Tag: สัมมาอริยมรรค

ทำไมต้องรักเธอ

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 11,853 views 8

ทำไมต้องรักเธอ

ทำไมต้องรักเธอ

… กรรมใดหนอที่พาให้เราต้องมาผูกพัน

หลายคนอาจจะเคยสงสัยว่าทำไมเราจึงต้องชอบคนนี้ ทำไมต้องรักคนนี้ ทำไมจึงต้องยอมให้กับคนนี้ กับคนอื่นเราก็ไม่เคยยอมขนาดนี้ ไม่เคยเผลอพลาดไปขนาดนี้ ต้องเป็นคนนี้เท่านั้นที่เราจะยอมให้ทำกับเราได้ขนาดนี้

เราได้เห็นเหตุแห่งความรักความหลงใหลกันมาแล้วในบทความก่อน ซึ่งแน่นอนว่าคนมีกิเลสก็ต้องพุ่งเข้าไปหาความรักเสมอ แสวงหาคู่หรือแสดงท่าทีพร้อมจะมีคู่เสมอ กิเลสนี่มันจะพยายามหามาเสพให้ได้ ซึ่งก็ได้ขยายกันมามากแล้ว

ในบทความนี้เราจะกล่าวกันในเรื่องของ “กรรมและผลของกรรม” เป็นสิ่งที่ยากจะอธิบาย เป็นเรื่องอจินไตย หลายคนมักจะพบว่าเราไปชอบคนที่เราไม่อยากชอบ เราไปรักคนที่ไม่ควรรัก เราไปหลงกับคนที่ไม่น่าหลง แม้ว่าเขาจะทำไม่ดีกับเราสักเท่าไร จะทิ้งเราไปนานแค่ไหน ทำไมเรายังต้องพลาดพลั้งกลับไปรักเขาทุกที เรามาลองไขรายละเอียดในเรื่องผลกรรมให้พอเห็นภาพกว้างๆกันดูว่าทำไมหนอ ทำไมต้องรักเธอ…

1). กรรมกิเลสในชาตินี้

กรรมนั้นคือการกระทำ ส่วนกรรมที่ไม่ดีนั้นเกิดมาจากอะไร ก็เกิดมาจากการที่เรามีกิเลส กิเลสก็สั่งให้เราไปทำกรรมแบบนั้นแบบนี้ ในหัวข้อก็จะชี้ให้เห็นถึงผลว่าทำไมเราจึงต้องรักต้องหลง จากเหตุแห่งกรรมกิเลสที่เราทำมาเอง

1.1). ทำไมเราจึงต้องรู้สึกชอบเมื่อแรกพบ … เราปรุงแต่งกิเลสไว้มากว่า คู่ในฝันต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ พอมาเจอเข้าจริงๆ ก็จะพบว่าใช่เลย ซึ่งมันก็เป็นผลกรรมที่เราปรุงแต่งลักษณะคู่ในฝันตามกิเลสขึ้นมาเอง

1.2). ทำไมเราจึงต้องหลงหัวปักหัวปำ… ผลของการมีกิเลสคืออยากเสพอย่างไม่จบไม่สิ้น ความหลงนั้นเกิดขึ้นเพราะเราเข้าใจว่า เขาจะสามารถบันดาลสุขให้เราเสพได้ตลอดไป เราจึงจมอยู่กับความหลง เป็นผลกรรมที่เราต้องรับเพราะเรามีกิเลส

1.3). ทำไมเราจึงยอมให้เขากลับมาทุกครั้ง … คนที่คบหากันมานั้นก็จะร่วมกันบำรุงบำเรอกิเลสกันมาจนเสพติดรสสุขจากเสพเหล่านั้น ยกตัวอย่างเช่น เขาทิ้งเราไปมีคนอื่น แต่สุดท้ายเขากลับมาง้อเรา แม้ก่อนหน้านั้นเราจะทำใจแข็ง คิดไปว่าฉันจะไม่มีวันกลับไปแล้ว แต่สุดท้ายก็ยังกลับไปจนได้ เหตุนั้นเพราะเรายังติดรสสุขเดิมๆอยู่ เช่นการดูแลเอาใจใส่ ฯลฯ

จะขอยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งอย่างตรงไปตรงมา คือเรื่องการสมสู่สมมุติว่าเราเคยมีคู่และสมสู่กันจนติดรสสุข ที่นี้เขาทิ้งเราไปแล้วด้วยเหตุอันใดก็ตาม แต่วันหนึ่งเขากลับมา ตอนแรกเราก็ใจแข็งนะ แต่สุดท้ายก็ยอมให้เขาเหมือนเดิม เหมือนกับคำที่เขาว่า “วัวเคยค้า ม้าเคยขี่” , “ถ่านไฟเก่า” ทั้งนี้ที่ยอมเพราะติดรสสุขของการสมสู่ กิเลสเรามาก เราเลยต้องรับผลกรรมจากกิเลสคือต้องยอมเขาไปเรื่อยๆ เพราะลึกๆเราก็ยังอยากเสพเขาอยู่เช่นกัน

และความกลัวเหงาก็เป็นอีกสาเหตุ ความพร่องในใจของคนจนต้องหาใครมาเติมตลอดเวลา มันอาจจะไม่ง่ายนักที่จะหาคนใหม่มาเติมเต็มในทันที ซึ่งถ้าคนเก่ากลับมาก็จะง่ายกว่า แต่ในประเด็นของความเหงาก็ไม่แน่ว่าจะทำให้กลับไปคบเสมอไป เพราะบางครั้งความทุกข์มันมากกว่าความเหงา หลายคนจึงสามารถยอมตัดใจได้แม้ว่าจะต้องทนเหงา ดังนั้นความเหงาจึงเป็นสาเหตุหนึ่งเท่านั้น ซึ่งมีน้ำหนักค่อนข้างน้อยแต่ก็ยังมีผลอยู่ เพราะความเหงานี่ไม่จำเป็นต้องให้คนเดิมมาสนองเสมอไป อาจจะเป็นคนใหม่ หรือใช้เพื่อน ครอบครัว กิจกรรมใดๆมาสนองความเหงาก็สามารถทำได้

…สรุปในหัวข้อ “กรรมกิเลส” นี้ก็หมายถึงกรรมใหม่ที่ทำกันในชาตินี้ในชีวิตนี้นี่แหละ ไม่ได้เป็นเรื่องซับซ้อนมากมายนัก เพราะมีหลักฐานที่เห็นได้ด้วยตา รับรู้ได้ด้วยใจ เป็นของใหม่ที่มีหลักฐานให้สืบสาวราวเรื่องให้เห็นผลของกรรมที่ทำในชาตินี้

คือถ้าเราขุดค้นกิเลสของเราดีๆ ค้นไปถึงที่สุดแห่งทุกข์ ไปที่เหตุแห่งทุกข์แท้ๆ ก็จะสามารถเจอกับกิเลสตัวการที่สร้างกรรมให้เราต้องหลงรัก ปักใจ ไม่ยอมปล่อยยอมวาง แม้จะโดนทำร้ายก็ยังยอมให้เขาอยู่เรื่อยไปได้

2). กรรมเก่า

มาถึงเนื้อหาจริงๆของบทความนี้กันเสียที สิ่งที่เป็นเรื่องลึกลับซับซ้อนยากที่จะขุดค้นหาสาเหตุลงไปได้นั้นคือกรรมเก่า

กรรมเก่าในที่นี้หมายถึงกรรมที่สะสมมาตั้งแต่ชาติก่อนๆ ที่สืบสาวราวเรื่องกันไม่ได้ในชาตินี้ นึกยังไงก็นึกไม่ออกว่าไปทำกรรมนั้นไว้ตอนไหน เราก็จะยกไว้ให้เป็นเรื่องของกรรมเก่า และกรรมเก่านี่เองเป็นพลังลึกลับที่ผลักดันให้ต้องไปรัก ไปหลง ยอมให้อภัยทุกครั้งแม้เขาจะทำผิด โดยที่อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับกิเลสที่มีในชาตินี้เลยก็เป็นได้

ผลของกรรมหรือวิบากกรรมนั้น เป็นผลจากที่เราเคยไปทำกรรมไว้ในชาติใดชาติหนึ่ง เช่นเดียวกับที่เรามีกรรมจากกิเลสในชาตินี้ ผลกรรมก็จะส่งผลในชาตินี้และชาติต่อไปอีกเป็นส่วนๆ ดังนั้นในชาตินี้เราก็ต้องรับวิบากกรรมของเราที่เคยทำมาในชาติก่อนๆด้วยเช่นกัน วิบากกรรมนี้อาจจะเป็นเรื่องดีหรือเรื่องร้ายก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราทำกรรมด้านใดมามาก

2.1). ทำไมเราจึงต้องรู้สึกชอบเมื่อแรกพบ …วิบากกรรมเก่านั้นจะส่งผลเหมือนแม่เหล็ก ดึงดูดสิ่งที่คู่ควรกับกรรมของเรามาให้เราเจอ เราจะไม่สามารถผลักไสหรือป้องกันได้ ต้องรับผลอย่างเดียวเท่านั้น ดังเช่นอาการหลงชอบตั้งแต่แรกเจอโดยไม่มีเหตุผล มีความรู้สึกแปลกประหลาดต่างจากคนอื่น

เราอาจจะเคยพบคนหน้าตาดี นิสัยดี ฐานะดี ฯลฯ แต่กลับรู้สึกไม่เหมือนพบกับคนคนนี้ วิบากกรรมจะยิงผลเข้ามาที่ใจตรงๆ โดยไม่สามารถป้องกันได้ด้วยสติ เพราะวิบากกรรมมันจะมาเหนือเมฆเสมอ มาเหนือกว่ากำลังสติปัญญาของเราเสมอ มันจะหลงของมันไปเองตั้งแต่แรก ส่วนจะสามารถรู้ตัวทีหลังได้นั้นก็เป็นอีกเรื่อง แต่ถ้าตราบใดที่วิบากกรรมยังส่งผลไม่หมด ก็จะไม่สามารถหนีได้ จะต้องพบกับความรักความหลงที่ไม่มีเหตุผลแบบนี้จนกว่าผลของกรรมจะสิ้นสุด

ยิ่งคนที่ปฏิบัติธรรมมาก มีภูมิธรรมสูง เวลาวิบากกรรมขั่วมาก็จะรุนแรงกว่าชาวบ้านทั่วไป เพราะกรรมชั่วนั้นมีหน้าที่หนึ่งคือกระแทกให้เกิดทุกข์ เมื่อเกิดทุกข์จึงค้นหาเหตุแห่งทุกข์ จนศึกษาการดับทุกข์ และดับทุกข์ด้วยวิถีทางดับทุกข์ที่ถูกตรง ดังนั้นคนที่มีกำลังสติมากๆ ผลกรรมที่บางเบาอาจจะไม่สามารถทะลุกำแพงสติปัญญาเข้ามาทำให้ทุกข์ได้ ดังนั้นเมื่อได้รับก็จะได้รับผลกรรมก้อนใหญ่ที่มีความรุนแรงมาก ทำให้กระวนกระวายมาก ทำให้หลงมากและสิ่งที่เกิดจะทะลุกำแพงสติและปัญญาที่มีทั้งหมด

