Tag: ไร้คุณค่า
ทุกข์เพราะสำคัญตนผิด
ทุกข์เพราะสำคัญตนผิด
สาเหตุหนึ่งของความทุกข์นั้นเกิดจากกิเลส เกิดจากความโลภ โกรธ หลง แล้วมันโลภอยากได้อะไร มันไปโกรธอะไร มันไปหลงในอะไร ในตอนนี้เราจะมาไขปัญหากันในมุมของ ” อัตตา คือความเห็นว่าเป็นฉัน ฉันเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ มีคุณค่าอย่างนั้นอย่างนี้ ฯลฯ ”
เมื่อเรามีความหลงว่าเราเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ ความหลงก็จะลวงให้เกิดความโลภ อยากได้ดีเกินความจริง เมื่อไม่ได้รับการสนองที่สมกับที่ตนเองหลง ก็จะเกิดความโกรธ ขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ และเรามาลองดูจากตัวอย่างเหล่านี้กัน
…ทุกข์ของคู่รักที่เลิกรากันไป เพราะเขานั้นเข้าใจว่าตนเองเป็นสิ่งสำคัญ เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม ไม่ควรถูกทิ้ง แต่พอถูกบอกเลิก ก็เหมือนถูกมองข้ามคุณค่าที่ตนเองเคยคิดไว้ เมื่อคุณค่าที่ตนเคยตั้งไว้สูงส่ง กลับถูกเมินเฉยและทิ้งไปโดยไม่ใยดีก็ย่อมจะเกิดความทุกข์
…ทุกข์ของคนที่ไม่ได้สิ่งที่หวังจากคนรัก เพราะเขาใจว่าตนสมควรได้รับสิ่งนั้น มีคุณค่ามากพอที่จะได้รับสิ่งนั้น แต่เมื่อไม่ได้รับสิ่งที่หวัง ก็จะทุกข์เพราะรู้สึกว่าได้รับการตอบสนองน้อยกว่าที่หวังไว้
…ทุกข์เพราะทำไม่ได้อย่างที่หวัง เพราะเข้าใจว่าตนเองทำได้ดีกว่านั้น มีความสามารถมากกว่านั้น เพราะหลงว่าตนเก่งมีความสามารถ พอมีเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่สามารถทำอะไรให้ประสบความสำเร็จดังใจหวัง ก็จะรู้สึกทุกข์เพราะลึกๆในใจนั้น เข้าใจว่าตนเองมีความสามารถมากกว่าผลงานที่ทำออกมา
…ทุกข์เพราะไม่เกิดดีดังใจ เพราะเข้าใจว่าทำดีแล้วต้องได้ผลดี เป็นการคาดหวังว่าจะเกิดสิ่งดีขึ้น แต่พอไม่เกิดสิ่งที่ดีก็อกหักอกพัง เพราะสำคัญผิดว่าจะต้องเกิดดีเสมอหากเราทำสิ่งที่ดี ซึ่งในความจริงนั้นการทำดีจะเกิดผลดีหรือไม่ดีก็ได้ ผลที่เกิดนั้นเป็นเรื่องอจินไตย จึงไม่ควรคิดหวังว่าจะเกิดผลดีหรือไม่ดีอย่างไร แต่การทำดีนั้นจะสร้างกุศลกรรมใหม่อย่างแน่นอน
ความทุกข์นั้นเกิดจากความรู้สึกว่าตนเองไร้คุณค่า ไม่ได้ดีดังใจหมาย ไม่ได้รับการยอมรับ ไม่มีคนมองเห็นคุณค่า ยิ่งสำคัญตนผิดเท่าไหร่ก็ยิ่งทุกข์มากเท่านั้นและตน หรืออัตตานี่เอง คือตัวการที่สร้างทุกข์ ซึ่งถ้าเทียบเป็นสมการเพื่อให้เข้าใจง่ายก็จะเป็น (ความจริงที่เกิด + อัตตา = ปริมาณทุกข์)
ถ้าเราไม่มีอัตตา ไม่มีความสำคัญตนว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มีค่าเท่านั้นเท่านี้ เมื่อเวลาวิบากบาปมาถึง เราก็จะทุกข์เท่าที่กรรมเก่าของเราจะส่งผลเท่านั้น แต่ถ้าเรามีอัตตาไปร่วมด้วย เราจะทุกข์มากขึ้นตามปริมาณอัตตาที่เรามีนั่นเอง
*ลักษณะดังที่ยกตัวอย่างมานั้นเป็นความต้องการให้คนอื่นมาสนองอัตตาเรา พอเราไม่ได้สมใจก็เป็นทุกข์ เมื่อเราเป็นคนขาดพร่องที่ต้องคอยให้คนอื่นมาเติมเต็ม เราจะต้องเป็นทุกข์อยู่เรื่อยไป ดังนั้นการแก้ปัญหาในจุดแรกเราก็ควรจะทำตัวเองให้เป็นคนที่เต็มคนเสียก่อน ไม่ต้องพึ่งพาสิ่งภายนอก ให้ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ให้อัตตาเต็มอัตตาโดยไม่ต้องให้คนอื่นมาเติม หลังจากนั้นค่อยทำลายอัตตาทั้งก้อนอีกทีหนึ่ง
– – – – – – – – – – – – – – –
7.9.2558