Tag: เสพกาม

ตึงจนเครียด?

May 22, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 553 views 0

ก็เห็นโพสที่เขาแสดงความเห็นกันแบบตึงจนเครียด ก็เลยมาตรวจตัวเองว่าทำให้ตัวเองเป็นทุกข์เช่นนั้นรึเปล่า

งานที่ผมทำ ที่คนอื่นจะพอเห็นได้ คือบทความ และส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องโสดและคนคู่ ซึ่งถ้าเลื่อนดู บางทีก็จะมีติดกันหลายวันหลายตอนจนบางคนอาจจะเข้าใจว่าผมจริงจังมาก

จริง ๆ ก็ไม่ใช่หรอก งานหลักของผมคือทำสวน งานรองทำงานสื่อจิตอาสา ถ้าเหลือเวลาว่างอีกคิดอะไรออกก็เอามาพิมพ์ เรียกว่าใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์นั่นแหละ

ส่วนที่พิมพ์ติด ๆ กันบ้าง เพราะมันเป็นประโยชน์ไง บางทีพิมพ์บทแรกไป ก็คิดบทสองได้ เอ้อ มันก็น่าจะเป็นประโยชน์นะ ก็พิมพ์ไปซะหน่อย คนเขาสนใจ เขาก็อ่าน ไม่สนใจเขาก็ผ่าน เฟสบุ๊คมันดีตรงนี้นี่แหละ คือคนเขามีอิสระในการอ่านหรือไม่อ่านก็ได้ เราก็ไม่ได้บังคับใครมาอ่านซะหน่อย

ส่วนตัวผมสบายมาก ทั้งใจทั้งกาย สบายใจเพราะได้แบ่งปันสิ่งดี สบายกายเพราะส่วนใหญ่จะใช้เวลาพักเหนื่อยจากงานมาพิมพ์หรือไม่ก็ตอนค่ำ ๆ ที่มีเวลาผ่อนคลายค่อนข้างเยอะ

ถ้าความตึงมันไม่ได้เกิดที่เรา แล้วมันจะเกิดกับคนอื่นได้ไหม? ก็ตอบว่าได้ ถ้าเขามีความชังมาก ๆ หรือเขาอินทรีย์พละอ่อน พระพุทธเจ้าเคยตรัสเกี่ยวกับพวกอินทรีย์พละอ่อนหรือพวกภูมิธรรมอ่อนแอว่า สอนอะไรก็ไม่ทำ สอนอะไรก็ว่ายาก สอนอะไรก็แย้ง ซึ่งก็แสดงถึงความเป็นธรรมดาในโลก เก่งสุดอย่างพระพุทธเจ้ายังมีคนหาว่าตึงเลย อันนี้มันก็เป็นเรื่องของโลกไป

เรื่องโสดนี่ผมก็ไม่ได้คาดหวังอะไรนอกจากแบ่งปันสิ่งดีนะ ใครเห็นประโยชน์เขาก็มาเอาเอง เพราะรู้ว่าจริง ๆ มันยาก มันยากกว่าฐานศีล ๕ อีก แค่ถือศีล ๕ ละอบายมุข หมั่นทำดี ก็ใช่ว่าจะมีกำลังที่จะพาตนเองเป็นโสดได้ เพราะการจะปฏิบัติตนเป็นโสด มันก็ต้องฝืนกิเลสมากกว่า แต่คนจะมาถือศีล ๕ ละอบายมุขได้เขาก็ดีมากแล้วแหละ ดีกว่าคนทั่วไป แต่เรื่องเป็นโสดนี้บางทีมันก็ไม่ใช่ฐานเขา

แต่ถึงมันจะยาก มันก็ยังเป็นดี ที่ควรประกาศไว้ เพราะทุกวันนี้ในสังคมส่วนใหญ่จะมีความรู้ตันอยู่แค่ มีคู่ดีอย่างไร ใช้ชีวิตคู่ปล่อยวางอย่างไร มันติดเพดานตรงนี้ ผมก็คิดว่าเราน่าจะขยายแนวคิดไปให้ครบจบถึงการพ้นทุกข์อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ไม่ใช่มาติดอยู่ที่เสพกามอย่างผาสุก อันนี้ไม่เจริญ

