ความโกรธ

เพ่งโทษฟังกัน

March 25, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 728 views 0

เวลาที่คนมีความโกรธ เกลียด ชิงชัง จะฟังกันไม่รู้เรื่องหรอก เพราะเคยแต่เพ่งโทษ หาโทษ มองแต่โทษ ซึ่งบางทีก็ไม่ใช่โทษจริงหรอก แต่ฟังไม่ครบบ้าง ไม่พยายามทำความเข้าใจบ้าง แล้วจิตพยาบาทมันก็ปรุงไปต่อจนคิดว่าเป็นโทษจริง ๆ

ในชีวิตผมก็เจอบ่อยจนเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว คนที่เขาเพ่งโทษนี่เขาจะอ่านหรือฟังไม่รู้เรื่องหรอก จับสาระไม่ได้ เราตอบไปแล้ว เขาก็จะอ่านไม่เข้าใจ หรือเข้าใจไม่ได้ บางทีจับประเด็นเพี้ยนอีก กลายเป็นฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียดไปซะอีก

คือฟังแล้วมีการเพ่งโทษร่วมด้วย สภาวธรรมไม่ถึงด้วย ไม่เข้าใจ ก็จับไปกระเดียด ไปต่อเติมแต่ง ความความเข้าใจของตนเอง แล้วหลงว่าตนถูกซะด้วยนะนั่น

หรืออีกอาการที่เจอคืออาการหูดับ คือเขาจะเลือกฟังแต่สิ่งที่เขาชอบ แต่พอได้ฟังสิ่งที่ตรงข้ามกับที่เขาคิด ก็จะหูดับ ไม่ฟัง ไม่จำ ไม่รับรู้ ไม่แก้ไขความเห็นผิด

พวกเพ่งโทษฟังกันนี่ผมไม่เอาภาระหรอก ก็ให้เขาเป็นไปตามแบบของเขา คือเขาไม่สามารถรับการสื่อสารของเราได้ แม้ขั้นต่ำก็รับไม่ได้ ดีไม่ดีตีกลับ เป็นตีความผิดอีก กลายเป็นเข้าใจผิด เพ่งโทษ ถือสา ฯลฯ

อาจารย์สอนว่า “ให้ช่วยคนที่ศรัทธา” ถ้าจะให้ผมเอาภาระจริง ๆ ก็จะเอาเท่าที่เขาศรัทธานี่แหละ ส่วนพวกถือสานี่ไม่เอานะ ไม่เสียเวลาดีกว่า

ถ้ามีอาการในหมวดพยาบาท คือ โกรธ เกลียด อาฆาต เพ่งโทษ หรือหมวดอัตตา เช่น ถือดี อวดดี ยกตนข่ม สำคัญตนว่าเหนือกว่า ฯลฯ อะไรทำนองนี้ จะฟังกัน สื่อสารกันไม่รู้เรื่องหรอก

เพราะจิตมันจะไม่เอาประโยชน์ มันจะจ้องเอาแต่โทษ เพ่งแต่โทษ เป็นธาตุของคนพาล เป็นกำลังของคนพาล เราก็ห่าง ๆ ไว้ ชีวิตจะผาสุก

อยู่ใกล้คนขี้โกรธ ขี้หงุดหงุด ใครคิด/พูด/ทำ ไม่ถูกใจก็ขุ่นเคืองใจ ว่าแล้วก็ด่าบ้าง เหน็บบ้าง แขวะบ้าง ประชดประชันบ้าง ฯลฯ สารพัดลีลาอิตถีภาวะ(สภาพมีกิเลส) คนพวกนี้พระพุทธเจ้าว่าไม่ควรคบหา ไม่ควรเข้าใกล้ เปรียบเหมือนบ่อขี้ มีอะไรตกใส่กลิ่นก็เหม็นฟุ้ง

เมื่อถูกกล่าวหา

February 24, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 624 views 0

เวลาเราอยู่นิ่ง ๆ นี่มันก็เหมือนจะไม่มีทุกข์อะไรนะ แต่เวลามีคนมากล่าวหาใส่ความเราหรือคนที่เรารักนี่สิ ใจมันก็มักจะไม่อยู่เฉย ดิ้น เดือด จนอาจจะถึงขั้นด่ากลับไปได้

