Tag: เมตตา

เมตตาที่เกินความต้องการ พาลเลยเถิด

February 25, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 776 views 0

เวลาที่เราหลงรักหรือหลงห่วงใครมาก ๆ นี่มันมักจะมีอาการเกิน ๆ ขึ้นมาเสมอ ประโยคที่ว่า พาลจะเลยเถิด เป็นประโยคที่คนไทยน่าจะคุ้นหูกันดี ซึ่งถ้านำเอามาแยกเป็นคำ ๆ ก็จะมีคำว่า พาล + เลยเถิด (เกินความพอดี เกินสมควร) ก็สามารถเอามาสังวรใจตนได้ว่า ถ้าเราเริ่มพาล เราจะเริ่มเลยเถิดนะ

คือเวลาเราเมตตาไม่ประมาณเนี่ย มันจะออกอาการล้น ๆ เกิน ๆ เฟ้อ ๆ ฟุ่มเฟือย เสียเวลา ไม่เป็นประโยชน์ น่าเบื่อ น่าชัง ไม่น่ารับฟัง คนฟังเอือมระอา ฯลฯ

ความล้นมันจะออกมาตอนเราหวังดีเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั่นแหละ มันขึ้นต้นด้วยเมตตา แต่แรงผลักมันคืออัตตา มันก็เลยเหมือนรถไฟที่ไม่ติดเบรก พอถึงทางตันก็ชนยับเลย มีกี่ตู้ก็อัดเละไปตามนั้น

ก็เหมือนเมตตาที่ล้นเพราะอัตตานี่แหละ เห็นด้านหน้ามันจะเป็นเมตตาคือหวังดี แต่แฝงด้วยอัตตากองพะเนิน มันก็จะล้น แรง หนัก ฯลฯ

ความเมตตาที่เขาไม่ยินดีรับ ไม่ยินดีฟัง ก็เป็นความเพ้อเจ้อ ผิดศีลอยู่ดี เพราะเราอยากให้เกิดดี มากกว่าที่ดีมันควรจะเกิด มันติดกำแพงแล้ว เราก็ยังจะดัน จะชนเข้าไปอีก หมายจะทะลายกำแพงใจ เปิดใจอีกฝ่าย

โดยหารู้ไม่ว่า ถ้าเขาไม่เปิด ดันยังไงเขาก็ไม่เปิด ดันให้ตาย ดันให้พังเขาก็ไม่เปิดใจ การที่เขาจะศรัทธาหรือยอมให้เราช่วย มันเป็นเรื่องของเขา เป็นงานของเขา เป็นโอกาสที่เขาจะสร้างขึ้นมาเอง

เราจะเมตตาเขาได้สูงสุดก็แค่เท่าที่เขายินดีให้เราทำเท่านั้น บางทีแค่ยิ้มให้ยังผิดเลย เราก็ต้องรู้จักประมาณตนเอง ประมาณผู้อื่น อย่าพยายามล้นหรือเยอะเกิน เพราะมันไม่เป็นประโยชน์ นอกจากจะไม่พากันพ้นทุกข์แล้ว ยังพาให้เสื่อมศรัทธาแก่กันอีก

ถ้าเขาไม่ต้องการแล้วเราไปยัดเยียด แอบสอด แอบแทรก แอบสอน นั่นแหละมันเริ่มพาลแล้ว แล้วมันจะเลยเถิดไปเรื่อย ๆ ตามกำลังของตัณหา ความอวดดี อวดเก่ง ว่าจะช่วยเขาได้ เอาอีกนิดนะ เติมอีกหน่อยนะ ก็หวังกันไป ทำกันไป เขาไม่ได้ขอ ทำเกินหน้าที่ มันก็ล้น เยอะ เกิน ทำไปก็เสพผลที่ตัวเองทำอีก เน่ากันไปใหญ่เลยทีนี้

ดังนั้นจะเมตตาใครก็ตั้งจิตให้เหมาะ ๆ กับที่เขาให้โอกาสเราหน่อย อย่าไปทำเกินหน้าที่ มันจะบาดเจ็บในใจกันเปล่า ๆ อย่างน้อยที่สุดก็เจ็บใจตนเองล่ะนะ

