Tag: อรูปอัตตา

เหงา

February 7, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,740 views 1

เหงา

เหงา

ความรู้สึกเหงา อ้างว้าง ว้าเหว่ เป็นภัยเงียบที่คอยดึงดูดสิ่งที่เป็นทุกข์เป็นโทษเข้ามาให้กับชีวิตอยู่เสมอ เพราะเมื่อไหร่ที่รู้สึกขาด จึงเกิดความรู้สึกว่าจะต้องหามาเติม… และสิ่งเหล่านั้นมักจะเป็นสุขลวงที่เป็นส่วนเกินสำหรับชีวิตที่ผาสุกอย่างแท้จริงอยู่เสมอ

เมื่อคนรู้สึกเหงา พวกเขามักจะใช้วิธีแก้ไขปัญหาต่างกัน บ้างก็ระบายออกมาตรงๆ บ้างก็หาทางกลบเกลื่อนความเหงาด้วยการกิน เที่ยว เล่น ทำงาน ทำตัวให้ยุ่งวุ่นวายเข้าไว้ ซึ่งถ้าไม่หนักไปทางเสพกาม ก็หนักไปทางอัตตา คือยึดดี ว่าฉันไม่เหงา ฉันอยู่ได้ ทำใจให้มันลืมๆ ทำให้เหมือนชีวิตไม่เคยรู้จักคำว่าเหงา ทำเป็นว่าไม่มีความเหงา โดยที่ไม่มีเหตุ ไม่รู้ว่า “ความรู้สึกเหงา” นี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร และดับมันไปได้อย่างไร ทำได้เพียงกดข่มความเหงาให้มันจมหายไปดื้อๆ

ความเหงาเป็นความทุกข์ชนิดหนึ่งที่ทำให้คนต้องแสวงหาหลายสิ่งหลายอย่างมาบำเรอตนเพื่อบำบัดความทุกข์จากความเหงา ซึ่งการบำบัดความเหงาให้จางคลายเป็นครั้งคราวนั้นก็ต้องใช้เหตุปัจจัยที่มีน้ำหนักแตกต่างกันไปตามปริมาณของความเหงา หรือความเข้มข้นของกิเลสนั่นเอง

ความซวยที่สุดอย่างหนึ่งของคนขี้เหงา คือเมื่อเหงาแล้วก็อยากหาคู่มาบำบัดความเหงา มีความเห็นความเข้าใจผิดๆว่า ถ้ามีคู่แล้วจะแก้ปัญหาความเหงาได้ และยิ่งถ้ามีลูกหลานจะยิ่งไม่เหงา ซึ่งมันถูกอยู่มุมหนึ่ง แต่มันเป็นเพียงการสร้างปัญหาใหม่เข้ามาโดยที่ปัญหาเก่าก็ไม่ได้แก้ เหมือนกับเอาปัญหาใหม่มากดทับปัญหาเก่าไว้ ให้ตนเองได้ทุกข์กับเรื่องใหม่จะได้ไม่ต้องทนทุกข์กับเรื่องเก่า มันก็หนีเสือปะจระเข้ดีๆ นี่เอง

คนขี้เหงาที่หาคู่มาบำบัดความเหงานั้น ต่างจากคนที่หาเพื่อนมาบำบัด ซึ่งเรามีสิทธิ์เลือกได้ว่าจะหาคู่หรือหาเพื่อน คนที่เขากิเลสหนามากๆ เขาก็พิจารณาประโยชน์ของการมีคู่มาก จนน้ำหนักหรือคุณค่าในการมีอยู่ของเพื่อนตกไป เพราะเขาอยากจะเสพมากๆ การมีคู่คือการได้เสพมากๆ เธอเป็นของฉันคนเดียว เธอต้องบำเรอฉัน ต้องเป็นเพื่อนฉันตลอดไป ต่างจากคนที่หาเพื่อน ซึ่งจะได้เสพในปริมาณที่น้อยกว่า คือยุ่งกันได้ประมาณหนึ่ง ใกล้ชิดกันได้ประมาณหนึ่งเท่านั้นเอง

ซึ่งความทุกข์ที่จะเจอนั้นก็มากไปตามปริมาณของกิเลส อยากคลายเหงาจนถึงขั้นต้องหาคู่มาบำบัดความเหงาก็จะทุกข์มาก ส่วนคนที่พึ่งพาเพื่อนก็จะทุกข์ประมาณหนึ่ง แต่ทั้งสองทางก็ยังทุกข์อยู่ดี ไม่ว่าจะหาคู่หรือหาญาติมิตรสหายมาบำบัดความเหงา เพราะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตนเอง ไม่ใช่การพึ่งตน จึงไม่ใช่ทางพ้นทุกข์

แท้จริงแล้วความเหงาเกิดจากความรู้สึกว่าตัวเองขาด จึงต้องหาคนอื่นมาเติม ทั้งๆที่ความจริงทุกคนก็เป็นคนเต็มคนอยู่แล้ว แต่กิเลสนั้นจะทำให้เราเข้าใจว่าเราขาด เราไม่พอ เรายังพร่อง ยังเราต้องการส่วนเติมเต็ม เรายังต้องตามหาอีกครึ่งหนึ่ง เรายังต้องตามหาคำตอบในชีวิตที่หายไป ฯลฯ

เป็นความรู้สึกต้องการให้ใครสักคนเข้ามาเติม เข้ามาเห็นคุณค่า เข้ามารัก มาดูแลเอาใจใส่ ว่ามีฉันอยู่ในโลกนี้นะ ฉันอยู่ตรงนี้นะ สนใจฉันหน่อย เข้าใจฉันหน่อย คุยกับฉันหน่อย ยอมรับฉันหน่อย เป็นเพื่อนกับฉันหน่อย อยู่กับฉันหน่อย อย่าทิ้งฉันไปนะ ฉันมีตัวตนอยู่ อย่ามองข้ามฉัน อย่าเมินฉัน อย่าลืมฉัน ฯลฯ

ลักษณะเหล่านี้คือลักษณะของอัตตา เมื่อลงรายละเอียดจะพบว่าเป็นอัตตาระดับหยาบคือ “โอฬาริกอัตตา” คือการยึด คน สัตว์ สิ่งของมาเป็นตัวเป็นตน คือต้องการคนอื่น ชีวิตอื่น สิ่งอื่นมาเพื่อเติมเต็มความเป็น “ฉัน” ถ้าไม่มีพวกเขาเหล่านั้น ฉันจะเป็นคนไม่เต็มคน เป็นคนไม่มีคุณค่า เกิดความทุกข์ ถึงจะไม่ได้คนมาเสพ เป็นคู่บ้าง เป็นเพื่อนบ้าง แต่ถ้ามีสัตว์เลี้ยงมาเสพก็ยังดี หรือไม่ก็ให้วัตถุสิ่งของให้ฉันเสพเพื่อบรรเทาความพร่องลวงๆ ที่กิเลสสร้างมานี้

เมื่อเจาะลึกลงไปจะพบว่า “ความเหงา” หรือความทุกข์เพราะไม่มีสิ่งใดมาบำเรอตนนั้น เป็นความรู้สึกที่ปั้นแต่งขึ้นมาเอง สร้างขึ้นมาเอา(มโนมยอัตตา) เราสร้างมันขึ้นมาแล้วก็หลงว่ามันมีจริง มันเหงาจริงๆ มันทุกข์จริงๆ เพราะเราไปยึดว่าสิ่งลวงที่เราหลงสร้างมาเป็นสิ่งจริง

และรากแท้ๆ ของปัญหาอยู่ในระดับ อรูปอัตตา คือ ยึดความเห็นผิดว่าที่ตัวเรานั้นเหงาเพราะขาดสิ่งอื่นมาบำเรอ ชีวิตเราต้องมีคู่ ต้องมีเพื่อน ฉันอยู่คนเดียวไม่ได้ ด้วยสารพัดเหตุอย่างที่ยกมาข้างต้น คือ ฉันมีคุณค่า ฉันมีศักดิ์ศรี ฉันมีตัวตนในโลกใบนี้ ฯลฯ

การแก้ไขปัญหาทุกข์จากความเหงาของพุทธนั้นเป็นการแก้ไปถึงเหตุแห่งความเหงา สิ่งใดที่ทำให้เกิดความเหงา แล้วจะดับเหตุนั้นได้ขนาดไหน และจะปฏิบัติตนอย่างไรเพื่อให้ชีวิตดำเนินไปในหนทางของการดับเหตุแห่งทุกข์นั้น ไม่ใช่การกดข่มหรือปล่อยวางแบบไม่มีเหตุผล ไม่รู้ว่าความเหงาเกิดจากอะไร จะดับให้สนิทต้องทำอย่างไร ความเหงาถึงจะไม่กลับมาหลอกหลอนให้เป็นทุกข์อีกทั้งในชาตินี้และชาติอื่นๆ ต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

