Tag: วณิชชสูตร
ซื้อกิน ฆ่า ค้าขาย เสมอกัน
ซื้อกิน ฆ่า ค้าขาย เสมอกัน
การฆ่าสัตว์นั้น ถือเป็นสิ่งที่อยู่นอกพุทธ เพราะความเป็นพุทธจะเริ่มต้นที่การตั้งใจมั่นว่าจะไม่ฆ่าสัตว์ ตั้งแต่การไม่ไปฆ่าด้วยตนเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ไม่สนับสนุนให้ใครฆ่า ไม่ยินดีเมื่อผู้อื่นฆ่า แนะนำให้ผู้อื่นเว้นขาดจากการฆ่า และยินดีชื่นชมในการไม่ฆ่า ไม่ทำร้าย ไม่เบียดเบียน ด้วยใจที่บริสุทธิ์ผ่องใส
ผู้ที่ตั้งใจฆ่าสัตว์นั้น คือผู้ตั้งใจที่จะเบียดเบียนชีวิตสัตว์ โดยเฉพาะผู้ที่ฆ่าสัตว์เป็นประจำ ฆ่าสัตว์เป็นอาชีพ ฆ่าสัตว์เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ชาวพุทธจะเรียกคนเหล่านี้ว่าเป็นคนไม่มีศีล ซึ่งการไม่มีศีลนั้นก็คือไม่มีปัญญา ไม่รู้คุณค่าของการมีศีลและโทษชั่วของการผิดศีล เมื่อไม่มีศีล หิริโอตตัปปะย่อมไม่สามารถเจริญหรือพัฒนาไปได้ ผู้ที่ทำผิดศีลฆ่าสัตว์อยู่เป็นประจำจึงเป็นผู้อยู่นอกพุทธ เป็นคนต่ำ เป็นคนชั่ว เป็นผู้เบียดเบียนอยู่นั่นเอง
เมื่อเราได้ยินข่าวว่าธุรกิจนั้นโกงหรือเอาเปรียบ เราก็มักจะร่วมกันคว่ำบาตร ไม่สนับสนุนธุรกิจนั้น ๆ เรียกว่าถ้ารู้ว่าเขาชั่ว หรือแม้แต่เขาไม่ได้ชั่วเอง แต่ไปสนับสนุนคนชั่ว เข้าข้างคนชั่ว เราก็ไม่อยากจะคบหากับเขาแล้ว แม้จะเป็นธุรกิจที่ผลิตสินค้าที่เราเคยใช้ เคยชอบ เราก็พร้อมจะเลิกซื้อ เลิกคบค้ากับธุรกิจนั้น ๆ เพราะไม่อยากคบหาหรือสนับสนุนคนที่เราคิดว่าชั่ว
นั่นเพราะเรามีความรู้สึกผิดและมีความเกรงตัวต่อบาปในระดับที่แตกต่างกัน เขาทำชั่ว แต่เราไม่ไปชั่วกับเขา อันนี้แสดงว่าเรามีปัญญารู้สิ่งดีสิ่งชั่วและพยายามออกจากสิ่งชั่วนั้น
กลับมาที่ประเด็นหลัก นั่นคือเรื่องของการซื้อเนื้อสัตว์มากิน น่าแปลกที่คนส่วนมากรู้อยู่แล้วว่าเนื้อสัตว์ในทุกวันนี้ มาจากการเลี้ยงสัตว์ในระบบที่โหดร้ายทารุณ ไปจนถึงการฆ่าที่เรียกได้ว่าถ้าเห็นแล้วคงจะทำให้หดหู่ใจกันเลยทีเดียว
ทำไมคนเราถึงไม่เลิกซื้อเนื้อสัตว์ ทั้งที่รู้ว่าเขากักขังทรมานมันมา ฉุดกระชากลากมันมา ทำร้ายและฆ่ามันมา คนที่เขาฆ่านี่เขาก็ไม่มีศีล ผิดศีลขั้นต่ำหมดทุกข้อ ตั้งแต่ฆ่าสัตว์ ขโมยเนื้อที่เขาไม่ได้ให้ เสพกาม(กินเนื้อสัตว์)ที่เขาไม่อนุญาต โกหกว่าเป็นเจ้าของชีวิตสัตว์ มัวเมาว่าสัตว์นั้นเป็นอาหารของมนุษย์ เป็นสิ่งสมควรถูกกิน เป็นการอาชีพที่เสียสละ ฯลฯ ถึงเขาจะเห็นผิดและทำชั่วได้ขนาดนี้ คนส่วนมากก็ยังคบค้าสมาคมกับเขาอยู่
ในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๖ ข้อ ๓๘๐ “อหิริกมูลกสูตร” มีคำตอบที่พระพุทธได้ตรัสเปรียบไว้ว่า ผู้ที่ “ไม่มีหิริ”, “ไม่มีโอตตัปปะ”, “มีปัญญาทราม” ย่อมคบค้าสมาคมกัน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมคนถึงไม่เลิกซื้อเนื้อสัตว์กินทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเขาฆ่ามา เพราะคนเหล่านั้นมีหิริโอตตัปปะและปัญญาทรามเสมอกับคนที่ฆ่าสัตว์นั้นเอง
คนที่เขาฆ่าสัตว์นั้น เขาก็ไม่มีหิริโอตตัปปะและมีปัญญาทราม เมื่อเขาคบค้าสมาคมกับผู้ค้าขายเนื้อสัตว์ นั่นหมายถึงผู้ค้าขายเนื้อสัตว์ ย่อมมีหิริโอตตัปปะและปัญญาทรามเสมอกัน จึงได้คบค้าสมาคมกัน และผู้ที่ค้าขายเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะขายส่ง ขายปลีก หรือทำอาหารขายเป็นจาน ๆ ย่อมคบค้าสมาคมกับผู้ซื้อ นั่นหมายถึงผู้ที่ซื้อเนื้อสัตว์กินก็ย่อมมี หิริโอตตัปปะและปัญญาทรามเสมอกับผู้ค้าขายเนื้อสัตว์และผู้ที่ฆ่าสัตว์นั้นเช่นกัน
ซึ่งจะไปสอดคล้องกับ “วณิชชสูตร” (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๒ ข้อ ๑๗๗) การค้าขายเนื้อสัตว์และการค้าขายชีวิตสัตว์นั้นเป็นสิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรทำ ผู้ที่กระทำอยู่นั้นถือเป็นเรื่องนอกพุทธ ไม่ก่อให้เกิดความเจริญ ไม่ทำให้เกิดกุศล ไม่มีประโยชน์ใด ๆ ที่จะไปค้าขายสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่สมควร
จากที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น เมื่อเราเกิดความรู้สึกว่าธุรกิจใด ๆ นั้นไม่เหมาะสม เราก็เลิกคบ เลิกสนับสนุน เพราะเรามีปัญญาเห็นว่าสิ่งนั้นไม่ดี เป็นสิ่งชั่ว เราเลยตีตัวออกห่าง แต่ที่เราไม่เลิกซื้อเนื้อสัตว์กิน เพราะข้างในจิตใจของเรานั้นยังคิดว่าสิ่งนั้นเหมาะสม ยังเป็นสิ่งดีที่ควรสนับสนุน นั่นเพราะเรามีหิริโอตตัปปะและปัญญาเสมอกันกับคนที่ฆ่าสัตว์เหล่านั้นนั่นเอง
แม้เรื่องราวเหล่านี้จะไม่มีเผยแพร่อยู่ในคำสอนของอาจารย์ส่วนมากในปัจจุบัน แต่หลักฐานคือคำสอนของพระพุทธเจ้าที่มีในพระไตรปิฎกนั้น ก็มีมากพอให้เราพิจารณาว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร สิ่งใดเป็นไปเพื่อความเกื้อกูลสัตว์ทั้งปวง สิ่งใดเป็นไปเพื่อเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย หิริโอตตัปปะนั้นจะเจริญได้ก็ต่อเมื่อมีศีล ศีลคือสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้วเพื่อให้ผู้ศรัทธาได้ศึกษาและปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความผาสุกในชีวิต
เมื่อเราศึกษาศีลจนเข้าใจแจ่มแจ้งในคุณค่าของศีลนั้น เราจะแบ่งปันประโยชน์ของศีลนั้นให้กับผู้อื่น แนะนำให้ผู้อื่นมีศีล เราจะสรรเสริญผู้มีศีล คบหาผู้ที่มีศีล ห่างไกลคนที่ไม่มีศีล เว้นแต่จะเอื้อประโยชน์แก่เขาเป็นกรณี ๆ เมื่อมีศีล หิริ โอตตัปปะจึงเจริญได้ เมื่อมีศีล ก็จะย่อมมีปัญญา เมื่อนั้นก็จะเห็นได้เองว่า สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร
ยิ่งสังคมนั้นมีความเจริญในด้านศีลธรรมมากเท่าไหร่ การกินเนื้อสัตว์ก็จะลดลงไปมากเท่านั้น จากคำกล่าวที่ได้อ้างอิงมา จะเข้าใจได้เลยว่า ยากนักที่ชาวพุทธผู้ตั้งมั่นในศีล ๕ จะคบค้าสมาคมกับคนไม่มีศีล นั่นเพราะไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่คนมีหิริโอตตัปปะและมีปัญญา จะไปคบค้าสมาคมกับคนที่ไม่มีหิริโอตตัปปะและมีปัญญาทรามได้
28.8.2559
สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย ภาคปฏิบัติ
*ควรศึกษาเนื้อหาในบทความ “สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย” เพื่อความเข้าใจที่เพิ่มมากขึ้น
สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย ภาคปฏิบัติ (การละเว้นการค้าขายเนื้อสัตว์บนมรรควิถี)
เมื่อเราได้เรียนรู้ข้อควรปฏิบัติเพื่อละเว้นสิ่งที่จะสร้างทุกข์และวิบากบาป ที่จะมาสกัดกั้นไม่ให้ตัวเราเข้าถึงความผาสุกที่แท้จริง เราก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของการปฏิบัติ
เมื่อเราได้เรียนรู้จากวณิชชสูตรแล้วว่า ไม่ควรค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์ ดังนั้นภารกิจต่อมาคือการปฏิบัติสู่บทบัญญัตินั้นโดยลำดับ ซึ่งไม่ใช่ว่าคนทุกคนจะใช้การหักดิบได้ตั้งแต่แรก เราจึงควรศึกษาข้อปฏิบัติเพื่อเข้าถึงคุณประโยชน์เหล่านั้น
การค้าที่ผิด นั้นคือมิจฉาวณิชชา การจะเข้าสู่สัมมาวณิชชาหรือการค้าขายที่ถูกได้นั้น ไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนด้วยข้อกำหนด แต่เป็นการเปลี่ยนไปถึงจิตวิญญาณ เปลี่ยนจากจิตที่มีความเห็นในทางมิจฉาไปสู่สัมมาโดยลำดับ ลดความผิดลง เพิ่มความถูกต้องทีละก้าว ทีละก้าว จนมีความเห็นที่ตรงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างแนบเนียนสนิท
การละเว้นการค้าขายเนื้อสัตว์บนมรรควิถีในบทความนี้ เราจะใช้สัมมาอริยมรรคเป็นทางปฏิบัติในการละความมิจฉาในเรื่องการค้าขาย เฉพาะสองข้อนี้เป็นหลัก
