่ใช่การไขว่คว้า

แต่เป็นการพยายามปล่อยวางในสิ่งที่ฉันยังยึดมั่นถือมั่น

ปล่อยวางให้ได้ก่อนกรรมและกาลเวลาจะมาพรากมันไป

ถึงฉันจะไม่ยอมปล่อยให้สิ่งที่รักนั้นจากไป

แต่วันหนึ่งมันก็ต้องจากฉันไปอยู่ดี

ดังนั้นฉันจึงตัดสินใจที่จะลงมือก่อน

ฉันจะไม่รอกรรม ฉันจะไม่รอกาลเวลามาพรากมันไป

ฉันจะทำลายความยึดมั่นถือมั่นเหล่านั้นด้วยตัวฉันเอง

ทั้งคนที่ฉันรัก คนที่ฉันชัง และไม่ว่าสิ่งใดที่รัก สิ่งใดที่ชัง

ฉันจะปล่อยให้สิ่งเหล่านั้น เป็นไปตามธรรมชาติของมัน

ฉันจะอยู่กับสิ่งเหล่านั้น อย่างกลมกลืนไปตามธรรมชาติของมัน

แต่ฉันจะไม่เอาสิ่งนั้นเข้ามาเป็นของฉัน เป็นตัวฉัน เป็นชีวิตของฉัน

ฉันอยากให้เป็นการก้าวไปสู่ ๑๐๐ ปีที่ดีที่สุดในช่วงชีวิตของฉัน

แม้ว่าฉันอาจจะอยู่ได้ไม่ถึง ๑๐๐ ปีก็ตาม…

– – – – – – – – – – – – – – –

28.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ขอบคุณที่…ทิ้งฉันไว้กลางทาง

July 12, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,905 views 0

ขอบคุณที่...ทิ้งฉันไว้กลางทาง

ขอบคุณที่…ทิ้งฉันไว้กลางทาง ก่อนที่เราจะทำบาปแก่กันและกันมากไปกว่านี้

เรื่องราวของคู่รักบนเส้นทางอันยาวไกล ไม่มีใครรู้ว่าจุดหมายนั้นอยู่ที่ไหน เราอาจจะพอรู้ได้ว่าความสัมพันธ์นั้นมาถึงจุดไหนเมื่อผ่านสถานะของ เพื่อน คนรู้ใจ แฟน หรือสามีภรรยา ถึงแม้เราจะผ่านช่วงเหล่านั้นมาแล้วแต่การเดินทางของชีวิตคู่ก็ต้องดำเนินต่อไป จนกว่าจะถึงวันที่คนใดคนหนึ่ง จะถูกทิ้งไว้กลางทางเพียงลำพัง

เมื่อความสัมพันธ์ในรูปแบบคู่รักได้เกิดขึ้น ก็ต้องคอยประคองความสัมพันธ์ ไม่ให้มากเกินไป ไม่ให้น้อยเกินไป คอยเอาอกเอาใจรับใช้ เพื่อให้อีกฝ่ายพอใจ เป็นเหตุแห่งความสุขของกันและกัน เป็นตัวตนของกันและกัน เป็นสิ่งผูกมัดซึ่งกันและกัน เป็นบาปของกันและกัน จนสุดท้ายกลายเป็นอกุศลกรรมที่ผูกกันและกันไว้

แต่ถึงแม้จะเอาพยายามทำตัวเป็นคนดี คิดดี พูดดี ทำดี ก็ไม่ได้หมายความจะต้องได้รับสิ่งที่ดีตลอดเวลา คนเราทุกคนจะต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ผลของกรรมไม่ได้ผูกกันด้วยเรื่องดีเพียงอย่างเดียวมันยังมีเรื่องร้ายด้วย คนที่เข้ามาผูกพันจึงถูกเรียกว่า “คู่เวรคู่กรรม” เพราะเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ต้องมาคอยใช้หนี้บาปหนี้กรรมแก่กันและกัน

การพลัดพรากสร้างความทุกข์ให้กับคนที่ยึดมั่นถือมั่น การถูกทิ้งเป็นเพียงฉากละครฉากหนึ่งที่ผลของกรรมลิขิตไว้ เรามักจะเห็นว่ามีหลายเหตุการณ์ที่ไม่น่าเป็นไปได้ ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ แต่ทั้งหมดนั้นก็เป็นสิ่งที่สมควรจะเกิดขึ้นแล้ว เพราะนั่นเป็นผลของกรรมที่เราทำมาเอง ไม่ใช่จากเหตุอื่นใด

เมื่อผลของกรรมได้พรากคนรักไปจากชีวิตรักในอุดมคติที่เคยฝัน ก็เหมือนกับม้าที่ถูกเปลี่ยนกลางศึก กลายเป็นม้าตัวเก่าที่ถูกทิ้งอย่างไรเยื่อใย ได้แต่มองเขาจากไปพร้อมกับม้าตัวใหม่ที่เขาชอบใจมากกว่า การถูกทำลายคุณค่าในตัวตน ทำลายความหวัง นั้นทำให้ผู้ยึดมั่นถือมั่นทุกข์แสนสาหัส

