สังคม สิ่งแวดล้อม
การกำจัดคนทุศีลออกจากหมู่คนดี
มีคนถามเข้ามาว่า เขาไปรู้เรื่องชู้สาวระหว่างพระกับสีกา เขาจะทำอย่างไรดี?
ตอบ เราก็เปิดเผยความจริงในส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อเราและผู้อื่น
ไม่ว่ายุคสมัยไหนก็จะมีคนชั่วคนผิดศีลปนเข้ามาหาผลประโยชน์ในกลุ่มคนดีอยู่เสมอ ดังนั้น จึงต้องมีการกำจัดหรือชำระกันอยู่เป็นประจำ
ในสมัยพุทธกาลนี้ยังง่าย เพราะคนที่ทำผิด เมื่อถูกถาม ก็ยอมรับตามความเป็นจริง ถ้าใครได้อ่านพระไตรปิฎก ก็จะคุ้นเคยกับคำถามของพระพุทธเจ้าที่ถามประมาณว่า “เธอทำอย่างที่เขากล่าวหาจริงหรือ” ผู้ถูกถามที่ทำผิดจริงก็จะตอบว่า “เป็นจริงเช่นนั้นพระเจ้าข้า”
แต่ในสมัยนี้ไม่ง่าย ความวกวนของกิเลสยิ่งทำให้คนมีมารยา ไม่ซื่อสัตย์ ปกปิด หมกเม็ด บิดเบือน ใช่ว่าจะจับได้ไล่ทันกันได้ง่าย ถามไปก็ไม่ตอบตามจริง เอาหลักฐานไปอ้างก็บิดเบือน ดีไม่ดีโจทย์ผู้กล่าวหากลับหรือไม่ก็ทำร้ายจนถึงฆ่าตัดตอนกันได้เลย
ดังนั้นคนที่จะชี้มูลความผิดในยุคปัจจุบันจึงต้องใช้ความระมัดระวังกันมากขึ้น การชี้ความผิดเป็นสิ่งดี แต่ก็ต้องระวังตัวด้วย เพราะคนชั่วสมัยนี้ร้ายลึก
ถ้าหลักฐานไม่แน่น เขาก็ดิ้นหลุดได้ง่าย คนชั่วที่มีอำนาจ มีบริวาร ก็จะมีคนหลงผิดคอยช่วยให้เขาได้พ้นข้อกล่าวหานั้น ดังนั้นจะชี้ความผิดคนชั่ว ทุศีล เน่าใน ฯลฯ พวกนี้ หลักฐานต้องแน่น และพยายามหาหมู่มวลที่มีกำลัง ปกป้องคุ้มครองตัวเองได้เป็นพวก
…ว่ากันตรง ๆ ผมก็ไม่ได้พูดทุกอย่างที่รู้หรอก ความจริงหลายเรื่องก็ระดับที่ทำลายศาสนาได้ แต่เราก็พูดตรง ๆ ไม่ได้ พูดหรือแสดงออกตรง ๆ เมื่อไหร่ก็ตายวันนั้นแหละ คือความจริงบางอย่างโลกก็รับไม่ได้ เขาอยากจะเชื่อแบบนั้น พอเราโผล่ขึ้นมาขัดแย้งความเชื่อของเขา คนหลงนี่เขาปรับใจไม่ได้ง่าย ๆ นะ เขายึดยังไง เขาก็ยึดแบบนั้นเลย
ถ้าคนทุศีลหรือพระทุศีล มีอำนาจหรือบารมีไม่มาก แค่ระดับบุคคลก็พอจะชี้โทษกันได้ แต่ถ้าคนมีอำนาจมาก ก็ต้องมีอำนาจมากพอที่จะคุ้มครองตนในระหว่างกระบวนการชี้โทษได้
ความบริสุทธิ์ใจคือตัวแปรความสำเร็จของไลฟ์โค้ช