1). สัมมาทิฏฐิ – คือการทำความเห็นให้ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ เห็นทุกข์ของการค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์ เห็นเหตุนั้น เห็นวิธีดับทุกข์นั้น และเห็นวิธีปฏิบัตินั้น สัมมาทิฏฐิเป็นด่านแรก เป็นเหมือนกระดุมเม็ดแรก เป็นเหมือนหางเสือที่กำหนดทิศทางของเรือ การมีความเห็นถูกไม่ได้หมายความว่าจะต้องหมดกิเลส ถ้าเรามีความเข้าใจเช่นว่า การค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์ทำให้สัตว์ต้องเป็นทุกข์ การทำสิ่งที่ผิดจากที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้นคือทางแห่งทุกข์ การเบียดเบียนคนอื่นคือการเบียดเบียนตนเอง เห็นลงไปถึงเหตุว่าความอยากและความหลงติดหลงยึดในเรื่องใดที่ทำให้ทุกข์นั้นเกิด แล้วจะดับมันอย่างไรจะทำเป็นลืมว่าเคยมีบัญญัตินี้หรือจะทำลายความเห็นผิดนี้
แม้จะยังมีความอยากซื้อขายอยู่ แต่ถ้ามีความเห็นไปในทางลด ละ เลิก ก็เรียกได้ว่ามีความเห็นที่ถูกตรงแล้ว ในขั้นนี้แม้เราจะยังออกจากการค้าขายไม่ได้ แต่ให้มีความเห็นไปในทิศทางที่ว่าการค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์เป็นทางแห่งทุกข์ให้ได้ก่อน ถ้ายังไม่มีความเห็นเช่นนี้หรือเห็นค้านแย้งไปในทิศทางตรงข้าม ก็ควรศึกษาเพิ่มเติมเพื่อเข้าถึงประโยชน์ของสิ่งนี้
ถ้าทิฏฐิยังไม่ตรง ก็ยังไม่ต้องปฏิบัติอะไร เพราะปฏิบัติไปก็จะผิด จะมีทิศทางไปทางมิจฉามรรค จะเนิ่นช้า จะหลงทาง มีแต่จะเสียเวลาไปเปล่าๆ ดังนั้นจึงควรเน้นหนักไปที่ทิฏฐิ ทำให้เกิดความเห็นดีเห็นงามในการเข้าถึงประโยชน์นี้ให้ได้ก่อน ให้มีฉันทะก่อน จึงค่อยปฏิบัติมรรคองค์อื่นๆต่อไป
2). สัมมาสังกัปปะ – คือการคิดพิจารณาที่จะทำลายความเห็นผิดที่มีอยู่ไปโดยลำดับ คิดเรื่องประโยชน์ของการไม่ค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์ และคิดเรื่องโทษของการจมอยู่กับสิ่งนั้น คิดย้อนแย้งกับกิเลส เถียงกิเลส ไม่เอาตามกิเลส มันอยากจะซื้อก็ไม่ซื้อ ไม่รีบซื้อ หรือซื้อให้น้อยกว่าปกติ
3). สัมมาวาจา – คือการเจรจาสื่อสารสิ่งที่ถูกตรง ถ้าต้องพูดกันในประเด็นเหล่านี้ ก็ให้พูดเรื่องการเบียดเบียนเป็นโทษ ว่าการค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์เป็นโทษอย่างไร ถ้าไม่ค้าขายจะเป็นประโยชน์อย่างไร พูดให้เป็นไปตามธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่พูดตามที่กิเลสสั่ง
4). สัมมากัมมันตะ – ทำกิจกรรมการงานที่ถูกตรง สิ่งแรกคือไม่ไปค้าขาย เพราะเป็นเหตุในการเบียดเบียนซึ่งอยู่ในกรอบของศีลข้อ ๑ ,เว้นขาดจากการลักขโมย ไม่รับของที่เขาขโมยมา ไม่รับของโจร ไม่รับของที่เขาฆ่ามา และเว้นขาดจากการลุ่มหลงในกามคุณของสัตว์และเนื้อสัตว์ พิจารณาก่อนเสพ ไม่หลงไปในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสของสัตว์และเนื้อสัตว์นั้น