แต่ถ้าหากเราลองพิจารณาให้ดี การที่ความสัมพันธ์ใดๆ ถูกทำลายไปก่อนจะถึงฝั่งฝันนั้นอาจจะเป็นเรื่องที่ดีก็ได้ การที่เขาออกไปจากชีวิตเรา นอกจากเรื่องของวิบากกรรมซึ่งเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้แล้ว ก็มักจะเป็นเรื่องของกิเลสเป็นส่วนใหญ่

การที่คู่รักต้องพรากจากกันไปเพราะมีคนใหม่ก็มักจะเกิดจากการที่คนเก่าไม่สามารถสนองกิเลสให้ได้ พอคนกิเลสหนาไม่ได้รับการบำเรอให้เกิดสุขก็ต้องไปหาคนใหม่มาบำเรอตน ทำให้คนเก่าที่ไม่สามารถสนองกิเลสได้อย่างใจถูกทิ้งให้กลายเป็นอดีต

ซึ่งจริงๆก็เป็นเรื่องที่ดีแล้วที่เราถูกทิ้ง เราไม่ได้ถูกคนดีทิ้งไป แต่เราถูกคนกิเลสหนาทิ้งไป คนกิเลสหนาก็ชั่วตามปริมาณของกิเลสที่มี คนที่ทิ้งคู่รักที่บำเรอตนไม่ได้ไปหาคนใหม่เพื่อจะสนองตนเองได้มากกว่า คือคนที่เสพไม่เคยพอ นั่นหมายถึงการที่เขาทิ้งไปคือ คนชั่วหนึ่งคนหายไปจากชีวิตเรา เราก็ควรจะยินดีที่ได้พ้นจากภาระ ที่ต้องคอยสนองกิเลสแก่กันและกัน ไม่ต้องสะสมบาปกันไปให้ชีวิตมันทุกข์ไปมากกว่านี้

การที่นักรบเปลี่ยนม้ากลางศึก ม้าตัวเก่าที่ถูกทิ้งก็มีโอกาสไปทำประโยชน์ให้ตัวเอง ดูแลตัวเอง แต่ม้าตัวใหม่ก็ต้องไปทำบาปร่วมกันนักรบคนนั้น ไปเป็นเครื่องมือที่เอื้อให้ไปทำร้ายทำลายผู้อื่น เรียกได้ว่าไปร่วมบาปกันนั่นเอง

เพราะจริงๆแล้วเราไม่รู้หรอกว่าความเป็นคู่รักนั้นจะไปสิ้นสุดลงตรงไหนแบบใด เราต้องเวียนว่ายตายเกิดตามไปผูกพัน ไปรัก ไปทุกข์กันอีกกี่ชาติกว่าจะจบ ต้องได้อีกเท่าไหร่กว่าจะสมใจหมาย เหมือนกับการเดินทางที่ไม่มีจุดหมาย ไม่รู้ว่าต้องเสพสุขจากความเป็นคู่รักอีกแค่ไหนถึงจะพอ แม้จะทำได้เพียงแค่ยึดเขาไว้เป็นของตนแล้วก็หลงคิดไปว่าเขาจะต้องอยู่กับเราตลอดไป

ดีเสียอีกที่เขาทิ้งเราตั้งแต่วันนี้ เพราะเราได้รู้จุดจบ ได้เรียนรู้ว่าชีวิตคือความพลัดพราก คู่รักนั้นไม่ยั่งยืน มีแล้วเป็นทุกข์ และมันก็ไม่ได้เป็นตัวเป็นตนอะไรของเราเลย ขาดเขาเราก็ยังอยู่ได้ ยังกินได้ ยังนอนได้ ยังหายใจได้ จริงๆแล้วเขากับเราไม่เกี่ยวกันเลยด้วยซ้ำ เราไปหลงเอาเขามาผูกเป็นคู่ไว้เอง พอเขาทิ้งเราหนีไปเราก็เสียใจ ทั้งที่จริงๆแล้วเขาไม่ใช่ของของเราตั้งแต่แรก ไม่มีใครมีกันและกันตั้งแต่แรก มีแต่คนที่หลงว่าการมีคู่เป็นสุข แล้วก็มาเจอกันร่วมเสพสุขบำเรอกิเลส ชาติแล้วชาติเล่า สร้างบาป สร้างอกุศลกันมากมาย ยิ่งเสพยิ่งหิว ได้เท่าไหร่ก็ไม่เคยอิ่ม จึงต้องหาคนมาเสพเพิ่ม ทำร้ายคู่ชีวิต วนเวียนกันล้างแค้นเอาคืนกันไม่จบไม่สิ้น