ผมก็เคยเจอกรณีที่คนเขามากล่าวหาด้วยความเข้าใจผิดสมัยทำโรงทาน เขาก็กล่าวหาจริงจัง เอาเรื่องเลยนะ หาว่าเราไปด่าเขา ๆ แล้วเขาก็ยืนด่าเราสารพัดต่อหน้าฝูงชนนั่นแหละ ว่าเราไม่มีศีลบ้าง หน้าตัวเมียบ้าง หากระโปรงมาใส่บ้าง สารพัดคำดูถูกปรุงมาอย่างเผ็ดร้อน สาดใส่เรานั่นแหละ

แต่ด้วยเราก็รู้ว่าเขาเข้าใจไปผิดไง เราก็ไม่ได้โกรธตามเขา เรารู้ตอนนั้นเลยว่าเอาแล้ว วิบากกรรมมาแล้ว ก็ไม่ได้คิดแค่รับนะ ตอนนั้นก็คิดว่า ทำยังไงดีหนอให้มันดีขึ้น

ก็ทำตามที่พระพุทธเจ้าตรัสนั่นแหละ คือ 1. ไม่โกรธ 2.พูดแต่ความจริง แต่ทำไปแล้วมันไม่คลี่คลายก็วางใจไป สุดท้ายเขาจะให้เราขอโทษ เราก็ตรวจใจไปว่าเรายอมได้ไหม ขอโทษทั้งที่เราไม่ได้ทำผิดอย่างเขาว่าได้ไหม

ก็นึกไปว่า จริง ๆ ส่วนผิดเราก็มีนะ คือไปยืนคุยหน้าโรงทานทำให้เขาเข้าใจผิด ได้ยินผิด จริง ๆ เราก็ไม่ได้พูดถึงเขาหรอก เราคุยกับเพื่อน แล้วอาจจะกวาดสายตาไปโดนเขา อันนี้เราก็ไม่ได้สำรวมจริง ๆ เจตนาก็ไม่มีหรอก แต่ก็ขออภัยเขาไป เขาก็เลยยอมไม่เอาเรื่อง(ที่เขาสร้างเรื่องขึ้นมาเอง)

ในชีวิตก็เคยเจอเรื่องแบบนี้เยอะ เรื่องที่เราไม่ได้ทำหรอก แต่เขาปั้น เขาปรุงขึ้นมากล่าวหาเรา สาดสี ใส่ไข่ เติมรสกันจัดจ้าน จนเรียกว่าได้ยินแล้วงง ว่าเราไปทำขนาดนั้นตั้งแต่เมื่อไหร่ บางเคสมีการมาเดาใจเราแล้วสรุปเพิ่มด้วย

ผมเป็นคนไม่ค่อยชอบการมานั่งแก้ต่างเท่าไหร่ ไม่เคยพยายามพูดเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ตัวเอง รู้สึกว่ามันเสียเวลา มีคนถามค่อยบอกเขาไป ถ้าไม่มีคนถามก็ปล่อยไว้อย่างนั้น เพราะรู้สึกว่าการที่เขาเข้าใจเราผิด หรือใส่ความเรา มันไม่ใช่เรื่องของเรา เพราะยังไงเราก็ไม่ได้เป็นอย่างที่เขาพูดอยู่แล้ว ส่วนที่เขาว่ามันจะเป็นอย่างไรมันก็เป็นเรื่องของเขา

ผมเชื่อว่าการที่เราไม่ต้องมานั่งพะวงกับการปกป้องตัวเองนี่แหละ คืออิสระ คือความผาสุก เราไม่หวงตัวหวงตน ใครจะคิดยังไงกับเราก็ได้ ใครจะเข้าใจเราไปยังไงก็ได้ ใครจะใส่ความเรายังไงก็ได้ มันคือความใจกว้าง ให้อิสระทุกคนคิด เขาจะคิดผิดคิดถูกก็เป็นบาปบุญของเขา ไม่เห็นจะเกี่ยวกับเราตรงไหน