5). สัมมาอาชีวะ– คือไม่เลี้ยงชีพด้วยการค้าขายชีวิตสัตว์และเนื้อสัตว์ ถึงจะมีอาชีพนั้นอยู่ก็ค่อยๆปรับเปลี่ยน ลดการค้าที่ยุ่งเกี่ยวกับสัตว์และเนื้อสัตว์ ปรับเปลี่ยนให้มีส่วนผิดน้อยลง และเพิ่มส่วนที่ถูกให้มากเรื่อยๆตามลำดับ หาอาชีพหรือรายได้เสริมอื่นทำ หรือหาช่องทางอื่นในการดำรงชีพ ละเว้นจากมิจฉาอาชีวะ ไม่ล่อลวงให้คนอื่นหลงในสัตว์และเนื้อสัตว์ ไม่เอาลาภที่ได้จากการเกี่ยวข้องกับสัตว์และเนื้อสัตว์มาสร้างลาภอื่นๆเพิ่มเติมให้กับตน
6). สัมมาวายามะ – เพียรทำสิ่งที่ถูกตรง สิ่งใดที่ผิดก็อย่าทำเพิ่ม เพียรแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดไป เพียรทำสิ่งดีที่ยังทำไม่ได้ให้เจริญขึ้น และรักษากระบวนการของความเพียรเหล่านี้ให้เจริญยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ในขั้นตอนความเพียรนี้เอง แม้สิ่งใดที่ยังทำไม่ได้ในตอนแรก เราก็เพียรล้างความเห็นผิดของเราไปโดยลำดับ เพียรออกจากสิ่งชั่ว เพียรเข้าหาสิ่งดี เพียรที่จะลดการเบียดเบียน เพียรพยายามลดความยึดมั่นถือมั่นที่จะก่อให้เกิดทุกข์
7). สัมมาสติ – มีสติในการระลึกรู้กิเลส รู้ว่ากิเลสเข้ามาเมื่อใด ความเห็นใดเป็นความเห็นของกิเลส ความคิดใดเป็นความคิดของกิเลส คำพูดใดเป็นคำพูดของกิเลส กิจกรรมการงานและอาชีพใดเป็นไปเพื่อเสริมกิเลสสร้างอกุศล และความเพียรใดไม่เป็นไปเพื่อลดล้างกิเลส ให้มีสติจับอาการของกิเลสให้ได้ โดยใช้สติปัฏฐาน ๔ ผ่านกาย เวทนา จิต ธรรม คือจับอาการของกิเลสที่เกิดได้ รู้สุขทุกข์ที่เกิดมานั้นเพราะจิตมีกิเลสตัวใดปะปน และใช้ธรรมที่เหมาะควรมาพิจารณากิเลสนั้นซ้ำๆย้ำๆ ใคร่ครวญ ทบทวนจนกระทั่งปัญญาเจริญขึ้น คือสร้างธรรมใหม่ขึ้นมาบนธรรมเดิม เป็นธรรมะที่ละเอียดลึกซึ้งขึ้น ไม่ปะปนไปด้วยกิเลส ใสสะอาดกว่าธรรมเดิมที่เคยมีโดยลำดับ
8). สัมมาสมาธิ – ความตั้งมั่นในมรรคทั้ง ๗ องค์นั่นแหละ คือสัมมาสมาธิของพุทธ คือทำมรรคทั้ง ๗ ด้วยความตั้งมั่น นั่นคือความเป็นสมาธิที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์
….เมื่อปฏิบัติดังนี้จะเกิดความเจริญขึ้นโดยลำดับ จะเกิดปัญญารู้แจ้งโทษชั่วของการค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์มากขึ้น มีปัญญารู้หนทางหลีกเลี่ยงสิ่งที่ผิด มีความเห็นที่มีความชัดเจนในแนวทางการพ้นทุกข์มากขึ้นโดยลำดับ ซึ่งการปฏิบัตินั้นไม่ใช่เพื่อการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทันที แต่เป็นไปเพื่อสร้างปัญญาให้เกิด และให้ความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นผลที่เกิดขึ้นเองด้วยเหตุที่ปัญญานั้นเจริญขึ้น
