Tag: ศีล

ภัยร้ายที่ซ่อนอยู่ (การขอแต่งงาน)

November 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,762 views 0

จากข่าวที่มีการขอแต่งงานที่มีคนดูมากกว่าล้านครั้ง : คลิปขอแต่งงานที่น่ารักมาก ขนมาทั้งญาติทั้งเพื่อน เซอร์ไพรส์สุดๆ

สมัยนี้เขาไม่ขอแต่งงานกันธรรมดาแล้ว มันต้องมีบันเทิง มีบท มีละคร เรียกง่ายๆว่ามีอบายมุขเข้ามาเป็นองค์ประกอบ

พร้อมคำสัญญาที่มีไว้เพื่อล่อหลอกให้ได้เสพอีกฝ่าย แน่นอนว่าตอนที่เขาใช้คำเหล่านั้นเขาก็อาจจะรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ แต่ความจริงคือสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ไม่จริง

หลายคนดูไปก็ซึ้งไป …แต่เดี๋ยวก่อน ทุกเสี้ยววินาทีที่คุณซึ้ง คุณสุขจากการเสพเรื่องราวเช่นนี้ คุณก็ได้สะสมกิเลสไปแล้วเท่านั้น

ใครประมาทก็จะบอกว่าไม่เห็นมีอะไรเลย แต่ถ้าคนเห็นโทษเห็นภัยของวัฏสงสารแล้วจะขำไม่ค่อยออกถ้าตนเองยังเหลือความเห็นผิดเหล่านั้นอยู่

แม้เผลอไปยินดีเพียงเสี้ยวเดียวในจิตใจ นั่นคือยังมีอุปาทานอยู่ ก็ต้องกลับมาตรวจกันยกใหญ่ว่ายังเหลือความเห็นผิดในอะไร สิ่งใดที่ทำให้เกิดรสสุขลวงขึ้นเช่นนี้

เกิดสุขจากเสพก็เป็นกิเลสแล้ว เพิ่มกิเลส สะสมกิเลสใครก็ทำได้ แต่ล้างกิเลสนี่ไม่ใช่เรื่องง่าย ก็ลองดูกันเองแล้วจะรู้ว่าการจะออกจากสิ่งที่ตัวเองหลงนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าไม่มีความรู้ที่พาล้างกิเลสได้จริง ถึงจะมีความรู้ก็ใช่ว่าจะล้างความเห็นผิดกันได้ง่ายๆ

คนที่บอกว่าตนเป็นโสด ไม่สนใจเรื่องคู่ ถ้ายังดูเรื่องราวเหล่านี้แล้วยังเกิดสุข ยังฝันตามเขาอยู่ ให้ทบทวนตัวเองใหม่ได้เลย อย่าประมาท เพราะกิเลสมันแอบโตแล้วมันเล่นเรากลับทีเดียวหงาย

แค่ล้างกิเลสยังต้องใช้เวลาหลายชาติ นี่ยังมายินดีในการเพิ่มกิเลสกันอีก ก็วนอยู่กับสุขลวงกันต่อไปละนะ

. . . . . . . . . . . .

คลิปนี้มีคนเห็นกว่า 2 ล้าน(ตอนนี้) ถ้ามีคนติดสุขตามสัก 1.5 ล้าน แสดงว่าได้กระตุ้นกิเลสแล้ว 1.5 ล้านคน*กิเลสของเขา

คนทั่วไปก็มองว่าเป็นกำไร แต่จริงๆคือความขาดทุน เพราะสิ่งที่ทำก็คือกรรม คือเราเป็นเหตุในการกระตุ้นกิเลสเขา เราทำเท่าไหร่เราก็ต้องรับผิดชอบเท่านั้น

ลองคิดดูว่าถ้าชาตินี้มีคนมายั่วกิเลสเราให้เราอยากแต่งงาน 1.5 ล้านครั้ง เราจะทนไหวไหม แต่มันไม่มาแบบนั้นหรอก มันจะทยอยมาชาติละนิดละหน่อย มาล่อลวงให้เราหลงไปตามกรรมที่เราทำไว้ ไม่ขาดไม่เกิน

อะไรที่มันไม่พาพ้นทุกข์ท่านให้ปิดไว้ ถึงจะรักกันหลงกันยังไงก็ให้ปิดไว้เงียบๆเท่าที่จะทำได้ เปิดเผยมามันจะไม่งาม เพราะสิ่งที่เปิดเผยนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะโง่จึงเปิดเผย เพราะโง่จึงหลงผิด

. . . . . . . . . . . .

