Tag: อกุศล

สรุปการไม่กินเนื้อสัตว์(แบบสั้น)

October 5, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,256 views 0

เรื่องไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานี่มันเรื่องตื้นๆนะ ใช้แค่ปัญญาตื้นๆ เป็นสามัญ คนที่ไม่นับถือศาสนาเขาก็ยังเข้าใจได้

ว่าการกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาเนี่ย มันส่งผลโดยตรงต่อการฆ่า เป็นการร่วมวงจรแห่งการเบียดเบียน เอาแค่ตรงนี้ก่อน มันเป็นอกุศลชัดๆอยู่แล้ว

แล้วคนมีปัญญาที่ไหนเขาจะเสียเวลาไปทำอกุศลให้มันลำบากตัวเอง ทั้งๆที่เลือกได้เล่า

สรุปกันให้ชัดๆ ว่าจะไปโง่ทำทุกข์ใส่ตัวเองทำไม (…ที่มันโง่เพราะมันมีกิเลสนั่นแหละ)

อย่ามัวแต่โทษกรรมเก่า เพราะกรรมเก่าแต่ปางก่อนไม่ใช่ทุกอย่างเสมอไป

July 2, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,766 views 0

อย่ามัวแต่โทษกรรมเก่า เพราะกรรมเก่าแต่ปางก่อนไม่ใช่ทุกอย่างเสมอไป

อย่ามัวแต่โทษกรรมเก่า เพราะกรรมเก่าแต่ปางก่อนไม่ใช่ทุกอย่างเสมอไป

แม้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเลยมาจนถึงทุกวันนี้ จะสะสมลงเป็น “กรรม” ที่เรียกว่ากรรมเก่า เพราะทำลงไปแล้วเกิดผลแล้ว สะสมผลนั้นไปแล้ว และจะรอวันให้ผลในวันใดวันหนึ่ง แต่กรรมเก่านั้นก็ไม่สามารถลิขิตขีดเขียนให้ทุกอย่างเป็นไปตามเส้นทางของมันได้เสมอไป

เมื่อเราเจอเหตุการณ์ใดๆ บางครั้งเรามักจะเหมาว่าเป็นเหตุจากกรรมเก่าเสียทั้งหมดซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นแบบนั้นไปเสียทั้งหมด แต่ถ้าหากเราโยนทุกอย่างให้เป็นเรื่องของกรรมเก่า เราก็คงจะต้องวนเวียนใช้กรรมและสร้างกรรมเช่นนี้ตลอดไปอย่างแน่นอน

ในบทความนี้จะมานำเสนอความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องกรรม ในมุมของกรรมเก่า ให้เข้าใจกันมากขึ้นเพื่อเสริมให้เกิดความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องสู่การพ้นทุกข์

1). กรรมเก่า เก่าแค่ไหน?

คำว่ากรรมเก่านั้นเป็นคำกว้างๆ แม้จะเอ่ยมาก็ไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร เพราะกรรมเก่ามีตั้งแต่กรรมเก่าตั้งแต่ชาติปางก่อน ชีวิตก่อน จนกระทั่งถึงกรรมเก่าที่พึ่งจะทำลงไปเมื่อไม่กี่วินาทีที่ผ่านมานี้ ทั้งหมดเรียกว่ากรรมเก่าทั้งสิ้น เพราะผ่านพ้นไปแล้ว ทำไปแล้ว แก้ไม่ได้แล้ว เมื่อทำไปแล้วก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องคอยรับผลกรรมนั้นไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม

2). กรรมเก่านั้นรู้ได้ยาก

กรรมเก่าที่สะสมมาก่อนจะมาถึงชีวิตนี้นั้นรู้ได้ยากมาก แม้กรรมในชาตินี้ที่ทำลงไปก็ยังรู้ได้ยากเช่นกัน แต่เราก็สามารถรู้ได้จากทุกสิ่งที่เข้ามากระทบเรา นั่นก็คือผลของกรรมที่เราทำมา กรรมจะทำหน้าที่ส่งผลเท่ากับที่เราทำมา ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป โดยมีสัดส่วนที่แบ่งไว้อย่างพอเหมาะพอควรแก่ฐานะ

นั่นหมายถึงทุกสิ่งที่เข้ามาทำให้เราเกิดสุข เกิดทุกข์ นั่นคือสิ่งที่ยุติธรรมและสมควรที่สุดที่เราจะได้รับ และผลของกรรมนั่นเองก็คือกระจกที่สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่เราทำมา เราอาจจะสามารถระลึกถึงเหตุการณ์ของกรรมเก่าที่ทำในชาตินี้ได้บ้าง ในส่วนของกรรมเก่าแต่ชาติปางก่อนเราอาจจะพอรู้ได้จากความสุขทุกข์ที่ได้รับมา นั่นคือสิ่งที่เราทำมาทั้งนั้น แต่ทั้งหมดนั้นก็ไม่สำคัญเท่ากับเราได้เรียนรู้อะไรจากการรับผลกรรมเหล่านั้น

3). เห็นกรรม ไม่เห็นเหตุแห่งทุกข์

บางคนเมื่อเจอความทุกข์ จะใช้เรื่องกรรมเข้ามาเป็นตัวช่วยให้ปล่อยวาง เช่นเมื่อรู้ว่าเราทำมา คิดว่าเราทำมา ก็สามารถปล่อยวางได้ ยิ่งระลึกถึงเหตุการณ์ร้ายๆที่เราทำมาสมัยก่อนก็ยิ่งจะทำให้เกิดความสลดใจ ยอมรับความผิดบาปของตัวเองได้ง่าย แต่กระนั้นก็ยังมีกรรมที่สืบสาวราวเรื่องได้ยาก เช่นกรรมที่สะสมมาเนิ่นนานจนมาเกิดผลเอาชาตินี้ แม้จะตรวจไปเท่าไหร่ก็หาที่มาไม่ได้ จึงมักจะทำได้เพียงคิดว่าเราก็ทำเช่นนั้นมา และทำใจยินดีรับกรรมจนหมดผลนั้นไป

เราใช้วิธีเหล่านั้นในการเข้าใจผลของกรรม เป็นวิธีที่ดีที่สามารถทำให้ใจสงบและปล่อยวางได้ แต่ก็ยังไม่ใช่วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุด เพราะไม่ได้ตรวจให้ลึกลงไปถึงเหตุเกิด เรียกได้ว่าเห็นทุกข์เกิดอยู่ แต่ไม่เห็นเหตุแห่งทุกข์ กลับไปมอง“ผลของกรรม”ที่เกิดขึ้นเป็น“เหตุแห่งทุกข์

วิบากกรรม หรือผลของกรรม ชื่อก็บอกแล้วว่ามันคือผล คือสิ่งที่สุกงอม คนที่มองเห็นเพียงว่าผลของกรรมที่ได้รับคือเหตุแห่งทุกข์ จะไม่สามารถศึกษากรรมที่เกิดในแต่ละครั้งให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ มักจะทำอยู่ในวิถีของสมถะ คือการใช้ความเข้าใจกรรมมาเป็นอุบายช่วยในการทำจิตให้สงบนิ่ง

ในเมื่อวิบากกรรม คือผล มันก็ต้องมีเหตุ เหตุที่ว่าคือทำไมเราจึงไปสร้างกรรมดีหรือกรรมชั่วจนต้องมารับผลกรรมเหล่านั้น ในส่วนของกรรมชั่วก็คือกิเลส กิเลสคือเหตุให้สร้างกรรมชั่ว ส่วนจะเป็นกิเลสชนิดไหน ลีลาใดก็ลองวิเคราะห์จากผลของกรรมของตัวเองได้ ในส่วนของกรรมดีก็คือปัญญา ผู้มีปัญญาก็จะสร้างกรรมดี หรือกุศลกรรม เพื่อใช้อาศัยให้เกื้อหนุนความสุข ความเจริญ ตลอดจนเป็นสิ่งเกื้อหนุนสู่การหลุดพ้นจากกิเลส