รักแท้ ข้ามกาลเวลา : การส่งผ่านความหวังดีและเกื้อกูลกันข้ามภพข้ามชาติ

February 16, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,359 views 0

รักแท้ ข้ามกาลเวลา

รักแท้ ข้ามกาลเวลา: การส่งผ่านความหวังดีและเกื้อกูลกันข้ามภพข้ามชาติ

ในโลกใบนี้มีหลากหลายนิยามที่ใครๆ ต่างก็ให้ไว้เพื่ออธิบายความรัก และในบทความนี้จะมาอธิบายนิยามของคำว่า “รักแท้” อีกมุมหนึ่ง ที่เรียกได้ว่าเป็นความรักทำความเข้าใจได้ยากที่สุดในโลก

ความรักทั่วไปนั้นจะต้องเสพเพื่อให้เกิดความสุข เป็นรักตามวิถีของ “โลกียะ” (ผู้หมุนวนไปตามโลก) เรียกว่าความรักได้เหมือนกัน แต่ก็ยังเป็นรักที่เบียดเบียน ไม่มั่นคง เปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลา ไม่เที่ยงแท้ หรือเรียกได้ว่าเป็น “รักไม่แท้” แต่ความรักที่จะกล่าวถึงกันในบทความนี้ มั่นคง ยั่งยืน ยาวนาน ข้ามกาลเวลา ข้ามภพข้ามชาติ เราจะมาศึกษา “รักแท้” เช่นนี้กัน

ความรักแท้ในที่นี้หมายเพียงแค่รักในรูปแบบของ “โลกุตระ” (ผู้อยู่เหนือโลก) ที่อบอุ่น สว่าง เบิกบาน เหมือนกับแสงของดวงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลก แม้ว่าจะเป็นกลางคืนดวงอาทิตย์ก็ยังส่องแสงอยู่ ถึงเราจะมองไม่เห็นมันก็ตามที แต่มันก็จะกลับมาในตอนเช้าของอีกวัน ทำหน้าที่อย่างซื่อตรงและมั่นคง ซึ่งจะต่างกันกับรักแบบ “โลกียะ” ที่ร้อนแรง เผาทำลาย เหมือนกับกองไฟที่ต้องคอยเติมเชื้อเพลิงอยู่ตลอดเวลาจึงจะสร้างความอบอุ่นและแสงสว่างได้ ถ้าห่างไปก็ไม่ได้รับไออุ่น ถ้าใกล้ไปก็จะร้อนจนทรมาน และไฟเช่นนี้อาจจะทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายได้ ซ้ำร้ายไฟนี้ยังสามารถเผาไหม้ลุกลามไปได้ เป็นอันตรายต่อตนเองผู้อื่น ไฟที่ว่านี้เปรียบได้กับไฟราคะเราจะมาขยายรักโลกียะและรักโลกุตระกันให้ชัดขึ้น

รักโลกียะ จองเวรกันข้ามภพข้ามชาติ

รักโลกียะ นั้นจะรักกันเพื่อบำเรอกัน ส่งเสริมและสนองกิเลสกัน เป็นไปเพื่อเพิ่มความโลภ โกรธ หลง เบียดเบียนกันและกันด้วยความอยากและความยึดเพราะ “ให้คุณค่ากับความสุข” และมักจะเสพติดความสุขนั้น จนกระทั่งเกิดความไม่ได้ดั่งใจ ไม่พอใจ ไม่สาสมใจ โกรธเกลียดอาฆาตกันในที่สุด ทำให้เกิดการจองเวรกันข้ามภพข้ามชาติ เป็นไปเพื่อความทุกข์ชั่วกาลนาน

รักโลกุตระเกื้อกูลกันข้ามภพข้ามชาติ

รักโลกุตระ นั้นจะเป็นเพียงความเมตตา อดทน รอคอย ให้อภัย มีแต่ความเกื้อกูลกันโดยไม่เบียดเบียนกัน “ให้คุณค่ากับการพ้นทุกข์” จึงพากันลดกิเลส คือลดความโลภ โกรธ หลงอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง มีระยะความสัมพันธ์ที่เท่าเดิมคือเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ไม่ผลักไส ไม่ดูดดึง ไม่ใช่เพื่อให้เขามาเห็นค่าหรือคุณงามความดีหรือความซื่อสัตย์ของเรา แต่เป็นไปเพื่อให้เขาเห็นคุณค่าและความดีงามของธรรมะที่เราได้ปฏิบัติ

