Tag: การหลุดพ้น

กรณีศึกษา สารภาพบาป (เรื่องความรัก)

March 12, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 853 views 0

วันสองวันนี้ ก็มีคนที่เขามาสารภาพบาป 2 เคส ลักษณะคล้าย ๆ กัน ว่าเขาไปตกหลุมรัก ทั้ง ๆ ที่ในตอนแรกก็ดูเหมือนจะยินดีมาในทิศทางอยู่เป็นโสด

ก็เข้าใจเขาอยู่นะ เพราะจริง ๆ “มันยากมาก” สำหรับเรื่องคู่ ที่คนจะฝ่าไปได้ ถ้าไม่มีของเก่าสะสมมาก่อน คำว่าหืดขึ้นคอก็ดูจะเบาเกินไป

แต่ 2 เคสนี้เขาก็รอดกลับมาได้ แบบเหวอะหวะ ถ้าเป็นนักรบก็รอดกลับมาได้แบบเสียแขนเสียขาไปบ้าง คือ ตัดจบไม่สวยเท่าไหร่ แต่ก็ดีมากแล้วที่เอาตัวรอดมาได้ เคสหนึ่งมีกรรมเก่าตัดรอบช่วยเอาไว้ อีกเคสใช้สังฆานุสติ ระลึกถึงครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่ง กลับใจเอาตัวรอดมาได้

ซึ่งการที่เขาเอามาเล่านี่ เรียกว่าเขาก็มี “หิริ” (ความละอายต่อบาป) อยู่บ้างเหมือนกัน ซึ่งผมก็เคยเจอเคสที่หายไปเลยก็มี คือพอเขาเจอที่ถูกใจ เจอคู่ปุ๊ป ก็เหมือนจะตัดเราออกจากชีวิตไปเลย มารู้ข่าวอีกทีก็ใกล้จะแต่งงานแล้ว เขาก็ปิดนั่นแหละ ปิดไม่ให้เรารู้ ไม่ให้เราไปเกี่ยวข้องกับเขา เขาก็หวังจะเสพได้โดยไม่มีใครขัดนั่นแหละ พวกนี้ก็มักจะหายแล้วหายลับ เพราะคงไม่กล้าแบกหน้ากลับมาเจอเราหรอก

ในกระบวนการกลุ่มของ แพทย์วิถีธรรม ก็มีการสารภาพบาปต่อหน้าหมู่กลุ่มเช่นกัน ว่าไปทำอะไรมา คิดยังไงถึงทำอย่างนั้น ผมเคยมีช่วงเวลาที่ศึกษาอย่างต่อเนื่องทุกวันกว่า 6 เดือน ซึ่งความต่อเนื่องนี้เอง เราจะได้เห็น “การเคลื่อนไหว” ของจิตที่เปลี่ยนไปของแต่ละคน ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่หาศึกษาได้ยาก หากไม่มีเวลาที่ใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน

การสารภาพบาป จะทำให้เกิดความเจริญ เพราะเป็นการทบทวนธรรมซ้ำในใจว่าทำไมถึงพลาด และยังเป็นการบอกกล่าวโดยนัยว่าจะไม่ทำอีก ซึ่งการตั้งจิตที่จะแก้ไขส่วนที่พลาดนี่แหละ คือความเจริญ เรียกว่าเจริญโดยลำดับแล้ว

แต่เป้าหมายของการหลุดพ้นจากเรื่องคู่ครองก็คือการอยู่เป็นโสดอย่างผาสุก ดังนั้น จึงยังไม่ควรหยุดที่จะพัฒนาตนเองหากยังไม่ถึงสภาพนั้น

การที่ยังไม่พลาดไปมีคู่ ก็หมายถึงยังมีโอกาสที่จะได้สู้อยู่ มันก็จะมีแพ้มีชนะไปโดยลำดับ แพ้ก็ไม่ใช่ปล่อยให้แพ้ร่วงยาวไปเลย ถ้าเผลอใจชอบเขา ก็อย่าเผลอไปตกลงคบหา ถ้าหลงตกลงคบหา ก็อย่ารีบหลงไปแต่งงาน ถ้าเผลอแต่งงานไปแล้ว ก็อย่าหลงไปมีลูก คนที่ 1 2 3 …

จริง ๆ ในเรื่องความรักนี่มันมีเวลามีโอกาสให้แก้ตัวเยอะ มีจุด check point เยอะ แต่ด้วยตัณหาคือความเร่ง ก็เหมือนคนเขาจะเดินทางจาก กรุงเทพไปถึงเชียงใหม่ด้วยความเร็วแสง อันนั้นก็เป็นธรรมดาของคนไม่มีสติ

การตั้งศีลว่าจะประพฤติตนเป็นโสด จะสร้างโอกาสให้สติได้เตือนเป็นระยะ ที่เจอคนที่ถูกใจ ที่ได้มอง ที่ได้คุย… ถ้าไม่ตั้งใจว่าจะเป็นโสด ก็เหมือนไม่ได้ตั้งเป้าหมาย ไม่ได้เขียนโครงงาน ไม่ได้ตั้งนาฬิกาปลุก มันก็จะหลงหลับใหลยาวไปเลย