ดังนั้นแม้จะเห็นว่าผลของกรรมนั้นคือสิ่งที่เราทำมาจนทำให้เราต้องเกิดทุกข์ แต่ก็ยังเป็นระดับของความเข้าใจในกรรมที่ยังตื้นเขิน เพราะในผลของกรรมแต่ละอย่างก็ยังมีเหตุของสิ่งนั้น เราจึงควรศึกษาให้เห็นเหตุของกรรมดีกรรมชั่วนั้น พระพุทธเจ้าสอนว่าดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ ถ้าเราไม่แจ่มแจ้งในเหตุของกรรม ก็จะไม่สามารถดับทุกข์ได้เลย

4). รำไม่ดีโทษปี่โทษกรรม

พอเราไม่เห็นเหตุแห่งกรรมนั้นๆ ว่าเกิดจากอะไร ก็มักจะมีความเห็นไปในแนวทางที่ว่า “ทุกสิ่งที่เกิดนั้น เกิดจากกรรมเก่า” โดยมากจะเป็นเรื่องของทุกข์ เมื่อเราเจอทุกข์เราก็มักจะโยนปัญหาทั้งหมดให้เป็นเรื่องของกรรม เจอเหตุการณ์ เจอสิ่งร้ายอะไรก็โยนให้เป็นเรื่องของกรรมเก่าทั้งหมด ทั้งๆที่บางครั้งบางเหตุการณ์ก็เกิดจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดอันเป็นผลมาจากความเห็นผิด เพราะมีกิเลสเป็นสิ่งที่พาให้หลง

ดังนั้นเมื่อเราโยนทุกอย่างให้เป็นเรื่องของกรรมเก่า โดยเฉพาะโยนไปที่กรรมเก่าแต่ปางก่อน ก็อาจจะทำให้ไม่ได้แก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดในตัวเอง เพราะไปโทษว่าทุกสิ่งเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้เสียหมด

5). กรรมลิขิต แต่เราเป็นคนเลือกเดิน

ผลของกรรมนั้น ลิขิตขีดเขียนเส้นทางของชีวิตให้ก้าวเดิน เป็นเหมือนบทละครที่บีบบังคับให้เราเล่นไปตามกรรมที่ทำมา แม้กรรมจะลิขิตไว้เช่นนั้น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องหลงเล่นละครไปตามกรรมเก่านั้นเสมอไป

ในแต่ละวินาทีของชีวิต เราจะได้รับโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงเส้นทางของกรรม เราสามารถขีดเขียนทางเดินของเราใหม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรายังเป็นคนที่กินเนื้อสัตว์อยู่เป็นประจำ แล้วมีคนมาบอกว่าการลดเนื้อกินผักนั้นดี เป็นสิ่งที่ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ทั้งยังดีต่อสุขภาพอีกด้วย เมื่อได้รับข้อมูลดังนี้ เรามีสิทธิที่จะตัดสินใจเลือกเปลี่ยนแปลงกรรมได้

ทางที่ชัดเจนนั้นมีอยู่แค่สองทางคือกุศลและอกุศล หรือดีและชั่ว ถ้าเราตัดสินใจว่า ที่เขาเสนอมามันก็ดีนะ แม้เราจะยังรู้สึกขัดใจอยู่บ้าง แต่ก็อยากจะลองศึกษาเพิ่ม อยากจะลองทำดูสักครั้ง ตรงนี้เป็นการสร้างกรรมดี เกิดมโนกรรมที่ดี แม้จะยังไม่ได้เลิกกินเนื้อสัตว์แต่ก็มีทิศทางที่ไปสู่ความดีงาม

แต่ถ้าเราได้ฟังแล้วคิดว่า จะเลิกกินทำไมอร่อยจะตาย เนื้อสัตว์เป็นเพียงธาตุ เราต้องการโปรตีน อันนี้ก็จะไปทางอกุศล คือมีแนวโน้มจะเสพเหมือนเดิม ตามใจกิเลสเหมือนเดิม ทำตัวปล่อยไปตามกรรมเดิม คือมีความหลงติดหลงยึดในเนื้อสัตว์เหมือนเดิม ที่จริงแล้วจะว่าเหมือนเดิมก็คงไม่ใช่ เพราะจริงๆแล้วเมื่อมีสิ่งที่ดีเข้ามาในชีวิตแล้วเรามีอาการต่อต้าน นั่นหมายถึงเราต้องเพิ่มความชั่วขึ้นมาเพื่อไม่เอาความดีนั้น นั่นหมายถึงเรากำลังสร้างกรรมชั่วที่จะยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์มากขึ้นนั่นเอง

ทุกวินาทีเราสามารถเปลี่ยนแปลงกรรมของเราได้ว่าจะทำกรรมดีหรือกรรมชั่ว แม้กิเลสที่สะสมมาจะเขียนบทให้เราเอาแต่สิ่งชั่วเป็นหลัก แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่พยายามจะเลิกยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

ผู้ที่ไม่เคยคิดจะฝืนกิเลส ไม่เคยคิดที่จะต่อต้านกิเลส ก็จะคิดว่าตนเองนั้นถูกกรรมทำให้ไหลไปตามความชั่ว ซึ่งเป็นผู้ประมาท เหมือนปลาที่ตายลอยตามน้ำไปสู่ความฉิบหาย แม้สุดท้ายจะอ้างว่าเพราะกรรมทำมา แต่นั่นก็คือชั่วที่ตนทำมาอยู่ดี แล้วเหตุอะไรที่เราต้องหลงทำชั่วตั้งมากมายจนต้องลำบากคอยรับกรรมชั่วที่ทำให้ทุกข์ ทำให้ไร้สติ ทำให้หลงเช่นนี้ เราจึงควรศึกษาในเหตุแห่งกรรมชั่วนั้น เพื่อที่จะทำลายเหตุนั้นในท้ายที่สุด

6). กรรมเก่าที่หนีไม่พ้น

ในส่วนกรรมเก่าที่หนีไม่พ้นนั้นก็มีอยู่ แม้เราจะป้องกันเต็มที่ด้วยกำแพงศีล สร้างกุศล ใช้ชีวิตในแต่ละวันด้วยความไม่ประมาทก็อาจจะมีวันหนึ่งที่ผลของกรรมสุกงอม สร้างเป็นเหตุการณ์ให้เราได้รับทุกข์ที่ไม่มีวันจะป้องกันได้ก็ได้

ยกตัวอย่างเช่น เรากำลังเดินทางไปต่างจังหวัด ขับรถไปด้วยความเร็วปกติ ทำตามกฎจราจร ขับด้วยความระมัดระวัง แต่แล้วกลับมีรถสวนมาชนเข้าอย่างจัง กรณีเช่นนี้เป็นลักษณะของกรรมเก่าอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะถ้าเราเองไม่มีความประมาทซึ่งเป็นกิเลส เหตุหนึ่งของความซวยแล้ว ก็เรียกว่าไม่ได้สร้างกรรมชั่วใหม่ ดังนั้นสิ่งที่กระทบก็เป็นผลจากชั่วเก่าที่เคยทำมานั่นเอง

อีกตัวอย่างในกรณีกรรมดี เราเกิดมาในครอบครัวของผู้ที่มีจิตใจสูง พร้อมด้วยปัจจัย ๔ และความรู้ ตั้งแต่เราเกิดมาเราก็ไม่ได้ทำกรรมดีอะไรเลย แต่เรากลับได้รับทั้งอาหาร การดูแลเอาใจใส่ การสั่งสอนที่ดี และโอกาสในการเรียนรู้ เราคิดย้อนไปก็หาเหตุไม่ได้ว่าทำไมเราจึงได้รับสิ่งที่ดี ทั้งที่เราเกิดมาก็ไม่เห็นได้ทำอะไรที่สมเหตุสมผลที่จะได้รับสิ่งดีเหล่านั้นเลย ดังนั้นสิ่งที่ได้รับก็เป็นผลจากดีเก่าที่เคยทำมานั่นเอง

7). กรรมเก่าปนกิเลสใหม่

เหตุการณ์แต่ละอย่างที่เกิดขึ้น ก็จะมีส่วนผสมของกรรมเก่าและกรรมใหม่ปนกันอยู่ โดยเฉพาะกรรมที่ปนด้วยกิเลสนั้นรู้ได้ยาก เห็นได้ยาก มักจะถูกมองอย่างเหมารวมไปหมดว่าเป็นกรรมเก่า จะยกตัวอย่างให้เห็นทั้งในมุมผลกรรมชั่วที่กิเลส และผลกรรมดีที่ปนกิเลส

