Tag: กิเลส

ธนาคารอวิชชาใต้อุปาทาน

November 13, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 987 views 0

ธนาคารอวิชชาใต้อุปาทาน

ธนาคารน้ำใต้ดิน เป็นกระแสความรู้เกี่ยวกับการจัดการน้ำ ที่ค่อนข้างจะเป็นที่กล่าวถึง ในช่วงกลางปี พ.ศ.2562 มานี้ โดยเฉพาะการนำพาปฏิบัติของอาจารย์หมอเขียว ได้ทำให้จิตอาสาและผู้สนใจร่วมกันศึกษาเรียนรู้อย่างรวดเร็ว

ผมเห็นการทำธนาคารน้ำใต้ดินในระดับบุคคลแล้วก็นึกถึงการขุดค้นหาต้นตอของกิเลส การขุดรูลงไปโดยใช้แรงคนนั้นไม่ง่าย เป็นงานหนัก ยิ่งลึกก็ยิ่งขุดลำบาก ลงไปในหลุมแคบ ๆ อากาศไม่ถ่ายเท เต็มไปด้วยเศษฝุ่นเศษดิน แถมยังต้องยกดินที่ขุดออกขึ้นไปเทอีก เหมือนกับกิเลสที่ต้องขุดลงไปโดยลำดับ จากผิวตื้น ๆ กิเลสจะมีลำดับ มีชั้น มีความลึก มีมวลที่แตกต่างกัน ในการขุดจริงบางทีก็จะเจอก้อนหินใหญ่ ซึ่งทำให้งานยากลำบากขึ้น เช่นเดียวกับการขุดล้างกิเลส บางทีบางหลุมของอวิชชาก็ต้องเจองานหิน ต้องเจอกิเลสที่ทั้งหนา ทั้งใหญ่ ทั้งหนัก ซึ่งแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน แตกต่างกันไปตามวิบากกรรมหรือกิเลสที่ได้สั่งสมมา สั่งสมมามากก็ยาก สะสมมาน้อยก็ไม่ลำบากนัก

การทำธนาคารน้ำใต้ดินนั้น เป็นความมุ่งหมายที่จะทำจุดเติมน้ำลงไปถึงชั้นหินอุ้มน้ำและให้น้ำถ่ายเทไปยังพื้นที่รอบข้าง ไม่ท่วมขัง เช่นเดียวกับการล้างกิเลส ซึ่งจะต้องขุดผ่านชั้นของอุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ๆ ก็ตาม ที่หลงติดหลงยึดไว้ โดยมีความมุ่งหมายที่จะขุดลงไปถึงชั้นอวิชชา คือความโง่ ความหลงในสิ่งลวง ความไม่รู้ดี ไม่รู้ชั่วอย่างแท้จริง และนำพาธรรมะเติมเข้าไปให้ถึงชั้นของอวิชชา จากเดิมที่ธรรมะนั้นไหลลงมากระทบ เหมือนฝนตกที่เทลงมา แม้จะกระหน่ำ หนัก หนา นาน สักเพียงใด น้ำฝนเหล่านั้นก็ไม่ได้ไหลไปยังที่ที่ควรจะไป แต่ก็ไหลทิ้งไปตามทาง ไปสู่แม่น้ำลำคลอง ลงทะเลต่อไป เช่นเดียวกับการล้างกิเลส ถ้าเราไม่เริ่มขุดชั้นของอุปาทานให้เป็นบ่อ เป็นจุด เป็นที่กำหนดหมายว่าฉันจะล้าง จะชำระ จะทำลาย จะทำสิ่งนั้น ๆ ให้บริสุทธิ์ ก็คงจะไม่มีจุดให้ธรรมะที่ได้รับนั้นเข้ามากระทบ ก็เป็นเพียงแค่สายน้ำชุ่มเย็นที่ไหลหลั่งรดลงมา ให้พื้นดินชุ่มชื้น แล้วก็จางหายไปนั่นเอง

การเรียนรู้และคลี่คลายชั้นของอุปาทานโดยลำดับ จะทำให้ธรรมะในเรื่องนั้น ๆ มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ดังคำกล่าวของอาจารย์หมอเขียวที่ว่า “ปัญญาแห่งธรรม คือรางวัลของผู้บำเพ็ญ” เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ผลของการล้างกิเลสก็คือปัญญา คือการรู้แจ้งโทษชั่วของสิ่งนั้น นำมาซึ่งผลสืบเนื่องในอีกสองด้านคือ 1. นำปัญญานั้นไปชำระความโง่ของตนเอง (ทำลายอวิชชา) 2.นำปัญญานั้นไปช่วยเกื้อกูลผองชนให้พ้นจากทุกข์ ตามเหตุปัจจัยที่ตนได้เคยศึกษามา และต่อจากนั้นก็จะมีปัญญาที่เป็นผลตามมาอีก เหมือนน้ำที่ซึมผ่านชั้นหินอุ้มน้ำ แผ่ขยายไปรอบทิศทาง ทำให้ผืนดินชุ่มชื้น มีพลังชีวิต ต้นไม้เติบโตได้ดี เหล่าสัตว์มีกินมีใช้

ในมุมของการทำธนาคารน้ำใต้ดิน ก็มีหลักการและความรู้เช่นว่า จะต้องขุดลงตรงไหน ตรงไหนถึงจะเป็นจุดรวม เป็นจุดที่เก็บและกระจายน้ำได้ การล้างกิเลสก็เช่นกัน จะต้องมีจุดที่กำหนดไว้ มีเรื่องที่กำหนดไว้ มีศีลเป็นขอบเขตกำหนดว่าจะต้องปฏิบัติตรงไหน เท่าไหร่ แค่ไหน… ส่วนฝนที่จะตกลงมานั้น ก็จะเป็นไปตามฤดูกาล คือเป็นไปตามวิบากกรรม ซึ่งจะกำหนดไม่ได้ แต่การรับน้ำฝนคือธรรมะนั้น สามารถกำหนดได้ เข้าถึงได้ ประมาณได้ คือการเข้าหาสัตบุรุษ สาวกของพระพุทธเจ้า ผู้รู้ธรรม มีธรรมที่พาพ้นทุกข์ได้จริง ฟังธรรม นำมาปฏิบัติตาม และสร้างองค์ประกอบแวดล้อมที่ดีให้กับตนเองตามคำกล่าวของอาจารย์หมอเขียว คือ “คบและเคารพมิตรดี ไม่โทษใคร ใจไร้ทุกข์ ทำดีเรื่อยไป ใจเย็นข้ามชาติ” ก็จะเป็นการทำธนาคารธรรมะที่สำเร็จ ยั่งยืน มีกินมีใช้ มีทุกข์น้อย พบสุขมาก เป็นความผาสุกให้ชีวิตตนและผู้อื่นได้อาศัยต่อไป

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

13.8.2562

เกมลวงใคร?

