พระไตรปิฏก
คนไหนไม่ใช่มิตร คนไหนเป็นมิตร
อ่านเจอในหนังสือครับ จากหนังสือ “รู้ชัดตัวเองแล้วหรือยัง คนพาล/บัณฑิต” เป็นหนังสือสรุปเนื้อหาจากพระไตรปิฎกครับ เห็นว่าข้อนี้เอามาใช้ได้ครอบคลุมดี จึงทำภาพมาแบ่งกันครับ
อ่านเจอวิธีจำแนกมิตรและคนที่ไม่ใช่มิตรออกจากกัน บางทีมีคนเข้ามาในชีวิตเยอะแยะ เราก็ไม่รู้จะคัดอย่างไร ไม่รู้จะใช้หลักอะไร แต่พอมาศึกษาจากพระไตรปิฎก ก็จะมีจุดให้สังเกตได้ง่ายขึ้น
หลัก ๆ ของชีวิตนี่มันต้องมีมิตรดีไว้ก่อน แต่ก็ต้องดูด้วย บางคนเหมือนจะเป็นคนดีแต่ก็ไม่ใช่มิตร บางคนดูเหมือนจะเป็นมิตรแต่ก็ไม่ใช่คนดี ถ้าทุกคนมีความจริงใจ มันจะดูกันง่าย ไม่น่ากลัว
แต่ด้วยความที่คนสมัยนี้มีกิเลสมาก มีมารยามาก ยากที่จะดูได้ สมัยพุทธกาล ก็ยังมีพระเทวทัตปนมาในหมู่นักบวช สมัยนี้ย่อมมีเยอะกว่าเพราะไม่มีพลังความดีมาต้านคนชั่ว คนชั่วก็ปนเข้ามาเสพประโยชน์ของศาสนาเยอะมาก เพราะโลกธรรมในงานศาสนานั้นหอมหวาน
วิธีคัดคือเราปฏิบัติธรรมให้ได้ผลชัดเจนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วเราจะรู้จักคนชัดเจนยิ่งขึ้น มันจะมีคน 3 พวกคือ คนที่เห็นด้วยกับเรา คนที่ไม่เห็นด้วยกับเรา และคนที่ไม่ได้สนใจใยดีเราหรือไม่รู้จักเรา เราก็เลือกที่เป็นธาตุใกล้ ๆ กันนี่แหละ เพราะเอาธาตุไม่เข้ากันมาอยู่ด้วยมันจะมีแต่เรื่องปวดหัว ก็ให้เขาอยู่ของเขาไป เราก็อยู่ของเรา
ยิ่งเราได้ เราชัดในวิธีการปฏฺิบัติของเราแล้ว เราไม่ต้องกลัวหรอก ที่เหลือก็แค่คัดศพออกจากทะเล คัดคนที่เป็นคนพาลออกจากชีวิต คัดผู้ไม่ใช่มิตรออกไปให้ห่างใจ
พระไตรปิฎกคือคลังปัญญาวุธ
ปัญญาวุธ = ปัญญา + อาวุธ น่าจะอยู่ในลักษณะของคำสนธิ
สมัยก่อนผมไม่อ่านหนังสือเลยนะ พอเรียนจบมานั่นแหละ จึงได้หัดอ่านหนังสือบ้าง แต่ก็เป็นพวก how to เรียนรู้ต่าง ๆ ก็เป็นคนรักการอ่านมากขึ้น พอมาอ่านพระไตรปิฎกนี่รู้ได้เลยว่านี่คือ “คลังแสง”
พระไตรปิฎก คือคลังปัญญาวุธ เป็นสิ่งที่พระเถระได้ทำทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังได้ใช้ ผ่านมากว่า 2500 ปี แม้จะมีฝุ่นอยู่บ้าง แต่อาวุธในคลังนี้ยังคมกริบเหมือนเดิม
เป็นอาวุธที่เอาไว้ประหารกิเลสได้เป็นอย่างดี และเอาไว้ใช้ปกป้องศาสนาจากคนเห็นผิดได้อีกด้วย เรียกว่าใช้ได้ทั้งภายในตนเองและภายนอก
ตัวผมนี่ค่อนข้างได้ประโยชน์มาก เพราะเข้าไปศึกษาแล้วเอามาใช้ได้เยอะ พวกอาวุธเบา ๆ นี่ใช้ได้เยอะ กลาง ๆ ก็พอได้ แต่หนัก ๆ ก็ไม่ไหวเหมือนกัน มีหลายบทหลายสูตรที่ยากเกินภูมิไปเหมือนกัน ต้องให้ระดับครูบาอาจารย์ท่านขยายให้ฟัง
