Tag: ความอยาก

เพราะเหตุนี้ ฉันจึงเลิกกินเนื้อสัตว์

January 9, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,290 views 1

เพราะเหตุนี้ ฉันจึงเลิกกินเนื้อสัตว์

เพราะเหตุนี้ ฉันจึงเลิกกินเนื้อสัตว์

ย้อนไปเมื่อราวๆ 3 ปีก่อน ตอนที่ผมยังไม่รู้จักธรรมะ ผมใช้ชีวิตแสวงหาความสุขโดยที่ไม่รู้ว่านั่นคือการสร้างความเบียดเบียนให้กับผู้อื่น ผมได้ถูกโลกและกิเลสมอมเมาอยู่จนกระทั่งได้พบกับความจริง 4 ประการ ที่เป็นเหตุให้ผมหลุดออกจากความเวียนวนหลงเบียดเบียนสัตว์อื่นเพื่อตนได้

1.ความจริงที่ว่า เราไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์

ผมรู้จักการไม่กินเนื้อสัตว์ครั้งแรกในชีวิตก็อายุเกือบ 30 ปี ก่อนหน้านี้มีเทศกาลเจ ฯลฯ ก็ไม่ได้สนใจอะไรกับเขาหรอก ไม่ได้รังเกียจอะไรหรอกนะ ยินดีด้วย แต่ก็ไม่ได้คิดสนใจ เพราะไม่เข้าใจถึงประโยชน์ของมัน จนกระทั่งตนเองได้มีโอกาสไปทำกิจกรรมกับเครือข่ายคนกินข้าวเกื้อกูลชาวนาที่วัดป่าสวนธรรม ซึ่งที่วัดก็ไม่กินเนื้อสัตว์ เวลาสามวันที่ร่วมกิจกรรม ทำให้ผมเกิดปัญญาเข้าใจความจริงที่ว่า เราไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์เราก็มีชีวิตอยู่ได้ นี่คือความจริงข้อแรก

2.ความจริงที่ว่า การกินเนื้อสัตว์นำไปสู่การเบียดเบียน

หลังจากนั้นแม้จะรู้ว่าไม่กินเนื้อสัตว์ก็อยู่ได้ นำไปสู่การปรับเมนูอาหารบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับเลิก เพราะยังไม่ชัดในโทษภัยของการกินเนื้อสัตว์ ต้นปี 2556 ได้ไปเข้าค่ายสุขภาพแพทย์วิถีธรรม ในค่ายสุขภาพนั้นไม่กินเนื้อสัตว์เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ได้รับจากค่าย ที่ทำให้ยินดีเลิกเนื้อสัตว์คือ สื่อวีดีโอ “ชีวิตร่ำไห้” เป็นการนำเสนอเรื่องราวของการเบียดเบียนสัตว์เพื่อที่จะต้องมาสนองการดำรงอยู่ของมนุษย์ ผมได้เกิดปัญญาเข้าใจความจริงที่ว่า หากเรายังกินเนื้อสัตว์อยู่ สัตว์นั้นจะต้องถูกเบียดเบียนและเป็นทุกข์เพราะเรา นั่นคือสิ่งที่ไม่ควรเลย เมื่อเข้าใจความจริงข้อนี้เพิ่มเติม ผมจึงตั้งใจเลิกกินเนื้อสัตว์

3.ความจริงที่ว่า ความอยากกินเนื้อสัตว์เป็นทุกข์

เมื่อตั้งใจเลิกกินเนื้อสัตว์ จึงได้พบความจริงอีกข้อคือ “ความอยากกินเนื้อสัตว์” นั้นเป็นทุกข์ เมื่อเราอยากกินเราก็ต้องไปเสาะหาเนื้อสัตว์มาเสพ แถมยังต้องหาเหตุผลที่ดูดีเพื่อให้ตัวเองไม่รู้สึกผิดในการกินเนื้อสัตว์ ซ้ำร้ายบางทียังอาจจะเฉโกออกไปในทิศทางที่เรียกว่า “ไม่ยึดมั่นถือมั่นแต่ขยันเสพกาม” อีกด้วย คือปากก็พูดว่าไม่ยึด แต่ก็ไม่หยุดกินเนื้อสัตว์

โชคยังดีที่ผมไม่ได้มีอาการเฉโกเหล่านั้น ตนเองนั้นเป็นคนที่ซื่อสัตย์ยอมรับความจริงตามความเป็นจริง อยากกินก็ยอมรับว่าอยากกิน ยังเลิกไม่ไหวก็ยอมรับว่ายังไม่ไหว ไม่ได้ปั้นแต่งข้ออ้างใดๆมาทำให้ตนได้เสพอย่างดูดี

แต่กระนั้นก็ยังต้องทุกข์เพราะกิเลสที่เคยมี ความยึดมั่นถือมั่นว่าเนื้อสัตว์นั้นอร่อย มีคุณค่า ฯลฯ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถตัดขาดได้ในทันที เราจำเป็นต้องปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรง เพื่อที่จะถอนลูกศรที่ปักมั่นอยู่ในจิตใจ อันคือ ตัณหา (ความอยากกินเนื้อสัตว์) ให้ออกให้ได้ก่อน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการแก้ปัญหาที่ตัณหา เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

