Tag: การปล่อยวาง
ปล่อยวาง เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น
ปล่อยวาง เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น
คำว่าปล่อยวางนั้นมักจะเป็นคำที่นิยมใช้เมื่อชีวิตเจอกับอุปสรรคที่เป็นดั่งกำแพง ไม่สามารถทำอะไรได้ ทำได้แค่ปล่อยวางเท่านั้น การปล่อยวางตามความเข้าใจเช่นนี้เป็นสมมุติที่ใช้กันโดยทั่วไปในสังคม แต่สำหรับการปฏิบัติธรรมนั้นยังมีมิติหนึ่งที่ล้ำลึกกว่า
การปล่อยวางในทางธรรมนั้นไม่จำเป็นต้องรอให้ชีวิตไปเจอกับปัญหาและอุปสรรค แต่เป็นการปล่อยวางกิเลสตัณหาตั้งแต่ปัญหาเหล่านั้นยังไม่มาถึงโดยใช้ศีลเป็นเครื่องกั้นให้เห็นอุปสรรค แล้วปฏิบัติไตรสิกขาเพื่อที่จะปล่อยวางปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อถือศีล
การที่เราจะปล่อยวางได้อย่างแท้จริงนั้น เราต้องรู้ก่อนว่าเรายึดมั่นถือมั่นในอะไร ถ้าไม่รู้ว่าตนเองถืออะไรไว้ ก็จะไม่สามารถปล่อยวางสิ่งเหล่านั้นได้ เพราะกิเลสนั้นเป็นเหมือนยางเหนียวติดแน่นไปกับจิตใจเรา มองดูเผินๆก็จะเป็นเหมือนตัวเราของเรา เหมือนเปลือกที่ห่อหุ้มเรา แต่จริงๆแล้วไม่ใช่เรา
ถ้าเราไม่รู้ว่ายึดมั่นถือมั่นอะไรไว้ การปล่อยวางนั้นก็คงจะเป็นได้แค่ วาทกรรมที่ดูดีเท่านั้น เพราะกิเลสตัวเองยังไม่มีปัญญาเห็นแล้วจะเอาปัญญาที่ไหนไปปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น
ดังนั้นถ้าจะปล่อยวางได้อย่างแท้จริง อันดับแรกต้องรู้ไปถึงเหตุก่อนว่าถืออะไรไว้ ไอ้ที่ไปหลงสุขหลงเสพมันไปหลงตรงไหน ติดอะไร เพราะอะไร สุขยังไง เมื่อเห็นเหตุแล้วก็ค่อยทำความจริงให้แจ่มแจ้งท่ามกลางความลวงของกิเลส ให้มันพ้นสงสัยกันไปเลยว่าที่เราไปหลงสุขอยู่นั้นมันลวง ความจริงคือมันไม่มีสุขเลย
เมื่อเห็นจริงได้ดังนั้น สุดท้ายเราก็จะปล่อยจะคลายได้ด้วยปัญญาของตัวเอง เพราะไม่รู้ว่าจะเอาความฉลาดของกิเลสที่ไหนไปยึดสุขลวงเหล่านั้นไว้อีก กลายเป็นสภาพปล่อยวางเพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นในกิเลสนั้น เป็นการปล่อยวางอย่างพุทธ ไม่ใช่การปล่อยวางที่ปากแต่ยังหนักใจแบบที่ประพฤติและปฏิบัติกันโดยทั่วไป
– – – – – – – – – – – – – – –
17.12.2558
การวางเฉย
“การวางเฉย” บางครั้งก็ไม่ใช่สิ่งที่สมควรเสมอไป เพราะการวางเฉยนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายเหตุปัจจัย เช่นวางเฉยเพราะไม่อยากเสียลาภ ยศ สรรเสริญ เพราะการติหรือชมอะไรบางอย่างก็อาจจะทำให้เสียโลกธรรมเหล่านั้น
