Tag: มิจฉาอาชีวะ
สร้างความเจริญ ด้วยการเลิกรับใช้คนชั่ว
การรับใช้คนชั่ว คนไม่ดี หรือคนผิดศีล ก็เป็นมิจฉาอาชีวะ หรือมีความเป็นมิจฉาชีพอยู่ เพราะยังติดอยู่ในข้อที่ว่า “มอบตนในทางที่ผิด” คือไปยอมรับใช้คนไม่ดี ที่ไม่พาไปพ้นทุกข์นั่นแหละ
แต่ชีวิตนี่มันก็ไม่ได้ง่ายรู้ดีรู้ชั่วได้ทั้งหมดได้ในทันที เราจะต้องเรียนรู้โดยลำดับ ในตอนแรก ๆ บางสิ่งที่เราคิดว่าไม่น่าจะเป็นภัยขนาดนั้น แต่พอภูมิธรรมพัฒนาเพิ่มขึ้นกลับมองว่ามันเป็นภัยมาก
อีกทั้งคนเรายังมีวิบากกรรมเป็นตัวส่งผล ให้ถูกขังอยู่กับคนชั่ว เวลาวิบากขัง มันจะมืดบอด มีความลำเอียง ดีไม่ดีเข้าข้างคนชั่วอีก
ซึ่งเราก็ต้องอาศัยการทำดีไปเรื่อย ๆ จึงจะรู้ชัดขึ้น โดยอาศัยการทำดีกับคนที่เรามั่นใจที่สุด ศรัทธาที่สุด แล้วทำให้เต็มที่ ผลจะเกิด มันจะมีเหตุให้เห็นความจริง ถ้าเขาเป็นคนผิดศีลเน่าใน เราจะได้รู้อย่างชัดเจน
ผมก็เคยมีประสบการณ์รับใช้คนชั่วมาก่อน บอกเลยว่าชีวิตมีแต่ตกต่ำ ลาภสักการะหายหมด เหมือนปลูกพืชแล้วไม่มีผล เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านว่าสงฆ์คือนาบุญ ส่วนคนที่ไม่ใช่ก็คือไม่ใช่
พอเราไปทำดีกับคนที่ไม่ใช่นาบุญ เป็นนาบาป จึงไม่มีผลมาก มีอานิสงส์น้อย แถมยังไปส่งเสริมบาปเขาอีก เอาง่าย ๆ เหมือนเราเอาเงินที่เราหามาอย่างยากลำบาก เอาไปให้เด็กซื้อขนมกินหมดนั่นแหละ
ถ้าเราไปสนับสนุนหรือรับใช้คนไม่ดี คนไม่มีศีล เขาก็เอาเงิน แรงงาน เวลาของเราไปใช้กับเรื่องไร้สาระ เรื่องสะสมกิเลส มันก็ไม่เกิดประโยชน์ ไม่มีผลเจริญ
สรุปแทนที่เราจะเจริญได้มากในหนึ่งช่วงเวลา แต่กลับต้องเสียเวลา แรงงาน ทรัพย์ไปโดยได้ประโยชน์น้อย จริง ๆ ไม่ทำเลยจะดีกว่า การสนับสนุนคนชั่วไม่ทำเลยจะดีกว่า ดูเผิน ๆ เหมือนจะมีกำไรได้เสียสละ แต่สรุปบัญชีออกมาแล้วจะขาดทุน
หลังจากที่ผมได้หลักฐานว่าเขาเป็นคนไม่ดี ผิดศีล เราก็ถอยออกมา เชื่อไหม ชีวิตดีขึ้นคนละเรื่อง ลาภสักการะเริ่มมาให้พอมีกินมีใช้ อัตคัดอยู่เป็นปี พอพลิกใจเลิกรับใช้คนชั่ว ทุกอย่างก็พลิกหมดเลย องค์ประกอบแวดล้อมในชีวิตดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
พอมีโอกาสถามย้ำกับครูบาอาจารย์ท่านก็ชี้ชัดว่า ถ้าเห็นว่าเขาชั่วชัด ๆ ก็ไม่ต้องไปเอื้อหรือไปประมาณอะไรให้ยุ่งยาก คว่ำบาตรไปเลย เพราะยิ่งไปสนับสนุนคนชั่วก็จะมีแต่เพิ่มอกุศลวิบากมากเท่านั้น
ใครอยากมีชีวิตลำบากก็สนับสนุนคนชั่วคนพาลกันต่อไป และคุณจะได้รับสิทธิ์ในการชดใช้วิบากบาป คือเป็นทุกข์ เจ็บป่วย เศร้าหมอง ลำบากกาย ลำบากใจ ฯลฯ
สรุปตรงนี้ว่าการสนับสนุนคนชั่วคือการสร้างความลำบากให้ตนเอง คือความเนิ่นช้าในธรรมอย่างแท้จริง
บาปกับธุรกิจฆ่าสัตว์