ในท้ายที่สุดผมค้นพบว่า “ความอยาก” ที่รุนแรงถึงขนาดต้องเป็นเหตุให้พรากชีวิตสัตว์อื่นนี่เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ น่าอาย ไม่น่ายึดไว้ ไม่น่าคบหา เราไม่ควรมีมันอยู่ในจิตวิญญาณ ความอยากขั้นนี้มันหยาบเกินไปแล้ว มันเบียดเบียนมากไป มันสร้างทุกข์ให้กับตนเองและผู้อื่น จะยังแบกไว้อีกทำไม ผมจึงตั้งมั่นในการเลิกคบกับความอยากกินเนื้อสัตว์ตลอดกาล

4.ความจริงที่ว่า การหลุดพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์เป็นยิ่งกว่าสุข

หลังจากได้ปฏิบัติธรรมเพื่อถอนตัณหา คือทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ออกจากจิตใจแล้ว จึงค้นพบความจริงอีกข้อที่ปรากฏขึ้นมาภายหลัง ข้อนี้ไม่ใช่เหตุเหมือนกับความจริง 3 ข้อแรก แต่เป็นผลจากการเห็นความจริงในการปฏิบัติ 3 ข้อแรก

จากตอนแรกที่เคยเข้าใจว่า ถ้าเราขาดเนื้อสัตว์เราจะต้องทุกข์เพราะไม่ได้เสพ เราต้องสละสุขจากการเสพ กลายเป็นผู้ที่ขาดทุนชีวิตเพราะไม่ได้เสพสุขตามที่โลกเข้าใจ

แต่ความจริงนั้นไม่ใช่เลย การหลุดพ้นจากความอยากนั้นยิ่งกว่าสุขที่เคยเสพเสียอีก จะเอาสุขเดิมมาแลกก็ไม่ยอม เพราะมันเทียบกันไม่ได้ เหมือนเอาเงิน 1 บาท ไปซื้อโลก มันซื้อไม่ได้อยู่แล้ว คุณค่ามันเทียบกันไม่ได้ จะเปรียบเทียบไปมันก็จะด้อยค่าเกินจริงไป เพราะคุณค่าของการหลุดพ้นจากความอยากนั้นยากที่จะหาสิ่งใดมาเทียบได้

เราไม่ต้องทุกข์เพราะไม่ได้เสพ ในขณะเดียวกันเราก็ไม่จำเป็นต้องไปทำอกุศลเพราะต้องหาสิ่งที่เบียดเบียนมาบำเรอตน เราจะเป็นอิสระจากความอยาก ไม่จำเป็นต้องสร้างเหตุผลอะไรมาเพื่อให้ได้เสพสมใจอีกต่อไป มีแต่กุศลและอกุศลตามความจริงเท่านั้น

จะเหลือเพียงแค่ทำสิ่งที่เป็นกุศลตามความเป็นจริง เราไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์เราก็อยู่ได้ เป็นความจริงข้อหนึ่งที่เน้นการพึ่งตน เลี้ยงง่ายกินง่าย มักน้อย ใจพอ มีเพียงแค่พืชผักก็พอเลี้ยงชีวิต ไม่จำเป็นต้องมีเนื้อสัตว์มาเป็นส่วนเกินให้เสียเงิน เสียสุขภาพ เสียเวลาหา เสียเวลาประกอบอาหาร และความจริงที่ว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นทำให้เกิดห่วงโซ่อุปทาน ถ้าเรากิน เขาก็ยังต้องฆ่าเพื่อมาขาย ดังนั้นเมื่อเราไม่มีความอยาก เราก็ไม่จำเป็นต้องกินให้เป็นการส่งเสริมการฆ่า เป็นการหยุดอกุศลกรรม ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี

เมื่อเราไม่มีความอยาก เราจะมีจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น โอนอ่อนไปตามกุศล หลีกหนีจากอกุศล ไม่ใช่ลักษณะที่ยึดว่าจะต้องกินอะไรหรือไม่กินอะไร แต่จะเป็นไปเพื่อกุศล เป็นไปเพื่อความไม่เบียดเบียน เป็นไปเพื่อความพราก เป็นไปเพื่อความมักน้อย ขัดเกลา เกื้อกูล ตลอดจนสิ่งต่างๆที่นำมาซึ่งความเจริญทางจิตวิญญาณทั้งหลาย

….พอผมได้พบเจอความจริงตามนี้ มันก็เลิกกินเนื้อสัตว์ไปเอง ไม่รู้จะหาเหตุผลไปกินทำไม เพราะดูแล้วไม่เห็นมีอะไรดีเลย ไม่กินก็อยู่ได้ กินก็ไปเบียดเบียนทั้งตนเองและสัตว์อื่นอีก

สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหานั้นคือ “ตัณหา” เพราะความอยากกินเนื้อสัตว์ จะสร้างเหตุที่จะต้องไปกินเนื้อสัตว์อีกเรื่อยๆ ไม่จบไม่สิ้น ทั้งๆที่ความจริงมันไม่จำเป็น แต่ตัณหาก็สร้างความลวงขึ้นมาบังความจริง ให้มันจำเป็น ให้มันสุขเมื่อได้เสพ ให้มันเป็นคุณค่า ให้มันเป็นชีวิตจิตใจของคน ให้มันยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์นั้นต่อไป