มันจะเกี่ยวก็แค่ตอนเขาเข้ามาถึงตัวเราเท่านั้นแหละ ที่มันจะอันตราย ก็ต้องคอยระวัง หลีกการกระทบกระทั่ง การทำร้ายก็เท่านั้น หลีกไม่ได้ก็รับไป มีพระโมคคัลลานะเป็นไอดอล เราต้องหัดทำตามท่าน ต้องรับให้ได้ทุกอย่าง ต้องทนได้แม้เขาจะมาทำร้ายเรา ฆ่าเรา เราก็ต้องไม่ไปทำร้ายเขากลับ อันนี้เป็นกรรมฐานเอาไว้ฝึกน่ะนะ แต่จะฝึกได้เท่าไหร่ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ก็มีแนวทางที่ถูกให้พัฒนาตนเองนั่นแหละ

การถูกกล่าวหานี่คือบททดสอบของชีวิตนะ ว่าเราจะยึดตัวยึดตนมากเท่าไหร่ การไปติคนอื่นก็เรื่องหนึ่ง การถูกคนอื่นติหรือเข้าใจผิดนี่มันก็อีกเรื่องหนึ่ง มันจะวัดความแกร่งของใจเรา วัดความทน วัดปัญญา มันต้องทนได้ทั้งเขามาติเรา ติคนที่เรารัก ติความเห็นความเข้าใจของเรา เขาติได้สารพัดเรื่องนั่นแหละ เราก็มีหน้าที่ทำความเข้าใจให้ถูกตรงอย่างเดียว คือไม่ไปโกรธ อึดอัด ขุ่นเคืองใจเพราะเขามากระทบ

คำติหรือการโดนใส่ร้ายใส่ความนี่เป็นอาหารอย่างดีของความเจริญเลยนะ เป็นโจทย์จริง ๆ ให้ปฏิบัติ ไม่ใช่นั่งนึกเอาเดาเอา แต่ถ้าปรับใจไม่ทันก็เป็นนรกร้ายได้เหมือนกัน ก็มีอยู่แค่สองอย่างนั่นแหละ คือเราจะก้าวข้ามความโกรธ หรือจะร่วงลงไปในนรก มันก็อาจจะไม่ง่ายนักในโจทย์นี้ แต่ถ้าทิศทางเราชัด แม้เราร่วงไปบ้าง เราจะตั้งสติและปีนขึ้นมา

แต่ถ้าใครไม่ไหว ไม่มั่นใจ ไม่ค่อยแกร่ง ก็อย่าไปหาโจทย์ในชีวิตให้มากนัก อย่าแกว่งเท้าหาเสี้ยน หมั่นทำความดี ขัดเกลาตัวเองไปในเรื่องที่ทำไหว กระทบโลกให้พอเหมาะกับความเจริญเท่าที่ตนเองจะทำไหว ก็จะไม่ทุกข์หนัก ไม่เสี่ยงต่อการล่วงหล่นมากนัก

การจัดการกับความชิงชังรังเกียจ ในคนที่เข้ามาจีบ

February 5, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 885 views 0

ความเกลียดก็คือความไม่ชอบที่สะสมจนมีดีกรีที่เข้มข้นขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่รำคาญ ไปจนถึงอาฆาตมุ่งร้าย การสะสมความชัง คือการสะสมบาปให้ตัวเอง ให้ระลึกไว้ว่า ยิ่งโกรธ ยิ่งเกลียดใคร ก็ยิ่งสร้างบาป สร้างขยะ ผลักจิตวิญญาณของตนเองให้จมลงสู่ความเป็นคนพาลลึกยิ่งขึ้นโดยลำดับ

ถ้าเกลียดมาก มันก็ผูกมาก มันคือสภาพคู่ของรักและชัง มันจะเป็นเครื่องพาวน พาหลง เดี๋ยวก็เป็นฝ่ายจีบ เดี๋ยวก็เป็นฝ่ายถูกจีบ หลงเล่นอินกับบทบาทวนไปวนมาแบบนี้ไม่รู้จบเพราะความเสพในรสของความชอบความชัง การจะออกจากอารมณ์ติดลบที่ขุ่นมัวเหล่านี้ก็มีเพียงการปฏิบัติไปสู่ความเป็นกลางของจิต คือไม่ชอบ และไม่ชัง