วิบากกรรมจะทำให้นักปราชญ์รู้สึกหลงรักหลงชอบไปไม่ต่างจากความรู้สึกของคนธรรมดาทั่วไป แต่แน่นอนว่ามีวิบากกรรมชั่วก็ต้องมีวิบากกรรมดี คนที่ทำดีมามากก็จะสามารถหลุดจากสภาพหลงได้ในเวลาไม่นานนัก อาจจะหลงชอบอยู่สักพักหนึ่งแล้วอยู่ๆก็หลุดจากอาการเหล่านั้น นั่นเพราะผลกรรมชั่วได้ถูกชดใช้จนหมด คือถูกทำให้หลงรักแล้ว และเมื่อหมดวิบากกรรมชั่ว วิบากกรรมดีจึงส่งผลได้คือทำให้มีสติ ทำให้ตาสว่าง ทำให้เกิดปัญญาขึ้นมาเอง จนปล่อยจนคลายได้

2.2). ทำไมเราจึงต้องหลงหัวปักหัวปำ…กรณีของคนที่มีวิบากกรรมมากก็จะต้องผูกพันนานหน่อย จะไม่หลุดง่ายๆ จะหลงมัวเมาหัวปักหัวปำอยู่แบบนั้น สติปัญญาอะไรไม่ต้องถามถึง มันไม่มีหรอกเพราะวิบากกรรมมันจะแรงกว่าเสมอ ฝึกมาดีแค่ไหนก็จะกลายเป็นคนที่หลงในความรักคนหนึ่ง แทบไม่ต้องพูดถึงคนทั่วไปที่ไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรงเลย มัวเมาจากวิบากกรรมตัวเองแล้วยังต้องเมากิเลสตัวเองซ้อนเข้าไปอีก กลายเป็นหลงหัวปักหัวปำ

ถึงเขาจะทำไม่ดีกับเรา เราก็จะไม่ถือโทษนะ จริงๆมันอาจจะดูว่างี่เง่า เอาแต่ใจ ไม่มีเหตุผลในสายตาของคนอื่น แต่ในความเข้าใจของเรามันจะเข้าใจเขาได้ มันจะลำเอียงเพราะหลงรักเขา ที่ไปหลงรักเขามันก็มีพลังแห่งวิบากกรรมมาดล มันดลให้รักให้ปักมั่น เหมือนคนหูหนวกตาบอด ใครบอกก็ไม่ฟังเหมือนโดนมนต์สะกดอะไรสักอย่าง

แม้ว่าจะมีคนบอกว่าเขาหรือเธอคนนั้นไม่น่าทำให้หลงได้ขนาดนั้น ไม่เหมาะสม ไม่น่าคบหา หรือคนอื่นบอกว่าถ้าเป็นเขาก็ไม่คบหรอก เราได้ยินเขาพูดนะ เข้าใจด้วย รับฟังอย่างมีสติด้วย แต่ในใจเราจะไม่รู้สึกตามเขา เวลาฟังมันเข้าใจเหตุผลได้ทุกอย่าง แต่มันทำไม่ได้ มันฝืนไม่ได้ ผิดชอบชั่วดีรู้หมดทุกอย่างแต่ต้านทานอะไรไม่ได้เลย

นี้เองคือพลังของกรรมและผลของกรรม เมื่อเราทำกรรมอะไรไว้แล้วมันจะให้ผลเหมือนกับจับเราไปขึงแล้วยิงเป้าโดยที่ไม่อาจจะขัดขืน สั่งให้เราหลงงมงาย ให้เราจมอยู่กับทุกข์ใจแสนสาหัส เวลาที่คนต้องอยู่แบบไม่อยากเสพแต่หนีไม่ได้นี่มันทุกข์นะ ตัวเองก็ไม่ได้อยากรักอยากหลงสักเท่าไร แต่มันหนีไม่ได้ มันออกไม่ได้ มันไม่มีปัญญา มันจะตื้อไปหมดสุดท้ายก็มาหลงเขาเหมือนเดิมแม้จะทุกข์แค่ไหนก็ต้องวนกลับมาโดนอยู่ดี

วิธีเดียวที่จะพ้นวิบากกรรมชั่วที่ทำให้ต้องทนทุกข์อยู่คือการทำกรรมดีช่วย แน่นอนว่าผลกรรมชั่วก็ต้องรับ แต่กรรมดีก็ต้องรับเช่นกัน ดังนั้นเราจึงควรทำกรรมดีให้มากเพื่อไปเจือจางผลกรรมชั่วนั้นเสีย เพื่อให้เราไม่ต้องทนรับกรรมชั่วต่อเนื่องกันนานๆ ให้พอมีกรรมดีได้ส่งผลให้เกิดปัญญา ให้เห็นความจริง ให้โผล่ขึ้นมาหายใจได้บ้างหลังจากที่ถูกกรรมชั่วลากลงน้ำจนทุกข์ทรมาน

2.3). ทำไมเราจึงยอมให้เขากลับมาทุกครั้ง … คนที่มีกรรมผูกผันมาก แม้จะพยายามสะบัดก็จะสะบัดไม่หลุด หนีไม่ได้ ถึงจะพยายามหนีก็ต้องกลับมาหลงเหมือนเดิม ถึงเราจะยอมใจแข็งตัดใจทิ้งความสัมพันธ์นี้ไป สุดท้ายวิบากกรรมก็จะดลให้เขามาง้อ ให้เขามาแสดงอาการให้เรารู้ว่าเราสำคัญ คำพูดมากมายที่ตรงกับใจซึ่งทำให้เราใจอ่อน หรือไม่ก็เป็นเราที่วนกลับไปเสียเอง ยอมรับกรรมนั้นกลับมาซ้ำเติมเราอีกครั้งหนึ่ง

แม้เราจะไม่ได้รู้สึกอยากเสพสิ่งใดในตัวเขา แต่ก็จะมีเหตุผลบางอย่างที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อดูดดึงเขากลับมาไว้กับเราอีกครั้ง จริงๆแล้วเป็นการลากกลับมาของวิบากกรรม ผลของกรรมนั้นหากยังไม่ได้ถูกชดใช้จนหมด ก็จะไม่ปล่อยให้เราให้เราได้เป็นอิสสะ เรายังจะต้องจมและวนเวียนอยู่กับเขาหรือเธอซึ่งก็ไม่รู้ไปหลงใหลอะไรมากมาย หาเหตุผลก็ไม่ค่อยเจอ ข้อดีก็มีให้เห็นไม่มาก ก็เสียก็มากมาย แต่เรากลับไปขยายเนื้อความในข้อดีแล้วมักจะทำเป็นมองไม่เห็นข้อเสียนั้นเสียเอง

วิบากกรรมมันพาให้หลงไปแบบนี้ อะไรก็ป้องกันไม่อยู่ ได้แต่จำยอมรับผลกรรมด้วยใจที่เป็นสุข แน่นอนว่าในภาษานั้นพอจะยอมรับได้ แต่ในความจริงที่เกิดขึ้นมันจะยอมรับไม่ได้ ทำใจให้เป็นสุขไม่ได้ เพราะผลกรรมนั้นก็ดลให้เกิดความหลงผิด จนเกิดความทุกข์ ลืมธรรมะ ลืมเครื่องมือทุกอย่างที่เคยใช้เพื่อกำจัดทุกข์เหมือนกับคนไม่เคยฝึกปฏิบัติใจมาเลย

วิบากกรรมนั้นยังมีช่วงเวลาของการส่งผล บางคนเลิกกับคนรักที่เคยหลงยึดไว้หลายปีแล้ว แม้ว่าจะหันหน้าปฏิบัติธรรม หันมาทำดี หันมาสร้างกุศล แต่สุดท้ายกลับถูกกรรมดึงกลับไปให้ต้องไปมีคู่ ตอนแรกมันเหมือนจะหนีออกมาได้นะ มาพบธรรมะ มีกัลยาณมิตร เจอครูบาอาจารย์ที่ถูกตรงแล้ว เห็นทางพ้นทุกข์ก็แล้ว แต่ยังถูกวิบากกรรมลากกลับไปให้หลงมัวเมาอีก

ตอนถูกลากกลับไปอีกทีมันจะลืมธรรมะหมดเลยนะ ลืมคำสอนครูบาอาจารย์ ลืมกัลยาณมิตร ลืมศีล ลืมสติ ลืมปัญญา หันกลับไปหลงแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ดีไม่ดีจะยอมลดศีลทิ้งธรรมไปเลย ยอมกลับไปมีรักดีกว่ามีธรรม

ที่เป็นเช่นนี้เพราะอะไร? นั่นก็เพราะเมื่อคนหันมาทำดี ทำกุศลกรรมเข้ามากๆ ศึกษาธรรมะมากๆ ผลกรรมในด้านดีจะส่งผลและดึงวิบากกรรมชั่วเข้ามา กล่าวกันแบบนี้อาจจะงง ว่าเอ๊ะ!ทำไมทำกรรมดีแล้วชั่วจึงมา นั่นเพราะว่าเวลาเราทำดีไปมากเข้า กรรมดีก็จะดึงวิบากกรรมชั่วมาให้เกิดผลที่ดีขึ้น คือดึงวิบากกรรมชั่วมาใช้ให้มันหมดไปอีกเรื่องหนึ่งชีวิตจะได้ดีขึ้น เมื่อวิบากกรรมชั่วนั้นส่งผลขึ้นมาก็จะทำให้หน้ามืดตามัว แม้ว่าจะอยู่กลางวงธรรม ห้อมล้อมด้วยมิตรสหายและครูบาอาจารย์ที่ถูกตรง แต่ก็สามารถหลุดออกจากวงโคจรไปได้เช่นกัน เพราะวิบากกรรมนั้นลากออกไปให้ได้ทำภารกิจ คือไปชดใช้กรรม

ถ้าถามว่าต้องใช้วิบากกรรมถึงไหนก็ยากจะตอบได้ เพียงแค่เข้าใจได้ว่าใช้เท่าที่ควรจะใช้ แต่มันจะไม่มากกว่าที่เราทำมาแน่นอน เมื่อใช้วิบากกรรมหมดก็จะรู้เอง มันจะหายโง่ มันจะมีเหตุการณ์ที่มาดลให้เกิดปัญญาเอง

แต่ทีนี้มันจะมีโอกาสพลาดอยู่ตรงที่ว่าคนดีที่กุศลกรรมนั้นลากอกุศลกรรมมาแล้ว ไม่ได้มีแค่ผลของกรรมอย่างเดียว ยังมีกิเลสรวมอยู่ด้วย สุดท้ายคนดีที่ทำดีมากๆแต่ล้างกิเลสไม่เป็นก็จะต้องจมไปกับชะตากรรม ต้องวนเวียนมีคู่ แต่งงาน มีลูก เลี้ยงลูก แบกภาระมากมายสะสมทุกข์และกรรมชั่วเพิ่มไปอีกชาติหนึ่ง

ซึ่งก็จะวนเวียนอยู่แบบนี้เป็นธรรมดาของโลก จะสังเกตว่าคนทำดีมากๆมักจะได้รับผลร้ายแปลกๆ มักจะได้ยินว่าคนดีไม่น่าได้รับสิ่งร้าย ไม่น่าตายไม่ดีเลย จริงๆแล้วสิ่งร้ายนั้นไม่ได้เกิดมาจากการทำดี แต่เกิดจากกรรมชั่ว จึงส่งผลเป็นสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นในชีวิต สิ่งที่ไม่ดีนั้นเกิดขึ้นเช่นเดียวกับที่ยกตัวอย่างมาในข้างต้นคือมาเพื่อกระแทกให้เห็นกรรมชั่วที่ตัวเองทำไว้ จะได้ทำดีให้มากขึ้น หรือในกรณีคนดีบางคนก็เพียงแค่ตายใช้กรรมเพื่อเปลี่ยนภพไปสู่ภพที่ดีกว่า เช่นชาตินี้อาจจะเป็นคนจนมีภาระมาก เมื่อทำดีมากๆก็หมดกรรม ถูกทำให้ตายและเกิดใหม่เป็นคนที่พร้อมด้วยปัจจัยที่เอื้อต่อการทำดีมากขึ้นก็เป็นได้

