ค่าสนองตัณหา : ความเสื่อมในความมั่งคั่งและความเจริญในความจน
ค่าสนองตัณหา : ความเสื่อมในความมั่งคั่งและความเจริญในความจน
เราเคยนึกกันหรือไม่ว่า ความอยากแต่ละครั้งที่เกิดขึ้นของเรานั้น ต้องถูกสนองไปด้วยทรัพยากรเท่าไหร่ ผลาญเงินกันไปกี่บาท กี่ครั้งกี่หนแล้วที่เราต้องจ่ายเงินให้กับการบำบัดความทุกข์ที่เรียกว่าความอยาก(ตัณหา)
หากเรามีเงินมากมายมหาศาล เรื่องราวต่อไปนี้คงจะไม่ใช่เรื่องน่าสนใจเลย แต่ในความจริงนั้นไม่ใช่ทุกคนที่จะร่ำรวยเงินทอง และเหล่าคนผู้ที่แสวงหาความเจริญทางจิตใจ ย่อมละทิ้งหนทางที่จะเจริญไปในทางโลก คือไม่ยินดีในความร่ำรวยเงินทอง เพราะรู้ดีว่า การมีเงินมากคือภาระ และร้ายยิ่งกว่านั้นคือเราจะไม่สามารถรับรู้ถึงโทษภัยของความอยากได้ง่ายนัก เพราะมีทรัพยากรที่นำมาใช้สนองความอยากเหล่านั้นให้สงบลงไปนั่นเอง
สาวกของพระพุทธเจ้าจึงมีการปฏิบัติที่ห่างไกลจากเงินโดยลำดับ ถ้าคนทั่วไปมุ่งหน้าแสวงหาเงินทอง ผู้มาศึกษาใหม่ก็อาจจะลดความโลภได้บ้าง แต่ก็ยังหวงเงินอยู่มาก พัฒนาขึ้นมาก็มีเงินเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ เก่งขึ้นมาอีกก็อยู่ได้โดยไม่ใช้เงินเลย และถ้าเป็นนักบวชนี่ต้องจริงจังถึงขั้นฝึกปฏิบัติด้วยการไม่พึ่งพาเงินเลย ให้พึ่งพาธรรมะนำพาชีวิตตัวเองไปแทน ตั้งแต่เริ่มต้นบวชกันเลยทีเดียว ถือว่าเป็นผู้เอาจริงเอาจังที่จะสละทางโลก
เมื่อเรามีเงินน้อย หรือไม่มีเงินเลย การจะได้บางสิ่งบางอย่างมานั้น จะต้องประหยัดรัดกุมมากขึ้น สมมติว่าเรามีเงินหนึ่งล้านบาท การจะ ”ซื้อขนม” ยี่สิบบาทมากิน ก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่จะต้องคิดให้เปลืองสมอง ขนาดเงินตกร้อยหนึ่งก็คงจะยังรู้สึกเฉยๆ ปล่อยวางได้ง่ายๆ
แต่ถ้าทั้งตัวเรามีเงินเหลืออยู่หนึ่งร้อย การจะไป “ซื้อขนม” ยี่สิบบาทกินนั้น ก็ต้องใช้การคิดทบทวนมากขึ้น และสำหรับผู้ที่ไม่มีเงินเป็นของตัวเอง การจะได้มาซึ่งขนมยี่สิบบาทนั้น ถ้าสิ่งนั้นไม่ได้มาเองโดยธรรม ก็ต้องใช้ความฉลาดของกิเลสตะล่อมเอามาแทนก็จะเป็นการปะทะกันระหว่างธรรมะกับอธรรม คือจะอดทนอดกลั้นต่อความอยากได้ไหม หรือจะอยากจนใช้กลอุบายเพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งสิ่งที่อยากได้อยากเสพโดยที่ดูเผินๆแล้วไม่ผิดอะไร
ขนมอย่างเดียวกันแต่การที่เรามีทรัพยากรต่างกันนั้น ทำให้เกิดความแตกต่าง ถ้าเรามีทรัพยากรไม่จำกัด เราก็ไม่ต้องใช้สมองไปสนใจเลยว่าสิ่งใดจำเป็นหรือไม่จำเป็น เราชอบสิ่งไหนเราก็หามาเสพได้ทั้งหมด แต่การมีทรัพยากรน้อยนั้น ต้องใช้ปัญญาไตร่ตรองให้ดีว่า มันสำคัญจริงไหม ความอยากกินขนมของเรานั้นคุ้มค่ากับเงินที่เราจ่ายไปจริงหรือ? มันเป็นประโยชน์ขนาดที่เราต้องยอมจ่ายไปจริงหรือ?มันเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์จริงหรือ? หรือยิ่งเสพก็ยิ่งอยาก ยิ่งอยากก็ยิ่งทุกข์ ยิ่งทุกข์ก็ยิ่งต้องหาทางให้ได้เสพ สุดท้ายก็แสวงหาปัจจัยเพื่อให้ตนเองได้เสพสมใจอยาก วนเวียนอยู่เช่นนี้
