Tag: เมตตา
มังสวิรัติไม่ถึงใจ
มังสวิรัติไม่ถึงใจ
…เมื่อการกินมังสวิรัติไม่ได้ทำให้คลายกิเลส
การกินมังสวิรัติหรือการลดเนื้อกินผักนั้น หลายคนอาจจะมีเส้นทางการเริ่มต้นที่ต่างกันไป บางคนกินเพราะสุขภาพ บางคนกินเพราะเข้าใจว่าได้บุญ บางคนกินเพราะเขานิยม บางคนกินเพราะเมตตาสัตว์ บางคนกินเพราะทำให้ดูเป็นคนดี บางคนกินเพราะประหยัด บางคนกินเพราะคนในครอบครัวกิน หลายเหตุผลนี้อาจจะทำให้หลายคนเข้าถึงที่สุดแห่งการลดเนื้อกินผักได้ แต่อาจจะไม่ถึงที่สุดของใจ
ด้วยเหตุต่างๆที่กล่าวอ้างมาสามารถจูงใจให้คนเข้ามากินมังสวิรัติได้ทั้งสิ้นและสามารถทำให้เป็นนักมังสวิรัติขาประจำได้ด้วยเช่นกัน เพราะในความจริงแล้วการกินมังสวิรัตินั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่เรื่องยากนั้นคือการไม่กินเนื้อสัตว์เพราะความอยาก
เราสามารถกินมังสวิรัติได้ง่ายๆเพียงแค่อยู่ใกล้แหล่งอาหารมังสวิรัติ มีแม่ครัวรู้ใจ ทำอาหารเอง หรือแม้แต่รู้วิธีไปกินมังสวิรัตินอกสถานที่ ด้วยความรู้เหล่านี้ทำให้เราสามารถกินมังสวิรัติได้ไม่ยาก กินไปทั้งชีวิตก็ได้ ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังได้เพราะเมนูมังสวิรัติหรือเมนูเนื้อสัตว์ที่มีทั่วไปนั้นก็ปรุงรสจัด รสที่ทำให้เรารู้สึกอร่อยหรือรสชาติที่เราคุ้นเคยเหมือนๆกัน
มันไม่ใช่เรื่องยากเลยหากคนทั่วไปที่ชอบกินเนื้อต้องเผชิญกับเหตุปัจจัยที่ทำให้ไม่มีเนื้อสัตว์ให้กินแล้วต้องกินมังสวิรัติเป็นเวลานาน เพราะสุดท้ายมนุษย์ก็จะต้องกินเพื่อดำรงชีวิตอยู่ดี
…ศีลหรือการละเว้นสิ่งที่เป็นภัย
การกินมังสวิรัติหรือการถือศีลละเว้นนั้น หากเราตั้งไว้แค่การละเว้นเนื้อสัตว์ เมตตาสัตว์ เราก็จะสามารถกินมังสวิรัติได้แล้ว แต่ทว่าศีลระดับนั้นอาจจะไม่สามารถดับความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ให้สิ้นเกลี้ยงได้เพราะเพียงแค่ดับกามภพหรือแค่เพียงไม่ไปเสพก็สามารถบรรลุผลของศีลนั้นได้แล้ว การตั้งศีลที่สูงกว่าหรืออธิศีลในมังสวิรัติคือการดับความอยากกินเนื้อสัตว์จนสิ้นเกลี้ยงจากกามภพไปจนถึงรูปภพและอรูปภพ ศีลนี้ต่างจากการกินมังสวิรัติหรือการกินเจของคนทั่วไปอยู่มาก เพราะโดยส่วนมากเขาจะกินเพราะเมตตาสัตว์ เพราะสงสาร ทำให้เกิดกุศล
หากจะตั้งจิตตั้งศีลไว้ที่ไม่เบียดเบียนเนื้อสัตว์ การกินมังสวิรัติได้ 100% ก็เป็นที่สุดแห่งศีลนั้นแล้ว แต่ก็ยังมีศีลที่เจริญกว่าเข้าถึงผลยากกว่านั่นคือทำลายความอยากนั้นเสีย การตั้งศีลสองอย่างนี้ต่างกันเช่นไร การไม่เบียดเบียนเนื้อสัตว์นั้น เพียงแค่คุมร่างกายหรือกระทั่งคุมวาจาได้ก็ไม่ไปเบียดเบียนเนื้อสัตว์ได้แล้ว คุมร่างกายไว้ไม่ให้ไปหยิบกิน กดไว้ไม่ให้หิวไม่ให้อยาก คุมวาจาไว้ไม่ให้พูดถึง ไม่ให้เอ่ยถึงการกินเนื้อสัตว์ แต่ไม่ได้ครอบคลุมถึงในส่วนของใจทั้งหมดเพียงแค่คุมใจไว้ เป็นการปฏิบัติจากนอกเข้ามาหาใน คือคุมร่างกายวาจาแล้วไปกดที่ใจในท้ายที่สุด