คนที่มีภูมิธรรม มีของเก่ามา หรือตั้งใจปฏิบัติเขาจะได้มีทางเดินต่อ ไม่ใช่ไปหลงอยู่กับการหาคู่ดีคู่ไม่ดี มันเสียเวลาชีวิตมาก แทนที่จะได้เอากำลังที่มีไปทำสิ่งที่มีประโยชน์กว่า ก็ต้องเสียเวลาเพราะไม่รู้ว่าอะไรมันดีกว่าการมีคู่ที่ดี

อย่าว่าอย่างงั้นอย่างงี้เลย ที่พิมพ์ไปเยอะ ๆ นั่น พิมพ์แบบไม่มีหวังเลย เพราะขนาดผมเจอคนที่เขาศรัทธามากเลยนะ เกื้อกูลมากด้วย คือมีทั้งศรัทธาและสร้างวิบากดีร่วมกัน ยังไม่รอดเลย

การจะมาหวังให้พิมพ์ ๆ กันแค่นี้แล้วอ่านจนโสดอย่างผาสุกได้นี่ก็เก่งเกินคนไปแล้ว เพราะที่ให้ไปก็มีแค่ความรู้กับสภาวะ แต่ถ้าไม่มีวิบากดี ที่ทำดีมามาก หรือเคยเกื้อกูลกันมา นี่มันจะไม่มาไม่ไปหรอก แต่อย่างน้อยก็จะไม่เสื่อมไปมากกว่าที่ตนเองเป็น

การตั้งจิตปฏิบัติตนเป็นโสด คือ อยู่คนเดียวให้ได้อย่างผาสุก การอยู่คนเดียว อยู่เป็นโสดนั่นแหละคือโจทย์ ว่าเราจะแส่หาความไม่โสดหรือเปล่า

คนโสดอยู่คนเดียวก็เป็นสุข อยู่กับเพื่อนก็เป็นสุข เพราะขนาดคู่ยังไม่เอา แล้วจะไปเอาอะไรกับเพื่อน ไม่ใช่ว่าไม่มีคู่แล้วไปติดเพื่อน ไปหวั่นไหวกับเพื่อนนะ ถ้าโสดได้จริงมันจะแกร่งขนาดไม่ติดเพื่อน แต่ก็จะอาศัยเพื่อนในการสร้างความเจริญ จะไม่มีหรอกทะเลาะกันหรืออาการง้องอน ซึ่งเป็นธาตุแห่งความเป็นคนคู่เช่นนั้น ก็เป็นเพื่อนแค่ร่วมงาน ปรึกษา ร่วมพัฒนากันไป แต่ไม่ได้ผูกกัน ไม่ได้ยึดกัน แค่อาศัยกันเท่านั้น

จะว่าไปคนอินทรีย์พละอ่อน นี่ถ้าเขาไปอ่านพระไตรปิฎก เขาจะรู้สึกตึงเครียดมากเลยนะ มีแต่ประโยคย่ำยีกิเลส มันจะอึดอัดในใจเพราะกิเลสไม่ชอบธรรมะ มันก็เป็นธรรมดาของมันแบบนี้แหละ

บทวิเคราะห์ : การกินไม่มีโทษจริงหรือ? การปฏิบัติธรรมให้เกิดความเจริญ สามารถละเว้นเรื่องอาหารการกินได้จริงหรือไม่?

October 14, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,457 views 0

การกินไม่มีโทษจริงหรือ?

บทวิเคราะห์ : การกินไม่มีโทษจริงหรือ? การปฏิบัติธรรมให้เกิดความเจริญ สามารถละเว้นเรื่องอาหารการกินได้จริงหรือไม่?