26.1.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

คนบ้ากินมังฯ ๒

December 1, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,311 views 1

คนบ้ากินมังฯ ๒

คนบ้ากินมังฯ ๒

…บ้าจริง บ้าหลอกหรือหายบ้า มาอ่านกัน ฉบับไขข้อข้องใจทุกประเด็นเกี่ยวกับบทความ “คนบ้ากินมังฯ”

*(คำเตือน !! ก่อนที่จะอ่านบทความนี้ควรจะอ่านบทความ”คนบ้ากินมังฯ”ก่อน ….และหากอ่านจบแล้วยังรู้สึกไม่พอใจ ขุ่นเคืองใจอย่างรุนแรงหลังจากอ่านก็อย่าพึ่งอ่านบทความนี้ รอให้รู้สึกว่าตัวเองสงสัย ข้องใจ หรือเหลืออารมณ์ไม่พอใจเพียงเล็กน้อยค่อยอ่านจึงจะเหมาะ)

**ในบทความนี้ขออนุญาตใช้ธรรมะเข้ามาร่วมอธิบาย อาจจะเป็นสิ่งไม่คุ้นเคยสำหรับบางท่านให้ลองอ่านผ่านๆไปก่อนและเนื้อหาจะเป็นไปในเชิงไขกิเลส กรรมและขยายเนื้อหาในบทความคนบ้ากินมัง หากสนใจที่จะไขข้อข้องใจก็มาอ่านกันต่อ

เริ่มกันเลย!

1). อัตตา

หลังจากที่ได้เผยแพร่บทความคนบ้ากินมังฯออกไปนั้นก็มีเสียงตอบรับเข้ามามากมาย และส่วนใหญ่เป็นไปในทางลบ แต่ก็ยังมีบางส่วนที่สามารถเข้าใจได้แม้จะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

สำหรับคนที่ติดตามเพจนี้มาก่อนจะขอยกไว้ในฐานที่เข้าใจ ส่วนคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนอาจจะแบ่งได้หลายส่วนเช่น เห็นแย้งในทันที , สงสัย , ต่อว่า , ด่า , ส่งเสริมเชิญชวนหรือช่วยอธิบายเรื่องมังสวิรัติ ,พยายามปรับความเข้าใจ, เข้าใจที่สื่อสาร …เหตุอันใดที่ทำให้คนเข้าใจสื่อเดียวกันต่างกัน ถ้าสื่อนั้นผิดพลาดจริงๆคนทั้งหมดก็ควรจะเข้าใจผิด แต่ทำไมยังมีคนที่เข้าใจตามที่ได้สื่อสาร ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญของบทความนี้

การที่เราเข้าใจต่างกันนั้นมีเหตุมาจากทิฏฐิที่ต่างกัน บางคนตัดสินตั้งแต่เห็นหัวเรื่อง บางคนตัดสินหลังจากอ่านจบ บางคนตัดสินแต่ไม่ต่อว่าและกลับชวนให้ลองกินมังสวิรัติ จะบอกว่าเรามีทิฏฐิที่ต่างกัน คนเราต่างกันนั้นมันก็เป็นคำพูดที่ตีรวมๆ เข้าใจแต่ไม่เข้าใจ ไม่ลึกถึงเหตุ มองไม่ขาด เพราะเหตุจริงๆที่ทำให้เรามีทิฏฐิที่ต่างกัน คือกิเลส หรือในที่นี้ก็คือ “อัตตา

อัตตาคือความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ในกรณีของมังสวิรัติก็คือ “อรูปอัตตา” เป็นอัตตาที่ไม่มีรูปร่างให้เห็นให้หยิบจับแล้ว เป็นความเชื่อ ความเห็น ความเข้าใจ นั่นคือเรายึดความเชื่อความเห็นความเข้าใจในมังสวิรัติมาเป็นตัวเราของเรา พอเรายึดแล้วเราก็กอดมันไว้ รัดมันไว้ รักมัน หวงมันโดยไม่รู้ว่าอัตตานี่คือกิเลสที่ทำให้เราเป็นทุกข์

คนมีอัตตาหลายคนแม้จะไม่ได้ไปยุ่งกับคนอื่น แต่ถ้าใครเข้ามาแตะในพื้นที่หวงห้ามเช่นมาด่าว่าคนกินมังสวิรัติว่าบ้าว่าโง่ เหมือนกับเข้ามาเขย่าบ้านของตนเอง ก็จะรีบออกมาปกป้องบ้านของตนทันที ปกป้องสิ่งที่เรายึดมั่นถือมั่น ปกป้องกิเลส

เราจะเริ่มมีอัตตาก็เพราะเรามีศรัทธาในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ศรัทธาในการกินมังสวิรัตินั้นดี แต่การที่เราจะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในความดีนี้ไม่ดี คนกินมังสวิรัติหรือศรัทธาในมังสวิรัติส่วนมากจะมองว่าตัวเองเป็นคนดี เป็นคนมีปัญญา เป็นคนละบาปบำเพ็ญบุญ จึงมีอาการยึดดีหรือยึดความดีเป็นตัวตนหรือมีอัตตา ซึ่งพอมีใครมาเห็นแย้งว่าที่เราทำมันบ้า มันโง่ คนที่ยึดว่าเรามีปัญญา เป็นคนดี ก็จะทุกข์ร้อนเพราะไม่ได้เสพคำชื่นชมอย่างที่ตัวเองเคยได้แถมยังโดนด่าอีก อันนี้ไม่ได้ผิดตรงมังสวิรัติแต่มันผิดตรงที่เราหลงยึดว่าเราเป็นคนดี เป็นคนมีปัญญาแล้วเราเข้าใจว่าคนอื่นจะต้องเข้าใจว่าเราเป็นเช่นนั้น

เมื่อมีคนมาพูดกระทบอัตตา ด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่ามังสวิรัติต้องเป็นคนดี ต้องเป็นคนมีปัญญา ต้องเรียกว่าฉลาดสิเพราะเว้นจากการเบียดเบียน พวกเขาจึงได้ออกมาแสดงทัศนคติตามกิเลสของแต่ละคนกิเลสมากก็แรงมาก กิเลสน้อยก็แรงน้อย กระทบกระทั่งกันไปเพราะความอยากเอาชนะ อยากให้คนที่ต่อว่าคนกินมังสวิรัติบ้าและโง่นั้นแพ้ นั้นย่อยยับ นั้นสลายหายไป เพราะเราไม่อยากให้ใครมาคิดต่างหรือเข้ามาลุกล้ำอัตตาซึ่งเป็นกิเลสที่เราหวงสุดหวง ทั้งหมดนั้นก็เพื่อเสพสมอัตตาของเขาคือมังสวิรัติดี มีปัญญา ฉลาด เป็นบุญ เป็นความเจริญ ใครคิดตามได้แต่ถ้าคิดต่างไม่ต้องมาคุยกัน ถ้าคุยกันก็จะตอบโต้ไปตามปริมาณความยึดดีที่มี

มังสวิรัตินั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่การยึดมั่นถือมั่นในความดีของมังสวิรัติเป็นคนละเรื่องกัน ขึ้นชื่อว่ากิเลสมันก็ไม่ดีอยู่แล้ว แต่คนส่วนมากมักจะกอดเก็บมันไว้ เมื่อวันใดวันหนึ่งที่มีใครเข้ามาท้าทายอัตตา เขาเหล่านั้นก็พร้อมที่จะท้าทายกลับด้วยความคิด ด้วยวาจา ด้วยท่าทาง แล้วแต่ว่าใครจะปรุงกิเลสไปได้แค่ไหน ปรุงแต่งคำด่าคำพูดได้เท่าไหร่ก็บาปเท่านั้น เพราะความโกรธ ความไม่พอใจก็ขึ้นชื่อว่ากิเลส ดังนั้นจะหาประโยชน์จากความไม่พอใจนี้ไม่มีเลย