ศีลที่ตั้งไว้เพื่อทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์นั้นจะปฏิบัติกลับกันนั่นคือจากในออกไปหานอก ปฏิบัติที่ใจให้คุมวาจา และคุมไปถึงร่างกาย เป็นการพุ่งเป้าหมายไปที่การล้างกิเลสอย่างชัดเจน ให้เห็นตัวเห็นตนของกิเลสอย่างชัดเจน ถือศีลขัดเกลาเฉพาะกิเลสอย่างชัดเจน ไม่หลงไปในประเด็นอื่น
การตั้งเป้าหมายไว้ที่กิเลสนั้นดีอย่างไร นั่นก็คือเมื่อเราสามารถปฏิบัติจนละหน่ายคลายกิเลสหรือกระทั่งดับกิเลสได้แล้ว จะดับไปถึงวจีสังขาร คือไม่ปรุงแต่งคำพูดอะไรในใจอีกแล้ว ไม่มีแม้เสียงกิเลสดังออกมาจากข้างใน จนไปถึงร่างกายไม่สังขาร คือไม่ขยับเพราะแรงของกิเลส ไม่ออกอาการอยากใดๆทางร่างกาย ไม่ไปกินเพราะว่ากิเลสสั่งให้กินเนื้อ
ผู้ที่ตั้งศีลไว้ที่การชำระกิเลสภายในนั้น เมื่อปฏิบัติจนสุดทางแล้วจะไม่ต้องเคร่งเครียดไม่ต้องกดข่ม ไม่ต้องกดดัน ไม่มีรูปแบบมากนัก ไม่เกลียดคนกินเนื้อ ไม่รังเกียจที่จะกินร่วมโต๊ะ ไม่รังเกียจที่จะกินร่วมจาน และไม่รังเกียจแม้จะหยิบชิ้นเนื้อเข้าปาก แต่ถึงแม้จะกินเนื้อก็ไม่มีอาการอยากใดๆ เคี้ยวเสร็จแล้วคายทิ้งได้และยังสามารถทิ้งที่เหลือได้โดยไม่มีการทุกข์ใจใดๆเกิดขึ้น ไม่มีความอยากเกิดขึ้นแม้ตอนเคี้ยวหรืออึดกดดันถ้ารู้สึกจะต้องกินเนื้อ ในกรณีลองกินเนื้อนี้เราใช้เพื่อทดสอบกามและอัตตาเท่านั้น
นั่นเพราะการถือศีลนี้เป็นการดับความอยาก ไม่ใช่แค่การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ใช่แค่การกินมังสวิรัติ แต่เป็นการทำลายเหตุแห่งการกินเนื้อสัตว์ ดับทุกข์ที่เหตุ จึงเกิดสภาพแม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ทรมานจากกาม ถึงแม้จะจำเป็นต้องกินก็ไม่ทุกข์ทรมานจากอัตตา ซึ่งจะพ้นจากทางโต่งทั้งสองด้านในท้ายที่สุด
…การปฏิบัติที่ใจ
การปฏิบัติไปถึงใจนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจำเป็นต้องใช้หลักปฏิบัติของศาสนาพุทธเข้ามาเป็นส่วนร่วม ในการตรวจทุกสภาวะของจิตใจ ซึ่งจะลึกซึ้ง ละเอียด ประณีต เดาไม่ได้ คิดเอาเองไม่ได้ เป็นสภาพของญาณที่ใช้ตรวจกิเลส เป็นสภาพรู้ถึงกิเลส ชัดเจนในใจว่ากิเลสยังเหลืออยู่ไหม เหลือมากน้อยเท่าไหร่ เจริญขึ้นหรือเสื่อมลง ในผู้ที่กินมังสวิรัติเพื่อล้างกิเลสจะได้รับญาณเหล่านี้มาด้วยเมื่อพัฒนาการปฏิบัติไปเรื่อยๆ
การปฏิบัติเพื่อล้างกิเลสนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่เมตตาสัตว์ ไม่สงสารสัตว์ แต่การจะถึงผลได้นั้น ต้องนำทุกวิถีทางที่กล่าวไว้ตั้งแต่ตอนต้นบทความเข้ามาเป็นตัวพิจารณาธรรม ซ้ำยังต้องพิจารณาไปถึงกรรมและผลของกรรม พิจารณาไตรลักษณ์ ให้ตรงเข้ากับกิเลสนั้นๆ ในกรณีนี้ก็คือการพิจารณากรรมและผลของกรรมของความอยากเสพ และพิจารณาความเป็นทุกข์ของความอยากเสพ ความไม่เที่ยงของความอยากว่ามันเพิ่มได้มันลดได้ และความไม่มีตัวตนของความอยากนี้อย่างแท้จริง