ความเห็นที่ว่าการไปยุ่งวุ่นวายกับการกินไม่ใช่เรื่องของนักปฏิบัติธรรมนั้น มักจะเป็นความเห็นที่มีการนำเสนอขึ้นมาในช่วงเทศกาลกินเจ แท้จริงแล้วศาสนาพุทธใส่ใจเรื่องการกินหรือไม่ หรือเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของผู้ที่เข้าใจว่าการกินไม่มีผล เรามาลองศึกษาบทวิเคราะห์กันดู

มีความคิดเห็นของนักปฏิบัติธรรมบางคนที่เห็นว่าการกินนั้นไม่มีผลต่อการปฏิบัติธรรมบ้าง เลือกกินไปก็ไม่ได้ทำให้จิตใจเจริญบ้าง สนใจเรื่องกินก็ไม่บรรลุธรรมบ้าง แต่ในความเป็นจริงนั้น กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะการขัดเกลาหนึ่งของผู้ที่บวชในพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้านี้ “ท่านให้ศึกษาการกินมื้อเดียว

เปิดเรื่องมาก็เกี่ยวกับเรื่องกินแล้ว การกินมื้อเดียวนั้นอยู่ในจุลศีล ข้อ ๙ เป็นหลักปฏิบัติมาตรฐานในศาสนาพุทธของนักบวชทุกรูปที่พระพุทธเจ้าบวชให้ ถือเป็นศีลต้นกำเนิดของพุทธที่มีมาตั้งแต่แรก เป็นข้อปฏิบัติสู่ความเจริญ ต่างจากพระวินัยที่ถูกบัญญัติขึ้นมาทีหลัง

ท่านยังกำชับไว้ด้วยว่า การกินนี่ต้องประมาณให้ดีนะ (โภชเนมัตตัญญุตา) จะไปสักแต่ว่ากินแล้วกิเลสโตไม่ได้นะ เพราะกินอย่างพุทธคือต้องกินแล้วกิเลสลด กามลด อัตตาก็ลด กามคุณ ๕ เราก็ไม่หลง ความยึดมั่นถือมั่นเราก็ไม่ต้องมี ต้องประมาณให้เกิดความเจริญขึ้นในตน ให้เกิดการชำระกิเลส ให้เกิดกุศล ไม่ใช่แค่กินให้ชีวิตอยู่ไปวันๆ แบบนั้นใครเขาก็ทำกัน เพราะคนจะอยู่ได้ก็ต้องกินอาหารกันทุกคนอยู่แล้ว แต่การจะกินให้เกิดความเจริญนี่มีเฉพาะในพุทธเท่านั้น

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับเหตุของการเกิดของตัณหา (ตัณหาสูตร) หนึ่งในนั้นคืออาหารที่ได้รับมา นั่นหมายความว่าการกินอาหารทุกวันนี่แหละ จะทำให้เกิดตัณหาได้ แล้วทีนี้คนที่เห็นว่าการกินไม่ใช่เรื่องของนักปฏิบัติธรรม ไม่มีผลต่อความเจริญ ประมาทในอาหาร สุดท้ายตัณหาก็แอบโตกันไปสิ เพราะไม่รู้เหตุของตัณหาว่าเกิดที่ใด พอไปยึดมั่นถือมั่นว่าฉันจะไม่ปฏิบัติเรื่องกิน ก็โดนกิเลสลากไปลงนรกหมด

พอตนเองไม่เท่าทันการเกิดของตัณหาในการกิน แล้วยังไม่ยินดีปฏิบัติธรรมในการกิน ก็เท่ากับเสียโอกาสในการล้างกิเลส เมื่อไม่ได้ตั้งศีลตั้งตบะเพื่อละเว้นอาหารที่จะก่อให้เกิดการกำเริบของตัณหา ถึงจะมีผัสสะแต่ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะ “เมื่อไม่ตั้งใจละเว้นก็ย่อมเท่ากับ เสพกามได้เท่าที่ใจต้องการโดยไม่มีขอบเขต” พอไม่มีขอบเขตก็เลยไม่มีการปฏิบัติใดๆ เกิดขึ้น จึงกลายเป็นการกินเพื่ออยู่ไปวันๆ โดยไม่รู้เท่าทันตัณหา ตัณหานั้นมีอยู่แต่การรู้การมีอยู่ของตัณหาต้องใช้การละเว้นจากสิ่งเหล่านั้นเพื่อที่จะได้เห็นตัณหา(ใช้อธิศีล) เมื่อไม่ยินดีละเว้นหรือปฏิบัติธรรมในเรื่องอาหารก็คือการปล่อยให้ตัณหาโตโดยไม่รู้ตัว

