การปฏิบัติธรรม

การปฏิบัติธรรมต้องมีลำดับ

March 1, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,689 views 0

การปฏิบัติธรรมต้องมีลำดับ

การปฏิบัติธรรมต้องมีลำดับ

การปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนานั้นต้องมีลำดับขั้นตอน มีความเจริญในมรรคผลสืบต่อกันไปเรื่อยๆ ไม่ใช่การปฏิบัติเพื่อหวังบรรลุธรรมในทันที แบบไม่มีขั้นตอน ไม่มีลำดับ

เหมือนกับการจะได้ผลไม้สักหนึ่งลูก ต้องเริ่มจากการเตรียมดิน ถางวัชพืช ก็มีมรรคคือการถางวัชพืชและผลคือวัชพืชหายไป จนกระทั่งผสมดินเพื่อเตรียมปลูกก็จะมีมรรคผลเป็นลำดับ จนกระทั่งเพาะเมล็ด เลี้ยงดู ใส่ปุ๋ย รดน้ำ ก็จะมีมรรคผลเกิดขึ้นโดยลำดับ มีความเจริญโดยลำดับ มีความสำเร็จโดยลำดับ จนกระทั่งสุดท้ายได้ผลไม้นั้นมากินเป็นผลสูงสุดที่คาดหวังไว้ ก็เกิดขึ้นได้เพราะมีการปฏิบัติโดยลำดับ

หากเราต้องการแค่ผลไม้ จะใช้เงินซื้อมาหรือหาเก็บเอาก็ได้ แต่ผลทางโลกุตระนั้นไม่ได้หากันง่ายๆ ความเจริญทางจิตวิญญาณนั้นต้องทำเอาเอง ต้องมีการถากถางกิเลสหยาบๆ ออกไปก่อน ปฏิบัติจนกระทั่งเกิดผลเจริญงอกงามขึ้นในจิตใจตนเองเรื่อยๆ ปลดเปลื้องกิเลสในใจตนเองออกไปเรื่อยๆ โดยลำดับ

การปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนานั้นไม่ได้หมายความว่าทำซ้ำๆ ทำบ่อยๆ ทำอยู่เรื่องเดียวทั้งปีทั้งชาติจะบรรลุผล เหมือนกับการปลูกผลไม้ จะถางหญ้าอยู่อย่างเดียวทั้งปีทั้งชาติไม่ให้หญ้าขึ้นเลยนั้นก็ได้ผลเพียงแค่หญ้าไม่ขึ้น แต่ยังไม่ปลูกต้นไม้ จึงไม่มีวันได้ผลไม้ เช่นเดียวกับการปฏิบัติธรรมที่ผิด หลงเอาความสงบของจิตใจโดยการกดข่ม ฝืนทน กำหนดจิต เพ่งจิต รวมจิต ฯลฯ มาเป็นผล ก็คงจะได้ผลเพียงแค่วัชพืชไม่ขึ้น แต่จะให้ได้ผลไม้มากินก็คงไม่ใช่ เช่นเดียวกันกับการหวังให้ได้ความสงบในจิตใจชั่วครู่ก็คงหวังได้ แต่จะให้จิตนั้นหลุดพ้นจากกิเลสก็คงจะเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน

การปฏิบัติธรรมของพุทธนั้น จำเป็นต้องรู้จักเบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย รู้ว่าอะไรหยาบ อะไรละเอียด ปฏิบัติจากหยาบไปก่อนแล้วค่อยไปละเอียด กิเลสหยาบๆ เอาออกให้ได้ก่อน สิ่งที่เบียดเบียนมาก เป็นภัยมาก อาการทางร่างกาย ทางวาจา หยุดให้ได้ก่อนแล้วค่อยไปดับกิเลสในใจที่หลงผิด ไม่ใช่จะไปละเอียดได้โดยไม่ผ่านหยาบ ปฏิบัติลัดชั้นตอน ปฏิบัติไม่มีลำดับ ก็เรียกได้ว่าหลงทาง