การพิจารณาล้างกิเลสนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่แค่ตั้งใจแล้วจะทำได้แต่ยังต้องมีกำลังที่มาก เรียกได้ว่าต้องมีอินทรีย์พละที่แกร่งกล้าพอที่จะต้านทานพลังของกิเลสได้ ดังที่กล่าวว่าโจทย์ของเราคือความอยากเสพเนื้อสัตว์โดยใช้การตรวจวัดไปที่ใจ ดังนั้นการเห็นใจอย่างละเอียดนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย หากคนที่ปฏิบัติน้อยมองผ่านๆก็จะเหมือนยืนมองฝุ่นที่พื้นซึ่งอาจจะไม่เห็นฝุ่น คนที่ปฏิบัติเก่งขึ้นมาก็จะใช้แว่นขยายดูฝุ่นนั้น ส่วนขึ้นที่เก่งขึ้นมาอีกก็เหมือนใช้กล้องจุลทรรศน์ดูฝุ่นนั้น
การเห็นกิเลสนั้นจะเป็นไปโดยลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด ต้องทำลายกิเลสหยาบจึงจะสามารถเห็นกิเลสกลาง ทำลายกิเลสกลางถึงจะเห็นกิเลสละเอียด นั่นเพราะในระหว่างปฏิบัติศีลไปเรื่อยๆ เราก็จะได้มรรคผลมาเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้เราสามารถรู้และเห็นกิเลสที่เล็กและละเอียดนั้นได้มากขึ้น
เราปฏิบัติโดยทำลายความอยากที่จิตสำนึก ทำลายไปจนถึงจิตใต้สำนึก และล้วงไปจนถึงจิตไร้สำนึก ละเอียดลงไปเรื่อยๆดำดิ่งลึกลงไปให้เห็นกิเลสที่ฝังอยู่ข้างในจิตใจทำลายไปเรื่อยๆจนกว่าจะหมดสิ้น
แต่ถ้าหากว่าเรายังยินดีในศีลเพียงแค่ละเว้นการฆ่าสัตว์ ละเว้นการเบียดเบียนสัตว์ พอใจและมั่นใจแล้วว่าสิ่งนี้ดีที่สุดแล้วจะถือศีลนั้นไปเรื่อยๆก็ไม่ใช่เรื่องที่เสียหายเท่าไรนัก เพราะพ้นภัยจากกรรมแห่งการเบียดเบียนได้บ้างแล้ว แต่ถึงกระนั้นก็ตาม การกดความรู้สึกจากร่างกายเข้าไปหาใจนั้นไม่ใช่ทางดับทุกข์ที่เหตุ แต่เป็นการดับที่ปลายเหตุซึ่งนั่นหมายความว่า ความอยากนั้นอาจจะกลับกำเริบขึ้นมาในวันใดวันหนึ่งก็ได้ หรือชาติใดชาติหนึ่งก็ได้เช่นกัน ถึงแม้ในชาตินี้เราจะสามารถกดข่มความอยากไว้ด้วยความเมตตาได้แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากิเลสจะไม่เติบโต
…กินมังสวิรัติได้ไม่ได้หมายความว่าล้างกิเลสเป็น
การกินมังสวิรัติได้ ถึงแม้จะกินได้ตลอดชีวิตแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถล้างกิเลสได้หรือล้างกิเลสเป็นเพราะการกินมังสวิรัติได้นั้น สามารถใช้เพียงสัญชาติญาณความเมตตาทั่วๆไปกดความชั่วนั้นไว้ได้แล้ว นั่นเพราะการเบียดเบียนสัตว์เป็นบาปที่เห็นได้ชัดเจน เหมือนกับการที่เรารู้ว่าการฆ่าสัตว์ไม่ดี เราจึงไม่ตบยุง แต่ความโกรธ ความรำคาญ ความแค้นยุงยังมีอยู่ ถึงเราจะไม่ตบไปทั้งชีวิตก็ไม่ได้หมายความว่ากิเลสจะตาย มันเพียงแค่ถูกฝังกลบไว้ในความดี ไว้ในจิตลึกๆเพียงแค่ยังไม่แสดงตัวออกมา