ในกรณีเดียวกันที่คนทำดีเจอสิ่งไม่ดีนั้นเพราะวิบากกรรมลากสิ่งชั่วมาให้เรียนรู้ แต่ทีนี้คนดีส่วนมากแม้จะมีความดีมากแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีปัญญามากพอจะผ่านเรื่องเลวร้ายนั้นได้ บางคนก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับอกุศลกรรมที่ถูกดึงเข้ามา นั่นเพราะเขาไม่คบหาสัตบุรุษ ไม่มีครูบาอาจารย์ที่ถูกตรง ไม่มีกัลยาณมิตร ไม่มีธรรมที่จะพาให้ผ่านเรื่องเลวร้ายเหล่านั้นได้

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่าการที่จะก้าวเข้าสู่วิธีปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ หรือก่อนจะเข้าสัมมาอริยมรรคได้นั้นจะต้องพบกับกัลยาณมิตรเสียก่อน มรรคนั้นเหมือนกับดวงอาทิตย์แต่ก่อนอาทิตย์จะขึ้นเราจะต้องเห็นแสงอาทิตย์ก่อน เห็นแสงเงินแสงท่องที่ส่องมาก่อน คือต้องคบหาสัตบุรุษหรือมีกัลยาณมิตรที่รู้สัจจะแท้สู่การพ้นทุกข์เสียก่อน และพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้อีกว่า มิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดีเป็นทั้งหมดทั้งสิ้นของการพ้นทุกข์

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม จะเก่งกาจยิ่งใหญ่มาจากไหนก็หนีพลังของวิบากกรรมไม่พ้น หนีสิ่งที่ตัวเองเคยทำมาไม่พ้น เรายังคงต้องรับผลกรรมที่เราเคยทำมานั้นอย่างหลบเลี่ยงไม่ได้ แต่หากเราได้คบหากับมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมที่ดี เขาเหล่านั้นก็จะพาเราสร้างกรรมใหม่ เป็นกรรมดีที่พาให้เจริญเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่พอจะเจือจางพลังแห่งวิบากกรรมชั่วให้ส่งผลเบาบางลงได้บ้าง

เหมือนกับเราผสมน้ำเปล่าใส่น้ำหวาน มวลของน้ำหวานยังมีอยู่เหมือนเดิม แต่ถ้าเรากินน้ำที่ผสมแล้วก็จะไม่รู้สึกหวานมากเหมือนกินน้ำหวานล้วนๆ วิบากกรรมดีและชั่วก็เช่นกัน แม้เราจะไม่สามารถทำให้หมดไปได้ แต่สามารถทำให้วิบากกรรมเหล่านั้นเจือจางได้ และทำให้เราสามารถชดใช้กรรมได้ในขีดที่ไม่ทุกข์มากนัก จะดีกว่าไหมหากเราสามารถเลือกที่จะผ่อนหนักเป็นเบาได้ เหล่านี้คือกรรมใหม่ที่เราเลือกได้ ชีวิตลิขิตเองได้ โดยการทำกรรมใหม่ซึ่งมีคุณค่ากว่าการจมอยู่กับกรรมเก่า

3). เราทำกรรมอะไรมาจึงต้องมาหลงมัวเมากันขนาดนี้

กว่าจะมาถึงชาตินี้เราเวียนว่ายตายเกิดกันมาหลายภพหลายชาติ เป็นคนดีคนเลวมามากมาย มีคู่มาก็มาก แม้ว่าชาตินี้จะไม่อยากมีคู่ก็ตาม วิบากกรรมก็จะดลให้อยากมีเพราะจริงๆเรามีสะสมมาหลายชาตินับไม่ถ้วน กรรมที่เคยผูกพันกันในแบบสามีภรรยาจึงถูกสร้างขึ้นมามากมาย ฝังลึกลงไปในจิตวิญญาณ

เมื่อเคยมีคู่มาหลายชาติ ก็ต้องมารับผลกรรมจากการมีคู่ที่เคยทำมาด้วย ไม่ใช่ว่าจะแค่ตัดใจแล้วหนีมันทำไม่ได้ วิบากกรรมจะดลให้หลงไปมีคู่เองเมื่อถึงเวลาอันควร ส่วนจะมากน้อยเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับว่าเราสะสมกรรมแห่งการมีคู่มากมากเท่านั้น นี่ยังไม่รวมวิบากกรรมจากการไปจีบเขา ไปหักอกเขา ไปทิ้งเขานะ มันต้องรับทั้งหมด ดังนั้นเราเกิดมาก็จะเจอลีลาทุกข์จากเรื่องคู่ต่างกันเพราะทำหลายรูปแบบ

ยกตัวอย่างเช่น ผู้หญิงบางคนหลงไปว่าฉันมีคนมาจีบเยอะ ฉันมีแฟนหลายคน ฉันมีเสน่ห์ ก็เมาโลกธรรมหลงไปบริหารเสน่ห์คุยกับคนนั้น เล่นหูเล่นตากับคนนี้ ปั่นหัวคนโน้น สารพัดลีลาที่จะใช้ยั่วคนอื่นไปทั่ว แม้แต่การมีแฟนหลายคนก็อย่าหลงดีใจไป ทั้งหมดนั้นเราจะต้องรับแน่นอน เราไปเป็นสิ่งที่กระตุ้นกิเลสให้ใคร เราจะต้องโดนเอาคืนในชาติใดชาติหนึ่งแน่นอน

เช่น ตายแล้วมาเกิดในร่างผู้ชาย พอโตได้ที่ถึงวัยกิเลสกำเริบก็พยายามจีบเขาไปทั่ว แต่ก็ทำยังไงก็โดนเขาหักอก โดนเขายั่วแต่ไม่ยอม โดนเขาทิ้งก็ยังหลงมัวเมาตื้อเขาอยู่ ต้องทนทุกข์อยู่แบบนั้น นี่ก็เกิดจากกรรมที่ทำมานั่นเอง

คนที่ไม่ชัดเจนเรื่องกรรม ไม่เชื่อในกรรมและผลของกรรม ก็จะสะสมกรรมชั่วไปเรื่อยๆ แล้วก็วนเวียนรับกรรมชั่วทุกข์ทรมานแสนสาหัสจนหันมาทำดีจนได้รับผลกรรมที่ดี เกิดมามีหน้าตาดีแต่แล้วก็เลือกทำกรรมชั่วไปทั่ว ก็ต้องวนมารับวิบากกรรมชั่วแบบนี้เรื่อยไป คนก็วนเวียนในวัฏสงสารแบบนี้ ทำดีทำชั่วสลับกันไปแบบนี้ แล้วก็ต้องมาคอยรับผลกรรมชั่วจนทุกข์ทรมานแบบนี้ มันเหนื่อยไหมล่ะ

4). การพาตนให้รอดพ้นกรรมเก่า

คนที่กิเลสหนามักจะต้องเวียนกลับไปเจอกับทุกข์เช่นนี้ เพราะยังมีเชื้อกิเลสเป็นตัวดูดดึง แม้จะอยู่ในกลุ่มมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี มีครูบาอาจารย์ที่สอนอย่างถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ ลดกิเลสได้จริง มีปัญญาจริง ถึงจะพยายามปฏิบัติจนมีความสงบ รูปสวย มีคนนับหน้าถือตา เป็นดังพ่อพระแม่พระ แต่สุดท้ายก็จะโดนวิบากกรรมลากกลับไปให้หลงรัก ให้มีคู่ ดังที่เห็นได้ทั่วไปในสังคมว่า คนที่ดีแสนดีแต่ทำไมเวียนกลับไปเสื่อมจากศีลธรรม

การที่เสื่อมจากศีลธรรมนั้นเพราะว่าแท้จริงแล้วไม่เคยมีธรรมนั้นจริงๆในตนเองต่างหาก ไม่มีปัญญาในตน ไม่มีสภาพรู้แจ้งกิเลสในตน ดังนั้นจึงมีกิเลสเป็นไส้ศึกทำให้ต้องแพ้พ่ายเมื่อผลกรรมยกทัพมาตี ถ้าเราไม่ใช่ของจริงถึงแม้จะอยู่ในหมู่คนดีก็จะต้องโดนพรากโดนจับแยกออกไปให้รับทุกข์

แต่คนที่มีสภาพรู้แจ้งกิเลสในเรื่องคู่จะต่างออกไป เพราะเข้าใจรู้แจ้งอริยสัจ ๔ ทั้งหมดในเรื่องคู่ จึงไม่มีวิบากกรรมใดที่จะสามารถมากระแทกกระทั้นให้สละความโสดหรือไปหลงรักใครได้ เพราะเข้าสู่ภาวะของความเที่ยงในวิญญาณว่าไม่มีคู่นี่มันสุขที่สุดแล้ว

แต่ถึงกระนั้นก็ตามแม้ว่าจะเป็นผู้มีปัญญารู้แจ้งในกิเลส เขาเหล่านั้นก็ไม่ได้ปัญญามาด้วยความบังเอิญ แต่ได้มาจากการเผชิญกับความหลง ความรัก เรียนรู้สุขทุกข์ ล้มลุกคลุกคลานกันมามากมายเช่นเดียวกับคนกิเลสหนานั่นแหละ แต่สิ่งที่ทำให้เขาผ่านมาได้และเพียรพยายามจนไม่ต้องวนกลับไปทุกข์อีก คือการคบหาสัตบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมได้ฟังสัจธรรมที่บริบูรณ์ เกิดศรัทธาและปฏิบัติตามจนพ้นทุกข์ได้นั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

15.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การปฏิบัติศีล (สมาธิ ปัญญา)

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,051 views 0

การปฏิบัติศีล(สมาธิ ปัญญา)

การปฏิบัติศีล(สมาธิ ปัญญา)

การปฏิบัติธรรมเพื่อการพ้นทุกข์นั้นเราจะต้องปฏิบัติไปพร้อมกันทั้งศีล สมาธิ ปัญญา โดยไม่โต่งไปในด้านใดด้านหนึ่งจนเกินไป โดยปฏิบัติให้พอเหมาะกับกิเลสนั้นๆ

ศีล เหมือนดังเข็มทิศที่จะบอกว่าทิศทางที่เรากำลังจะไปนั้นต้องเดินไปทางด้านไหนเรากำลังมาถูกทางหรือผิดทาง

สมาธิ เหมือนดังกำลังที่จะพาให้เราปฏิบัติศีลไปจนตลอดรอดฝั่ง ให้เรามีความเพียรพยายามล้างกิเลสได้อย่างต่อเนื่อง

ปัญญา นั้นเหมือนดังเครื่องมือมีที่จะนำไปทำลายกิเลส เมื่อเราสามารถชำระกิเลสได้เท่าไหร่เราก็จะได้ปัญญาที่เป็นผลมากเท่านั้น

ในตอนที่เราเริ่มปฏิบัตินั้นเราจะเต็มไปด้วยกิเลส แต่เมื่อเราปฏิบัติศีล อย่างมีสมาธิ จนเกิดปัญญารู้แจ้งทำลายกิเลส ปัญญาเกิดกิเลสก็หาย แต่ปัญญาไม่หายไปไหนเพราะสุดท้ายจะได้ปัญญาที่เป็นผลจากการทำลายกิเลส เป็นจิตใหม่ที่ประกอบไปด้วยปัญญา ไม่เหมือนจิตตอนที่เริ่มปฏิบัติซึ่งตอนนั้นยังไม่มีปัญญา