ผลกรรมชั่วที่ปนกิเลสเช่น เมื่อเราต้องการใครสักคนเข้ามาเป็นคู่ครองในชีวิต เราก็จะตั้งความต้องการไว้ว่าต้องหน้าตาประมาณนี้ ต้องมีฐานะประมาณนั้น ต้องมีแนวคิดประมาณนี้ ฯลฯ นี้คือการสร้างกรรมชั่วขึ้นเพราะมีความโลภ ราคะและความหลงเป็นพื้นฐาน ซึ่งเมื่อวันหนึ่งเจอคนที่ตรงใจก็ตัดสินใจเลือก ณ ตอนนี้เป็นการปักมั่นในการเสพสมใจตามกิเลสเป็นการสนองกิเลส สร้างกรรมชั่วสะสมขึ้นมาอีก แล้ววันหนึ่งก็กลับโดนคนที่หมายมั่นทิ้งไปอย่างไร้เยื่อใย ซึ่งกรณีนี้จะโทษกรรมเก่าแต่ปางก่อนทั้งหมดไม่ได้ เพราะมีกิเลสเป็นตัวร่วมตั้งแต่แรก ดังนั้นสิ่งที่ได้รับนี้เป็นผลมาจากกิเลสที่ยังคงสืบเชื้อชั่วอยู่ในจิตมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ผลกรรมดีที่ปนกิเลสเช่น เราเห็นคนแก่ขายล๊อตเตอรี่ ใจเราก็มีเมตตาอยากช่วย จึงช่วยซื้อไป แต่ก็ไม่ได้ซื้อด้วยจิตผ่องใส ยังมีความโลภ อยากได้ อยากถูกรางวัลอยู่ตลอดเวลา เมื่อถึงวันออกฉลาก ก็มีความรู้สึกลุ้น อยากให้เป็นเราที่ถูกรางวัล สุดท้ายเกิดถูกรางวัลขึ้นมา ตรงนี้เป็นผลมาจากกรรมเก่าที่สะสมมาด้วย ไม่ใช่เพียงผลที่ช่วยคนแก่ เพราะผลที่ช่วยคนแก่จ่ายไปแค่ไม่กี่ร้อย แต่เมื่อถูกรางวัลกลับได้มากกว่านั้นหลายเท่า ส่วนต่างนั้นคือส่วนของกรรมเก่าที่ทำมา ซึ่งก็แค่เพียงได้รับกรรมดีที่ทำมาเท่านั้น ไม่ได้พิเศษหรือน่าสนใจแต่อย่างใด สิ่งที่น่าสนใจคือความละโมบ เพ่งเล็งอยากได้ในระหว่างที่ถือครองความหวังนั้นต่างหาก คือกรรมชั่วได้สะสมผลลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะรอวันที่ผลของกรรมชั่วนั้นสุกงอมและได้รับผลของกรรมชั่วนั้นต่อไป

….ดังจะเห็นได้ว่า ในเรื่องของกรรมก็ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย กรรมและผลของกรรมนั้นเป็นหนึ่งในสัมมาทิฏฐิ ๑๐ ที่ยังมีกิเลสปนอยู่ ซึ่งก็เป็นความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องสู่การพ้นทุกข์แล้ว

การเรียนรู้เรื่องกรรมให้แจ่มแจ้งนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาธรรมะ ผู้ที่เรียนรู้กรรมอย่างละเอียดจนไม่มีใครเทียบได้คือพระพุทธเจ้า ท่านรู้ว่ากรรมใดจะให้ผลอย่างไร แบบไหน เท่าไหร่ เป็นข้อมูลที่ท่านศึกษาอย่างละเอียดมามากกว่าสี่อสงไขยกับแสนมหากัป ซึ่งเราไม่จำเป็นจะต้องเรียนรู้กรรมทุกเหลี่ยมทุกมุมอย่างแจ่มแจ้ง เพียงแค่เรียนรู้ว่ากรรมแต่ละอย่างที่เราทำในทุกวันนี้ เกิดจากเหตุอะไร มีอะไรเป็นแรงผลักดัน แล้วจะให้ผลดีร้ายอย่างไร เรียนเกี่ยวกับกิเลสที่ผลักดันให้ทำกรรมชั่วให้แจ่มแจ้งก็เพียงพอแล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

30.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

อดีต อนาคต ปัจจุบัน: ตรวจความรู้สึกที่เกิดขึ้นทั้งหมดในทุกช่วงเวลา

December 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,795 views 0

อดีต อนาคต ปัจจุบัน: ตรวจความรู้สึกที่เกิดขึ้นทั้งหมดในทุกช่วงเวลา

อดีต อนาคต ปัจจุบัน: ตรวจความรู้สึกที่เกิดขึ้นทั้งหมดในทุกช่วงเวลา

หลังจากที่เราได้ผ่านการทดสอบจิตใจตัวเองตั้งแต่ระดับ 1-3 มาแล้ว ก็ยังเหลือการทดสอบอีกขั้นหนึ่งซึ่งเรียกว่าการตรวจเวทนา ๑๐๘ ซึ่งจะขออธิบายโดยย่อสำหรับการตรวจกิเลสในระดับนี้

การตรวจเวทนา ๑๐๘ เป็นการตรวจสภาวะ ทุกข์ สุข เฉยๆ ที่กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ต่างกันสองแบบคือแบบเคหสิตะหรือแบบชาวบ้าน และแบบเนกขัมมะหรือแบบนักบวช โดยตรวจผ่านสามช่วงเวลาคืออดีต อนาคต และปัจจุบัน

อธิบายกันให้ง่ายขึ้นคือการที่เรานึกย้อนไปในอดีตในสิ่งที่เราเคยยึดติด เคยชอบใจ เคยถูกใจแล้วเรายังเหลือสุข ทุกข์อยู่อีกไหม และนึกไปถึงอนาคตต่อว่าถ้าเราได้เสพสิ่งนั้นสิ่งนี้เราจะเป็นสุขอยู่ไหม ถ้าเราไม่ได้เสพเราจะเป็นทุกข์ไหม นี่คือลักษณะของการตรวจเวทนาในอดีตและอนาคต

เมื่อเราคิดถึงอดีตและอนาคต สภาวะของความสุข ทุกข์ เฉยๆ จะเกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่นเราคิดถึงเมนูที่เราชอบในอดีต เราก็ไม่ได้กินในปัจจุบันนะ แต่น้ำลายมันอาจจะไหล มันเกิดความอยากขึ้นในปัจจุบัน ในอนาคตก็เช่นกันหากเราคิดถึงเมนูอาหารที่เราติดยึดมากๆ อาจจะทำให้เรามีน้ำลายไหล เกิดอาการอยากกินขึ้นในปัจจุบันนี้เลย

ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นของจริง สุข ทุกข์ที่เกิดนั้นเป็นของจริง ไม่ใช่สิ่งลวง เป็นกิเลสจริงๆที่แสดงตัวออกมา แม้จะคิดย้อนไปในอดีตหรือจินตนาการไปในอนาคตแต่สุข ทุกข์ เฉยๆที่เกิดขึ้นนั้นจะเกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน

1.1) วิธีการตรวจอดีต

จากที่ยกตัวอย่างมา เราก็สามารถคิดย้อนไปในเหตุการณ์ต่างๆสมัยที่เรายังกินเนื้อสัตว์ เมนูที่เคยชอบ เหตุการณ์ที่เคยกินต่างๆ ทุกเมนูเนื้อสัตว์ที่เคยอยู่ในความทรงจำ เราก็คิดถึงมันและตรวจอาการตัวเองด้วยสติปัฏฐาน ๔ ถ้ายังมีกิเลสอยู่ ก็จะมีอาการเกิดขึ้นเอง เช่นตอนนี้เราเลิกเนื้อสัตว์ได้ 100% แล้วนะ แต่พอคิดย้อนไปถึงตอนกินหมูกระทะกับเพื่อนแล้วมันน้ำลายไหล พอคิดไปถึงเนื้อสัตว์ที่จิ้มน้ำจิ้มเข้าปากแล้วมันก็ยังรู้สึกมีความสุข อันนี้ก็ถือว่ายังมีกิเลสซ่อนอยู่ พอเห็นกิเลสเราก็ใช้สติปัฏฐาน ๔ นี่แหละเป็นตัวพิจารณาหาสาเหตุของกิเลสนั้นๆต่อไป