– – – – – – – – – – – – – – –

1.3.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

โอวาทปาฏิโมกข์ : ไม่ทำบาปทั้งปวง มุ่งทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส

February 22, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,409 views 0

โอวาทปาฏิโมกข์

โอวาทปาฏิโมกข์ : ไม่ทำบาปทั้งปวง มุ่งทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส

เนื่องในโอกาสวันมาฆบูชา จึงขอหยิบยกหลักธรรม ๓ ข้อ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เมื่อสองพันหกร้อยกว่าปีก่อน เป็นหลักธรรมที่แสดงให้เห็นถึงหลักการปฏิบัติธรรมของศาสนาพุทธ จะนำมาขยายกันในบทความนี้

หลายคนอาจจะเคยได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับหลักธรรม ๓ ข้อนี้มาไม่มากก็น้อย ซึ่งในบทความนี้ก็จะขยายกันตามที่ได้ศึกษามา อาจจะแตกต่างหรือคล้ายคลึงกับที่ท่านได้ยินได้ฟังมาก็ได้ ซึ่งก็ขอให้ลองพิจารณากันดู

ไม่ทำบาปทั้งปวง

การไม่ทำบาปของพุทธ คือการไม่ทำบาปในทุกๆกรณี ไม่มีช่องว่างใดๆ ไว้ให้ทำบาปเลย ไม่มีชั่วและดีผสมกันในเนื้อแท้ของพุทธ บาปนั้นคืออะไร? บาปนั้นก็คือ “กิเลส” ซึ่งตรงข้ามกับ “บุญ” หรือการชำระกิเลส ถ้าบุญคือการทำให้กิเลสลดลง บาปนั้นก็คือการทำให้กิเลสเพิ่มขึ้น การสนองความอยากก็ตาม การสะสมความยึดมั่นถือมั่น หรือ โลภ โกรธ หลง ก็เป็นบาปทั้งนั้น ข้อนี้เป็นธรรมที่เป็นเป้าหมายที่ควรเข้าถึงเป้าหมายหนึ่ง ซึ่งไม่ได้หมายความจะทำได้ทันที เพราะในภาคปฏิบัตินั้นจะต้องศึกษาให้รู้จัก “โทษของบาป” และยับยั้งการทำสิ่งที่เป็นบาปเหล่านั้น ผู้ที่ไม่ทำบาป ไม่ทำสิ่งที่กิเลสบงการ หากว่าพอใจเพียงแค่ธรรมข้อนี้ ก็ถือว่าเป็นผู้เจริญในระดับหนึ่ง โดยภาพรวมก็จะเหมือนฤๅษีที่ไม่ทำบาป สงบนิ่ง สันโดษ พอเพียง ฯลฯ

มุ่งทำแต่ความดี

ศาสนาพุทธนั้นไม่เคยมองข้ามการทำความดี ท่านให้ตั้งมั่นอยู่ในความดี ไม่หยุดทำดี ไม่ประมาทในความดีแม้น้อย สิ่งใดที่เป็นสิ่งดี หรือพิจารณาแล้วว่าดีมากกว่าเสีย เป็นกุศลมากกว่าอกุศล ก็จะยินดีทำ ไม่นิ่งเฉย ไม่ดูดาย ไม่หลีกหนีหน้าที่ เอาภาระ ไม่หนีโลก ไม่หนีสังคม เพราะการเกื้อกูลสังคมและโลกนั้นคือสิ่งดีที่ควรทำ ผู้ที่ทำแต่ความดีนั้น หากว่าพอใจเพียงแค่ธรรมข้อนี้ ก็ถือว่าเป็นผู้เจริญในระดับหนึ่ง โดยภาพรวมก็จะเหมือนคนดีหลายๆ คนที่โลกนั้นยกย่อง พวกเขามุ่งทำดี อดทน เสียสละได้กระทั่งชีวิต ทำดีตามที่โลกสรรเสริญและความเข้าใจตามภูมิปัญญาของท่านนั้นๆ