ก็เหมือนกับคนทั่วไปที่เขาไม่ได้ปฏิบัติธรรมเรื่องนี้นั่นแหละ เขาก็เคลื่อนไปตามแรงเหวี่ยงของโลก แรงของกิเลส คือเจอกัน ชอบกัน คบกัน แต่งงานกัน มีลูกกัน ฯลฯ

สรุป การสารภาพบาปนั้นเป็นการยอมรับว่าสู้ไม่ได้ แต่ก็จะตั้งใจสู้ การไม่สารภาพบาปนั้น …เราก็ไม่รู้ใจเขาเหมือนกัน ส่วนการไม่ได้ตั้งจิตจะประพฤติตนเป็นโสดนั้น นอกจากจะไม่สู้แล้ว ยังไปเป็นทาสมารอีกต่างหาก

วิธีป้องกันเนื้อคู่ (เพื่อการหลุดพ้นจากการจองเวรจองกรรมกันข้ามภพข้ามชาติ)

May 18, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,353 views 0

วิธีป้องกันเนื้อคู่ (เพื่อการหลุดพ้นจากการจองเวรจองกรรมกันข้ามภพข้ามชาติ)

วิธีป้องกันเนื้อคู่ (เพื่อการหลุดพ้นจากการจองเวรจองกรรมกันข้ามภพข้ามชาติ)

เนื้อคู่ หรือที่เข้าใจกันโดยมากว่าเป็นผู้ที่จะเข้ามาเป็นคู่ครอง แม้จะเป็นสิ่งที่ทางโลกต่างแสวงหา แต่ในทางธรรมแล้วการมีคู่ครองกลับเป็นเรื่องที่ควรห่างไกล ไม่ควรแสวงหา ไม่ควรหลงไปเสพ

แม้ธรรมะนั้นก็มีหลายระดับ ในระดับที่ยังไม่พ้นไปจากความหลงติดหลงยึดก็จะพิจารณาหาแต่ประโยชน์ของการมีคู่ พยายามหาช่องทางในการมีคู่ให้ได้โดยไม่ผิดบาป หรือแม้กระทั่งการชี้ชวนให้ผู้อื่นเห็นว่าการมีคู่เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งก็ใช่สำหรับคนที่ยังไม่เอาจริงเอาจังในการปฏิบัติเพื่อการพ้นทุกข์ เพราะยังยินดีในเรื่องคู่ครอง ยังอยากเสพสุขอยู่ในสภาพนั้น ๆ ไม่ยอมพราก ไม่ยอมจากไปไหน แม้ปากจะพร่ำบอกว่าเป้าหมายของชีวิตคือหลุดพ้น คือนิพพาน แต่กลับยินดีที่จะมีคู่ครองซึ่งเป็นบ่วงถ่วงธรรม ผู้ที่แสดงธรรมใด ๆ หรือชี้ชวนให้คนไปยินดีในการครองคู่ ผู้นั่นย่อมไม่ใช่ผู้ที่จะพาคนไปพ้นทุกข์ได้เลย และในบทความนี้เราจะมาขยายวิธีที่โลกไม่คิดจะสอน นั่นคือวิธีป้องกันเนื้อคู่

เกริ่นก่อน

เนื้อคู่ในที่นี้ หมายถึงผู้ที่สามารถเข้ามาทำให้จิตใจนั้นหวั่นไหวได้ง่าย ซึ่งอาจจะไปในทางชอบหรือทางชังก็ได้ มักจะเอื้อให้เกิดการทำกรรมที่มีน้ำหนักมาก จะชั่วก็ชั่วมาก จะดีก็ดีมาก แต่มักจะถูกครอบงำด้วยความหลง

เมื่อเราได้เริ่มศึกษาธรรมะอย่างแท้จริง จะพบว่า ไม่มีประโยชน์ใดเลยที่เราจะมีคู่ ทั้งในทางโลกและในทางธรรม ทางโลกก็พาให้หลงวนอยู่ในโลกธรรม ทางธรรมก็ล่าช้าเสื่อมถอย ผู้ที่เริ่มเห็นทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียที่จะเกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อมจะพยายามหาทางออก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะตัดสินใจอยู่เป็นโสดได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะพลังของกิเลส ความอยาก ความหลงติดหลงยึดนั้นจะคอยฉุดเราลงนรกอยู่เสมอ

และตัวแทนของวิบากกรรมที่จะมาฉุดเราลงนรกก็คือเนื้อคู่หรือคู่เวรคู่กรรมนี่เอง การที่เราจะออกหรือรอดพ้นจากบ่วงได้นั้น เราต้องรู้ชัดในใจก่อนว่า คนนี้แหละที่เขาจะมาทำร้ายเราได้แนบเนียนที่สุด ทำร้ายเราด้วยความรัก ความเมตตา ความเกื้อกูล และความดีงาม ที่จะทำให้เราหลงติดหลงยึดในตัวเขาไปอีกหลายภพหลายชาติ และคนนี้เองที่เราจะทำร้ายเขาได้มากที่สุดเช่นกัน หากเรายังรับเขาเข้ามาเป็นคู่อีก เราก็จะทำให้เขาหลงรักเรา คิดถึงเรา หึงหวงเรา ทะเลาะกับเรา โกรธเรา พยาบาทเรา จองเวรจองกรรมกับเราไปอีกหลายภพหลายชาติเช่นกัน นั่นหมายถึงเราจะต้องมาเจอกันและหลงรักกัน และครองคู่กันจนทำร้ายกันไปในนามแห่งความรักแบบนี้โดยไม่รู้ว่าจะไปจบที่ตรงไหน

