การบำรุงศาสนาอย่างยั่งยืน

September 14, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 13,461 views 0

การบำรุงศาสนาอย่างยั่งยืน

การบำรุงศาสนาอย่างยั่งยืน

ศาสนานั้นเป็นที่พึ่งทางจิตใจของใครหลายคน คนที่นับถือศาสนาก็จะทำทำนุบำรุงศาสนานั้นๆด้วยการเผยแผ่ การสร้างวัดวาอาราม การสนับสนุนผู้ที่เขาเห็นว่าปฏิบัติดีซึ่งก็เป็นการสนับสนุนส่งเสริมศาสนาที่ดีทางหนึ่ง

ดังเช่นในศาสนาพุทธ พุทธศาสนิกชน ทั้งหลายมักจะพากันใช้เวลาช่วงหนึ่งเข้าวัด นั่งสมาธิ ถือศีล เดินจงกรม ฟังธรรม และมักบริจาคทานช่วยเหลือในส่วนต่างของศาสนา เช่น สร้างวัด สร้างพระ แม้จะไม่ได้ช่วยเป็นแรงเงิน ก็มักจะช่วยกันบอกต่อหรือไม่ก็ช่วยเป็นแรงกาย

จนบางครั้งวัดได้กลายเป็นที่ยึดเหนียวจิตใจของคนเหล่านั้นไปแล้ว ในบางคนถึงกับยึดมั่นถือมั่นเข้าใจว่าการบำรุงศาสนาที่ได้บุญมากคือการสร้างวิหารทาน ธรรมทาน อภัยทาน …

ความเข้าใจเรื่องบุญกับอานิสงส์…

ซึ่งตรงจุดนี้เราต้องแยกคำว่าบุญกับอานิสงส์กันเสียก่อน การทำทานนั้นจะมีผล ก็คือประโยชน์ หรือมีอานิสงส์มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับทานนั้นไปสู่ที่ใด การให้ทานกับคนมีศีลก็มีอานิสงส์มากกว่าให้ทานกับสัตว์ นั้นเพราะว่าคนมีศีลจะสามารถนำทานเหล่านั้นไปสร้างประโยชน์ได้มากกว่าสัตว์ การทำทานให้ผู้รับที่ต่างกันจนกระทั่งวิหารทาน ธรรมทาน อภัยทาน จึงมีอานิสงส์หรือประโยชน์ต่างกันจึงทำให้กุศลที่ได้รับนั้นต่างกันมากตามสิ่งที่ทำไปด้วย

ทีนี้มาถึงคำว่าบุญ บุญนั้นคือการสละออก หรือการสละกิเลสออกไป หลายครั้งที่เรามักจะได้เห็นคำว่า โกยบุญ ,บุญใหญ่ , บุญหล่นทับ ถ้าแปลกันแบบตรงไปตรงมาก็คงจะเป็น,โกยการสละออก? การสละออกครั้งใหญ่? การสละออกหล่นทับ? พิมพ์ไปก็เริ่มจะงงไป เพราะเราเองไม่เคยให้ความกระจ่างกับคำว่าบุญ , กุศล , อานิสงส์เลย

เราลองมาแปลคำว่า โกยบุญ บุญใหญ่ และบุญหล่นทับให้ตรงตามความหมายของการสละออก ,คำว่าโกยบุญ คือ รีบเก็บเกี่ยวโอกาสในการสละกิเลส เช่น มีคนตกทุกข์ได้ยาก มีญาติมิตรลำบาก ก็ไม่ดูดายรีบหาทางช่วย ,คำว่าบุญใหญ่นั้น คือโอกาสในการสละครั้งยิ่งใหญ่ เช่น สละทรัพย์ สละอวัยวะ สละชีวิต , ส่วนบุญหล่นทับ คือ โอกาสพิเศษในการสละออก เช่น มีคนจะมาขอคู่ครองคนรักของเราไปอยู่ด้วย เรายกให้เขาได้ไหม? ทั้งหมดนี่พยายามแปลงให้เข้าท่าที่สุดแล้วนะ