มีคำถามมาว่า ” ที่บ้านค้าขายเกี่ยวกับหมู แต่เราไม่อยากทำแต่ก็ช่วยพ่อแม่แบบนี้จะบาปมั้ยครับมีวิธีคิดยังไงครับ”
ตอบ ถ้าไม่มีจิตยินดีในการฆ่าและกิจกรรมที่ส่งเสริมเหล่านั้นก็ไม่บาปครับ
แต่มันจะมีวิบากกรรมในส่วนของ มิจฉาอาชีวะในข้อ ยอมมอบตนในทางที่ผิด คือยอมเอาชีวิตตัวเองไปรับใช้ในกลุ่มหรือธุรกิจที่เป็นการเบียดเบียนหรือผิดศีลต่าง ๆ
ทีนี้ตัววัดมันจะอยู่ตรงที่ว่า ใจเรายินดีหรือเราโดนบังคับ จำใจ หาทางออกไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างหลังก็ไม่บาป มันเป็นสภาพโดนบังคับ เป็นช่วงที่อกุศลวิบากกำลังส่งผล ตามที่เราเคยไปส่งเสริมกิจกรรมที่ไม่ดีมามากในชาติก่อน ๆ แล้วมันสะสมผล พอถึงเวลาที่เราจะออก มันจะออกไม่ง่ายเหมือนใจคิด มันจะตัน มันจะคิดไม่ออก มันจะมองไม่เห็นทาง ได้แต่ก้มหน้าทำรับใช้กรรมไป
วิธีคิดที่แนะนำอย่างแรกคือ ยอมรับกรรม ยอมรับว่าเราก็เคยส่งเสริมมา และเราก็ยังมีส่วนเอื้อให้เกิดกิจกรรมนั้นอยู่ เวลาวิบากกรรมมันส่งผล เราจะหนีหรือจะปลีกตัวออกไม่ได้ ไม่ว่าทั้งดีทั้งร้าย เราก็ต้องรับ ดังนั้นในเมื่อยังไงก็ต้องรับ ก็รับด้วยความเบิกบาน รับด้วยความเข้าใจว่าเราทำชั่วสะสมมามาก การรับกรรมก็เหมือนใช้หนี้ ใช้แล้วก็หมดไป ได้ใช้หนี้ไปแต่ละวันหนี้ก็หมดไปเรื่อย ๆ ก็ทนทำไปด้วย ศึกษาเรื่องกรรมไปด้วย จะเข้าใจมากขึ้น ทำให้เบาใจขึ้นโดยลำดับ
ส่วนที่สองคือการเร่งชำระหนี้ ถ้าเราไม่ได้ทำดีมาก ไม่ได้มีศีลมาก เราก็เหมือนลูกจ้างค่าแรงต่ำ เขาใช้เงินไม่กี่ร้อยก็จ้างได้แล้ว หากว่าเราเป็นหนี้สักร้อยล้าน เขาก็จ้างเราได้ทั้งชีวิต
แต่ถ้าเรามุ่งทำดีมาก ๆ มีศีลมาก ทำใจให้ผ่องใสได้โดยลำดับ ไม่เบียดเบียนคนอื่นสัตว์อื่น มีน้ำใจช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ กตัญญูผู้มีพระคุณ ค่าตัวต่อหนึ่งช่วงเวลาของเราจะเพิ่ม ยกตัวอย่างเช่น ถ้าทำดีมาก ๆ อาจจะเป็นค่าตัววันละล้าน แค่ร้อยล้าน 3 เดือนก็จ่ายหมด
ที่ยกตัวอย่างมานี้คือการเปรียบเทียบให้เข้าใจเรื่องบารมี คือถ้าเราเป็นคนทั่ว ๆ ไป ค่าตัวก็ถูกเป็นธรรมดา แต่ถ้าเราเป็นคนมีชื่อเสียง ค่าตัวก็แพง ในทางธรรมก็เหมือนกัน แต่ความแพงนั้นไม่ใช่เงิน สิ่งที่ต้องจ่ายคือการบำเพ็ญความดีหรือกุศลวิบาก
เช่น ผู้ที่ถวายอาหารมื้อแรกและมื้อสุดท้ายของพระพุทธเจ้า ที่มีอานิสงส์มาก ก็ใช่ว่าจะเป็นใครก็ได้มาถวาย มันต้องเป็นนางสุชาดาในมื้อแรก และนายจุนทะในมื้อสุดท้ายเท่านั้น ทั้งสองท่านต้องทำกุศล สร้างบารมีสะสมมามาก ถึงจะได้สิทธิ์นั้น