…วิธีป้องกันเนื้อคู่

เนื้อคู่คือผู้ที่มีเวรมีกรรมผูกกันมา จนมักจะต้องมาลงเอยรักใคร่กันในชาตินี้จนถึงขั้นเป็นแรงผลักดันให้แต่งงานครองคู่กัน แน่นอนว่าเหตุแห่งความรักความหลงนั้นคือกิเลส ถ้าดับกิเลสได้ ต่อให้มีเนื้อคู่มาอีกร้อยอีกพันคนก็ไม่มีความหมายอะไร แต่ในเมื่อเรายังดับกิเลสไม่ได้ เจอแค่คนเดียวก็แทบเอาตัวไม่รอดแล้ว นับประสาอะไรกับเป็นร้อยเป็นพัน มันก็แพ้ทั้งหมดนั้นนั่นเอง

วิธีเอาตัวรอดแบบเข้าใจง่าย ๆ คือตั้งใจเป็นโสดตลอดชีวิต ซึ่งในความจริงแล้วมันทำได้ยากมาก จึงขอเสนอวิธีการคัดเอาตัวเนื้อคู่ที่สร้างปัญหามากออกไปก่อน โดยใช้ศีลมาเป็นตัวคัดกรอง การคัดด้วยศีลนั้นไม่ได้หมายความว่าให้เอาศีลไปใช้กับเขา แต่หมายถึงให้เราปฏิบัติศีลนั้น แล้วผลของศีลนั้นจะไปคัดกรองคนเอง คนที่ไม่คัดกรองด้วยศีลจะได้พบกับเนื้อคู่ตามเวรตามกรรมแบบเต็มน้ำเต็มเนื้อ เขามีกิเลสมาเท่าไหร่ ก็ต้องรับเท่านั้น นั่นหมายถึงต้องทุกข์ ต้องลำบาก ต้องมีภัยแปรผันไปตามกิเลสของคนที่เพิ่มเติมเข้ามาในชีวิต

การป้องกันเนื้อคู่แบบหยาบ … คือการใช้ศีล ๕ เข้ามาฝึกปฏิบัติ พร้อมงดเว้นอบายมุข การเที่ยวเล่น มุ่งบันเทิง มัวเมา เล่นพนันหวยหุ้น คบคนชั่ว และทำตัวขี้เกียจ เราควรจะงดเว้นเสียให้หมดในเบื้องต้น เพราะหากเรายังไม่มีศีล ๕ และเมาอบายมุขอยู่นั้น เราก็จะมีโอกาสพบกับคนที่ศีลเสมอกัน คือเนื้อคู่ในระดับต่ำกว่าศีล ๕ พร้อมด้วยอบายมุขทั้งหลาย นั่นหมายถึงทุกข์มากจนถึงทุกข์แสนสาหัส แม้จะดูดีในเบื้องต้นแต่ท้ายสุดแล้วผู้ไม่มีศีลย่อมพากันถึงความพินาศแน่นอน

การป้องกันเนื้อคู่แบบกลาง … พอเรามีศีลขั้นต้นมาได้แล้ว ก็จะพ้นเนื้อคู่แบบหยาบ ๆ ชั่ว ๆ แต่ก็ยังจะหนีไม่พ้น เพราะจะมีแบบที่ดีกว่าเข้ามาอีก ซึ่งเราก็ต้องพัฒนาตัวเองให้พ้น โดยใช้ฐานศีล ๘ เข้ามาคัดกรอง นั่นคือในส่วนของกามคุณ เช่นเราจะไม่แต่งตัวแต่งหน้าให้ดูดีเกินไป ไม่อวดความงามให้ใครเห็น จนถึงขั้นทำสิ่งที่ตรงข้าม คือทำให้ไม่งามเอาเสียเลย ในบางเรื่องที่พอจะทำไหว ซึ่งการกระทำเหล่านี้ไม่ใช่การสร้างภาพให้เป็นเช่นนั้น แต่ต้องสร้างจิตใจไม่ให้ไปยินดีในความงามที่จะเป็นเหยื่อล่อให้เนื้อคู่ที่บ้ากามเหล่านั้นเข้ามาได้ การที่ใจเรายังยินดีในความงามของตน นั่นเพราะลึก ๆ เราอยากให้คนเห็นคุณค่าในความงามนั้น พอมีคนที่เราถูกใจมาเห็นคุณค่าลวงที่เราล่อไว้นั้น เราก็จะพลาดพลั้งเสียทีให้กับเนื้อคู่ได้