ในบทของกำลัง 8 พระพุทธเจ้าตรัสว่า บัณฑิตมีการไม่เพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง ส่วนคนพาลมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่ามีคนอ่านบทความนี้มากมายหลายคน แต่ก็มีคนที่คิดเห็นแตกต่างกันไป คนที่เจริญในธรรมมีอัตตาน้อย ไม่ยึดมั่นถือมั่นก็จะไม่เพ่งโทษใครแม้เขาจะมาด่ามาว่า ในทางกลับกันคนพาลนั้นมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง กำลังคืออะไร ก็คือพลังในการทำบาป ทำอกุศล ยิ่งเพ่งโทษแรงเท่าไหร่ กำลังก็ยิ่งแรง บาปก็ยิ่งแรง อกุศลก็ยิ่งแรง กรรมก็ยิ่งมากขึ้นไปด้วย

คนมีอัตตานั้นจะรู้สึกว่าตนไม่ผิดที่เพ่งโทษใครหรือด่าใคร “ในนามแห่งความถูกต้องข้าขอประหารเจ้า” เขาจะลงดาบในทันที และในวินาทีนั้นมโนกรรม วจีกรรม กายธรรมก็ได้เกิดขึ้นกับเขาแล้ว จิตนั้นสังเคราะห์อารมณ์ไม่พอใจ วจีนั้นเกิดการปรุงแต่งขึ้นในใจ จนกระทั่งมือพิมพ์คีย์บอร์ดส่งข้อความที่เต็มไปด้วยอัตตาเผยแพร่สู่สาธารณะ กระตุ้นให้คนอื่นที่ได้อ่านเกิดความโกรธเกลียดตามกันไป เป็นวิบากบาปที่จะเกิดซ้ำซ้อนส่งต่อเนื่องกันไปมา

ชีวิตเราอาจจะรีบเกินไปก็ได้ เรารีบทุกอย่าง รีบอ่าน รีบตัดสิน แล้วก็รีบทำบาป มันจะมาซวยตรงรีบทำบาปนี่แหละ จะขยันทำอะไรก็ตามแต่ ถ้าขยันทำบาปนี่ก็อย่าทำเสียเลยจะดีกว่า หยุดไว้ก่อนจะดีกว่า เพราะทำไปมันก็ไม่คุ้ม ไปตำหนิติเตียนใครด้วยความไม่พอใจมันก็เท่านั้น ยิ่งสมัยนี้เครื่องมือสื่อสารมันก็เร็วเฟสบุคก็เข้าถึงได้ทุกคน การช่วยกันสะสมบาปก็ง่ายขึ้น เช่นมีคนหนึ่งพิมพ์ข้อความตำหนิต่อว่า เราก็ดันไปร่วมวงกดถูกใจในคำปรุงแต่งจากกิเลสของเขาก็ถือเป็นการทำบาปที่สะดวกและรวดเร็วเหมาะกับยุคนี้มากๆ ทีนี้พอกดถูกใจเข้ามากๆ เจ้าของข้อความนั้นเลยเหมือนขึ้นหลังเสือกันเลยทีเดียว พอกอัตตากันใหญ่ขึ้นไปอีก ทีนี้เวลาจะลงมันลงยาก เหมือนกิเลสมันขึ้นมาแล้วมันก็ไม่ได้ลงไปง่ายๆ

หลายคนไม่ได้อ่านถึงบทความนี้ ไม่ได้อ่านแม้บทชี้แจง ก็ไม่มีโอกาสรู้ตัวแล้วก็หอบบาปหอบกรรมที่ตัวเองทำไว้เป็นสมบัติต่อไป ส่วนคนมีอัตตามากๆถึงจะอ่านมาถึงตรงนี้ก็ยังหงุดหงิดติดอัตตาอยู่ บางอ่านไปก็ไม่เข้าใจเพราะใจมันไม่เปิด มันจำได้แค่อารมณ์แรกที่ได้ประทับไว้ในใจแล้วยึดมั่นถือมั่นเป็นอัตตาซ้อนอีกชั้นหนาเข้าไปอีก แต่บางคนสามารถรอดพ้นไปได้ด้วยเมตตา คืออ่านแล้วเห็นใจจึงแนะนำด้วยจิตเมตตาตรงนี้เป็นกุศล เป็นบุญ ก็ถือว่าสามารถสร้างสิ่งดีให้กับตัวเองบนกองกิเลสได้ แต่ถ้าคนอ่านด้วยอุเบกขาจึงจะสามารถเข้าถึงสาระแท้ของสารนั้นๆได้

แท้จริงแล้วมันไม่เกี่ยวเลยว่าคู่สนทนาหรือคนที่เราไม่ชอบใจนั้นเขาจะถูกหรือจะผิด โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ ไม่วันใดก็วันหนึ่งกรรมก็จะส่งคนที่ทำให้เราไม่พอใจ ไม่ถูกใจ ขัดใจเข้ามาในชีวิตเราอยู่ดี แล้วเรายังต้องโกรธเขา ไม่พอใจเขา ชิงชังรังเกียจเขา ทะเลาะเบาะแว้งกับเขาไปตลอดเช่นนั้นหรือทั้งๆที่ศัตรูตัวร้ายนั้นคือตัวเราเอง คืออัตตาของเราเอง คือความยึดมั่นถือมั่นของเราเอง

สิ่งที่ทำให้เราไม่พอใจคือสิ่งที่เรายึดไว้ พอเรายึดไว้ถือไว้ คนอื่นจะมาแย่ง มารบกวน มาทำลาย เราก็จะไม่พอใจ ก็จะออกอาการไปตามพลังของกิเลสของแต่ละคนตามกรรมที่ทำมา ตามกิเลสที่สะสมมา

เรามักคิดว่าคนกินมังสวิรัตินั้นมีเมตตา จิตใจดี เห็นใจสัตว์โลก แต่ความเมตตาเหล่านั้นก็ยังไม่ครอบคลุมถึงสัตว์โลกทั้งหมด เขายังเบียดเบียนมนุษย์คนอื่นด้วยถ้อยคำแห่งความดี เยอะเย้ยถากถาง ด้วยสารพัดประโยคที่จะปรุงแต่งได้ตามความสะใจ นี้หรือคือผู้ไม่เบียดเบียน นี้หรือคือผู้มีเมตตา เราจะมั่นใจได้อย่างไรหากเรายังมีความโกรธความเกลียดในสิ่งอื่นที่เห็นต่างไปจากเรา

การที่ชาวมังสวิรัติไปเถียง ไปด่า ไปเยอะเย้ยถากถาง ก็คือการเบียดเบียนอยู่นั่นเอง แม้ไม่ได้ฆ่าแต่ก็เบียดเบียนด้วยวาจาไปที่ใจและกระบวนของกิเลสทั้งหมดนี้สร้างบาปสะสมให้กับตัวเองด้วย นั่นหมายถึงเบียดเบียนคนอื่นและเบียดเบียนตัวเองไปด้วยในทีเดียวกัน

ผู้กินมังสวิรัติที่สามารถล้างกิเลสได้จริง จะสามารถตั้งตนอยู่ได้บนความสงบ พูดแต่สัจจะ พูดแต่ความจริง ยกตัวอย่างเช่นคนที่เข้ามาช่วยพิจารณาประโยชน์ของการกินมังสวิรัติก็ถือว่าสามารถเอาตัวรอดจากบาปนี้ได้ ส่วนคนที่ไม่พิมพ์ไม่ตอบโต้ไม่ใช่ว่าจะไม่สร้างบาปเวรภัย เพียงแค่คิดร้ายก็เป็นมโนกรรมที่มากพอที่จะทำให้ชีวิตและจิตใจได้รับทุกข์จากกรรมนี้ได้เช่นกัน

ดังนั้นคนที่กินมังสวิรัติแล้วไม่ล้างกิเลส ไม่ล้างอัตตาก็จะสร้างบาปเวรภัยไปในตัว ทำกุศลปนบาปโดยไม่รู้ตัว ไม่ผ่องใส่ ไม่ปลอดโปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบาย เช่นตอนมีคนมาว่าร้ายชาวมังสวิรัติ คนที่ไม่ล้างกิเลสก็จะร้อนรน โกรธ ไม่พอใจ จนเป็นเหตุให้เบียดเบียนตัวเองและผู้อื่นได้ ดังนั้นจะเรียกตัวเองว่าผู้ไม่เบียดเบียนย่อมเป็นคำโกหก ผิดศีลข้อ ๔ ซ้ำเข้าไปอีก สร้างบาปเวรภัยให้กับตัวเองเข้าไปอีก กินมังสวิรัติว่าได้กุศลแล้ว ยังโดนวิบากบาปลากไปให้ทำชั่วให้ทำทุกข์อีก มันจะคุ้มไหม?