จะดีไหมหากเราจะ ”ขอบคุณ” ที่เขาได้ทิ้งเราไว้ก่อนที่จะผูกพันกันไปมากกว่านี้ ก่อนที่เราจะทำบาปร่วมกันไปมากกว่านี้ ก่อนที่เราจะผูกภพผูกชาติกันไปมากกว่านี้

จะดีไหมหากเราจะใช้ “การถูกทิ้งครั้งนี้เป็นโอกาส” ในการเลิกผูกปม เลิกจองเวรจองกรรม เลิกไปผูกพันกับใครให้ต้องคอยมาแก้ มาคอยแบกทุกข์กันอีก

จะดีไหมหากเราจะใช้ “อิสระที่ได้กลับคืนมา” ในครั้งนี้ ศึกษาให้เห็นเหตุและผลของเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ให้รู้ลึกถึงความเป็นมาว่าทำไมเราจึงต้องทนทุกข์ขนาดนี้ เหตุแห่งทุกข์คืออะไร และจะดับทุกข์นั้นได้ไหม แล้วจะดับด้วยวิธีอะไร

เราไม่จำเป็นต้องแบกรับภาระใดๆอีก ไม่ต้องคอยสนองกิเลสใคร ไม่ต้องให้ใครมาบำเรอกิเลสเรา นั่นหมายถึงเราไม่ต้องสร้างบาปใดๆแก่กันและกันอีก การที่เราถูกทิ้งนั้น หากจะมีอะไรเกิดขึ้นมาอีกก็คงจะมีแต่เรื่องดี เพราะเราได้ใช้กรรมชั่วไปหมดแล้ว ถูกทิ้ง ถูกทำให้ทุกข์ไปแล้ว รับกรรมไปแล้ว ผลของกรรมนั้นก็หมดไป เราก็ไม่ต้องสร้างเพิ่ม ไม่ต้องพยายามหาเหาใส่หัว ไม่ต้องไปแกว่งเท้าหาเสี้ยนให้ต้องลำบากทีหลัง

สรุปได้ว่า ดีแล้วที่ทิ้งฉัน ขอบคุณที่ทิ้งกันไว้ที่ตรงนี้ ดีแล้วที่ไม่ต้องพากันไปลงนรกอีก ขอบคุณที่เข้ามาให้ได้ชดใช้กรรมชั่วที่เคยทำไว้ และเห็นใจจริงๆกับบาปครั้งนี้ที่เธอได้ทำไว้ เพราะเธอคงต้องได้รับมัน “เหมือนกับที่ฉันได้เคยทำชั่วไว้หนักหนาจนมีผลของกรรมให้ต้องทนทุกข์เพราะโดนทิ้งในชาตินี้เช่นกัน

– – – – – – – – – – – – – – –

12.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ปล่อยเธอไป

December 7, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 6,331 views 0

ปล่อยเธอไป

ปล่อยเธอไป

…เพราะรักจึงเข้าใจและยอมรับ

ในวันที่การพลัดพรากได้มาถึง วันที่ต้องห่างกายหรือในวันที่ต้องห่างใจและคงจะห่างออกไปเรื่อยๆอย่างไม่มีวันกลับมา เราพร้อมจะรับมันไหมหากว่าวันเวลาเหล่านั้นได้มาถึงโดยที่เราไม่ได้คาดคิดไว้ว่ามันจะมาถึงเร็วขนาดนี้

คู่รักหลายคู่ที่คบกันอย่างจริงใจ ไม่มีคู่ไหนที่คิดว่าความสัมพันธ์นั้นจะต้องเสื่อมต้องสลาย ซ้ำยังเชื่อมั่นว่าเราและเขาจะต้องเจริญไปด้วยกัน จะต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน จะต้องร่วมสุขร่วมทุกข์ไปด้วยกัน เป็นคู่ชีวิตของกันและกัน

ความเชื่อเหล่านี้เป็นชุดความเชื่อทั่วไปของคนที่คิดจะรักกัน ผูกพันกัน สร้างครอบครัว ดำรงชีวิตร่วมกันมองชีวิตข้างหน้ามีเพียงความสวยงาม แต่กลับกลบความจริงไว้ใต้จิตสำนึกและไม่คิดจะยอมรับมัน

ความจริงนั้นก็คือเราต้องจากคนที่รักคนที่ชอบใจเป็นเรื่องธรรมดา ไม่จากเป็นก็จากตาย ถ้าจากตายนี่มันก็ง่ายหน่อย เพราะว่าไม่ซับซ้อน ตายแล้วก็จบไป เรื่องต่อจากนั้นก็ให้เป็นเรื่องของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ส่วนจากเป็นนั้นมีหลายสาเหตุ เช่น จากเพราะหมดรัก จากทั้งที่ยังรัก ฯลฯ