เมื่อเราไม่เข้าใจความหมายของคำว่า บุญ , กุศล , อานิสงส์ ก็จะทำให้เราหลง เมาบุญ ไม่รู้ว่าสิ่งใดคือเหตุสิ่งใดคือผล ไม่รู้ต้นไม่รู้ปลาย รู้แต่เขาบอกว่าทำแล้วดี ทำดีแต่มักไม่ถูกที่ถูกทาง ทำดีผิดไปจากที่ควร ทำดีแบบมิจฉาทิฏฐิ

ความเสื่อมของศาสนา…

ในประวัติศาสตร์ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ทุกอย่างจะเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา แม้แต่อินเดียที่ได้ชื่อว่าเป็นถิ่นกำเนิดของศาสนาพุทธ แต่ตอนนี้กลับสูญสลายหายไปจนเกือบหมด หลักฐานใดๆก็แทบจะไม่มีเหลือ วัดวาอารามที่เคยสร้างเมื่อสมัยต้นพุทธกาล กลับกลายเป็นแค่กองหินกองดิน คัมภีร์พระไตรปิฏกถูกเผาทำลาย สูญหาย หรือถูกบิดเบือนไป พระสงฆ์ถูกฆ่า เดรัจฉานวิชาเข้ามาแทนที่ เกิดการแบ่งกลุ่มแบ่งแยกพวก กำเนิดลัทธิต่างๆมากมาย จนแทบจะจับหลักไม่ได้ว่าทางไหนคือทางที่ถูกที่ควรต่อการปฏิบัติตาม

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต และจะเกิดขึ้นในอนาคตที่กำลังจะใกล้กลียุคเข้าไปทุกวัน เราทั้งหลายบำรุงพระพุทธศาสนา เพียงแค่รูปภายนอก คือ วัดวาอาราม โบสถ์สถูป เรียนท่องจำพระไตรปิฏก ถวายปัจจัยแก่สงฆ์ เหล่านี้คือการปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนที่เห็นได้โดยทั่วไป ทั้งหมดนี้ดี แต่ไม่ยั่งยืน ไม่เที่ยง แปรผันได้ตลอดเวลา

เช่น วัด โบสถ์ อาคาร พระพุทธรูป ที่เราร่วมบุญร่วมก่อสร้าง วันหนึ่งก็ต้องมาพังทลายเพราะแผ่นดินไหว แผ่นดินถล่ม มีคนขโมย หรือกระทั่งผลจากสงคราม เมื่อเราไปยึดมั่นถือมั่นในวัตถุเหล่านั้น ใจเราก็พลอยจะพังทลายไปด้วย

เช่น คำสั่งสอนบางประการที่ได้ยินมา ที่เขาอ้างว่ามันคือพระธรรม แต่ขัดกับการปฏิบัติจริง ไม่สามารถทำให้พ้นทุกข์ได้จริง พอเราไปยึดมั่นในคำสอนที่ผิดหรือถูกบิดเบือนเหล่านั้น ก็จะทำให้เรายิ่งหลง ยิ่งทุกข์ ยิ่งโง่ ยิ่งเกิดความเดือดร้อนในชีวิต

เช่น ผู้บวชเป็นพระบางรูป เราก็หลงไปทำบุญ ไปศรัทธา ไปกราบไหว้ ไปปฏิบัติตาม สุดท้ายก็กลายเป็นพระทุศีล โกหก หลอกลวง สร้างลัทธิ ใช้เดรัจฉานวิชา อลัชชี เป็นผู้ที่หากินในคราบของพระ ถ้าเรายังยึดมั่นถือมั่น เราก็จะต้องหลงโง่ตามไปต่อเรื่อยๆ แม้เราจะเคยเลื่อมใสศรัทธา แต่พอหมดศรัทธาก็อาจจะเป็นเหตุให้เราทุกข์ โกรธ อาฆาต เสื่อมศรัทธาต่อบุคคลที่บวชเป็นพระ