1.2) วิธีการตรวจอนาคต

ในอนาคตก็จะคล้ายๆอดีต แต่จำเป็นต้องใช้การจินตนาการออกไปล่วงหน้าโดยใช้ข้อมูลในอดีตหรือหาใหม่ในปัจจุบันเป็นวัตถุดิบในการปรุงแต่ง เช่นเราไปดูกระทู้พาชิมอาหาร เราจะได้ข้อมูลในปัจจุบัน หากปัจจุบันมีอาการสุขขึ้นมาจากการได้เห็นเมนูเนื้อสัตว์ก็พิจารณาหากิเลสไป แต่หากยังไม่เจอเราก็ใช้การจินตนาการต่อไปว่าถ้าเราได้กินเนื้อสัตว์แบบเขานะ ถ้าเราได้ลิ้มรสจานนั้นจานนี้นะ ถ้าจินตนาการไปแล้วอาการสุขมันออกนั่นแหละกิเลสมันแสดงตัวออกมาแล้ว นี้คือการหากิเลสในอนาคต

….วิธีการตรวจเวทนาเหล่านี้เป็นวิธีของผู้ที่ต้องการบรรลุธรรมไว ต้องการจะหลุดพ้นจากความอยากไว เป็นวิธีของคนขยัน และมักจะมีคนเข้าใจวิธีนี้ผิดว่าเป็นการคิดฟุ้งไปไกลโดยไม่จำเป็น แต่แท้ที่จริงแล้ววิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้กันอย่างปกติในคนที่เข้าใจเรื่องล้างกิเลส เพราะสุดท้ายการล้างกิเลสใดๆก็ต้องมาจบด้วยตรวจสอบเวทนา ๑๐๘ กันอยู่ดี

เราสามารถใช้เวทนา ๑๐๘ ได้ตั้งแต่แรกเริ่ม โดยทำไปพร้อมๆกับแบบทดสอบระดับที่ 1-3 เลยก็ได้ คือไปเจอเหตุการณ์เหล่านั้นมาแล้วก็กลับมาใช้เวลาคิดย้อนกลับไปอีก ตรวจหากิเลสซ้ำไปอีกหลายๆครั้ง นี่เองคือลักษณะนิสัยที่ต้องใช้ความเพียรมาก ถ้าคนทั่วไปก็จะปล่อยให้มันผ่านไปเพราะถือว่ามันจบไปแล้ว แต่ผู้มีความเพียรนอกจากจะไม่ปล่อยให้ผัสสะหายไปแล้วยังสามารถนำผัสสะเหล่านั้นกลับมาใช้ตรวจกิเลสของตัวเองได้ใหม่อีกครั้งด้วย

2) สรุปเรื่องเวทนา ๑๐๘

คนที่ตรวจเวทนา ๑๐๘ ตรวจ อดีต อนาคต ปัจจุบันดีแล้ว ตรวจหลายรอบแล้ว ไม่ว่าจะหาเมนูเนื้อสัตว์น่ากินแค่ไหนก็เฉยๆ ไม่ทุกข์ ไม่สุข แม้จะลองกินเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ไม่สุข รู้สึกเฉยๆ แถมยังมีปัญญารู้ด้วยว่ากินเนื้อเป็นอกุศลอย่างไร แม้ว่าจะไม่ทุกข์แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่รู้คุณรู้โทษ ผู้ซึ่งหมดความรู้สึกสุขทุกข์จากความอยากจะอยู่ในสภาพที่เป็นอิสระจากกิเลส

เนกขัมมสิตอุเบกขานั้นคือเป้าหมายของการปฏิบัติธรรมหรือการล้างกิเลสเป็นการปล่อยวางกิเลสอย่างนักบวช หมายถึงผู้ปฏิบัติธรรมที่รู้และเข้าใจกระบวนการล้างกิเลสอย่างถ่องแท้ รู้แจ้งทุกขั้นตอนในการล้างกิเลส รู้ว่ากิเลสลดอย่างไร และหมดไปอย่างไรได้อย่างชัดเจน

2.1) อดีตและอนาคต

เมื่อเข้าถึงภาวะอุเบกขา ก็จะจบเรื่องของอดีตและอนาคต คือไม่ต้องไปคิดเรื่องความอยากย้อนไปในอดีตหรือไม่ต้องคิดต่อไปแล้วว่าหลังจากนี้จะมีเมนูเนื้อสัตว์ใดๆที่จะมาทำให้เกิดความอยากได้อีก มีคนเขาว่าอร่อยแค่ไหน ก็ไม่มีทางที่จะกลับไปอยากกินอีกต่อไปแล้ว คือจะเป็นคนที่ไม่มีทั้งอดีตและอนาคตของกิเลสในเรื่องของความอยากกินเนื้อสัตว์ อยู่กับปัจจุบันที่ไม่มีกิเลส จึงกลายเป็นผู้อยู่กับปัจจุบันเป็นปกติ โดยไม่ต้องพยายามใดๆ

2.2) อดีต

รู้ในส่วนของอดีตคือรู้ว่าอดีตเราทำบาปมาเท่าไหร่ ทำอกุศลมาเท่าไหร่ ตรงนี้ก็จะรับรู้และยอมรับวิบากกรรมเหล่านี้ไว้ ในส่วนของอดีตนี้เองก็มีความไม่เที่ยงในตัวของมัน คือมีอกุศลกรรมเก่าที่เราทำไว้ และมันจะค่อยๆถูกชดใช้ไปเรื่อยๆ จะถูกเปลี่ยนมาสร้างเป็นทุกข์ โทษ ภัยให้เราเรื่อยๆ และที่มันไม่เที่ยงนั้นก็หมายถึงว่ามันมีการเปลี่ยนแปลง เช่นวันที่เราเลิกกินเนื้อสัตว์เรามีอกุศลอยู่ 100% แต่พอเวลาผ่านไปเราก็ใช้ชีวิตไปพร้อมกับใช้วิบากกรรมไปเรื่อยๆ มันก็จะลดลงมาโดยลำดับ

2.3) อนาคต

และรู้ในส่วนของอนาคต คือรู้ว่าต่อจากนี้ไม่มีการสะสมบาปต่อไปอีกแล้ว ไม่มีการล้างกิเลสต่อไปอีกแล้ว สิ้นบุญสิ้นบาปกันไป เหลือแต่กุศลและอกุศล ในสองส่วนนี้ก็ไม่เที่ยงเช่นกัน กุศลก็สามารถเพิ่มได้เรื่อยๆ เช่นวันนี้เรามีกุศล 100% แต่ผ่านไปหนึ่งปีเราละเว้นเนื้อสัตว์ไปเรื่อยๆกุศลก็เพิ่มโดยลำดับ

และอกุศลก็เป็นส่วนที่ไม่เที่ยงเช่นกัน ในบางครั้งบางโอกาสอาจจะมีเหตุที่จำเป็นให้เราต้องอนุโลมกลับไปกินเนื้อ แต่การอนุโลมนั้นก็อยู่บนพื้นฐานของกุศลและอกุศล เช่นถ้าเรากินเนื้อเราจะรอดชีวิต สามารถไปสร้างกุศลได้อีก 100 หน่วย แต่ถ้าต้องกินเนื้อจะเป็นอกุศล 10 หน่วย ถ้าปล่อยตายก็ไม่ได้อะไรเลย อันนี้ผู้ที่พ้นความอยากกินเนื้อสัตว์ก็จะสามารถกินได้โดยไม่มีบาป เพราะไม่ได้อยากกิน แต่กินเพราะพิจารณาดีแล้วว่าถ้ารอดตายไปจะทำกุศลได้มากกว่า เป็นกุศลมากกว่า ในกรณีนี้ก็จะคล้ายกับอรหันต์จี้กงที่กินเหล้าสอนคน เพราะท่านได้ประเมินแล้วว่ามันมีกุศลมากกว่าหากใช้วิธีนี้