ความรักที่จะยาวนานข้ามผ่านกาลเวลา นั้นจะต้องตั้งอยู่บนความเมตตา เกื้อกูล หวังประโยชน์แก่ผู้อื่น โดยสามารถอดทน รอคอย ให้อภัยได้

ความรักที่แท้นั้นไม่หยาบและฉาบฉวยเหมือนความรักเชิงชู้สาว ไม่คับแคบเหมือนรักในครอบครัว ไม่หลงอยู่แค่ในชุมชน สังคม เชื้อชาติ ประเทศ หรือว่าเผ่าพันธุ์ของตน แต่เป็นรักที่กระจายออกไปให้ทุกๆ สรรพสิ่งบนโลกโดยไม่มีอคติลำเอียง และที่สำคัญ รักนั้นยังยาวนานจนเลยขอบเขตของกาลเวลาที่เรารู้จักกันไป ข้ามภพข้ามชาติ ทั้งในภพชาติที่เข้าใจกันโดยสามัญว่าเป็นการเกิดอีกครั้งของชีวิต และโดยธรรม คือการข้ามภพของกิเลสทั้งหลายและข้ามชาติคือไม่มีการเกิดของกิเลสนั้นอีก สรุปรวมลงตรงที่ว่า “ผู้ที่มีรักแท้นั้นเป็นผู้ทำลายกิเลสของตนจนสิ้นซากและทำหน้าที่ช่วยผู้อื่นไปเรื่อยๆ ตราบปรินิพพาน

บทความนี้อาจจะเป็นเรื่องยากที่จะอธิบายและยากที่จะทำความเข้าใจ แต่ก็จำเป็นต้องขยายกันไว้เพื่อให้ศึกษา ความรักเช่นนี้ โลกจะไม่ยอมรับ ไม่เอา ไม่สนใจ เพราะไม่ได้เสพ ไม่ได้ครอบครอง มองว่ามันเป็นเพียงอุดมคติ ไม่ได้มีอยู่จริง เข้าใจว่าความสุขที่มากกว่าเสพนั้นไม่มีอยู่จริง ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงแค่ตรรกะที่สวยหรูเท่านั้น

แต่ความจริง “รักแท้” เช่นนี้มีอยู่จริง และมีมานานแล้วในโลกนี้ยกตัวอย่างที่สุดของผู้มีรักแท้ข้ามกาลเวลาของคือพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่เป็นผู้เมตตาเหนือใครในโลก อดทนศึกษาจนรู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง รอคอยและให้โอกาสทุกคนตามกรรมที่เขาควรจะเป็น ให้อภัยได้แม้แต่ผู้ที่คิดจะปลงชีวิตท่าน กล่าวกันเพียงแค่นี้ก็คงจะไม่พอสาธยายถึงรักแท้ที่ท่านได้มอบไว้ให้กับโลก…

เราจะมาขยายความหมายของการเมตตา อดทน รอคอย ให้อภัยกันให้ละเอียดขึ้นดังนี้

ความเมตตา เกื้อกูลและหวังให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่น หมายถึงการคิด พูด ทำ แต่สิ่งดีให้กันและกัน สิ่งชั่วไม่พากันทำ ไม่ส่งเสริมให้ทำชั่ว ทั้งยังขัดเกลากันให้ไปสู่ความดี ความเจริญ และความผาสุกยิ่งๆ ขึ้นไปด้วย

การอดทน หมายถึง การทนต่อสิ่งที่กระทบเข้ามาทางภายนอก ไม่ว่าจะคำหวาน หรือคำกล่าวหา เขามาพูดชมเชย จีบ ยั่วเย้า หรือคำติเตียน คำด่า นินทา เย้ยหยัน เราก็จะต้องอดทนไม่หลงไปตามสิ่งเร้าเหล่านั้น ไม่หลงไปรักหรือชังตามที่โลกได้เชื้อเชิญให้เราหมุนวนตามไปอย่างนั้น

และการเสียสละอดทนทำหน้าที่แสดงให้เขาเห็นว่าความรักที่มากกว่าการได้เสพได้ครอบครองกันนั้นยังมีอยู่ ให้เขาได้เห็นถึงความสุขที่มากกว่าการเสพ อดทนทำไปแม้ว่าจะเป็นงานที่หนักหนา ต้องใช้เวลาและความอุตสาหะในการขยาย อธิบาย แสดงให้เห็น ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ฯลฯ