August 17, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,496 views 1

เกมลวงใคร

เกมลวงใคร? : ความสนุก ความสุข ความน่าสนใจ ที่ถูกออกแบบมาให้ถูกต้องตรงใจตามกิเลส

คนเรานั้นเกิดมากับกองกิเลสเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และโลกที่หมุนวนไปด้วยกิเลสก็มักจะสร้างสิ่งที่ยั่วเย้ามอมเมาขึ้นมาเรื่อยๆ เช่น การเล่น การแสดง การท่องเที่ยว การแข่งขัน ฯลฯ และเกมคือสิ่งที่รวมทุกอย่างเข้าไว้ด้วยกัน

โดยธรรมชาติของกิเลส มันจะทำหน้าที่สร้างสิ่งที่จะดึงเราให้ลงต่ำ ดึงเราลงนรก ดึงลงอบายภูมิให้ลึกลงไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ทำให้เรารู้ตัว และให้เราเสียเวลา เสียเงิน เสียพลังงาน เสียสติปัญญาให้กับมันไปเรื่อยๆ

เกมในสมัยก่อน เราแค่นั่งเล่นอยู่หน้าจอ ปิดเครื่องก็จบกันไป แต่เกมสมัยนี้ดูดพลังของเรามากขึ้นไปอีก การนั่งเล่นหน้าจอเพียงแค่มอง คิดแล้วใช้มือกด ไม่ใช่สิ่งที่จะสาสมใจคนในยุคนี้อีกต่อไป เราต้องจ่ายมากขึ้น เพื่อเสพมากขึ้น นั่นคือเราต้องขยับ เดิน หรือทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งรางวัลที่เกมได้สร้างล่อกิเลสเราไว้

เกมแต่ละเกมนั้นถูกออกแบบมาเพื่อที่จะยั่วกิเลสของเราในทุกเหลี่ยมทุกมุม เพื่อที่จะให้ผู้เล่นเกิดความลุ่มหลงมัวเมาอยู่ในโลกลวงที่เขาสร้างขึ้นมา เกมในปัจจุบันนั้น ต้องจ่ายทรัพยากรเป็นอย่างมาก ทั้งเวลา เงิน สุขภาพ สติปัญญา สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ผู้เล่นต้องเสียไปเพื่อแลกกับการได้เสพสุขจากเกม ไปตามลำดับที่เขาออกแบบมาให้ โดยที่เขาจะสร้างสิ่งลวงในโลกของเกมมาแลกเช่น ไอเทมใหม่ๆ ฉากใหม่ๆ ระบบใหม่ๆ ศัตรูใหม่ๆ ฯลฯ เพื่อที่จะล่อให้คนหลงติดตามมาเรื่อยๆ

ผู้ออกแบบจะจับจุดว่าคนเรานั้นมีความต้องการในอะไร แล้วก็สร้างสิ่งนั้นขึ้นมา เพื่อให้คนหลงว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่มีคุณค่า เป็นสิ่งที่ควรได้ เรียกว่าล่อกิเลสในคนให้ออกมาแสวงหา เช่น สร้างโอกาสได้ความร่ำรวยลวงๆ สร้างโอกาสในการได้อำนาจบารมีลวงๆ สร้างโอกาสในการได้ความเก่งลวงๆ ฯลฯ

แล้วเขาก็ออกแบบได้เก่งจริงๆนะ ออกแบบเกมได้น่าเล่นน่าลอง หลายคนเห็นก็เข้าไปตะครุบเลย บางคนเห็นเพื่อนเข้าไปตะครุบก็เข้าไปตะครุบบ้าง บางคนไม่สนใจแต่ก็โดนพลังของคนที่หลงตะครุบชักชวนให้ไปตะครุบตาม บางคนติดสังคม ก็ต้องเกาะตามกระแสกับเขาแล้วเมาไปด้วยกัน

ทีนี้เมื่อคนเล่นได้เสพสมกิเลสก็จะเกิดความสนุก จนกระทั่งเต็มใจที่จะจ่ายเงิน สุขภาพ เวลา สติปัญญาให้กับเกม ถ้าเปรียบกับทาสนี่ก็ยังไม่ใช่ เพราะทาสต้องโดนบังคับหรือเฆี่ยนตีและต้องทำงานที่ไม่อยากทำ แต่เกมนี่สร้างคนให้ยิ่งกว่าทาสอีก คือให้คนยอมเล่น ให้ยินดียอมเสียทรัพยากรเพื่อแลกมาซึ่งสิ่งลวงๆ ให้รู้สึกว่ามีอิสระในการเสพแต่จริงๆ ก็ถูกโซ่แห่งความอยากคล้องไว้อยู่