ซึ่งพระพุทธเจ้าให้ดับปัญหาที่เหตุ การปฏิบัติธรรมนั้นก็เพื่อดับทุกข์ ดับทุกข์ก็ต้องดับที่เหตุ ถ้าอาหารที่ได้มานั้นยังทำให้ตัณหาเกิดอยู่ก็ต้องปฏิบัติกันในเรื่องของอาหาร เพราะตัณหาที่เกิดจากอาหารก็ต้องมาจัดการที่อาหาร จะไปนั่งสมาธิ เดินจงกรมดับมันไม่ได้ ใจมันเกิดความหลงติดหลงยึดในอาหาร ไม่ใช่ว่าขี้เกียจนั่งขี้เกียจเดิน เหตุมันคนละตัวกัน ปัญหาเกิดที่ไหนต้องแก้ที่ตรงนั้น จึงเรียกได้ว่ารู้แจ้งสมุทัย รู้เหตุแห่งทุกข์

ท่านยังตรัสไว้ด้วยว่ากามนี่ให้ละก่อนเลย เพราะกามคือ ข้อปฏิบัติอย่างหยาบช้า (อาคาฬหปฏิปทา) คือ มันชั่วมาก หยาบมาก มีโทษมาก เบียดเบียนมาก ควรละเว้นให้ได้ก่อน คนที่หลงในกามจะมีความเห็นและคำกล่าวดังเช่นว่า “กามไม่มีโทษ” (๒๐,๕๙๖) ดังนั้นผู้ที่เห็นว่ากามไม่มีโทษย่อมตกลงไปในกาม จมสู่กาม มัวเมาในกาม ซึ่งกามในความหมายของพุทธศาสนานั้นกินความกว้างมาก โดยรวมคือการหลงเสพหลงสุข

จะยก “กาม” ที่เกี่ยวกับหัวข้อนี้คือ “กามคุณ ๕ ในอาหาร” เพื่อที่จะชี้ชัดกันว่า ผู้ที่ละเว้นการสำรวมในอาหารการกินนั้นจะมีความเห็นไปทางไหน

กามคุณ ๕ นั้นมีรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เช่นเดียวกับกับอาหารนั้นก็มีกามคุณ ๕ แบบครบเครื่อง เรียกว่าเป็นกิเลสที่สัมผัสกันได้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่รูปคืออาหารนั้นมีหน้าตาดีไหม น่ากินไหม เพียงแค่เห็นรูปสวยก็อยากกินสิ่งนั้นแล้ว, รสชาติ ของอาหารที่เขาว่าเด็ด ร้านไหนอร่อยต้องไปกิน ร้านไหนไม่อร่อยอยากจะขว้างทิ้ง , กลิ่นที่ยั่วยวนหอมหวาน พัดมาตั้งแต่ไหนทำให้เกิดความอยากกินเพียงแค่สูดกลิ่นเข้าไป, เสียง แค่ได้ยินเสียงผัด เสียงตะหลิวที่โดนกระทะ เสียงผัดดังซู่ซ่าก็ทำให้คิดถึงเมนูที่ชอบใจ เกิดอยากจะกินขึ้นมาทันที , สัมผัส ความกรอบ นุ่ม เย็น ร้อน ฯลฯ ทั้งหลายที่ชวนสัมผัส พากันจ่ายเงินซื้อมากินกันจนหนำใจ