ดังนั้น “คนรวย” จึงไม่มีเหตุปัจจัยที่ ”เอื้อ” ต่อความเจริญทางจิตใจที่เรียกว่า “ความจน” พระพุทธเจ้าท่านพาสาวกมาจน ให้มีปัจจัยสี่ที่น้อย เพราะจะเป็นการขัดเกลา ให้ใจพอ ให้พอเพียง ให้เกิดปัญญารู้ว่าแค่มีเพียงเท่านี้ก็สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข หากดำรงตนอยู่ในธรรมไม่ใช่ความจนที่เกิดเพราะไม่ขยัน ไม่มีปัญญาหาเลี้ยงชีพ หรือจนเพราะติดเหล้าติดพนัน แต่เป็นความจนที่ตั้งใจให้เกิดเพื่อการขัดเกลาความอยาก
แน่นอนว่าการมีน้อยใช้น้อยนี้ไม่สามารถทำได้สำหรับทุกคน แต่จะต้องเป็นผู้ที่มีศรัทธาตั้งมั่น ตั้งใจขัดเกลาปฏิบัติตนให้หลุดพ้นจากความโลภ โกรธ หลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก ยากตั้งแต่จะรู้จัก ยากแม้แต่จะทำความเข้าใจ ยากที่จะเข้าถึง ยากที่จะรู้จริง
ดังนั้นเมื่อธรรมะนั้นเข้าถึงได้ยาก ต้องขัดเกลา ต้องอดทนอดกลั้น ต้องประหยัด ต้องทรมานกิเลส ต้องทุกข์เพราะต้องสู้กับกิเลส เมื่อมันยากเย็นแสนเข็ญเช่นนี้ คนจึงหันหน้าไปสู่อธรรม เป็นทางที่พาไปเสพสุข ไปมัวเมา ไปหาความมั่งคั่งร่ำรวย เพื่อที่จะได้มีเสพมีใช้อย่างไม่มีวันหมด เหล่านี้คือวิธีแก้ปัญหาแบบโลกีย์ทั่วไป
ไม่ว่าจะชาวบ้าน คนเมือง หรือมหาเศรษฐี ต่างก็สามารถคิดได้ว่าเงินคือคำตอบในชีวิต เพราะความอยากของเขาเหล่านั้นต้องใช้เงินมาเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน และมักจะมีความเห็นว่า เมื่อมีเงินจึงมีความสุข ไม่มีเงินก็เป็นทุกข์เพราะไม่ได้เสพสุข โดยที่เขาไม่ได้รู้ไปถึงต้นเหตุที่แท้จริงว่า “ความอยากคือตัวการทำให้เกิดทุกข์”
เขาเพียงเข้าใจกันแค่ว่า ถ้าเรา “สนองความอยาก” เราจะเกิด “ความสุข” ซึ่งในความเป็นจริงความสุขนั้นก็คือความทุกข์ที่ถูกคลายลงเท่านั้น เป็นเพียงสภาพของปิศาจ(ตัณหา) ที่สงบเพราะได้เครื่องบรรณาการเท่านั้นเอง แท้จริงแล้วปิศาจตัวนั้นยังอยู่ มันยังคอยเรียกร้องอยู่เสมอ ถ้าไม่ให้ตามที่มันสั่ง มันก็จะทรมานเรานี่คือความทุกข์ที่เกิดเมื่อไม่ได้เสพที่ตามอยาก
ดังนั้นคนที่ใช้เงินมาบำเรอสุขตัวเองมากๆ ก็ไม่ต่างอะไรจากคนที่เลี้ยงปิศาจในจิตใจของตัวเองจนมันอ้วน มันแข็งแกร่ง มันฉลาด มันสอนให้เราไปเอาเปรียบ ไปหาเงินมามากๆ ทำสิ่งที่ได้กำไรมากๆ ไม่ว่าจะผิดกฎหมาย, ผิดศีลธรรม, เป็นอบายมุข, มอมเมาคน, เป็นสิ่งฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ฯลฯ ทั้งหมดนั้นไม่ใช่สิ่งที่มันสนใจ มันต้องการเพียงแค่ได้รับการสนองทุกๆความต้องการของมันเท่านั้น
