Tag: ศึกษา

พอเพียง

November 4, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,363 views 0

พอเพียง

พอเพียง

เมื่อเราได้รับสิ่งที่ดี ได้เห็นตัวอย่างที่ดี ได้ฟังคำสอนที่ดี ฯลฯ โดยมากแล้วเราก็มักจะเก็บมันไว้บนที่สูง เก็บไว้บนหิ้ง คือรับรู้และยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่มักจะไม่ได้เอามาทำให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควร แม้จะมีศรัทธาแต่ก็ยังคงเป็นพลังศรัทธาที่อ่อนแอ

…เมล็ดข้าวนี้ ถ้าเราเอามากอดเก็บไว้บูชา ประโยชน์ก็จะเกิดประมาณหนึ่ง คือเป็นสิ่งที่ทำให้ระลึกถึงสิ่งที่ดี แต่ถ้าเราเอาเมล็ดข้าวนี้ไปปลูก สักวันหนึ่งเราก็จะได้เมล็ดข้าวอีกมากมาย สามารถนำไปสร้างประโยชน์ให้ตนเองและผู้อื่นได้

เช่นเดียวกันกับการที่เราได้รับสิ่งที่ดี ได้เห็นตัวอย่างที่ดี ได้ฟังคำสอนที่ดี ฯลฯ ถ้าเรานำมาศึกษาเรียนรู้ เพียรพยายามปฏิบัติตาม สักวันหนึ่งเราก็จะเกิดผลนั้นในตนเอง เป็นเอง มีเอง สามารถทำตนให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นได้อีกมากมาย

ปลูกข้าวก็สามารถแบ่งปันเมล็ดข้าวได้ ทำตนให้เป็นคนดีก็สามารถแบ่งปันสิ่งดีได้ ศึกษาเพื่อให้เกิดธรรมะในตนก็จะสามารถแบ่งปันธรรมะได้เช่นกัน ผู้ที่สามารถปฏิบัติตนตามสิ่งดี ตามตัวอย่างที่ดี ตามคำสอนที่ดีจนเกิดผลในตนได้จริง จะต้องมีศรัทธาอย่างแรงกล้า ตั้งมั่น ยืนหยัด มั่นคง แข็งแกร่ง ไม่หวั่นไหว

…..

ผมได้เมล็ดพันธุ์แห่งความ “ พอเพียง ” นี้มา และเริ่มปลูกในวันนี้ เพราะเมล็ดพันธุ์ที่ปลูกวันนี้ ย่อมจะโตได้ไวที่สุดเท่าที่มันจะเจริญเติบโตได้ แต่ถ้าหากเราปล่อยเมล็ดพันธุ์ทิ้งไว้ มันก็จะเสื่อมไปตามกาลเวลา เหมือนกับความดีงาม หากเราไม่พยายามทำ  จิตใจของเราก็จะเสื่อมและต่ำลงไปตามกาลเวลาเช่นกัน

ผมไม่รู้หรอกว่ามันจะงอก, มันจะรอด, มันจะโต, มันจะสมบูรณ์จนสามารถออกรวงให้เก็บเกี่ยวผลได้หรือไม่ แต่เมล็ดพันธุ์ที่ได้มานั้นมีมากมาย เหมือนกับสิ่งดีงาม ตัวอย่างที่ดีงาม คำสอนที่ดีงามต่าง ๆ นั้นมีมากมาย แม้เราจะไม่ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติตามบางเรื่อง แต่ก็มีหลากหลายเรื่อง หลากหลายมุม ให้เราได้ยึดถือและฝึกปฏิบัติตามสิ่งที่ดีงามเหล่านั้น

การปลูกข้าวก็เช่นกัน มันอาจจะไม่สำเร็จในครั้งแรก แต่ผมก็จะพากเพียรพยายามศึกษาเรียนรู้ แม้จะปลูกไม่ขึ้น ไม่เห็นผล ก็จะพยายามปลูกไปเรื่อย ๆ  เพราะรู้ดีว่า ผลของการปลูกสำเร็จนั้น เป็นสิ่งดีที่ควรให้เกิดขึ้น ปลูกข้าวได้ ก็ได้กินอิ่ม ได้แบ่งปัน ปลูกความดีงามในใจตน ก็ได้สุขเหนือสุข และสามารถแบ่งปันสุขนั้นให้กับโลกนี้ได้ด้วย