เพียงแค่ยกตัวอย่างเรื่องกามหยาบๆเช่นนี้ ก็เห็นได้ชัดแล้วว่า อาหารนี่เป็นเหตุแห่งตัณหาอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้จริงๆ แล้วยังไงล่ะ? ทีนี้คนที่ปฏิบัติธรรมแล้วตีทิ้งอาหารการกิน มองว่าการกินไม่มีผล เห็นว่าปฏิบัติเรื่องการกินไปก็ไม่เจริญ จะเป็นอย่างไร ….เขาก็โดนกิเลสตลบหลังเข้าสักวันนั่นแหละ เพราะประมาทต่อกาม เพราะกามนั้นล่อลวง กามทำให้ลุ่มหลง ทำให้ประมาทตามประสาของกิเลส

อะไรที่มันน่าใคร่น่าเสพคนเขาก็ไม่อยากจะพรากหรอก ก็หาสารพัดข้ออ้างที่แสนจะดูดีเพื่อให้เสพมันทุกวันนั่นแหละ เพราะมีตัณหา ก็เลยมีอุปาทาน แล้วก็จึงมีภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ไม่จบไม่สิ้น

มันจะจบได้อย่างไรในเมื่อตัณหาไม่ได้ถูกจัดการ ปล่อยไว้เป็นขยะหมักหมม เอาไปแอบซ่อนอยู่ในมุมหนึ่งของจิตใจ แม้วันนี้จะไม่เห็นโทษของมัน แต่วันหนึ่งก็จะรู้ได้เองว่ากามนั้นมีโทษมาก กามเป็นภัยมาก พระพุทธเจ้าจึงตรัสแสดงธรรมให้ปฏิบัติโดยลำดับคือให้จัดการกับกามเสียก่อน แล้วค่อยล้างความยึดมั่นถือมั่น ไม่ใช่ไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วไปมัวเมาเสพกาม อันนั้นมันวิปริตผิดพุทธ

– – – – – – – – – – – – – – –

13.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ใกล้กลียุคจิตใจคนวิปริต…

October 11, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,331 views 0

ใกล้กลียุคจิตใจคนวิปริต...

ใกล้กลียุค จิตใจคน วิปริต

สิ่งใดถูก สิ่งใดผิด เลี่ยงศึกษา

มุ่งเสพกาม ยึดยั่วเย้า เมาอัตตา

เหมือนเป็นบ้า อวดมิจฉา ทิฏฐิตน

 

เห็นกงจักร เป็นดอกบัว นั่นหลงผิด

เห็นเบียดเบียน นั้นเป็นมิตร กับมรรคผล

อวดอ้างเกียรติ์ หยิ่งศักดิ์ศรี ทะนงตน

ยังเวียนวน อยู่ในโลก และอัตตา

– – – – – – – – – – – – – – –

บทขยาย

วันเวลาได้ผ่านจากยุคที่เต็มไปด้วยผู้คนที่มีความเจริญทางจิตใจสูงสุด ก้าวไปสู่ความเสื่อมอย่างที่สุดจนประมาณไม่ได้ ที่เรียกกันว่า “กลียุค” ซึ่งตอนนี้ก็เดินทางมาเพียงแค่กึ่งหนึ่ง กลับเห็นได้ว่าจิตใจของคนนั้นต่ำลงอย่างน่าใจหาย

ในยุคที่ผู้คนไม่สามารถแยกแยะถูกผิดดีชั่วได้ มีแต่เรื่องผลประโยชน์ ตามจิตใจที่โลภ โกรธ หลงทั้งหลาย ปล่อยให้มีการฆ่าสัตว์ได้โดยไม่มีความละอาย โกงบ้านโกงเมืองจนฉิบหาย มีชู้มีกิ๊กยั่วกามกันให้วุ่นวาย โกหกปกปิดซับซ้อนไร้ความจริงใจ เพราะลุ่มหลงมัวเมาในกิเลส และไม่เคยคิดจะศึกษาว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร สนใจเพียงแต่ฉันจะได้เสพอะไร ฉันจะได้ครอบครองอะไร ฉันจะได้เป็นอะไร ฯลฯ