ทำจิตใจให้ผ่องใส

หลักธรรมข้อนี้เป็นข้อที่พิเศษ จะตีความเชิงโลกียะก็ได้แบบหนึ่ง ตีความเชิงโลกุตระก็ได้อีกแบบหนึ่ง ซึ่งจะขยายในมุมของโลกียะให้ทำความเข้าใจกันก่อน

การทำจิตใจให้ผ่องใสตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไปนั้น คือการทำจิตใจให้สงบจากสภาวะที่ขุ่นมัวจากกิเลสที่เกิดขึ้น เช่นโกรธก็ไประงับโกรธ ด้วยวิธีใดๆ ก็ตามที่แต่ละคนได้ศึกษามา ก็จะสามารถเปลี่ยนจิตใจที่ขุ่นมัวเป็นจิตใจที่ผ่องใสได้ อันนี้เป็นความรู้ทั่วไป ปฏิบัติกันโดยทั่วไป เข้าใจกันโดยทั่วไป เป็นสามัญของโลก

ในส่วนของโลกุตระนั้นเป็นเนื้อแท้ของศาสนาพุทธ ไม่มีศาสนาใดเหมือน ตามที่ได้ยกมุมของโลกียะไว้ข้างต้นนั้น ไม่ว่าศาสนาใดก็สามารถทำให้ให้ใจสงบแล้วกลับมาผ่องใสเช่นนั้นได้ด้วยวิธีเชิงสมถะ ซึ่งการทำจิตใจให้ผ่องใสอย่างพุทธที่แท้จริงนั้น คือการล้วงลึกเข้าไปถึงเหตุที่ทำให้จิตนั้นไม่ผ่องใส เช่น ถ้าเกิดความโกรธ ก็จะรู้ไปถึงเหตุแห่งความโกรธนั้น ว่าไปหลงผิดคิดเห็นอย่างไรจึงทำให้ความโกรธนั้นเกิดขึ้น และดับเหตุนั้นรวมถึงสามารถที่จะดับความโกรธได้ด้วยเช่นกัน การดับเหตุนั้นคืออะไร คือการเข้าไปดับภพของกิเลสนั้นๆ ที่เกิดขึ้นในจิตใจด้วยปัญญารู้แจ้งโทษชั่วของกิเลสนั้นๆ จนภพ ๓ (กามภพ รูปภพ อรูปภพ) นั้นดับ จึงไม่ยึดมั่นถือมั่นและคลายตัณหาในที่สุด เพราะไม่ได้ยึดว่าสิ่งนั้นเป็นฉัน เป็นของฉัน เป็นสิ่งที่ฉันควรได้ จึงปรากฏเป็นสภาพจิตใจที่ผ่องใสจากกิเลส โดยไม่ต้องไปกำหนดเป็นครั้งคราวตอนที่จิตใจนั้นขุ่นมัวเหมือนวิธีโลกียะ ถ้าทำเรื่องใดได้ก็จะผ่องใสอย่างถาวรในเรื่องนั้น ไม่เวียนกลับมาขุ่นมัวอีก นี่คือวิธีการทำจิตใจให้ผ่องใสในเชิงโลกุตระซึ่งเป็นแก่นแท้ของพุทธเป็นความหมายที่แท้จริงของการทำจิตใจให้ผ่องใส