…สรุปข้อแตกต่าง
ข้อแตกต่างของผลในการกินมังสวิรัติแบบกดข่มกับแบบล้างกิเลสคือ การกดข่มจะใช้พลังความดีและใช้ธรรมะในการกดความชั่วเอาไว้ไม่ให้ออกมาเพ่นพ่าน ไม่ให้หลุดออกมาทั้งทางกายวาจาใจ แต่เมื่อทำไปนานวันเข้าจะมีความกดดันและจะเครียดหรือสร้างบรรยากาศที่ตึงเครียด เป็นสภาพของการยึดมั่นถือมั่น เพราะทำจากข้างนอกเข้ามาข้างใน
ส่วนแบบล้างกิเลสคือการใช้พลังปัญญาเข้าไปล้างเชื้อชั่วข้างในจิตวิญญาณเลย เมื่อทำไปนานวันเข้าจะเก่งขึ้นเรื่อยๆ สติ ปัญญา เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา จะขยายขอบเขตมากขึ้น ความโปร่งโล่งสบายจะแผ่กระจายออกไปจนคนอื่นรับรู้ได้และมีพลังที่จะส่งต่อสิ่งดีๆให้ผู้อื่นอย่างมีศิลปะ มีไหวพริบ มีการประมาณที่จะยิ่งเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นสภาพของการปล่อยวาง เพราะทำจากข้างในแผ่ออกไปข้างนอก
การค้นหากิเลสและทำลายกิเลสอย่างถูกวิธีนั้นต้องดำเนินไปตามขั้นตอนของวิปัสสนาญาณ ๑๖ ซึ่งจะเป็นทั้งเป้าหมายและเป็นตัวตรวจสอบสภาพว่าเราได้ดำเนินการผ่านกิเลสนั้นมามากน้อยเท่าไร ถึงระดับไหน และอีกไกลเท่าไร ผลคือแบบไหนเราจึงจะไม่หลงไปในกิเลส ไม่ต้องหลงทางวนเวียนอยู่กับการหลอกหลอนของกิเลสอีกต่อไป
– – – – – – – – – – – – – – –
5.12.2557
คุณค่าของความรัก
คุณค่าของความรัก
ความรักนั้นเป็นสิ่งที่ทรงพลานุภาพเป็นแรงผลักดันให้ทุกชีวิตขับเคลื่อนออกไปแสวงหาไขว่คว้า เพื่อให้ได้มาในสิ่งซึ่งสามารถตอบสนองต่อความรักเหล่านั้น
ความรักสามารถดึงคนให้ขึ้นสวรรค์หรือผลักลงนรกได้ เพราะความรักนั้นคือความอยาก คือตัณหา คือแรงผลักดันให้คนเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างบางสิ่งบางอย่าง
คุณค่าของความรักนั้น ไม่ได้อยู่ที่ชื่อ คำเรียกขาน หรือแม้แต่นิยามของมันแต่อยู่ที่รักเหล่านั้นพาเราไปพบกับอะไร…
หลายคนมักจะนิยามความรักอย่างสวยหรู ใช้คำว่ารักเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนอยากได้อยากเสพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคู่ครอง การงาน ทรัพย์สมบัติ หรือกระทั่งชื่อเสียงและคำสรรเสริญต่างๆ
หากความรักคือความอยากที่ปนเปื้อนไปด้วยกิเลส รักนั้นจะพาเราไปเสพและสะสมกิเลส ไปทำร้ายและเบียดเบียนผู้อื่นด้วยกลวิธีต่างๆ เพื่อที่จะให้เราได้เสพสมใจในกิเลสแม้จะเป็นสิ่งชั่วเช่นนี้ แต่เราก็ยังเรียกมันว่า “ความรัก”
ถ้าความรักคือเจตนาที่มีแต่ความเมตตา เพื่อให้ผู้อื่นได้รับสิ่งดี เพื่อให้เขาได้พ้นทุกข์ เราก็จะพาตัวเอง คนรอบข้าง และสังคมไปในทิศทางที่พากันลดกิเลส ลดความอยากได้อยากมี ลดการสะสม ลดความโลภ โกรธ หลง สิ่งนี้เราก็เรียกมันว่า “ความรัก” เช่นกัน