คนที่สามารถรู้แจ้งในอดีต รู้แจ้งในอนาคต รู้แจ้งในเรื่องอดีตและอนาคตได้ จะพ้นความกังวลหลายอย่างในชีวิตไปได้ เพราะคนที่ตั้งใจจะเลิกตลอดชีวิต จะเลิกนับเวลาว่าตัวเองกินมังสวิรัติมาตั้งแต่เมื่อไหร่และไม่สนใจว่าจะต้องกินไปถึงเมื่อไหร่ เพราะไม่มีทั้งอดีตและอนาคต มีแต่ปัจจุบันคือไม่กิน และจะเป็นปัจจุบันแบบนี้ไปเรื่อยๆ คือไม่กินเนื้อสัตว์ไปเรื่อยๆ เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน

ซึ่งจะเป็นสภาพผลของการปฏิบัติศีล หรือที่เรียกกันว่ามีศีลเป็นปกติในชีวิต นั่นคือสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างปกติ และมีความสุขโดยไม่ต้องระวังและเคร่งเครียดมาก เพราะรู้ชัดแจ้งว่าตนเองไม่ได้อยากกินเนื้อสัตว์ ส่วนจะเผลอไปกินโดยไม่รู้นั้นก็แค่เลิกกินหรือถอยออกมาตามที่เห็นสมควร แต่จะไม่ทุกข์ ไม่กลับไปจมในอัตตาใดๆ เพราะรู้ดีว่าการกินเนื้อสัตว์ด้วยความอยากกับการกินแต่ไม่อยากนั้นต่างกันอย่างไร

ผู้ที่บรรลุธรรมจะมีสภาพเหมือนคนธรรมดาที่ไม่ได้เคร่งเครียด เหมือนไม่ได้ถือศีล แต่จะมีศีลไว้ยึดอาศัย ไม่ใช่ว่าสำเร็จวิชาเข้าใจธรรมแล้วทิ้งศีลกลับไปกินเนื้อ ที่ต้องยกตัวอย่างนี้เพราะมีบุคคลบางพวกมักตีกิน ใช้สภาวะสุดท้ายเข้ามาหลอกคนอื่นว่าตนเองนั้นบรรลุธรรมแล้วเลยไม่ยึดมั่นถือมั่นจึงถือว่ากลับไปกินเนื้อสัตว์ได้

ดังนั้นหากจะยืนยันว่าคนที่เข้าใจเรื่องความอยาก รู้แจ้งเรื่องกิเลสจริงนั้นจึงเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ยาก ดูได้ยาก สังเกตได้ยาก และเข้าใจได้ยาก ไม่สามารถใช้ตรรกะทั่วไปเข้ามาอธิบายสภาวะของจิตใจได้อย่างชัดเจน ทำได้เพียงอธิบายด้วยภาษาเท่าที่ทำได้เท่านั้น การที่เข้าใจและเข้าถึงได้ยากนั้นไม่ใช่ว่าอธิบายธรรมไม่ได้ แต่หมายถึงยากที่คนทั่วไปจะเข้าถึงธรรมที่เป็นโลกุตระ คนที่บรรลุธรรมจริงๆจะสามารถพูดได้ ขยายได้ ชี้แจงได้ แสดงธรรมให้เข้าใจได้ง่ายได้ แต่ปัญหาคือคนฟังจะไม่เข้าใจหรือเข้าใจได้ยากเพราะไม่มีสภาพของธรรมนั้นในตนเอง จึงเกิดช่องว่างแบบนี้ให้คนเอาไปตีกินว่าตนเองบรรลุธรรมนั่นเอง

สรุป

การตรวจเวทนานี้เองคือด่านสุดท้ายของการตรวจสอบกิเลสทั้งหมด ซึ่งเราจำเป็นต้องแม่นยำในเรื่องของสติปัฏฐาน ๔ ไม่เช่นนั้นเราก็จะตรวจหากิเลสไม่เจอ ถึงกิเลสจะแสดงอาการอยู่ก็มองไม่เห็น เพราะกิเลสนั้นมีสามระดับ คือหยาบ กลาง ละเอียด และอยู่ในลักษณะสามภพ คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ การจะเห็นกิเลสที่ละเอียดก็ต้องผ่านชั้นของกิเลสกลางมาก่อน และก่อนจะเห็นกิเลสกลางก็ต้องผ่านกิเลสหยาบมาก่อน และกิเลสที่อยู่ในระดับความละเอียด ส่วนใหญ่จะอยู่ในลักษณะของอรูปภพ คือไม่มีรูปมีร่างให้เห็นแล้ว บางครั้งก็แทบจะไม่มีอาการใดๆให้เห็นเด่นชัดเลย มีเพียงอารมณ์ขุ่นมัวเล็กน้อยเท่านั้น

ผู้ที่ปฏิบัติธรรมมาถูกทางก็จะมีอินทรีย์พละแกร่งกล้าขึ้นเรื่อยๆ และสามารถเรียนรู้ถึงกิเลส หยาบ กลาง ละเอียดได้ตามลำดับกำลังของตน การที่เราจะเริ่มต้นจากกิเลสละเอียดนั้นเป็นไปไม่ได้เลย เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นมีไว้เพื่อขัดเกลากิเลสไปตามลำดับ คือ หยาบ กลาง ละเอียด มีความลาด ลุ่ม ลึกไปตามลำดับเหมือนมหาสมุทร ไม่ชันเหมือนเหว

ผู้ที่เรียนรู้การล้างกิเลสก็ให้ทบทวนไปตามลำดับของการตรวจสอบ 1-3 จนกระทั่งใช้การตรวจเวทนา ๑๐๘ นี้เป็นเครื่องมือในการตรวจหากิเลส ถ้าเจอก็พิจารณาโทษไป ถ้าไม่เจอก็ค้นหาต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งจะมั่นใจได้เอง จะรู้ได้เองว่าเราพ้นจากความอยากแล้ว ไม่มีอดีตและอนาคตใดทำร้ายเราได้อีกแล้ว เราพ้นจากกิเลสทั้งสามภพแล้ว

เมื่อมั่นใจได้เช่นนี้ก็อาจจะมีผัสสะมาทดสอบบ้าง ซึ่งก็ตรวจใจซ้ำเข้าไปอีก ถ้าตรวจแล้วตรวจอีกยังไงก็ไม่เจอความอยากก็ขอแสดงความยินดีด้วย

ติดตามต่อได้ที่

Facebook Group : Buddhism Vegetarian (มังสวิรัติวิถีพุทธ)

รวยเท่ากับซวย #2

December 17, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,079 views 0

รวยเท่ากับซวย #2

รวยเท่ากับซวย #2

…อาชีพที่สร้างความร่ำรวย แต่นำมาซึ่งความซวย

การได้มาซึ่งความร่ำรวย ส่วนหนึ่งนั้นก็มาจากการประกอบอาชีพ ซึ่งในยุคปัจจุบันนี้มีอาชีพหลากหลายให้เราเลือกทำเพื่อให้เกิดรายได้ แต่ควรจะเลือกอาชีพไหนเพราะอะไร เรามาศึกษาปัจจัยที่เรียกกันว่าบาป บุญ กุศล อกุศล กันก่อน

บุญ นั้นคือเครื่องชำระกิเลส การลดกิเลส อาชีพที่เป็นบุญก็คืออาชีพที่พาลดกิเลส หรือไม่เพิ่มกิเลส

บาป นั้นคือการสะสมกิเลส การสนองกิเลส การตามใจกิเลส อาชีพที่เป็นบาป ก็คืออาชีพที่พาให้ตนและผู้อื่นกิเลสเพิ่ม

กุศล นั้นคือความดี คือสิ่งที่ดี การกระทำความดีก็เรียกว่าสร้างกุศลกรรม เป็นความดีที่เก็บสะสมไว้ในจิตของเรารอวันที่จะส่งผล

อกุศล นั้นคือความชั่ว เมื่อทำชั่วก็ได้รับผลของการทำชั่ว หรือที่เรียกว่าอกุศลกรรม เก็บสะสมไว้ในจิตของเรา รอวันที่จะส่งผล

เมื่อเราเข้าใจปัจจัยที่ส่งผลต่อชีวิตสี่อย่างนี้แล้ว จึงนำเอาปัจจัยเหล่านี้มาวิเคราะห์รวมกับงานหรืออาชีพที่เราจะเลือกทำ รายได้ ความมั่นคง ชื่อเสียง สวัสดิการ การเดินทาง การพัฒนา ฯลฯ เพื่อให้เห็นถึงกำไรสุทธิที่มากกว่าแค่จำนวนเงิน ซึ่งเราอาจจะพบว่าแม้จะรวยแต่ก็คงจะซวยไม่ใช่น้อยสำหรับบางอาชีพ