เมื่อมรรคถูก ผลก็ถูก คือจะมีความเห็นไปในแนวทางที่เป็นข้าศึกต่อกิเลส เป็นผู้ไม่เบียดเบียน ปฏิบัติตามข้อควรปฏิบัติคือไม่ค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์ได้โดยไม่มีความทุกข์ใดๆมารบกวนจิตใจ
– – – – – – – – – – – – – – –
10.8.2558
สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย
สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย
พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับการค้าขายที่ผิด ชาวพุทธไม่ควรทำไว้ด้วยกันห้าข้อในวณิชชสูตร และสองในห้าข้อนั้นก็เกี่ยวพันกับชีวิตของสัตว์โดยตรง
การค้าขายสัตว์ (สัตตวณิชชา) และการค้าขายเนื้อสัตว์ (มังสวณิชชา) เป็นสิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรทำ ไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้ แต่ถ้าจะทำก็ไม่เรียกว่าเป็นทางของพุทธ ไม่ใช่แนวทางปฏิบัติของพุทธ นั่นหมายความว่าการค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์นั้นเป็นกิจกรรมนอกพุทธ ไม่เกี่ยวกับความเป็นพุทธ เป็นทางแห่งมิจฉา ทางแห่งบาป ทางแห่งความหลงผิด ไม่เป็นไปเพื่อกุศล ไม่เป็นไปเพื่อการพ้นทุกข์
ชาวพุทธย่อมไม่ยินดีในการขายสัตว์และเนื้อสัตว์ เพราะพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ชัดเจนว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เป็นสิ่งที่ควรจะหลีกเลี่ยง ไม่ควรฝืน ไม่ควรต้าน แต่ก็ไม่ควรเชื่อในทันที ควรใช้ปัญญาพิจารณาตามสิ่งที่ท่านตรัสว่าเป็นประโยชน์จริงไหม? แล้วสิ่งใดเป็นโทษ? ในเมื่อท่านตรัสหนทางสู่การพ้นทุกข์ เราจึงควรมีความเห็นไปตามท่านหรือขัดแย้งกับท่าน ดังนั้นการที่เราจะไปยินดี ไปสนับสนุนให้คนขายสัตว์และเนื้อสัตว์นั้นหมายถึงเรายอมรับในสิ่งที่ไม่สมควรนั้น เช่นเดียวกับการ รับของโจรทั่งที่รู้ว่าเป็นของที่ถูกปล้นมาขโมยมา
ในปัจจุบันเรารู้ได้โดยทั่วไปว่าชีวิตสัตว์นั้นกลายเป็นสิ่งที่ถูกซื้อขาย กลายเป็นเหมือนวัตถุสิ่งของ ซึ่งเป็นการพยายามเข้าไปควบคุมชีวิตผู้อื่น ทั้งๆที่จริงแล้วหนึ่งชีวิตตีค่าไม่ได้ เราไม่ควรมีสิทธิ์ในการควบคุมชีวิตสัตว์ใดเลย ดังนั้นการค้าขายชีวิตสัตว์จึงเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะเป็นการดูถูกคุณค่าของชีวิต การพยายามสร้างสิทธิ์อันชอบธรรม ทั้งๆที่ไม่มีสิทธิ์ใดๆเลยเหตุนั้นเพราะความหลงว่าตนเป็นผู้อยู่เหนือกว่า จึงมัวเมาในอำนาจลวงโลกที่ตนเองสร้างขึ้นมา สร้างความถูกต้องในการรังแกสัตว์อื่น ให้สามารถเบียดเบียนสัตว์อื่นได้อย่างไม่รู้สึกผิด