หากคนนั้นยังมี “ความอยากกินเนื้อสัตว์” ก็ไม่มีทางหนีทุกข์พ้น ถึงจะกดข่มไม่กินเนื้อสัตว์ก็เป็นทุกข์ แม้จะได้กินก็ทุกข์เพราะสะสมอุปาทานและอกุศลวิบากเพิ่ม สรุปคือหากยังมีตัณหาถึงจะได้เสพหรือไม่ได้เสพก็ต้องรับความทุกข์ไปตลอดกาล

– – – – – – – – – – – – – – –

2.1.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

Always ฉันจะยึดมั่นถือมั่นในรักนั้นตลอดไป

December 30, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,155 views 0

Always ฉันจะยึดมั่นถือมั่นในรักนั้นตลอดไป

Always ฉันจะยึดมั่นถือมั่นในรักนั้นตลอดไป

ความยึดมั่นถือมั่นในความรักที่ตนเองมีอย่างไม่เสื่อมคลาย แม้ว่าคนรักจะจากไปแล้ว หรือแม้เขาจะไม่รักเราแล้ว ก็ยังภักดีอย่างไม่เปลี่ยนแปลง คือความโรแมนติกของความรักที่จะสร้างความฉิบหายให้แก่จิตวิญญาณไปชั่วนิจนิรันดร์

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นจากการได้ฟังเพลง always ของ Bon Jovi เนื้อหาของเพลงนั้นกล่าวถึงผู้ที่ยังยึดมั่นถือมั่นในความรัก ยังหวังและรอคอยที่จะได้รักนั้นกลับมาอีกครั้ง แม้ว่าในปัจจุบันสภาพคู่รักของเขานั้นจะพังทลายไปหมดแล้วก็ตาม

หากเราดูหนังรักสักเรื่อง การที่พระเอกเฝ้ารอคอยนางเอกแม้ว่าจะไม่มีหวังว่าเธอจะกลับมา ก็คงจะเป็นอะไรที่ทำให้หลายคนซาบซึ้งใจในความมั่นคงต่อความรัก ซึ่งเราจะรู้สึกดีกับมันก็ต่อเมื่อมันเป็นเพียงแค่ละครเท่านั้น

เมื่อความปักมั่นในความรักเกิดขึ้นในชีวิตจริงแล้ว หลายคนที่ได้พบเห็นผู้ผิดหวังในความรัก ยังเฝ้าบ่นพร่ำเพ้อ เฝ้ารอคอยว่ารักนั้นจะกลับมา จมอยู่กับอดีตที่เคยหวาน อยู่กับภาพฝันลวงๆ มีอาการอมทุกข์ เศร้าหมอง หดหู่ ฯลฯ เพียงแค่ได้ยินได้ฟังเรื่องราวหรือพบเห็นก็รู้สึกทุกข์แล้ว

นับประสาอะไรกับตัวผู้ที่ยึดมั่นในความรักเหล่านั้น แน่นอนว่าเขาเป็นทุกข์ แต่ก็เป็นความทุกข์ที่ซับซ้อนเพราะมันปนกับสุขลวงที่เขาสร้างขึ้น เหมือนกับคนที่เสพติดความเจ็บปวด (masochist) แอบสุขเพียงแค่ได้ฝัน แต่ต้องทุกข์เพราะไม่สามารถคว้าฝันมาได้แต่ถึงกระนั้นก็ยังยินดีที่จะเสพสุขลวงที่ต้องโดนฟาดด้วยทุกข์จริงเช่นนี้ตลอดไป

ในความเป็นจริงแล้ว ชีวิตเราไม่จำเป็นจมอยู่กับอดีตเลย ไม่จำเป็นต้องพยายามกอดเก็บสิ่งที่จากไปแล้ว แต่การที่เขายังจมอยู่กับอดีตนั้น เป็นเพราะติดในรสสุขของสิ่งนั้น จึงไม่อยากพรากจากไป แต่ถึงแม้จะไม่อยากถึงเวลาก็จะต้องจาก เมื่อไม่ได้เสพสมใจจึงออกอาการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ตนยึดไว้ว่าจะเป็นสิ่งที่จะเรียกร้องให้คนรักที่จากไปกลับมา อาจจะเป็นการพยายามยืนยันว่าจะรักตลอดไป, การตามง้อตามเอาใจ, ทำทีเป็นประชดรัก, การทำร้ายตัวเอง, จะให้เขาสั่งให้ทำอะไรก็ยอม ฯลฯ ทั้งหมดก็เป็นเพียงการเรียกร้องให้เขากลับมาสนใจด้วยวิธีต่างๆกัน

ในกรณีของบทความตอนนี้คือการรอ รอและหาโอกาสที่จะกลับมาเสพสิ่งที่ตนเคยเข้าใจว่าเป็นสุขอีกครั้ง ถ้ายังไม่หมดความหวังว่าจะได้เสพ ยังไม่คลายความยึดว่าคนรักที่เป็นอดีตนั้นคือที่สุดของความรัก หรือยังไม่เกิดปัญญาเห็นว่าการรอเสพเช่นนี้เป็นทุกข์ ก็จะยังตั้งหน้าตั้งตารอเรื่อยไป อาจเพราะเข้าใจไปเองว่านี่คือรักแท้ นี่คือความรักที่ยิ่งใหญ่ ทั้งที่จริงมันเป็นเพียงแค่ความยึดมั่นถือมั่น เพราะในความจริงสภาพของคู่รักที่เคยรักกันนั้นได้จบไปแล้ว ปัจจุบันมันไม่มีเหลือแล้ว มีแต่คนที่หลงคิดว่าอนาคตจะเป็นอย่างในอดีต

……..