แต่ไม่ว่าเราจะมีความรักแบบไหน รักด้วยกิเลส รักด้วยความเมตตา หรือกระทั่งเป็นความเมตตาที่สอดไส้ไว้ด้วยกิเลสก็ตาม เราก็จะใช้เวลาเรียนรู้ถึงคุณค่า ทุกข์ โทษภัย ผลเสีย จากความรักที่ดีและร้ายเหล่านั้นจากการเดินทางผ่านจำนวนภพจำนวนชาติที่นับไม่ถ้วน ผ่านความผิดหวังและสมหวังมากมาย จนความรักที่เคยหยาบ เห็นแก่ตัว และไร้คุณค่านั้น ได้ถูกขัดเกลาจากการเรียนรู้จนเกิดปัญญา เปลี่ยนเป็นรักที่เปี่ยมไปด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นรักที่ยินดีแม้ว่าเขาเหล่านั้นจะไม่ได้ดีดังใจเราหมาย เป็นรักที่ไม่ครอบครอง ไม่ยึดไว้ทั้งร่างกายและจิตใจของใครๆ เป็นรักที่เสียสละ ปล่อยวางจากการเป็นเจ้าของ ไม่การทำร้ายกันด้วยคำหวานและคำสัญญาใดๆ ปล่อยวางจากจองเวรจองกรรมกันและกันด้วยความยินดี เต็มใจ พอใจ สุขใจ เพราะรู้แน่ชัดแล้วว่าการปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นนี่เอง คือสิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะสามารถทำให้คนที่เรารักได้
ดังนั้น คุณค่าของความรัก ก็คือ… การทำให้เราได้เรียนรู้ ตั้งแต่การพบเจอความรัก การยึดมั่นถือมั่นในความรัก การพิจารณาคุณค่าของความรัก จนกระทั่งถึงวันที่เราสามารถปล่อยวางความรัก และสุดท้ายเราก็จะได้ปัญญาที่รู้แจ้งชัดว่าควรจะเมตตาอย่างไรจึงจะสามารถรักได้อย่างมีคุณค่า เป็นรักที่เป็นไปเพื่อความสุขแท้ ยั่งยืน ตลอดกาล
เมื่อเข้าใจในคุณค่าของความรัก ก็จะสามารถขยายความรักเหล่านั้นออกไปได้กว้างขึ้น จากคู่รัก คนที่รัก ของที่รัก ไปถึงครอบครัว ไปถึงสังคม ชุมชน ไปถึงประเทศชาติ ไปจนทั่วโลกใบนี้ จนกระทั่งรักได้อย่างข้ามภพข้ามชาติ รักที่เสียสละ ยอมเหน็ดเหนื่อย ยอมทนทุกข์ ยอมทรมาน ด้วยความรักและเมตตาแก่สรรพสัตว์ผู้ยังหลงวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ
และนั่นคือความรักของพระพุทธเจ้า ด้วยความรักความเมตตาที่เหลือประมาณ ยากที่จะเข้าใจ บำเพ็ญเพียรอยู่กว่าสี่อสงไขยกับแสนมหากัป เพื่อที่จะสร้างศาสนาแห่งความรักความเมตตา ส่งต่อพลังแห่งรักแท้ผ่านสาวกผู้มีศรัทธาอันไม่หวั่นไหว เพื่อสืบสานส่งต่อความรักความเมตตาเหล่านี้ให้กับบรรดาสรรพสัตว์ผู้ยังหลงมัวเมาในกิเลส
…และทั้งหมดนี้ คือคุณค่าของความรัก
– – – – – – – – – – – – – – –
30.9.2557(แก้ไข 12.2.2559)
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)
ครูบาอาจารย์ที่ใช่ ตรงใจ ตรงจริต ตรงธรรม
ครูบาอาจารย์ที่ใช่ ตรงใจ ตรงจริต ตรงธรรม
การดำเนินชีวิตไปสู่ความผาสุกที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะในทางโลก หรือทางธรรมนั้น สิ่งที่จำเป็นประการหนึ่งก็คือผู้ชี้นำที่ดี…