1).ตายจาก

ในวันใดวันหนึ่งเราก็ต้องตายจากโลกนี้ไป ตายจากสภาพเหล่านี้ไป เหลือไว้เพียงความทรงจำกับกรรมที่ได้ทำไว้ หากเราเป็นผู้ที่จากไปก็คงจะไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่ถ้าเราเป็นผู้ที่ยืนมองคนที่รัก มองคนที่หวงแหนกำลังจะจากไป หรือจากไปแล้วไม่ว่าด้วยอุบัติเหตุ ด้วยโรคร้าย ด้วยกรรมบันดาลต่างๆ เราจะสามารถยอมปล่อยวางได้ไหม เราจะวางความยึดมั่นถือมั่นในตัวเขาได้หรือไม่

ยามเมื่อที่คนรักจากไป ความเศร้าโศกเสียใจนั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมชาติ หลายคนร้องให้คร่ำครวญ หลายคนกินไม่ได้นอนไม่หลับเป็นเวลานาน หลายคนมีอาการซึมเศร้าและวิถีชีวิตเปลี่ยนไปหลังจากเสียคนที่รัก อาการทั้งหมดเหล่านี้เป็นธรรมชาติที่เห็นได้ในโลกแต่กลับไม่ใช่ธรรมชาติของธรรมะ

การที่เราเศร้าโศกเสียใจหรือมีอาการอื่นๆ โดยรวมเรียกว่าเป็นทุกข์ เมื่อเป็นทุกข์เราก็ต้องค้นหาเหตุแห่งทุกข์ เมื่อค้นลงไปแล้วก็จะเจอกิเลส คือความยึดมั่นถือมั่น การที่เราทุกข์เพราะเราต้องพรากคนที่เรายึดมั่นถือมั่นไป ไม่ว่าจะยึดไว้ในสถานะใดก็ตาม เช่น ผู้นำครอบครัว คู่ชีวิต เพื่อนชีวิต ฯลฯ เราจะต้องเจ็บปวดและทุกข์ทรมานมากเท่าที่เรายึดไว้

แต่ถึงจะทุกข์เท่าไร การจากพรากกันด้วยความตายนั้นก็ยังเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย ยอมรับได้ง่าย แม้ว่าเหตุการณ์จะดูบังเอิญและซับซ้อนเพียงใด แต่ในท้ายที่สุดก็คงต้องยอมรับว่าคนตายไม่มีวันฟื้นคืนกลับมาอย่างแน่นอน

การจะยอมปล่อยยอมวางความยึดมั่นถือมั่นในคนที่ตายจากไปแล้วนั้น เป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปที่หลายคนสามารถทำได้ไม่ยากไม่ลำบากเท่าไรนัก แต่ก็ยังมีบางคน บางความเชื่อ บางวัฒนธรรมที่หลงติดหลงยึดไม่ยอมปล่อยยอมวางแม้ร่างนั้นจะเป็นซากที่ไร้วิญญาณไปแล้วก็ตาม

2).จากเป็น

สิ่งที่เข้าใจและยอมรับยากกว่าการจากตายก็คือการจากทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ ยังเห็นกันอยู่ ยังวนเวียนอยู่ในชีวิตของกันและกัน แต่ความสัมพันธ์นั้นได้ตายจากไปแล้ว สถานะของคู่รักนั้นได้ยุติลงไปแล้ว อาจจะเกิดจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายหมดรักต่อกัน หรือความจำเป็นบางอย่างก็ได้

ในกรณีที่ทั้งสองฝ่ายหมดรักหมดความอยากในการเสพกิเลสร่วมกัน หมดความหมายในการร่วมเคียงคู่กัน นั้นก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะปล่อยวาง เพราะทั้งสองรู้ดีว่าคู่ของตนในตอนนี้สนองกิเลสให้ตนไม่ได้ ทำให้ตนไม่พอใจ จึงไม่ยินดีที่จะเคียงคู่กัน ดังนั้นการเลิกรากันอย่างเต็มใจนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้นำมาซึ่งความทุกข์ใดๆ เพราะไม่ได้ยึดไว้ตั้งแต่แรกก็เลยไม่ต้องทุกข์เพราะไม่ได้ถือก็เลยไม่ต้องวาง อาจจะเพราะความสัมพันธ์ที่ไม่ตรงใจนั้นทำให้เขาทั้งคู่ได้เรียนรู้และยินดีที่จะไม่ยึดมั่นในคู่ของตน

ในตอนจบของความสัมพันธ์แบบนี้อาจจะจบด้วยความเข้าใจก็ได้ หรือจะจบด้วยการทะเลาะเบาะแว้งก็ได้เช่นกัน เพราะถึงแม้ว่าเราจะไม่มีการยึดซึ่งกันและกัน ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ยึดมั่นถือมั่นในตัวเอง บางครั้งเราอาจจะต้องทะเลาะกันด้วยเหตุที่ว่าเรายึดในตัวเองมากเกินไป