ที่ ๆ ดีที่สุดของเมล็ดข้าวคือดิน ที่ ๆ ดีที่สุดของความดีงามคือในจิตใจของตนเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

4.11.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ลากันสักพัก

September 25, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,893 views 0

ลากันสักพัก

ลากันสักพัก

บางครั้งบางเวลา เราก็ควรจะมีช่วงเวลาที่ละเว้นจากกิจกรรมเดิมๆ เพื่อใช้เวลาเหล่านั้นในการคิดทบทวนและทำความเข้าใจในสิ่งต่างๆที่ทำลงไปแล้วหรือคิดไว้ว่าจะทำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

แม้บทความในเพจนี้จะถูกเผยแพร่เป็นจำนวนมาก ถี่ที่สุดก็เผยแพร่กันหลายบทความต่อวัน ซึ่งนอกจากเยอะแล้วยังจะยาวอีกด้วย

แต่ก็มีบางช่วงที่ผมรู้สึกว่าไม่สมควรจะเรียบเรียงอะไรออกมาเลย ไม่ควรแม้แต่จะคิด แต่ควรจะศึกษาให้มากขึ้น เพื่อลับความคมที่มีอยู่ ให้คมยิ่งขึ้นกว่าเดิม

มีหลายครั้งที่ผมหายไปและกลับมาพร้อมความรู้ความเข้าใจชุดใหม่ จนบางครั้งผมก็แปลกใจกับตัวเองเหมือนกันว่าการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพียงเล็กน้อย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ขนาดนี้เชียวหรือ…

สรุปแล้วที่ผมหายไปเป็นช่วงๆ ก็คือไปทบทวนตัวเอง ให้เวลากับตัวเองได้ลองเปลี่ยนแปลงบ้าง ให้ตัวเองได้พบกับความสงบบ้าง ซึ่งในชีวิตปกติแล้วผมมักจะอยู่กับความ “ฟุ้ง” เป็นหลัก ไม่ว่าจะการศึกษา หาข้อมูล วิจัยวิจารณ์ คิดเรื่องต่างๆ แต่การเปลี่ยนวิถีชีวิตไปสู่ความ “ดับ” คือไม่ต้องคิดอะไรเลย ก็เอื้อให้ชีวิตสมดุลขึ้นได้เหมือนกัน

ผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ก็ควรจะประมาณตนไม่ให้ฟุ้งจนเหนื่อย และไม่ให้ดับจนไม่เหลืออะไรเลย เมื่อเรายังไม่เก่งในการใช้จิตของตัวเองจัดการทุกอย่าง เราก็ควรจะใช้องค์ประกอบภายนอกในการสร้างสภาวะให้เหมาะสมต่อการเข้าใจชีวิตด้วย

– – – – – – – – – – – – – – –

25.9.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ศีลและวินัย

June 30, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,167 views 0

เมื่อศึกษาไปจะค้นพบว่า ศีลคือสิ่งที่ต้องศึกษาเพื่อการเว้นขาดจากการเสพ ไปตั้งแต่กาย วาจา จนถึงใจ

แต่วินัยนั้นคือการห้าม การบัญญัติว่าอะไรห้าม อะไรอนุญาต

ดังนั้นการถือศีลจะไม่ใช่การห้ามตัวเองไม่ให้ทำสิ่งนั้นเพียงเพราะเป็นกฏ แต่เป็นการศึกษาให้เห็นโทษภัยของสิ่งนั้นเพื่อให้เกิดปัญญาจนกระทั่งเว้นขาด จากการทำผิดศีลได้