การรอคอยหมายถึง สามารถรอให้เขาได้เรียนรู้จักความรักที่แท้จริงได้โดยไม่เร่งรัดหวังผลหรือไปบีบบังคับให้เขาเรียนรู้และทำความเข้าใจ แต่ให้อิสระเขาในการเข้าถึงความรักนี้ จะต้องการขนาดเรียนรู้ขนาดไหน หรือจะเป็นเมื่อไหร่ก็ได้ จะพรุ่งนี้ เดือนหน้า ปีหน้า หรือชาติหน้าก็ได้ สนใจเมื่อไหร่ก็มาศึกษาเมื่อนั้น เพราะความรักแท้นั้น ไม่มีวันเน่าบูด ไม่มีวันเสื่อมสลาย และเป็นสิ่งดี เป็นคุณค่าสูงสุดที่ควรมอบให้แก่กัน จึงรอคอยที่จะมอบให้ได้โดยไม่มีเวลามาเป็นข้อจำกัด ดังนั้นความรักและความหวังดีนี้จึงข้ามกาลเวลาได้

การรอคอยนี้ไม่ใช่การรอที่จะเสพ ไม่ใช่รอว่าฉันทำดีไปเรื่อยๆ แล้วชาติใดชาติหนึ่งเธอจะมารัก สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความรัก แต่เป็นความยึดมั่นถือมั่น เป็นการรอคอยเหมือนกัน แต่เป็นการรอที่จะเสพตามธรรมชาติทั่วไปของความรักในแบบโลกีย์ ที่หลายคนอาจจะศรัทธา เช่น รอเป็นสิบยี่สิบปีเพื่อที่จะให้ได้มาคู่กัน แต่ในมุมของโลกุตระนั้น สิ่งเหล่านี้กลับเป็นสิ่งที่ไร้ค่า เสียเวลา เบียดเบียน ไม่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ รอคอยด้วยความทุกข์เพื่อที่จะสร้างทุกข์ให้แก่กันและกัน จึงไม่ใช่รักแท้ แต่เป็นเพียงรักลวงเท่านั้น

การให้อภัย หมายถึงการให้โอกาสเขาได้ลองผิดลองถูกตามที่เขาเข้าใจ โดยไม่ถือโทษโกรธเคืองเขา เขาจะไม่มาเอาความรักดีๆ ที่เรามอบให้ก็ไม่เป็นไร เขาจะเข้าใจเราผิดก็ยังยอมได้ เขาจะกลับไปเลือกรักที่ต้องเสพเพื่อสุขอย่างโลกๆ เราก็พร้อมจะเข้าใจและให้อภัยได้ แม้เขาจะไม่เห็นว่า สิ่งที่เรามีเป็นคุณค่าที่เขาควรจะได้ แม้ว่าเขาจะโยนเพชรที่เราพยายามเจียระไนอย่างยากลำบากทิ้งไปดังขยะที่ไร้ค่า …ก็ไม่เป็นไร เพื่อให้เราได้เรียนรู้ความพร่อง ความไม่สมบูรณ์แบบ ก้าวข้ามความไม่พอใจและความยึดดี ติดดี ที่เป็นสิ่งที่จะทำร้าย เบียดเบียน จนถึงกีดกันไม่ให้เขาเข้าถึงรักแท้นี้ได้

ให้โอกาสกันไปอีกหลายปีหลายชาติ ให้โอกาสเขาได้เรียนรู้ความรักจากเรา ให้โอกาสเขาได้ทำความเข้าใจ ได้มั่นใจว่าสิ่งที่เรามอบให้ไปนั้นดีจริง ด้วยความเมตตา อดทน รอคอย ให้อภัย หวังประโยชน์แก่เขาเสมอ คอยเกื้อกูล ให้เขาได้ศึกษาความจริงจากเราว่ารักที่แท้จริงมันดีแบบนี้ มันสงบเย็นแบบนี้ มันเป็นสุขแบบนี้ มันยาวนานแบบนี้ มันมั่นคงแบบนี้ …

…กับการเดินทางข้ามผ่านกาลเวลาที่แสนจะยาวนานเสียจนนับไม่ได้ เพียงเพราะว่ารักจึงยังทำหน้าที่ต่อไป และนี่เองคือ ”รักแท้

– – – – – – – – – – – – – – –

11.2.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

บทวิเคราะห์ : การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่มีผลต่อจิตใจจริงหรือ?

October 13, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,645 views 0

การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่มีผลต่อจิตใจจริงหรือ?