1).มรรค

ในระหว่างที่เราถือศีล เพื่อปฏิบัติธรรม เราจะต้องใช้ปัญญาเท่าที่เรามีขุดกิเลส หากิเลส ทำลายกิเลสไปเรื่อยๆตามศีลที่เราได้ตั้งไว้ เช่น เราตั้งศีลว่าจะลดกาแฟ เราก็ใช้ปัญญาของเรานี่แหละพิจารณาโทษของกาแฟ ด้วยสมาธิ ด้วยความตั้งมั่น มีขันติ อดทนต่อความอยากกาแฟ ดำรงสภาพของสมาธิให้นานเท่าที่จะนานได้เพื่อพิจารณาธรรมต่างๆ

เพราะเมื่อกำลังสมาธิหรือพลังจิตหมด เราจะหมดแรงต้านทานกิเลสหรือทนความอยากกินกาแฟไม่ไหว ก็กลับไปกินบ้าง พอพักแล้วมีกำลังใหม่ก็อดทนใหม่ ใช้ปัญญากะเทาะกิเลสต่อไปเรื่อยๆ จะใช้พลังสมถะเข้าช่วยเพิ่มกำลังบ้างก็ได้ ซึ่งจะทำให้ช่วงของการละเว้นกาแฟนั้นยาวนานขึ้น มีเวลาให้เราเห็นทุกข์จากความอยากและพิจารณาความอยากนั้นมากขึ้น

การปฏิบัตินี้เองเรียกว่ามรรค หรือทางเดิน ซึ่งการจะเดินไปในทางสายกลางได้อย่างไม่หลงไปซ้ายหรือไปขวานั้น ต้องพยายามละเว้นการกลับไปกินกาแฟ และประมาณตัวเองไม่ให้รู้สึกทรมานจนเกินไปเมื่อความอยากกาแฟเกินจุดที่จะกดข่มไหว ซึ่งในระยะที่ปฏิบัตินั้นจะเดินปัดซ้ายขวาไปมาระหว่างทางโต่งสองด้านอยู่อย่างนี้ แต่เมื่อเจริญขึ้นจะเริ่มนิ่งขึ้น จะเดินตรงขึ้น

เราไม่สามารถเข้าใจสัมมาอริยมรรคได้เพียงแค่การคิดหรือท่องจำ เพราะถึงแม้ว่าจะรู้ดีเพียงใดแต่ในขณะที่เรายังมีกิเลสเราจะไม่สามารถเดินตามมรรคได้สมบูรณ์นัก ซึ่งก็ต้องปฏิบัติละเว้นทางโต่งสองด้านและใช้หลักสัมมาอริยมรรคเป็นตัวยึดอาศัยบนเส้นทางแห่งศีลนั้นเอง

2). ผล

ในระหว่างที่ฝึกปฏิบัติ เราจะได้ผลเป็นระยะๆ มรรคผลจะเกิดขึ้นทีละนิดละหน่อย ปัญญาจะเจริญขึ้นเป็นลำดับ เพราะการปฏิบัติธรรมของพุทธนั้นเป็นไปตามลำดับ ไม่ใช่เพื่อบรรลุธรรมในทันที

เราจำเป็นต้องปฏิบัติจนเห็นผลเจริญอย่างเป็นลำดับในจิตวิญญาณ ให้รู้ว่าวันนี้เราได้ผลเจริญขึ้นอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น แต่ก่อนเราเห็นร้านกาแฟแล้วต้องแวะทุกทีเลยนะ แต่เดี๋ยวนี้สัปดาห์หนึ่งถึงจะแวะ หรือไม่ก็แต่ก่อนเราต้องกินกาแฟทุกเช้าเลยนะแต่เดี๋ยวนี้ไม่กินก็ไม่ได้รู้สึกทุกข์ ไม่รู้สึกอยาก และไม่ได้รู้สึกว่ากาแฟจำเป็นอีกต่อไป

การที่เราปฏิบัติศีลอย่างตั้งมั่นจะทำให้เราได้รับปัญญาที่เป็นผลโดยลำดับ และปัญญาเหล่านี้เองที่จะทำให้เราสามารถปฏิบัติศีลที่สูงขึ้น หรืออธิศีลในส่วนย่อยของศีลที่เราตั้งไว้ได้ ยกตัวอย่างว่าเราสามารถลดกาแฟที่กินต่อวันจากสองแก้วเหลือหนึ่งแก้วเพราะเรามีปัญญารู้ว่ากินสองแก้วต่อวันไม่ดี อยากกินไปก็ทุกข์ ฯลฯ เมื่อปฏิบัติศีลจนได้ปัญญาเป็นผล ปัญญาที่เป็นผลเหล่านั้นจะเป็นฐานให้เราขยับขึ้นไปในระดับลดกาแฟต่อสัปดาห์ หรือเลิกกาแฟได้ง่ายขึ้น

เราจำเป็นต้องใช้ผลเจริญของปัญญาที่เกิดขึ้นในระหว่างปฏิบัติศีลนี่แหละเป็นฐานให้เราขยับฐานการละเว้นต่อไป แม้ว่าเราจะไม่สามารถเลิกกาแฟ ชำระความอยากได้ทันที หรือไม่สามารถดับความอยากกินจนสิ้นเกลี้ยง แต่การที่เราสามารถถือศีลที่สูงขึ้น ยากขึ้น นั่นหมายความว่าเราสามารถที่จะทนการบีบคั้นให้เห็นตัวกิเลสได้ดีขึ้น ยิ่งถือศีลที่ยากมากเท่าไหร่ก็จะสามารถเห็นกิเลสที่แอบหลบซ่อนอยู่ได้มากเท่านั้น

ก). ไตรสิกขากับกิเลสสามภพ

ความจริงจังในการปฏิบัติธรรมไม่ได้หมายความว่าเราควรจะตั้งศีลเลิกตั้งแต่แรกแล้วยึดมั่นถือมั่นไว้ แบบนั้นอาจจะทำให้ทรมานจนโต่งไปด้านอัตตา จริงอยู่ที่ว่าเป้าของเราคือเลิกกาแฟ แต่เราควรตั้งใจลด ละ เลิกไปตามลำดับเพื่อเป็นไปตามหลักการปฏิบัติไตรสิกขา คือการเรียนรู้อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา นั่นก็คือการพัฒนาระดับศีล สมาธิ ปัญญา จากการ ลด ละ เลิกไปตามลำดับนี่เอง

ทั้งนี้การทำไปตามลำดับก็เพื่อให้เราได้เรียนรู้ความหยาบ กลาง ไปจนถึงละเอียดของกิเลสชนิดนั้นๆ กิเลสนั้นมีสภาพอยู่สามภพ คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ การที่เราถือศีลที่ยากขึ้นไปเรื่อยๆจะค่อยๆทำให้เห็นกิเลสที่ซ่อนอยู่ในแต่ละภพชัดเจนขึ้น เมื่อเห็นกิเลสจึงจะสามารถใช้สติปัญญาทำลายกิเลสได้ และศีลนี้เองคือสิ่งที่ควรประมาณให้เหมาะกับฐานะของตน

หากเรายังอยู่ในกามภพ คือสภาพที่เรายังไปกินกาแฟอยู่ เราก็ตั้งศีล ลด ละ เลิกกาแฟไปตามลำดับจนสามารถเลิกได้เด็ดขาดแล้ว จึงตั้งศีลในระดับของรูปภพ

สภาพของรูปภพคือยังมีความอยากกาแฟให้เห็นอยู่ มีความรู้สึกว่ายังอยากกินอยู่แต่ไม่กิน พอเข้ารูปภพจะต้องตั้งศีลที่ยากขึ้นอีกคือละเว้นความอยากกินกาแฟ แม้ความอยากกินกาแฟเกิดก็ผิดศีล เพราะความอยากที่เกิดเพียงในใจก็สามารถสร้างมโนกรรมได้แล้ว

เมื่อละรูปภพได้แล้ว เห็นกาแฟก็ไม่อยากกินเหมือนก่อนแล้ว ก็จะเข้าอรูปภพ หมายถึงสภาพที่ไม่สามารถเห็นกิเลสเป็นรูปได้อีกต่อไป ไม่มีความคิดว่าอยากกิน แต่เห็นกาแฟแล้วก็ยังไม่สบายใจ ยังแอบมอง ยังแอบสนใจ ยังรู้สึกดี มีคนจะซื้อมาฝากแม้จะปฏิเสธแต่ก็ยังแอบเสียดายอยู่ลึกๆ มีอาการที่ร่างกายเกิดขึ้นมาฟ้องบ้าง เช่นกลืนน้ำลาย น้ำลายไหล เราคิดว่าใจเรามันไม่อยากแล้วนะ แต่จิตใต้สำนึกมันยังอยากอยู่ มันยังมีอาการอยู่ ถ้าเข้าแบบนี้ก็ต้องตั้งศีลละเอียดขึ้น คือทุกอาการสั่นไหวของกายและจิตที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะกาแฟ ต้องละเว้นและทำลายกิเลสละเอียดที่แอบซ่อนนี้ให้ได้

3).มรรคผล

ถ้าเราตั้งศีลว่าเราอยากเลิกกาแฟนั้นอาจจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ง่าย แต่อาจจะยังติดอยู่ภพใดภพหนึ่งของกิเลสอยู่ ดังนั้นการตั้งศีลที่ว่าอยากจะพ้นจากความอยากกินกาแฟทั้งกาย วาจา ใจ นี้เป็นศีลที่พาให้เกิดกุศลมากกว่า เข้าถึงกิเลสได้จริง เห็นกิเลสได้จริง ทำลายกิเลสได้จริงๆ จึงมีโอกาสที่จะถึงวิมุตติจริงๆ

เมื่อเราปฏิบัติศีลโดยลำดับจากง่าย กลาง ยาก จนสามารถผ่านกิเลสที่ดึงรั้งเราไว้ให้อยู่ในกามภพ รูปภพ อรูปภพได้แล้ว ก็เหมือนว่าเราสามารถพาตัวเองออกจากถ้ำกิเลสได้ ออกมาพบความจริงตามความเป็นจริง เช่นเดียวกับการทำลายกิเลสเมื่อเราสามารถหลุดพ้นจากกิเลส เราจึงจะรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงในเรื่องนั้นๆ

เช่นถ้าเราทำลายความอยากกินกาแฟ เราก็จะรู้ทุกเหลี่ยมทุกมุมในกิเลสเกี่ยวกับเรื่องกาแฟที่ผ่านมาของเรา ซึ่งอาจจะไม่ใช่ความรู้เรื่องกิเลสในกาแฟทั้งหมดในโลก แต่ก็เพียงพอที่จะรู้ว่ามันติดเพราะอะไรและจะออกจากกาแฟได้อย่างไร นั่นเพราะตลอดเวลาที่เราปฏิบัติศีลอย่างตั้งมั่นเราก็จะได้ปัญญาและเจริญขึ้นมาโดยลำดับ สุดท้ายเมื่อเราทำลายกิเลสทั้งหมดเราก็จะได้ปัญญาที่เป็นผลเหล่านั้นไว้ใช้เพื่อเป็นธรรมทานให้คนอื่นใช้เป็นแนวทางในการทำลายความอยากกาแฟต่อไป

การปฏิบัติธรรมจนถึงผลนั้นไม่ได้เกิดจากความบังเอิญ ไม่ใช่การทำเพื่อบรรลุธรรมในทันที แต่หากเป็นความเพียรพยายามที่จะเข้าถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์แท้และละเว้นสิ่งที่เป็นโทษออกจากชีวิต พัฒนาจิตใจโดยการใช้ ศีล สมาธิ ปัญญาเพื่อเกิดความเจริญไปโดยลำดับ จนสามารถรู้แจ้งมรรคผลได้ด้วยตนเอง คือรู้วิธีการปฏิบัติเพื่อทำลายกิเลสเหล่านั้นและรู้ผลที่เกิดขึ้นเมื่อทำลายกิเลสเหล่านั้น