แม้แต่บทเดียวกัน มีดเล่มเดียวกัน ผมก็จะใช้ได้เก่งไม่เท่าครูบาอาจารย์ ในแต่ละบทแต่ละสูตรจะสามารถตีความลึกซึ้งขึ้นได้ตามปัญญาญาณของแต่ละท่าน สรุปคือฝึกมามากก็เก่งมาก
ส่วนคนไม่มีสภาวะ ก็จะเอามีดไปตอกตะปู อะไรแบบนี้ คือไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งนี้คือมีด ดังนั้นพระไตรปิฎกจึงไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะใช้ได้เท่าเทียมกันทั้งหมด จึงเป็นเครื่องอาศัยในการศึกษา ไม่ใช่เครื่องยึดมั่นถือมั่น
เพราะสุดท้ายคนสัมมากับคนมิจฉาก็จะตีความหมายของคำหรือประโยคต่าง ๆ ในพระไตรปิฎกต่างกันอยู่ดีนั่นเอง
คบสหายมีปัญญา ความเป็นสหายไม่มีในคนพาล
ถ้าบุคคลพึงได้สหายมีปัญญา เที่ยวไปด้วยกัน
เป็นนักปราชญ์คอยช่วยเหลือกัน
เขาครอบงำอันตรายทั้งปวงเสียได้
พึงพอใจ มีสติเที่ยวไปกับสหายนั้น
แต่ถ้าไม่ได้สหายมีปัญญาคอยช่วยเหลือกัน
พึงเที่ยวไปคนเดียว และไม่พึงทำบาป
เพราะความเป็นสหายไม่มีในคนพาล(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ “โกสัมพิขันธกะ”่ ข้อที่ ๒๔๗)
อ่านแล้วรู้สึกว่าเห็นด้วยมาก พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ให้ไปคบคนมั่ว ๆ ท่านแนะนำให้คบคนที่สูงกว่าหรือเสมอกัน ดังที่ท่านว่า คอยช่วยเหลือกัน ช่วยให้พ้นภัยอันตราย มีความพึงพอใจในกัน คือเคารพและยินดีในการมีอยู่ของกันและกัน ท่านให้คบหากับคนเหล่านั้น
แต่ถ้าหาไม่ได้ อย่าไปคบเชียว อย่าเชียวล่ะ คนที่ต่ำกว่า มีศีลธรรมต่ำกว่า จะพาปวดหัว เพราะท่านกล่าวว่า ความเป็นมิตรสหายไม่มีอยู่ในคนพาล ซึ่งก็จริงเช่นนั้นจริง ๆ คนที่เขาไม่พัฒนาตน ไม่พัฒนาศีลธรรม เชื่อใจไม่ได้หรอก ดีไม่ดีหลอกเราด้วยว่ามีศีลมีธรรม สุดท้ายก็ทำร้ายเรา นินทาเรา แทงหลังเรา พวกนี้เกิดจากเราไปคบคนพาล เสียทั้งเวลา และสารพัดเสีย ไม่มีมิตรแท้ในหมู่คนพาลนี่เรื่องจริง มีแต่ชิงดีชิงเด่นเอาหน้าเอาผลงาน
ยุคนี้คนพาลเขาฉลาด เขาก็แสร้งว่าเป็นคนดี มีศีลธรรม ก็เหมือนพระปลอม เนื้อปลอม ผู้ชายปลอม ผู้หญิงปลอม อะไรแบบนี้ ได้แค่เหมือน แต่ไม่ใช่ แม้กระนั้นก็ยังหลอกคนได้อยู่ดี แต่ถ้าเราใช้สูตรของพระพุทธเจ้า เราจะไม่พลาด เราไม่จำเป็นต้องไปอนุโลมคบกับคนต่ำกว่า แม้จะมีบทหนึ่งเว้นไว้สำหรับคนที่เขามาขอความช่วยเหลือก็สามารถเอาภาระสอนเขาได้ แต่การจะไปคบคนต่ำกว่าที่เขาไม่ได้ยินดีให้เราแนะนำหรือช่วยเหลือนี่มันผิดสัจจะ มันไม่พาเจริญ ดีไม่ดีเขายกตนข่มเราเข้าไปอีก ซวยไปกันใหญ่
ผมคบคนไม่เยอะ เพราะผมเน้นคุณภาพ ใครที่ดู ๆ แล้วท่าไม่ค่อยดี ผมก็ห่าง ๆ ไว้ มันเมื่อยหัว เพราะสร้างแต่เรื่องอกุศลและไร้สาระ เป็นคนรู้จักห่าง ๆ กันไปดีกว่า ไม่ต้องสนิทชิดใกล้กันหรอก ศีลมันไม่เสมอ ทำยังไงมันก็คุยกันไม่รู้เรื่อง