ชาวพุทธย่อมรังเกียจการเบียดเบียนและการฆ่าเรารู้กันดีอยู่แล้วว่าเนื้อสัตว์ที่ขายกันในตลาดทุกวันนี้ เป็นเนื้อสัตว์ที่ถูกเลี้ยง ถูกจองจำ ถูกบังคับ และถูกฆ่ามา เราจึงไม่ควรยินดีในเนื้อสัตว์เหล่านั้น อีกทั้งการค้าขายเนื้อสัตว์นั้นยังเป็นการค้าที่ผิดชาวพุทธไม่ควรทำ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ที่มีที่มาอย่างไรก็ไม่ควรซื้อขาย เพราะถึงจะไปเจอเนื้อสัตว์ที่มันตายเอง กินได้โดยไม่ผิดบาป แต่เมื่อนำมาขาย ให้ผู้คนหลงติดหลงยึดในรสชาติ แล้วคนขายเกิดจิตโลภอยากได้เงิน แต่สัตว์นั้นก็ไม่ได้ตายเองตามธรรมชาติทุกวัน จึงทำให้คนโลภเหล่านั้นทิ้งศีลเพื่อถือเงิน เอาเงินเป็นหลัก เอาศีลเป็นรอง ยอมฆ่าแต่ไม่ยอมจน ยอมบาปเพียงเพราะหวังเสพสุขลวงจากความร่ำรวยเติบโตจนเป็นอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์อย่างในทุกวันนี้
ดังนั้นการที่เราจะไปซื้อสัตว์เป็น ซากสัตว์ตายหรือเนื้อสัตว์ ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ควรเอาเสียเลย เพราะจะเป็นการสนับสนุนให้ผู้อื่นหลงมัวเมาในบาปนั้น เป็นการสนับสนุนให้เขาฆ่าสัตว์ และที่แน่ๆ คือสนับสนุนให้ผู้อื่นประพฤติธรรมผิดทาง ซึ่งนั่นก็หมายถึงเรามีความเห็นผิดด้วยเช่นกัน ผู้เห็นผิดก็ย่อมหลงผิดไปตามๆกันไป ซึ่งเป็นไปตามธรรมของผู้เห็นผิดซึ่งจะต้องหลงผิดเป็นเรื่องธรรมดา
การค้าขายเนื้อสัตว์นั้นไม่ได้มีเพียงแค่ในตลาด แต่ยังรวมไปถึงร้านอาหารที่ขายเนื้อสัตว์ด้วย แม้จะขายเป็นเนื้อสดหรือเนื้อปรุงสุกก็อยู่ในขอบเขตของการค้าขายเนื้อสัตว์ทั้งสิ้น ดังนั้นร้านอาหารที่ขายเนื้อสัตว์ในปัจจุบันจึงเป็นการค้าที่ผิด(มิจฉาวณิชชา) เป็นสิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรทำ นั่นหมายถึงเนื้อสัตว์และเมนูเนื้อสัตว์นั้นเป็นเนื้อนอกพุทธ คือไม่มีความเป็นบุญและกุศลใดๆในวิสัยของพุทธ ไม่ได้อยู่ในขอบเขตของศาสนาพุทธ เป็นเนื้อนอกรีต เมื่อเนื้อนั้นเป็นเนื้อนอกพุทธ ไม่ว่าเราจะทำอย่างไร จะซื้อมา หรือจะรับต่อจากเขามา มันก็เป็นเนื้อสัตว์ที่อยู่นอกพุทธอยู่ดี
ในบทที่ว่าด้วยความเสื่อมของชาวพุทธ(หานิยสูตร) มีข้อหนึ่งได้กล่าวไว้ถึง “การแสวงหาเขตบุญภายนอกศาสนาพุทธคือความเสื่อมของชาวพุทธ” นั่นหมายถึง “คนที่เห็นผิดจะพยายามเอาสิ่งที่อยู่นอกพุทธ มาทำให้เกิดเป็นสิ่งที่เขาเข้าใจว่าเป็นบุญเป็นกุศล นั้นเป็นความเสื่อม” เช่นการเอาเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา ซึ่งเป็นเนื้อนอกพุทธ ไปทำอาหารใส่บาตรพระ ผิดตั้งแต่คนฆ่า คนขาย คนซื้อ และเอาไปใส่บาตรพระ เป็นการทำบุญได้บาป เพราะเอาสิ่งที่ไม่ควร เอาเนื้อที่เขาฆ่ามา เนื้อที่ควรรังเกียจ ไปให้สาวกของพระพุทธเจ้าฉัน (ชีวกสูตร) แล้วหวังผลบุญกุศล ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความเห็นที่ผิด เป็นการแสวงบุญนอกขอบเขตพุทธ เป็นการทำบุญที่ผิดหลักพุทธ เป็นการทำบุญได้บาป ซึ่งเป็นความเสื่อมของชาวพุทธที่เห็นได้ในปัจจุบันนั่นเอง