สิ่งลวงๆ คืออะไร? สิ่งลวงเหล่านั้นก็คือสิ่งที่เกมได้สร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของคน เพราะเขารู้ว่าคนนั้นอยากได้อยากมี แม้จะเป็นสิ่งที่ไม่มีจริงก็ตามที เพื่อแลกกับความสุขเพียงชั่วครู่ ที่คนนั้นได้เสพ ได้มี ได้ครอบครองอยู่ แต่สุขนั้นตั้งอยู่ไม่นานก็หายไป แม้ได้เสพแบบเดิมก็จะไม่สุขเหมือนอย่างเดิม เหมือนอย่างที่เราเอาเกมเก่าๆ มาเล่น มันจะไม่สุขเหมือนครั้งแรกๆ ถึงจะสุขแต่มันก็จะจางหายไปอย่างรวดเร็ว สุขนั้นไม่สามารถตั้งอยู่ได้นาน สุดท้ายก็จะเกิดอาการเบื่อ ซึ่งเป็นการเบื่อหน่ายแบบโลกๆ ซึ่งเกิดจากการเสพสิ่งเดิมจนเบื่อ

เมื่อเล่นเกมจนเบื่อก็พบว่า เล่นไปสุดท้ายก็ไม่ได้อะไร ได้แต่ความสุขจากการเสพชั่วครั้งชั่วคราว ดีไม่ดีไม่สุขเลยก็ว่าได้ และได้ความรู้มาอีกนิดหน่อย คือเกมนั้นเป็นอย่างนั้น เกมนี้เป็นอย่างนี้ แต่ก็เป็นความรู้ที่ไม่ได้พาให้ตนพ้นจากทุกข์ เป็นความรู้ที่ไม่ใช่สาระสำคัญของชีวิต

ถึงแม้คนจะรู้ว่าเกมทุกเกมเล่นแล้วก็จบดับไป แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าตนเองหลงเข้าไปเล่น หลงเข้าไปพัวพันยึดติดมันจนเสียทรัพยากรมากมายนั้นเพราะเหตุใด ทำไมตนเองจึงต้องเข้าไปเสพสิ่งนั้น ทั้งที่รู้ว่าสุดท้ายมันก็ไม่ได้ให้คุณค่าหรือมีสาระแท้อะไรในชีวิตเลย

แต่ก็อาจจะมีหลายคนแย้งว่า ฉันเล่นเกมแล้วได้ประโยชน์นะ ได้ฝึกสมอง ได้ออกกำลังกาย ฯลฯ มันก็จริงตามที่เขากล่าวอ้าง ซึ่งนี่เองคือความร้ายของกิเลส เพราะมันจะเอาประโยชน์บางอย่างมาล่อ เอาข้อดีมากลบข้อเสีย เอาเหตุผลต่างๆนาๆ มาอ้างอิงว่าเสพแล้วดี ถึงจะมีโทษบ้างแต่ก็มีประโยชน์อยู่มาก เหล่านี้คือลักษณะทั่วไปของกิเลสที่จะหลอกให้คนหลง คือเอาประโยชน์ลวงมาเคลือบโทษจริงไว้

ถ้าเราเอาข้อดีข้อเสียมาเปรียบเทียบกับกิจกรรมอื่น จะรู้เลยว่าประโยชน์ที่ได้นั้นน้อย ประโยชน์ที่เสียไปมีเยอะและโทษที่ได้ก็มีมากมาย เพียงแต่เราอยากเล่นเกม เราก็เลยหาข้อดีของมันมาเพื่อให้ได้เล่นเท่านั้น ซึ่งเรื่องข้อดีข้อเสียนี่ถ้าเอาไปเถียงกันก็ไม่จบ คนหลงเขาก็จะมองแต่ข้อดี ไม่มองข้อเสีย คนไม่หลงเขาก็เห็นข้อดีข้อเสียชัดเจน จึงเป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องนำไปพิจารณากันเอง

ส่วนคนที่ไม่ติดนั้นก็ดีแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไปแขวะคนที่เขาติดได้ เพราะกิเลสมันก็มีหลายเหลี่ยมหลายมุม เขาอาจจะติดเกมของเขา แต่เขาไม่ได้ติดเหล้า บุหรี่ พนัน หวย หุ้น กิน เกียรติ กาม ก็มีเหมือนกัน คนที่ไม่ติดเกมแต่ยังติดอบายมุขอื่นๆ มันก็เมาพอๆ กับติดเกมนั่นแหละ แต่มันเลือกเมากันคนละอย่าง ดังนั้นไม่ต้องไปยุ่งกันมาก มุ่งล้างความหลงติดหลงยึดของตัวเองให้ได้ก็พอ พระพุทธเจ้าตรัสว่าให้หมั่นทำนาของตน อย่าไปทำนาของคนอื่น

เราควรจะมองคนด้วยความเมตตาว่า เขาหลงติดหลงยึดเขาก็เป็นทุกข์นะ เขาต้องแสวงหามาเสพ หามาครอบครอง นี่มันทุกข์แต่เขาไม่รู้ เราบอกดีๆ ได้ก็บอกเขา ถ้าบอกแล้วจะโกรธกันก็ปล่อยวางไปก่อน แต่ไม่ใช่เอาอัตตาไปอัดเขาหรือไปข่มเขา ทำเหมือนได้ทีขี่แพะไล่ เห็นเขาหลงผิดก็รีบซ้ำเติมเขาเลย อันนี้มันจะเป็นคนพาลไปเสียเปล่าๆ

….

ลักษณะเด่นของเกมส่วนใหญ่นั้นคือการแข่งขัน การหาทางเอาชนะภารกิจต่างๆ ซึ่งในชีวิตจริง โลกก็มอมเมาให้เราวนอยู่แต่กับการแข่งขันอยู่แล้ว แต่คนก็ยังไม่สะใจ ไม่สาสมใจ ไม่ถูกใจ ต้องแสวงหาการแข่งขันอย่างอื่นมาเสพ ให้ชนะ ให้ได้ ให้มี ให้ดี ให้เลิศกว่าเขา ทั้งที่จริงเกมก็ไม่ใช่ชีวิตจริง แต่เรากลับไปจริงจังกับมัน ไปให้เวลาและทรัพยากรต่างๆ แก่มัน เป็นเหมือนโลกอีกโลกหนึ่ง ที่ซ้อนอยู่กับโลกนี้ เป็นกิเลสที่ลวงซ้อนกิเลสไปอีกทีหนึ่ง ซึ่งนี่ก็คือหนทางแห่งความมัวเมาที่หนักหนาที่สุดทางหนึ่ง

ใครที่หลงเข้าไปแตะไปเสพแล้ว ก็เรียนรู้โทษของมันแล้วก็ค่อยๆ ถอยออกมา อย่าให้ถึงขั้นหมกมุ่นมัวเมา เสียเวลา เสียงาน เสียเงิน เสียสุขภาพ เสียชีวิตกันไป

สรุปแล้วเกมนั้นก็ลวงตั้งแต่คนออกแบบเกม ให้หลงว่าการทำเกม การหาเลี้ยงชีพด้วยการทำสิ่งที่พาให้คนหลงมัวเมานั้นเป็นสิ่งดี ก็เลยออกแบบเกมที่น่าเล่น น่าสนใจ น่าสนุกมาลวงคนอีกทีหนึ่ง แล้วคนเล่นก็ลวงตัวเอง ลวงกันเอง พากันมัวเมาไปอีกต่อหนึ่ง ซึ่งเวลาที่เกิดปัญหาจากเกมขึ้นมา ในสังคมก็จะมีการโทษกันไปโทษกันมา คนเล่นผิดบ้าง เกมผิดบ้าง แต่ตัวการจริงๆ กลับลอยนวลพ้นข้อกล่าวหาเสมอ ตัวการที่ว่านั้นคือ…กิเลส

17.8.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ทำไมจึงนอกใจ

July 28, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,997 views 1

ทำไมจึงนอกใจ

ได้อ่านกระทู้ที่เข้ามาเสนอความคิดกันในเรื่องที่ว่า ทำไมถึงนอกใจ? ทำไมถึงมีคนอื่น? ผมอ่านแล้วก็คิดว่าน่าจะแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ไว้หน่อย เพราะน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่ยังไม่ชัดเจนว่าแท้จริงนั้นปัญหาเกิดจากอะไร

เมื่อความเป็นครอบครัวสั่นคลอน

ไม่ว่าคู่ครองจะเลวร้ายอย่างไร ก็ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะไปมีคนใหม่ เพราะความจริงนั้นเราสามารถทำให้ถูกต้องได้ คือพูดคุยทำความเข้าใจ ว่ากำลังเกิดปัญหาอะไรขึ้น แล้วหาวิธีที่จะร่วมกันแก้ปัญหา นี้คือสภาพที่ใจยังเป็นครอบครัวอยู่ ยังไม่เอาอัตตาเป็นใหญ่ แต่เอาครอบครัวเป็นใหญ่ ถ้าไม่ยินดีจะปรับปรุงทั้งคู่ จะเลิกรากันด้วยความเข้าใจก็ทำได้ แต่ถ้าจะไปหักอีกคนหนึ่งเพื่อเอาตัวรอดนั้น ก็เป็นการก่อเวรโดยไม่สมควร การเลิกกันนั้นควรเป็นความสมัครใจและไม่สร้างความแค้นเคืองใจแก่กันและกัน จากนั้นจะไปมีคนใหม่หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เราไม่สมควรทำตัวเหมือนเด็กที่ทิ้งของเล่นชิ้นเก่าแล้วไปสนุกกับชิ้นใหม่เพราะเบื่อได้ เพราะคนนั้นต่างจากวัตถุ มีชีวิตจิตใจ ที่สำคัญคือมีการจองเวรจองกรรม หากเราทำร้ายจิตใจเขา เขาก็มีสิทธิที่จะโกรธแค้นอาฆาตเราได้ บางครั้งทำร้ายกันแค่ในชาตินี้ชาติเดียว แต่เขาก็ถึงกับสาปแช่งจะจองเวรจองกรรมกันไปทุกชาติก็มี

ในตอนแต่งงานเราก็ต้องเตรียมตัวยอมรับความเปลี่ยนแปลงในชีวิตหลังแต่งงานอยู่แล้ว แต่ในความจริงน้อยคนนักที่จะยอมรับชีวิตแต่งงานได้ นั่นเพราะไม่รู้จริงว่ามันเป็นทุกข์อย่างไร แต่ก็มีหลายคู่ที่ยอมทนทุกข์เพื่อที่จะได้เสพสุขบางอย่าง คนทนได้ก็ทนไป แต่คนที่ทนไม่ได้ก็มักจะเกิดปัญหา

การครองคู่นั้น จะต้องร่วมกันแก้ปัญหา ไม่ใช่เกิดปัญหาหนึ่งขึ้นมาแล้วก็สร้างอีกปัญหาหนึ่ง การมัวแต่โทษอีกฝ่ายนั้นไม่เกิดผลดีอะไร เพราะเมื่อเป็นครอบครัวแล้ว จะต้องแก้ปัญหาแบบครอบครัว ไม่ใช่แก้แบบฉันแก้ เธอแก้ แยกเป็นส่วนตน ไปตามอัตตาของแต่ละคน แน่นอนว่าส่วนตนก็ต้องแก้ แต่ต้องเอาความผาสุก ความสามัคคีของครอบครัวเป็นที่ตั้งด้วย บางครั้งการแก้ปัญหาอาจจะไม่ตรงจุดเสียทีเดียว แต่ก็ต้องยอมอะลุ่มอล่วยกันไปบ้าง ทั้งนี้ทิศทางที่ปัญหาจะคลายลงไปได้คือการแก้ไปสู่การลดความโลภ โกรธ หลง ทั้งหลาย ถ้าทำตรงข้ามจะเป็นการพอกพูนปัญหา

สาเหตุของการนอกใจ

การที่คนเรานอกใจคู่ครองไปหาคนอื่นนั้น ไม่มีสาเหตุอะไรนอกจากความใคร่อยากของตัวเองที่มากไปกว่าระดับของศีลธรรมที่ตนมี เพราะถ้าคนมีศีลธรรมสูง ถึงจะเจอปัญหาก็จะไม่ออกจากกรอบศีลธรรมนั้นๆ ของตน แต่ที่ออกจากกรอบศีลธรรม นั่นเพราะไม่เคยมีกรอบศีลธรรมนั้นจริงนั่นเอง

ศีล ๕ นั้นคือข้อปฏิบัติพื้นฐานสู่ความมั่นคงในการเป็นมนุษย์ แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะมีศีล ๕ อย่างตั้งมั่น แบบที่เห็นว่ามี วันหนึ่งอาจจะไม่มีก็ได้ เพราะจริงๆ แล้วมันเป็นไปตามสภาพการพัฒนาของจิตวิญญาณ คนจะเจริญได้มันต้องจากต่ำมาสูง ไม่มีใครสูงตั้งแต่แรก ดังนั้นคนโดยมากจิตจึงแกว่งอยู่ระหว่างภพของมนุษย์ กับเปรต อสูร เดรัจฉาน ฯลฯ ไปจนกว่าจะเต็มรอบ จึงจะเป็นมนุษย์ที่มีศีล ๕ บริบูรณ์ได้นั่นเอง

เมื่อคนเรามีพื้นฐานศีลธรรมไม่เท่ากัน นั่นหมายถึงการแก้ปัญหาของคนที่ต่างกัน ถ้าคนมีศีลธรรมสูง เขาจะแก้เฉพาะปัญหาที่เกิด จะไม่สร้างปัญหาใหม่ ที่นอกกรอบศีลธรรมนั้นๆ แต่ถ้าคนไม่มีศีลธรรม เขาก็จะแก้ปัญหาโดยไม่มีกรอบ เอาความพอใจของตัวเองเป็นหลัก ซึ่งอาจจะนำมาสู่ปัญหาใหม่

การนอกใจนั้นไม่ใช่เรื่องของกรรมบันดาล แต่เป็นเรื่องของเจตนาที่คนคนหนึ่งตั้งใจทำด้วยเหตุอันมี ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นมูลเหตุ

เมื่อคนเรามีกิเลสมาก และมีกรอบศีลธรรมต่ำ จึงมีแนวโน้มที่จะนอกใจได้ง่าย เมื่อเขามีราคะมาก เขาจึงมีความใคร่อยากในการเสพกามที่มาก เมื่อกรอบศีลธรรมต่ำ เขาจะไม่สนใจสิ่งใด ขอแค่ให้ตนได้เสพก็พอ, เมื่อเขามีโลภะมาก เขาจะไม่พอใจในการได้ครอบครองคู่เพียงแค่คนเดียว เขาจะอยากได้อยากเสพมากขึ้นไปอีก ให้มีสำรองไว้บำเรอเขามากๆ, เมื่อเขามีโทสะมาก เขาจะไม่มีสติที่จะรับรู้ความจริงตามความเป็นจริง ทุกคนจะผิดยกเว้นเขา คนนั้นก็ไม่ดี คนนี้ก็ไม่ดีดั่งใจเขา เขาก็จะใช้ความผิดของคนอื่นตามที่เขาเข้าใจนี่แหละ เป็นเหตุผล เป็นน้ำหนัก เป็นความเห็นอกเห็นใจที่เขาจะนอกใจได้อย่างชอบธรรมตามที่เขาคิด ทั้งหมดนั้นคือความหลงของเขา(โมหะ) เพราะเขาหลงว่าการนอกใจเป็นสิ่งที่ดี หลงว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ หลงว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เขาพ้นทุกข์ได้ เขาจึงยินดีนอกใจ แม้ว่ามันจะสร้างปัญหาอีกมากมายก็ตามที

คนกิเลสมากก็มักจะมีศีลธรรมต่ำเป็นธรรมดา เขาจะไม่มีปัญญารู้ถึงโทษของสิ่งที่กระทำลงไป เรียกว่าเห็นกงจักรเป็นดอกบัว หลายคนมักจะเห็นว่าการนอกใจของตนเองนั้นเป็นสิ่งที่ดี เป็นคำตอบของชีวิต เป็นสิ่งที่สมควรเลือก ไม่อย่างนั้นเขาคงไม่นอกใจ ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็นความเห็นที่สร้างแต่ความฉิบหายให้ชีวิต นี่คือสภาพของคนที่หลง

จริงๆ ตอนแต่งงานนั่นแหละ คือตอนที่คนคิดจะหยุดแล้ว พร้อมแล้ว พอใจแล้วกับคนที่จะแต่งงานด้วย ถ้าไม่โดนคลุมถุงชนหรือท้องก่อนแต่งโดยมากก็จะเป็นเช่นนั้น แต่เขาคิดแต่ตอนนั้น เขาไม่รู้จักกิเลสตัวเอง เขาไม่รู้ว่ามันไม่รู้จักพอ กิเลสมันอยากได้อยากเสพไม่มีหยุด มันก็เลยนอกใจในท้ายที่สุด พร้อมด้วยเหตุผลต่างๆ นานา ว่าการนอกใจที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นจากปัญหาของครอบครัวหรือสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ความจริงปัญหามันอยู่ที่ตัวศีลธรรมของผู้ที่นอกใจเอง

ตอนที่เราเลือกใครสักคนมาเป็นคู่ ตกลงกัน แต่งงานกัน หลายคู่ก็จะมีคำมั่นสัญญา ที่ดูซาบซึ้ง อบอุ่น มั่นคง จริงใจ เป็นแบบนี้กันทั้งนั้น ซึ่งตอนนั้นเขาก็มักจะคิดอย่างนั้นจริงๆ จะอยู่คู่กันไปจนแก่เฒ่า เขาก็คิดแบบนั้นกันจริงๆ ทีนี้วันหนึ่งเขาก็ผิดสัจจะของตัวเอง นี่ไปผิดศีลข้อ ๔ อีก การนอกใจคู่นี่พาให้ผิดศีลทุกข้อนั่นแหละ เรียกว่าลากลงนรกกันไปเลย

ถ้ามันผิดคำสัญญาแล้วไปทางเจริญกว่า เช่น จะไปบวชไม่สึก ไปแสวงหาความผาสุกที่ยิ่งกว่า นี่มันก็ไปทางธรรมะ แต่ถ้าผิดคำสัญญาแล้วไปทางเสื่อม เช่นไปนอกใจ มีกิ๊ก มีชู้ มีเมียน้อย นี่มันไปทางอธรรม โลกนี้ไม่เที่ยงอยู่แล้ว ดังนั้นอย่าไปยึดสัญญาว่าเที่ยง อย่าไปหวังว่ามันจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป ดังนั้นถ้าเขาผิดสัญญาแล้วไปทางธรรมะมันก็น่าอนุโมทนา แต่ถ้าเขาผิดสัญญาแล้วไปทางอธรรมก็ควรจะเมตตาเขา เพราะคนที่เห็นการผิดศีลเป็นสิ่งดีนี่เขาก็สร้างทุกข์ให้ตนเองมากพออยู่แล้ว เราจะไปเหยียบย่ำซ้ำเติมให้เขาลงนรกลึกลงไปอีกทำไม

รู้อย่างนี้แล้วคนที่คิดจะนอกใจก็อย่าไปพยายามหาเหตุผลให้มันมากมาย ถึงมันจะมีเหตุผลที่ดูดีแค่ไหน แต่กรรมจากการนอกใจคู่ครองนั้นให้ผลเจ็บแสบกว่าที่คิดแน่นอน เพราะการผิดศีลในระดับต่ำกว่าศีล ๕ ก็เหยียบภพที่ต่ำกว่ามนุษย์ทั้งนั้น ส่วนคนที่ทำไปแล้วก็ควรสังวร ยอมรับบาปที่ได้ทำลงไป ยอมรับว่ากิเลสเรานี่มันร้าย อย่าไปโทษคนอื่น เรียกว่ายอมรับผิด แล้วแก้ไขจิตที่บิดเบี้ยวให้มันถูกตรง จะมีโอกาสเจริญได้ในวันใดวันหนึ่ง

แต่โดยสามัญของกิเลสแล้ว เมื่อมีกามมาก ก็จะมีอัตตามากเป็นเงาตามตัว ผู้ที่ผิดศีลผิดธรรมนอกใจคู่ครอง ก็ใช่ว่าจะยอมรับกันได้ง่ายๆ เพราะอัตตานั้นเอง คือตัวที่จะขวางกั้นไม่ให้เข้าใจความจริงตามความเป็นจริง คนมีอัตตาจัด จะสำคัญตนผิด จะเอาตนเป็นหลัก โลกจะหมุนรอบตน ทุกคนต้องบำเรอตน ตนไม่มีวันผิด ถึงตนผิดก็ผิดน้อยกว่าผู้อื่น เมื่อผู้มีอัตตาจัดทำผิด ความจริงจึงถูกบิดเบี้ยว ไปโทษคนนั้นที คนนี้ที จึงเป็นความเสื่อมที่ต่อเนื่องของผู้ที่ผิดศีลนั่นเอง

ล้างใจจากคนนอกใจ

ทีนี้หลายคนที่ถูกคู่ครองนอกใจก็มักจะเป็นทุกข์ โกรธ ผูกโกรธ อาฆาต จองเวรจองกรรม บางคนก็สาปแช่ง ว่าให้เขาเจอแบบที่เราเจอ เขาถึงจะได้รู้สึกว่ามันชั่ว มันทุกข์ มันทรมานแค่ไหน … ก็นี่ไง เรากำลังเจออยู่นี่ไง การที่เราถูกเขานอกใจนี่แหละคือผลกรรมที่เราเคยหลงทำมา ชาติใดชาติหนึ่งเราก็หลงมาเหมือนเขานั่นแหละ เราก็เลยต้องมารับผลกรรมที่เราทำมาในชาตินี้

ดังนั้นจะไปโกรธคนที่นอกใจมันก็ไม่ถูก เพราะสิ่งนั้นเราทำมาเอง เป็นผลจากเหตุของเราเอง แล้วเราจะไปโกรธแค้นชิงชังรังเกียจเขาทำไม ในเมื่อเราก็เคยทำสิ่งนั้นมาก่อน จริงๆ แล้วเราควรจะเมตตาเขาด้วยซ้ำ นี่เขาหลงอยู่นะ เขาเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เขาไม่รู้ดีรู้ชั่ว เรื่องศีลธรรมนี่มันก็พอจะบอกกันได้ แต่จะให้เข้าใจลึกซึ้งถึงโทษภัยของการไม่มีศีลธรรมนี่มันต้องเรียนผิดเรียนถูกกันอีกหลายชาติ สรุปคือเราไม่ควรจะไปจองเวรจองกรรมเขาอีก ผลกรรมใดที่เรารับแล้วก็จบไป ไม่ต้องไปต่อความยาวสาวความยืด แล้วก็ทำความเข้าใจและเมตตาเขา คนมีกิเลสก็แบบนี้ คนหลงก็แบบนี้ คนไม่มีศีลธรรมก็แบบนี้ ก็เรานี่แหละที่หลงเลือกเขามาเป็นคู่เอง สุดท้ายปัญญาเราก็เท่านี้ จะไปหวังให้เขาดีอะไรกันมากมาย เขาก็ดีได้เท่าที่เขาจะดีนั่นแหละ

ส่วนคนที่เขานอกใจ เขาก็ต้องเรียนรู้จากการรับผลกรรมจากการกระทำนั้นอีกหลายชาติ จนกว่าเขาจะรู้ซึ้งว่าการนอกใจนี่มันชั่วนะ มันไม่ดีนะ มันไม่มีประโยชน์ มันทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่นนะ พอเขามีปัญญาเต็มรอบ เขาก็จะเลิกทำเอง พอเขาเลิกทำชั่ว ทีนี้มันก็จะเหลือแต่รับผลกรรมชั่วที่เขาเคยทำมาเท่านั้น นั่นคือ ชาติใดชาติหนึ่งในอนาคต แม้เขาจะเป็นคนดีมีศีลธรรม เขาก็จะเจอกับคนที่มาทำผิดศีลต่อเขา มานอกใจเขา เหมือนอย่างที่เราต้องมารับผลกรรมในวันนี้

นั่นหมายถึงว่าไม่ว่าเราจะทำดีแสนดี เป็นคนดี มีศีลธรรมแค่ไหน เราก็จะต้องเจอกับผลกรรมที่เราทำไว้อย่างไม่ขาดไม่เกิน แล้วเราจะทำอย่างไรในเมื่อเราไม่อยากเป็นทุกข์? เราก็ต้องล้างกิเลสในส่วนของเรา ส่วนที่เราจะไปผิดศีลนั้นเราอาจจะไม่ทำแล้ว แต่ถ้าคนอื่นมาทำผิดศีลกับเราแล้วเรายังชั่วอยู่ไหม? ชั่วในส่วนนี้คือ เรายังไปหลงชิงชังรังเกียจ เคียดแค้น อาฆาต พยาบาท จองเวรจองกรรมกับเขาอยู่หรือไม่ เรายังมีความหลงไม่เข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรมอยู่หรือไม่ นี่คือส่วนของความชั่วที่เราจะต้องชำระล้างบาปในตัวเรา

บาป หรือกิเลสของเขา เขาก็ต้องล้างของเขา เราบอกได้ก็บอก ช่วยได้ก็ช่วย ช่วยไม่ได้ก็ปล่อยวาง แต่บาปของเรา เราก็ต้องล้างเอง จะรอให้รับผลกรรมชั่วหมดแล้วมีแต่คนดีรอบตัวนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะโลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ นั่นหมายความว่าไม่มีวันที่จะมีอะไรสมบูรณ์แบบอย่างที่ใจเราคิด ดังนั้นถ้าเราหมั่นล้างความยึดมั่นถือมั่นในความสมบูรณ์แบบ ล้างความยึดดีถือดี พร้อมกับวางใจ ให้อภัยกับความผิดพลาดของผู้อื่น เราก็จะได้พบกับความผาสุกที่มั่นคงและยั่งยืนในวันใดก็วันหนึ่ง

27.7.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

โอวาทปาฏิโมกข์ : ไม่ทำบาปทั้งปวง มุ่งทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส

February 22, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,437 views 0

โอวาทปาฏิโมกข์

โอวาทปาฏิโมกข์ : ไม่ทำบาปทั้งปวง มุ่งทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส

เนื่องในโอกาสวันมาฆบูชา จึงขอหยิบยกหลักธรรม ๓ ข้อ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เมื่อสองพันหกร้อยกว่าปีก่อน เป็นหลักธรรมที่แสดงให้เห็นถึงหลักการปฏิบัติธรรมของศาสนาพุทธ จะนำมาขยายกันในบทความนี้

หลายคนอาจจะเคยได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับหลักธรรม ๓ ข้อนี้มาไม่มากก็น้อย ซึ่งในบทความนี้ก็จะขยายกันตามที่ได้ศึกษามา อาจจะแตกต่างหรือคล้ายคลึงกับที่ท่านได้ยินได้ฟังมาก็ได้ ซึ่งก็ขอให้ลองพิจารณากันดู

ไม่ทำบาปทั้งปวง

การไม่ทำบาปของพุทธ คือการไม่ทำบาปในทุกๆกรณี ไม่มีช่องว่างใดๆ ไว้ให้ทำบาปเลย ไม่มีชั่วและดีผสมกันในเนื้อแท้ของพุทธ บาปนั้นคืออะไร? บาปนั้นก็คือ “กิเลส” ซึ่งตรงข้ามกับ “บุญ” หรือการชำระกิเลส ถ้าบุญคือการทำให้กิเลสลดลง บาปนั้นก็คือการทำให้กิเลสเพิ่มขึ้น การสนองความอยากก็ตาม การสะสมความยึดมั่นถือมั่น หรือ โลภ โกรธ หลง ก็เป็นบาปทั้งนั้น ข้อนี้เป็นธรรมที่เป็นเป้าหมายที่ควรเข้าถึงเป้าหมายหนึ่ง ซึ่งไม่ได้หมายความจะทำได้ทันที เพราะในภาคปฏิบัตินั้นจะต้องศึกษาให้รู้จัก “โทษของบาป” และยับยั้งการทำสิ่งที่เป็นบาปเหล่านั้น ผู้ที่ไม่ทำบาป ไม่ทำสิ่งที่กิเลสบงการ หากว่าพอใจเพียงแค่ธรรมข้อนี้ ก็ถือว่าเป็นผู้เจริญในระดับหนึ่ง โดยภาพรวมก็จะเหมือนฤๅษีที่ไม่ทำบาป สงบนิ่ง สันโดษ พอเพียง ฯลฯ

มุ่งทำแต่ความดี

ศาสนาพุทธนั้นไม่เคยมองข้ามการทำความดี ท่านให้ตั้งมั่นอยู่ในความดี ไม่หยุดทำดี ไม่ประมาทในความดีแม้น้อย สิ่งใดที่เป็นสิ่งดี หรือพิจารณาแล้วว่าดีมากกว่าเสีย เป็นกุศลมากกว่าอกุศล ก็จะยินดีทำ ไม่นิ่งเฉย ไม่ดูดาย ไม่หลีกหนีหน้าที่ เอาภาระ ไม่หนีโลก ไม่หนีสังคม เพราะการเกื้อกูลสังคมและโลกนั้นคือสิ่งดีที่ควรทำ ผู้ที่ทำแต่ความดีนั้น หากว่าพอใจเพียงแค่ธรรมข้อนี้ ก็ถือว่าเป็นผู้เจริญในระดับหนึ่ง โดยภาพรวมก็จะเหมือนคนดีหลายๆ คนที่โลกนั้นยกย่อง พวกเขามุ่งทำดี อดทน เสียสละได้กระทั่งชีวิต ทำดีตามที่โลกสรรเสริญและความเข้าใจตามภูมิปัญญาของท่านนั้นๆ

ทำจิตใจให้ผ่องใส

หลักธรรมข้อนี้เป็นข้อที่พิเศษ จะตีความเชิงโลกียะก็ได้แบบหนึ่ง ตีความเชิงโลกุตระก็ได้อีกแบบหนึ่ง ซึ่งจะขยายในมุมของโลกียะให้ทำความเข้าใจกันก่อน

การทำจิตใจให้ผ่องใสตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไปนั้น คือการทำจิตใจให้สงบจากสภาวะที่ขุ่นมัวจากกิเลสที่เกิดขึ้น เช่นโกรธก็ไประงับโกรธ ด้วยวิธีใดๆ ก็ตามที่แต่ละคนได้ศึกษามา ก็จะสามารถเปลี่ยนจิตใจที่ขุ่นมัวเป็นจิตใจที่ผ่องใสได้ อันนี้เป็นความรู้ทั่วไป ปฏิบัติกันโดยทั่วไป เข้าใจกันโดยทั่วไป เป็นสามัญของโลก

ในส่วนของโลกุตระนั้นเป็นเนื้อแท้ของศาสนาพุทธ ไม่มีศาสนาใดเหมือน ตามที่ได้ยกมุมของโลกียะไว้ข้างต้นนั้น ไม่ว่าศาสนาใดก็สามารถทำให้ให้ใจสงบแล้วกลับมาผ่องใสเช่นนั้นได้ด้วยวิธีเชิงสมถะ ซึ่งการทำจิตใจให้ผ่องใสอย่างพุทธที่แท้จริงนั้น คือการล้วงลึกเข้าไปถึงเหตุที่ทำให้จิตนั้นไม่ผ่องใส เช่น ถ้าเกิดความโกรธ ก็จะรู้ไปถึงเหตุแห่งความโกรธนั้น ว่าไปหลงผิดคิดเห็นอย่างไรจึงทำให้ความโกรธนั้นเกิดขึ้น และดับเหตุนั้นรวมถึงสามารถที่จะดับความโกรธได้ด้วยเช่นกัน การดับเหตุนั้นคืออะไร คือการเข้าไปดับภพของกิเลสนั้นๆ ที่เกิดขึ้นในจิตใจด้วยปัญญารู้แจ้งโทษชั่วของกิเลสนั้นๆ จนภพ ๓ (กามภพ รูปภพ อรูปภพ) นั้นดับ จึงไม่ยึดมั่นถือมั่นและคลายตัณหาในที่สุด เพราะไม่ได้ยึดว่าสิ่งนั้นเป็นฉัน เป็นของฉัน เป็นสิ่งที่ฉันควรได้ จึงปรากฏเป็นสภาพจิตใจที่ผ่องใสจากกิเลส โดยไม่ต้องไปกำหนดเป็นครั้งคราวตอนที่จิตใจนั้นขุ่นมัวเหมือนวิธีโลกียะ ถ้าทำเรื่องใดได้ก็จะผ่องใสอย่างถาวรในเรื่องนั้น ไม่เวียนกลับมาขุ่นมัวอีก นี่คือวิธีการทำจิตใจให้ผ่องใสในเชิงโลกุตระซึ่งเป็นแก่นแท้ของพุทธเป็นความหมายที่แท้จริงของการทำจิตใจให้ผ่องใส

….เมื่อยึดเอาหลักธรรม ๓ ข้อนี้มาปฏิบัติ ชาวพุทธก็จะอดทนอดกลั้น ไม่ทำบาปได้ง่ายนัก จนถึงขั้นไม่ทำบาปเลย และหมั่นทำความดี มุ่งสร้างแต่กุศลกรรม ไม่ประมาทในกุศลกรรมแม้สิ่งนั้นจะดูน้อยนิด ถ้าหากว่ามีโอกาสทำได้ก็จะทำ ซึ่งจะใช้กุศลกรรมนี้นี่เองเป็นสิ่งที่มาหล่อเลี้ยงชีวิต สุดท้ายคือการทำจิตใจให้ผ่องใสจากกิเลส นอกจากจะไม่ทำบาปแล้ว ยังกำจัดบาปนั้นให้หมดสิ้นไปได้ด้วย เป็นผู้ที่แก้ไขปัญหาของจิตใจได้อย่างบริสุทธิ์สมบูรณ์ เปรียบดังภาชนะที่เป็นแตกรั่วเป็นรูเป็นช่องมียาพิษคือกิเลสไหลทะลักแสดงตัวตนออกมา นอกจากจะคอยอุดรอยรั่วแล้วยังสามารถนำยาพิษคือกิเลสนั้นออกได้อีกด้วย คือทำให้ไม่มีตัวตนของกิเลสในจิตใจ พอไม่มีกิเลส ไม่มียาพิษ ก็ไม่ต้องมาคอยอุด เพราะไม่มีอะไรที่มันจะรั่วหรือทะลักออกมา

การปฏิบัติธรรมนั้นจะต้องมีเบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย ควรรู้ฐานะของตัวเอง ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมจึงจะเจริญ หมายถึงเลือกปฏิบัติให้เหมาะสมกับกำลังของตัวเอง โดยใช้ศีลมาเป็นเครื่องขัดเกลาตน ตั้งแต่ ศีล ๕ , ๘, ๑๐, ไปจนถึงจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ปฏิบัติไปโดยลำดับ มีขั้นตอน มีความเจริญไปโดยลำดับ หยุดบาปได้โดยลำดับ ทำดีมากขึ้นได้โดยลำดับ และทำจิตใจให้ผ่องใสได้โดยลำดับ การปฏิบัติธรรมะของศาสนาพุทธย่อมมีลำดับเช่นนี้ ลาดลุ่มเหมือนฝั่งทะเล ไม่ชันเหมือนเหว ไม่ใช่เพื่อบรรลุธรรมในทันที แต่เป็นไปเพื่อให้ศึกษาจนรู้จักโทษชั่วของกิเลสอย่างแจ่มแจ้งโดยลำดับ( พระไตรปิฎก เล่ม ๒๓ ปหาราทสูตร ข้อ ๑๐๙)

– – – – – – – – – – – – – – –

21.2.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)