คนส่วนใหญ่นั้นลุ่มหลงอยู่กับกาม อยากได้อยากเสพ ให้ชัดกันก็เรื่องกิน เป็นเรื่องที่แสดงว่าสังคมเสื่อมไปสู่กาม แต่ก็ไม่เคยมีใครตระหนัก ยกตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้ร้านอาหารเกิดขึ้นมากมาย เมนูต่างๆล้วนถูกสร้างขึ้นมาเพื่อมอมเมาคนผู้หลงในกาม ต้องอร่อย ต้องดูดี ต้องแปลกใหม่ ฯลฯ คนก็แห่กันไปเสพกามด้วยความเมา ตนเองเมายังไม่พอยังมาอวดชาวบ้าน เอามายั่วชาวบ้าน “นี่ฉันได้เสพกาม, ฉันสุขในกาม, พวกเธอจงมาเสพกามอย่างฉัน” เพราะมีความยึดว่ากามนั้นคือสุขของฉัน เป็นตัวฉัน ฉันต้องเสพกาม ฉันคือกาม เป็นตัวตนของกันและกันในที่สุด

แล้วก็หลงไปว่าการหลงในรสเสพรสสุขเหล่านั้นไม่เป็นไร ไม่ขัดขวางความเจริญ เราสามารถเสพกามไปได้ พร้อมๆกับปฏิบัติธรรมให้พ้นทุกข์ไปได้ อวดมิจฉาทิฏฐิให้เห็นกันชัดๆแบบไร้ยางอาย คือความเสื่อมของผู้ที่เห็นผิดเป็นถูก แล้วยกทิฏฐิตนเป็นใหญ่

เป็นสภาพที่เห็นผิดเป็นถูกโดยสิ้นเชิง มืดบอดอย่างไร้แสงใดๆจะเข้ามาทำให้ปัญญานั้นสว่างขึ้นมาได้ เพราะเห็นกงจักรเป็นดอกบัวไปแล้ว ก็หลงยึดเอาว่ากงจักรนั้นคือความเจริญ แท้ที่จริงแล้วมันเป็นความเสื่อม ยิ่งขยันยิ่งเสื่อม ยิ่งเผยแพร่ก็ยิ่งเลวร้าย และที่ร้ายที่สุดคือเห็นว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นถูกต้องที่สุดในโลก เป็นเหมือนกับความเพี้ยนที่ซ้อนอยู่ในความเป็นพุทธ และแนบแน่นแนบเนียน จนคนจับไม่ได้ เป็นยิ่งกว่ามายากล ยิ่งกว่าภาพลวงตา เพราะมันคือมิจฉาทิฏฐิลวงใจ ก็เลยล่อลวงคนผู้ตาบอดให้หลงตามไปได้มากมาย

เมื่อถูกกิเลสครอบงำเข้ามากๆ จะไม่สามารถแยกดีแยกชั่วได้ จะมองเห็นว่าแม้ตนจะไม่เลิกเบียดเบียน ก็ยังสามารถเกิดปัญญารู้แจ้งบรรลุธรรมได้ นั่นคือสภาพที่เลี้ยงกิเลสไปด้วยแล้วปฏิบัติมิจฉามรรคไปด้วย คือหลงไปเข้าใจว่าการเบียดเบียนกับการรู้แจ้งในศาสนาพุทธนั้นไม่มีความเกี่ยวเนื่อง ไม่มีนัยสำคัญต่อกัน ทั้งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า พระอริยะหรือสาวกแท้ๆ ของท่านนั้น คือผู้ไม่เบียดเบียน

