Tag: บุญคุณพ่อแม่

ทดแทนคุณพ่อแม่ : ตอบแทนอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าทำตอบแทนแล้ว

August 13, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 5,405 views 0

ทดแทนคุณพ่อแม่ : ตอบแทนอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าทำตอบแทนแล้ว

ทดแทนคุณพ่อแม่ : ตอบแทนอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าทำตอบแทนแล้ว

ทำอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่ากตัญญู สิ่งที่คนส่วนใหญ่ยึดถือและปฏิบัติมานั้น ใช่ความเป็นที่สุดแล้วหรือยัง และต้องทำอย่างไรจึงจะเรียกว่าได้กระทำการตอบแทนคุณพ่อแม่ที่สมควรแล้ว

การกระทำบางอย่างแม้จะเป็นสิ่งที่โลกให้การยอมรับนับถือและปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน แต่ก็อาจไม่ได้เป็นไปเพื่อกุศลสูงสุด ไม่ได้เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ เช่นเดียวกับการตอบแทนคุณพ่อแม่ ในมุมมองของพุทธนั้นมีความลึกซึ้งและยากแท้ในการเข้าถึงคุณวิเศษเหล่านั้น

ในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ ข้อ ๒๗๘ พระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับการทดแทนคุณพ่อแม่ว่าเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ง่ายๆ แม้ว่าเราจะแบกพ่อแม่ไว้บนบ่าทั้งสองข้าง มีชีวิตยืนยาวดูแลท่านไปถึงร้อยปี อาบน้ำให้ท่าน นวดให้ท่าน ฯลฯ แม้ท่านจะขับถ่ายก็ให้ขับถ่ายลงบนบ่าทั้งสองของเรา แม้ว่าเราจะทำเช่นนี้ ก็ยังไม่ได้ชื่อว่าตอบแทนบุญคุณท่านเลย

และแม้ว่าบุตรจะให้อำนาจ ลาภ ยศ สรรเสริญแก่พ่อแม่สักเท่าไหร่ ให้ความสุขความสบาย ให้ปัจจัยสี่อันหาประมาณไม่ได้ แม้ว่าเราจะทำเช่นนี้ ก็ยังไม่ได้ชื่อว่าตอบแทนบุญคุณท่านเลย นั่นเพราะพ่อแม่มีพระคุณแก่เรามาก บำรุงเลี้ยงดู ให้โอกาสเราได้เกิดมาเรียนรู้โลก

นั่นแสดงให้เห็นว่า แม้ว่าเราจะดูแลเอาใจใส่ไม่ให้ขาดตกบกพร่องอย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่สามารถทดแทนพระคุณของพ่อแม่ได้ แต่กระนั้นก็ใช่ว่าจะไม่มีทางทดแทนได้ การทดแทนพระคุณในทางของพุทธที่ได้ชื่อว่าบุตรเป็นผู้ทดแทนพระคุณแล้วนั้นมีอยู่

นั่นคือการนำพาให้พ่อแม่ที่ยังไม่มีศรัทธาให้เกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนา นำพาพ่อแม่ที่ไม่มีศีลให้ยินดีถือศีล นำพาพ่อแม่ที่ตระหนี่ให้เป็นผู้ที่ยินดีเสียสละ นำพาให้พ่อแม่ที่ยังไม่รู้จักโทษชั่วของกิเลสให้เกิดปัญญารู้เท่าทันกิเลส การกระทำเหล่านี้ ย่อมชื่อว่าลูกเหล่านั้นได้ตอบแทนพระคุณพ่อแม่แล้ว

ซึ่งสรุปความได้ว่านอกจากเราจะดูแลท่านด้วยปัจจัยสี่อันสมควรแก่กุศลแล้ว เรายังต้องพาท่านให้เจริญใน ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญาอีกด้วย ทางโลกเราก็ไม่ควรให้พร่องจนท่านต้องทุกข์ทรมาน ทางธรรมเราก็ควรทำให้เจริญยิ่งขึ้น ถึงแม้สุดท้ายต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง เราก็สมควรจะเลือกทางธรรม เพราะเป็นทางเดียวที่จะทดแทนบุญคุณท่านได้อย่างบริบูรณ์ที่สุดแล้ว

แต่การจะทดแทนคุณในทางธรรมตามที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้นไม่ง่าย การจะเป็นผู้ชี้นำให้ท่านเจริญใน ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญานั้น ไม่ใช่เพียงแค่ว่าเอาซีดีธรรมะให้ท่านฟัง เอาหนังสือธรรมะให้ท่านอ่าน พาท่านไปวัดไปฟังเทศน์ฟังธรรม ทำทานทำกุศลเท่านั้น แต่ยังจะต้องทำศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ให้เจริญขึ้นในตัวเองอีกด้วย