ความชังนั้นมีรสสุขในคนโง่ เคยเห็นไหมที่คนเขาไม่ชอบใคร แล้วเขาตั้งวงนินทาว่าร้ายกัน ดุเด็ดเผ็ดมัน นั่นแหละ ความชังมันมีรสให้คนหลงเสพ หลงว่าชังแล้วเป็นสุข ทั้ง ๆ ที่มันไม่มีประโยชน์อะไรเลย การโกรธ เกลียด ชิงชัง ให้ร้าย นินทา ไม่ใช่วิถีที่จะพาให้ใครไปพ้นทุกข์ได้เลย

การยับยั้งความชัง คือไม่ให้อาหารมัน คือไม่สร้างความชังเพิ่ม ไม่ต้องไปชักชวนใครให้ไปชังเขาเพิ่ม ให้รับรู้ตามจริงว่าเขาก็เป็นคนแบบนั้น เขาก็เป็นของเขาอย่างนั้น แล้วก็เลิกยุ่งไป ห่างไป หรือถ้าเขาดูจะเป็นคนใจกว้างพอที่เราจะพูดบอกได้ ก็ลองพูด ลองแจ้งเขาว่าที่เขาทำนี่มันเบียดเบียนเราอย่างไร มันทำให้เราต้องระวัง เป็นอยู่ไม่ผาสุกอย่างไร ก็ปรับภาษาเอาตามที่เหมาะ แต่ถ้าพูดไม่ได้หรือพูดแล้วไม่ดีขึ้น ก็ให้ทำตัวเองให้ดี ถือศีลให้มากขึ้น พระพุทธเจ้าตรัสว่าถ้าอยากห่างไกลคนผิดศีล ก็ให้มีศีล ดังนั้นถ้าอยากห่างไกลคนมาจีบ ก็ตั้งตนเป็นคนโสดให้มันมั่น ๆ แน่น ๆ พยายามลดสิ่งที่จะดึงดูดเขา เท่าที่จะทำไหว โดยภาพรวมแล้ว ในเรื่องคู่ชู้สาว กามจะเป็นกิเลสที่เด่นชัดขึ้นมา ดังนั้นการแต่งตัวให้เหมาะสม ไม่แต่งเติมความสวยงาม ไม่แสดงความสำคัญว่าตนงามหรือดูดี ไม่มัวเมาในร่างกายของตน คนธาตุเดียวกันย่อมจะดึงดูดกัน เราก็เปลี่ยนตัวเองไปเป็นธาตุที่เจริญขึ้น สูงขึ้น ถ้าปฏิบัติศีล ๕ อยู่ก็พยายามขยับขึ้นไปศีล ๘ จะพ้นภัยมากขึ้น เพราะมันก็จะแตกต่างกันไปโดยธรรม ไม่เข้ากัน ไม่เหมาะกัน เดี๋ยวเขาก็จะหายไป

การพิจารณาออกจากความชัง คือการพิจารณาประโยชน์ของการที่เขามาจีบที่มีต่อตัวเรา เช่น เราก็จะได้หัดล้างอัตตา ได้ล้างความน่ารังเกียจในใจเรา ซึ่งมันแอบเหม็นเน่าอยู่ในใจเรา แล้วเราไม่ยอมล้าง การเข้ามาจีบของเขาก็เป็นเพียงแค่เครื่องกระทุ้ง เหมือนมือที่มาเปิดถังขยะเปียก ที่หมักหมมเหม็นเน่ามานาน กลิ่นเหม็นที่คลุ้งหรือความทุกข์ไม่ได้มาจากคนเปิด แต่มาจากการหมักขยะเปียกหรืออัตตาของเรานั่นแหละ

พิจารณาโทษของความชังของเรา ว่าจะทำให้เกิดทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียต่อตนเองอย่างไรบ้าง เช่น ชังเขาไป เราก็ไม่เจริญ เราจะยิ่งต่ำลงไปอีก และในมุมของการพิจารณากรรม การชังยังสร้างวิบากร้ายผูกเวรผูกกรรมกับเขาไว้อีก ต้องเจอแบบนี้อีกหลายภพหลายชาติจะเอาอีกหรือ? ทุกข์ซ้ำ ๆ นี่มันสุขอย่างไร?