แม้สิ่งที่แสดงออกมาจะดูมั่นคงในความรักอย่างไรก็ตาม แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ดีเลย ความยึดมั่นถือมั่นไม่ใช่สิ่งที่เราควรจะเก็บไว้ เราจึงไม่ควรศรัทธาในสิ่งเหล่านั้น เพราะความจริงแล้วการที่มีความยึดมั่นถือมั่นในคนรักเช่นนี้ ก็จะเกิดการจองเวรจองกรรมกันชั่วนิรันดร์

เราอาจจะศรัทธาในการรักและเฝ้ารอคอยตลอดไป แต่นั่นคือการจองเวรจองกรรมกันไปอีกหลายภพหลายชาติ เพราะจิตได้หลงสุขหลงเสพกับคนลักษณะนี้ ในอนาคตเราก็จะหาคนคล้ายๆแบบนี้มาเสพ แม้ในชาติหน้าหรือชาติอื่นๆต่อไป เราก็จะหาสิ่งที่เราหลงมาเสพไปเรื่อยๆ ไม่จบไม่สิ้น

แน่นอนว่าการมี “ความอยาก” ไม่ได้หมายความว่าจะต้องถูกสนองเสนอไป เมื่อเราอยากแต่ไม่ได้เสพสมใจอยากก็เป็นทุกข์ แม้ได้เสพสมใจอยากแต่ไม่นานก็ต้องถูกพรากไปในขณะที่ตนเองยังหลงสุขกับสิ่งนั้น หรือแม้จะเสพไปก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะสุขอยู่เช่นนั้นตลอดไป เมื่อเสพบ่อยเข้ามันก็จะเบื่อ ทำให้ต้องหาสิ่งที่ยิ่งกว่ามาเสพมาสนองกิเลสตัวเองมากขึ้น ขยับกำลังของความอยากมากขึ้นไปอีก เมื่ออยากมากขึ้นก็ทุกข์มากขึ้น ก็ต้องแสวงหาสิ่งที่จะมาบำเรอความอยากเพื่อกำจัดทุกข์ให้มากขึ้น ทุกข์ซ้ำทุกข์ซ้อนเข้าไปอีก จึงเกิดเป็นเหตุการณ์ดังเช่นการนอกใจคู่ครองของตน ในตอนที่เขาคบกัน เขาก็รักกันจริงนะ แต่อยู่ไปมันสุขไม่พอเสพ ซึ่งก็อาจจะทนไปได้สักพักหนึ่ง แต่พอมันหิวโหยเข้ามากๆมันก็เลยต้องไปหากินข้างนอกเพิ่มเติม ซึ่งเกิดจากความอยากที่มันโตขึ้นนั่นเอง ซึ่งเมื่อเกิดการนอกใจกันแล้ว ไม่ใช่ทุกคนที่ตัดใจกันได้ง่ายๆนะ มันก็ทนกันไปทั้งรักทั้งแค้น จองเวรจองกรรมกันไปอย่างนั้นแหละ

เคยเห็นไหม คนที่เขาจีบกันนานๆ เฝ้ารอคอยกันได้นานๆ นั่นแหละสภาพที่เขาจองเวรจองกรรมกันไว้ ไม่ยอมไปไหนสักที มีคนตั้งมากมายก็ไม่ยอมไปรัก แม้อีกคนจะไม่สนใจก็วนเวียนอยู่อย่างนั้นแหละ ถ้าวันใดวันหนึ่งอีกฝ่ายใจอ่อนแพ้กิเลสก็จบเกมเมื่อนั้น ก็ร่วมสร้างวิบากกรรมใหม่กันต่อไป

ถ้าเสพกันแล้วใจพอไม่มักมากก็ไม่มีปัญหามากนัก แต่เอาเข้าจริงถ้าคนเขารอเสพมาหลายภพหลายชาติ บางทีมันคาดหวังมากนะ มันจะกินอย่างตะกละตะกลาม คืออยากได้มากๆ หวังว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องดีสมกับที่ลงทุนรอคอยมานาน แต่พอได้คบจริงแล้วมัน “ดีไม่พอกับใจ” ก็มีหลายคู่ จีบกันนานๆ สุดท้ายก็เลิกกันง่ายๆก็หลายคู่ เลิกกันแล้วกลับมาคบกันอยู่กันได้ไม่นานก็หลายคู่ ส่วนที่คบกันอยู่ได้ก็สะสมความยึดมั่นถือมั่นกันต่อไป รอเวลาที่จองเวรจองกรรมกันต่อในชาตินี้และชาติต่อไปอย่างไม่จบไม่สิ้น