ในทุกวันนี้ เราเสียเงินให้กับการสนองความอยากเท่าไหร่ นั่นคือเรากำลังให้อาหารปิศาจในจิตใจของเรา เลี้ยงให้มันอ้วน ให้มันแข็งแกร่ง ให้มันบีบคั้นเราให้ทุกข์มากขึ้นเมื่อไม่ได้เสพ ให้เราต้องหามาเสพ ให้เราเป็นยิ่งกว่าคนติดยา ให้ตกเป็นทาสของปิศาจนั้น
เรามักจะไม่ได้มองการสนองความอยากเป็นตัวเงินที่เสียไป ว่าวันนี้ฉันเสียเงินให้กับความอยากไปเท่านั้นเท่านี้ แต่มักจะมองว่าวันนี้ฉันซื้อความสุขไปเท่านั้นเท่านี้ คือไปมองในด้านที่เป็นผลจากการสนองความอยาก ไม่ได้มองความอยากเป็นปัญหา ซ้ำร้ายยังไปมองว่าการสนองความอยากที่ได้ทำลงไปนั้นเป็นประโยชน์ หรือถึงจะเป็นทุกข์เพราะไม่ได้สิ่งสนองตามความอยาก ก็จะไม่โทษความอยาก แต่จะโทษเหตุปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ไม่ได้สมใจในสิ่งที่อยากได้อยากเสพนั้น เช่น เงินไม่พอ ของไม่มีขาย แบบที่ชอบไม่มี ไม่มีเวลาไปซื้อ ฝากเขาซื้อแล้วไม่ยอมซื้อให้ ฯลฯ
ความอยากของเด็กที่อยากกินไอติมสักแท่ง เพียงแค่ไม่กี่สิบบาท ก็คงพอจะทำให้หายทุกข์จากความอยากไปได้เป็นครั้งคราว แต่ความอยากของเด็กคนเดิมที่โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ผ่านมาหลายสิบปี ไอติมแท่งเดียวมันพอให้หายอยากไหม? หรือต้องใช้บ้าน ใช้รถ ใช้ตำแหน่งหน้าที่ ใช้ชื่อเสียง ใช้คำสรรเสริญเยินยอ ใช้คู่ครอง และสิ่งต่างๆ อีกมากมายเข้ามาบำบัดความอยาก สิ่งเหล่านั้นผลาญเงินไปเท่าไหร่ นี่คิดแค่เรื่องเงินนะ ยังไม่คิดเรื่องเวลา สุขภาพ ปัญญา หรือเรื่องกรรมอีก
หากเรายังมุ่งหน้าแสวงหาเงินมาบำบัดทุกข์บำเรอสุขลวงอยู่เช่นนี้ ยากนักที่เราจะเห็นความร้ายกาจของความอยาก ศาสนาพุทธไม่เคยสอนให้คนมุ่งหน้าไปสู่ความรวยเพื่อขัดเกลา แต่ให้พากันจนเพื่อขัดเกลาตนเอง เพราะความจน ความประหยัดนี่แหละที่จะทำให้เห็นร่างของปิศาจที่แอบซ่อนอยู่ในจิตใจของเรานี้ได้ชัดเจนขึ้น
เพื่อที่เราจะได้แก้ปัญหากันอย่างถูกจุด ไม่ใช่การหลงว่าการทำตามความอยากนั้นคือการทำให้หมดปัญหา ทำให้เกิดความสุข แต่การทำลายความอยากอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ต่างหากคือสิ่งที่ควรศึกษา ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว เราก็คงจะเป็นทาสที่คอยวิ่งตามคำสั่งของความอยาก ไม่ว่าจะรวยหรือจนถ้ายังมุ่งแก้ปัญหาทุกข์จากความอยากด้วยการหามาเสพอยู่ ก็ไม่มีวันพ้นไปจากทุกข์ได้
– – – – – – – – – – – – – – –
7.2.2559
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)