กว่าจะถึงความรวยที่เราใฝ่ฝัน การประกอบอาชีพเป็นเหมือนกับทางเดินให้ถึงฝันนั้น แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเดินทางผ่านเส้นทางบาป บุญ กุศล อกุศล อย่างไรบ้าง เพราะเราสามารถเห็นได้เพียงผลตอบแทน สวัสดิการ เพื่อนร่วมงาน ลูกค้า เห็นแต่สิ่งที่เป็นรูปธรรม แต่เรากลับไม่สามารถเห็นสิ่งที่เป็นนามธรรมได้เลย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่มีทางรู้ เพราะอย่างน้อยพระพุทธเจ้าท่านก็ได้บอกข้อธรรมะเหล่านี้ ทิ้งไว้ให้เราแล้วเพื่อเป็นเครื่องมือให้เราแยกแยะดีชั่ว

ในบทนี้เราจะมาไขอาชีพที่เป็นสัมมาอาชีวะ(การเลี้ยงชีพที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์) โดยใช้การบอกว่าอาชีพใดที่ผิด(มิจฉาอาชีวะ) รวมทั้งมิจฉาวณิชชา(การค้าขายที่ผิด) และงานที่เกี่ยวกับอบายมุข

1).มิจฉาอาชีวะ

มิจฉาอาชีวะ หมายถึงการทำมาหากินที่ผิด ผิดอย่างไร? คือผิดไปจากทางพ้นทุกข์ นั่นหมายถึงยิ่งทำก็จะยิ่งห่างไกลทางพ้นทุกข์อย่างพุทธไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แต่ทั้งหมดก็เป็นเพียงเส้นทางในโลกียะ ทางที่จะจำให้วนอยู่ในโลกเท่านั้น มิจฉาอาชีวะแม้จะดูดีเพียงไร ได้เงินมาเท่าไหร่ มีคนให้เกียรติให้คุณค่าขนาดไหน มีคนนับหน้าถือตามากเท่าไร หรือแม้จะได้รับความสุขเท่าไหร่ มันก็แค่นั้นเอง

1.1).การโกง (กุหนา) การประกอบอาชีพใดๆนั้นควรกระทำโดยสุจริตแม้อาชีพนั้นจะไม่ได้เป็นอาชีพที่คดโกงโดยตรง แต่ก็อาจจะมีการโกงอยู่ในการประกอบอาชีพทั่วไปก็ได้เช่น แม่ค้าที่โกงตราชั่ง คนงานก่อสร้างที่อู้งานเพื่อโกงเอาค่าแรง หรือข้าราชการที่โกงเงินใต้โต๊ะ การโกงมีอยู่ในทุกสาขาอาชีพ เป็นความผิดขั้นหยาบที่ควรละเสีย

1.2).การล่อลวง (ลปนา) การทำให้คนหลงใหลในสิ่งที่ไม่ควรหลง เช่น การพูดให้เคลิ้มกับสรรพคุณที่เกินจริงแบบชาวบ้านจะเห็นได้จากการโฆษณาขายยาดีตามงานวัด ถ้าแบบเห็นทั่วไปก็คืองานขายตรง ขายคอร์สลดน้ำหนัก ดูแลสุขภาพ ฯลฯ ที่ต้องพูดล่อลวงให้เขาเห็นประโยชน์ในสินค้าหรือบริการของเรา ทั้งที่มีวิถีอื่นอีกมากมายที่ดีกว่าของเรา แต่เราก็พยายามจะพูดล่อลวงให้เขามาใช้สินค้าของเรา ใช้บริการกับเรา

1.3).การตลบตะแลง (เนมิตตกตา) การทำให้คนหลงเชื่อไปในครั้งแรกว่าดี แล้วตอนหลังมากลับคำ เห็นได้บ่อยในอาชีพนักการเมือง ตอนหาเสียงก็พูดไว้ซะดิบดี แต่พอได้รับเลือกจริงมักเป็นคนละอย่าง นักการเมืองคือตัวอย่างของนักตลบตะแลง ตอนเช้าพูดอย่าง ตอนเย็นพูดอีกอย่าง ทั้งนี้ก็เพื่อผลประโยชน์ของพวกตน และผลประโยชน์ของตนเอง

1.4).การยอมมอบตนในทางที่ผิด (นิปเปสิกตา) จะเป็นลักษณะของลูกน้อง ลูกจ้าง ที่ตนเองนั้นก็ไม่ได้ทำชั่วอะไร แต่ไปรับใช้คนชั่วเช่น ขับรถให้เจ้านายที่ขายยาเสพติด ตัวเองไม่ได้ขายนะแต่ขับรถให้อำนวยความสะดวกให้คนชั่ว หรือทหารตำรวจที่สังกัดอยู่ในหน่วยที่ผู้บัญชาการคิดชั่วพูดชั่วทำชั่ว ก็มักจะสั่งการให้ไปทำเรื่องชั่วๆ นี่เป็นลักษณะการยอมให้ตัวเองเป็นลูกน้องคนผิด

1.5). การเอาลาภต่อลาภ (ลาเภน ลาภัง นิชิคิงสนตา) ลักษณะของการเอาลาภแลกลาภที่เห็นได้ชัดเจนและหยาบคือการเล่นพนัน เล่นหวย เล่นหุ้น คือการเอาลาภที่มีอยู่นั้นไปลงทุน ไปพัฒนาให้มันงอกเงยขึ้นมาซึ่งการพนัน หวย หุ้นนี้ก็อยู่ในขีดของอบายมุข แต่ในระดับที่ละเอียดลงมาก็คือการเอาความสามารถที่ตนมีไปแลกเงิน เช่นเราพยายามไปเรียนรู้ทักษะอาชีพสูงๆ เช่นแพทย์เฉพาะทาง เพื่อที่จะทำให้รายได้ของตัวเองสูงขึ้น ที่มันไม่ดีก็เพราะมีความโลภเป็นตัวผลักดันนี่เอง

2). มิจฉาวณิชชา

มิจฉาวณิชชา คือการค้าขายที่ผิด ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ แถมยังเป็นทางเพิ่มบาปและอกุศล ชาวพุทธไม่ควรกระทำ เพราะหากกระทำแล้วจะไม่เป็นไปในทางพุทธ เพราะไม่ใช่การค้าขายที่พาไปสู่การพ้นทุกข์ การค้าที่ผิดเหล่านี้แม้ฉากหน้าจะดูเหมือนว่าทำให้เรารวย แต่ฉากหลักนั้นสะสมบาปอกุศลไว้มากมายรอวันที่จะส่งผลต่อร่างกายและจิตใจของเราในวันใดวันหนึ่งนั่นเอง

2.1). ค้าขายศาสตรา (สัตถวณิชชา) หมายถึงการค้าขายอาวุธ อาวุธนั้นคือวัตถุเพื่อทำร้ายกันแม้จะเป็นการขายมีดเหมือนกันแต่มีดแบบหนึ่งออกแบบเพื่อตัดต้นไม้แต่อีกแบบหนึ่งออกแบบไว้เพื่อให้ทำร้าย มีดตัดต้นไม้จึงไม่เป็นการค้าที่ผิด แต่มีดที่สร้างเพื่อไว้ทำร้ายนั้นผิดในข้อนี้อย่างชัดเจน ยังรวมไปถึง ปืน ดาบ ฯลฯ ที่ใช้เป็นอาวุธทำร้ายกันในสมัยนี้ และรวมไปถึงความรู้ด้วย เพราะความรู้นี้เองคืออาวุธชั้นดีที่ใช้กันในระดับสงครามเศรษฐกิจ การค้าขายความรู้จึงเป็นเรื่องไม่ควร และความรู้ในระดับธรรมะ หากผู้ใดเอาธรรมะมาค้าขายหากำไร ลาภ ยศ ชื่อเสียงนั่นคือทางแห่งนรกชัดเจน