บทวิเคราะห์ : การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่มีผลต่อจิตใจจริงหรือ?

                มีข้อขัดแย้งกันในประเด็นของจิตใจที่เปลี่ยนแปลงไปในทางเจริญเมื่อไม่กินเนื้อสัตว์ บ้างก็ว่ามีผล บ้างก็ว่าไม่มีผล หรือถึงจะมีผลก็ไม่ใช่สาระสำคัญอะไร ไม่ใช่สิ่งที่น่าใส่ใจเอามาปฏิบัติ ซึ่งในความจริงแล้วมีผลหรือไม่มีผล เรามาลองวิเคราะห์กันดู

การไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาคือการไม่ส่งเสริมการเบียดเบียน” ความเห็นนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก เป็นสมการแบบแปรผันตามกัน เพราะการที่เราจะได้กินเนื้อสัตว์ก็มาจากการฆ่าในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เป็นหลัก

ทีนี้คนจำนวนหนึ่งที่มีจิตเมตตา ได้รับรู้ถึงการเบียดเบียนที่โหดร้ายทารุณ จึงตั้งใจหยุดการบริโภคหรือหยุดสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสัตว์ ให้สังเกตตรงนี้ว่า จากเมตตานั้นพัฒนาเป็นกรุณา คือนอกจากสงสารแล้วยังลงมือทำด้วย ไม่ใช่ว่าสงสารแล้วยังกินเนื้อเขาอยู่ ซึ่งตรงนี้เป็น”ผล”ที่ได้เกิดขึ้นแล้ว

มีคนบางพวกซึ่งอาจจะเมตตา แต่ไม่ได้กรุณาอะไร ไม่ได้คิดจะลงมือเปลี่ยนแปลงอะไรให้เกิดสิ่งดีขึ้น คือมีจิตสงสารแต่ก็ปล่อยวางทั้งๆที่ยังไม่ได้ทำอะไร ความเข้าใจเช่นนี้คือทางลัดของกิเลสนั่นเอง ถ้าถามว่าจิตเช่นนี้จะเจริญหรือไม่ ก็ต้องบอกว่า “ไม่” เพราะสุดท้ายก็เสพกามเหมือนเดิม กินเนื้อสัตว์เหมือนเดิม เป็นปัญญากิเลสทั่วไปในสังคม ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็มีได้ ต่างจากกรณีแรกคือเมตตาแล้วกรุณา คือหยุดเสพกามอันเป็นเหตุให้เบียดเบียนนั้นด้วยจะเห็นได้ว่าการตั้งจิตดังเช่นว่า “ถ้าเลือกได้” จะไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาเลยตลอดชีวิตจึงเป็นเรื่องยากที่ไม่ได้ปฏิบัติกันโดยทั่วไป

การปฏิบัติธรรมให้จิตใจเจริญนั้นมีหลักคือละเว้นจากอกุศล เข้าถึงกุศล ดังนั้นผู้ที่มีความเห็นอกเห็นใจในสัตว์แล้วลงมือช่วย ย่อมมีผลเจริญขึ้นในจิตใจขึ้นมาบ้างแล้ว ต่างจากผู้ที่ไม่สามารถทำจิตเมตตาให้เจริญถึงขั้นลงมือละเว้นทั้งที่มีองค์ประกอบที่เอื้อให้ทำได้

นี่เป็นเพียงเรื่องของเมตตาที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ยังไม่ต้องเข้าหลักปฏิบัติในศาสนาอะไรที่ลึกซึ้ง ก็เห็นแล้วว่ามีผล และไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้โดยทั่วไป เพราะทำได้ลำบาก ต้องใช้ความพยายามต้องอดทนอดกลั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความอดทนอดกลั้น(ขันติ) นั้นเป็นเครื่องเผากิเลสที่ดีอย่างยิ่ง การจะกล่าวว่าการอดทนไม่กินเนื้อสัตว์ไม่มีผลนั้น ย่อมไม่ใช่ความเห็นที่ถูกต้องนัก

การประมาทในกุศลแม้น้อย ก็ยังถือว่าเป็นความประมาทที่ยิ่งใหญ่ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่สรรเสริญความหยุดอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย จะกล่าวไปใยว่า เราจะสรรเสริญความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย อนึ่ง เราย่อมสรรเสริญความเจริญ ไม่สรรเสริญความหยุดอยู่ ไม่สรรเสริญความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย

ความเจริญของจิตใจแม้เพียงเล็กน้อย สามารถพัฒนาไปเป็นความเจริญที่ยิ่งใหญ่ต่อไปได้ ผิดกับคนที่ไม่เห็นดีกับผู้ที่คิดจะนำความเจริญมาสู่จิตใจตน เขาย่อมตกลงสู่ความเสื่อม และยึดมั่นถือมั่นในความเห็นที่ต่อต้านการเข้าถึงกุศลธรรมนั้น จนปิดประตูในการทำกุศลเหล่านั้นเพราะเห็นว่าไม่มีค่า ไม่สำคัญ ไม่มีผล จนเสื่อมจากกุศลธรรมในเรื่องนั้นไปในที่สุด

ผู้ที่ไม่สามารถเห็น “ผล” ในการตั้งใจหยุดเบียดเบียน คือผู้ที่ไม่มีญาณปัญญารับรู้ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับผู้ที่ยังมีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) เพราะในความเห็นที่ถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิที่ยังเป็นสาสวะ) ในข้อแรกได้กล่าวไว้ว่า “ทานที่ทำแล้วมีผล” แล้วมีผลอย่างไรจึงจะสัมมาทิฏฐิ คือทานที่ทำแล้วนั้นมีผลในการลดกิเลส ลดความหลงติดหลงยึดได้

การจะมีสัมมาทิฏฐิไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่เรื่องที่รับรู้กันโดยทั่วไป ไม่ใช่แค่อ่านตามแล้วจะเข้าใจได้ แต่ต้องมีญาณปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติอย่างถูกตรงนั้นอยู่ในตน ดังนั้นการที่ใครจะมีความเห็นว่า “การไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา ไม่มีผลต่อความเจริญในจิตใจ” ก็เป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่ยังมีมิจฉาทิฏฐิ คือไม่สามารถรับรู้ได้ว่า สิ่งใดทำแล้วมีผล สิ่งใดทำแล้วไม่มีผล ทำอย่างไรจึงมีผล ทำอย่างไรจึงไม่มีผลเพราะไม่มีญาณรู้ในผลที่เกิดขึ้นได้

ความเห็นว่ากรรมและผลของกรรมมีผลนั้นเป็นหนึ่งในสัมมาทิฏฐิ ผู้ที่เห็นว่ากรรมที่ทำนั้นไม่มีผล ไม่เห็นว่าสิ่งใดที่ทำลงไปไม่ว่าจะดีหรือร้ายนั้นมีผล ก็จะทำให้เกิดความประมาท และร้ายยิ่งกว่าสำหรับผู้ที่รู้ว่ากรรมนั้นส่งผลเสีย เบียดเบียน เป็นทุกข์ แต่ก็ไม่คิดจะหยุดทำกรรมชั่วนั้นทั้งๆที่สามารถหยุดได้ คนเช่นนี้ไม่มีกำลังในการต้านความชั่วเลย สติก็ไม่มี ปัญญาก็ไม่มี จึงใช้ชีวิตโดยประมาท ปล่อยให้กรรมชั่วนั้นดำเนินต่อไป

พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “ ธรรม ๓ ประการนี้เป็นลักษณะของคนพาล ๑. ไม่เห็นว่าสิ่งที่เป็นโทษนั้นเป็นโทษ ๒.เมื่อเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นโทษแล้วไม่แก้กลับให้ถูกตามธรรม ๓. เมื่อผู้อื่นชี้ให้เห็นโทษ ก็ไม่ยอมรับรู้ตามธรรมนั้น “ ดังนั้นผู้ที่ได้รับรู้แล้วว่าสิ่งใดเบียดเบียน แต่ไม่พยายามหลีกเลี่ยงหรือละเว้น ทั้งยังทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ย่อมไม่สามารถเข้าถึงกุศลธรรม กลายเป็นคนพาลในที่สุด

จริงอยู่ที่ว่า ในหมู่ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์อาจจะมีผู้ที่ไม่ได้มีผลเจริญในจิตใจขึ้นมาเลย แต่ก็ไม่สามารถเหมาได้ว่าทุกคนนั้นไม่มีผล เพราะคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยความเห็นถูกตรงก็มี ดังนั้นการจะเหมาเอาว่าการไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาไม่มีผล จึงเป็นความประมาทของผู้ที่กล่าวข้อความเช่นนี้