แต่ในกรณีการจากกันทั้งที่ยังรักกันหรือการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังคงรักยังคงผูกพันอยู่โดยที่อีกฝ่ายไม่ยินดีจะเคียงคู่กันอีกต่อไป จึงนำมาซึ่งปัญหาทางจิตใจมากมายไปจนถึงสุขภาพและสังคม หน้าที่การงาน กระทั่งในทุกองค์ประกอบของชีวิต

2.1).หมดรักจึงจากไป

เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหมดรักโดยที่อีกฝ่ายยังคงรักและผูกพันอยู่ ผู้ที่ถอนตัวจากความรักความหลงได้ก่อนก็เป็นผู้ที่เอาตัวรอดไปได้ เหลือทิ้งไว้แต่คนซึ่งยึดมั่นถือมั่นในความรัก เหมือนกับคนสองคนดึงหนังยางคนละฝั่ง คนที่ปล่อยทีหลังก็จะเป็นคนที่เจ็บ เราเจ็บเพราะเราไม่ปล่อย แต่เราจะปล่อยได้อย่างไรในเมื่อเรายังรักและผูกพันอยู่

ไม่ว่าจะถูกเลิกราไปด้วยกรณีใดๆก็ตาม เรามักจะเห็นคนที่ถูกทิ้งเป็นทุกข์โดยมีอาการคร่ำครวญ เศร้าโศกเสียใจ คับแค้นใจ เหตุนั้นเพราะหลงติดหลงยึด รากปลายสุดสายของความหลงผิดก็คืออวิชชา เป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาท คือ มีสังขาร มีวิญญาณ มีนามรูป มีสฬายตนะ มีผัสสะ ต่อเนื่องกันไล่มาจนถึงมีเวทนา มีตัณหา มีอุปาทาน จึงเกิดเป็นภพเป็นชาติ จึงมีความตายซึ่งหมายถึงการพลัดพรากจากความรักนั้น และเกิดความทุกข์ต่างๆต่อมาเรื่อยๆนั่นเอง

การจะไปแก้ที่อวิชชานั้นเป็นเรื่องที่ทำทันทีไม่ได้ หลายคนเข้าใจผิด เข้าใจไปเพียงว่าแค่เรา”รู้”ก็สามารถดับทุกข์นี้ได้แล้ว เพราะเข้าใจด้วยภาษาว่าอวิชชาคือ “ความไม่รู้” จึงแก้ด้วยภาษาซึ่งนำคำว่า “รู้” เข้ามาคิดจะแก้อวิชชา จึงเกิดการฝึกสติให้เกิดการรู้ตัวทั่วพร้อมโดยเข้าใจว่าการรู้ตัวคือตัวดับทุกข์ ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่เลย เป็นการเข้าใจผิดอย่างรุนแรง เพราะความรู้นั้นหมายถึงวิชชา คือความรู้แจ้งในกิเลสนั้นๆอย่างถ่องแท้ ดังนั้นการจะดับทุกข์ได้ต้องดับที่กิเลส ไม่ใช่ดับจิตให้นิ่ง แต่เป็นการขุดค้นเหตุแห่งทุกข์ แล้วดับมันด้วยสัมมาอริยมรรค

กลับมายกตัวอย่างอาการของคนที่ยึดไว้(อุปาทาน)เสียก่อน เมื่อเรามีความยึดในคู่ครองของตนแล้วต้องถูกพรากจากไปแบบเป็นๆนั้น จะมีอาการแสดงออกมาได้หลากหลาย ทั้งซึมเศร้าเหงาหงอย กินไม่ได้นอนไม่หลับ โวยวายตีโพยตีพาย เป็นบ้า ฆ่าตัวตาย อาการทำร้ายตัวเองเบียดเบียนตนเองเหล่านี้เป็นผลมาจากความยึดทั้งสิ้น

และยังสามารถแสดงอาการทำร้ายคนอื่นได้ เช่นการหึงหวง แม้จะถูกเลิกราไปแล้ว แต่ก็ยังตามรังควานอดีตคนรักที่เขาหมดรักไป ในมุมที่ไม่รุนแรงก็คือการตามง้อ ไปขอร้องให้มอบความเห็นใจ ขอให้กลับมารักกัน ร้องไห้ฟูมฟายเรียกร้องความสนใจ ไปวนเวียนอยู่ในชีวิตเขา ซึ่งการกระทำเหล่านี้เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นในระดับหนึ่ง เราเบียดเบียนเพราะเราอยากได้เขามาเสพเหมือนก่อน เพราะเรายึดว่าถ้าได้เสพจึงจะเป็นสุข และต้องเสพคนเดิมด้วยนะ เพราะเรายึดมั่นถือมั่นคนเดิมไว้