2.2). ค้าขายสัตว์เป็น (สัตตวณิชชา) ถ้าไม่นับรวมสัตว์ที่มีกรรมในระบบอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ทั่วไปซึ่งทั้งหมดนั้นก็ผิดอยู่แล้ว การซื้อขายสัตว์ในสังคมปัจจุบันก็เป็นการค้าที่ผิด ไม่ว่าเราจะขายหมา ขายแมว ขายเต่า ขายปลา ก็เป็นการค้าที่ผิด การค้าชีวิต การตีราคาชีวิตอื่น การถือสิทธิ์ครอบครองในชีวิตอื่นไม่ใช่วิถีที่เหมาะสมของชาวพุทธเลย การซื้อขายชีวิตสัตว์นั้นเขาไม่ได้ยินยอมกับเราด้วย เพราะเราใช้อำนาจเงินนำเขามา บังคับเขา กักขังเขา โดยใช้คำว่าเลี้ยงมารั้งเขาเอาไว้ในโลกของเรา ทั้งๆที่เขาควรจะมีกรรมของเขา ควรจะเกิดและตายในแบบธรรมชาติของเขา

2.3). ค้าขายเนื้อสัตว์ (มังสวณิชชา) ข้อนี้เองที่ทำให้การกินเนื้อสัตว์นั้นไม่ใช่เรื่องปกติในพุทธ เพราะว่าการค้าขายเนื้อสัตว์นั้นผิดทางปฏิบัติของพุทธ เมื่อมีการขายเนื้อก็มีคนอยากซื้อเนื้อ พอมีความอยากซื้อมากคนก็ยินดีจ่ายมาก แล้วก็จะมีคนพยายามหาเนื้อมาขายเพื่อให้ได้เงิน เกิดเป็นการค้าขายเนื้อสัตว์ กลายเป็นอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ซึ่งก็ผิดจากทางพุทธทั้งยวง ถ้าแจกฟรีนั้นก็ไม่ผิด และเนื้อสัตว์ที่นำมาแจกฟรีแม้ว่าเราจะซื้อมานั้นต้องไม่ใช่เนื้อสัตว์ที่ฆ่ามาเพราะจะเป็นเนื้อบาป บาปอย่างไร บาปเพราะอยากได้เงินคนอื่นก็เลยต้องพรากชีวิตสัตว์ที่ไม่รู้เรื่องด้วย เพื่อเอาเนื้อไปขายได้เงินมาใช้เพื่อบำเรอกิเลสตัวเอง มันบาปตรงนี้ มันสนองกิเลสตรงนี้ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ไม่เบียดเบียนถ้าเริ่มต้นก็ผิดตั้งแต่ค้าขายเนื้อสัตว์ ก็ไม่เรียกว่าพุทธกันแล้ว คนที่ซื้อเนื้อสัตว์ไปประกอบอาหารใส่บาตรก็ผิดทางพุทธ คนที่ซื้ออาหารที่มีเนื้อสัตว์ไปถวายพระก็ผิดทางพุทธ เพราะฉะนั้นจะให้เกิดบุญก็ไม่มีทางเป็นไปได้ คงจะเป็นได้แค่กุศลเล็กน้อยกับบาปและอกุศลที่มาก เพราะทำบุญนอกขอบเขตพุทธ ไม่เป็นไปในทางของพุทธแล้วจะยังเกิดบุญกุศลในแบบของพุทธได้อย่างไร

2.4). ค้าขายของมึนเมา (มัชชวณิชชา) ของมึนเมาในที่นี้ไม่ใช่เพียงแค่เหล้า เบียร์ บุหรี่ ยาเสพติด แต่หมายรวมไปถึงของใดๆก็ตามที่ทำให้จิตใจของคนหลงมัวเมาไปในสิ่งนั้น เช่นของสะสมต่างๆ แฟชั่น อาหาร หลายสิ่งที่ไม่มีความจำเป็นในชีวิตแต่ทำให้ชีวิตมัวเมาไปกับการหลงเสพหลงติดหลงยึดกับมัน ซึ่งก็อยู่ในลักษณะของการมัวเมาสังคม มัวเมาลูกค้า ทำให้คนหลงว่าของตนนั้นดี ของตนนั้นน่าเสพ ผิดมิจฉาอาชีวะซ้อนเข้าไปอีกคือการล่อลวง

2.5). ค้าขายยาพิษ (วิสวณิชชา) การขายยารักษาโรคกับยาพิษนั้นมีเพียงเส้นศีลธรรมบางๆกั้นอยู่ ถ้ายานั้นกินเข้าไปแล้วไม่ได้รักษาโรคแต่กดโรคไว้ไม่ให้แสดงอาการทั้งยังไปทำลายอวัยวะส่วนอื่น นั่นก็คือยาพิษ ส่วนยาใดรักษาโรคได้จริงแล้วไม่มีผลร้ายอื่นก็พ้นผิดในข้อนี้ไป การค้าขายยาบำรุงอื่นๆยังเสี่ยงต่อการทำบาปด้วยเช่น การขายครีมบำรุงที่อวดสรรพคุณว่าทำให้ขาว เต่งตึงนั้น จะเข้าไปในลักษณะของยาพิษเพราะไม่ได้เอาสิ่งจำเป็นเข้าไปในร่างกาย แต่เอาไปเพราะมีความอยากสวยเป็นตัวผลักดัน ใช้การล่อลวงว่าจะขาวจะสวย ทำให้คนซื้อนำสารเคมีเข้าสู่ร่างกายโดยไม่จำเป็น เป็นการขายยาพิษไปพร้อมๆกับการล่อลวงผู้อื่นให้เพิ่มกิเลสในกามรูป เป็นบาปบริสุทธิ์แท้ๆ ไม่มีกุศลหรือบุญปนแม้น้อย แม้จะมีผู้ขายผลิตภัณฑ์เสริมความงามหรือลดความอ้วนจำนวนมากที่ดูมั่งคั่ง แต่นั่นก็เป็นความมั่งคั่งที่สะสมบาปและอกุศลไว้มากมายมากกว่าจำนวนเงินที่เห็นนัก

3). อบายมุข

อบายมุข๖ นั้นไม่ได้หมายถึงการประกอบอาชีพโดยตรง แต่เราสามารถนำมาอธิบายร่วมกับอาชีพได้ว่า อาชีพที่เราทำนั้นมีส่วนไปเกี่ยวข้องกับอาชีพที่ผิดและการค้าขายที่ผิดอย่างไร มีส่วนเสริมในอบายมุขอย่างไร ขึ้นชื่อว่าอบายมุขนั้นก็เป็นบาปที่หยาบและต่ำ ถ้าตามพระไตรปิฏกนั้นก็ต่ำกว่าคน เป็นดินแดนหรือเขตแดนของผู้ที่จะไปอบายภูมิ เรียกได้ว่าจองตั๋วรอกันก่อนจะไปภพหน้ากันเลยทีเดียว ใครอยากเกิดในภพต่ำๆเช่น เปรต เดรัจฉาน อสูรกาย สัตว์นรกอะไรพวกนี้ก็ให้วนเวียนอยู่ในอบายมุขมากๆ ก็จะได้เกิดในภพเหล่านั้นสมใจ แต่ถ้าใครไม่อยากเกิดในภพเหล่านั้นก็ให้ห่างออกมาจากกิจกรรมเหล่านี้เสีย

3.1). เสพของมึนเมาให้โทษ อาชีพที่ไปข้องเกี่ยวกับอบายมุขข้อนี้ก็จะไปเกี่ยวกับข้อค้าขายของมึนเมาหรือมัชชวณิชชาด้วย ใครที่ทำงานอยู่ในธุรกิจเหล่านี้ก็เหมือนมอบตนในทางที่ผิด ซึ่งจะไปติดมิจฉาอาชีวะด้วย นั่นก็คือผิดทั้งผู้ขาย ผู้ผลิตนั่นเอง