ไลฟ์โค้ช ถ้าว่ากันตามความเข้าใจทั่วไปก็คือคนให้คำปรึกษาเกี่ยวกับชีวิตนั่นแหละ ส่วนจะจำแนกแจกแจง กำหนดสัญญายังไงก็แล้วแต่ภาษา แต่การปฏิบัติก็คือให้คำปรึกษาเกี่ยวกับชีวิต
แม้ว่าไลฟ์โค้ช จะเป็นคำใหม่ที่มีมาในสังคมไทยไม่นานนัก แต่ผู้ที่ทำงานในฟังชั่นของไลฟ์โค้ชนั้นมีมานานแล้ว เพียงแต่คำว่าไลฟ์โค้ช อาจจะถูกมองเป็นวิชาชีพก็ได้ ก็แล้วแต่ใครจะนิยามศัพท์
ไลฟ์โค้ชหรือผู้ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับชีวิต ก็จะเอาความรู้ความสามารถที่ตัวเองมีนี่แหละ มาใช้ในการแนะนำผู้อื่น ซึ่งจะเป็นได้จริง ทำได้จริง และทำได้ยาวนานแค่ไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ใจ
บางครั้งคำแนะนำก็เหมือนลูกกวาด อมไปก็หวาน สุดท้ายฟันผุ น้ำตาลเกิน หรือไม่บางคำก็พาเคลิ้ม พาเมา พาหลง ก็หลงยินดีตามคำลวง สุขได้ชั่วคราว สุดท้ายก็ต้องกลับมาทุกข์หนัก
ดังนั้นการจะแนะนำใคร ผู้ที่แนะนำนั้นจะต้องทำได้จริงเสียก่อน พ้นทุกข์เรื่องนั้น ๆ ให้จริง มั่นคง ยั่งยืน ยาวนานเสียก่อน เพื่อเป็นหลักชัยที่ปักมั่นเป็นตัวอย่างที่ไม่ผิดและให้คำแนะนำที่ไม่ผิด
ต่อมาคือการช่วยเหลืออย่างจริงใจ มีเมตตา และปล่อยวางได้ ว่ากันตรง ๆ ว่าการช่วยเหลือคนอย่างจริงใจที่สุดคือพ้นจากมิจฉาอาชีวะ คือไม่เป็นมิจฉาชีพ
ในมิจฉาอาชีวะ ๕ ในข้อสุดท้ายคือการยังพัวพันกับการมีลาภแลกลาภ ในลาภแลกลาภนั้นก็ยังมิติที่หยาบไปจนถึงละเอียด ในแบบหยาบก็เช่นเล่นการพนันแลกลาภ กลางก็เช่นยังทำงานหาเงิน และละเอียดเช่น การทำดีแลกดี
จริง ๆ การพ้นจากมิจฉาอาชีวะ ในฆราวาสนั้นทำได้ยาก แต่สามารถพ้นได้ง่ายหากเป็นนักบวช ดังนั้นไลฟ์โค้ช ที่ประสบความสำเร็จสูงจึงอยู่ในรูปของนักบวช เพราะพ้นจากการรับลาภก็จะมีพลังในการช่วยคนได้มากขึ้น
แต่ก็มีฆราวาสที่เป็นผู้แสดงธรรมอยู่เหมือนกัน ในสมัยพุทธกาลก็มี “จิตตคหบดี” เป็นเอตทัคคะด้านธรรมกถึก ฝ่ายฆราวาส แต่แม้จะเป็นฆราวาสก็พ้นจากการมีลาภแลกลาภได้โดยใช้สังคมสาธารณะโภคี
เกริ่นมาตั้งนาน อาจจะมีคนสงสัยว่ารับปรึกษาชีวิตแล้วมันยังไง? ก็คนเขาต้องหาเงิน ต้องกินต้องใช้ มันแปลกอะไร?