ความหึงหวงแม้ยุติความสัมพันธ์ไปแล้ว ก็เป็นเรื่องที่มักเห็นได้ตามข่าวในหนังสือพิมพ์ คือฝ่ายหนึ่งเลิกราไปแล้ว แต่อีกฝ่ายหนึ่งยังจองเวร ประมาณว่า “ถ้าข้าไม่ได้ก็ไม่ต้องมีใครได้คนนี้ไป” จึงตามรังควาน กดดัน บีบคั้น ใส่ร้าย จนกระทั่งมีการทำร้ายตบตี จนถึงฆ่ากันก็มีให้เห็นกันเป็นเหมือนเรื่องปกติ ลักษณะนี้เกิดจากความยึดที่รุนแรง พอตนเองโดนพรากสิ่งที่รักไปก็ไม่ยอมให้ใครได้ไป มันจะเอามาเป็นของตนอยู่ฝ่ายเดียว จนถึงขั้นฆ่าเพื่อไม่ให้ใครมาเสพก็ยังได้ ฆ่าทั้งที่ยังรักยังยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละ แต่เพราะความโกรธมันมากกว่า โทสะมันแรง พอเราไม่ได้เสพสมใจโทสะมันก็ขึ้น ถ้ามันขึ้นไปเหนือความรัก เหนือหิริโอตตัปปะ เหนือศีลเมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็จะมีการกระทบกระทั่งจนถึงการทำร้ายกันฆ่ากันก็เป็นเรื่องธรรมดาของกิเลส

ไม่ว่าจะทำอย่างไร คนที่ยึดมั่นถือมั่นก็ยังคงต้องทนทุกข์ จะบอกให้ปล่อยวาง ไม่ไปทุกข์ ไม่เอาตัวเองไปทุกข์โดยใช้ความคิด ความเห็น ความเข้าใจเดิมมันเป็นไปไม่ได้ เพราะมันยึดไปแล้ว กิเลสมันเกิดไปแล้ว อัตตามันสร้างไปแล้ว เราจะมาดูสรุปในข้อ 4. ตอนท้ายบทกัน

2.2).จากกันทั้งที่ยังรัก

การจากกันโดยที่เขาไม่ได้รักเราอีกต่อไปแล้วนั้นก็ยังทำใจได้ง่าย เมื่อเทียบกับการที่ต้องจากกันทั้งที่ยังรักกัน เขาก็รักเรา และเราก็รักกัน แต่ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆทั้งหลายนั้นอาจจะไม่เอื้ออำนวยให้ดำเนินชีวิตคู่ต่อไป อาจจะเป็นไปได้จากสาเหตุทั้งเรื่องส่วนตัว ครอบครัว สังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและกรรม

การจากกันโดยที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหมดรัก อาจจะทำให้คนที่ต้องถูกทิ้งเสียใจ เสียดาย หรือกระทั่งโกรธได้ หมายถึงเกิดได้ทั้งดูดและผลัก คือพยายามจะดูดดึงเขาเข้ามาในชีวิตเหมือนเดิม และสภาพผลักด้วยความโกรธ ความน้อยใจ ความผิดหวัง หรือการงอน ทำให้ผลักเข้าออกจากชีวิต

แต่การจากทั้งที่สองฝ่ายยังรักกันนั้น ยากนักที่จะเกิดสภาพผลัก เพราะไม่ได้ทำผิดอะไรต่อกัน ยังคงรู้สึกดีต่อกัน ยังคงต้องการกันและกัน ดังนั้นการดูดดึงย่อมมีพลังรุนแรงเพราะไม่มีพลังผลักมาต้านหรือมาลดแรงของการดึงดูดกัน ซึ่งเป็นเรื่องยากแสนยากที่ตัดใจได้ ยากที่จะปล่อยวางได้

จะขอยกทศชาติของพระพุทธเจ้าบทหนึ่งมาเป็นตัวอย่างในกรณีนี้ ในมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งเป็นชาติที่พระพุทธเจ้าบำเพ็ญทานบารมี ในชาตินั้นท่านเองก็มีลูกและภรรยาที่ทั้งรักและผูกพันแต่ก็ต้องตัดใจมอบทั้งลูกและภรรยาให้ผู้อื่นทั้งๆที่ยังรักอยู่และภรรยาท่านเองก็ยังรักท่านอยู่ เป็นเรื่องยากสุดยากที่สุดจะจินตนาการ ยากจะเข้าใจ เป็นเรื่องที่คนธรรมดาไม่มีทางทำได้ต้องบารมีระดับพระพุทธเจ้าเท่านั้นถึงจะทำได้

ลดลงมาเป็นระดับที่เห็นได้โดยทั่วไปบ้าง ดังเช่นคนที่ครอบครัวห้ามไม่ให้คบกัน โดนสังคมกีดกันไม่ว่าจะพยายามอย่างไรก็เป็นไปไม่ได้เพราะหากคบกันต่อแล้วจะมีคนอื่นทุกข์อีกมากมายหรือเกิดทุกข์ที่คู่รักคู่นั้นเอง มีบางคู่ที่มีความยึดมั่นถือมั่นมากไม่สามารถยอมรับสภาพการที่ต้องถูกพรากทั้งที่ยังรักกันได้จนกระทั่งเลือกที่จะหนีตามกันหรือตัดสินใจอื่นๆเพื่อหนีจากทุกข์นั้น ถึงแม้คู่ที่ต้องถูกพรากขณะที่ยังรักกันจะสามารถยอมรับการพลัดพรากนั้นได้แต่ถึงกระนั้นก็ยังจะต้องทนทุกข์ทรมานจากความยึดมั่นถือมั่นอยู่เช่นกัน

3). มากกว่ารัก

ดูเหมือนว่าความรักนั้นจะมาพร้อมกับความทุกข์เสมอ แต่ความรักนั้นก็ยังมีมิติที่ล้ำลึกกว่ารักที่เราเห็นและเข้าใจ เป็นมากกว่ารักทั่วไป เป็นรักที่ไม่มีการผูกมัด ไม่มีความทุกข์ มีความหวังดีและจิตเมตตาอยู่ แต่ไม่มีความผิดหวัง เพราะไม่ยึดสิ่งใดไว้ให้ผิดหวัง เราจึงต้องเรียนรู้ในเรื่องที่มากกว่ารัก

ในส่วนของผู้ที่ต้องการความเจริญในทางธรรม เช่นเดียวกับตัวอย่างของพระพุทธเจ้า เราเองก็ต้องทำเช่นนั้นเหมือนกัน แต่จะไม่ยากเท่า ไม่ลำบากเท่า ผู้ที่จะต้องการทำลายกิเลสเพื่อข้ามพ้นสู่ความผาสุกที่แท้จริง จะต้องทำลายกิเลสทิ้งในขณะที่มีความรัก ในขณะที่ยังรักยังผูกพัน ในขณะที่ความรู้สึกว่ารักนั้นยังคงอยู่ ยังเหลือเยื่อใยต่อกันอย่างเต็มที่เท่านั้น

การทำลายกิเลสหรือการทำลายความยึดมั่นถือมั่นนั้นไม่ใช่การทำลายความรัก แต่เป็นการยกระดับของความรักจากรักแบบโลกีย์ ให้กลายเป็นรักในแบบโลกุตระ เป็นรักที่ยิ่งใหญ่ มีแต่ความเมตตา มีแต่การให้ ไม่คิดจะเอาอะไรกลับมา เป็นเพราะรักมากจนกระทั่งยอมปล่อยยอมวาง รักมากเสียจนยินดีสละทุกอย่างให้ มากจนยอมทนทรมานเพียรทำที่สุดแห่งทุกข์เพื่อที่จะได้มาซึ่งรักที่ใสบริสุทธิ์จากกิเลสและนำรักที่บริสุทธิ์นั้นมาให้กับคนที่รักและคนอื่นๆอีกมากมาย

เพราะรักมากและเห็นคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ของความรักมากกว่าการครองคู่ มากกว่าการยึดมั่นถือมั่น มากกว่าการจองเวรจองกรรมกันข้ามภพข้ามชาติ มากกว่าการกอดทุกข์ไว้ คือการปลดปล่อยตัวเราและผู้อื่นออกจากการจองเวรจองกรรม เป็นโอกาสเดียวที่เราจะสามารถเข้าถึงความสุขแท้ได้คือยอมรับและเข้าใจทุกสิ่ง

เพราะรักจึงเข้าใจและยอมรับ ไม่ว่าจะถูกทิ้งหรือจำใจจะต้องเลิกราก็ตาม สุดท้ายการปล่อยวางจะเกิดจากการเข้าใจทุกเหตุปัจจัยและยอมรับในทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ

ผู้ที่ยอมปล่อยสิ่งที่รักได้อย่างเป็นสุข ปล่อยวางได้อย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น จะได้รับปัญญาใหม่ ได้รับความรู้เกี่ยวกับความรักชุดใหม่ ได้รักใหม่ที่ดีกว่าเก่า สุขกว่าเก่า สบายกว่าเก่า สงบเย็นกว่าเก่า เมตตากว่าเก่า รักมากกว่าเก่า

4).เหตุเกิดของความยึดมั่นในสิ่งที่เรียกว่าความรัก

เหตุทั้งหมดของเรื่องเหล่านี้คือการยึด แล้วมันยึดอย่างไร ยึดมาตั้งแต่ตอนไหน เราจะมาลองอธิบายปฏิจจสมุปบาทไปกับการยึดของความรักกัน