หรือกรณีพระเทวทัต ก็เกิดจากบาปที่พระพุทธเจ้าเคยไปฆ่าน้องชายต่างแม่มาเมื่ออดีตชาติอันไกลโพ้น แต่ผลวิบากนั้นก็ยังไม่หมด แต่ถึงที่สุดพระเทวทัตก็จะทำร้ายพระพุทธเจ้าได้สูงสุดตามที่พระพุทธเจ้าต้องรับส่วนของวิบากกรรมในชาตินี้ จะทำร้ายไม่ได้มากเท่าที่ใจคิด เช่น คิดจะกลิ้งหินลงมาทับให้ตาย ผลสุดท้ายทำได้เพียงแค่ให้ท่านห้อเลือด
การจะเข้าถึงคนที่ดีมาก ๆ จำเป็นจะต้องทำความดีมามากด้วย เช่นเดียวกันกับการที่เราจะหนีจากสิ่งไม่ดี เราก็ต้องทำดีมาก ๆ เพื่อที่จะให้คนที่จะมาเกี่ยวข้องกับเรานั้น มีอัตราส่วนเป็นคนดีมีศีลเป็นส่วนมาก หรือเจอสิ่งดีมากกว่าสิ่งร้าย หรือเจอสิ่งร้ายไม่นานก็กลับมาดี
ความบริสุทธิ์ใจคือตัวแปรความสำเร็จของไลฟ์โค้ช
ไลฟ์โค้ช ถ้าว่ากันตามความเข้าใจทั่วไปก็คือคนให้คำปรึกษาเกี่ยวกับชีวิตนั่นแหละ ส่วนจะจำแนกแจกแจง กำหนดสัญญายังไงก็แล้วแต่ภาษา แต่การปฏิบัติก็คือให้คำปรึกษาเกี่ยวกับชีวิต
แม้ว่าไลฟ์โค้ช จะเป็นคำใหม่ที่มีมาในสังคมไทยไม่นานนัก แต่ผู้ที่ทำงานในฟังชั่นของไลฟ์โค้ชนั้นมีมานานแล้ว เพียงแต่คำว่าไลฟ์โค้ช อาจจะถูกมองเป็นวิชาชีพก็ได้ ก็แล้วแต่ใครจะนิยามศัพท์
ไลฟ์โค้ชหรือผู้ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับชีวิต ก็จะเอาความรู้ความสามารถที่ตัวเองมีนี่แหละ มาใช้ในการแนะนำผู้อื่น ซึ่งจะเป็นได้จริง ทำได้จริง และทำได้ยาวนานแค่ไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ใจ
บางครั้งคำแนะนำก็เหมือนลูกกวาด อมไปก็หวาน สุดท้ายฟันผุ น้ำตาลเกิน หรือไม่บางคำก็พาเคลิ้ม พาเมา พาหลง ก็หลงยินดีตามคำลวง สุขได้ชั่วคราว สุดท้ายก็ต้องกลับมาทุกข์หนัก
ดังนั้นการจะแนะนำใคร ผู้ที่แนะนำนั้นจะต้องทำได้จริงเสียก่อน พ้นทุกข์เรื่องนั้น ๆ ให้จริง มั่นคง ยั่งยืน ยาวนานเสียก่อน เพื่อเป็นหลักชัยที่ปักมั่นเป็นตัวอย่างที่ไม่ผิดและให้คำแนะนำที่ไม่ผิด
ต่อมาคือการช่วยเหลืออย่างจริงใจ มีเมตตา และปล่อยวางได้ ว่ากันตรง ๆ ว่าการช่วยเหลือคนอย่างจริงใจที่สุดคือพ้นจากมิจฉาอาชีวะ คือไม่เป็นมิจฉาชีพ
ในมิจฉาอาชีวะ ๕ ในข้อสุดท้ายคือการยังพัวพันกับการมีลาภแลกลาภ ในลาภแลกลาภนั้นก็ยังมิติที่หยาบไปจนถึงละเอียด ในแบบหยาบก็เช่นเล่นการพนันแลกลาภ กลางก็เช่นยังทำงานหาเงิน และละเอียดเช่น การทำดีแลกดี
จริง ๆ การพ้นจากมิจฉาอาชีวะ ในฆราวาสนั้นทำได้ยาก แต่สามารถพ้นได้ง่ายหากเป็นนักบวช ดังนั้นไลฟ์โค้ช ที่ประสบความสำเร็จสูงจึงอยู่ในรูปของนักบวช เพราะพ้นจากการรับลาภก็จะมีพลังในการช่วยคนได้มากขึ้น
แต่ก็มีฆราวาสที่เป็นผู้แสดงธรรมอยู่เหมือนกัน ในสมัยพุทธกาลก็มี “จิตตคหบดี” เป็นเอตทัคคะด้านธรรมกถึก ฝ่ายฆราวาส แต่แม้จะเป็นฆราวาสก็พ้นจากการมีลาภแลกลาภได้โดยใช้สังคมสาธารณะโภคี
เกริ่นมาตั้งนาน อาจจะมีคนสงสัยว่ารับปรึกษาชีวิตแล้วมันยังไง? ก็คนเขาต้องหาเงิน ต้องกินต้องใช้ มันแปลกอะไร?
