Tag: นักปราชญ์
คบสหายมีปัญญา ความเป็นสหายไม่มีในคนพาล
ถ้าบุคคลพึงได้สหายมีปัญญา เที่ยวไปด้วยกัน
เป็นนักปราชญ์คอยช่วยเหลือกัน
เขาครอบงำอันตรายทั้งปวงเสียได้
พึงพอใจ มีสติเที่ยวไปกับสหายนั้น
แต่ถ้าไม่ได้สหายมีปัญญาคอยช่วยเหลือกัน
พึงเที่ยวไปคนเดียว และไม่พึงทำบาป
เพราะความเป็นสหายไม่มีในคนพาล(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ “โกสัมพิขันธกะ”่ ข้อที่ ๒๔๗)
อ่านแล้วรู้สึกว่าเห็นด้วยมาก พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ให้ไปคบคนมั่ว ๆ ท่านแนะนำให้คบคนที่สูงกว่าหรือเสมอกัน ดังที่ท่านว่า คอยช่วยเหลือกัน ช่วยให้พ้นภัยอันตราย มีความพึงพอใจในกัน คือเคารพและยินดีในการมีอยู่ของกันและกัน ท่านให้คบหากับคนเหล่านั้น
แต่ถ้าหาไม่ได้ อย่าไปคบเชียว อย่าเชียวล่ะ คนที่ต่ำกว่า มีศีลธรรมต่ำกว่า จะพาปวดหัว เพราะท่านกล่าวว่า ความเป็นมิตรสหายไม่มีอยู่ในคนพาล ซึ่งก็จริงเช่นนั้นจริง ๆ คนที่เขาไม่พัฒนาตน ไม่พัฒนาศีลธรรม เชื่อใจไม่ได้หรอก ดีไม่ดีหลอกเราด้วยว่ามีศีลมีธรรม สุดท้ายก็ทำร้ายเรา นินทาเรา แทงหลังเรา พวกนี้เกิดจากเราไปคบคนพาล เสียทั้งเวลา และสารพัดเสีย ไม่มีมิตรแท้ในหมู่คนพาลนี่เรื่องจริง มีแต่ชิงดีชิงเด่นเอาหน้าเอาผลงาน
ยุคนี้คนพาลเขาฉลาด เขาก็แสร้งว่าเป็นคนดี มีศีลธรรม ก็เหมือนพระปลอม เนื้อปลอม ผู้ชายปลอม ผู้หญิงปลอม อะไรแบบนี้ ได้แค่เหมือน แต่ไม่ใช่ แม้กระนั้นก็ยังหลอกคนได้อยู่ดี แต่ถ้าเราใช้สูตรของพระพุทธเจ้า เราจะไม่พลาด เราไม่จำเป็นต้องไปอนุโลมคบกับคนต่ำกว่า แม้จะมีบทหนึ่งเว้นไว้สำหรับคนที่เขามาขอความช่วยเหลือก็สามารถเอาภาระสอนเขาได้ แต่การจะไปคบคนต่ำกว่าที่เขาไม่ได้ยินดีให้เราแนะนำหรือช่วยเหลือนี่มันผิดสัจจะ มันไม่พาเจริญ ดีไม่ดีเขายกตนข่มเราเข้าไปอีก ซวยไปกันใหญ่
ผมคบคนไม่เยอะ เพราะผมเน้นคุณภาพ ใครที่ดู ๆ แล้วท่าไม่ค่อยดี ผมก็ห่าง ๆ ไว้ มันเมื่อยหัว เพราะสร้างแต่เรื่องอกุศลและไร้สาระ เป็นคนรู้จักห่าง ๆ กันไปดีกว่า ไม่ต้องสนิทชิดใกล้กันหรอก ศีลมันไม่เสมอ ทำยังไงมันก็คุยกันไม่รู้เรื่อง
คนจะเป็นสหายกันนี่มันไม่ต้องพยายามหรอก คุยกันถูกคอ ศีลเสมอกัน ทิฏฐิเสมอกันเดี๋ยวก็ไปด้วยกันได้เอง ถึงจะพยายามแค่ไหน ถ้ามันไม่เสมอเดี๋ยวก็หลุดไปอยู่ดี ด้วยเหตุที่ฟังแล้วไม่เข้าใจบ้าง อิจฉาบ้าง ฯลฯ เดี๋ยวก็เพ่งโทษ ถือสา หานรก ป่วนไปหมด