จึงกลายเป็นผู้ที่ไม่มีความสงสัยในกิเลสเหล่านั้นเพราะรู้แจ้งเหตุปัจจัยในการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป จนสามารถดับความอยากซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์เหล่านั้นได้อย่างสิ้นเกลี้ยง

– – – – – – – – – – – – – – –

สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับการปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา เพิ่มเติมได้ที่ …

– – – – – – – – – – – – – – –

6.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ทางที่ไร้เป้าหมาย

December 5, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,347 views 0

ทางที่ไร้เป้าหมาย

ทางที่ไร้เป้าหมาย

…เมื่อเส้นทางที่เดินและจุดหมายที่ไปนั้นไม่มีวันจบสิ้น

การปฏิบัติธรรมหรือการพัฒนาทางด้านจิตใจใดๆก็ตาม หากไม่ได้เป็นไปเพื่อคลายความยึดมั่นถือมั่น ไม่ได้เป็นไปเพื่อดับกิเลส การกระทำเหล่านั้นก็เหมือนกับการกระทำที่ไม่มีเป้าหมาย เมื่อไม่มีเป้าหมายจึงไม่เดินทางต่อ ไม่ปฏิบัติต่อ จึงยึดมั่นถือมั่นไว้กับที่ตรงนั้น

การเดินทางของจิตวิญญาณใดๆก็ตามล้วนแต่แสวงหาเป้าหมาย แต่การจะรู้ว่าเป้าหมายอยู่ที่ไหน เป็นอย่างไรและต้องเดินทางไปทางใดนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถคิดเอาเอง เข้าใจเอาเอง คาดเดาเอาเองได้เลย ถึงคิดไปมันก็จะผิด ถึงจะพยายามเดินไปก็จะเป็นการเดินทางที่ผิด เป็นเป้าหมายที่ผิดเป้าหมายมีอยู่แต่เหมือนไม่มีอยู่เพราะไม่มีจุดจบ

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในอวิชชาสูตร ว่าด้วยเรื่องการเกิดอวิชชานั้นเกิดจากการไม่คบหาสัตบุรุษไม่คบหาครูบาอาจารย์ผู้มีสัจจะแท้ที่พาพ้นทุกข์ สัตบุรุษนั้นคือผู้รู้ทางธรรมในพระพุทธศาสนา รู้มรรค คือรู้ทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ รู้นิโรธ คือรู้สภาพดับทุกข์ ซึ่งสภาพที่รู้คือสัมมาอริยมรรคและสัมมาวิมุตติ คือวิถีทางแห่งการพ้นทุกข์ที่ถูกต้องจนกระทั่งไปถึงความหลุดพ้นจากกิเลสที่ถูกต้อง

สัตบุรุษคือผู้ที่สามารถชี้ให้เห็นแจ้งในอริยสัจ ๔ คือชี้ให้เห็นทุกข์ ชี้ให้เห็นเหตุแห่งทุกข์ ชี้ให้เห็นถึงการดับทุกข์ จนกระทั่งสอนวิธีให้เดินทางไปสู่การดับทุกข์นั้น คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นั่นหมายถึงการแสดงให้เห็นถึงมรรคผลได้

ถ้าหากว่าเราไม่คบหาสัตบุรุษ ไม่คบหาแม้ผู้เจริญกว่า เราก็จะไม่มีใครมาชี้ให้เห็นถึงโทษภัยของกิเลส ไม่มีตัวอย่างให้เห็นว่าขั้นกว่าของการไม่ยึดมั่นถือมั่นนั้นเป็นอย่างไร เมื่อไม่มีตัวอย่างที่ดีให้เรียนรู้ ก็มักจะเดินทางผิดเดินหลงทางแต่จะเข้าใจว่ากำลังเดินไปในทางที่ถูก ถึงแม้ว่าจะพบจุดหมายปลายทางแต่จุดหมายนั้นก็อาจจะไม่ใช่จุดหมายที่ถูกก็ได้

เมื่อเราพอใจกับสภาพที่มี พอใจกับศีลที่มี นั่นก็เพราะเราไม่ศรัทธาในศีลที่มากกว่า ไม่เชื่อว่าความสุขที่มากกว่านั้นมี เราจึงยึดสภาพที่สุขน้อยทุกข์มากอยู่เช่นนั้นเพราะเข้าใจว่าตอนนี้ดีแล้วตอนนี้ก็สุขมากแล้ว เหตุนั้นเพราะเราไม่คบหาสัตบุรุษไม่มีตัวอย่างแห่งความเจริญ เมื่อไม่คบหาสัตบุรุษก็ไม่ได้ฟังสัจธรรมที่พาพ้นทุกข์ ถึงแม้เราจะฟังธรรมมากขนาดไหนแต่ถ้าธรรมนั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อดับกิเลสก็ไม่ใช่ธรรมที่พาพ้นทุกข์ ซึ่งอาจจะเป็นกัลยาณธรรม เป็นธรรมของคนดี ธรรมที่ทำให้ทุกคนเป็นคนดี แต่ไม่ได้พาดับกิเลส เมื่อไม่ได้ดับกิเลสก็จะยินดีในกิเลส วนเวียนอยู่ในโลกแห่งการเสพกิเลสและพอใจในศีลที่ตนตั้งอยู่

ถึงแม้จะไม่มีสัตบุรุษแต่ผู้มีปัญญาย่อมหาทางทำให้ตัวเองเจริญมากขึ้น พระไตรปิฏกนั้นยังมีข้อปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์อีกมากมาย ยังมีศีลที่ขัดเกลากิเลสอีกมาก ผู้มีปัญญาย่อมแสวงหาหนทางเพื่อเข้าถึงศีลเหล่านั้น ในส่วนคนที่หลงผิดจะมองศีลเป็นเรื่องของพระ สนใจเพียงแค่ศีล ๕ ยินดีกับชีวิตฆราวาสในระดับศีล ๕ หรือต่ำกว่า ทั้งที่จริงผู้ครองเรือนนั้นสามารถถือศีลไปได้ถึงระดับศีล ๘ ถึง ๑๐ โดยที่ยังใช้ชีวิตปกติได้ อีกทั้งยังมีจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีลอีกหลายข้อที่นำมาปฏิบัติได้

แต่คนมักจะเข้าใจไปว่าเป็นเรื่องของพระ ทั้งๆที่ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะปฏิบัติศีลปฏิบัติธรรมเช่นกัน ศีลเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เราขัดเกลากิเลส การขัดเกลากิเลสไม่ใช่เรื่องของพระเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของทุกคน เพราะกิเลสเป็นเหตุแห่งทุกข์ ซึ่งทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับทุกข์ แต่กลับจำกัดสิทธิ์ของตัวเองไม่ให้พบกับสุขไม่ให้ตัวเองได้เรียนรู้การขัดเกลากิเลส ไม่ยอมให้ตัวเองสุขไปมากกว่านั้น

เป็นเพราะอะไรเราถึงไม่ยินดีในศีลที่สูงกว่า นั่นเพราะเราไม่คบหาสัตบุรุษ ไม่คบหาผู้รู้สัจจะ ไม่มีคนพาทำ ไม่มีคนนำ ถึงจะเหมือนว่ามีคนชี้นำแต่ถ้าคนนั้นไม่มีสัจจะแท้ก็จะนำไปทางที่หลงผิดและเป้าหมายที่ผิดเช่นกัน

เป็นเรื่องยากที่คนจะยินดีในการปฏิบัติศีลที่สูงขึ้นเหตุนั้นเพราะมันขัดกิเลส กิเลสมันไม่ยอม ถือศีลแล้วทุกข์ใจ ซ้ำยังไม่เห็นเป้าหมายใดๆเพราะไม่รู้วิธีการถือศีลเพื่อล้างกิเลส สักแต่ว่าถือศีล ถือศีลเหยาะแหยะลูบๆคลำๆ ถือไปทั้งที่ไม่รู้สาระไม่รู้ประโยชน์ ไม่ได้ถือศีลด้วยปัญญา แต่ถือด้วยศรัทธาที่เป็นเพียงความเชื่อเพราะความกลัว กลัวไม่ได้บุญ กลัวบาป กลัวลำบาก จึงถือศีลนั้นๆ

ทั้งที่จริงแล้วศีลนั้นเป็นเครื่องมือในการช่วยชำระบาป บาปคือการสะสมกิเลส ศีลคือสิ่งที่จะมาขัดเกลากิเลส โดยใช้วิธีที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ตั้งแต่ ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว วิธีเหล่านี้มีมานานแล้ว แต่คนมักไม่รู้ เข้าใจผิด หลงผิด เพียงเพราะไม่คบสัตบุรุษ ไม่ยินดีในศีล จึงมองศีลเป็นเพียงเรื่องงมงาย เป็นเพียงเรื่องของความยึดมั่นถือมั่น เป็นเพียงเรื่องของพระ นั่นเพราะเขาเหล่านั้นไม่รู้จักคุณค่าของศีล

ซ้ำร้ายยังใช้วิธีปฏิบัติที่ผิดและเข้าใจผลของการบรรลุธรรมผิด เอาหลังมาหน้า เอาหน้าไปหลัง ปฏิบัติธรรมไม่เป็นไปตามลำดับ ปฏิบัติธรรมมักง่าย เร่งผล ล่าบริวาร หาลาภยศ หาชื่อเสียง เพื่อผลประโยชน์ต่างๆ ไม่ได้พาละกิเลส ไม่ได้พาให้คลายจากกิเลส ไม่ได้ดับกิเลส เหล่านี้คือสภาพหลงทางหลงเป้าหมายดังจะเห็นได้มากมายในปัจจุบัน เป็นทางที่ไม่มีเป้าหมาย ถึงจะเดินทางไปก็วนเวียนกลับมาที่เดิม แล้วก็ต้องเดินหลงทางวนไปวนมาไม่รู้กี่ภพต่อกี่ชาติถึงจะเจอทางที่ถูก

ทางพ้นทุกข์นั้นมีทางเดียว ไม่มีทางอื่น คือสัมมาอริยมรรค ธรรมะนี้ไม่มีในศาสนาอื่น ไม่มีวิธีดับกิเลสเหล่านี้ในลัทธิอื่น ผู้ที่หลงเข้าใจไปว่าทุกทางก็พาถึงเป้าหมายได้เหมือนกันคือผู้ที่หลงทางตั้งแต่แรก แต่ถ้าจะกล่าวให้ถูกก็ได้คือทุกทางก็ถึงเป้าหมายเหมือนกันแต่ไม่ใช่ชาตินี้ อาจจะในชาติหน้า หรือชาติอื่นๆต่อไปก็ได้ จนกว่าจะมาพบและเข้าใจว่า “ทางนี้ทางเดียวทางอื่นไม่มี

ผู้ที่ไม่ศรัทธาในพระพุทธเจ้า ไม่คบหาสัตบุรุษจึงไม่มีความมั่นใจ ไม่กล้าสรุป ไม่กล้ากล่าวว่าทางพ้นทุกข์มีทางนี้ทางเดียว เพราะการที่เขาเห็นว่ามีหลายทางนั่นเพราะเขาไม่สามารถจับสาระหรือจับประเด็นของการพ้นทุกข์ในแบบพุทธได้ เข้าใจพุทธในเชิงของตัวเองตามที่ตัวเองนั้นหลงผิด