….เมื่อยึดเอาหลักธรรม ๓ ข้อนี้มาปฏิบัติ ชาวพุทธก็จะอดทนอดกลั้น ไม่ทำบาปได้ง่ายนัก จนถึงขั้นไม่ทำบาปเลย และหมั่นทำความดี มุ่งสร้างแต่กุศลกรรม ไม่ประมาทในกุศลกรรมแม้สิ่งนั้นจะดูน้อยนิด ถ้าหากว่ามีโอกาสทำได้ก็จะทำ ซึ่งจะใช้กุศลกรรมนี้นี่เองเป็นสิ่งที่มาหล่อเลี้ยงชีวิต สุดท้ายคือการทำจิตใจให้ผ่องใสจากกิเลส นอกจากจะไม่ทำบาปแล้ว ยังกำจัดบาปนั้นให้หมดสิ้นไปได้ด้วย เป็นผู้ที่แก้ไขปัญหาของจิตใจได้อย่างบริสุทธิ์สมบูรณ์ เปรียบดังภาชนะที่เป็นแตกรั่วเป็นรูเป็นช่องมียาพิษคือกิเลสไหลทะลักแสดงตัวตนออกมา นอกจากจะคอยอุดรอยรั่วแล้วยังสามารถนำยาพิษคือกิเลสนั้นออกได้อีกด้วย คือทำให้ไม่มีตัวตนของกิเลสในจิตใจ พอไม่มีกิเลส ไม่มียาพิษ ก็ไม่ต้องมาคอยอุด เพราะไม่มีอะไรที่มันจะรั่วหรือทะลักออกมา

การปฏิบัติธรรมนั้นจะต้องมีเบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย ควรรู้ฐานะของตัวเอง ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมจึงจะเจริญ หมายถึงเลือกปฏิบัติให้เหมาะสมกับกำลังของตัวเอง โดยใช้ศีลมาเป็นเครื่องขัดเกลาตน ตั้งแต่ ศีล ๕ , ๘, ๑๐, ไปจนถึงจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ปฏิบัติไปโดยลำดับ มีขั้นตอน มีความเจริญไปโดยลำดับ หยุดบาปได้โดยลำดับ ทำดีมากขึ้นได้โดยลำดับ และทำจิตใจให้ผ่องใสได้โดยลำดับ การปฏิบัติธรรมะของศาสนาพุทธย่อมมีลำดับเช่นนี้ ลาดลุ่มเหมือนฝั่งทะเล ไม่ชันเหมือนเหว ไม่ใช่เพื่อบรรลุธรรมในทันที แต่เป็นไปเพื่อให้ศึกษาจนรู้จักโทษชั่วของกิเลสอย่างแจ่มแจ้งโดยลำดับ( พระไตรปิฎก เล่ม ๒๓ ปหาราทสูตร ข้อ ๑๐๙)

– – – – – – – – – – – – – – –

21.2.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กิเลสสอนรัก ธรรมะสอนรู้

February 7, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 10,562 views 2

กิเลสสอนรัก ธรรมะสอนรู้

กิเลสสอนรัก ธรรมะสอนรู้

กิเลสสอนว่า …หาคู่ดีไม่ได้ อยู่เป็นโสดดีกว่า มีคู่ดีนั้นเป็นสุขที่สุดในชีวิต

ธรรมะสอนว่า … ผู้รู้ย่อมประพฤติตนเป็นโสด ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเรื่องคู่ย่อมเศร้าหมอง

– – – – – – – – – – – – – – –

กิเลสจะเอาแต่สร้างเงื่อนไขให้ไปเสพสุขโลกีย์ จะมีคู่ยังต้องมีให้มันสุขยิ่งกว่าสุขเดิม ต้องมีให้เสพมากขึ้น พาให้ต้องการอย่างไม่รู้จักพอ โดยมีภาพฝันแบบอุดมคติไว้ว่าถ้าได้เสพอย่างนั้นอย่างนี้ ฉันจะต้องสุขแน่นอน ความเห็นของกิเลสหรืออธรรมมักจะเป็นไปในแนวทางนี้ คือต้องแสวงหาตามที่หลงติดหลงยึดมาเสพจึงจะเป็นสุข