คนจะเป็นสหายกันนี่มันไม่ต้องพยายามหรอก คุยกันถูกคอ ศีลเสมอกัน ทิฏฐิเสมอกันเดี๋ยวก็ไปด้วยกันได้เอง ถึงจะพยายามแค่ไหน ถ้ามันไม่เสมอเดี๋ยวก็หลุดไปอยู่ดี ด้วยเหตุที่ฟังแล้วไม่เข้าใจบ้าง อิจฉาบ้าง ฯลฯ เดี๋ยวก็เพ่งโทษ ถือสา หานรก ป่วนไปหมด
ครูบาอาจารย์ก็เคยบอกสอนไว้ แม้ในองค์กรเดียวกัน ก็ต้องเลือกกลุ่มให้ถูก เพราะกลุ่มที่ไม่พาเจริญก็มี กลุ่มที่พาเจริญก็มี ต้องเลือกให้ถูกระดับศีลเรา ถ้าเราถือศีลเคร่ง เราไปอยู่กับกลุ่มเหยาะแหยะบ้ากามหลงงานไม่ปฏิบัติธรรม อันนี้ตายอย่างเดียว มีแต่เสื่อม ไม่มีเจริญเลย เราก็ต้องเลือกกลุ่มที่เสมอกันเป็นอย่างน้อย ถ้ามีดีกว่า ก็ไปอยู่กลุ่มที่ดีกว่า
พระพุทธเจ้าท่านเน้นว่า “สหายมีปัญญา” ด้วยผมเองก็เป็นสายปัญญาอยู่แล้ว ดังนั้นจึงหาคนที่มีปัญญามากกว่าไม่ยาก ยิ่งสายปัญญายิ่งมีน้อย ๆ อยู่แล้วด้วย คุยไปเถอะ นานไปเดี๋ยวก็รู้เอง คนไม่มีปัญญา เขาจะตามไม่ทัน เข้าใจผิด หลงประเด็น เพ่งโทษ ถือสา ฯลฯ แต่คนมีปัญญาเขาจะตามทัน แถมเขาจะรู้ด้วยว่าเราวางหมากอะไรไว้ แล้วเขาจะแก้ให้เราดูแล้วสอนท่าใหม่ที่เหนือกว่าที่เรามีให้เราด้วยความเมตตา
คนพาลบ้าอำนาจ
เห็นหนังสือนิทานชาดกในร้านมือสองแล้วซื้อมาอ่านดู เจอประโยคที่น่าสนใจ
“อันนิสัยสันดานของคนต่ำช้า เมื่อได้มีอำนาจ แม้เพียงนิดน้อยเท่าใดก็ดี ย่อมมีใจฮึกเหิมทะนงตัว ดูถูกดูหมิ่นผู้อื่นด้วยกิริยา ต่าง ๆ นา ๆ คนเช่นนี้ โบราณท่านห้ามมิให้เกี่ยวข้องเกี่ยวดองด้วยแล”
เนื้อหาของชาดกตอนนี้คือ คนใช้ที่รับใช้เจ้านายช่วยเอาสมบัติไปฝังดินไว้ พอเจ้านายตาย ลูกเจ้านายโต เขาก็จะไปขุด แต่คนใช้ไม่ยอมขุด พอเดินถึงจุดหนึ่งก็ด่าทอลูกเจ้านาย เป็นอย่างนี้ถึงสามครั้ง สุดท้ายก็ขุดตรงที่คนใช้ยืนด่านั่นแหละ มีสมบัติ
ชาดกตอนนี้แสดงให้เห็นถึงความเมาในโลกธรรมแม้เล็กน้อยก็เอามาอวดเบ่งได้
คนพาลไม่มีอำนาจต้านโลกธรรม จะไหลไปกับโลกธรรม เช่นบางคนมีคนชมนิดหน่อยก็ตัวพอง ได้สวมหัวโขนก็ผยอง สำคัญว่าตนแน่ คือจะมีลักษณะพองตัวไปตามโลกธรรม หรือมากกว่านั้น ไม่เป็นอิสระ เหมือนลูกโป่งใส่น้ำ ก็พองไปตามน้ำ ไม่มีสติกั้น สุดท้ายก็จะระเบิด
สมมุติได้คนชมมา 1 ครั้ง เขาจะปรุงเพิ่มไปอีก 1 1 1 1 1 . . . ไปเรื่อย ๆ ตามที่ตนอยากเสพ คือชมจริงน่ะ 1 ครั้ง แต่ชมตัวเองอีกหลายครั้งเลย กิเลสมันก็โตเพราะจิตมันปรุงต่อนี่แหละ ก็เป็นอาการเมาโลกธรรม
ผมก็จะใช้ตรงนี้สังเกตคนเหมือนกันว่าพองตัวเกินฐานะไหม เช่นไม่ได้มีดีจริงอย่างนั้นหรอก แต่หลงโลกธรรม เขาก็มักจะสำคัญตนผิด พอเราเห็นท่าไม่ดี เราก็ห่างมา ไม่ต้องไปใกล้ ไม่ต้องไปคบหา เพราะคบคนพาลที่เมาโลกธรรม ก็มีแต่จะหาเรื่องมาใส่เรา