เพียงแค่ข้อธรรมสองข้อจากวณิชชสูตร คือ การค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์นั้นไม่ใช่สิ่งที่ชาวพุทธควรทำ ก็เพียงพอจะตัดเนื้อสัตว์ในชีวิตประจำวันของชาวพุทธออกไปได้มากกว่าครึ่งแล้ว เราซื้อสัตว์มาเลี้ยงก็ไม่ได้ ฆ่ากินเองก็ไม่ฆ่า ส่วนจะซื้อเนื้อสัตว์ก็ทำไม่ได้อีก ซื้ออาหารที่มุ่งเน้นการขายเนื้อสัตว์ก็ไม่ถูกธรรมอีก เพราะเราไปซื้อ เขาก็ขาย เมื่อมีการค้าขายก็เรียกได้ว่าผิดหลักปฏิบัติอย่างชัดเจน จะเลี่ยงบาลีอย่างไรก็คงยากจะหนีพ้น และมันก็สนับสนุนการกระทำที่ผิดไปจากหลักของพุทธอีก แล้วทีนี้จะหาเนื้อสัตว์มาจากไหน มันไม่มีให้กินหรอก ที่กินกันอยู่ทุกวันนี่มันเนื้อนอกพุทธทั้งนั้น เนื้อบาปทั้งนั้น เนื้อที่เขาฆ่ามาทั้งนั้น ถึงจะหาเหตุผล หาข้ออ้าง พยายามบิดเบือนพระไตรปิฎก พยายามแปลความ ตีความเข้าข้างตน ให้ได้กินเนื้อสัตว์ได้อย่างถูกต้องตามที่ต้องการ แต่สุดท้ายมันก็จะผิดไปจากธรรมะอยู่ดี
ดังนั้นผู้ที่พยายามกินเนื้อสัตว์ทั้งที่มีข้อธรรมะต่างๆ เป็นแนวสกัดขวางไม่ให้หาเนื้อสัตว์กินได้ง่ายๆ แต่ก็ยังจะกิน ยังหามากิน ยังเถียงเพื่อให้ได้กิน ยังหาเหตุผลมากิน ก็เป็นเพียงความหลงผิดที่ผลักดันให้ทำเช่นนั้น และเมื่อเป็นเช่นนั้น การที่พวกเขาเหล่านั้นจะถูกกล่าวหา ถูกข่มขี่ ถูกประณามว่าเป็นผู้เบียดเบียน ย่อมเกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา นั่นเพราะพวกเขายังต้องเบียดเบียนสัตว์อื่นเพื่อบำเรอตน บำเรอสังขารตน หรือบำเรอกิเลสตนอยู่เป็นนิจ
ผู้ที่ปฏิบัติตนสู่ความพ้นทุกข์ ย่อมไม่ยินดีในการผิดศีล ผิดธรรม ผิดวินัย ใช่ว่าจะมีคนที่ฆ่าสัตว์นั้นมาแล้ว มีคนที่เอาเนื้อสัตว์เหล่านั้นปรุงแต่งเป็นอาหารให้เรา แล้วเราจะต้องยินดีรับ เพราะเรารู้อยู่เต็มอกว่านี้คือเนื้อที่เขาฆ่ามา สัตว์ถูกพรากชีวิตมา เราย่อมรังเกียจเนื้อที่เขาฆ่ามา ดั้งนั้นผู้ที่มีหิริโอตตัปปะจึงไม่สามารถรู้สึกยินดีกับเนื้อสัตว์เหล่านั้นได้ หากจะมีผู้ที่ยินดีในเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา ก็คงจะไม่ใช่เรื่องของพุทธ เป็นเรื่องนอกพุทธ ไม่อยู่ในวิสัยของพุทธ
แนะนำบทความเพื่อการศึกษาเพิ่มเติมที่ ” สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย ภาคปฏิบัติ “
– – – – – – – – – – – – – – –
8.8.2558