จะดีไหมหากเราจะกินมังสวิรัติไปด้วยล้างกิเลสไปด้วย ล้างความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เรายึดไว้ไปด้วย จะดีไหมหากเราจะรู้สึกเฉยๆถ้ามีคนมาต่อว่าในสิ่งที่เราเป็น ในสิ่งที่เราชอบ จะดีไหมถ้าเราไม่ต้องทำทุกข์ทับถมตัวเองเพราะเราเลี้ยงกิเลสไว้

กิเลสไม่ใช่ตัวเรา ความยึดมั่นถือมั่นในมังสวิรัติไม่ใช่เรา เราไม่จำเป็นต้องยึดไว้ เราเพียงแค่ยึดอาศัย อาศัยให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตนี้ เรากินมังสวิรัติแต่เราไม่ยึดติด ไม่ยึดติดไม่ได้หมายถึงกินเนื้อบ้างกินผักบ้าง แต่หมายถึงว่าไม่ยึดติดกับความเป็นมังสวิรัติ เพราะถ้าเราไปยึดมั่นถือมั่นมังสวิรัติแล้วมีคนมาว่าเราก็ทุกข์ แต่ถ้าเรายึดอาศัยเราก็กินของเราไป แต่ถ้าใครมาว่าเราก็ไม่ทุกข์ เพราะเราไม่ได้ถือ เราไม่ได้มีตัวตน เราเลยไม่ต้องทุกข์

สุดท้ายของบทไขอัตตานี้ก็ให้ผู้อ่านได้ทบทวนตนเองว่าเกิดอะไรขึ้นในใจของเรา มันเกิดตั้งแต่เมื่อไหร่ มันเกิดเพราะอะไร มันดับไปเพราะอะไร แล้วมันจะเกิดอีกไหม จะดีกว่าไหมถ้ามันจะไม่เกิดอีกเลย ก็ขอให้ท่านลองพิจารณาดู

2).กรรม

กรรมอันใดหนอที่ทำให้ต้องมีคนเข้าใจผิด ต้องผิดใจ ต้องทะเลาะเบาะแว้ง ในบทนี้ผมจะลองไขกรรมของตัวเองอย่างคร่าวๆเพื่อให้เห็นภาพของวิบากบาปหรือผลของบาปที่เคยทำไว้ในอดีตกาล

ผมเองตั้งใจพิมพ์บทความด้วยความคิดว่าจะลองสื่อสารในอีกมุม เป็นมุมของคนกินเนื้อสัตว์ที่ข้องใจในมังสวิรัติ ซึ่งก็เป็นคนที่มีการกระทบกระทั่งกันให้เห็นกันตามกระทู้มังสวิรัติทั่วไปนั่นเอง ทีนี้เราก็คิดว่าขัดเกลาบทความดีแล้ว เรียบเรียงใส่คำใบ้ ใส่นัยสำคัญ ใส่เฉลยไว้เรียบร้อย กะว่าเพื่อนอ่านจบคงจะเข้าใจได้เอง แต่มันก็ผิดคาดไป ตรงนี้เป็นการประมาณผิดไม่ได้มีอะไรมาก แต่กรรมนั้นเองดลให้ได้ข้อมูลเท่านี้ ให้เขียนแบบนี้ ให้ประมาณผิดเช่นนี้ ซึ่งเราดูได้จากผลที่เกิดขึ้นคือมีคนเข้าใจผิดเป็นจำนวนมากและมีคนเข้ามาต่อว่ามากมาย อันนี้ในชาติใดชาติหนึ่งผมคงเคยไปยุแยงใครให้เกลียดให้เข้าใจคนอื่นผิดทั้งๆที่เขาไม่ได้ทำอะไรผิด ก็เลยต้องมารับวิบากนี้ ซึ่งรับแล้วก็หมดไป มีคนมาด่าชีวิตผมก็ดีขึ้นเพราะได้ใช้กรรม กรรมชั่วหมดไปก็เปิดโอกาสให้กรรมดีที่ทำไว้ได้ส่งผลมากขึ้น สรุปแล้วทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมานั้นผมมองว่าดีทั้งหมด

เมื่อกรรมชั่วได้ถูกชำระหนี้ไปแล้วกรรมดีก็ได้เกิดขึ้น มีคนที่เข้าใจในเนื้อหาสาระของบทความมาช่วยขยายความให้ ช่วยให้หลายคนได้คลายสงสัย ได้เข้าใจอย่างถูกต้อง ตรงนี้จะเริ่มเป็นจุดเปลี่ยนที่เห็นพลังของกรรมดีที่ทำไว้อย่างชัดเจน ถ้าผมไม่เคยทำดีไว้ ก็คงจะไม่มีใครมาช่วยแบบนี้ สิ่งนี้เองเป็นผลจากการที่เราทำกรรมดีสะสมไว้บ้าง

แต่กรรมชั่วที่หมดไปนั้นเอง จะหมดไปไม่ได้หากไม่มีคนเข้ามาช่วย มีคนที่เสียสละยอมทำบาปจำนวนมากที่เป็นสะพานให้ผมได้ใช้กรรมชั่วที่เคยทำมาในอดีต เขาเหล่านั้นคือผู้รับวิบากบาปต่อในส่วนที่เขาทำและส่วนอื่นที่เขาได้ขยายต่อไป ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ เพราะผลกรรมชั่วของเขาก็ลากเขามาให้เขาทำกรรมนี้เช่นกัน เพราะถ้าไม่มีอัตตาขนาดนี้เขาคงไม่ด่า ถ้าเขาล้างอัตตาได้เขาก็ไม่ต้องมารับบาป ในส่วนนี้ก็เห็นใจเพื่อนๆจริงๆ จะมีสักกี่คนที่ได้อ่านมาถึงบทความนี้ ในร้อยคนที่อ่านจะมีสักกี่คนที่เขาด่าแล้วจากไป พวกเขาเหล่านั้นจากไปพร้อมของฝากชิ้นใหญ่คือกรรมที่เขาต้องรับไว้ เหมือนกับชีวิตผมที่มีกองบาปกรรมทับอยู่ แล้วมีคนมาหอบกองบาปกรรมเหล่านั้นกลับบ้านไปเพราะหลงว่าเป็นของดี หากใครยังรู้สึกติดใจ ขุ่นเคืองใจอยู่ก็อยากจะให้พิจารณาดีๆว่ามันคุ้มไหมที่จะเอาบาปนี้กลับไปเป็นสมบัติของตัวเอง

ทั้งหมดนี้ไขให้เห็นกระบวนการของกรรมในภาพกว้างๆ ให้พอรู้ว่ากรรมชั่วกรรมดีมันมีผล

3). เกี่ยวกับบทความคนบ้ากินมัง

ในบทความนี้ผมได้วางเนื้อหาสาระสำคัญไว้หลายจุดด้วยกัน หากใครยังไม่เห็นหรือมองผ่านไปก็ลองอ่านกันดูได้

3.1). คนเกิดมาก็กินเนื้อแต่บ้าเปลี่ยนมากินผัก

อันนี้คือการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณ เพราะคนส่วนมากที่มีจิตเจริญขึ้นก็จะเบียดเบียนผู้อื่นน้อยลง ทุกคนเริ่มมาจากการกินเนื้อสัตว์เหมือนกันหมดแต่ทำไมบางคนหันมากินมังสวิรัติ มันเป็นไปได้อย่างไร จิตใจมันเจริญขึ้นได้อย่างไร ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่น่ามหัศจรรย์

3.2 ) ด้วยสติปัญญาที่พวกเขามี เขาจึงไปเชื่อลัทธิหนึ่ง

คำว่าลัทธิในที่นี้หมายถึงกลุ่ม ถ้ามองจากคนนอกที่เขาไม่กินเนื้อ เขาไม่รู้หรอกว่าเราไปอยู่กลุ่มไหนเขาก็มองเป็นกลุ่มก้อนเป็นลัทธินั่นแหละ ซึ่งลัทธิในที่นี้อาจจะเป็นพุทธ เป็นคริสต์ เป็นอิสลาม หรือศาสนา นิกาย กลุ่มคน กลุ่มสังคม กลุ่มในเฟสบุคก็ได้ที่มีลักษณะกลุ่มก้อนที่เสนอสื่อ ให้ความรู้ ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับการกินมังฯ และด้วยสติปัญญาที่มี คือมีปัญญารู้คุณรู้โทษจึงเชื่อและพยายามกินมังสวิรัติ