การช่วยคนอื่นแล้วได้ลาภมาแลก ไม่ว่าจะเงิน การสนับสนุนต่าง ๆ ชื่อเสียง คำขอบคุณ ฯลฯ จะทำให้การประมวลผลในการช่วยเหลือ บิดเบี้ยว ไม่ตรง อคติ ลำเอียง อันเนื่องด้วยเหตุแห่งลาภสักการะเหล่านั้น
แม้จะหวังลาภนิดเดียวมันก็จะเบี้ยวได้ ข้อคิดหรือธรรมที่แสดงจะไม่ผ่องแผ้ว ไม่บริสุทธิ์ เจือด้วยกิเลส ปนด้วยความอยาก แทรกด้วยความยึด มันก็จะเป็นการให้คำปรึกษาเชิงหวังผล หวังลาภ ถึงแม้ว่าทฤษฎีจะถูกต้อง พูดได้ตรงตามหลักฐานอ้างอิง แต่พลังมันจะไม่เต็ม เพราะใจไม่บริสุทธิ์ ยังหวังได้ลาภจากคนอื่นอยู่
ผมเองไม่ได้ต่อต้านการมีอยู่ของไลฟ์โค้ช แต่อยากจะส่งเสริมให้ทำอย่างบริสุทธิ์ใจ ให้พ้นจากลาภแลกลาภ ช่วยคนไม่ต้องหวังอะไร ไม่ต้องขอบริจาคตามศรัทธา ไม่ต้องเอาอะไรทั้งนั้น แม้ทางตรง และทางอ้อม
จะเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการให้คำปรึกษาคนเท่าที่จะเป็นไปได้จริงตามปัญญาบารมีของแต่ละท่าน
แต่ถ้าคิดว่าทำไม่ได้ ก็อย่าพยายามฝืนกับภารกิจนี้เลย เพราะทำไปกิเลสก็โตไป ทำแลกลาภ แลกชื่อเสียง แลกบริวารต่อไป มันจะยิ่งเสื่อมไปเรื่อย ยิ่งพากันหลงไปเรื่อย จะวนเวียนทั้งคนให้คำปรึกษาและรับคำปรึกษา กอดคอกันเศร้าหมอง เป็นทุกข์ในที่สุด
ห่างไกลคนพาล คือตัวอย่างของคนดี
ความเด็ดขาดที่จะตัดสิ่งไม่ดีออกจากชีวิตคือคุณสมบัติหนึ่งที่จะช่วยให้ชีวิตเป็นอยู่ผาสุก
ความห่วงกังวลก็เหมือนแผลเหมือนฝี ต้องคอยระวัง เจ็บปวดอยู่เป็นประจำ ชีวิตที่เนื่องด้วยคนพาลก็เช่นเดียวกัน
คนพาลคือผู้ที่ไม่ประพฤติไปตามธรรม ไม่เอาธรรมะ เกเร เอาแต่ใจ หมกมุ่นกับกิเลส
ถ้าชีวิตของเรานั้นห่างไกลคนพาลได้ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ความเป็นจริงคือ เรามักจะรู้ตัวเมื่อสายไปเสียแล้ว คนพาลนั้นร้ายยิ่งกว่าเสือ เสืออย่างเก่งก็แค่ทำร้าย กัดเราตาย แต่ไม่มีพิษภัยมากกว่านั้น คนพาลนั้นมีพิษยิ่งกว่า แสร้งว่าเป็นคนดี ซ่อนตัวตนของความพาลอย่างแนบเนียน กว่าที่เราจะรู้ตัวก็เรียกว่าถลำคบหาไปเยอะ ใกล้เกินไป
แต่เมื่อเรารู้แล้วว่า คนนี้เป็นคนพาล คิดนี้ผิดศีล คนนี้พูดกลับกลอก ไม่พูดตามจริง พูดผิดเพี้ยนบิดเบี้ยว ไม่ปฏิบัติตามธรรม เราก็ควรจะออกห่างมา เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัว การไปเตือนคนพาลจะยิ่งทำให้เขาจองเวรเรา คือเขาไม่ฟังเราแล้วก็หนึ่งประเด็น เขาจะเห็นว่าเราเป็นศัตรูของเขาก็อีกประเด็น ดังนั้น ถ้าเห็นความพาลแล้ว ผมจะเลือกถอยออกมาเลย
ยิ่งถ้าผิดศีลกันชัด ๆ นี่ไม่ต้องพูดถึง ส่วนใหญ่ก็จะให้เวลาประมาณหนึ่ง เพื่อจะดูว่าสำนึกบาปไหม ถ้าดูท่าทีแล้วไม่สำนึกก็ต้องห่างไว้ คนผิดศีลแล้วรู้ตัวยังพอคบหาได้ แต่คนผิดศีลแล้วไม่สำนึกคบไม่ได้
ทีนี้มันก็ต้องอาศัยความเด็ดขาดอยู่เหมือนกัน เพราะถ้าไม่เด็ดขาด อนุโลม คบกันไป ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากจะไม่ช่วยคนพาลคนนั้น ไม่ทำประโยชน์ให้ตัวเองด้วย แล้วยังกลายเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับคนที่เขาศรัทธาเราด้วย
ถ้าเราชัดเจน คนที่ดูเราอยู่ เขาจะมั่นใจขึ้น ถ้าเราไม่คบใครเขาจะถอยตามเรา ถ้าเราไม่คบคนพาล แล้วเขาไม่คบคนพาลตามเรา อันนั้นมันก็ดี แต่ถ้าเราไม่คบคนพาลแล้วเขายังคบคนพาลอยู่ก็เรื่องของเขา แต่เราก็ทำหน้าที่ของเราให้เห็นแล้ว เราทำให้ดูชัดเจนแล้ว ว่าเราคบหรือไม่คบใคร
มันต้องอาศัยความเด็ดขาดเหมือนพระโมคคัลลานะที่จับพระทุศีลโยนออกจากองค์ประชุมนั่นแหละ แต่เราไม่ต้องทำถึงขั้นนั้นหรอก อันนั้นบารมีระดับอัครสาวก อย่างเราก็ทำให้ชัดเจนที่ตัวเราก็พอ
ให้เราพ้นจากอำนาจบารมีของคนพาล แน่ล่ะสมัยนี้คนพาลเขาไม่ได้มาตัวเปล่า ๆ ส่วนใหญ่ก็พกอำนาจ พกบารมีกันมาเยอะ ๆ ทั้งนั้น เพราะเขารู้ว่าจะใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ให้เขาได้เสพสมใจในกิเลสเขาได้ ยิ่งพาลลึกซึ้ง ยิ่งมีอำนาจมาก แสวงหาอำนาจมาก ใช้อำนาจมาก และบ้าอำนาจมาก จะยิ่งใหญ่ โต พองไปเรื่อย ๆ
ที่เขาโตก็เพราะว่าเราไม่เด็ดขาด ไปเติมอาหาร ไปเป็นแขนขาให้เขานั่นแหละ ถ้าเรายังอยู่ใต้อำนาจของคนพาลอยู่ ก็ยังเป็นมิจฉาชีพอยู่ มรรคผิด ในข้อมิจฉาอาชีวะ ที่ว่า “การมอบตนในทางที่ผิด” คือมอบตนรับใช้คนชั่วคนพาล คือการอยู่ใต้อำนาจ ใต้บารมีของคนพาล
ชีวิตมันต้องเป็นอิสระจากความชั่ว ไม่ถูกความชั่วบงการสิถึงจะผาสุก บางคนตัวเองไม่ทำชั่วแล้ว แต่ยังถูกความชั่วบงการอยู่ มันก็ยังมีส่วนผิดอยู่ดี
มันก็เลยต้องอาศัยความเด็ดขาดในการออกจากสิ่งไม่ดีนั้น ๆ แน่นอนว่ามีผลกระทบ แต่สุดท้ายมันจะดี เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ตัวเราก็ได้ห่างไกลคนพาล คนอื่นเห็นเขาจะได้รู้ชัดเจนขึ้น เขาจะได้ตัดสินใจเลยว่าจะไปเติมพลังทางไหน ส่วนคนพาลก็ไม่ได้อาหารจากเรา ความพาลของเขาก็จะไม่เติบโตเพราะความไม่เด็ดขาดของเรา