หรือวางเฉยเพราะโง่ ไม่รู้ว่าเรื่องใดควรติ เรื่องใดควรชม เลยทั้งไม่ชมไม่ติ อยู่เฉยๆดีกว่า พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง อะไรแบบนี้
หรือวางเฉยเพราะมีความเห็นผิด มีความเข้าใจว่าศาสนาพุทธต้องมีความเป็นกลางไม่เข้าข้างใคร ทำตัวเฉยๆดีที่สุด (มิจฉาทิฏฐิ)
การติและการชม
พระพุทธเจ้าตรัสแสดงบุคคล ๔ จำพวกคือ
๑. บุคคลผู้กล่าวติเตียนผู้ที่สมควรติตามจริงในเวลาที่เหมาะสม แต่ไม่กล่าวชมผู้ที่ควรชมตามจริงในเวลาที่เหมาะสม
๒. บุคคลผู้กล่าวชมผู้ที่สมควรชมตามจริงในเวลาที่เหมาะสม แต่ไม่กล่าวติเตียนผู้ที่ควรติตามจริงในเวลาที่เหมาะสม
๓. บุคคลผู้ไม่กล่าวติเตียนผู้ที่สมควรติตามจริงในเวลาที่เหมาะสม และไม่กล่าวชมผู้ที่ควรชมตามจริงในเวลาที่เหมาะสม
๔. บุคคลผู้กล่าวติเตียนผู้ที่สมควรติตามจริงในเวลาที่เหมาะสม และกล่าวชมผู้ที่สมควรชมตามจริงในเวลาที่เหมาะสม
โปตลิยะปริพาชก ได้ยินก็ทูลว่า ตนชอบใจ บุคคลประเภทที่ ๓ (ไม่ติในสิ่งที่ควรติ ไม่ชมในสิ่งที่ควรชม) เพราะเข้าใจว่าเป็นการปล่อยวาง,วางเฉย (อุเบกขา)
พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์ชอบบุคคลประเภทที่ ๔ (ติในสิ่งที่ควรติ ชมในสิ่งที่ควรชม) เพราะมีความประณีตกว่า งามกว่า เพราะรู้กาลเทศะในการติและชม ปริพาชกได้ยินดังนั้นก็ทำความเห็นตามพระพุทธเจ้า กล่าวชมเชยพระพุทธเจ้าว่า “เหมือนหงายของที่คว่ำ, เปิดของที่ปิด, บอกทางแก่คนหลงทาง, เหมือนจุดไฟในที่มืด” และปฏิญาณตนว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ
(พระไตรปิฎก เล่ม ๒๑ “โปตลิยสูตร ข้อ ๑๐๐)
รักเพราะอะไร
รักเพราะอะไร
ความหลงนั้นทำให้เราเป็นทุกข์ ในทางกลับกันการรู้แจ้งในเหตุปัจจัยเหล่านั้นก็เป็นสิ่งที่จะพาให้คนเราหลุดพ้นจากทุกข์
การหลงอยู่ในความรักที่ไม่รู้ว่าหลงในอะไรนั้น ไม่สามารถทำให้คนพ้นจากทุกข์ไปได้ เช่นเดียวกันหากเรารู้แจ้งในทุกเหลี่ยมมุม ทุกมิติของความรักนั้น เราก็จะสามารถหลุดพ้นจากทุกข์เหล่านั้นได้
การที่เราพยายามศึกษาในเหตุปัจจัยของความรักเหล่านั้นจนรู้แจ้ง จะส่งผลให้เราไม่พลั้งเผลอปล่อยใจไปกับความรักที่หลอกลวง แถมยังสามารถดึงตัวเองออกจากความทุกข์ได้อีกด้วย สามารถใช้ได้ทั้งในการป้องกันและการแก้ปัญหาได้อย่างสมบูรณ์ เช่นเดียวกับภาษิตที่ว่า รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งก็ชนะทั้งหมดร้อยครั้ง