หลายคนเข้าใจว่ากินมังสวิรัติด้วยตัวเอง อยู่ๆก็ไม่อยากกินเนื้อสัตว์เอง มองว่าในชาตินี้ไม่ได้มีสื่อใดกระตุ้นเลย ถ้ามองแค่ในชาตินี้มันก็เข้าใจถูกตามนี้ ดูว่าเป็นคนเก่ง แต่แท้ที่จริงแล้วความเบื่อหน่ายเนื้อสัตว์นี้เป็นสิ่งที่สะสมมาหลายภพหลายชาติ ซึ่งการจะออกจากสิ่งที่เป็นโทษ เข้าถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงนั้นจะคิดเอาเองไม่ได้ นึกเอา เดาเอา มั่วเอาเองไม่ได้เลย ต้องมีสัตบุรุษหรือผู้รู้สัจจะเป็นผู้บอก ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องราวเก่าแก่ในชาติปางก่อนก็ได้ เพราะทุกอย่างมาแต่เหตุ แล้วเหตุใดที่เราไม่อยากกินเนื้อสัตว์ ทั้งๆที่ในชาตินี้เราก็ไม่ได้เพียรพยายามใดๆเลย แต่กลับเห็นคนอื่นเขาเพียรพยายามกันอย่างยากลำบากตกแล้วตกอีก พลาดแล้วพลาดอีก นั่นเพราะเราทำมามาก ฟังมามาก เลยมีผลส่งมามาก ในส่วนนี้ที่ขยายไว้เพิ่มเพราะคนที่ทำอะไรได้ด้วยตัวเองมักจะมีอัตตาแรง คนเก่งมักมีอัตตาจัดเสมอ ก็ขอให้พิจารณาไว้

3.3 ฟังแล้วมีแต่ข้อดี จึงใช้ความเพียรพยายามในการลดละเลิก

ตรงนี้คือการพิจารณาประโยชน์ของการกินมังสวิรัติ เมื่อจิตเข้าถึงประโยชน์แล้วจึงใช้ความเพียร คนที่กินมังสวิรัติได้สมบูรณ์จริงๆจะรู้ว่าต้องใช้ความเพียรอย่างมากในการตัดกิเลส ในการห้ามใจไม่คิดถึงเนื้อสัตว์ ในการอยู่กลางวงเนื้อสัตว์โดยไม่กิน ในการยอมถูกบ่นถูกด่าจากผู้ที่ไม่เห็นดีกับการกินเนื้อสัตว์โดยไม่โกรธ สิ่งเหล่านี้ต้องใช้ความเพียรมาก ไม่ได้มากันง่ายๆ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เป็นสิ่งที่สั่งสมข้ามภพข้ามชาติมา

3.4 ให้กินเนื้อฟรีก็ไม่กิน แถมเงินก็ไม่กิน

เป็นสภาพของคนที่พ้นจากความอยากแล้วเท่านั้นจึงจะเข้าใจความสบายใจที่ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ คนที่กินมังสวิรัติแต่ไม่ได้ล้างกิเลสจะเหลืออาการอยาก เขาไม่กินแล้วนะแต่เห็นแล้วก็ยังอยากกิน แม้จะสามารถข่มใจไว้ได้แต่กิเลสก็จะโตขึ้นเรื่อยๆดังที่เห็นคนกินมังสวิรัติมานานแต่กลับไปกินเนื้อสัตว์ เพราะกิเลสมันโตจนกดไว้ไม่ไหว

3.5 มีเนื้อให้กินดีๆไม่กิน จะกินผัก

คนกินมังสวิรัตินั้นเป็นคนที่ยอมอดทน แม้จะต้องกดข่มก็ยังเจริญกว่าคนที่กินเนื้อสัตว์ตามกิเลส พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนจะบรรลุธรรมได้เพราะความเพียร ถ้าหากเราอยากพ้นความอยากกินเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นกิเลสที่ผลักดันให้เราไปกินเนื้อสัตว์แล้วเราต้องใช้ความเพียรที่ถูกต้องสู่การพ้นทุกข์ โดยมีความเชื่อที่ถูกต้องสู่การพ้นทุกข์เป็นหางเสือควบคุมทิศทางเช่นกัน

3.6 ชอบทวนกระแสโลก

คนที่สู้กับกิเลส ไม่ยอมทำตามกิเลสนั้นก็ถือว่าได้พยายามทวนกระแสโลก หรือกระแสของกิเลสแล้ว ส่วนจะถึงฝั่งฝันไหมก็คงต้องเพียรต่อไป คำว่าทวนกระแสโลกนั้นในทางธรรมก็เป็นที่เข้าใจอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องของโลกุตระ เป็นเรื่องของอีกโลกที่ไม่เหมือนโลกียะ ไม่เหมือนปลาตายที่ลอยตามน้ำ

3.7 ชอบมาเผยแพร่ลัทธิ

พอเราสามารถกินมังสวิรัติจนเห็นผลดีกับชีวิตและจิตใจตัวเองแล้ว เราก็จะเริ่มทำการเผยแพร่สิ่งดีให้กับคนรัก คนใกล้ชิด และบางครั้งก็ต้องพบกับความไม่ยินดี ไม่เอาด้วย หรือเอาด้วยแต่เอานิดเดียวนะ ซึ่งพอมีการสื่อสารหรือการแลกเปลี่ยนความเห็นความเข้าใจที่แตกต่างกัน ก็จะทำให้เกิดความคิดเห็นไม่ตรงกัน นำมาซึ่งความผิดใจกันและการทะเลาะเบาะแว้งได้

3.8 บ้าในโลกส่วนตัว

คนกินมังสวิรัติที่อยู่ในโลกส่วนตัวนั้นมีให้เห็นกว้างๆอยู่สองพวก หนึ่งคือพวกที่ติดโลกธรรมเลยไม่ถือสาคนอื่น กลัวเขาไม่คบ กลัวเขาว่า กลัวเขาเกลียด กลัวเขานินทา เกรงใจเขา อีกส่วนหนึ่งคือพวกที่สามารถลดกิเลสลดอัตตาได้ ก็จะไม่ถือสาคนอื่นเช่นกัน จะกินมังไปได้อย่างปกติ แม้จะมีคนมาด่าหรือต่อว่าก็จะไม่ไปทำร้ายจิตใจใคร

3.9 บ้าระรานชาวบ้าน

เป็นคนกินมังสวิรัติที่มีอัตตามาก มักจะพยายามยัดเยียดสิ่งดีคือมังสวิรัติให้ผู้อื่น ยัดเข้าไปจนเขาอ้วก จนเขาเอือมระอา จนเขาเกลียดมังสวิรัติไปเลยก็มี และอัตตายังส่งผลให้ปกป้องตัวเองเช่นกัน ดังเช่นเมื่อมีคนมาเห็นต่างเห็นแย้ง พวกเขาก็พร้อมจะหยิบอาวุธขึ้นมาปกป้องความเชื่อของตัวเอง ฟาดฟันผู้อื่นด้วยความคิด คำพูด การกระทำต่างๆ

ถามว่าทำไมถึงเรียกว่าระรานชาวบ้าน ทั้งๆที่ถูกโจมตี เพราะแท้จริงชาวมังสวิรัตินั้นคือผู้มีเมตตา ไม่เบียดเบียนสัตว์โลก นั้นหมายถึงสัตว์และมนุษย์ด้วย แม้ว่าเขาจะมาด่า กล่าวหาว่าร้าย มาโจมตีใดๆก็ตาม ก็ไม่ใช่เหตุที่เราจะต้องไปเบียดเบียนเขากลับเลย

คนมีอัตตาจะมองไม่เห็นตรงนี้เพราะกิเลสจะบังตาทันทีที่มีคนพูดแล้วขัดกับสิ่งที่ตัวเองเชื่อหรือมาด่าต่อว่า เมื่อมองไม่เห็นกิเลสตัวเองก็โทษว่าคนอื่นผิด ว่าแล้วก็โกรธเขาแล้วเข้าใจว่ามันถูกต้อง คือเขาผิดเราจึงโกรธ อันนี้มันความเห็นของคนมีกิเลส มันก็ชั่วอยู่ดีนั่นเอง เบียดเบียนตัวเองและผู้อื่นอยู่ดีนั่นเอง

3.10 ดูสิพวกกินมังฯทั้งโง่ทั้งบ้า

มีเนื้อให้กินก็ไม่กิน กินฟรีก็ไม่กิน กินแต่ผัก ไม่ไปตามกระแสโลก ไม่ไปตามกิเลส คนทั่วไปเขามองเราแบบนี้มันก็ถูกของเขา เพราะเขาเห็นว่าทำแบบเรามันลำบาก มันทรมาน มันบ้า ไม่มีใครเขามาล้างกิเลส ลดกิเลสกันหรอก เขามีแต่จะพากันเพิ่มกิเลส