การยึดมั่นถือมั่นแม้ในช่วงเวลาที่สั้น แต่ก็เป็นกรรมที่ทำลงไปด้วยเจตนา อันเป็นเหตุให้เกิดผลของกรรม เราจองเวรจองกรรมเขา คือรอที่จะได้มารักกันด้วยความจริงจังมากเท่าไหร่และนานแค่ไหน เราจะต้องพบกับทุกข์มากและนานเท่านั้น ทั้งในขณะที่เฝ้ารอคอยความรักก็ตาม หรือในตอนที่ต้องได้รับผลของอกุศลกรรมนั้นๆก็ตามนั่นหมายถึงเราอาจจะต้องเกิดสภาพเช่นนี้อีกทั้งในชาตินี้และชาติอื่นๆต่อไป นับประสาอะไรกับคนที่เป็นคู่ชีวิตกันเพราะความอยากมี นั่นแหละคือสุดยอดของความยึดมั่นถือมั่นเลยทีเดียว

– – – – – – – – – – – – – – –

29.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ทาสเนื้อสัตว์ ไม่ได้กินก็ทุกข์ กินก็สะสมทุกข์

December 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,854 views 1

ทาสเนื้อสัตว์ ไม่ได้กินก็ทุกข์ กินก็สะสมทุกข์

ทาสเนื้อสัตว์ ไม่ได้กินก็ทุกข์ กินก็สะสมทุกข์

ชีวิตที่อิสระนั้นไม่ได้หมายถึงการที่เราจะสามารถจับจ่ายใช้สอยสิ่งใดๆได้ตามความต้องการ แต่หมายถึงเป็นอิสระจากความอยาก อิสระจากความทุกข์ที่ไม่จำเป็นต้องมีในชีวิต

อาจจะจริงที่ว่า เรามีสิทธิ์ที่จะใช้เงินที่เรามีซื้อสิ่งใดๆ ก็ได้ ตามที่เราต้องการ แม้ว่าเราจะดูเหมือนมีอิสระในการซื้อขาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นอิสระจากความอยาก

กิเลสได้บงการเราตั้งแต่ก่อนที่เราจะได้คิดด้วยซ้ำ ทำให้เราหลงมัวเมาในรสสุขลวงของสิ่งนั้น ยกตัวอย่างเช่นเนื้อสัตว์ เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นในชีวิตเลย ไม่จำเป็นต้องกินก็ได้ ไม่กินก็มีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข แข็งแรง สุขภาพดี สามารถทำงานได้เหมือนคนทั่วไป

ซึ่งแน่นอนว่าความจริงตามความเป็นจริงมันคือสิ่งที่ไม่จำเป็น ไม่มีสาระ ไม่ต้องฆ่า ไม่ต้องเอามาขาย ไม่ต้องซื้อกินก็ได้ แต่กิเลสก็ได้สร้างความลวงขึ้นมาให้มันจำเป็น ให้มันดูมีคุณค่า มีประโยชน์ ให้คนรู้สึกกังวลว่าถ้าขาดมันเราจะต้องไม่เป็นสุข ทั้งร่างกายและจิตใจ

ทางด้านร่างกายก็พยายามหาผลวิจัยกันไปต่างๆนาๆ ว่าจะขาดธาตุนั้นธาตุนี้ จะไม่สมบูรณ์แข็งแรง จะป่วยเป็นโรค ฯลฯ ข้อมูลมากมายที่จะมาอ้างอิงว่าชีวิตคนเราขาดเนื้อสัตว์ไม่ได้ ขาดแล้วจะเป็นภัย ทำให้คนหลง ทำให้คนกังวล ทำให้คนกลัว ไม่กล้าพราก ไม่กล้าเลิกกินเนื้อสัตว์ ทั้งๆที่ทั้งหมดนั้นอาจจะไม่เป็นความจริงเลยก็ได้ คือได้ผลวิจัยมาจริง ถูกต้องตามหลักการวิจัยจริง แต่สิ่งเหล่านั้นไม่จำเป็นจะต้องใช้ในชีวิตจริงซึ่งบางครั้งก็เป็นความจริงในความลวง คือเป็นความจริงที่ถูกอยู่เพียงมุมหนึ่ง แต่ในมุมอื่นๆกลับไม่มีคุณค่า เป็นเรื่องจริงที่ไม่มีประโยชน์

ทางด้านจิตใจก็หลงกันไปตั้งแต่การติดรสเนื้อสัตว์ หลงว่ามันต้องใส่เนื้อส่วนนี้จึงจะอร่อย อาหารชนิดนี้ต้องใส่กระดูกถึงจะอร่อย หลงติดในรสเนื้อสัตว์ทั้งๆที่จริงแล้วมันอาจจะเป็นรสเครื่องเทศจนแยกไม่ออกว่าอันไหนรสเนื้อ อันไหนรสเครื่องเทศ ก็มัวเมากับเนื้อสัตว์อยู่แบบนั้น ติดไปถึงขั้นเข้าใจว่าการมีเนื้อสัตว์กินคือคนมีฐานะ สั่งเมนูเนื้อสัตว์แพงๆได้คือคนรวย การกินเนื้อสัตว์คือวัฒนธรรมของชนเผ่าที่เจริญ ใครไม่กินเนื้อไม่มีรสนิยม ฯลฯ หรือขั้นหนักหนาเลย ก็เช่น ฉันคือสัตว์กินเนื้อ ฉันเกิดมาเพื่อกินเนื้อสัตว์ ถ้าไม่ได้กินเนื้อสัตว์ฉันขอตายดีกว่า อยู่ไปทำไมถ้าไม่มีเนื้อสัตว์กิน …มันก็บ้าบอกันไปตามประสาคนโดนกิเลสลวงนั่นแหละ