รักของฉันคืออะไร
เมื่อเกิดความรู้สึกรักขึ้น แทนที่จะปล่อยตัวปล่อยใจให้หลงไปตามความรักด้วยนิยามที่สวยหรู เราควรกลับมาพิจารณาดูว่าเราเกิดความรู้สึกรักหรือชอบใจขึ้นได้อย่างไร เขามีอะไรดีเราจึงเกิดความรัก เขาหน้าตาดี เขาปากหวาน เขามีน้ำใจ เขามีฐานะ เขาเข้าใจและรับฟัง เขาเป็นคนดี ฯลฯ ซึ่งปัจจัยทั้งหลายนี้ต้องถูกชำแหละออกมาเป็นส่วนๆให้ชัดเจน
ตามธรรมชาติของความหลง เราย่อมไม่ยินดีที่จะพิจารณาหาเหตุแห่งความรัก เพราะถ้าค้นไปแล้วมันก็มักจะรักไม่ลง ดังนั้นจึงไม่ค้นดีกว่า จะได้รักกันต่อไป ยอมหลงกันต่อไป
แต่ถ้าเราได้พยายามต่อสู้กับความหลงมาในระดับหนึ่งจนยอมพิจารณาเหตุแห่งความรักนั้นแล้ว เราก็จะได้ข้อดีของคนที่เราหลงรักมา เราก็เอาข้อดีนั้นแหละมามองตามความเป็นจริงว่า ถ้าคนอื่นเขามาทำดีกับเราแบบนี้ เราจะไปรักคนอื่นไหม ถ้าใช่แสดงว่าค้นหาเหตุแห่งรักเจอแล้ว เพราะถ้าเหตุของรักมันใช่สิ่งนั้นจริงมันต้องรักทุกคนที่ทำสิ่งนั้นให้กับเรา แต่ถ้ายังไม่ใช่ ก็ต้องค้นหาต่อไปว่าทำไมคนนี้จึงต่างจากคนอื่น ทำไมเราจึงรักคนนี้ ไม่รักคนอื่นทั้งๆที่มีคุณสมบัติเท่ากัน
เมื่อหาเหตุแห่งความรักได้จนถึงรากแล้ว ก็ค่อยพิจารณาธรรมไปตามความจริง หากเรายังหลงเสพในสิ่งนั้นอยู่ จะสร้างโทษภัยให้ชีวิตอย่างไร มันไม่เที่ยงอย่างไร มันเป็นทุกข์อย่างไร มันมีตัวตนอยู่จริงไหม ถ้าเราไม่หลงจะเกิดประโยชน์อะไรกับชีวิตบ้าง ก็เพียรพิจารณาความจริงกันไปเรื่อยๆ ให้ความหลงได้จางคลายโดยลำดับ
เขารักอะไรในตัวฉัน
เช่นเดียวกันกับการตรวจสอบเหตุแห่งความรักของตัวเอง เรายังสามารถใช้วิธีนี้สังเกตผู้อื่นได้อีกด้วย ว่าเขามารักอะไรในตัวเรา เรากำลังนำเสนออะไร จุดขายของเราคืออะไร รูปร่างหน้าตา นิสัยใจคอ หรือเงินทองของเรา เราลองตัดปัจจัยดูทีละตัวสิ เช่นไม่แต่งหน้าแต่งตา ลองปรับปรุงนิสัยให้ดีขึ้น มีมารยาทมากขึ้น หวงเนื้อหวงตัวมากขึ้น ลองทำตัวประหยัดขึ้น ตามเหตุปัจจัยที่เราคิดว่าเขาจะมาหลงเราในจุดนั้น เขาหลงในอะไร เราก็ทำให้มันเจริญขึ้นด้วยศีล เพราะอย่างน้อยๆศีลจะกันคนไม่ดีออกจากชีวิตได้
แม้ว่าเราจะตั้งศีลที่สูง เช่น กินมังสวิรัติ กินมื้อเดียว ไม่แต่งตัวแต่งหน้า ไม่สมสู่ ไม่สะสม ไม่ฟุ่มเฟือย ทำทานเป็นประจำ ไม่เล่นการพนัน ไม่กินเหล้าเมายา ไม่เสพสิ่งไร้สาระ เข้าวัดฟังธรรม ถือศีลทำสิ่งดีเท่าที่กำลังของเราจะพอทำได้ ถ้าเขารักเราจริง เขาก็ควรจะรักที่เราเป็นคนดี ไม่ใช่รักเพราะเราหน้าตาดีมีฐานะ ไม่ใช่รักเราที่เปลือกหรือองค์ประกอบภายนอกของเรา