แม้จะได้ชื่อว่าพุทธ แม้จะได้บวชเป็นพระ แต่หากยังศึกษาและปฏิบัติในทางผิด มิจฉามรรค มิจฉาญาณ มิจฉาวิมุติ ก็ไม่มีวันที่จะได้เข้าถึงแก่นแท้ของพุทธ แม้จะได้ชื่อว่าเป็นพุทธแต่ก็ไม่มีสัจจะของพุทธ เหมือนกลองอานกะที่เหลือแต่ชื่อกลอง แต่วัสดุเดิมนั้นถูกเปลี่ยนไปหมดแล้วไม่เหมือนเดิมแล้วไม่เหลือแก่นไม่เหลือเนื้อเดิมแล้ว

ศาสนาพุทธก็เช่นกัน ผ่านมาจนถึงวันนี้คำสอนและธรรมะได้เปลี่ยนผ่านมือกันมามาก ผ่านยุคสมัยมาก็มาก ผ่านกิเลสมาก็มาก ความเสื่อมนั้นยอมค่อยๆกัดกินแก่นสารสาระเป็นเรื่องธรรมดา จึงพากันสร้างลัทธิตามวิบากของตน สอนตามภูมิธรรมที่ตนเข้าใจ บางสำนักกลับหน้าเป็นหลัง กลับหลังเป็นหน้า เข้าใจว่าการพ้นทุกข์เป็นเรื่องง่ายๆแค่เข้าใจ หรือแค่ปล่อยวาง แม้ว่าการปฏิบัติทั้งหลายจะดูเหมือนว่ามีมรรคผลแต่ผลนั้นก็ไม่ได้พาดับกิเลสเป็นเพียงแค่รูปแบบหนึ่งของสมถะหรือการกดข่มจิต กดไว้ในภพแล้วติดอยู่ในภพเท่านั้น

หากการปฏิบัติของพุทธนั้นเข้าใจได้ง่ายจริง ทำไมพระพุทธเจ้าถึงต้องบำเพ็ญถึง 4 อสงไขยกับแสนมหากัป ทำไมต้องลงทุนลงแรงเหน็ดเหนื่อยทรมานขนาดนั้น นั่นเพราะธรรมะเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องลึกซึ้ง เห็นตามได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต คาดคะเนไม่ได้ เดาเอาไม่ได้ ละเอียด และรู้ได้เฉพาะบัณฑิต คือผู้รู้สัจจะ รู้ธรรมของพระพุทธเจ้าเพราะมีธรรมนั้นในตนเอง หรือสัตบุรุษ

หลักตัดสินธรรมวินัยนั้นมีอยู่ คนที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้นมีอยู่ ศีลนั้นมีกำหนดอยู่ ความรู้ธรรมทั้งหลายยังมีให้อ้างอิงในพระไตรปิฏกอยู่ แต่หากเราไม่ฉลาดในการขวนขวายหาประโยชน์ใส่ตน ไม่คบหาผู้ที่เจริญกว่า ไม่ยินดีในศีลที่มากกว่า ทางที่เราเดินนั้นอาจจะเป็นเส้นทางที่ไร้เป้าหมาย ไม่มีจุดหมาย พาให้หลงวนเวียนไปนานแสนนานไม่มีวันจบสิ้น

– – – – – – – – – – – – – – –

5.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

คู่มือมังสวิรัติวิถีพุทธ

November 4, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,595 views 0

คู่มือมังสวิรัติวิถีพุทธ

Download ภาพขนาดเต็ม กดที่นี่

คู่มือมังสวิรัติวิถีพุทธ

ในกลุ่มของมังสวิรัติวิถีพุทธ เราจะใช้การฝึกและปฏิบัติไปในแนวทางของศาสนาพุทธ คือเพื่อทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ เพราะเป้าหมายของการเป็นมังสวิรัติในความหมายของมังสวิรัติวิถีพุทธ คือผู้ที่ไม่มีความอยากกินเนื้อสัตว์หลงเหลืออยู่ในจิตวิญญาณเลย

เมื่อเราพูดถึงเรื่องของการกำจัดความอยาก การละความอยาก หรือการทำลายกิเลสนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ความรู้และความเข้าใจในศาสนาพุทธเป็นเครื่องมือ เป็นกระบวนการ เป็นเครื่องตรวจสอบ ฯลฯ

ดังนั้นเราจึงมีความจำเป็นต้องเรียบเรียงธรรมะเข้ากับการกินมังสวิรัติ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้กับกลุ่มผู้ปฏิบัติธรรมด้วยการกินมังสวิรัติหรือ “มังสวิรัติวิถีพุทธ” ด้วยองค์ความรู้ใน 9 หมวดหมู่ดังนี้

1 ). ทาน ศีล ภาวนา… เป็นพื้นฐานของการปฏิบัติ

การเรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมในมังสวิรัติวิถีพุทธ ต้องเริ่มตามลำดับจากการรู้จักการให้ทาน การถือศีล ไปจนกระทั่งการภาวนา

การให้ทานที่รู้กันโดยทั่วไปนั้นคือการทำบุญทำทาน การสละสิ่งของ ในกรณีเริ่มต้นก็จะเป็นการทำทานด้วยอาหารมังสวิรัติ ส่งเสริมการกินมังสวิรัติ ให้ความรู้มังสวิรัติกับคนอื่น แต่ทานที่จะให้ผลมากนั้นคืออภัยทาน คือทานที่ไม่มีภัย เป็นทานที่สละกิเลส สละความหลงติดหลงยึดในเนื้อสัตว์ออกไป โดยใช้กระบวนการของการถือศีล และภาวนา

การถือศีลคือความตั้งมั่นที่จะลด ละ เลิก การเสพ การติดการยึดความสุขจากการกินเนื้อสัตว์ อย่างจริงจังในช่วงใดช่วงหนึ่งหรือตลอดไปการถือศีลมีหลายลักษณะ เช่น การถือศีลแบบยึดมั่นถือมั่น ,การถือศีลเหยาะแหยะ , การถือศีลเพื่อฆ่ากิเลส การถือศีลหรือเข้าใจศีลแต่ละแบบเป็นไปตามบุญบารมีที่แต่ละคนได้สะสมมา

ศีลเป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้เห็นกิเลส ให้เห็นว่ายังมีบาป บาปคือการสะสมกิเลส การที่ไม่ถือศีลก็เหมือนคนที่ทำบาปแต่ไม่รู้ว่าบาป บาปนั้นมีอยู่เพียงแต่ไม่เห็น

การภาวนาคือการทำให้เกิดผลเจริญ เป็นการพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ความอยากกินเนื้อสัตว์นั้นเป็นกิเลสที่หยาบ ร้าย สร้างทุกข์ โทษ ภัยผลเสียอย่างไรโดยเริ่มเรียนรู้สุขจากความอยากเสพ ทุกข์จากความอยากเสพ และวิธีดับทุกข์คือการล้างความอยากเสพนั้น

ผู้ที่จะเริ่มเข้าสู่การปฏิบัติมังสวิรัติวิถีพุทธควรจะเริ่มเรียนรู้จากทาน ศีล เจริญมาจนถึงภาวนา การจะรู้และเข้าใจการภาวนาได้นั้น เกิดจากการที่เราได้ปฏิบัติทานและศีลมาด้วยบุญบารมีที่เต็มรอบ ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเข้าถึงภาวนาได้ บางคนติดอยู่ที่ระดับทาน บางคนติดอยู่ที่ระดับศีล สามารถสังเกตได้จากเขาเหล่านั้นไม่ยินดีประพฤติธรรมที่สูงกว่า เจริญกว่า ดังนั้นใครอยู่ในฐานใดก็ควรจะปฏิบัติตามฐานของตน เป็นกรรมฐาน เป็นฐานะตามกรรมของตัวเอง

2 ). ศีล สมาธิ ปัญญา… เป็นกระบวนการปฏิบัติ

ศีล สมาธิ ปัญญานั้นเป็นการปฏิบัติที่เป็นไปในทางเดียวกัน ไม่แยกจากกัน ปฏิบัติอย่างสอดคล้องกัน ไม่มุ่งเน้นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ผลักไสสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ปฏิบัติไปพร้อมๆกัน เป็นองค์ประกอบเดียวกัน

เริ่มจากการปฏิบัติศีล ศีลของมังสวิรัติวิถีพุทธก็คือ การละเว้นจากการเบียดเบียน ซึ่งเป็นศีลข้อ ๑ ที่ให้ละเว้นการฆ่าสัตว์ แต่เป็นศีลที่อยู่ในระดับของอธิศีล คือละเอียดกว่าทั่วไป ยากกว่าทั่วไป เพราะนอกจากเราจะไม่ฆ่าแล้ว เรายังไม่เบียดเบียนด้วย และเรายังต้องมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความกรุณาต่อสัตว์ทั้งหลายด้วย สภาวะเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่จะคิดเอาได้ แต่ต้องเกิดจากการปฏิบัติศีล อย่างมีสมาธิ จนเกิดปัญญา

การตั้งศีลนั้นเริ่มจากมีปัญญา เข้าใจถึงประโยชน์ของศีล หากไม่มีปัญญาก็จะไม่ยินดีในการถือศีล เมื่อถือศีลแล้วจึงปฏิบัติศีลนั้นด้วยความตั้งมั่น มั่นคงในศีล มีสมาธิ มีสติ มีขันติ เพื่อดำรงให้ศีลไม่ขาด ไม่ด่างพร้อย ใช้ปัญญาพิจารณาโทษของการมีความอยากเสพเนื้อสัตว์ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งปัญญาที่เป็นมรรค กลายเป็นปัญญาที่เป็นผลเจริญ คือเข้าใจได้ตามจริงโดยไม่มีกิเลสมาปนเปื้อนว่า ความอยากเสพเนื้อสัตว์ มีทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย อย่างไร

เมื่อปฏิบัติศีล ด้วยสมาธิ และมีปัญญาแล้ว ผลสุดท้ายที่ได้คือมีสภาวะของศีลในจิตใจอย่างเป็นปกติ ถือศีลได้ปกติ ถือเหมือนไม่ได้ถือ มีอยู่แต่ไม่ได้ถือ ไม่ลำบากในการมีศีล เหมือนสิ่งที่รวมเข้าไปในวิญญาณ มีความไม่อยากเสพเนื้อสัตว์เป็นเรื่องปกติในชีวิต และมีปัญญาในการหลีกหนีสถานการณ์ที่ต้องไปกินเนื้อสัตว์ได้อย่างมีศิลปะ

3 ). สมถะ วิปัสสนา… เป็นแนวทางปฏิบัติ

การปฏิบัติธรรมนั้น จำเป็นต้องเข้าใจในเรื่องของสมถะ วิปัสสนาด้วย เพราะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เราไปสู่จุดหมายได้ง่ายขึ้น

สมถะ คืออุบายทางใจ โดยทั่วไปจะเป็นการฝึกจากการนั่งสมาธิ เดินจงกรม ซึ่งโดยหลักของสมถะแล้ว เป็นการกำหนดจิตไว้ที่ใดที่หนึ่ง จุดใดจุดหนึ่ง เราสามารถประยุกต์สมถะเข้ากับชีวิตประจำวันได้ เช่น การทำอาหาร การล้างผัก การหั่นผัก หรือกิจกรรมที่เป็นไปในลักษณะซ้ำๆ มีสมาธิอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นการฝึกสมถะทั้งสิ้น

สมถะ นี้คืออุปการะของการวิปัสสนา เป็นส่วนเสริมพลังให้กับการวิปัสสนาได้ดียิ่งขึ้น เพิ่มพลังสติ พลังสมาธิ ที่ช่วยในการกดข่มความอยาก ดับความคิดที่ฟุ้งซ่านได้ดียิ่งขึ้น ผู้ที่ต้องการบรรลุธรรมไวก็จะทำสมถะไปควบคู่กับการวิปัสสนา