การช่วยคนอื่นแล้วได้ลาภมาแลก ไม่ว่าจะเงิน การสนับสนุนต่าง ๆ ชื่อเสียง คำขอบคุณ ฯลฯ จะทำให้การประมวลผลในการช่วยเหลือ บิดเบี้ยว ไม่ตรง อคติ ลำเอียง อันเนื่องด้วยเหตุแห่งลาภสักการะเหล่านั้น
แม้จะหวังลาภนิดเดียวมันก็จะเบี้ยวได้ ข้อคิดหรือธรรมที่แสดงจะไม่ผ่องแผ้ว ไม่บริสุทธิ์ เจือด้วยกิเลส ปนด้วยความอยาก แทรกด้วยความยึด มันก็จะเป็นการให้คำปรึกษาเชิงหวังผล หวังลาภ ถึงแม้ว่าทฤษฎีจะถูกต้อง พูดได้ตรงตามหลักฐานอ้างอิง แต่พลังมันจะไม่เต็ม เพราะใจไม่บริสุทธิ์ ยังหวังได้ลาภจากคนอื่นอยู่
ผมเองไม่ได้ต่อต้านการมีอยู่ของไลฟ์โค้ช แต่อยากจะส่งเสริมให้ทำอย่างบริสุทธิ์ใจ ให้พ้นจากลาภแลกลาภ ช่วยคนไม่ต้องหวังอะไร ไม่ต้องขอบริจาคตามศรัทธา ไม่ต้องเอาอะไรทั้งนั้น แม้ทางตรง และทางอ้อม
จะเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการให้คำปรึกษาคนเท่าที่จะเป็นไปได้จริงตามปัญญาบารมีของแต่ละท่าน
แต่ถ้าคิดว่าทำไม่ได้ ก็อย่าพยายามฝืนกับภารกิจนี้เลย เพราะทำไปกิเลสก็โตไป ทำแลกลาภ แลกชื่อเสียง แลกบริวารต่อไป มันจะยิ่งเสื่อมไปเรื่อย ยิ่งพากันหลงไปเรื่อย จะวนเวียนทั้งคนให้คำปรึกษาและรับคำปรึกษา กอดคอกันเศร้าหมอง เป็นทุกข์ในที่สุด
ไลฟ์โค้ช
ไลฟ์โค้ช กับการแสวงหาโลกธรรม
ในยุคนี้เราอาจจะได้ยินคำว่า Influencer หรือ ผู้มีอิทธิพลบนสื่อโซเชียล ซึ่ง Influencer โดยส่วนมากอาจจะไม่ใช่ไลฟ์โค้ช แต่ในความเป็นไลฟ์โค้ช ก็มีองค์ประกอบของ Influencer อยู่ในตัว
สรุปในภาษาง่ายว่า Influencer มีความสามารถในการจูงจมูกคน เช่น โพสรูปของกิน ก็ทำให้คนอยากกินตามได้มาก ให้ความเห็นอะไรก็ทำให้คนคล้อยตามได้มาก แม้จะไม่ได้เรียกตัวเองว่าไลฟ์โค้ช แต่โดยฟังชั่นการทำงานก็มีการเหนี่ยวนำคนไปในจุดใดจุดหนึ่ง แต่จะต่างกันตรงไม่ตั้งตนให้เป็นที่พึ่ง
กรณีของไลฟ์โค้ช โดยส่วนมากนั้นจะชัดเจนว่า ฉันเป็นพี่เลี้ยง ฉันเป็นที่พึ่ง ฉันเป็นผู้ช่วยเธอได้ ซึ่งมีทั้งการให้ข้อมูลโน้มน้าวและความเป็นผู้มีอิทธิพลต่อผู้ศรัทธามากเช่นกัน
ว่ากันตรง ๆ ในโลกที่เต็มไปด้วยกิเลส ใครก็อยากเด่นอยากดัง อยากได้เงินมาก ๆ อยากได้การยอมรับ อยากมีตัวตนในสังคม ดังนั้นไลฟ์โค้ช ที่ไม่ได้ลดกิเลส ไม่มีธรรม จึงหลงไปกับกระแสโลกธรรม แสวงหา ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และบริวาร