ทีนี้ “ใจเป็นประธานของสิ่งทั้งปวง” ซึ่งจะมีผลตีกลับไปทางด้านร่างกายอีกที ถ้าหากขาดเนื้อสัตว์ก็จะเกิดอาการ ”มโน” ที่จิตได้ปั้นขึ้นมาว่า หากขาดเนื้อสัตว์แล้วฉันจะหมดแรงบ้าง ฉันจะไม่แข็งแรงบ้าง ฉันจะป่วยบ้าง ฉันจะคิดงานไม่ออกบ้าง ฯลฯ นี่ใจมันหลอกร่างกายซ้อนเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง คนไม่รู้ทันกิเลสก็เมาหมัดเลยทีนี้ กลายเป็นว่าเนื้อสัตว์มีอิทธิพลต่อชีวิตฉันจริงๆ มันเกิดผลทางลบจริงๆ ถ้าไม่มีเนื้อสัตว์ฉันตายแน่ๆ

สรุปว่าสุดท้ายกลายเป็นสภาพของ “ทาส” ที่จำเป็นต้องมีเนื้อสัตว์ในการดำรงชีวิต ถ้าไม่มีเนื้อสัตว์แล้วมันจะทรมาน กิเลสมันตีเอาๆ ให้เกิดทุกข์จากความอยาก อดกลั้นได้สักพักก็ตบะแตกกลับไปกินใหม่ ได้กินสะสมใจก็สะสมกิเลสเพิ่มอีก กินเนื้อสัตว์ไปก็สุขหนอ สุขหนอ ว่าแล้วเราอย่าพยายามเลิกกินเนื้อสัตว์เลย มันเป็นทุกข์ ฝืนธรรมชาติ เราต้องเป็น “ทางสายกลวง” นี่แหละดี กินทั้งเนื้อทั้งผัก ไม่โต่งไปทางด้านใดด้านหนึ่ง

พอคิดแบบนี้มันก็นรกเลย ความเห็นไปในทางของ “กาม” ด้านเดียว คือสุดโต่งไปทางกามเลย ไม่ใช่ “ทางสายกลาง” ที่เว้นขาดจากการมัวเมาในกามและการทรมานตนด้วยอัตตา แต่เป็น “ทางสายกาม” ที่มุ่งเสพกามโดยมีวาทกรรมเท่ๆ เอามาอ้างเพื่อให้เสพตามกิเลสโดยไม่รู้สึกผิดกลายเป็นธรรมะวิบัติ ปฏิบัติแบบกลวงๆ แพ้กามไปด้วยความยินดี เพราะหลงว่าตนชนะ??? (ปราบธรรมะด้วยกิเลสได้)

อาการของ “ทาสเนื้อสัตว์” จะไม่ยอมพรากจากเนื้อสัตว์ จะหาเหตุผลที่ฟังแล้วดูดีน่าเชื่อถือมานำเสนอให้ตัวเองและผู้อื่นได้กินเนื้อสัตว์แบบไม่ต้องอายใคร หรือถ้าในหมู่นักปฏิบัติธรรมก็จะมีชุดประโยคยอดฮิตเช่น กินเป็นเพียงธาตุเลี้ยงร่างกาย กินไม่ได้ยึดติดรสชาติ หรือการปฏิบัติธรรมไม่ได้อยู่ที่การกิน ฯลฯ ถ้าไม่ระวังให้ดีกิเลสมันก็อาจจะพาเฉโกไปได้ เพราะโง่ไม่รู้ทันตัณหา คนดับตัณหาได้จริงก็ไม่มีปัญหา แต่คนไม่ทันตัณหาก็เรียกว่าโกหกซ้อนลงไปอีกชั้น คือตัวเองอยากกินอยู่แล้วโกหกว่าไม่อยาก พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ตัณหา เกิดเพราะปัจจัยสี่ หนึ่งในนั้นคืออาหาร ถ้าไม่ทันความอยากในอาหารที่กินอยู่ทุกวัน ก็เรียกได้ว่าไม่มีทางทันกิเลส ก็อ้างกินเถียงกินกันไปวันๆ

เพราะเอาเข้าจริง คนที่ยังกินเนื้อสัตว์ก็หลีกเลี่ยงจากความเป็น “ทาสเนื้อสัตว์” ไม่ได้ หากเรายังต้องกิน ต้องเลี้ยงร่ายกายจากการเบียดเบียนเขามา การเบียดเบียนด้วยการฆ่านี่มันหยาบมันร้ายมากนะ แค่นึกถึงก็ไม่เอาด้วยแล้ว คนที่จิตใจเจริญแล้วจะสะดุ้งกลัวต่อการร่วมบาปนี้ ไม่ยินดีในการร่วมบาปนี้ แต่พวกทาสเนื้อสัตว์ก็จะเฉย ถึงรู้ว่าสัตว์ถูกฆ่ามาก็จะยังเฉยๆ เพราะถ้าคิดมากพูดมากแล้วจะไม่ได้กินเนื้อสัตว์ สู้อย่าไปคิดอย่าไปพิจารณาที่มาของมันเลย “มันเป็นเนื้อมาแล้ว มันตายมาแล้ว” ว่าแล้วก็กินไปโดยทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ “กินๆไปเถอะอย่าคิดมาก กินอะไรก็ตายเหมือนกัน (แต่ฉันขอกินเนื้อนะ)”