บทความนี้คนมีศีลในระดับต่างกันจะมีความเห็นต่างกัน (*ศีลในทีนี้คือสามารถปฏิบัติได้อย่างปกติ มีศีลนั้นเป็นสามัญ มีปัญญารู้แจ้งในคุณของศีลนั้น)

1.คนไม่มีศีล มองเป็นเรื่องธรรมดา ใครๆก็ทำได้ ไม่เห็นแปลก สุขจะตาย

2.คนฐานศีล 5 ก็ยังมองว่าสุขอยู่ รู้ว่าไม่ดีหรอก แต่ชาตินี้ขอมีคู่ก่อนแล้วกันนะ

3.คนฐานศีล 8 ในระดับมรรคจะมีความละอายถ้าตนรู้สึกยินดีในเรื่องมีคู่ ถ้าในระดับผลจะไม่มีความยินดีใดๆแล้ว

4.ศีลมากกว่านั้น เห็นเป็นเรื่องไร้สาระ ที่คนหลงเสพหลงสุขมัวเมากันไป เหมือนมองเด็กๆ เล่นดินเล่นทราย หยิบขี้หมาแห้งมากินแล้วหัวเราะมีความสุข

ความเห็นผิดควรปิดไว้ ความเห็นถูกให้เปิดเผย

October 8, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,627 views 1

ความเห็นผิดควรปิดไว้ ความเห็นถูกให้เปิดเผย

ความเห็นผิด ปิดไว้ ดีที่สุด

หากเผลอหลุด เอ่ยอ้าง อับอายเขา

หลงเมากาม เมาอัตตา ว่าตัวเรา

แล้วยึดเอา ว่าฉันนี้ ดีสุดเอย

– – – – – – – – – – – – – – –

คนที่เห็นผิด ก็จะเห็นถูกว่าเป็นผิด เห็นผิดว่าเป็นถูก ก็เลยมักจะนำเสนอสิ่งผิดด้วยความมั่นใจ เผยแพร่มันออกมาด้วยความเข้าใจว่าสิ่งเหล่านั้นถูกต้อง เมื่อความเห็นผิดเหล่านั้นถูกประกาศไปสู่คนที่มีเห็นผิดด้วยกัน เขาเหล่านั้นย่อมกลืนกินกันเองด้วยความเห็นผิด และมัวเมาหลงผิดกันอยู่เช่นนั้น ภูมิใจกับความหลงผิดเช่นนั้น นำเสนอความเห็นผิดเช่นนั้นโดยมิได้รู้สึกอับอายแม้แต่น้อย

ส่วนคนที่เห็นถูก ก็จะเห็นผิดเป็นผิด เห็นถูกเป็นถูก แต่พอประกาศออกไปว่าสิ่งที่คนส่วนใหญ่นั้นเห็นและเข้าใจนั้นเป็นสิ่งผิด เมื่อคนเห็นผิดได้ยินดังนั้น ก็จะมองความถูกเป็นความผิดและมีข้อขัดแย้งในความเห็นเป็นเรื่องธรรมดา

คนเห็นผิดก็ขยันสร้างกรรมที่ผิด ส่วนคนเห็นถูกก็ต้องขยันที่จะเอาภาระ คอยแก้กลับสิ่งที่ผิดให้มันถูก คนหนึ่งสร้าง(ความเห็นผิด) คนหนึ่งทำลาย(ความเห็นผิด) มีอยู่คู่กันเช่นนี้ทุกยุคทุกสมัย

แล้วจะแยกอย่างไรในเมื่อคนเห็นผิดก็ประกาศความเห็นผิดของตน และคนที่เห็นถูกก็ประกาศความเห็นถูกของตน แล้วตกลงใครที่เห็นผิด ใครที่เห็นถูก แล้วเรากำลังมองในมุมไหน เราเห็นผิดหรือเราเห็นถูก แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเห็นถูก เพราะในเมื่อคนเห็นผิดก็จะเห็นความผิดของตนเป็นความถูกเสมอ ซึ่งเป็นปัญหาโลกแตกที่ทำให้คนทะเลาะกัน ทำร้ายกัน ฆ่ากันมามากมายแล้ว