ส่วนธรรมะจะสร้างข้อปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลส ไม่ให้กิเลสได้เสพสมใจ ชะลอ ต่อต้าน ผลักไส ทำลาย ไล่บดขยี้กำลังของกิเลสที่มี การประพฤติตนเป็นโสดคือการทำลายเหตุแห่งการไปมีคู่เรื่อยๆ จนหมดสิ้น ตั้งแต่ภายนอกจนไปถึงภายใน ภายนอกเราก็ไม่ไปยั่วกิเลสใคร ไม่แต่งตัวแต่งหน้า ไม่ทำให้ตนดูโดดเด่นล่อตาล่อใจใครไม่สื่อสารเรื่องที่จะพาให้รักใคร่ชอบพอกันในเชิงชู้สาว ภายในเราก็ล้างความใคร่อยากเสพสุขลวงจากการมีคู่ออกจากจิตใจเสีย กำจัดกิเลสออกจากจิตวิญญาณ โดยใช้ธรรมะเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว

เรามีสิทธิ์เลือกที่จะฟังคำสอนจากทางใดก็ได้ ไม่ว่าจะฟังกิเลสก็ตาม จะฟังธรรมะก็ตาม แต่ความแตกต่างนั้นคือผลที่จะได้รับ กิเลสนั้นพาให้เกิดความทุกข์ ความชั่ว ความเบียดเบียน โทษภัยสารพัด ความฉิบหายวายวอดทั้งชีวิตและจิตใจ ส่วนธรรมะจะพาให้เกิดความสุข ความดี ความเกื้อกูล ความเจริญงอกงามทั้งชีวิตและจิตใจเช่นเดียวกัน เรามีอิสระที่จะเลือก และเลือกตามที่เราเห็นว่าเหมาะควร แต่สิ่งที่เราเลือก จะเป็นตัวกำหนดสิ่งที่เราจะได้รับเช่นกัน

กิเลสคือความหลงว่าสิ่งผิดเป็นสิ่งถูก หลงว่ารู้ทั้งๆที่ตนเองไม่รู้ ธรรมะคือความจริงที่จะสอนให้รู้ว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควรเพราะอะไรอย่างมีเหตุผล ผู้หลงมัวเมาย่อมจมอยู่กับการเสพสุขที่เต็มไปด้วยโทษภัยและการเบียดเบียน ส่วนผู้รู้ย่อมพาตนออกจากเหตุที่จะทำให้เป็นทุกข์เหล่านั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

29.1.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

แค่รู้ตัว ไม่พอ

December 22, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,684 views 0

แค่รู้ตัว ไม่พอ

แค่รู้ตัว ไม่พอ

การที่เราจะดับทุกข์ที่กำเริบขึ้นมานั้น การกำหนดรู้อาการที่เกิดขึ้น สร้างความรู้ตัวใดๆก็ตาม อาจจะสามารถกำราบทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นให้สงบลงได้ แต่หากจะหวังให้การกระทำเหล่านั้นเป็นการดับทุกข์โดยสิ้นเชิง แค่รู้ตัวนั้น…ยังไม่พอ

เราสามารถฝึกสมถะใช้กำลังของจิตสะกดความคิดฟุ้งซ่านได้ ไม่ว่าจะทุกข์หรือสุขก็กดข่มให้ดับลงไปได้ หรือตามดู ตามรู้จนมันดับลงไปได้ แต่ความดับเหล่านั้นไม่ใช่ลักษณะของการแก้ปัญหาตามหลักอริยสัจ ๔ ของพุทธ เป็นเพียงการดับจากสภาพเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปเป็นธรรมดาของจิต ซึ่งคนที่เขาไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมหรือกระทั่งคนไม่มีศาสนาก็สามารถทำได้

การรู้ตัวว่าจมไปกับจิตฟุ้งซ่านด้วยกิเลสแล้วสามารถละวางได้นั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่กระนั้นก็ยังเรียกว่าไม่ถึงที่สุดของการปฏิบัติ ยังเป็นเพียงแค่ขั้นตอนหนึ่งเท่านั้น ยังมีกระบวนการอีกมากที่จะพัฒนาจิตต่อไปจนถึงขั้นไม่จำเป็นต้องไปกำหนดรู้ใดๆอีก เพราะไม่มีกิเลสเกิดให้ต้องไปรู้แล้วละ คือมันไม่เกิดก็เลยไม่ต้องไปดับ นี่คือสภาพผลของการปฏิบัติในท้ายที่สุด