การป้องกันเนื้อคู่แบบละเอียด … ถึงเราจะมีศีล ๕ ไม่ทำตัวให้ดูเด่น ไม่ทำตัวให้น่าหลงใหล ไม่ประดับตกแต่งให้ดูน่าสนใจ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะหนีพ้น หลายคนอาจจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ชอบคนดี รักคนเลว แต่งงานกับคนรวย” นั่นหมายถึงหากเรายังมีเงินมีทองอยู่ ก็ยังดึงดูดเนื้อคู่เข้ามาได้อยู่ดี ในแบบละเอียดนี้หมายถึงการไม่หลงติดหลงยึดในโลกธรรม คือลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียะสุข หากเรายังลุ่มหลง มัวเมา ยังกอดเก็บสิ่งใดไว้ สิ่งนั้นก็จะเป็นประตูให้เนื้อคู่เข้ามาได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันเราก็ควรจะรักษาโลกธรรมไว้ในขีดที่พอเหมาะ เช่นลาภ ฐานะ ความร่ำรวย ก็ให้แก้ด้วยการประหยัด อดออม การสละออก การแบ่งปัน ไม่ซื้อของฟุ่มเฟือย เป็นต้น ส่วนโลกธรรมข้ออื่น ๆ ก็อย่าไปแสวงหามันมาก ให้มันเป็นไปตามที่ควรจะเป็น

การป้องกันเนื้อคู่โดยสมบูรณ์ …. ถึงเราจะพยายามป้องกันโดยสร้างกำแพงศีลมาคัดเนื้อคู่ที่กิเลสหนาพาให้ทุกข์ได้มากขนาดที่ตั้งกำแพงว่าอบายมุขก็ไม่เอา ความงามก็ไม่มี แถมฐานะยังดูไม่หรูหราอีก ถึงขนาดนั้นก็จะยังมีเนื้อคู่ที่สามารถทะลุกำแพงศีลเหล่านั้นมาได้อยู่ดี คือแม้เราจะไม่หล่อไม่สวยไม่รวย ไม่มีเหตุที่ไปล่อตาล่อใจใดๆ แต่เขาก็จะมาหลงรักให้เราหลงใหลเขากลับได้อยู่นั่นเอง

การใช้ศีลกั้นไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่มา เขาจะมาเหมือนเดิมเพียงแต่จะเข้าถึงเราไม่ได้เพราะเจอกำแพงศีล แต่ถ้าเราไม่ล้างความหลงติดหลงยึดในความอยากมีคู่ เรานั่นแหละที่จะทำลายกำแพงศีลทั้งหมดนั้นแล้ววิ่งไปจับมือเขาพุ่งลงนรกเสียเอง

ดังนั้นหากเราจะป้องกันการไปครองคู่กับเนื้อคู่โดยสมบูรณ์ ก็ต้องทำลายความอยากมีคู่ในตนเสีย เพราะความอยากมีคู่ของเรานี่เองคือสิ่งที่จะดึงดูดเขาเข้ามา การทำลายความอยากนั้นทำได้โดยใช้หลักอริยสัจ ๔ คือต้องกำหนดรู้ว่าความอยากมีคู่เป็นทุกข์ ต้องรู้เหตุแห่งความอยากมีคู่นั้น รู้ว่าจะต้องดับเหตุแห่งความอยากมีคู่นั้น โดยใช้วิธีปฏิบัติสู่การดับความอยากมีคู่ ซึ่งการจะเรียนรู้ในปฏิบัติสู่การทำลายความอยากมีคู่ได้นั้น จะต้องมีเงื่อนไขหนึ่ง คือต้องพบกับมิตรดีเสียก่อน มิตรดีจะเป็นผู้ชี้ทางว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรจึงจะสามารถหลุดพ้นจากความอยากนั้นได้ ถ้าเราไม่เจอมิตรดี ไม่เจอผู้ที่รู้ธรรมะในการออกจากความอยากมีคู่ แต่พลาดไปเจอกับผู้ที่หลงมัวเมาอยู่ในการมีคู่ ก็จะพากันหลงไปทั้งผู้สอนและผู้เรียน

แม้เจอมิตรดีคนเดียวก็สร้างพลังให้กับการทำลายความหลงติดหลงยึดในการมีคู่ได้แล้ว ถ้าเจอมิตรดีเป็นหมู่ใหญ่ก็จะยิ่งสร้างกำลังใจและกำลังปัญญาที่จะผลักดันให้เจริญได้มากขึ้น พระพุทธเจ้าตรัสว่ามิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี เป็นทั้งหมดทั้งสิ้นของการพ้นทุกข์ ดังนั้นหากเราอยากหลุดพ้นเรื่องไหน ก็ต้องพยายามเข้าหากลุ่มที่เขาพากันหลุดพ้นเรื่องนั้น แล้วเกาะกลุ่มนั้นไว้เป็นหลักยึดในการปฏิบัติ ดังในบทสวดที่ว่า “สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ” คือเอาหมู่สงฆ์(คนที่ปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์) เป็นที่ยึดอาศัย

…ทำความเข้าใจและยอมรับเรื่องคู่เวรคู่กรรม

เนื้อคู่ที่เข้ามา ไม่ว่าจะดีจนเราลุ่มหลงมัวเมาหรือร้ายจนเราชิงชังรังเกียจเคียดแค้นอาฆาต ก็สุดแล้วแต่กรรมที่เราทำมา เราทำมาเท่าไหร่อย่างไร เราก็ต้องรับผลกรรมเท่านั้น เนื้อคู่ที่เข้ามานั้นเป็นเพียงภาพสะท้อนของการกระทำที่เราเคยทำไว้เท่านั้น