ในประโยคสุดท้ายนี่ทิ้งไว้โดยสื่อสารอย่างชัดเจนว่าคนที่เลือกกินเนื้อนั้นกินตามกิเลส ส่วนคนคิดจะกินมังสวิรัตินั้นคือคนทวนกระแสกิเลส หากผู้ใดได้พิจารณาบทความ คนบ้ากินมัง ดีๆจนกระทั่งในตอนจบก็จะไม่มีความสงสัยใดในบทนี้ ยกเว้นตัวท่านเองกินมังสวิรัติโดยไม่รู้เรื่องกิเลส ซึ่งก็ขอให้ท่านค่อยๆศึกษาและติดตามจากบทความอื่นๆที่ผมได้นำเสนอมาแล้วและจะนำเสนอต่อไปอีกเรื่อยๆ

…สุดท้ายนี้ขอยืนยันว่าถ้าคนล้างกิเลสเรื่องมังสวิรัติได้จริงจะสามารถอ่านบทความ “คนบ้ากินมังฯ” ได้ฉลุย ผ่านตลอด ไม่มีแม้ความขุ่นเคืองใจใดๆในทุกวินาทีที่อ่าน เพราะเขาเหล่านั้นได้ล้างอัตตาหรือความยึดดีในมังสวิรัติซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์ เหตุที่ทำให้ไม่พอใจ ทำให้ขุ่นเคือง หรือทำให้โกรธออกไปเรียบร้อยแล้ว

ส่วนผู้ที่เห็นอัตตาของตัวเอง และเริ่มเห็นว่านี่แหละคือศัตรูตัวร้ายที่แอบซ่อนและฝังอยู่ในจิตใจของเรามานาน เป็นตัวที่ทำให้เราทุกข์ทุกครั้งเมื่อต้องเจอกับประเด็นต่างๆที่ไม่พอใจในเรื่องมังสวิรัติ ก็แนะนำให้เรียนรู้เรื่องกิเลส เรียนรู้เกี่ยวกับการล้างกิเลส ท่านจะศึกษากับครูบาอาจารย์หรือใช้วิธีอื่นก็ได้ตามที่ชอบหรือเห็นควรก็ได้

ซึ่งในส่วนของผมเองนั้นจะสร้างกลุ่มที่คุยเรื่องมังสวิรัติกับกิเลสที่ Buddhism Vegetarian

– – – – – – – – – – – – – – –

1.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

เหตุแห่งทุกข์ ยากแท้หยั่งถึงเพียรพิจารณาให้ลึกซึ้งจึงจะเข้าใจ

October 14, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 24,341 views 1

เหตุแห่งทุกข์ ยากแท้หยั่งถึงเพียรพิจารณาให้ลึกซึ้งจึงจะเข้าใจ

เหตุแห่งทุกข์ ยากแท้หยั่งถึงเพียรพิจารณาให้ลึกซึ้งจึงจะเข้าใจ

คำว่าทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้จักกันอยู่แล้ว ไม่มีใครเกิดมาไม่พบกับทุกข์ ทุกคนที่อยู่บนโลกนี้ไม่ว่าจะเป็นใครก็ต้องพบกับทุกข์ เป็นสัจจะ เป็นความจริงแท้ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ทุกข์นั้นมีอยู่สองส่วน หนึ่งทุกข์ที่เลี่ยงไม่ได้ และสองคือทุกข์ที่เลี่ยงได้นั่นก็คือทุกข์จากกิเลสนั่นเอง เราจะมากล่าวถึงทุกข์จากกิเลสกัน

ทุกข์นั้นจะเกิดได้ก็เพราะมีเหตุ เหตุแห่งทุกข์ นั้นพระพุทธเจ้าเรียกว่า “สมุทัย” และเหตุแห่งทุกข์นั้นแท้จริงแล้วอยู่ข้างในตัวเรา

(1). ด่านแรก ทุกข์อยู่ข้างใน…

ด่านแรกของการเห็นเหตุแห่งทุกข์เลยก็คือมันอยู่ที่ตัวเรา ใครที่พบเจอกับความทุกข์แล้วมัวแต่มองหาคนผิด มองหาผู้ที่ทำให้ตนทุกข์ มองหาคนรับผิดชอบในทุกข์นั้น เป็นคนที่มองไม่เห็นเหตุแห่งทุกข์ เพราะทุกข์นั้นเกิดจากใจของตัวเอง เกิดจากกิเลสของตน เกิดจากกรรมของตน การจะรู้เหตุแห่งทุกข์ได้จึงต้องยอมรับว่าทุกข์นั้นเกิดจากตนเองก่อนเป็นอันดับแรก

(2). ด่านที่สอง ทุกข์ที่เห็นอาจจะไม่ใช่เหตุแห่งทุกข์

ทุกข์ที่เห็นนั้น มักจะเป็นผลสุดท้ายของการไม่ได้เสพสมใจ แต่หลายคนไปเข้าใจผิดว่าความทุกข์นั้นคือเหตุแห่งทุกข์ เช่นเราถูกเพื่อนสนิทนินทา เราโกรธเพื่อน แล้วเรารู้สึกว่าโกรธเป็นทุกข์ เราจึงเห็นว่าความโกรธคือเหตุแห่งความทุกข์ ซึ่งจริงๆแล้วความโกรธนั้นเป็นผลที่ปลายเหตุแล้ว จะไปดับความโกรธนั้นก็ได้ก็เรียกว่าดี แต่ก็ถือว่าไม่ได้ดับเหตุแห่งทุกข์อย่างแท้จริง

มีหลายลัทธิพยายามที่จะดับความคิด ดับเวทนา ดับความสุข ทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการได้กระทบสิ่งต่างๆที่เข้ามาในชีวิตประจำวัน โดยพยายามทำการดับสิ่งที่เกิดขึ้น ดับจิตที่เป็นทุกข์ ซึ่งก็เป็นการดับปลายเหตุที่ดีวิธีหนึ่ง แต่ก็เหมือนมองเหตุที่ปลายเหตุเพียงอย่างเดียวไม่ได้เข้าไปค้นที่ต้นเหตุ มองเพียงว่าจิตใจที่สั่นไหวนั้นคือเหตุเท่านั้น เหมือนกับเกิดแผ่นดินไหว เขาเหล่านั้นมักมองปัญหาคือแผ่นดินไหว บ้านเรือนพังทลายคือปัญหา เขาต้องหยุดการพังทลายหรือพยายามสร้างบ้านที่ป้องกันแผ่นดินไหวได้ แต่ผู้ที่ค้นหาเหตุจริงๆ คือเข้าไปค้นหาว่าแผ่นดินไหวจากสาเหตุใด แผ่นดินเคลื่อนเพราะอะไร อากาศร้อนเย็นมีผลหรือไม่ ค้นหาไปถึงนามที่ทำให้เกิดรูปคือแผ่นดินนั้นเคลื่อนไหวได้ และดับเหตุนั้นจึงจะเป็นการดับทุกข์ที่เหตุแห่งทุกข์อย่างแท้จริง

มีหลายลัทธิที่มองว่าทุกข์นั้น เป็นเพียงสิ่งที่ผ่านมาผ่านไปตามกฎของไตรลักษณ์ คือความไม่เที่ยง จริงอยู่ว่าทุกข์ที่เกิดนั้น มันเกิดขึ้นมา มันตั้งอยู่ และมันก็ดับไป เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ผู้ที่เข้าใจเช่นนี้จะสามารถปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในทุกข์ที่เกิดได้ดีระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถดับเหตุแห่งทุกข์ได้ เสมือนกับผู้ที่มองแผ่นดินไหว บ้านเรือนพังทลายด้วยจิตใจว่างๆ แล้วก็สร้างใหม่ แล้วก็พังใหม่ แล้วก็สร้างใหม่ แล้วก็พังใหม่ เกิดดับ เกิดดับเช่นนี้ตลอดไป ด้วยพวกเขาเหล่านั้นไม่รู้วิธีดับทุกข์ที่เหตุ เมื่อไม่ได้เข้าไปดับเหตุแห่งทุกข์ ทุกข์ที่เกิดจากกิเลสก็ต้องเกิดขึ้นอยู่เรื่อยไป แม้จะดับไปตามกฎ แต่ก็จะเกิดขึ้นมาใหม่ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