ตามที่ผมได้ศึกษามา ส่วนใหญ่เขาก็จะพยายามสร้างเนื้อหาที่จะจับใจคนดู จับหูคนฟัง แต่ด้วยความรู้หรือวาทะศิลป์ที่มี มันจึงมีข้อจำกัด ดังนั้นการนำความรู้อื่น ความเข้าใจของคนอื่นมาหลอมรวมกับตัวเอง แล้วสื่อสาร จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายและได้ผลดี เหมือนกับไป copy ของดี แล้วมา paste ใส่ตัวเองแล้วนำเสนอยังไงอย่างนั้น เรียกง่าย ๆ ว่า ลอกงานมาขาย
หลายปีก่อน อาจจะมีใครเห็นว่ามีคนคนหนึ่งที่เด่นดังมาจากการนำสารพัดคำคมมาเผยแพร่เป็นของตัวเอง ซึ่งเขาก็เด่นได้อยู่ช่วงหนึ่ง สุดท้ายก็ดับไป เพราะเป็นแค่กระแส ไม่ใช่ความจริง
ยุคนี้ก็มีเหมือนกันที่ไลฟ์โค้ช หลายคนนำธรรมะเข้ามาประยุกต์ นำมาใช้นำเสนอข้อมูลของตน ซึ่งดูเผิน ๆ มันก็ดี ดูน่าศรัทธา เขาก็เอามาใช้เพราะรู้ว่ากลุ่มลูกค้าในไทยส่วนใหญ่เขาศรัทธาศาสนาพุทธ เขาก็เอาหลักการพุทธเนี่ยมานำเสนอ ปรุงแต่งให้ขลุกขลิก ใส่ภาพลักษณ์ตนเองเข้าไป
จริง ๆ ธรรมะมันก็ดีนั่นแหละ แต่ปัญหาคือเจตนาที่จะธรรมนั้นมาใช้ เอามาใช้เพื่ออะไร เอามาใช้เพื่อหากิน แลกเงิน แลกชื่อเสียงหรือไม่ เรื่องนี้ดู ๆ ไปสักพักก็จะชัดขึ้นเรื่อย ๆ บางคนไม่ได้หาเงินจากการรับคำปรึกษา แต่เอาโลกธรรมหรือความเด่นดังไปส่งเสริมสินค้าแบบอื่น หรือแม้กระทั่งเอาธรรมะมาสอนเพื่อเสพความยิ่งใหญ่ของตน อยากให้คนเคารพดั่งเทพเทวดา อยากเป็นคนสำคัญ ทั้งหมดนี้ก็ล้วนไปนรกทั้งสิ้น
พระพุทธเจ้าตรัสถึงหลักตัดสินธรรมวินัย โดยภาพรวมคือเป็นไปเพื่อการคลายจากกิเลส ลดกิเลส ดับกิเลส การจากพราก มักน้อย กล้าจน ใจพอเพียง ยอดขยัน เลี้ยงง่าย ฯลฯ
คือ ใครจะธรรมะมาพูดก็ได้ อันนี้เราห้ามไม่ได้ แต่เราก็ดูได้ว่าที่เขาพูดเขาเสนอ ตัวเขาเป็นไปตามหลักเหล่านี้หรือไม่ เขาน้อมใจคนให้เป็นไปตามหลักเหล่านี้หรือไม่ ไม่ใช่พูดธรรม ยกข้อธรรมมาแสดง แล้วก็ทำตรงกันข้าม พูดธรรมะซะโก้หรู แต่เอามาหาเงิน หาบริวาร อันนี้มันก็ไม่ใช่
ไลฟ์โค้ชบางคนนี่ยิ่งทำไปยิ่งดังก็ยิ่งรวยเอา ๆ มันก็ห่างจากหลักพุทธไปเรื่อย ๆ แม้เขาจะเอาหลักพุทธไปพูดปน แต่ตัวตนเขาไม่ใช่ เขาก็แค่เอาธรรมะไปหากินเท่านั้นเอง
จริง ๆ มันก็เป็นตัวที่บอกอยู่แล้วว่าเขาไม่จริง เขาเป็นไลฟ์โค้ชที่แนะนำไปสู่ความจริงที่พ้นทุกข์ไม่ได้ เพราะแค่ตัวเขายังเอาตัวไม่รอดเลย หลงเข้าสู่กระแสโลกธรรมแล้วก็หมุนวนลอยไปกับแรงของกระแสคลื่นกิเลสเหล่านั้น
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ลาภสักการะที่พระเทวทัตมี จะเป็นตัวฆ่าพระเทวทัตเอง ไลฟ์โค้ชที่เห็นผิดก็เช่นกัน ยิ่งเด่น ยิ่งดัง ก็จะเป็นเหตุในการทำลายตัวเองได้เท่านั้น แล้วเราก็จะได้เห็นความจริงที่บิดเบี้ยวชัดเจนยื่งขึ้น