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ผู้ประมาทก็เหมือนกับคนที่ตายแล้ว เช่นเดียวกันกับคนที่คิดว่าการไม่กินเนื้อสัตว์ไม่มีผล เขาย่อมตายจากกุศลธรรมที่ควรจะเกิด ตายจากความเจริญที่ควรจะมี ตายจากความดีที่เคยเป็นมา

– – – – – – – – – – – – – – –

8.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

บทวิเคราะห์ : การกินเนื้อสัตว์กับศีลข้อ ๑

October 10, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,542 views 0

บทวิเคราะห์ : การกินเนื้อสัตว์กับศีลข้อ ๑

บทวิเคราะห์ : การกินเนื้อสัตว์กับศีลข้อ ๑

มีประเด็นในการวิจารณ์เรื่องนี้อยู่มากในสังคม คนไม่กินเนื้อก็มักจะใช้ข้อนี้ในการอ้างอิงว่าผิด คนกินเนื้อก็จะใช้ข้อนี้ในการปฏิเสธว่าไม่ผิดเช่นกัน

เพราะถ้าอ้างศีลข้อ ๑ ตามที่ ” แปลและเข้าใจกันโดยทั่วไปแค่เพียงว่า ไม่ฆ่าสัตว์ ” มันจะไม่ตรงเสียทีเดียว มันจะแฉลบออกไปได้ เลี่ยงบาลีไปได้ ไม่ครบเงื่อนไของค์ประกอบของการฆ่าเพราะไม่ได้ฆ่าเอง และไม่ได้มีจิตคิดจะฆ่า ซึ่งทำให้คนที่กินเนื้อสัตว์ก็จะสามารถเข้าใจว่าไม่ผิดศีล และจะกลายเป็นว่าคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ตีความเอนเอียงเข้าข้างตนเอง

แต่ถ้าศึกษาไตรสิกขา ปฏิบัติอธิศีลไปเรื่อยๆจะพบว่า อธิศีลของศีลข้อ ๑ นั้นครอบคลุมทุกองค์ประกอบอยู่แล้ว การอธิศีลนั้นคือการศึกษาศีลให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป ตั้งแต่ ๕ ๘ ๑๐ ส่วนนักบวชเริ่มต้นที่จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ซึ่งฆราวาสเองก็สามารถถือเอาศีลสามหมวดนี้มาปฏิบัติได้ตามบารมี

ศีลข้อ ๑ ในจุลศีล : ดูกรพราหมณ์ อย่างไร ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล? ๑. ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาสตรามีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ข้อนี้เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.

คำถามก็คือ การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้น มีความเกื้อกูลและมีความกรุณาต่อใคร? เอ็นดูสัตว์ทั้งหลายจริงหรือ? หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงยังไง? การมีความเห็นเช่นนั้นเป็นความละอายต่อบาปจริงหรือ? การฆ่านั้นมีประโยชน์กับสัตว์เหล่านั้นหรือ? ถึงยังคงให้การสนับสนุนอยู่ ในเมื่อการเข่นฆ่านั้นมีแต่ทุกข์และอกุศลกรรมจะบอกว่าศีลข้อนี้ไม่ใช่หลักปฏิบัติของพุทธก็ไม่ใช่ เพราะเวลาพระพุทธเจ้าบวชให้ใครท่านก็ให้ถือเอาจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีลเป็นข้อปฏิบัติ หลักฐานนี้พบเห็นได้ทั่วไปในพระไตรปิฎก

และแม้จะเป็นศีล ๕ ที่แปลและเข้าใจกันแค่เพียงว่า “ไม่ฆ่าสัตว์นั้น” หากศึกษาในสาระของศีลข้อนี้ไปเรื่อยๆจะทำให้จิตเมตตาขึ้น ไม่ใช่แค่ถือไว้เฉยๆแล้วจิตไม่พัฒนาอะไรเลย นั่นคือไม่มีอธิศีล แต่ผู้มีอธิศีลแม้ตนเองจะเริ่มจากฐานศีล ๕ ก็จะพัฒนาความเมตตาขึ้นไปเรื่อยๆ จากไม่ฆ่า พัฒนาเป็นไม่เบียดเบียน พัฒนาต่อเป็นไม่มีส่วนเบียดเบียน พัฒนาต่อเป็นมีความเกื้อกูล เมตตากรุณาต่อกัน คือนอกจากไม่ฆ่า ไม่รบกวน แล้วยังต้องช่วยเหลืออีก เรียกว่าถ้าศึกษาให้ถูกต้องจะพบว่าศีลจะเป็นตัวนำให้หยุดชั่วทำดีได้เอง ปิดนรกเปิดสวรรค์ได้เองตามระดับอธิศีลที่ได้ศึกษา