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “พึงตั้งตนอยู่ในคุณอันสมควรก่อน แล้วค่อยพร่ำสอนผู้อื่นภายหลังจักไม่มัวหมอง” นั่นหมายถึงเราต้องทำตัวเองให้มีธรรมนั้นในตน เอาตัวเองให้รอดก่อน แล้วจึงคิดช่วยผู้อื่น ไม่ใช่ว่าเราว่ายน้ำไม่เป็นแต่กระโดดน้ำลงไปช่วยคนจมน้ำ ก็จะพากันตายทั้งคู่ เช่นเดียวกันกับที่เรายังไม่ทำตนเองให้มีคุณธรรมเหล่านั้น เราก็จะไม่สามารถช่วยใครได้

พ่อและแม่นั้นเป็นผู้ที่เลี้ยงเรามาตั้งแต่เด็ก การจะทำให้ท่านศรัทธาในตัวของเรานั้นไม่ง่าย ถ้าเรายังใช้ชีวิตโดยไร้ศีลไร้ธรรม ไม่แสดงให้เห็นถึงความเจริญของการปฏิบัติธรรม ท่านก็จะไม่ศรัทธาทั้งตัวเราและในธรรมเหล่านั้น เราจะกลายเป็นผู้ที่กล่าวแต่ในสิ่งที่ตนทำไม่ได้ กล่าวแต่สิ่งที่จำเขามา ไม่ได้ตั้งตนอยู่ในคุณอันสมควรก่อน แต่กลับไปพร่ำสอนผู้อื่นเพราะหวังว่าจะตอบแทนพระคุณพ่อแม่ด้วยการให้ธรรมนั้น

ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้เลยถ้าหากเราจะให้สิ่งที่ไม่มีในตน หากเราไม่มีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา แล้วเราจะเอาธรรมเหล่านั้นจากไหนไปนำพาพ่อแม่สู่ความเจริญได้ ดังนั้นเราจึงต้องมุ่งทำตนให้เจริญในธรรมเหล่านั้นเสียก่อน จึงค่อยชี้แนะผู้อื่น ซึ่งจะทำให้ธรรมเหล่านั้นไม่มัวหมอง

แม้กระนั้นก็ใช่ว่าจะสามารถทดแทนบุญคุณท่านได้โดยง่าย การพ้นทุกข์ การหลุดพ้นจากกิเลส ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ไม่ใช่เรื่องที่จะเข้าใจและปฏิบัติได้โดยง่าย ไม่ใช่เรื่องที่จะยึดถือและปฏิบัติกันโดยสามัญ แม้พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้กลับมาโปรดพ่อแม่ของท่านตั้งแต่แรก ท่านมีคุณธรรมที่บริสุทธิ์สมบูรณ์ที่สุดในโลก แต่ท่านก็รอให้กาลเหมาะสม รอให้พระเจ้าสุทโธทนะเกิดศรัทธา จึงค่อยกลับไปโปรด

อีกตัวอย่างหนึ่งของพระสารีบุตร แต่ท่านเลือกที่จะกลับไปหาแม่ของท่านในช่วงสุดท้ายก่อนที่ท่านจะละสังขาร แสดงธรรมโปรดแม่ จนแม่ของท่านบรรลุเป็นพระโสดาบันในที่สุด

ดังนั้นการทดแทนบุญคุณพ่อแม่ในทางธรรมจึงไม่ใช่เรื่องที่จะไปยัดเยียด บีบคั้น บังคับ ด้วยความยึดดีถือดี แต่ต้องใช้การประมาณอย่างมาก ให้ถูกกาลเทศะ ให้มีศิลปะ สร้างศรัทธาแต่อย่าให้เสื่อมศรัทธา ให้เป็นไปเพื่อกุศล ไม่สร้างอกุศล การทำคุณอันสมควรในตนว่ายากแล้ว การนำพาผู้อื่นให้ตั้งอยู่ในคุณอันสมควรนั้นยากยิ่งกว่า ดังนั้นหากเรายังไม่สามารถทำให้ตัวเองเจริญในศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญาได้แล้ว ก็พึงสังวรระวังในการแสดงธรรมที่ไม่เหมาะสมกับฐานะ พูดในเรื่องที่ตนเองยังไม่มีคุณเหล่านั้น ซึ่งสุดท้ายจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียและมัวหมอง

เราจึงควรศึกษาและปฏิบัติให้เกิดธรรมเหล่านั้นในตนเอง ให้เจริญยิ่งขึ้นในศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา เมื่อเรามีสิ่งเหล่านี้อยู่ในตนเอง เป็นของตนเองอย่างแท้จริง เราก็สามารถแจกจ่ายธรรมเหล่านี้เป็นทาน ในกาลที่เหมาะสมแก่ท่านเหล่านั้นได้ โดยไม่ปล่อยโอกาสในการทดแทนพระคุณพ่อแม่ให้หลุดลอยไป โดยเปล่าประโยชน์ไปอีกชาติ

– – – – – – – – – – – – – – –

13.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)