พิจารณาไตรลักษณ์ว่า ที่เขามาจีบนี่มันไม่เที่ยง เดี๋ยวมาแล้วเดี๋ยวก็ไป เขาไม่จีบไปถึงชาติหน้าหรอก อย่างเก่งก็ได้แค่ตามจีบแค่ชาตินี้ ก็ทน ๆ เอา แล้วการจะไปยึดให้มันเที่ยงคือให้มันผาสุกแบบตลอดเวลานี่มันเป็นไปไม่ได้ ชีวิตมันจะเป็นอะไรก็ได้ มีคนมาจีบก็ได้ ไม่มาจีบก็ได้ มันจะเป็นทุกข์เพราะว่ามันยึดสภาพที่เป็นสุข ยึดสวรรค์ และให้เข้าใจว่าเขามาจีบนี่เขาเป็นทุกข์นะ ไม่ใช่เราต้องเป็นทุกข์ ที่เราทุกข์เพราะเรายึด แต่ถ้าเราไม่ยึดว่าจะมาจีบหรือไม่มา ยังไงก็ได้ ก็เหลือแค่เขาที่เป็นทุกข์ เพราะเขาอยากได้เรา เขาก็ต้องเสียเวลาเสียสมองไปปรุงเรื่องไร้สาระมาจีบเรา อันนี้ก็น่าเห็นใจเขา เราก็ต้องเมตตาเขา ใจกว้างให้มาก ๆ ให้เข้าใจเขา ยอมรับความจริงว่าเป็นกรรมที่เราทำมา เราก็ต้องชดใช้ โดยผ่านสิ่งที่เขาแสดง เรากระทบแล้วเราก็รับทราบ เห็นใจ เข้าใจ วางใจ เพราะเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ก็ยึดไว้เป็นตัวตนหรือเป็นสุขเป็นทุกข์ของเราไม่ได้เลย จะไปกำหนดว่าเจอแบบนี้ฉันจะรักเท่านี้ หรือเจอแบบนี้ฉันจะเกลียดเท่านั้น มันก็ไม่มีวันจะเป็นอย่างนั้นตลอดไป แม้อยากจะยึดมั่นถือมั่น แต่มันก็จะเปลี่ยนแปลงไป แม้ว่าเราจะโกรธเกลียดชังชิงแค่ไหน สุดท้ายมันก็จะสลายหายไปอยู่ดี เหตุการณ์เป็นแค่สมมุติ บาปหรือความชิงชังเป็นของจริง

เราก็ต้องขยันพิจารณาธรรมที่ได้ฟังและศึกษามานี่แหละซ้ำ ๆ ไม่เข้าใจก็ไปอ่าน ไปฟัง ไปถามใหม่ แล้วเอามาประมวลผลให้เหมาะกับกิเลสตัวเอง วันหนึ่งถ้าปัญญาถึงรอบ วิบากที่กั้นไว้หมด ขยันตักออกเดี๋ยวมันก็หมดของมันเอง แต่ถ้าไม่เอากิเลสออก มันก็เหม็นเน่าอยู่อย่างนั้น เขามาจีบทีไรก็ขุ่นข้องหมองใจไปทุกที

5.2.2563

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ลดเนื้อกินผัก ไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนสัตว์ใด

July 21, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,964 views 0

ลดเนื้อกินผัก ไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนสัตว์ใด

ลดเนื้อกินผัก ไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนสัตว์ใด

บังเอิญมีเรื่องให้พิมพ์บทความนี้ขึ้นมา มีบางสิ่งที่ปลุกผมให้ตื่นจากฝัน ด้วยความปวดคันที่หน้าแข้ง ผมค่อยๆยกขาขึ้นมาดูและพบว่ามียุงตัวหนึ่งกำลังดูดเลือดอยู่…