ทีนี้คนที่ไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรง จะไม่สามารถยกระดับของตัวเองไปถึงจุลศีลได้ ก็มักจะยกเอาหลักฐานที่เอื้อกับความเห็นตนมา ก็สามารถทำให้ตีเนียนกินเนื้อไปได้ เพราะภาษาที่แปลมามันไม่มีข้อห้ามหรือคำผิดตรงๆ ศีล 5 เขาก็แปลกันแค่นั้นจริงๆ มันก็เลยปฏิบัติกันอยู่แค่นั้น ทั้งที่จริงแล้วมันมีความลึกและมีมิติอยู่มากมาย

นี่คือความเสื่อมของชาวพุทธอย่างแท้จริงเพราะความไม่ศึกษาในอธิศีล จมอยู่กับศีล ๕ เท่าที่รู้หรือต่ำกว่านั้น และยึดเอาความเสื่อมนั้นเป็นหลักชัย ว่าฉันจะทำดีเท่านี้ ฉันดีได้แค่นี้ เรียกว่าปิดประตูสู่ความเจริญของตนในทันที ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่าการไม่ศึกษาในอธิศีลเป็นเหตุแห่งความเสื่อมของชาวพุทธ เมื่อไม่ศึกษาอธิศีลก็จะไม่รู้ว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร ก็เลยมีการถกเถียงกันมากในประเด็นของศีลข้อ ๑ ทั้งผู้ที่ปฏิบัติธรรมและผู้ที่ไม่ปฏิบัติธรรม

เมื่ออธิศีลเสื่อมไป ไตรสิกขาจึงไม่มี ก็ไปศึกษาแยกกัน จิตบ้าง ปัญญาบ้าง ถือเอาจิตเป็นที่สุดบ้าง ถือเอาปัญญาเป็นที่สุดบ้าง เข้ารกเข้าพงกันไปหมด เมื่อไม่ครบองค์ประกอบของไตรสิกขา ไม่รู้ความเกี่ยวพันเชื่อมโยงของศีล สมาธิ ปัญญาว่าเกื้อกูลกันอย่างไร ปฏิบัติร่วมกันไปอย่างไร จิตและปัญญาเหล่านั้นจึงเป็นไปโดยมิจฉา เมื่อไม่มีไตรสิกขาก็ไม่เกิดมรรค เมื่อไม่มีมรรคก็ไม่มีการผลในรู้แจ้งเห็นจริง สุดท้ายจึงปฏิบัติธรรมแบบคิดเอา เดาเอาเอง คาดคะเนเอาเอง เป็นมิจฉามรรค มิจฉาญาณ มิจฉาวิมุติ แล้วก็เมามิจฉาทิฏฐิของตนอยู่เช่นนั้น

การยกธรรมะมากล่าวอ้างนั้นเป็นสิ่งที่ต้องประมาณให้ดี เพราะเป็นดาบสองคม ถ้าใช้ผิด เอามาตีกิน เอามาเพิ่มกิเลส เอามาเบียดเบียน ทำให้หลงงมงายทั้งตนเองและผู้อื่น ก็จะสร้างทุกข์ครอบขังให้ตัวเองหลงงมงายกับธรรมที่มิจฉา จนบางครั้งร้ายแรงถึงขั้นหลงว่าตนเองนั้นบรรลุธรรม ทำให้ต้องวนเวียนหลงไปกับโลกชั่วกัปชั่วกัลป์

ดังนั้นจากจุลศีล ซึ่งเป็นความเจริญที่สุดของศีลในศาสนาพุทธ ที่บุคคลพึงปฏิบัติ จะเห็นได้ว่า การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นมีความขัดแย้งในเนื้อหาอย่างชัดเจน ไม่เข้ากับสิ่งที่ควรทำ สิ่งนั้นจึงไม่ควร ผู้ศึกษาและปฏิบัติสู่ความผาสุกจึงควรละเว้นเหตุแห่งอกุศลเหล่านั้นเสีย

– – – – – – – – – – – – – – –

7.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)