แม้ว่าเราจะชิงชังรังเกียจกรวดน้ำคว่ำขัน ก็ไม่สามารถลบแรงของกรรมเก่าได้ ซึ่งกรรมใหม่คือการรังเกียจก็จะเพิ่มการจองเวรจองกรรมกันต่อไปอีก รวมกับกรรมเก่าที่เคยทำร่วมกันมาไม่รู้ตั้งเท่าไหร่ ซึ่งต้องทยอยรับผลทุกชาติ ก็จะทำให้ต้องเจอกับคนแบบเดิม ๆ กันไปจนกว่าจะหมดผลของกรรมนั้น

ถ้าเรามีศีลมากพอ เราก็จะไม่ชักชวนเขาทำบาปได้เท่าระดับศีลของเรา ถ้าเราหลุดพ้นจากความอยากมีคู่ เราก็ไม่ต้องชักชวนเขาร่วมบาปในการเป็นคู่อีก ถ้าเราหลุดพ้นจากความหลงติดในตัวบุคคล เราก็จะมีแต่กุศลอย่างเดียว ไม่มีบาปใด ๆ ที่เราจะทำเพราะมีเขาเข้ามาเป็นหนึ่งในเหตุปัจจัยอีกเลย และจะคงเหลือไว้เพียง ความเมตตา เกื้อกูล หวังประโยชน์แก่เขาเท่านั้น เป็นสภาพที่ไม่ต้องระวังว่าจะดูดดึงจนเกินไป หรือผลักไสจนห่างเหิน เพราะถ้าไม่มีความยึดมั่นถือมั่นใด ๆ แล้ว ก็จะเหลือเพียงจิตที่แววไวต่อกุศลเท่านั้น

และจะพัฒนาต่อจนกลายเป็นพาเนื้อคู่นั้นลดกิเลส ลดความยึดมั่นถือมั่น เพื่อป้องกันการจองเวรจองกรรมกันในระดับข้ามภพข้ามชาติ ซึ่งสรุปความทั้งหมดลงตรงที่ว่า เราต้องเอาตัวเองให้รอดจากการควบคุมของกิเลสให้ได้ก่อน และหลังจากนั้นค่อยช่วยผู้อื่น จึงจะพากันพ้นภัย อยู่กันอย่างผาสุก ไม่เบียดเบียนกัน เกื้อกูลกันด้วยความมั่นคงที่ยั่งยืน

– – – – – – – – – – – – – – –

18.5.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เพราะเหตุนี้ ฉันจึงเลิกกินเนื้อสัตว์

January 9, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,437 views 1

เพราะเหตุนี้ ฉันจึงเลิกกินเนื้อสัตว์

เพราะเหตุนี้ ฉันจึงเลิกกินเนื้อสัตว์

ย้อนไปเมื่อราวๆ 3 ปีก่อน ตอนที่ผมยังไม่รู้จักธรรมะ ผมใช้ชีวิตแสวงหาความสุขโดยที่ไม่รู้ว่านั่นคือการสร้างความเบียดเบียนให้กับผู้อื่น ผมได้ถูกโลกและกิเลสมอมเมาอยู่จนกระทั่งได้พบกับความจริง 4 ประการ ที่เป็นเหตุให้ผมหลุดออกจากความเวียนวนหลงเบียดเบียนสัตว์อื่นเพื่อตนได้

1.ความจริงที่ว่า เราไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์

ผมรู้จักการไม่กินเนื้อสัตว์ครั้งแรกในชีวิตก็อายุเกือบ 30 ปี ก่อนหน้านี้มีเทศกาลเจ ฯลฯ ก็ไม่ได้สนใจอะไรกับเขาหรอก ไม่ได้รังเกียจอะไรหรอกนะ ยินดีด้วย แต่ก็ไม่ได้คิดสนใจ เพราะไม่เข้าใจถึงประโยชน์ของมัน จนกระทั่งตนเองได้มีโอกาสไปทำกิจกรรมกับเครือข่ายคนกินข้าวเกื้อกูลชาวนาที่วัดป่าสวนธรรม ซึ่งที่วัดก็ไม่กินเนื้อสัตว์ เวลาสามวันที่ร่วมกิจกรรม ทำให้ผมเกิดปัญญาเข้าใจความจริงที่ว่า เราไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์เราก็มีชีวิตอยู่ได้ นี่คือความจริงข้อแรก

2.ความจริงที่ว่า การกินเนื้อสัตว์นำไปสู่การเบียดเบียน

หลังจากนั้นแม้จะรู้ว่าไม่กินเนื้อสัตว์ก็อยู่ได้ นำไปสู่การปรับเมนูอาหารบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับเลิก เพราะยังไม่ชัดในโทษภัยของการกินเนื้อสัตว์ ต้นปี 2556 ได้ไปเข้าค่ายสุขภาพแพทย์วิถีธรรม ในค่ายสุขภาพนั้นไม่กินเนื้อสัตว์เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ได้รับจากค่าย ที่ทำให้ยินดีเลิกเนื้อสัตว์คือ สื่อวีดีโอ “ชีวิตร่ำไห้” เป็นการนำเสนอเรื่องราวของการเบียดเบียนสัตว์เพื่อที่จะต้องมาสนองการดำรงอยู่ของมนุษย์ ผมได้เกิดปัญญาเข้าใจความจริงที่ว่า หากเรายังกินเนื้อสัตว์อยู่ สัตว์นั้นจะต้องถูกเบียดเบียนและเป็นทุกข์เพราะเรา นั่นคือสิ่งที่ไม่ควรเลย เมื่อเข้าใจความจริงข้อนี้เพิ่มเติม ผมจึงตั้งใจเลิกกินเนื้อสัตว์