ในกาลามสูตรได้สรุปเรื่องนี้ไว้ว่า อย่าพึ่งปักใจเชื่อง่ายๆ แต่ควรศึกษาและปฏิบัติสิ่งที่เห็นเหล่านั้นจนเกิดปัญญารู้ในตนว่าเป็นกุศลหรืออกุศล คือดีหรือชั่ว เป็นการเกื้อกูลหรือเบียดเบียน เป็นการสละออกหรือการสะสม เป็นไปเพื่อพรากหรือเพื่อผูก เป็นไปเพื่อลดกิเลสหรือสนองกิเลส เป็นไปเพื่อหลุดพ้นจากทุกข์หรือเป็นไปเพื่อทุกข์ชั่วกาลนาน

แต่ความหลงที่ร้ายกาจและรุนแรงที่สุดที่มีความซ้อนลึกจนยากที่จะแก้ นั่นคือการหลงว่าตนเองนั้นเป็นพระอริยะหรือพระอรหันต์ ซึ่งจะมีความซ้อนเข้าไปในวิถีปฏิบัติและปริยัติของลักษณะของศาสนาพุทธที่แยกได้ยากมาก ซึ่งเป็นความหลงที่แนบเนียนที่สุดที่จะมากวาดต้อนคนหลงผิดให้มัวเมาอยู่กับความเป็นโลกและความเป็นอัตตา

ซึ่งวิธีเดียวที่จะพ้นจากความหลงผิดที่สุดแสนจะเนียบเนียนเหล่านั้นได้ คือการทำความถูกให้เกิดในตน แล้วจะทำความถูกต้องได้อย่างไร ก็ต้องมีคนที่มีความเห็นที่ถูกต้องเป็นผู้ชี้ทางแล้วทีนี้ก็วนกลับมาเหมือนไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน…

แล้วตกลงใครที่มีความเห็นถูกต้องกัน ในเมื่อมองไปแล้วก็ดูเหมือนมีส่วนถูกด้วยกันทั้งนั้น อันนี้ก็สุดแล้วแต่บุญแต่กรรม ใครทำกรรมดีมามากก็มีโอกาสได้เข้าใกล้ความถูก ส่วนใครทำกรรมชั่วมามากก็มีโอกาสที่จะหลงมัวเมาในความผิด ยังรวมทั้งกรรมที่เคยเกื้อกูลคนที่ถูกต้องมาก็จะชักนำให้เจอคนที่ถูกต้อง และกรรมที่ไปเกื้อกูลคนที่ผิดก็จะชักนำให้เจอคนที่ผิด แต่ก็จะไม่รู้หรอกว่าคนไหนถูก คนไหนผิด จนกว่าจะได้ปฏิบัติตามจนมีความเห็นถูกนั้นขึ้นในตนเอง

ถ้าหาใครไม่ได้ก็ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งในยุคนี้ยังพอมีหลักฐานที่มีความถูกต้องเป็นส่วนมากให้ศึกษาอยู่ บทไหน หมวดหมู่ไหน ศึกษาให้มาก ให้หลากหลาย ถ้าสามารถทำได้ก็ทำตามที่ท่านแนะนำให้หมด สิ่งใดเป็นไปเพื่อความไม่เจริญในธรรม ทำให้ลุ่มหลงมัวเมาในกิเลสให้ละเว้น สิ่งใดขัดเกลากิเลสให้ศึกษา และทำใจในใจให้เห็นตรงกับที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้

เช่น ท่านบอกให้ภิกษุผู้บวชกับท่านถือศีล ๓ หมวด คือจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ถ้าเราเป็นฆราวาสแล้วรู้สึกว่าศีล ๕ ยังไม่ชัดเจน ก็ให้ศึกษาศีลใน ๓ หมวดนี้ในข้อที่พอจะกระทำได้โดยไม่ทรมานจนเกินไป ศึกษาและปฏิบัติให้จิตนั้นแนบแน่น แนบเนียนไปกับศีลเหล่านั้น ให้เกิดปัญญาเห็นจริงว่า ความพ้นทุกข์นั้นถูกตรงตามศีลที่พระพุทธเจ้าตรัสจริงๆ ถือศีลแล้วพ้นทุกข์พ้นภัยจริงๆ ศีลประเสริฐจริงๆ ศีลวิเศษจริงๆ ศีลเยี่ยมยอดที่สุด …แต่ถ้าไม่ไหวก็ศึกษาและปฏิบัติในศีล ๕ ให้ได้ความเห็นในแนวทางนี้แล้วค่อยขยับจาก ๕ ๘ ๑๐ พร้อมๆกับศึกษาทางเลือกเสริมสู่ความเจริญใน ศีล ๓ หมวด และบัญญัติข้ออื่นๆ ไปพร้อมๆกันก็ได้

– – – – – – – – – – – – – – –

8.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ปัญญาก็มีตามศีลที่มีนั่นแหละ !