(3). ด่านที่สาม ขุดค้นเหตุแห่งทุกข์

เมื่อเราเห็นได้ว่า การค้นหาเหตุแห่งทุกข์โดยการดูแค่ผิวเผินนั้นไม่สามารถทำลายเหตุแห่งทุกข์ได้อย่างแท้จริง เราจึงต้องมาค้นหาว่าเหตุแห่งทุกข์นั้นอยู่ตรงไหนกันแน่

ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนนินทาเรา เราก็โกรธเพื่อน ความเข้าใจทั่วไปจะดับความโกรธที่เกิดตรงนี้ แต่ในความจริงแล้ว ความโกรธ (โกธะ)คือกิเลสปลายทาง เป็นสภาพทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการไม่ได้ครอบครองสมใจ ไม่ได้มาอย่างใจหมาย เราจึงแสดงอาการโกรธเหล่านั้นออกไป อันเกิดจากความโลภ ความอยากได้ อยากครอบครองเกินความจำเป็นจริง เกินจากความจริง(โลภะ) คือเราอยากให้เพื่อนทุกคนพูดดีกับเรา การที่เราอยากให้ทุกคนพูดดีกับเรานั้นเพราะเราเสพติดคำพูดดีๆอยากฟังสิ่งดีๆ (ราคะ) ทั้งหมดนี้มีรากมาจากความหลง(โมหะ) หลงไปว่าการได้เสพคำพูดดีๆ จะนำมาซึ่งความสุขให้ตน เป็นต้น

ลำดับของกิเลสที่จะเห็นได้จากละเอียดไปหยาบคือ…

โมหะ เพราะเราหลงติดหลงยึดในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเราจะอยากเสพสิ่งนั้น เป็นรากที่ละเอียดที่สุด แก้ยากที่สุด

ราคะ เราอยากเสพสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เกิดจากเราหลงชอบหลงยึดสิ่งนั้น พอเสพก็ติด ยิ่งเสพก็ยิ่งจะอยากเสพเพิ่มอีก

โลภะ เมื่อเราชอบสิ่งนั้นอยากเสพสิ่งนั้น ก็จะพยายามหามาปรนเปรอกิเลสตัวเอง จนเกิดการสะสม หามามากเกินความจำเป็น หวง ไม่ยอมให้ใครเพราะกลัวตัวเองจะไม่ได้เสพ

โกธะ เป็นกิเลสปลายเหตุ เกิดขึ้นเมื่อไม่ได้เสพสมใจอยาก เมื่อมีคนพรากสิ่งที่อยากเสพไปรุนแรง เป็นไฟที่ทำลายได้ทุกอย่าง

การวิเคราะห์พิจารณาหาเหตุแห่งทุกข์นี้ ต้องใช้กระบวนการของสติปัฏฐาน๔ คือกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม เข้ามาวิเคราะห์กิเลสเหล่านี้ ซึ่งสติปัฏฐาน๔ นี้ต้องปฏิบัติทุกองค์ประกอบไปพร้อมกัน คือ กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นก้อนเดียวกัน เป็นกระบวนการเดียวกัน ไม่สามารถแยกออกมาใช้เป็นตัวๆอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจได้

เมื่อปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน๔ อย่างถูกต้องจึงจะมีสิทธิ์ได้เห็นไปถึงเหตุแห่งทุกข์อันคือความหลงติดหลงยึดในกิเลสใดๆได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะพิจารณาครั้งเดียวก็เห็นได้ทุกอย่าง เพราะกิเลสนั้นลึกลับซับซ้อน จนบางครั้งเราอาจจะต้องให้เหตุการณ์นั้นๆเกิดขึ้นหลายที หรือพิจารณาซ้ำๆในจิตใจอย่างหนักเพื่อที่จะทำให้เห็นเข้าไปถึงเหตุแห่งทุกข์นั้น

การวิเคราะห์กิเลสเหล่านี้บางครั้งสติปัญญาที่เรามีอาจจะไม่สามารถทำเหตุแห่งทุกข์ให้กระจ่างได้ การมีมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี คือมีครูบาอาจารย์ที่คอยชี้แนะ มีเพื่อนกัลยาณมิตรที่คอยแนะนำ ก็จะช่วยให้สติ ช่วยให้เกิดปัญญาที่มากขึ้นกว่าขอบเขตที่เราเคยมีได้

(4). ด่านที่สี่ เหตุแห่งทุกข์เกิดจากการหลงในกิเลส

ความหลงในกิเลสนั้นมีมิติที่หลากหลาย หากเราเข้าใจเพียงแค่ว่าหลง แต่ไม่รู้ว่าหลงในอะไร ก็ยากที่จะแก้ไปถึงเหตุได้ เพราะถ้าไม่รู้สาเหตุว่าหลงในอะไร ก็คงจะไม่สามารถดับทุกข์ได้ เพราะการดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ เมื่อดับไม่ถูกเหตุ ทุกข์ก็ไม่ดับ เราจะมาลองดูเหตุแห่งทุกข์ อันคือความหลงยึดในกิเลสสี่ตัวนี้กัน

(4.1). อบายมุข

คือกิเลสขั้นหยาบที่พาให้คนหลงไป สามารถหลงจนไปนรก ไปเดรัจฉานได้เลย คือความหลงในอบายมุขต่างๆ เช่นเที่ยวเล่น เที่ยวกลางคืน เล่นพนัน หวย หุ้น เสพสิ่งมึนเมาทั้งหลายไม่ว่าจะสุรา บ้าดารา กิจกรรมหรือสิ่งต่างๆที่ทำให้จิตใจมัวเมา เที่ยวดูการละเล่น ดูละคร ดูหนัง ดูทีวี เพื่อความบันเทิงใจ คบคนชั่ว พาไปทางเสื่อม พาให้เล่นพนัน พาให้มัวเมา พาให้เป็นนักเลง พาให้หลอกลวงผู้อื่น พาให้คดโกง และความเกียจคร้านการงาน

คนส่วนมากมักจะติดในอบายมุขจนดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา ผู้ที่พยายามทำตัวกลืนไปกับสังคมโดยใช้ค่ามาตรฐานของสังคมเป็นตัววัดความดี จะถูกกิเลสมวลรวมของคนส่วนใหญ่ลากไปลงนรก หรือที่เรียกว่าอุปาทานหมู่ คือสังคมคิดไปเองว่ากิเลสเหล่านั้นเป็นเรื่องธรรมดา เรื่องที่ใครๆก็เสพกัน ทั้งๆที่เป็นอบายมุข เป็นกิเลสหยาบที่พาให้ชีวิตเดือดร้อน เมื่อเสพอบายมุขก็จะยิ่งนำพากิเลสตัวอื่นที่หยาบเข้ามา เสพมากๆก็ติด พอไม่เสพก็โกรธไม่พอใจ เป็นทุกข์

(4.2). กามคุณ

คือความหลงในกิเลสที่พาให้อยากเสพใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เช่นชอบแต่งตัวสวย ชอบคนหน้าตาดี อาหารอร่อย กลิ่นที่หอม เสียงไพเราะ เตียงที่อ่อนนุ่ม หรือกระทั่งเรื่องการเสพเมถุน ทั้งหมดนี้อยู่ในหมวดของการหลงในกาม เมื่อเราหลงติดในกามเหล่านี้ ก็จะพาให้เราอยากเสพกามตามที่เราติด พอเสพมากๆก็พาสะสม พอไม่ได้เสพสมใจก็โกรธเป็นทุกข์

(4.3). โลกธรรม

โลกธรรมคือกิเลสที่ละเอียดที่ฝังอยู่ในคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็น ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียะสุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ก็เป็นสภาพของโลกธรรม เมื่อคนหลงในลาภก็จะสะสมมาก หลงในยศก็จะไต่เต้าเพื่อหายศหาตำแหน่ง หลงในสรรเสริญก็จะพยายามทำตัวให้เป็นที่น่าสนใจ อยากให้คนยอมรับ เชิดชูบูชา หลงในโลกียะสุขก็จะแสวงหาสุขในทางโลก สุขที่วนอยู่ในโลก เมื่อเสพสิ่งเหล่านี้มากเข้า ก็จะเริ่มสะสม เริ่มหวงลาภ ยศ สรรเสริญ สุข พอไม่ได้หรือเกิดสภาพของความเสื่อมทั้งหลายก็จะโกรธ เป็นทุกข์ เสียใจ