3.ความจริงที่ว่า ความอยากกินเนื้อสัตว์เป็นทุกข์

เมื่อตั้งใจเลิกกินเนื้อสัตว์ จึงได้พบความจริงอีกข้อคือ “ความอยากกินเนื้อสัตว์” นั้นเป็นทุกข์ เมื่อเราอยากกินเราก็ต้องไปเสาะหาเนื้อสัตว์มาเสพ แถมยังต้องหาเหตุผลที่ดูดีเพื่อให้ตัวเองไม่รู้สึกผิดในการกินเนื้อสัตว์ ซ้ำร้ายบางทียังอาจจะเฉโกออกไปในทิศทางที่เรียกว่า “ไม่ยึดมั่นถือมั่นแต่ขยันเสพกาม” อีกด้วย คือปากก็พูดว่าไม่ยึด แต่ก็ไม่หยุดกินเนื้อสัตว์

โชคยังดีที่ผมไม่ได้มีอาการเฉโกเหล่านั้น ตนเองนั้นเป็นคนที่ซื่อสัตย์ยอมรับความจริงตามความเป็นจริง อยากกินก็ยอมรับว่าอยากกิน ยังเลิกไม่ไหวก็ยอมรับว่ายังไม่ไหว ไม่ได้ปั้นแต่งข้ออ้างใดๆมาทำให้ตนได้เสพอย่างดูดี

แต่กระนั้นก็ยังต้องทุกข์เพราะกิเลสที่เคยมี ความยึดมั่นถือมั่นว่าเนื้อสัตว์นั้นอร่อย มีคุณค่า ฯลฯ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถตัดขาดได้ในทันที เราจำเป็นต้องปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรง เพื่อที่จะถอนลูกศรที่ปักมั่นอยู่ในจิตใจ อันคือ ตัณหา (ความอยากกินเนื้อสัตว์) ให้ออกให้ได้ก่อน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการแก้ปัญหาที่ตัณหา เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

ในท้ายที่สุดผมค้นพบว่า “ความอยาก” ที่รุนแรงถึงขนาดต้องเป็นเหตุให้พรากชีวิตสัตว์อื่นนี่เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ น่าอาย ไม่น่ายึดไว้ ไม่น่าคบหา เราไม่ควรมีมันอยู่ในจิตวิญญาณ ความอยากขั้นนี้มันหยาบเกินไปแล้ว มันเบียดเบียนมากไป มันสร้างทุกข์ให้กับตนเองและผู้อื่น จะยังแบกไว้อีกทำไม ผมจึงตั้งมั่นในการเลิกคบกับความอยากกินเนื้อสัตว์ตลอดกาล

4.ความจริงที่ว่า การหลุดพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์เป็นยิ่งกว่าสุข

หลังจากได้ปฏิบัติธรรมเพื่อถอนตัณหา คือทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ออกจากจิตใจแล้ว จึงค้นพบความจริงอีกข้อที่ปรากฏขึ้นมาภายหลัง ข้อนี้ไม่ใช่เหตุเหมือนกับความจริง 3 ข้อแรก แต่เป็นผลจากการเห็นความจริงในการปฏิบัติ 3 ข้อแรก

จากตอนแรกที่เคยเข้าใจว่า ถ้าเราขาดเนื้อสัตว์เราจะต้องทุกข์เพราะไม่ได้เสพ เราต้องสละสุขจากการเสพ กลายเป็นผู้ที่ขาดทุนชีวิตเพราะไม่ได้เสพสุขตามที่โลกเข้าใจ

แต่ความจริงนั้นไม่ใช่เลย การหลุดพ้นจากความอยากนั้นยิ่งกว่าสุขที่เคยเสพเสียอีก จะเอาสุขเดิมมาแลกก็ไม่ยอม เพราะมันเทียบกันไม่ได้ เหมือนเอาเงิน 1 บาท ไปซื้อโลก มันซื้อไม่ได้อยู่แล้ว คุณค่ามันเทียบกันไม่ได้ จะเปรียบเทียบไปมันก็จะด้อยค่าเกินจริงไป เพราะคุณค่าของการหลุดพ้นจากความอยากนั้นยากที่จะหาสิ่งใดมาเทียบได้

เราไม่ต้องทุกข์เพราะไม่ได้เสพ ในขณะเดียวกันเราก็ไม่จำเป็นต้องไปทำอกุศลเพราะต้องหาสิ่งที่เบียดเบียนมาบำเรอตน เราจะเป็นอิสระจากความอยาก ไม่จำเป็นต้องสร้างเหตุผลอะไรมาเพื่อให้ได้เสพสมใจอีกต่อไป มีแต่กุศลและอกุศลตามความจริงเท่านั้น