การเบียดเบียนนั้นมีหลายมิติ ทั้งแต่หยาบๆ เช่นมัวเมาในอบายมุข, ผิดศีล ๕ และละเอียดไปจนผิดในอธิศีลอื่นๆตามลำดับ ยกตัวอย่างการเบียดเบียนหยาบๆเช่นการกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา เพราะไปมีความเกี่ยวเนื่องกับการฆ่า ถ้าจะให้ไม่เกี่ยวคือไม่ต้องเอามายุ่งเกี่ยวกับชีวิตเลย ถ้ากินอยู่ก็เกี่ยว เอาตัวไปร่วม เอากรรมไปร่วม ยังเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ และนั่นหมายถึงเบียดเบียนตนเองด้วยเช่นกัน หรือยกอีกตัวอย่างคือการกินเหล้าสูบบุหรี่ มันเป็นของไม่มีประโยชน์ ไม่จำเป็นต้องเอามาใส่ร่างกายให้มันเบียดเบียนตนเอง เสียสุขภาพ เสียเงิน เสียเวลา หาประโยชน์ไม่ได้ คนที่มีปัญญารู้ประโยชน์ในการหยุดเบียดเบียนตนเองก็มีทิศทางที่จะลด ละ เลิก ส่วนคนที่หลงในกิเลสก็จะมีข้ออ้างที่แสนจะสวยหรูเพื่อไม่ให้ตัวเองได้เลิก นี่เป็นเพียงการเบียดเบียนหยาบๆเท่านั้น

เมื่อโดนกิเลสหลอกเข้ามากๆ จนเสพติด ยึดติดเข้ามากๆ เมื่อมีคนมาทักว่าทำไมถึงไม่เลิก ทำไมยังเบียดเบียนตนและผู้อื่นอยู่ ทั้งที่มีเหตุปัจจัยให้เลิกได้โดยไม่เกิดผลเสีย ก็มักจะมีอาการตอบสนองที่รุนแรง มีการโต้กลับ เพราะยึดในเกียรติ์ ศักดิ์ศรี เพราะตนนั้นมีอัตตามาก ผู้ที่บรรลุธรรมจะมีภาวะของอุเบกขาเป็นพื้นฐาน ซึ่งมีลักษณะอยู่ข้อหนึ่ง คือ “มุทุ” หมายถึงหัวอ่อนดัดง่าย มีความแววไวในการปรับเปลี่ยนไปทางกุศล จะไม่ต้านทานสิ่งที่เป็นกุศล แต่จะน้อมไปทางกุศล ในทางที่ไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น แม้สิ่งที่ได้ยินได้ฟังนั้นจะขัดกับสิ่งที่ตนเคยเข้าใจก็ตาม

เมื่อมีอัตตาจึงแข็ง ไม่มีอัตตาก็ไม่แข็ง โอนอ่อนพลิ้วไหวไปในทิศทางแห่งกุศล แต่ถ้ามีอัตตามากๆ จะไม่พลิ้วไหว จะยึด จะปักมั่น ทุกอย่างต้องปรับเปลี่ยนเข้ามาหาตัวฉัน โลกต้องหมุนรอบตัวฉัน ฉันถูกคนอื่นผิด ฉันเก่ง ฉันเยี่ยม ฉันดี ฉันเลิศ ทำให้ได้อย่างฉันหรือยัง ทำให้ได้อย่างฉันเสียก่อนแล้วค่อยมาติ ให้รู้บ้างว่าใครเป็นใคร … เป็นต้น

สรุปแล้วคนที่มีอัตตามากๆ แล้วยังหลงผิด คิดว่าจะมีมรรคผลได้โดยที่ไม่ลดการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าให้สร้างประโยชน์ตนและผู้อื่นให้ถึงพร้อม พวกเขาจึงยังคงหลงอยู่ในความเป็นโลก อยู่ในความเวียนวนของโลก เหมือนปลาตายที่ลอยไปตามน้ำ แล้วแต่ชะตากรรมจะซัดพาไป ไม่มีแรงขัดขืนโลก โดยมีอัตตาเป็นตัวปิดประตูตอกฝาโลงฝังตัวเองให้ยึดติดอยู่ในความเห็นที่ตัวเองเข้าใจเช่นนั้น ไปชั่วกาลนาน

– – – – – – – – – – – – – – –

8.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)