ครูบาอาจารย์ก็เคยบอกสอนไว้ แม้ในองค์กรเดียวกัน ก็ต้องเลือกกลุ่มให้ถูก เพราะกลุ่มที่ไม่พาเจริญก็มี กลุ่มที่พาเจริญก็มี ต้องเลือกให้ถูกระดับศีลเรา ถ้าเราถือศีลเคร่ง เราไปอยู่กับกลุ่มเหยาะแหยะบ้ากามหลงงานไม่ปฏิบัติธรรม อันนี้ตายอย่างเดียว มีแต่เสื่อม ไม่มีเจริญเลย เราก็ต้องเลือกกลุ่มที่เสมอกันเป็นอย่างน้อย ถ้ามีดีกว่า ก็ไปอยู่กลุ่มที่ดีกว่า
พระพุทธเจ้าท่านเน้นว่า “สหายมีปัญญา” ด้วยผมเองก็เป็นสายปัญญาอยู่แล้ว ดังนั้นจึงหาคนที่มีปัญญามากกว่าไม่ยาก ยิ่งสายปัญญายิ่งมีน้อย ๆ อยู่แล้วด้วย คุยไปเถอะ นานไปเดี๋ยวก็รู้เอง คนไม่มีปัญญา เขาจะตามไม่ทัน เข้าใจผิด หลงประเด็น เพ่งโทษ ถือสา ฯลฯ แต่คนมีปัญญาเขาจะตามทัน แถมเขาจะรู้ด้วยว่าเราวางหมากอะไรไว้ แล้วเขาจะแก้ให้เราดูแล้วสอนท่าใหม่ที่เหนือกว่าที่เรามีให้เราด้วยความเมตตา
ไปแต่ผู้เดียว เด็ดเดี่ยวเหมือนนอแรด
ระหว่างค้นหาพระไตรปิฎกในหมวดคนคู่ ก็มาเจอ “ขัคควิสาณสูตร ที่ ๓” (25,296) ในภาพรวม ท่านกล่าวเปรียบถึงถ้าเจอกับสภาพที่ไม่ดี อยู่คนเดียวจะดีกว่า ซึ่งแน่นอนว่า ถ้ามันแย่ เราก็ต้องห่าง แต่อะไรล่ะที่มันไม่ดี แล้วอะไรที่มันดี ที่ควรใกล้ ในบทนี้มีทั้งไปแต่ผู้เดียว และเก็บเกี่ยวคนดีมาเป็นเพื่อน จะยกเป็นช่วง ๆ มาลองวิเคราะห์กันครับ
“พ.ความเยื่อใยย่อมมีแก่บุคคลผู้เกี่ยวข้องกัน ทุกข์นี้ย่อมเกิดขึ้นตามความเยื่อใย บุคคลเล็งเห็นโทษอันเกิดแต่ความเยื่อใย พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรดฉะนั้น”
… ส่วนนี้จะทำให้เห็นภาพรวมของสภาพไม่ดี เป็นทุกข์ เป็นบาป เป็นอกุศล คนที่มีปัญญาเห็นโทษดังนั้น ให้ละออกเสีย มีของไม่ดี อย่ามีเลยดีกว่า
“พ.บุคคลข้องอยู่แล้ว ด้วยความเยื่อใยในบุตรและภริยา เหมือนไม้ไผ่กอใหญ่เกี่ยวก่ายกัน ฉะนั้นบุคคลไม่ข้องอยู่เหมือนหน่อไม้ พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น”
… ถ้ามองไผ่กอใหญ่ก็จะเห็นถึงความวุ่นวาย ลมพัดมาก็เสียดสีกันบ้าง ชนกันบ้าง เสียงดัง เหมือนกับเรื่องคู่มันวุ่นวาย ถ้าใครยังไม่มี ยังไม่ถึงวัย ยังเป็นหน่อไม้อยู่ ก็ไม่ต้องไปมี ไม่ต้องไปยุ่ง ไปคนเดียว ฉายเดี่ยวเหมือนนอแรด