จะเหลือเพียงแค่ทำสิ่งที่เป็นกุศลตามความเป็นจริง เราไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์เราก็อยู่ได้ เป็นความจริงข้อหนึ่งที่เน้นการพึ่งตน เลี้ยงง่ายกินง่าย มักน้อย ใจพอ มีเพียงแค่พืชผักก็พอเลี้ยงชีวิต ไม่จำเป็นต้องมีเนื้อสัตว์มาเป็นส่วนเกินให้เสียเงิน เสียสุขภาพ เสียเวลาหา เสียเวลาประกอบอาหาร และความจริงที่ว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นทำให้เกิดห่วงโซ่อุปทาน ถ้าเรากิน เขาก็ยังต้องฆ่าเพื่อมาขาย ดังนั้นเมื่อเราไม่มีความอยาก เราก็ไม่จำเป็นต้องกินให้เป็นการส่งเสริมการฆ่า เป็นการหยุดอกุศลกรรม ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี

เมื่อเราไม่มีความอยาก เราจะมีจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น โอนอ่อนไปตามกุศล หลีกหนีจากอกุศล ไม่ใช่ลักษณะที่ยึดว่าจะต้องกินอะไรหรือไม่กินอะไร แต่จะเป็นไปเพื่อกุศล เป็นไปเพื่อความไม่เบียดเบียน เป็นไปเพื่อความพราก เป็นไปเพื่อความมักน้อย ขัดเกลา เกื้อกูล ตลอดจนสิ่งต่างๆที่นำมาซึ่งความเจริญทางจิตวิญญาณทั้งหลาย

….พอผมได้พบเจอความจริงตามนี้ มันก็เลิกกินเนื้อสัตว์ไปเอง ไม่รู้จะหาเหตุผลไปกินทำไม เพราะดูแล้วไม่เห็นมีอะไรดีเลย ไม่กินก็อยู่ได้ กินก็ไปเบียดเบียนทั้งตนเองและสัตว์อื่นอีก

สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหานั้นคือ “ตัณหา” เพราะความอยากกินเนื้อสัตว์ จะสร้างเหตุที่จะต้องไปกินเนื้อสัตว์อีกเรื่อยๆ ไม่จบไม่สิ้น ทั้งๆที่ความจริงมันไม่จำเป็น แต่ตัณหาก็สร้างความลวงขึ้นมาบังความจริง ให้มันจำเป็น ให้มันสุขเมื่อได้เสพ ให้มันเป็นคุณค่า ให้มันเป็นชีวิตจิตใจของคน ให้มันยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์นั้นต่อไป

หากคนนั้นยังมี “ความอยากกินเนื้อสัตว์” ก็ไม่มีทางหนีทุกข์พ้น ถึงจะกดข่มไม่กินเนื้อสัตว์ก็เป็นทุกข์ แม้จะได้กินก็ทุกข์เพราะสะสมอุปาทานและอกุศลวิบากเพิ่ม สรุปคือหากยังมีตัณหาถึงจะได้เสพหรือไม่ได้เสพก็ต้องรับความทุกข์ไปตลอดกาล

– – – – – – – – – – – – – – –

2.1.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การปฏิบัติธรรม ตามธรรมชาติและเหนือธรรมชาติ

September 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,393 views 0


การปฏิบัติธรรม ตามธรรมชาติและเหนือธรรมชาติ

ในวีดีโอที่แนบมานั้น เป็นเรื่องราวของกิ้งกือกระสุนที่เดินผ่านเส้นทางของฝูงมด เป็นความบังเอิญตามธรรมชาติที่ไม่ได้จัดฉากหรือบังคับชีวิตใด ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติของมัน

เราจะเห็นได้ว่าเมื่อกิ้งกือกระสุนถูกมดรังควาน มันก็จะม้วนตัวมันให้กลม มีเปลือกเป็นเกราะ ทำให้มดไม่สามารถเข้ามากัดได้ แต่นั่นอาจจะหมายถึงมดตัวเล็ก ถ้ามดตัวใหญ่นั้นเดินผ่านมาและสนใจกิ้งกือกระสุนล่ะ มันจะทำอย่างไร? มดตัวใหญ่นั้นสามารถกัดถุงพลาสติกเหนียวๆให้ขาดได้ ถ้ามันเข้ามารุมกัดกิ้งกือกระสุนล่ะ จะเป็นอย่างไร?

กลับมาที่เรื่องการปฏิบัติธรรม…

ถ้าฝูงมดคือสิ่งที่จะเข้ามากระตุ้นกิเลส และกิ้งกือกระสุนคือตัวเรา เมื่อเราได้กระทบกับสิ่งกระตุ้นกิเลส เราก็สามารถใช้ความอดทน ใช้สติ ใช้กำลังของจิตกดข่มอาการได้สิ่งเหล่านี้เป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์และสัตว์ที่จะต่อต้านสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควรด้วยกำลังเท่าที่ตนมี

แต่ถ้ามีการกระตุ้นกิเลสที่มากขึ้นล่ะ ถ้ามีมดตัวใหญ่เข้ามา กิ้งกือกระสุนตัวนั้นจะทำอย่างไร มันก็คงจะถูกมดยักษ์ค่อยๆกัดจนตาย เพราะไม่สามารถต้านทานพลังของมดได้ เช่นเดียวกับที่คนส่วนมากไม่สามารถต้านทานพลังของการยั่วกิเลสที่มีพลังเกินกว่าสติของตนได้