วิปัสสนา คืออุบายทางปัญญา เป็นการพิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง เมื่อเรามีความอยากเสพเนื้อสัตว์อยู่ เราก็จะมีความลำเอียงไปเพราะรักและหลงในเนื้อสัตว์ วิปัสสนาจะเข้ามาแก้ไขความเห็นผิดในจุดนี้

การทำวิปัสสนานั้นกระทำโดยใช้พื้นฐานของการถือศีลกินมังสวิรัติให้ได้เห็นกิเลส เมื่อเราถือศีลเราจะเห็นทุกข์จากกิเลส คือความอยากเสพเนื้อสัตว์ได้ชัดเจน เมื่อเห็นดังนั้นจึงพิจารณาทุกข์จากความอยากเสพเนื้อสัตว์ เช่นทุกข์เมื่อไม่ได้กินและทุกข์เมื่อไม่ได้เสพเนื้อที่อร่อยสมใจ

พิจารณาความไม่เที่ยงของความสุขที่ได้จากความอยากเสพเนื้อสัตว์ แม้ว่าเราจะอยากกินเนื้อสัตว์มากๆแล้วไปเสพ มันก็จะมีความสุขได้ครู่เดียว สุขตอนที่เอาเข้าปาก ตอนที่เคี้ยว พอกินอิ่มสุขนั้นก็หายไป ไม่เหมือนตอนกิน อีกไม่นานก็อยากกินเนื้อสัตว์ใหม่ สุขจากเสพมันไม่เที่ยงแบบนี้

พิจารณาความไม่มีตัวตนแท้ของกิเลส คือความอยากเสพเนื้อสัตว์นี้ จริงๆมันไม่ใช่ตัวตนของเรา แต่เราไปหลงยึด หลงติดมาเป็นตัวเราของเรา หลงยึดว่าได้เสพเนื้อสัตว์แล้วจะมาความสุข หลงยึดว่าหากเราไม่มีกิเลสตัวนี้เราจะทุกข์ แท้จริงแล้วกิเลสนี่แหละตัวทำให้ทุกข์ และกิเลสไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กิเลส เราสามารถทำลายกิเลสนี้ได้ ผลักไสมันออกจากตัวเราได้

พิจารณาประโยชน์ของการไม่มีความอยากเสพเนื้อสัตว์และโทษจากความอยากเสพเนื้อสัตว์นั้น โดยพิจารณาไปตามความเป็นจริง ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจริง และโทษที่เกิดขึ้นจริง

พิจารณากรรมและผลของกรรม หากเรายังมีความอยากเสพเนื้อสัตว์ จะสร้างผลกรรมให้เราอย่างไรบ้าง จะต้องรับวิบากกรรมไปอีกเท่าไหร่ กรรมที่เราต้องรับจะคุ้มค่ากับความอยากเสพของเราแค่ไหน

การวิปัสสนานั้น เป็นการพิจารณาธรรม ซ้ำไปซ้ำมาเรื่อยๆ เพื่อให้กิเลส จางคลาย ลด หด หายไปตามลำดับ มิใช่ทำเพื่อบรรลุธรรมโดยทันที เพราะการบรรลุธรรมโดยทันทีนั้นไม่มีทางเกิดได้หากไม่ได้สะสมบุญบารมีมาแต่ปางก่อน ผู้ที่ยังมีบุญน้อย มีกุศลน้อย นั่นเพราะเขาลดกิเลสมาน้อย สะสมกิเลสมาเยอะ ดังนั้นการล้างกิเลสจึงจำเป็นต้องใช้เวลามาก ไม่ควรหวังผล หรือเร่งผลจนเกินไป

4 ). ไตรสิกขา… เป็นขั้นตอนการปฏิบัติ

ไตรสิกขา คือการศึกษาสามอย่าง อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา …อธิ แปลว่ายิ่งขึ้น การใช้ไตรสิกขาในการกินมังสวิรัติก็คือการยกระดับการกินมังสวิรัติให้เบียดเบียนน้อยลง เช่น ตอนแรกเราลดเนื้อวัว พอทำให้ความอยากจางคลายได้เราก็มาลดเนื้อหมู ลดเนื้อไก่ ลดปลา ลดกุ้ง ลดปลาหมึก ลดลูกชิ้น ลดขนมที่มีรสของเนื้อสัตว์ ลดไข่ ลดนมวัวฯลฯ

คือการพัฒนาขอบเขตของศีลขึ้นไป เมื่อเราขยายของเขตของศีล หรือการละเว้นต่างๆขึ้นไป เราก็ต้องขยายขอบของสมาธิ และปัญญาด้วย เพื่อที่จะปฏิบัติศีลนั้นให้เจริญไปถึงผลของศีลนั้นๆได้ เมื่อปฏิบัติได้ก็ขยับเพิ่มศีลขึ้นไปเรื่อยๆ เจริญขึ้นไปเรื่อยๆ

5 ). ลด ละ เลิก ไปตามลำดับ…เป็นลำดับการปฏิบัติ

การปฏิบัติไตรสิกขาในระดับย่อย ของความอยากเสพเนื้อสัตว์ในแต่ละชนิด ยกตัวอย่างเช่นเนื้อวัว อธิศีลของคนที่เสพติดเนื้อวัวมากๆก็คือการลด คือลดปริมาณการเสพเนื้อวัว หันมากินผักให้มากขึ้น หรือเสพเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆไปก่อน เช่น ไก่ หรือปลา (เราต้องแก้โจทย์ไปทีละตัว ในตอนนี้คือเนื้อวัว)

เมื่อลดเนื้อวัวได้แล้ว เราก็จะมาละเนื้อวัว อาจจะละในชนิดของเนื้อวัวเช่น สเต็กไม่กิน แต่ถ้าในก๋วยเตี๋ยวก็อาจจะพอเสพอยู่ หรือใช้การละเป็นช่วงเวลาเช่น วันจันทร์-ศุกร์ไม่กินเนื้อวัว , สัปดาห์นี้ไม่กินเนื้อวัว , เดือนนี้ไม่กินเนื้อวัว , ปีนี้ไม่กินเนื้อวัว ลองหัดละ หัดพรากจากเนื้อวัวดู

หากเรารู้สึกไม่ทุกข์ทรมานจากการละก็ให้ตั้งศีลเลิกเนื้อวัวไปเลย ตั้งใจว่าจะเลิกทั้งชีวิตไปเลย จากนี้และตลอดไปจะไม่มีวันอยากกินเนื้อวัวอีกเลย จะไม่สั่ง ไม่หยิบ ไม่เอาเนื้อวัวเข้าปากอีกเลย เมื่อตั้งศีลได้ดังนี้ก็จะเห็นกิเลสในระดับละเอียดขึ้นไปอีก ก็พิจารณาฆ่ากิเลสต่อไป

การปฏิบัติไปตามลำดับนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะมีการเจริญขึ้นตลอดเวลา บางครั้งเราก็อาจจะมีแรงไม่พอที่จะสู้กิเลสซึ่งก็ต้องถอยกลับมากินเนื้อสัตว์บ้างเพื่อไม่ให้ทุกข์ทรมานจิตใจมากเกินไป หรือแม้กระทั่งเนื้อสัตว์บางชนิดที่ติดมากๆ ก็ให้ละเว้นการตั้งศีลละเนื้อสัตว์ชนิดที่ติดมากไปก่อน ให้ปฏิบัติกับเนื้อสัตว์ที่ติดไม่มากไปก่อน เพราะการตั้งศีลที่ยากเกินกำลังนั้นนอกจากจะปฏิบัติยากแล้ว อาจจะทำให้ท้อแท้ต่อการปฏิบัติธรรมไปเลยก็ได้

6 ). ทางสายกลาง… เป็นขอบเขตของการปฏิบัติ

คำว่าทางสายกลางนั้น เป็นการปฏิบัติที่ไม่โต่งไปในสองด้าน ด้านหนึ่งคือความอยากเสพเนื้อสัตว์ อีกด้านหนึ่งคือการทรมานตัวเองด้วยความยึดดีถือดี อยากกินเนื้อสัตว์แล้วอดทนจนทรมาน เพราะมีความอยากเสพแรงแต่อดกลั้นไม่ไปเสพ

ในด้านของความอยากเสพเราจะเรียกว่า “ กาม ”(กามสุขัลลิกะ) เราจำเป็นต้องละเว้นกามก่อน เพราะกามนี้เองคือสิ่งที่ผลักดันให้เราไปเบียดเบียนผู้อื่น ไปกินเนื้อสัตว์ ไปหลงงมงายอยู่ว่าเนื้อสัตว์เป็นสิ่งดี สิ่งเลิศ สิ่งจำเป็น เราขาดเนื้อสัตว์ไม่ได้ เราจึงต้องละเว้นจากทางโต่งด้านนี้เสีย

ในด้านการทรมานตัวเองด้วยความยึดดีเราจะเรียกว่า ” อัตตา ” (อัตตกิลมถะ)เมื่อเราละเว้นกามจนเกินพลังของเรา บางครั้งจะเข้าไปในขีดของการทรมานตัวเอง เพราะความยึดดี ถือดี อยากเสพมากแต่ก็ไม่ไปกิน ทำให้เครียด ทำให้กดดัน ทำให้ท้อ ทำให้ทุกข์ อัตตานี้เองคือการเบียดเบียนตัวเอง เพราะมีความยึดดีถือดี เมื่อมีความอยากเสพเกินกำลังและมากจนเริ่มเครียด เริ่มทรมาน เราจึงควรลดอัตตาลง ไปเสพเนื้อสัตว์เพื่อให้คลายความทรมานบ้าง

ทั้งนี้คนที่ยึดมั่นในอัตตา เพราะมีความถือดี คิดว่าตัวเองทำดีได้มากกว่านั้น เป็นความโลภ ความอยากได้การบรรลุธรรมที่เกินฐานะของตัวเอง เกินกว่าที่ตัวเองทำมา กิเลสมีพลังมหาศาล แต่คิดเพียงว่าจะอดเอาทนเอา ซึ่งเมื่อจิตใจเข้าสู่สภาวะของอัตตาเมื่อไหร่ ก็เรียกได้ว่าปิดประตูบรรลุธรรม นั่นหมายความว่าถึงจะอดเอาทนเอา แต่ถ้าเกินความพอดีก็ไม่บรรลุธรรมเหมือนกัน การมีอัตตาจึงไม่มีประโยชน์ใดๆ มีเพียงคนโง่เท่านั้นที่จะยึดไว้

ในการปฏิบัติสู่ทางสายกลางหรือสัมมาอริยมรรคนั้น ต้องปฏิบัติไม่ตึงไม่หย่อนจนเกินไป ไม่เสพเนื้อสัตว์ และไม่ทรมานตัวเองด้วยความยึดดี ในขณะที่ปฏิบัติมรรคไปในเวลาเดียวกันจึงจะเกิดความเจริญ ในช่วงที่ปฏิบัติและยังไม่ถึงผลนั้น ก็จะเหมือนคนเดินเซ ซ้ายที ขวาที แต่ถ้าปฏิบัติจนล้างกิเลสได้ กิเลสตายแล้ว จะเข้าสู่สภาพของมรรคเอง

7 ). ข้ามกิเลส ข้ามสามภพ… เป็นจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติ

การข้ามกิเลสนี้ เราจำเป็นต้องรู้ว่ามีกิเลส ซึ่งเป็นแรงผลักดัน เป็นเหตุแห่งทุกข์อยู่ 4 หมวด คือ อบายมุข กามคุณ โลกธรรม และอัตตา

อบายมุข คือการที่เราไปเสพติดเนื้ออย่างลุ่มหลง มัวเมา เช่นการตามไปกินเนื้อสัตว์ตามที่เขานิยม เดินทางไปเสาะหาร้านเนื้อสัตว์ที่มีชื่อเสียงเพราะหลงมัวเมาในความเป็นเนื้อ หลงว่าการกินเนื้อคือความสุข ความเจริญ

กามคุณ คือ กิเลสในระดับที่เราติดรส ไม่ได้ตระเวนไปเสาะหาเนื้อที่ดีเลิศ แต่เมื่อมีโอกาสจะสั่งเนื้อสัตว์ที่ชอบตลอดเพราะหลงในรส หลงในสัมผัสของเนื้อ

โลกธรรม คือการที่เราไปติดกับคำพูดของคนอื่น ในกรณีที่เลิกยังไม่เลิกเสพ ก็จะไปติดกับคำพูดคนอื่นจนไม่เลิกเสพ ในกรณีที่เราไม่กินเนื้อแล้ว เราก็มักจะกลับไปกินเนื้อเพราะความเกรงใจคนอื่น กลัวคนอื่นลำบากใจ กลัวเป็นคนยุ่งยากเรื่องมาก กลัวและกังวลต่อความคิดเห็นของคนอื่น

อัตตา คือการที่เราไปยึดเนื้อสัตว์ไว้เป็นเสมือนสิ่งจำเป็นในชีวิตของเรา เช่น เราจำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์ ไม่กินเนื้อสัตว์แล้วไม่แข็งแรง ฉันชอบกินเนื้อสัตว์ ฉันเป็นสัตว์กินเนื้อ และเมื่อเราข้ามความอยากกินเนื้อสัตว์ไปแล้วจะไปเจออัตตาในมุมของนักมังสวิรัติผู้ยึดดีถือดี

การข้ามสามภพ … สามภพนั้นคือสภาวะที่เราติดกิเลสอยู่ในสามลักษณะ ในส่วนแรกคือกามภพ คือการที่เรายังไปเสพ ไปกินเนื้อสัตว์อยู่ ถ้าเรายังไปเสพไปกินด้วยความอยากกิน ไม่ว่าในกรณีใดๆ เราก็ยังอยู่ในกามภพ

รูปภพ คือสภาพที่เจริญขึ้นมาจากกามภพ เป็นสภาวะที่ไม่ไปเสพเนื้อสัตว์แล้ว สามารถอดกลั้นได้ แต่หากเห็นเนื้อสัตว์ที่ชอบก็จะมีอาการอยากเกิดขึ้นจนรู้สึกได้ มีความคิดที่จะไปกินเนื้อสัตว์ มีความคิดถึงเนื้อสัตว์นั้นเป็นรูปที่สัมผัสได้ชัดเจน ดังเช่น การปรุงแต่งความคิดภายในใจประมาณว่า “เนื้อชิ้นนี้น่าอร่อยจัง แต่เราต้องอดไว้ทนไว้

เมื่อผ่านรูปภพได้แล้ว จะเข้าสู่อรูปภพเป็นสภาวะที่เห็นเนื้อสัตว์ที่ชอบแล้วก็จะไม่มีการปรุงแต่งความนึกคิดหรือคำพูด หรือการกดข่มใดๆอีก คือไม่มีรูปให้เห็น ไม่เห็นกิเลสเป็นตัวชัดๆแล้ว แต่จะเหลือความขุ่นใจ กังวลใจ ห่วงหา เป็นความไม่โปร่งไม่โล่ง ไม่สบายใจ แต่ไม่ออกมาเป็นรูปของคำว่า “อยากกินเนื้อ” จะเหลือแต่อารมณ์ขุ่นๆ ไม่ใส ซึ่งยากต่อการรู้และตรวจสอบ เมื่อเข้าสู่ภาวะของอรูปภพ คนมักจะประมาทหลงว่าบรรลุธรรมแล้ว ซึ่งการข้ามอรูปภพนี้แหละคือโจทย์ปราบเซียน โจทย์สุดท้ายก่อนถึงวิมุตติ

สามภพนี้เราควรละเสียให้หมด เพราะถ้าทำลายไม่หมด แม้จะเจริญได้ถึงอรูปภพแล้ว แต่ประมาทสะสมกิเลส ก็วนกลับไปกามภพได้เช่นกัน แต่ถ้าเราเพียรพยายามละทั้งสามภพนี้เสียจะพ้นสภาพของความอยากกินเนื้อสัตว์อย่างถาวร ไม่กลับกำเริบอีก

8 ). ทำลายอัตตา… เป็นส่วนสำคัญในการปฏิบัติ

เมื่อเราล้างความอยากเสพเนื้อสัตว์ หรือมีความตั้งใจที่ละเว้นเนื้อสัตว์แล้ว เราจะเกิดความยึดดีถือดีขึ้นมา เรียกว่าอัตตา อัตตานี้เองคือสิ่งที่จะช่วยให้เราออกจากความอยากเสพเนื้อสัตว์ได้ เพราะการที่เราจะออกจากความอยากเสพเนื้อสัตว์ได้นั้น เราจะต้องเกลียดเนื้อสัตว์ เห็นโทษของเนื้อสัตว์ เมื่อทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์จะได้อัตตาก้อนโตมาหนึ่งก้อน

เมื่อมีอัตตาก้อนโต ก็มักจะไปดูถูกคนที่ยังกินเนื้อ ยกตนข่มท่าน โอ้อวด หัวดื้อ ฯลฯ เรียกได้ว่าออกจากนรกเนื้อสัตว์ได้เราก็จะได้คนติดดีมาหนึ่งคน ซึ่งนั่นก็ชั่วอยู่นั่นเอง เพราะคนติดดีนี่แหละที่จะทำลายความสามัคคี ทำลายกลุ่ม แบ่งคนออกเป็นสองพวก เพราะมีความยึดดี ถือดี หลงว่าตนเป็นคนดี

คนติดดีในมังสวิรัติ ในบางครั้งนอกจากที่เขามักจะไปข่ม ไปแขวะ ไปทำร้ายทำลายใจคนที่ยังกินเนื้อสัตว์แล้ว ความถือดีเหล่านั้นยังมักจะมาทำร้ายผู้ที่กินมังสวิรัติด้วยกันด้วย เช่นพอหลงว่าตนเก่งตนดี ก็มักจะข่มคนที่กินมังสวิรัติได้ด้อยกว่า หรือถ้าเห็นใครเป็นมังสวิรัติแล้วผิดกฎที่เขาตั้งไว้ เขาก็มักจะทำตัวเป็นผู้พิพากษามังสวิรัติ ด้วยความยึดดีถือดีในตัวเขานั่นเอง

ความยึดดีถือดีถ้ามีมากขนาดนี้เรียกได้ว่าโง่สุดโง่ เพราะแทนที่จะชวนคนกินเนื้อมากินมังสวิรัติ…ก็ไปข่มเขา แทนที่จะส่งเสริมให้คนหัดกินมังสวิรัติ…ก็ไปข่มเขา แทนที่จะเห็นดีกับเพื่อนที่กินมังสวิรัติ…ก็ไปข่มเขา เรียกได้ว่าทำกรรมชั่วกับคนดี แล้วแบบนี้บาปและอกุศลกรรมจะไปไหนเสีย

คนที่ยังเบียดเบียนคนอื่นด้วยอัตตา หรือความยึดดีของตัวเอง ก็ยังถือว่าเป็นการเบียดเบียนสัตว์โลกอยู่นั่นเอง แม้ว่าจะไม่ได้ไปเบียดเบียนสัตว์ แต่ก็ไปเบียดเบียนคนอื่น มันก็ยังชั่วอยู่นั่นเอง จะเรียกว่าคนดีนั้นเป็นไปไม่ได้เลย

คนกินมังสวิรัติที่มีอัตตามากๆ เวลาเห็นสัตว์ถูกทรมานแล้วจะเกลียด เห็นอาหารเนื้อสัตว์แล้วจะเกลียด เห็นคนกินเนื้อสัตว์แล้วจะเกลียด เห็นคนกินมังสวิรัติที่ไปกินเนื้อสัตว์แล้วจะเกลียด เห็นคนอื่นผิดหมด ตัวเองถูกและดีอยู่คนเดียว สร้างความทรมานใจให้ตัวเอง แถมบางครั้งยังไปทำร้ายจิตใจคนอื่น เป็นนรกล้วนๆ

การที่ยังมีอัตตาอยู่แม้น้อย นั่นคือตัวกันไม่ให้เราบรรลุธรรม ในมังสวิรัติวิถีพุทธ การที่เราจะถึงเป้าหมายปลายทางคือความผาสุกจากการหมดสิ้นกิเลส เราจำเป็นต้องล้างกาม และอัตตาจนสิ้นเกลี้ยง

9 ). ตรวจสอบวิมุตติ … เป็นที่สุดของการปฏิบัติ

เป้าหมายของมังสวิรัติวิถีพุทธคือวิมุตติ หรือสภาพของการหลุดพ้นกิเลส คือหลุดพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์ ไม่ทุกข์ ไม่ทรมาน แม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ หรือเห็นว่าคนอื่นกินเนื้อสัตว์ ไม่ติดดี ยึดดี ถือดี ในเรื่องของเนื้อสัตว์ ใครจะกินมังสวิรัติก็ได้ ไม่กินก็ได้ ลดแค่เนื้อวัวก็ได้ หรือจะลดเท่าไหร่ก็ได้ มีความยินดีกับทุกคนที่สนใจกินมังสวิรัติ ไม่รู้สึกยินร้ายแม้ว่าใครจะไม่กินมังสวิรัติ หรือไม่เอาดีตามที่ตนเองได้แนะนำ หรือแม้แต่เห็นผู้ที่กินมังสวิรัติไปกินเนื้อสัตว์ ก็ไม่รู้สึกยินร้าย หรือรู้สึกทุกข์ โกรธ แค้น ขุ่นเคืองใดๆ

ไม่ได้มีความรังเกียจเนื้อสัตว์ หรือการที่สัตว์จะมาตาย ไม่มีแม้แต่ความรังเกียจใดๆที่ใครสักคนจะยินดีและหลงเสพเนื้อสัตว์ เพราะเข้าใจในกฎแห่งกรรมอย่างถ่องแท้ เข้าใจเรื่องกิเลสอย่างชัดเจน รู้แจ้งทุกเหลี่ยมทุกมุม รู้ดีว่าการทำลายกิเลสนั้นยากแค่ไหนและเข้าใจว่าทำไมคนถึงยังหลงเสพหลงยึด

ผู้ที่บรรลุธรรมจะไม่มีเงื่อนไขใดๆ ที่ไปทำให้ตัวเองและผู้อื่นเกิดความทุกข์ ไม่เอาความดีที่ตนมี ไปอวดเบ่ง ไปกดดัน ไปข่มเหง ไปทับถมผู้อื่น

สภาพของวิมุตติคือสภาวะจิตที่ข้ามกิเลสสามภพ เป็นสภาพที่ไม่ดูดไม่ผลัก ไม่รักไม่เกลียด แต่เห็นประโยชน์และโทษตามความเป็นจริง เป็นสภาพที่กิเลสตายและไม่กลับมากำเริบ แม้จะได้เผลอหรือตั้งใจกลับไปทดลองกินเนื้อสัตว์แต่ก็ไม่มีวันที่ความอยากกินนั้นจะกลับมาอีก จะไม่มีวันที่จะเกิดความสุขจากการเสพอีก เพราะมีความสุขที่มากกว่าแล้ว นั่นคือสภาพของวิมุตติ หรือสุขจากการพ้นกิเลส

– – – – – – – – – – – – – – –

4.11.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์