ทำบุญทำทานให้ถูกที่ มีอานิสงส์ดียิ่งนัก…

การทำบุญทำทาน นอกจากจะเป็นการทำเพื่อสละกิเลสออกจากใจแล้ว ยังต้องมีปัญญารู้ว่าผลหรืออานิสงส์นั้นจะเกิดสิ่งใดด้วย เพราะศรัทธาของพุทธนั้น คือศรัทธาที่เกิดจากปัญญา มิใช่ศรัทธาที่หลงงมงายดั่งเช่นศรัทธาในแบบพ่อมดหมอผีฤาษีหมอดู แต่เป็นเพราะเรารู้ว่าการศรัทธาในสิ่งนั้นจะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อเราและผู้อื่นอย่างแท้จริง

เช่น เราทำบุญสร้างโบสถ์ เราทำด้วยใจที่สละรายได้ สละอาหารมื้อพิเศษ สละของที่อยากได้ให้กับวัด แต่วัดนั้นขึ้นชื่อเรื่องเครื่องรางของขลัง การสร้างวัตถุฟุ่มเฟือย เป็นไปเพื่อความบันเทิงและชื่อเสียง ก็ให้เราช้าไว้ก่อน ลองดูว่าวัดไหนที่ยังขาดปัจจัยบ้าง เช่นบางวัดไม่มีศาลา ไม่มีโบสถ์ เราก็ควรจะส่งเสริมวัดนั้นๆประโยชน์หรืออานิสงส์ย่อมเกิดขึ้นเมื่อเราให้ผู้ที่ขาด มากกว่าให้ผู้ที่มีพร้อม

เช่น เราทำบุญช่วยเผยแพร่ธรรมะ แต่ธรรมะนั้น เป็นธรรมะที่ไม่พาพ้นทุกข์ พาให้สะสม พาให้หลงผิด พาให้เพิ่มกิเลส เพิ่มความโลภ โกรธ หลง เพิ่มอัตตา เราก็ช่วยเผยแพร่ด้วยใจเสียสละนะ แต่สิ่งที่เราช่วยเผยแพร่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ดังนั้นประโยชน์หรืออานิสงส์ย่อมไม่เกิด และอาจจะทำให้ผู้รับหลงงมงายเข้าไปอีกด้วย ซึ่งกรรมนั้นแหละจะกลับมาให้ท่านหลงผิด หลงทางในธรรมไปด้วย

เช่น เราทำบุญทำทานให้ผู้บวชเป็นพระ เรายินดีสละทรัพย์ สละโอกาสที่จะซื้อของที่ชอบให้พระรูปนั้น แต่พระรูปนั้นก็ไม่ได้นำปัจจัยของเราไปสร้างสิ่งดีงามอะไร ในขณะเดียวกัน พระอีกวัดกำลังสร้างโรงเรียนให้เด็กในชุมชน การทำทานให้พระรูปนั้นจะได้อานิสงส์มากกว่า เพราะท่านได้นำทรัพย์ที่เราสละไปสร้างประโยชน์ให้กับชุมชม เป็นกุศลหลายชั้น ชั้นแรกคือเราให้พระ ชั้นที่สองคือพระนำไปสร้างประโยชน์ ชั้นที่สามคือเด็กๆ ได้มีที่เรียน ชั้นที่สี่คือชุมชนพัฒนา ชั้นที่ห้า หก เจ็ด ฯลฯ… ดังจะเห็นได้ว่าการบริจาคทานแก่พระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ช่วยเหลือชุมชน ปลดทุกข์ให้ชาวบ้าน ทำกิจของตนเองคือการศึกษาธรรม ล้างกิเลสและกิจกรรมของผู้อื่น คือช่วยเหลือคนและชุมชน จะได้รับอานิสงส์มากกว่าการบริจาคให้พระที่ไม่ทำประโยชน์อะไรให้กับชุมชน

การทำบุญทำทานที่คิดแค่ว่า “ ทำๆไปเถอะ ขำๆ อย่าคิดมาก” ได้ยินได้ฟังแล้วอาจฟังดูดี ดูปล่อยวาง แต่ก็อาจจะเข้าใจแบบไม่มีปัญญาก็ได้ ชาวพุทธจึงควรทำบุญทำทานส่งเสริมคนดี วัดดี พระดี ให้คนดีเหล่านั้นได้มีกำลังทำดีต่อไป เพื่อให้เกิดสังคม สิ่งแวดล้อมที่ดี (คำว่าดีในที่นี้ คือดีในทางสวนกระแส ไม่ไปตามกิเลส ขัดกิเลส ล้างกิเลส)

การส่งเสริมศาสนาพุทธอย่างยั่งยืน….

