ปลาข้างทาง
ปลาข้างทาง
เช้าเมื่อวานฝนตกลงมาอย่างหนัก และค่อย ๆ ซาไปในตอนสาย ระหว่างที่ผมกำลังเดินออกจากบ้านเพื่อที่จะไปขึ้นรถประจำทาง ก็พบกับปลาตัวหนึ่งนอนอยู่ข้างทาง
ปลาตัวนี้ตัวไม่ใหญ่นัก ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ปลาจะมาอยู่บนถนนหลังฝนตก เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เจอได้บ่อย ๆ ปลาจะมาตามท่อที่น้ำล้นและติดอยู่บนถนนเมื่อน้ำลด
ผมยืนดูปลาตัวนี้สักพัก ก็คิดว่าจะเอาอย่างไรกับมันดี มันก็อยู่ข้างทาง รถก็วิ่งผ่านมาใกล้ ๆ เห็นท่าจะรอดยาก ไม่ตายเพราะรถก็ตายเพราะมด แล้วก็นึกขึ้นได้ว่าพกถุงพลาสติกไว้ใส่ของกันฝน ก็เลยเอาปลาใส่ถุงแบบรวมน้ำ ซึ่งตอนแรกก็คิดว่าจะเอาไปปล่อยที่บึงสาธารณะใกล้บ้าน แต่พอคิดไปคิดมาก็นึกขึ้นได้ว่า เหมือนบึงเขาจะไม่ให้ปล่อยสัตว์น้ำ สุดท้ายก็เลยปล่อยปลาลงท่อไป
จากเหตุการณ์นี้ก็นึกขึ้นได้ว่า หากจะปล่อยปลาให้ถูกธรรม ก็คงจะต้องปล่อยแบบนี้ คือมีปลามานอนพะงาบพะงาบต่อหน้าแล้วช่วยมัน ทำแบบนี้ไม่มีผลเสียกับใคร และไม่ผิดธรรมด้วย ส่วนที่ซื้อปลาไปปล่อยนั้น พวกเขาผิดตั้งแต่ซื้อขายชีวิตสัตว์แล้ว พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ว่า อย่าทำการค้าที่ผิด มันจะไม่พ้นทุกข์ หนึ่งในนั้นคือค้าขายชีวิตสัตว์ (มิจฉาวณิชชา ๕) ดังนั้นเมื่อเราไปข้องเกี่ยวกับกระบวนการขายชีวิตสัตว์ ไม่มีทางเลยที่เราจะได้มันมาอย่างถูกธรรม มันผิดแน่ ๆ และไม่ควรประเมินว่าผลสุดท้ายมันจะดีกว่า ในเมื่อกระดุมเม็ดแรกมันผิด เม็ดต่อ ๆ ไปมันก็ติดผิดไปเรื่อย จะดีกว่าไหมที่เราจะแก้ความเห็นผิดตั้งแต่แรก ให้มันไม่ต้องผิดซ้ำผิดซ้อนกันไปอีก
เพราะพุทธทุกวันนี้แทบจะไม่รู้ผิดรู้ถูกกันแล้ว เอาแต่ตามที่ใจเห็นว่าดี เอาแต่ตามที่ประเพณีเห็นว่าควร ส่วนจะถูกธรรม ถูกตามที่พระเถระ(เถรวาท) ได้รวบรวมไว้หรือไม่นั้นชาวพุทธส่วนมากไม่ได้สนใจแล้ว ซึ่งมันก็ไม่แปลกว่าทำไมบ้านเมืองมีแต่เรื่องน่าสลด นั่นเพราะกระดุมเม็ดแรกมันติดไว้ผิด เม็ดต่อมาจนถึงปัจจุบันก็ผิดหมดนั่นแหละ หากใครได้ศึกษาและตรวจสอบตามหลักฐานจนพบว่าสิ่งที่ตนเองมีความคิดเห็นหรือความเข้าใจที่ผิด ก็ให้รีบเร่งแก้ไขความเห็นผิดนั้น เพราะการแก้ตัวไม่ได้ช่วยให้ความเห็นผิดนั้นกลับเป็นถูกได้ แม้จะเถียงชนะโลก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะชนะมารและพ้นจากความเห็นผิดไปได้
6.5.2560
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์