ฉันจะปล่อยวางความรักอย่างไร
การจะปล่อยวางได้นั้น ต้องรู้เสียก่อนว่าเรากำลังถืออะไรอยู่ ถ้าไม่รู้ว่าความรักของเรานั้นคืออะไร มันไปติดใจอะไร มันไปเสพสุขตรงไหน ก็ไม่มีทางที่จะปล่อยวางความหลงหรือความรักเหล่านั้นได้เลย
การปล่อยวางไม่สามารถทำได้เพียงแค่คิดเอา กำหนดจิตเอา หรือทำเป็นลืมไปอย่างนั้น เราจะปล่อยวางได้ก็ต่อเมื่อรู้ว่าเหตุแห่งการยึดมั่นถือมั่นนั้นคืออะไร แล้วทำลายเหตุเหล่านั้นด้วยปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง ว่าการยึดในสิ่งเหล่านั้นเป็นทุกข์โทษภัยผลเสียอย่างไร การปล่อยวางจึงเป็นสภาพผลที่เกิดขึ้นจากการชำระเหตุแห่งทุกข์ที่ถูกตัวถูกตนด้วยปัญญาที่ทรงพลังมากกว่ากิเลส
เมื่อไม่เหลือเหตุที่จะต้องเข้าไปยึดมั่น ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแบกความทุกข์เหล่านั้นไว้ และปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น ปล่อยให้กิเลสออกไปจากความรัก สุดท้ายแล้วความรักนั้นยังจะคงอยู่ มีเพียงแค่กิเลสที่หายไป ความรักที่ปราศจากกิเลสนั้นงดงามจนไม่สามารถหาสิ่งใดมาเปรียบ มันไม่มีการยึดมั่น ไม่มีการครอบครอง ไม่มีเจ้าของ ไม่มีตัวตน
– – – – – – – – – – – – – – –
11.9.2558
การเตือนกันในสังคม
รถคนปกติจอดที่คนพิการ กับการจัดการที่ดีมากของห้างเซนทรัลพระราม 9
http://pantip.com/topic/33834152
เป็นการช่วยเหลือกันที่ดีมาก เตือนกันอย่างละมุนละไม ให้โอกาสในการแก้ตัว ให้คนอื่นได้เรียนรู้ไปพร้อมๆกัน
เราอยู่รวมกันในสังคม ปัญหามีมากมาย ก่อนที่จะวางเฉยจากหน้าที่ของพลเมืองดี เราได้ลองทำอะไรสักอย่างแล้วหรือยัง? หรือเราวางเฉยเพราะไม่ใช่เรื่องของฉัน สัตว์โลกต้องเป็นไปตามกรรม ทั้งหมดก็เป็นเช่นนั้นเอง
การปล่อยวางนั้นไม่ใช่การวางเฉยไม่เอาภาระ แต่หมายถึงการเอาภาระแล้วปล่อยวางความดีที่ทำลงไป ไม่เอาดีเลย
ผมอ่านเรื่องนี้แล้วรู้สึกว่านี่แหละ คือหนึ่งในวิธีที่จะเตือนเพื่อนร่วมสังคมได้โดยไม่ลำบากตัวเองมากจนเกินไป
ผมเคยเจอคนที่ขับรถย้อนศรพยายามลักไก่จนเกิดปัญหา พอมีคนไปเตือนเขาก็ชักปืนออกมาขู่ ในยุคนี้ถ้าไม่จำเป็น ก็ไม่ต้องปะทะ หาทางเตือนอย่างมีศิลปะโดยไม่ให้เดือดร้อนตัวเองด้วย