ยุงตัวนี้ดูดเลือดจนบินแทบไม่ไหว มันดูดเสร็จก็บินลงมาบนเตียง แล้วก็บินหนีได้ทีละนิดละหน่อย มันคงจะอิ่มจนขยับตัวลำบาก พอนึกได้ก็เลยหยิบกล้องมาถ่ายรูปไว้เสียหน่อย

ประเด็นที่ชาวมังสวิรัติ นักกินเจ หรือผู้ที่พยายามลดเนื้อกินผัก มักจะถูกกล่าวหาอยู่เสมอ คือไม่กินเนื้อสัตว์แล้วแต่ยังฆ่าสัตว์กันหน้าตาเฉย ยกตัวอย่างเช่นการตบยุง ซึ่งเป็นกรณีกล่าวหายอดฮิตนั่นเอง

ผมเองไม่ได้ตบยุงมากว่าสองปีแล้วตั้งแต่เริ่มลดเนื้อสัตว์หันมากินผัก การใช้วิถีปฏิบัติธรรมเข้ามาขัดเกลาความอยากกินเนื้อสัตว์ ได้ขัดเกลาความโกรธเกลียดและความอาฆาตไปพร้อมๆกัน

แม้เราจะมีเหตุผลที่ดูดีมากมายในการฆ่ายุง เช่นมันทำร้ายเรา มันเข้ามาใกล้ตัวเรา เราตบไปด้วยความเคยชิน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ควรมีในตนเลย เราไม่ควรจะเหลือเหตุผลในการเบียดเบียนชีวิตอื่นเลย ไม่จำเป็นเลยว่าเขามาทำร้ายเราแล้วเราจะต้องทำร้ายเขากลับ มันไม่ใช่หน้าที่ของเราเลย

เราไม่จำเป็นต้องปกป้องตัวเองด้วยการฆ่า เพราะเราสามารถใช้การป้องกันได้ สมัยนี้ก็มีวิธีป้องกันมากมาย ไม่ให้ยุงเข้ามาใกล้เรา

แต่สุดท้ายแล้วถึงมันจะเข้ามาใกล้และกัดเรา เราก็ไม่จำเป็นจะต้องตอบโต้ใดๆกลับคืนเลย มันกัดแล้วก็แล้วไป จะพามันไปปล่อยนอกมุ้งนอกหน้าต่างก็ได้ถ้าทำได้ ปฏิกิริยาตอบโต้ที่เกิดขึ้นเหล่านั้นมีใจเป็นตัวสั่ง มันไม่ใช่ระบบอัตโนมัติ แต่มันเกิดเพราะสติเราไม่ทันกิเลส มันเลยสั่งให้เราตบยุงอย่างไม่ทันรู้ตัว ไม่ทันเหยียบเบรก รู้ตัวอีกทียุงก็ตายคามือแล้ว

แม้ว่าการถือศีลนั้นจะหยุดการฆ่าได้เพียงแค่หยุดร่างกายเอาไว้ แต่ใจยังรู้สึกอาฆาตแค้น ก็ยังดีกว่าลงมือฆ่า แต่ถ้าจะให้ดีคือพัฒนาจิตใจ ปฏิบัติธรรมโดยใช้ศีลนี่แหละเป็นกรอบในการกำจัดเหตุแห่งการฆ่าทั้งกาย วาจา ไปจนถึงใจ ผู้ใดที่ชำระล้างกิเลสที่เป็นเหตุแห่งการฆ่าได้ ก็จะไม่มีเหตุผลในการฆ่าและเบียดเบียนสัตว์อีกเลย

และเมื่อนั้นเราก็จะเป็นผู้ที่ละเว้นเนื้อสัตว์โดยไม่มีข้อกล่าวหาใดๆ เพราะบริสุทธิ์ด้วยศีล ศีลจะเป็นเกราะคุ้มกันไม่ให้เราทำบาป ไม่ให้เราสร้างอกุศล ไม่ให้เราต้องพบเวรภัยต่างๆอีกมากมาย

– – – – – – – – – – – – – – –

21.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)