แค่รู้ตัวนั้น ยังไม่เรียกว่าเพียงพอในการพ้นทุกข์อย่างแท้จริง เพราะถ้าจะรู้ให้จริงต้องรู้ไปถึงเหตุแห่งทุกข์ว่าทำไมทุกข์นั้นจึงเกิดมา ทำไมเราจึงสร้างความคิดเช่นนั้น ทำไมร่างกายจึงมีอาการสั่น หายใจติดขัด ทำไมจิตจึงหมองมัว

การดับทุกข์ของพุทธนั้นดับสังขารไปโดยลำดับ ตั้งแต่วจีสังขาร กายสังขาร จนถึงดับจิตสังขาร ในที่นี้ไม่ใช่การตาย แต่เป็นการดับกิเลส คือในท้ายที่สุดจะไม่มีกิเลสในจิตเลย ซึ่งการกำหนดรู้ การดับความคิด การควบคุมความคิดนั้นเป็นเพียงแค่การพยายามจัดการกับวจีสังขาร คือไม่ให้ปรุงแต่งความคิดใดๆ (วจีสังขาร ไม่ใช่วจีกรรม)

เพราะถ้าเอาแต่รู้ตัว ดับความคิด แม้จะควบคุมความคิดได้ แต่กายสังขารยังไม่ดับ ร่างกายก็จะออกอาการประหลาดๆ เหงื่อไหล หายใจขัด หมดแรง ฯลฯ ตามแต่จะสังเคราะห์ได้ เพราะมีใจเป็นประธาน คือจิตยังสังเคราะห์กับกิเลสนั้นๆ อยู่เกิดสภาพจิตที่เป็นลักษณะของนิวรณ์ ๕ คือกามฉันทะ(พอใจในกาม) พยาบาท(ไม่พอใจ) ถีนมิธทะ(ซึม จม หดหู่) อุทธัจจะกุกกุจจะ(ฟุ้งซ่าน ลอย ไม่สงบ) วิจิกิจฉา(สงสัย ไม่ชัดเจน ไม่แจ่มแจ้ง) นั่นเอง

ซึ่งสภาพเหล่านี้ไม่ใช่ความคิดเลย แม้จะดับความคิด กดข่มความคิด รู้ตัวว่าคิด กำหนดรู้ว่าคิด ก็จะสลัดทุกข์ออกไปได้บางส่วน แต่จะไม่หมด เพราะเหตุแห่งทุกข์ยังอยู่ แม้มันจะหายและดับไปเองตามธรรมชาติ แต่มันก็ยังอยู่ ยังรอเวลาที่จะแสดงตัวอยู่เสมอเมื่อเกิดผัสสะ

ดังนั้นเมื่อกำหนดรู้ตัวได้แล้วว่าหลงไปกับกิเลส ก็ควรจะพิจารณาให้รู้ไปถึงรากเหง้าของกิเลส เหตุแห่งทุกข์นั้นๆด้วยว่า มันไปชอบไปชังในอะไร มันไปหลงเสพหลงสุขในอะไร มันไปยึดมั่นถือมั่นในอะไรจึงได้เกิดอาการซัดส่ายของจิตขึ้น เมื่อรู้กิเลสแล้วก็ใช่ว่าทุกอย่างจะจบหรือดับไป แค่จับตัวกิเลส หาเหตุแห่งทุกข์ได้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ที่ยังต้องทำสงครามกับกิเลสอีกหลายครั้งหลายคราจนกว่าจะตายกันไปข้างหนึ่ง

– – – – – – – – – – – – – – –

22.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)