การหลุดพ้นจากความเป็นทาส นอกจากจะไม่เอาจิตไปผูกพันด้วยแล้ว ยังต้องถอนร่างกายออกจากความผูกพันด้วย ไม่ใช่บอกว่าจิตไม่รู้สึกรักหรือเกลียดอะไร แต่ปากก็กินเอากินเอา ไม่หยุดกินสักที บางทียังขอเพิ่ม มีผักมาเสริมก็ไม่กินผัก ตักเอาแต่เนื้อ เลือกกินแต่เนื้อเป็นหลัก กี่ปีกี่ชาติก็กินอยู่แบบนั้น กลายเป็นพวก “ปากว่าตาขยิบ

นี่แหละลีลาของ “ทาสเนื้อสัตว์” ที่หลงว่าตนเองไม่ได้เป็นทาส แต่จริงๆ ก็เป็นทาส เพราะไม่สามารถพรากเนื้อสัตว์ออกจากชีวิตได้ ไม่สามารถห่างเนื้อสัตว์ได้ ห่างกายใจก็คิดถึง จึงต้องแสวงหาเนื้อสัตว์มาบำเรอกิเลสตนอยู่เรื่อยไป เพื่อบรรเทาความทุกข์จะความอยากนั้น

คนที่เป็นทาสเนื้อสัตว์จึงน่าสงสารเช่นนี้ เพราะต้องไปซื้อไปหาเนื้อสัตว์ที่เขาเลี้ยงมา กักขังมา ลากมา เฆี่ยนมา ฆ่ามา ชำแหละมาให้เรากิน ต้องสังเวยชีวิตผู้อื่นเพื่อบำเรอสุขตนเอง ถึงต้องมีส่วนเบียดเบียนผู้อื่นก็ยอมจำนน เพราะหลงว่าสุขของเนื้อสัตว์นั้นมีมากกว่าผลกรรมที่ได้รับ หลงเข้าใจไปว่าการได้มาซึ่งเนื้อสัตว์นั้นตนเองไม่มีส่วนรับผลเสีย มีแต่รับสุขจากเสพ จึงเข้าใจว่าคุ้มค่าที่จะเสพ กิเลสมันพาหลงมัวเมาแบบนี้ สะกดให้คนกลายเป็นทาสที่ไม่มีเหตุผล ให้เป็นคนที่ไม่รู้ความเกี่ยวเนื่องของสรรพสิ่ง ให้เป็นคนไม่รู้ชัดในเรื่องกรรมและผลของกรรม

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น” ดังนั้นถึงเราจะกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาโดยไม่มีความรักชอบเกลียดชัง แต่เราก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของวงจรการเบียดเบียน นั่นหมายถึงเราก็ต้องรับส่วนแบ่งของความมีโรคมากและอายุสั้นตามกรรมที่มีส่วนทำด้วย สรุปว่ากินไปก็มีแต่จะสร้างทุกข์ให้ตัวเองเท่านั้นเอง

ซึ่งคนเราก็จะเป็น “ทาสเนื้อสัตว์” ถูกคล้องคอด้วยความอยากไปอีกนานจนกว่าจะมีปัญญาเห็นว่า การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้น เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นเพื่อมาบำเรอตน เป็นความสร้างความสุขให้ตนโดยการทำทุกข์ให้กับผู้อื่น เป็นไปเพื่อความไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เพื่อความเดือดร้อน เพื่อความจองเวรจองกรรมกันชั่วกาลนาน

– – – – – – – – – – – – – – –

18.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การบริหารชีวิตเพื่อความเจริญในทางโลกและทางธรรม ประหยัดกิเลสลด ลงทุนกิเลสเพิ่ม

December 16, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,780 views 0

ประหยัดกิเลสลด ลงทุนกิเลสเพิ่ม

การบริหารชีวิตเพื่อความเจริญในทางโลกและทางธรรม ประหยัดกิเลสลด ลงทุนกิเลสเพิ่ม

การใช้ชีวิตที่เรียกได้ว่าเจริญไปในทางโลกคือความไม่ขัดสนในปัจจัย ๔ แต่ก็ไม่ฟุ้งเฟ้อเกินความจำเป็น และความเจริญในทางธรรมคือสามารถใช้ชีวิตทำกิจกรรมการงานไปพร้อมๆกับลดกิเลสได้

ในความเข้าใจของคนทั่วไปนั้น มักจะแสวงหารายได้ที่เพิ่มมากขึ้นให้มาจุนเจือชีวิตและความต้องการของตน หลายคนประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน และทางออกของเขาเหล่านั้นก็คือการหารายได้เสริม ลงทุน เก็งกำไร หรือช่องทางอื่นๆเพิ่มเติม