จิตเดิมแท้ของเรานั้นเป็นจิตใสไม่มีกิเลส แต่ด้วยความไม่รู้คืออวิชชา ไม่รู้ว่าสิ่งใดเป็นกิเลส จึงหลงสร้างสภาพปรุงแต่งทั้งกายวาจาใจ เมื่อมีการปรุงแต่งจึงเกิดวิญญาณคือธาตุรู้ เมื่อมีวิญญาณจึงมีนามรูปคือตัวรู้แล้วตัวที่ถูกรู้ เมื่อมีนามรูปจึงมีสฬายตนะ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จนถึงขั้นตอนนี้อาจจะเข้าใจยากสักหน่อยด้วยภาษาด้วยพยัญชนะ ซึ่งเป็นการเกิดของร่างกายและจิตใจเรานี่เอง

เมื่อเรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วจึงเกิดมีผัสสะ คือมีสิ่งกระทบ เช่นตากระทบรูปเห็นคน จำได้ว่าคนแบบนี้เรียกว่าคนสวยเป็นที่นิยม จึงเกิดเวทนาคือมีความสุขที่ได้เห็นคนสวย เมื่อมีความสุขจึงเกิดตัณหาคือความอยากเสพคนสวยหรือความสวยนั้น เมื่อมีตัณหาจึงมีอุปาทานคือการยึดมั่น ว่าฉันชอบคนสวย ฉันอยากได้คนสวย ฉันสุขใจเมื่อมีคนสวย มันยึดเข้าตรงนี้เอง กิเลสกลายมาเป็นตัวเราของเราตรงนี้เอง

ความรักหรือการยึดมั่นถือมั่นในคู่ครองก็เช่นกัน เมื่อเขาล่อลวงเราด้วยอบายมุข บำเรอเราด้วยกามคุณ สนองเราด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ โลกีย์สุข ทำให้เราเสพสมในอัตตาของเรา ทำให้เราได้รับผัสสะต่างๆ ได้กระทบกับสิ่งต่างๆเกิดเป็นความรู้สึก สุข ทุกข์ หรือเฉยๆ ในส่วนของคนคู่นั้นก็มักจะเกิดการเป็นสุขมากกว่า เมื่อเป็นสุขก็เลยมีตัณหาคือความอยากเสพความสุขนั้นอีก อยากเสพไปเรื่อยๆจึงเกิดความยึดหรืออุปาทาน มันยึดคู่รัก คนรัก อดีตคนรักไว้ก็ตรงนี้ เพราะได้เสพสมใจในกิเลสจึงยึดมั่นถือมั่นไว้ เกิดความยึดในการเสพสุขนั้นไว้ แต่มันไม่จบเพียงเท่านี้

การยึดนั้นทำให้เกิดภพ หรือที่อาศัย ในที่นี้คือสภาพที่จิตใจได้ดำรงอยู่ เช่นติดอยู่ในภพที่ว่าเขาจะเป็นของฉันเช่นนี้ตลอดไป เมื่ออาศัยอยู่ในภพเช่นนี้จึงมีชาติ คือการเกิด เกิดกิเลสซ้ำ เกิดความอยากได้อยากมีอะไรต่อมิอะไรอีกมากมายที่จะเกิดต่อจากความยึดว่าสิ่งนั้นเป็นสุข

แต่เมื่อมีการเกิดก็ต้องมีการดับเป็นธรรมดา คือเมื่อเกิดแล้วก็จะค่อยๆแก่ลงไปชราลงไป หมายถึงรักนั้นไม่ได้สดใสเหมือนเมื่อก่อน มันเสื่อมลง มันน้อยลง แม้ได้เสพก็สุขน้อยลง เมื่อแก่แล้วก็ต้องตาย ความตายอาจจะตายจากกันจริงๆหรือหมายถึงความรักนั้นตายจากใจก็ได้ มันหายไปสลายไปไม่มีเหลือ ที่นี้คนที่ติดสุข ติดภพ ยึดมั่นถือมั่นในคู่รักก็จะเกิดเป็นความเศร้าโศก คร่ำครวญรำพัน เสียใจ สร้างความคับแค้นใจ และความทุกข์ทั้งหมดทั้งมวลในความรักที่มีกิเลสย่อมเกิดด้วยเหตุเช่นนี้

พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น สิ่งใดที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น สิ่งนั้นจะไม่ทุกข์เป็นไม่มี” ดังนั้นการจะดับปัญหาที่เกิดขึ้นคือต้องดับที่ความยึดมั่นถือมั่น การจะปล่อยวางได้อย่างแท้จริงต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่การจะทำลายความยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ง่ายเพียงแค่ท่องว่าปล่อยวาง แต่เป็นการทำลายกิเลสซึ่งเป็นรากแห่งความยึดมั่นถือมั่นโดยใช้อริยสัจ ๔ เข้ามาเป็นพระเอกในภารกิจนี้ต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

6.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์