(4.4). อัตตา

อัตตาคือกิเลสที่ละเอียดที่สุดที่คนหลงยึดไว้ ไม่ว่าจะอบายมุข กามคุณ โลกธรรม สุดท้ายก็ต้องมาจบที่อัตตา เป็นเสมือนรากของกิเลส ส่วนที่เหลือนั้นเหมือนกิ่งก้านใบของกิเลสเท่านั้น ผู้ที่ดับอัตตาได้ก็จะเข้าสู่อนัตตา เป็นภาษาที่พูดกันได้ง่ายแต่ทำได้ยากยิ่ง

อัตตานั้นคือความยึดมั่นถือมั่น เรายึดมั่นถือมั่นตั้งแต่คน สัตว์ วัตถุสิ่งของ หรือสิ่งที่เป็นรูปเป็นร่างจับต้องได้ เรายึดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของเรา เราอยากครอบครอง วัตถุ คน สัตว์ สิ่งของเหล่านี้มาเป็นตัวตนของเราซึ่งจะสะท้อนออกไปอีกทีในรูปของ อบายมุข กาม โลกธรรม เช่นเราอยากคบหาคนผู้นั้นไว้เพราะเขารวย เพราะเขามีชื่อเสียง เพราะเขามีอำนาจ หรือเรายึดว่าคนต้องกินเนื้อสัตว์ คนเป็นสัตว์กินเนื้อเพราะเราหลงในกาม หลงติดในรสชาติรสสัมผัส เมื่อเราจะกำจัดกามเหล่านั้นแล้วก็ต้องมากำจัดอัตตาไปพร้อมๆกันด้วย

เรายังสามารถที่จะติดรูปที่สำเร็จด้วยจิตของตัวเองได้อีก เช่นการคิดฝัน ปั้นจินตนาการไปเองว่าคนนั้นพูดแบบนั้นคนนั้นพูดแบบนี้ คนนั้นเขาคิดกับเราแบบนั้น เขาจะทำกับเราแบบนี้ หลงไปว่าการเสพอบายมุขนั้นเป็นสุข หลงไปว่าการเสพกามนั้นเป็นสุข หลงไปว่าการเสพโลกธรรมนั้นเป็นสุข เป็นสภาพที่จิตสร้างความสุขหลอกๆขึ้นมาหลอกตัวเอง หรือถ้าหนักๆก็จะเป็นพวกเห็นผี เข้าทรงกันไปเลย ทั้งหมดนั้นเป็นสภาพที่จิตนั้นปั้นขึ้นมาเป็นรูปให้เราได้เห็น จึงเรียกว่ารูปที่สำเร็จด้วยจิตเป็นกิเลสของเราเองที่สร้างความรู้สึกสุข ชอบใจ พอใจ สร้างเป็นภาพ เป็นเสียงขึ้นมาให้เราได้ยิน ทั้งๆที่จริงแล้วมันไม่มี แต่เราไปยึดไว้และหลงเสพสิ่งที่ไม่มีเหล่านั้น ในเมื่อสิ่งนั้นไม่มีจริง ไม่ใช่ของจริง ไม่เที่ยง สุดท้ายเมื่อไม่ได้เสพสมใจก็จะเป็นทุกข์

อัตตายังอยู่ในสภาพไร้รูป หรือที่เรียกว่า อรูปอัตตา เช่น ความเห็น ความเข้าใจ ศักดิ์ศรี ความรู้ ฯลฯ เราก็ไปหลงยึดสิ่งเหล่านี้ไว้ เช่น เราเข้าใจธรรมแบบนี้ เราก็ยึดสิ่งนี้เป็นตัวตนของเรา พอใครมาพูดไม่เหมือนที่เราคิด ไม่เหมือนที่เราเข้าใจ เราก็จะมีอาการขัดข้องใจ ไม่พอใจ โกรธ เพราะเราไม่ได้เสพสมอัตตา คือต้องการให้คนอื่นมาทำให้ได้ดังใจเราหมาย หรือทำตามอัตตาเรานั่นเอง

….เมื่อได้รู้กิเลสทั้งหมดนี้แล้ว เราจึงควรใช้เวลาพิจารณากิเลสในตัวเองอย่างแยบคาย ทำให้เห็น ทำให้ชัดเจนว่าเราติดในกิเลสตัวไหน ปนกับตัวไหน มีรากมาจากตัวไหน การค้นหารากของกิเลสไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย กิเลสบางตัวอาจจะใช้เวลาเป็นเดือน เป็นปี หรือทั้งชีวิตอาจจะไม่สามารถเห็นเลยก็ได้ถ้าไม่พากเพียร และไม่คบมิตรที่ดี

(5). ด่านที่ห้า ดับเหตุแห่งทุกข์นั้นเสีย

เมื่อเห็นเหตุแห่งทุกข์แน่ชัดแล้ว เห็นตัวการของกิเลสแน่ชัดแล้ว ก็ให้เพียรพยายามทำให้ถึงความดับ โดยใช้มรรควิธี ก็คือการปฏิบัติมรรคทั้ง ๘ นั่นแหละ จะใช้สมถะ วิปัสสนาก็ได้ จะใช้สัมมัปปธาน ๔ ก็ได้ จะใช้โพชฌงค์๗ ก็ได้ จะใช้จรณะ๑๕ ก็ได้ จะใช้ทั้งโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ก็ได้ หรือจะใช้ธรรมใดตามที่ถนัดก็ได้ เพราะธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งหมดนั้นเป็นไปเพื่อการละกิเลส เพื่อการล้างกิเลส เพื่อการดับกิเลสอยู่แล้ว

การจะค้นเจอเหตุแห่งทุกข์นั้นว่ายากแล้ว การดับทุกข์ที่เหตุนั้นยากยิ่งกว่า เพราะต้องใช้ความเพียรพยายาม ใช้อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เข้ามาเป็นแนวทางปฏิบัติที่ทำที่สุดแห่งทุกข์ คือการดับทุกข์นั้นอย่างสิ้นเกลี้ยงโดยการดับกิเลสนั้นนั่นเอง

สรุป

การที่เราต้องมาหาเหตุแห่งทุกข์อย่างยากลำบากนี้ เพราะพระพุทธเจ้าได้ชี้ขุมทรัพย์ไว้ว่า ดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ แต่บางครั้งเรามักจะมองเหตุแห่งทุกข์นั้นตื้นเกินไป เหมือนกับเราที่เราอยากกำจัดหญ้า แต่ก็ทำแค่เพียงตัดหญ้าที่มันยาวพ้นดินออกมา บ้างเก่งกว่าก็ว่าขุดรากถอนโคนหญ้านั้นไปเลย แต่สุดท้ายหญ้าก็จะขึ้นมาใหม่ เหมือนกับกิเลสนั้นกลับมาโตใหม่อีกครั้ง

ผู้มีปัญญาย่อมขุดรากถอนโคนกิเลสทั้งหมด ทั้งตัดหญ้า ขุดรากถอนโคน และนำดินมาเผา ทำลายเมล็ดหญ้าที่ยังหลงเหลืออยู่ในฝืนดินซึ่งเป็นเมล็ดนี้เองเป็นแหล่งเกิดของหญ้า เหมือนกับตัณหา ถ้าเรายังดับตัณหาคือความอยากไม่ได้ ความอยากเหล่านั้นก็จะค่อยๆเติบโต เหมือนกับผืนดินที่เต็มไปด้วยเมล็ดหญ้า หากไม่กำจัดเมล็ดออก ก็มีแต่จะต้องมาคอยตัดหญ้า ขุดรากถอนโคนหญ้ากันทุกชาติไป

ดังนั้นผู้มีปัญญาพึงกำจัดทุกข์จากเหตุแห่งทุกข์ เผากิเลสเหล่านั้นด้วยไฟแห่งฌาน ให้ทุกข์ที่เกิดจากกิเลสนั้นสลายไป ทำลายกามภพ ทำลายรูปภพ ทำลายอรูปภพของกิเลสนั้น ไม่ให้มีแม้เสี้ยวอารมณ์ความอยากที่เกิดภายในจิต แม้จะตรวจด้วยอรูปฌานสักกี่ครั้งก็ไม่พบความอยากในจิตอีก เมื่อนั้นแหละที่เขาเหล่านั้นจะได้พบกับสภาวะที่เรียกว่า “สัญญาเวทยิตนิโรธ” คือการดับกิเลสที่อยู่ในสัญญาอย่างสิ้นเกลี้ยง ถือเป็นการสิ้นสุดการต่อสู้กับกิเลสนั้น ได้รับชัยชนะที่ทำได้ยาก เป็นสิ่งที่บัณฑิตต่างสรรเสริญ

– – – – – – – – – – – – – – –

13.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์