ความต้องการเหล่านั้นโดยมากเกิดจากกิเลส เป็นความต้องการที่ไม่มีวันสิ้นสุด ไม่รู้ว่าปลายทางของมันอยู่ตรงไหน แม้เราจะพยายามหาเงินมาเติมเต็มเท่าไหร่ แต่ความอยากกลับพุ่งทะยานออกไป คว้าสิ่งใหม่ๆมาเติมอยู่เรื่อยๆ

รายได้ในปัจจุบันของเราไม่พอจริงหรือ? ทำไมคนที่รายได้ต่ำกว่าเราเขายังมีชีวิตอยู่ได้ นั่นหมายความว่าจริงๆแล้วรายได้เราพอ แต่ใจเราไม่พอ เมื่อใจเราไม่พอ ถึงจะมีรายได้เข้ามาเพิ่มเติมเท่าไหร่ก็จะไม่มีวันพอที่จะสนองต่อตัณหาของคนที่หนาไปด้วยกิเลส

ประหยัดกิเลสลด

การประหยัดจะมีทิศทางที่ขัดกับกิเลส เมื่อเรารู้สึกอยากได้อยากเสพอะไร ให้เราตั้งใจไว้เลยว่าเราจะประหยัด ไม่ซื้อไม่กินสิ่งที่ฟุ่มเฟือย ก็จะเป็นการต่อต้านกิเลส ซึ่งจะมีผลทำให้กิเลสนั้นลดลงได้

ความประหยัดต่างจากความตระหนี่ ขี้งก ขี้เหนียว ประหยัดคือกินใช้เท่าที่จำเป็น ตระหนี่คือควรกินควรใช้แล้วไม่ยอมใช้ให้เกิดประโยชน์

การประหยัดนี้เองจะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เป็นการบริหารต้นทุนชีวิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยให้มีรายได้เท่าเดิม แต่รายจ่ายลดลง ทำให้มีเงินเหลือเก็บมากกว่าเดิม เกิดประโยชน์ทั้งในทางโลกและทางธรรม

แต่โดยมากแล้ว คนมักจะไม่แก้ปัญหาที่การประหยัด ไม่แก้ปัญหาที่ตัวเอง กลับไปแก้ปัญหาโดยการแสวงหาเงินเพิ่ม ไปแก้ปัญหาที่องค์ประกอบภายนอก

ลงทุนกิเลสเพิ่ม

เมื่อใจคนเราไม่รู้จักพอ ก็มักจะแสวงหางานเพื่อให้ได้เงินมาเพิ่ม ถ้ามักง่ายหน่อยก็ลงทุนบ้าง เก็งกำไรบ้าง เล่นพนันบ้าง ซื้อหวยบ้าง ฯลฯ ซึ่งก็มักจะเข้าขีดของอบายมุขอยู่เนืองๆ

เพราะมีความเห็นว่า ต้องให้มีรายได้มากขึ้น เพื่อนำมาปรนเปรอ “ความอยาก” ที่ทำให้มีรายจ่ายมากขึ้น ดังนั้นทุกครั้งที่ทำงานหรือลงทุนแล้วได้เงินมาแก้ปัญหาการเงินจากความอยากที่ฟุ้งเฟ้อเกินความจำเป็น นั่นหมายความว่ากิเลสจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะยิ่งสนองกิเลสเท่าไหร่ กิเลสก็ยิ่งโตเท่านั้น แม้จะไม่สนองกิเลส อดทน กดข่มโดยไม่เข้าใจความจริงว่าความอยากเหล่านั้นสร้างโทษอย่างไร กิเลสก็จะโตเช่นกัน สุดท้ายก็จะเกิดสภาพที่เรียกว่าตบะแตก

การลงทุนลงแรงที่กิเลสไม่เพิ่มก็มีเช่นกัน ในกรณีที่ว่าปัจจัยสี่นั้นไม่พอเลี้ยงชีวิต ก็จำเป็นต้องออกไปหางานทำเพิ่ม เอาภาระเพิ่ม เหนื่อยเพิ่มขึ้น เพื่อให้ได้เงินมาดำรงชีวิต ในกรณีนี้เป็นกุศล เพราะออกจากความขี้เกียจ ไปสู่ความขยันที่จะพาให้ชีวิตเจริญขึ้น

แต่โดยมากในสังคมนั้น คนมักจะไม่พอใจกับรายได้ของตน แต่ก็ไม่คิดว่าจะต้องประหยัด ซึ่งมักจะหาทางออกด้วยการทำงานเพิ่ม ลงทุนเพิ่ม เสี่ยงดวงเล่นพนันเพิ่ม เพื่อให้ได้เงินมาจับจ่ายใช้สอยสิ่งที่จะมาสนองตัณหาของเขาเหล่านั้น

การมีรายได้มาก หรือมีความร่ำรวย ไม่ใช่สาระของชีวิต แต่การที่ชีวิตจะมีคุณค่า มีสาระนั้น คือการเลี้ยงชีพบนความถูกต้อง ใช้จ่ายอย่างเหมาะสม ไม่ยอมให้ตัณหาครอบงำ และใช้วันเวลาที่มีอยู่ในโลกนี้ทำลายความหลงติดหลงยึดของตน พร้อมกับสร้างประโยชน์กลับคืนให้สังคมและโลก นี้จึงเรียกว่าเกิดมามีคุณค่า มีประโยชน์ ไม่เกิดมาตายเปล่า

– – – – – – – – – – – – – – –

1.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)