เราอาจจะสามารถฝึกจิตให้แข็งแกร่งได้ ให้มีสติรู้เท่าทันกิเลสได้ เหมือนกับกิ้งกือกระสุนที่พัฒนาตัวเองให้โตขึ้นและมีเปลือกที่หนาขึ้นได้ แต่นั่นก็เป็นเพียงวิธีปฏิบัติที่เป็นไปตามธรรมชาติ เป็นไปตามวิถีของโลก ซึ่งนักปฏิบัติธรรมสำนักไหน ศาสนาใดก็สามารถทำได้ ซึ่งถ้ายกฤๅษีขึ้นมาก็จะเห็นภาพได้ชัด

ฤๅษีนั้นสงบนิ่ง เว้นขาดจากการบริโภคกาม น่าเคารพ น่าเลื่อมใส เหมือนกับกิ้งกือกระสุนที่สามารถป้องกันมดกัดได้อย่างสมบูรณ์ แต่นั่นก็เป็นเพียงวิธีหนึ่งในการป้องกันและไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดที่มีอยู่ในโลกนี้

หลักการปฏิบัติของพุทธนั้น ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่ป้องกันเท่านั้น ในทางจิตนั้นพุทธก็จะมุ่งพัฒนา แต่จะต่างกันตรงที่มีเป้าหมายคือการหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง

การหลุดพ้นของพุทธไม่ใช่การปล่อยให้กิเลสเข้ามาและยอมรับมัน ไม่ใช่กิ้งกือกระสุนที่เดินฝ่าดงมด และปล่อยให้ตนโดนมดกันโดยทำเป็นไม่รู้ร้อนรู้หนาว ไม่ใช่เพียงแค่มีความสามารถอดทนและปล่อยวางความเจ็บปวดได้ ไม่ใช่ผู้ที่ทำเหมือนปล่อยวางแต่ตัวยังจมอยู่กับกิเลส

การหลุดพ้นของพุทธนั้นคือหลุดพ้นจากกิเลส ลองนึกภาพกิ้งกือกระสุนที่เดินผ่าดงมด แต่มดไม่สนใจ เหมือนอยู่กันคนละมิติ ถึงจะเดินไปบนเส้นทางเดียวกันแต่ก็จะเดินผ่านกันไปโดยที่ไม่แตะต้องกัน ถึงจะเผลอไปแตะต้องแต่ก็ไม่ไปเกี่ยวกัน ไม่เป็นของกันและกัน นั่นเพราะผู้ที่ล้างกิเลสจนหมดตัวหมดตน การยั่วกิเลสใดๆย่อมไม่สามารถทำให้ผู้ที่หลุดพ้นไปข้องเกี่ยวได้

ดังนั้นการผลการปฏิบัติธรรมแบบพุทธจึงเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก ไม่อยู่ในวิสัยของโลก รู้ได้เฉพาะผู้ที่ปฏิบัติได้จริง เดาเอาก็ไม่ได้ คิดคำนวณยังไงก็ไม่มีวันถูก แม้มันจะเป็นเรื่องที่มีเหตุผล แต่ก็ไม่สามารถใช้ตรรกะใดๆมาอธิบายได้

จะเป็นไปได้อย่างไรที่กิ้งกือกระสุนจะเดินอยู่บนเส้นทางของฝูงมดที่หิวโหยโดยไม่โดนมดรุมทึ้ง อย่างเก่งก็แค่ม้วนตัวขดเป็นก้อนกลม ป้องกันมดกัด หรือรอเวลาที่มดเดินไปจนหมด ไม่มีทางหรอกที่จะเดินไปพร้อมๆกับมดโดยที่มดไม่กัด ธรรมชาติของมดย่อมกัดเป็นธรรมดา นั่นหมายถึงมันเป็นเรื่องเหนือธรรมชาตินั่นเอง

การที่เราจะสามารถต้านทานกิเลสด้วยกำลังของจิตนั้นก็เป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ควรศึกษาและปฏิบัติให้มีผลยิ่งขึ้น แต่การจะรู้และมั่นใจว่ากิเลสจะไม่สามารถทำอะไรเราได้อีกต่อไป หรือที่เรียกกันว่าหลุดพ้นจากกิเลสนั้น คือสภาพที่สามารถปล่อยให้ผัสสะเข้ามากระทบได้โดยที่ไม่ต้องทำอะไรอีกเลย ไม่ต้องอดทน ไม่ต้องบังคับ ไม่ต้องกดข่ม แม้จะปล่อยให้สิ่งที่เคยติดเคยยึด เคยชอบเคยชังเข้ามากระทบอีกสักเท่าไหร่ก็ไม่มีผล แม้ไม่มีการป้องกันใดๆเลยก็ไม่มีผล แม้จะปล่อยให้เข้ามาปะทะโดยไม่เตรียมตัวเตรียมใจใดๆก็ไม่มีผล

นั่นเพราะไม่มีกิเลสซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้เกิดผลในจิตใจอีกต่อไป เมื่อไม่มีกิเลส แม้จะมีผัสสะก็ไม่มีผลอะไร เหมือนกับกิ้งกือกระสุนที่แม้จะมีฝูงมดอยู่ตรงหน้าก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ต่างกับคนที่มีกิเลส เมื่อหลงเข้าไปในฝูงมดย่อมจะต้องป้องกัน หากไม่ป้องกันก็ต้องเจ็บปวด ทุกข์ทรมานจากความอยากทั้งหลายที่เกิดขึ้นเพราะสิ่งกระตุ้นและยั่วยวนกิเลสเหล่านั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

7.9.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)