ยกตัวอย่างวินัยเช่น เราเป็นนักมังสวิรัติ ที่พยายามห้ามใจตัวเองไม่ให้ไปกินเนื้อสัตว์เพราะกลัวจะผิดศีล นี้คือลักษณะถือเป็นวินัย เป็นกฏ เป็นข้อห้าม

ถ้าเป็นการศึกษาศีลจะเป็น เราเป็นนักมังสวิรัติ เราพยายามที่จะศึกษาว่าเหตุอันใดหนอ ที่ทำให้เราอยากเสพเนื้อสัตว์ เราหลงติดหลงยึดอะไรในสิ่งนั้น แล้วเราจะกำจัดเหตุนั้นอย่างไร ให้เราไม่ต้องกลับไปเสพเนื้อสัตว์นั้นอีก

จะสังเกตุว่า แม้ในข้อปฏิบัติเดียวกัน ยังมีความเห็นความเข้าใจในการปฏิบัติที่แตกต่างกัน ซึ่งก็มีผลที่แตกต่างกันด้วย ซึ่งโดยหลักของวินัยนั้นจะเน้นควบคุม กาย วาจา แต่ศีลนั้นจะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือประกอบในการชำระกิเลส

ศิลปบริหารกรรม

June 1, 2013 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,551 views 0

หลังจากที่ชีวิตได้เล่าเรียนมาในหลายๆศาสตร์ ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน จนมาถึงปัจจุบัน ผมได้พาตัวเองเข้าสู่หลักสูตรใหม่ หลักสูตรนี้เริ่มมาตั้งนานแล้ว และจะจบลงเมื่อกรรมเท่ากับศูนย์

ศิลปบริหารกรรม ผมได้คำนี้มาจากการคิดเล่นๆจากการได้เรียน ป.ตรี เกี่ยวกับศิลปะ ป.โท เกี่ยวกับบริหารการจัดการ และความรู้ทางศาสนาพุทธ ที่ได้ศึกษามาบ้าง จนรวมมาเป็น ศิลป + บริหาร + กรรม คำนี้คิดไว้นานแล้ว แต่ไม่คิดว่าจะได้หยิบยกกันมาอีกที

ศิลปบริหารกรรม ( Art of karma management) มีความหมาย หรือนิยามที่ผมได้ให้ไว้เป็นส่วนตัว คือ  ” การใช้ศิลปะในการบริหารจัดการ กรรมหรือผลของการกระทำที่เกิดขึ้น ” แน่นอนว่าคำว่าศิลปะนั้นมีความหมายมากกว่าความงาม อาจจะเป็นความพอดี ความเหมาะสม ก็ได้สำหรับผม

ในการบริหารกรรมที่ดีนั้น มีทั้งการจัดการหลากหลาย ถ้ามองเป็นขั้นตอนก็ต้นเหตุ ปลายเหตุ หรือความเป็นเหตุเป็นผลนั่นเอง ถ้าสามารถหยุดเหตุได้ ก็ไม่มีผล ไม่ว่าจะบริหารเหตุหรือผล สุดท้ายก็ต้องยอมรับกับผลของการเปลี่ยนแปลงนั้นๆอยู่ดี

ศิลปบริหารกรรม

จึงกลายเป็นวิชาใหม่ที่ผมกำลังจะลงเรียนอย่างเต็มตัว ในมหาวิทยาลัยชีวิต วิชานี้สามารถเรียนได้ตั้งแต่เกิดจนตาย ตายจนเกิด แล้วก็เกิดไปจนตายใหม่ เรียนกันไม่จบไม่สิ้นกว่าจะผ่านได้ในวิชานี้ก็มี 4 เกรดด้วยกัน ซึ่งถ้าได้เกรดต่ำก็คงต้องไปเรียนใหม่อีกจนกว่าจะได้เกรดสูง สำหรับเกรดในวิชานี้คงไม่ใช่ A B C D หรือ F อย่างแน่นอน แต่เป็นระดับของจิตวิญญาณมากกว่า เดาๆกันเองนะครับว่าผมหมายถึงอะไร…

สวัสดี