October 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,490 views 0

ปัญญาก็มีตามศีลที่มีนั่นแหละ !

ยุคสมัยนี้ปฏิบัติ ศึกษาธรรมะกันแต่ไม่ค่อยสนใจศีล ลืมศีล ไม่เข้าใจศีล ถ้าไม่ยึดศีลแบบงมงาย ก็ตีทิ้งศีลไปเลย พอไม่มีศีลมันก็เลยไม่มีปัญญา แล้วจะเอาปัญญาที่ไหนมารู้แจ้งเห็นจริงในธรรม

ศีลกับปัญญานั้นเป็นคู่กัน ถ้าปฏิบัติศีลอย่างสัมมาทิฏฐิกันจริงๆ ยังไงก็หนีไม่พ้นการมีปัญญา

แต่เดี๋ยวนี้ถือศีลกันแล้วหมายเอาแค่ศีลมาคลุมแค่ร่างกาย กับคำพูดคำจา แต่ความจริงแล้ว ศีลก็ปฏิบัติทั้งกาย วาจา ใจ นั่นแหละ ซึ่งก็อยู่ที่ความเห็นของผู้ที่ศึกษา ถ้าเข้าใจก็เข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่เข้าใจ จะติดอยู่แค่ร่ายกาย กับคำพูดเท่านั้น จะไปต่อถึงใจไม่เป็น

สรุปลงไปเลยว่า ศีลนี่แหละคือข้อปฏิบัติที่จะชำระกิเลสในใจ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนว่า “ศีลที่เป็นกุศล ยังอรหัตตผลโดยลำดับ” นั่นหมายถึงแค่มีศีลนี่แหละ พอแล้วจบกิจแน่ๆ แต่ต้องสัมมาทิฏฐินะ~

มารมาทำอย่างไร?

September 5, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,338 views 0

มีคนถามว่า เมื่อมีจิตคิดไม่ดี จนกระทั่งพูดไม่ดีออกไป กลายเป็นมารร้ายต้องทำอย่างไร? ต้องเพิ่มสติใช่ไหม?

ผมก็ตอบว่า : ศีลเอาไว้กำหนดขอบเขตในการละเว้นสิ่งชั่ว สติเอาไว้ให้รู้ตัวไม่หลุดไปทำชั่ว ปัญญาเอาไว้ทำลายมาร

1).ต้องกำหนดศีลก่อนว่าเราจะละเว้นเท่าไหร่ ถ้าแค่ไม่หลุดปากก็ระดับหนึ่ง แต่ถ้าไม่คิดชั่วเลยก็อีกระดับหนึ่ง ซึ่งจะมีความยากง่ายต่างกัน

2).เช่นเดียวกันเมื่อตั้งศีลต่าง ระดับสติที่ต้องใช้ก็ต้องต่างกัน ถ้าแค่ไม่หลุดปากก็ใช้สติประมาณหนึ่ง แต่ถ้าไม่คิดชั่วเลยต้องมีกำลังสติมากกว่านั้นมาก

3).ส่วนปัญญานั้นก็ต้องสร้างขึ้นมา ไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เราจึงต้องเพียรพิจารณาความจริงตามความเป็นจริง โทษภัยผลเสียของมารนั้น ข้อดีของการหลุดพ้นจากมารนั้น กรรมทั้งหลายของการเป็นทาสมารนั้น และความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตนของสิ่งนั้น หลักพิจารณาเหล่านี้เป็นข้อพิจารณาให้เกิดปัญญา

นี้คือการปฏิบัติไตรสิกขาที่จะเจริญไปเป็นรอบๆ เพิ่มศีล สมาธิ ปัญญาขึ้นไปโดยลำดับ เป็นขั้นเป็นตอน ไม่ใช่เพื่อการหลุดพ้นในทันที (การปฏิบัติอย่างพุทธไม่มีบังเอิญ ต้องสร้างเหตุเอาเอง ไม่มีเหตุ ก็ไม่มีผล)