“พ.ถ้าว่าบุคคลพึงได้สหายผู้มีปัญญาเครื่องรักษาตน ผู้เที่ยวไปร่วมกันได้ มีปรกติอยู่ด้วยกรรมดี เป็นนักปราชญ์ไซร้ พึงครอบงำอันตรายทั้งปวง เป็นผู้มีใจชื่นชม มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้น หากว่าบุคคลไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญาเครื่องรักษาตน ผู้เที่ยวไปร่วมกันได้ มีปรกติอยู่ด้วยกรรมดี เป็นนักปราชญ์ไซร้พึงเที่ยวไปแต่ผู้เดียว”
… แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ส่งเสริมให้ไปคนเดียวตลอด ไม่ได้ให้หลีกหนีผู้คน ถ้าเจอคนดี มีปัญญา พาทำกรรมดี ก็ให้อยู่ร่วมกัน พึ่งพากัน แต่ถ้าหาคนมีปัญญาไม่ได้ ไปคนเดียวเถอะ โดดเดี่ยวดั่งนอแรด
“พ.เราย่อมสรรเสริญสหายผู้ถึงพร้อมด้วยศีลขันธ์เป็นต้น พึงคบสหายผู้ประเสริฐสุด ผู้เสมอกัน กุลบุตรไม่ได้สหายผู้ประเสริฐสุดและผู้เสมอกันเหล่านี้แล้ว พึงเป็นผู้บริโภคโภชนะไม่มีโทษเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรดฉะนั้น”
… พระพุทธเจ้าท่านแนะนำให้คบคนมีศีล คนที่เก่งกว่า มีศีลมากกว่า มีปัญญามากกว่า หรือผู้ที่เสมอกัน แต่ถ้าชีวิตนี้มันอับจนหนทาง ไม่มีบารมี ไม่เจอคนที่สูงกว่า ไม่เจอคนเสมอกัน ก็อยู่กินใช้สิ่งที่ไม่เป็นโทษ คือใช้ชีวิตไม่หลงระเริงไปตามกิเลส แล้วก็เด็ดเดี่ยวดั่งนอแรดกันไป
จะเห็นได้ว่า ในศาสนาพุทธไม่ได้มีคำสอนมิติเดียว ใช่ว่าจะให้หนีผู้คนออกป่าหาความสงบไปเสียหมด อันนั้นมันคือกรณีที่หมดปัญญา หมดบารมีหาคนเก่งกว่าไม่ได้แล้วเท่านั้น ถึงจะปลีกตัวออกไปคนเดียว ถ้าหาคนเก่งกว่าหรือเสมอกันได้ ท่านก็ให้อยู่เกื้อกูลกัน พึ่งพากัน อันนี้เป็นปัญญาของพุทธที่ต่างจากฤๅษี ถ้าสายฤๅษีนี่เข้าถ้ำไปคนเดียวเลย สายพุทธนี่จะหาคนมีปัญญาแล้วร่วมกันทำกุศล
จริง ๆ ยุคนี้ก็มีครูบาอาจารย์อยู่มาก แต่ส่วนใหญ่ก็เห็นผิด หลงป่ากันไปเยอะ ถ้าเอามาเทียบพระไตรปิฎกหลาย ๆ บทจะเห็นว่ามีความขัดแย้งสูง แต่ถ้าเอาบางบทมา มันก็ดูเหมือนจะใช่ ในความจริงแล้วยังมีครูบาอาจารย์ที่มีความสามารถมากอยู่ แต่การจะไปอยู่ผู้เดียวทั้ง ๆ ที่มีคนเก่งอยู่ นั่นก็สื่อให้เห็นว่าเขาไม่มีปัญญารู้ว่าใครเก่งกว่าเขา ไม่เห็นใครเก่งเสมอเขา เขาก็ฉายเดี่ยวไปเหมือนนอแรดตาบอดกันเลยล่ะนั่น คือปฏิบัติถูกบางบท แต่ภาพรวมไม่ครบทุกบท
แต่ก็ห้ามกันไม่ได้หรอก วิบากกรรมเขาเป็นแบบนั้น การได้เห็นพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลกที่มนุษย์จะพึงเห็นได้เลยนะเอ้อ (อนุตตริยสูตร) ดังนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดา