Tag: วิมุตติ

ฉันไม่ทุกข์ ฉันไม่ต้องเข้าวัด

September 20, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,046 views 0

ฉันไม่ทุกข์ ฉันไม่ต้องเข้าวัด

ฉันไม่ทุกข์ ฉันไม่ต้องเข้าวัด

ตั้งชื่อเปรียบเปรยกันไป ประมาณว่าในเมื่อฉันยังไม่ทุกข์ ฉันก็ยังไม่ต้องศึกษาและปฏิบัติธรรม ไม่ต้องเข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรม ไม่ต้องมีครูบาอาจารย์ เอาไว้ฉันแก่ ฉันทุกข์ ฉันตาย ฉันค่อยไปวัดก็ได้

ในบทความนี้จะขยายถึงเรื่องของอัตตา เมื่อเราเห็นว่าคนที่เข้าวัดทำบุญนั้นไม่ได้ทำให้จิตใจดีขึ้น ไม่ได้ทำให้ชีวิตเจริญขึ้น และแม้จะดีขึ้นก็ไม่ได้ดีในระดับที่มีนัยสำคัญให้เราสนใจอะไร จนกระทั่งเราเสื่อมศรัทธาในการทำบุญ การไปวัด การไปพบครูบาอาจารย์

ในโลกนี้ประกอบด้วยคนมีทุกข์และคนไม่มีทุกข์ เปรียบเสมือนคนป่วยทางจิตใจกับคนจิตใจปกติ สำหรับคนที่ไม่ป่วยหรือจิตใจปกติจะขอยกไว้ แต่จะกล่าวถึงคนที่มีอาการป่วยทางจิตใจ ซึ่งก็มีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันโดยจะยกตัวอย่างเป็นลักษณะของคนป่วย 5 ประเภทดังนี้

1.คนป่วย

ในสังคมเรานั้น ถ้าพูดถึงคนที่เข้าวัดทำบุญทำทาน ก็คงจะเป็นคนส่วนน้อย โดยมักจะเป็นคนแก่ แม้บ้าน คนโสด หรือเป็นคนที่มีทุกข์ ตกงาน อกหัก โดนทอดทิ้ง ครอบครัวแตกแยก ชีวิตพัง ฯลฯ ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆเหล่านี้ พวกเขาจึงได้มองหาที่พึ่งพิงทางใจ เพราะเขาเหล่านั้นเริ่มจะรู้สึกแล้วว่า เขาไม่สามารถพึ่งพาจิตใจตนเองได้อีกต่อไป ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่ดี เมื่อเรามีปัญหาที่แก้ไม่ตก เราก็ควรจะให้โอกาสกับตัวเอง โดยการให้โอกาสผู้อื่นได้ยื่นมือเข้ามาช่วยแก้บ้าง

การที่เขาเหล่านั้นหาที่พึ่งทางจิตใจไม่ได้หมายความว่าเขาอ่อนแอเสมอไป แต่ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เขามีอัตตาลดลง เขามีความยึดมั่นถือมั่นลดลง อาจจะเกิดจากสิ่งที่พวกเขาเคยเชื่อและมั่นใจมาทั้งชีวิตถูกทำให้พังทลายลง สิ่งที่พอจะเหลือไว้ให้คิดถึงสำหรับคนไทยอย่างเราก็คือพระรัตนตรัย ที่พอให้เขายึดเหนี่ยวและเป็นหลักให้พึ่งพิงไว้ได้

2.คนป่วยที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองป่วย

ในขณะเดียวกัน คนที่ไม่เข้าวัดทำบุญ อาจจะไม่รู้สึกก็ได้ว่าตัวเองนั้นก็มีปัญหาทางจิตใจ ไม่รู้สึกว่าตนนั้นเป็นคนอ่อนแอ ไม่รู้ว่าตนนั้นเป็นคนป่วยอยู่เช่นกัน เมื่อยังไม่มีทุกข์หนักมากพอที่จะทำให้เขาเหล่านั้นตระหนักถึงเรื่องกรรมและผลของกรรม และวิบากกรรมชั่วที่เคยทำนั้นยังไม่มาถึง เขาเหล่านั้นจึงใช้ชีวิตอย่างประมาท เข้าใจว่าเรื่องธรรมะเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของคนแก่ เป็นเรื่องของคนทุกข์ และในเมื่อเขายังไม่รู้สึกทุกข์ เขาก็ไม่จำเป็นต้องเข้าหาธรรมะขนาดนั้นก็ได้

ความคิดเหล่านี้คืออัตตาก้อนใหญ่ คือความยึดมั่นถือมั่นในตัวเอง แทนที่จะยึดพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เขากลับยึดเอาอัตตา คือยึดเอาความคิดตัวเองนี่แหละเป็นที่พึ่ง จนกระทั่งวันใดวันหนึ่งที่ถึงเวลาอันสมควรกรรมจะพาให้เขาได้พบกับทุกข์ที่มากพอที่จะกระตุ้นให้เขาได้รู้สึกเข็ดขยาดกับการสะสมบาป ทำลายทุกอย่างที่เขาเชื่อมั่นลงราบเป็นหน้ากลอง จนสุดท้ายก็กลายเป็นเหมือนคนทุกข์ที่แสวงหาทางพ้นทุกข์จนไปพึ่งพาที่วัดนั่นแหละ

เขาเหล่านี้มักมีความคิดเห็นว่า ตัวเองก็ไม่ได้ชั่วมาก และก็ไม่ได้ดีมาก เข้าใจว่าเป็นกลางๆ จึงใช้ชีวิตทำดี ทำชั่วปนกันไปสลับไปมา 3 วันดี 4 วันไข้ รับสุขรับทุกข์แบบนี้เรื่อยไป และเข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเหมือนคนป่วยที่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย ทั้งที่จริงแล้วมนุษย์ทุกคนมีความสามารถที่จะทำดีทุกวันได้ เป็นการทำดีที่สอดแทรกเข้าไปในชีวิตประจำวัน สอดแทรกเข้าไปในความเห็นความเข้าใจ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเข้าวัดทำบุญทุกวันอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจ

แต่ด้วยอัตตาที่เขาเหล่านั้นมี คือมีความรู้สึกว่าเข้าวัดทำบุญก็ไม่ได้เป็นคนดีขึ้น และชีวิตที่ใช้อยู่นั้นก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น จึงทำให้เสียโอกาสในการได้รับการรักษาเยียวยาทางจิตใจไปอย่างน่าเสียดาย

3.คนป่วยที่หลงเข้าใจผิดว่าตัวเองมียาดี

เป็นคนที่มีทุกข์มีสุขปะปนกันไปในชีวิตเหมือนกับคนป่วยที่คิดว่าตัวเองไม่ป่วย แต่เขาเหล่านี้รู้ตัวว่ามียาดี คือมีครูบาอาจารย์ มีพระดี มีวัดดี มีคนดีคอยแนะนำอยู่ จึงมีความประมาทในชีวิต เมื่อไม่คิดว่าธรรมะนั้นเป็นเรื่องสำคัญ รอไว้ให้ทุกข์ รอไว้ให้แก่ จึงค่อยเข้าวัด จนกระทั่งวันหนึ่งวิบากกรรมได้มาถึง ทุกข์มากมายได้โถมกระหน่ำเข้ามา ยาดีที่มีอยู่ ก็อาจจะหมดอายุ ครูบาอาจารย์ลาโลกนี้ไปหมดแล้ว แถมบางทียาดีที่คิดว่ามีอยู่ กลับกลายเป็นยาปลอมอีก ธรรมที่เคยศึกษามาทั้งชีวิตกลับเป็นธรรมะปลอมๆ ที่พาสะสม พาให้เสพกิเลส พาให้กลัว กังวล หลงในเรื่องโลก เป็นต้น

แม้จะมียาดี มีครูบาอาจารย์ที่ถูกตรงอยู่ใกล้ แต่เมื่อทุกข์ เมื่อวิบากมาถึง อาจจะใช้ยานั้นไม่ทันก็ได้ เพราะธรรมไม่ใช่เรื่องปาฏิหาริย์ การบรรลุธรรมแบบชั่วพริบตานั้นไม่มีทางเกิดได้ หากไม่เคยทำเหตุมา นั่นหมายถึงถ้าไม่เคยปฏิบัติมาจนบรรลุเรื่องนั้นๆมาในชาติก่อนภพก่อนแล้ว ก็ไม่มีวันที่จะเข้าใจได้ในวันสองวันในชาตินี้หรอก

พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า ธรรมวินัยนี้เหมือนทะเล ลาด ลุ่ม ลึก ไปตามลำดับ ไม่ลาดชันเหมือนเหว คือต้องปฏิบัติไปเรื่อยๆ จากหยาบ กลาง ละเอียด ไม่ใช่อยู่ๆ จะกระโดดจากหยาบไปละเอียดได้เช่นบางคนปฏิบัติธรรมได้นิดเดียวก็จะไปนิพพานเลย กลายเป็นเอาหลังมาหน้า เอาหน้ามาหลัง กลับหัวกลับหาง ไม่เป็นไปตามลำดับ รีบเร่ง โลภ ขี้เกียจ มักง่าย สุดท้ายก็หลงทางกันไป หนักเข้าก็หลงว่าบรรลุธรรมกันไปเลยก็มี

ยังมีคนอีกพวกที่ถือยาผิด เขาเหล่านั้นเข้าใจว่าตัวเองเข้าใจแก่นของพุทธ จึงไม่สนใจการทำบุญ ปฏิบัติธรรม พบปะครูบาอาจารย์ ฟังสัจธรรม คิดแค่ทำตัวเองให้ดีก็พอแล้ว นั่นคือความหลงผิดอย่างยิ่ง เพราะว่าแก่นของพุทธนั้นคือวิมุตติ คือสภาพที่หลุดพ้นจากกิเลส ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะนึกเอา คาดคะเนเอา ไม่ใช่แค่การทำดี ไม่ทำชั่ว แต่เป็นเรื่องของการดับกิเลส

พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่าธรรมวินัยนี้ ลึกซึ้ง เห็นตามได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต คาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ดังนั้นการจะบอกว่ารู้แก่น เข้าใจแก่นของพุทธโดยไม่ได้ปฏิบัติจนถึงผลนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

4.คนป่วยที่หลงเข้าใจผิดว่าตัวเองหายป่วย

คนอีกประเภทคือคนที่คิดว่าตนเองนั้นได้เจอหมอ ได้ยาดี ได้รับการเยียวยาทางจิตใจดีแล้ว ได้รับการอบรมสั่งสอนดีแล้ว หายป่วยแล้ว เมื่อกลับเข้ามาในสังคม ก็จะมีอาการติดดี ยึดดี ถือดี ยึดมั่นถือมั่นว่าทางที่ฉันเดินนั้นดี เราสามารถพบเจอคนเหล่านี้ได้ในหมู่นักปฏิบัติธรรมที่ช่ำชองการปฏิบัติธรรม เขาสามารถเข้าใจศัพท์ ภาษาบาลี ข้อธรรมต่างๆ สภาวธรรมเบื้องต้นได้

ตัวเขาเองนั้นมักจะไม่ได้แสดงอาการทุกข์ใจให้คนอื่นเห็นมากนัก เพราะเข้าใจไปว่าไม่เป็นทุกข์หรือทุกข์น้อยแล้วก็เลยกดไว้ ปิดบังไว้ แต่มักจะสร้างทุกข์ให้คนอื่นด้วยกฎระเบียบ แนวคิด ทิฏฐิที่ตัวเองได้เรียนรู้มา เช่น พระท่านว่ามาแบบนี้ ถ้าทำอย่างนั้นจะบาป ถ้าทำอย่างนี้จะบาป ถ้าทำแบบนั้นจะบุญ ต้องทำแบบที่ฉันทำนี่สิดี ได้บุญเยอะบรรลุธรรมง่ายกลายเป็นคนดีที่ชอบปราบคนไม่ดี ชอบปราบคนชั่ว ซึ่งก็ยังชั่วอยู่นั่นเอง

ในสังคมทุกวันนี้จึงมีจอมยุทธ์นักปฏิบัติธรรมเต็มไปหมด เป็นจอมยุทธ์ที่ฟาดฟันกันด้วยอัตตามานะ ซึ่งสร้างจากความรู้ความเข้าใจที่ได้ร่ำเรียนมาในแต่ละสำนัก เชิดชูสำนักตัวเอง คอยทำลายสำนักอื่นๆ ล่าบริวาร ล่าลาภ ยศ สรรเสริญและมักสร้างกรอบว่าใครไม่คิดเหมือนฉันคนนั้นผิด ใครไม่ปฏิบัติเหมือนฉัน ฉันไม่คบคนนั้น ใครจะปฏิบัติได้ดีเหมือนฉันนั้นไม่มีสำนักไหนหรือใครจะปฏิบัติอย่างไรฉันไม่รู้ ฉันมีแนวทางของฉันเอง ครูบาอาจารย์ฉันสอนมาแบบนี้ ใครอย่ามาเปลี่ยนฉันเสียให้ยาก ….ก็หลงมัวเมาในอัตตากันต่อไป

และบางคนก็ถึงกับหลงผิดว่าตนเป็นผู้บรรลุธรรมไปเลย เปิดสำนักหลอกลวงคนมาทำบุญ สุดท้ายเมาลาภ เมากาม เมาสรรเสริญ เมาอัตตา ยิ่งเสพยิ่งติด เมื่อต้องการเสพมากขึ้นก็มักจะไม่ระวังตัว พอเรื่องแตก กลายเป็นข่าวใหญ่ ก็วงแตกหนีกันแทบไม่ทัน เหล่าญาติโยมผู้หลงผิดบ้างก็ยังหลงมัวเมาไม่จบไม่สิ้น บ้างก็ตาสว่าง ก็แล้วแต่บาปบุญของใคร

คนที่หลงคิดไปเองว่าตัวเองหายป่วย หลงคิดไปเองว่ามีจิตใจที่ไม่ทุกข์ หรือหลงคิดไปเองว่าตัวเองบรรลุธรรม คนเหล่านี้แหละ คือคนที่ทำลายศาสนาอย่างแท้จริง เพราะตัวเองก็ไม่ได้รู้จริงเรื่องการฆ่ากิเลส แต่กลับมาสอนคนอื่น ซึ่งสอนไปก็สอนผิดๆ ทำให้คนหลงมัวเมา ทำให้คำสอนของศาสนาเพี้ยน คนปฏิบัติตามก็บรรลุธรรมแบบเพี้ยนๆตามกันไป แถมการไปสอนคนผิด และยังมีความคิดที่จะล่าบริวารเพื่อลาภยศเหล่านั้น ยังนำมาซึ่งวิบากกรรมหนัก เพราะแทนที่คนผู้มีทุกข์เหล่านั้นจะได้ไปพบกับครูบาอาจารย์ที่ถูกที่ตรง กลับต้องมาเสียเวลา เสียทรัพย์ เสียสติให้กับคนที่หลงคิดว่าตัวเองหายป่วย

วิธีสังเกตคนที่หลงว่าตัวเองบรรลุธรรมก็ลองไล่ถามดูว่า ทำอย่างนี้ทำอย่างนั้นแล้วมันจะบรรลุธรรมอย่างไร มีขั้นตอนอย่างไร กิเลสลดอย่างไร ในคนที่มีธรรมไม่จริงก็มักจะพูดวนๆ พูดเป็นข้อธรรม พูดเป็นหลักกำกวม ตีความได้หลากหลาย พอไล่เข้าหนักๆ จนเริ่มจนมุม ก็จะเริ่มโกรธ หรือทำเป็นโกรธ เปลี่ยนประเด็น ไล่ให้ไปทำเอง ให้ไปปฏิบัติมาก่อน ส่วนใหญ่ก็เก่งเพราะฟังเขามาซึ่งตัวเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่า จริงๆแล้วทำอย่างไร พอรู้ไม่จริงก็เลยตอบไม่ได้ ส่วนคนที่ปฏิบัติได้จริงเขาก็จะพูดได้เป็นลำดับ ชัดเจน ไม่เขิน ไม่ประหม่า ไม่โกรธ แม้คนอื่นจะไม่เข้าใจ เพราะเข้าใจว่าก็เป็นเรื่องยากที่คนอื่นจะเข้าใจ แต่ก็ยินดีที่จะพูด โดยไม่ปิดบัง ซ่อนเร้น เชิญให้มาพิสูจน์ได้

5.คนป่วยที่สามารถปรุงยารักษาตัวเองได้

เป็นคนที่รู้จักทุกข์ รู้เหตุแห่งทุกข์ รู้ถึงการดับทุกข์ และรู้วิธีการปฏิบัติไปสู่การดับทุกข์นั้นๆ เป็นคนป่วยที่สามารถสร้างยารักษาอาการป่วยทางจิตใจของตัวเองได้ ทำลายทุกข์ที่เกิดในตัวเองได้ ทำลายเหตุแห่งทุกข์หรือกิเลสของตัวเองได้

ทั้งนี้ก็เกิดจากเขาได้พบกับหมอ หรือครูบาอาจารย์ผู้รู้จริงเรื่องการดับทุกข์ คนที่รู้จริงเท่านั้นที่จะสามารถสอนเรื่องการดับทุกข์ได้ ถ้าเราได้พบท่านเหล่านี้ ได้ฟังสัจธรรมจากท่าน จนเกิดศรัทธา จึงทำใจไว้ในใจโดยแยบคาย เกิดสติสัมปชัญญะ เกิดสำรวมตาหูจมูกลิ้นกายใจ ทำกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต จนเกิดสติปัฏฐาน เจริญขึ้นสู่โพชฌงค์ นำไปสู่วิชชาและวิมุตติในที่สุด

…การตรวจสอบว่าตนเองป่วยหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร

วิธีที่ง่ายที่สุดในการตรวจสอบว่าเราเองนั้นป่วย หรือหายป่วยหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร ก็คือการตั้งศีล การตั้งศีลจะทำให้เราเห็นกิเลสหรือเห็นเหตุแห่งทุกข์ชัดเจนขึ้น คนถือศีลเมื่อมีกิเลสขึ้นมาก็จะร้อนใจเปรียบเหมือนดังผีร้ายถูกด้ายสายสิญจน์ ยกตัวอย่างเช่น เราถือศีลข้อ๑ ไม่ฆ่าสัตว์ ยุงมากัด เราก็อยากจะตบ แต่ถือศีลจึงไม่ตบ หักห้ามใจไว้ แม้จะแค้นยุงโกรธยุง เจ็บปวดคันแค่ไหน จนสุดท้ายก็ถือศีลไปจนกระทั่งล้างความแค้นความอาฆาตยุงที่มากัด และเมตตายุงได้แม้ว่าจะถูกยุงรุมกัดอยู่ก็ตาม ศีลนี้เองคือตัวจับผี จับอาการป่วย จับกิเลส

ง่ายที่สุดก็ลองถือศีล ๕ แบบที่ชาวบ้านเข้าใจให้ได้ก่อน ถ้ารู้สึกว่าเราไม่ไปโกรธ ไม่โลก ไม่อยากเสพ ไม่อยากพูดโกหก ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดหยาบคาย ได้อย่างปกติสุข คือไม่ต้องคอยบังคับใจ ไม่ต้องกดข่ม ปล่อยตัวปล่อยใจได้ตามสบาย ถึงแม้จะปล่อยใจตามสบายก็ไม่ได้ผิดศีลแม้แต่น้อย ก็ลองขยับมาศีล ๘ ศีล๑๐ซึ่งจะทำให้สามารถเห็นอาการป่วย หรืออาการของกิเลสที่ซ่อนเร้นอยู่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

หรือจะลองปฏิบัติศีลอื่นๆดูก็ได้เช่น การกินมังสวิรัติ ก็จะทำให้เห็นทุกข์ที่อยากกินเนื้อชัดเจน หรือการกินจืด ก็จะเห็นทุกข์ที่อยากเสพรสอร่อยชัดเจน หรือลองกินมื้อเดียวดู ก็จะเห็นทุกข์ของผู้หิวโหยชัดเจนยิ่งขึ้น

ศีลที่พระพุทธเจ้าให้มาเหล่านี้ คือศีลที่พาปฏิบัติไปสู่การบรรลุธรรม ผู้มีศีลย่อมมีปัญญา ผู้มีปัญญาย่อมมีศีล คนใดไม่มีศีลก็ไม่มีปัญญา คนไม่มีปัญญาก็เลยไม่ถือศีล และพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า “ ศีลยอดเยี่ยมในโลก(สีลัง โลเก อนุตตรัง) ” คนผู้มีปัญญาย่อมศรัทธาในศีล ย่อมเคารพในศีล คนหมู่ใดถือเอาคนมีศีลเท่าเทียมกับคนไม่มีศีล ท่านให้พรากออกจากคนเหล่านั้น

เมื่อไม่ถือศีลก็ไม่รู้ว่าตัวเองไม่มีกิเลส ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย บางครั้งถึงกับหลงผิดว่าบรรลุธรรมจึงไม่ถือศีล ถ้าหากมีบุญ ไม่หลงผิดไปมาก ก็ลองถือศีลยากๆสักข้อ ก็จะได้เห็นกิเลสของตัวเองชัดเจน จะได้ไม่ประมาทในการใช้ชีวิต

เมื่อเราถือศีลแล้วทุกข์มาก ก็คือเรามีกิเลสมาก ป่วยมาก แต่ถ้าเราถือศีลแล้วเราทุกข์น้อย ก็ให้ขยับฐานศีลให้ยากขึ้นจนกว่าจะเจอทุกข์ สุดท้ายไม่ว่าจะถือศีลอย่างไรก็ไม่เจอทุกข์เลย นั่นแหละคือเราหายป่วยแล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

20.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์