ดังจะเห็นได้ว่า การทำบุญให้เกิดการสละอย่างแท้จริงนั้นยาก และการจะให้เกิดอานิสงส์มากนั้นก็ยาก แถมสิ่งเหล่านั้นก็ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลง เปลี่ยนสภาพ ถูกบิดเบือนได้ตลอดเวลา

อ่านมาถึงตรงนี้คงจะมีคำถามกันแล้วว่า แล้วเราจะส่งเสริมศาสนาอย่างไรจึงจะทำให้ศาสนาคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน …

ความเป็นพุทธนั้น ไม่ได้ถูกเก็บไว้ในวัตถุ ไม่ได้เก็บไว้ในวัด ไม่ได้เก็บไว้ในคัมภีร์พระไตรปิฏก ไม่ได้เก็บอยู่ในคนที่บวชเป็นพระ ความเป็นพุทธ หรืออริยทรัพย์ที่แท้จริงนั้นถูกเก็บไว้ในวิญญาณของแต่ละคน เป็นที่เก็บธรรมะที่ไม่มีวันจะเสื่อมสลาย ไม่มีวันพังทลาย ไม่มีวันถูกบิดเบือน

การส่งเสริมศาสนาพุทธอย่างยั่งยืนนั้น เราจึงควรสร้างความเป็นพุทธะ คือความรู้แจ้งเข้าใจในกิเลสนั้นๆ โดยผ่านการศึกษาธรรมะ และการปฏิบัติ จนเกิดสภาพการรู้เห็นความจริงตามความเป็นจริงในตน กลายเป็นอริยทรัพย์ติดไปข้ามภพข้ามชาติ ไม่ว่าจะไปเกิดที่ไหน ชาติไหน ภพไหน ก็จะมีสภาพนั้นติดตัวไปด้วย จะสามารถปลดเปลื้องกิเลสนั้นๆได้ง่าย เป็นการเก็บความเป็นพุทธไว้ในวิญญาณ ไว้ในกรรม เมื่อเรามีสร้างกรรมที่เข้าใจแจ่มแจ้งในเรื่องใดๆแล้ว ผลของกรรมก็คือเราไม่ต้องไปเสพ ไปยึดมั่นถือมั่น ไปทุกข์ เพราะเรื่องนั้นๆอีก ก็จะเกิดสภาพแบบนี้ไปทุกๆชาติ แม้ในชาตินี้ที่ยังไม่ตายก็ตาม

ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถพัฒนาจิตใจตัวเองให้เลิกกินเนื้อสัตว์หันมากินมังสวิรัติได้แล้ว วันพรุ่งนี้เราก็จะกินมังสวิรัติอย่างมีความสุข ไม่ว่าเดือนหน้า ไม่ว่าปีหน้าก็จะเป็นอย่างนี้ ดังนั้นชาติหน้าก็จะเป็นเช่นนี้เหมือนกัน เพราะเราสร้างกรรมดีแบบนี้ เราก็เลยมีสภาพรับกรรมดีแบบนี้ไปเรื่อย

พระพุทธเจ้าได้ตรัส เกี่ยวกับอริยทรัพย์ไว้ใน หัวข้อ อริยทรัพย์ ๗ คือทรัพย์แท้อันประเสริฐ ได้แก่ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา

ดังนั้นถ้าเราปฏิบัติและเก็บสะสม พัฒนาสภาวะต่างๆ คือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้น ก็ไม่ต้องกลัวเลยว่า เกิดชาติไหนชีวิตจะลำบาก เพราะปฏิบัติได้ในชีวิตนี้ ก็เกิดดีจนเห็นได้ในชีวิตนี้ แถมยังส่งให้ไปปฏิบัติต่อในชีวิตหน้า ดังที่จะเห็นได้ว่า คนเราเกิดมาดีเลว ร่ำรวยยากจน แข็งแรงมีโรค มีโอกาสไร้โอกาส ฯลฯ แตกต่างกัน เหล่านี้คือผลมาจากกรรมคือทรัพย์ที่เก็บสะสมมาแตกต่างกัน ดังจะเห็นได้จากตัวเราตอนนี้

เมื่อเข้าใจเรื่องกรรมได้ชัดแจ้ง ก็จะไม่สงสัยเลยว่าต้องทำอย่างไรจะบำรุงศาสนาพุทธได้อย่างยั่งยืน เพราะเป็นเรื่องที่ง่ายมาก ก็คือทำดีให้เกิดในตัวเรานี่แหละ ลด ละ เลิกการยึดมั่นถือมั่นในกิเลสของเราไปเรื่อยๆ เก็บสะสมอริยทรัพย์ไปเรื่อยๆ ล้างกิเลสไปเรื่อยๆ หยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใสไปเรื่อยๆ นี่แหละคือการรักษาศาสนาพุทธที่ดีที่สุด

– – – – – – – – – – – – – – –

14.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

 

Related Posts

  • ทำบุญหวังผล ทำบุญหวังผล ชาวไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังคงมีวิถีชีวิตที่สอดร้อยไปด้วยวิถีแห่งความดีงาม เมื่อมีเหตุการณ์อะไรไม่ว่าจะดีหรือร้าย ก็มักจะไปทำกุศลโดยการบริจาคทาน ตามวัดวาอาราม ทำงานจิตอาสา บริจาคเงินเผื่อแผ่แก่สังคม ฯลฯ […]
  • เข้าวัดทำบุญนิสัยแย่ เข้าวัดทำบุญนิสัยแย่ เรื่องนี้มักจะเป็นเรื่องที่ทำให้หลงเข้าใจผิด ทำให้พุทธศาสนิกชนที่ไม่ได้ศรัทธาอย่างจริงจังนึกสงสัยว่า การทำบุญและการเข้าวัดนั้นดีจริงหรือ ในเมื่อคนที่เข้าวัดทำบุญ ยังมีนิสัยที่โกรธ โลภ หลงมัวเมาอยู่เหมือนเดิม […]
  • เรากราบอะไร? เรากราบอะไร? อย่างที่รู้กันว่า คนไทยส่วนมากในประเทศไทยนั้น นับถือศาสนาพุทธ เราเป็นพุทธมาตั้งแต่เกิด เป็นพุทธตามทะเบียนบ้าน เรายึดถือและเข้าใจกันตามที่สังคมพากันปฏิบัติ โดยที่เราเองก็ไม่เคยได้ไปศึกษา “ศาสนาพุทธ” […]
  • ครูบาอาจารย์ที่ใช่ ตรงใจ ตรงจริต ตรงธรรม ครูบาอาจารย์ที่ใช่ ตรงใจ ตรงจริต ตรงธรรม การดำเนินชีวิตไปสู่ความผาสุกที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะในทางโลก หรือทางธรรมนั้น สิ่งที่จำเป็นประการหนึ่งก็คือผู้ชี้นำที่ดี... เพราะคนนั้นเรามีขอบเขตการเรียนรู้ที่จำกัด มีสติที่จำกัด […]
  • ตรวจสอบศีล ข้อ๑ เราเมตตามากพอหรือยัง ตรวจสอบศีล ข้อ๑ เราเมตตามากพอหรือยัง ถือศีลกันมาก็นานแล้ว เราเคยตรวจสอบกันบ้างไหมว่าจิตใจของเราเจริญขึ้นมาอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะศีลข้อ ๑ คือให้เว้นขาดจากการฆ่าทำร้ายทำลาย ทำชีวิตสัตว์ให้ตกร่วง ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่เบียดเบียนสัตว์ […]

ฝากความคิดเห็น : Leave a Reply