3.2). เที่ยวกลางคืน มีธุรกิจกลางคืนมากมาย กลางคืนนั้นเป็นเวลาที่ควรพักผ่อน แต่ในยุคปัจจุบันนี้ก็ยิ่งส่งเสริมให้ใช้เวลาเที่ยวในกลางคืนมากขึ้น มีผับ บาร์มากมายที่ส่งเสริมให้กินของมึนเมา ผิดซ้ำผิดซ้อนเข้าไปอีก เป็นทั้งอบายมุขและสถานที่อโคจร คือไม่ควรไปข้องแวะ คนที่ทำงานกลางคืนหรือสนับสนุนธุรกิจเที่ยวกลางคืนนั้นก็ติดมอบตนในทางผิด เพราะแม้ตัวเองจะไม่ได้ทำผิด เป็นลูกจ้างที่ขยัน ซื่อสัตว์แต่ก็ยังทำงานให้ธุรกิจที่ผิดไปจากพุทธ ก็ยังต้องรับส่วนของอกุศลวิบากอยู่ดี

3.3). เที่ยวดูการละเล่นกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมยุคนี้ไปแล้วกับการดูการละเล่น ในยุคนี้นั้นก็ปรับให้เห็นถึงการละเล่นในยุคนี้ เช่น ละคร หนัง ภาพยนตร์ กีฬา ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องเล่นๆทั้งนั้น ดูเพื่อความบันเทิง ไม่ดูก็ไม่เป็นไร เป็นกิจกรรมที่เป็นอบายมุขแท้ๆ เพราะพาให้หลงไปในกามทั้งหลายในระดับหยาบ แม้อาชีพนักแสดงเหล่านั้นจะแสดงอย่างจริงจัง มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ก็เป็นเพียงเรื่องเล่นๆอยู่ดี ไม่ใช่สาระของชีวิต ยกตัวอย่างเช่นฟุตบอล ถ้าคนไทยไม่สนใจดูฟุตบอลก็ไม่เห็นจะเกิดอะไรไม่ดีกับชีวิต มีเวลาเพิ่มเสียอีก เอาเวลาไปทำงานทำการ เอาไปพักผ่อนได้อีก แต่นี่เป็นเพราะเราติดอบายมุข ติดมันจนเป็นอัตตา เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตไปแล้ว แล้วหลงว่ามันเป็นของจำเป็นในชีวิต ทั้งๆที่มันไม่จำเป็นและไม่มีสาระเลย

3.4). เล่นการพนัน การพนันในยุคนี้มีการพัฒนารูปแบบให้ดูเป็นสากลขึ้น เช่น เล่นหุ้น ลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ลงทุนสัญญาซื้อขายทองล่วงหน้า และการลงทุนอื่นๆ กิเลสมันพัฒนาขึ้นเลยทำให้การพนันมีรูปแบบซับซ้อนขึ้น ต่างจากชาวบ้านทั่วไป ที่เล่นไพ่ แทงสูงต่ำ ชนไก่ กัดปลา ฯลฯ ทั้งหมดก็มีลักษณะเดียวกันคือลงเงินไปก้อนหนึ่งแล้วหวังให้ได้เงินมากขึ้นจากการวิเคราะห์ข้อมูลอะไรต่างๆนาๆ แต่ก็มีโอกาสที่เงินจะลดจากปัจจัยต่างๆนาๆเช่นกัน คนที่อยู่ในธุรกิจเหล่านี้ก็เหมือนกับคนกลาง หรือเจ้ามือ ส่งเสริมเรื่องอบายมุข เป็นบาปและอกุศลเน้นๆ หาบุญไม่เจอเลย หากุศลก็ไม่มี ได้เงินมาก็เป็นเงินบาป รวยเดี๋ยวก็ต้องรับซวยไปด้วย ทุกข์เน้นๆ

3.5). คบคนชั่วเป็นมิตร เช่นเรามีเพื่อนที่ทำมิจฉาอาชีวะ ทำมิจฉาวณิชชามากๆ เดี๋ยวก็พาเราให้ลำบาก ให้ลงนรกไปด้วย เพราะคนที่ประกอบอาชีพผิดๆนี่เขาจะมีอกุศลวิบากของเขาอยู่แล้ว แต่โดยหน้าตาทางสังคมเขาจะดูรวย ดูมั่นคง ดูภูมิฐาน เหมือนคนน่าคบทั่วๆไป แต่พอวิบากส่งผลเท่านั้นแหละ เหมือนฟ้าผ่าบางคนต้องหนีวิบากหนีหนี้ บ้านก็แทบไม่มีจะอยู่ พอเราคบเป็นเพื่อนก็ต้องมาพึ่งพาเรา พาเราซวยไปด้วยอีก

3.6). เกียจคร้านการงาน งานหรืออาชีพที่พาให้เราเกียจคร้านนี่ก็เป็นอบายมุขเช่นกัน เช่นเดียวกับนักลงทุนที่มองว่าตนเองนั้นจะสร้างรายได้จากการลงทุนระยะยาวแล้วเลิกทำงาน ว่าแล้วก็ใช้เวลาออกไปเสพกิเลส เสพอบายมุข เสพกาม เสพโลกธรรม ตามอัตตา นี่คือผลจากการที่เรามีอาชีพที่สร้างรายได้มากจนทำให้เรามีโอกาสไปเสริมกิเลส จะมีสักกี่คนที่มีรายได้จำนวนมาก แต่ก็ยังทำงานปกติ ไม่เสริมกิเลส เข้าวัดปฏิบัติธรรมเพื่อมรรคผล ไม่ใช่เพื่อทำความดีเอาหน้า

พอมีเงินแล้วไม่ทำงานก็คือกินกุศลเก่าที่สะสมมา ซึ่งมันก็สามารถมีวันหมดได้มันไม่ใช่แค่ให้เงินทำงานหาเงินเองอย่างที่เข้าใจ มันมีเบื้องหลังทางนามธรรมมากกว่านั้น ถ้ากุศลหมด วิบากบาปก็อาจจะลากเราเข้าสู่สภาพป่วยก็ได้ทำให้ต้องดึงเงินที่มีเกือบทั้งหมดมารักษาตัว ดังนั้นถ้าไม่ศึกษาบุญกุศลบาปอกุศลไว้ ก็จะเป็นนักลงทุนที่ประมาท มองการลงทุนไม่ขาด เพราะเรื่องทั้งหมดนี้เป็นการลงทุนข้ามภพข้ามชาติ ไม่ใช่แค่การลงทุนเพื่อใช้ในชีวิตนี้ชีวิตเดียว

….อ่านมาถึงตรงนี้แล้วอาจจะรู้สึกว่ามีแต่งานที่เป็นบาปเต็มไปหมด และเราเองก็อาจจะอยู่ในส่วนของบาปนั้นๆด้วยก็ได้ วิธีจะออกจากมิจฉาอาชีวะ และมิจฉาวณิชชา รวมถึงอาชีพที่ไปเกี่ยวข้องกับอบายมุขนั้น ก็ให้ทำดีให้มากๆ ค่อยๆเขยิบขาออก ทำงานไปก็หาช่องทางใหม่ไป อย่ารีบให้มันทรมานตัวเองเดี๋ยวจะไม่มีรายได้

การที่เราไปติดอยู่ในมิจฉาอาชีวะ มิจฉาวณิชชา และอบายมุขนั้นเกิดจากกรรมกิเลสที่เราทำมา เรากำลังรับกรรมส่วนนั้นอยู่ เราต้องรับทำหน้าที่บาปนั้นเพราะเราทำบาปนั้นมา สะสมบาปนั้นมา แม้ว่าเราจะรู้ตัวแล้วมันก็จะออกไม่ได้ง่ายๆ ทิ้งไม่ได้ง่ายๆ จะมีบางอย่างดึงรั้งให้เราอยู่กับงานนั้น ก็ให้เราทำความดีมากๆ ทำสิ่งที่เป็นกุศลมากๆ เช่นการล้างกิเลสนี่เองเป็นกุศลสูงสุดที่ใครคนหนึ่งจะทำได้

การที่เราต้องระวังในเรื่องอาชีพเหล่านี้เพราะจะได้ไม่ต้องมาซวยเพราะความรวย บางอาชีพสร้างรายได้มากมายมหาศาลแต่ความซวยที่รออยู่ข้างหน้าก็มหาศาลเช่นเดียวกัน หากใครอยากจะรวยแบบไม่ต้องซวยก็ต้องหลีกเลี่ยงการประกอบอาชีพที่ผิด การค้าขายที่ผิด และงานที่ไม่ไปเกี่ยวข้องกับอบายมุขทั้งหลาย

– – – – – – – – – – – – – – –

13.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์