เพราะคนนั้นเรามีขอบเขตการเรียนรู้ที่จำกัด มีสติที่จำกัด มีปัญญาที่จำกัดการที่เราจะสามารถขยายข้อจำกัดเหล่านั้นได้คือการพัฒนาตัวเอง แต่เราจะพัฒนาตัวเองได้อย่างไรในเมื่อเราไม่รู้วิธีที่จะเพิ่มหรือขยายสติปัญญาเหล่านั้น ดังนั้นการที่เรามีผู้ชี้นำ หรือครูบาอาจารย์ที่ดีนั้น จะสามารถนำพาเราไปสู่ความเจริญได้ทั้งทางโลกและทางธรรม
1.คบหาผู้รู้
พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสเกี่ยวกับเหตุแห่งการหลุดพ้นไว้ในอวิชชาสูตร ว่าการที่เราหลงงมงายไปในสิ่งไร้สาระ หลงไปในกิเลสนั้นเกิดจากอวิชชา เป็นความโง่ เป็นความไม่รู้ ซึ่งเหตุแรกสุดของอวิชชานั่นก็คือการไม่คบหาสัตบุรุษ
สัตบุรุษ คือ คนผู้รู้สัจจะ รู้ความจริง รู้วิธีพ้นทุกข์ ท่านเหล่านั้นได้ร่ำเรียนมาจากพระพุทธเจ้าหลายพระองค์ สะสมบารมีมาหลายภพหลายชาติ จนเกิดความรู้แจ้งในตนเอง เมื่อมีสัจจะ ก็สามารถสอนสัจธรรมได้ เป็นธรรมที่พาไปสู่การพ้นทุกข์ เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด เพื่อความไม่สะสม เพื่อความมักน้อย เพื่อความสงบจากกิเลส เพื่อการละกิเลส ฯลฯ
ดังนั้นเมื่อเราไม่ได้คบหาสัตบุรุษ ก็ไม่มีทางที่จะทำลายอวิชชาได้ หรือเรียกได้ว่าไม่มีทางที่จะบรรลุธรรมได้เลย
2.ลักษณะของผู้รู้
ผู้ที่เป็นสัตบุรุษนั้น จะสามารถแสดงธรรมอย่างแกล้วกล้าอาจหาญ ไม่ประหม่า ไม่เขินอาย ไม่ลังเล ไม่สับสน เพราะรู้แน่ชัดว่าธรรมที่ตนมีนั้นเป็นของจริง พาพ้นทุกข์ได้จริง สามารถสอบถาม พร้อมทั้งให้ตรวจสอบกันได้ และยังเชื้อเชิญให้มาลองพิสูจน์ธรรมะนั้น เพราะรู้ว่าผู้ใดที่ศรัทธาและปฏิบัติจะเห็นและเข้าใจได้ ไม่ใช่สิ่งเร้นลับ ไม่ใช่เวทมนต์ ไม่ใช่เดรัจฉานวิชา เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ตลอดกาลไม่ว่ายุคใดสมัยใด และเป็นสิ่งที่ควรกระทำให้เกิดธรรมเหล่านั้นขึ้นในวิญญาณของตน
สามารถเล่า ชี้แจ้ง สภาวะ การปฏิบัติ ขั้นตอนต่างๆได้อย่างมีศิลปะ คือมีทั้งสาระและสุนทรียะ ปรับเปลี่ยนร้อยเรียงธรรมให้เข้าใจได้ง่ายอย่างวิจิตรพิสดารให้เหมาะกับผู้ฟังได้ โดยแสดงธรรมไปตามลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด โดยมีเหตุผล มีที่อ้างอิง และมีความเอ็นดูเข้าใจต่อผู้อื่น ไม่พูดให้เกิดการกระทบ กดดัน บีบคั้น ทำร้ายทำลายใจ ไม่กักขังหรือผลักไส ไม่ได้สอนเพื่อให้คนมาศรัทธา ไม่สอนเพื่อแลกมาซึ่ง ลาภ ยศ สรรเสริญ บริวาร บารมีต่างๆ แต่สอนเพื่อให้คนลดกิเลส ให้คนพ้นทุกข์
ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ชี้ทางเท่านั้น ไม่ได้อยากสอนและไม่ได้ไม่อยากสอน เพียงแต่มีเมตตาให้กับเพื่อนมนุษย์ผู้ยังมีทุกข์อยู่ จึงใช้ความรู้ที่มีสร้างประโยชน์ให้กับตนคือสร้างกุศลและประโยชน์ของผู้อื่น คือช่วยชี้นำให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
สัตบุรุษนั้นไม่จำเป็นต้องมีพรรษาที่มาก ไม่จำเป็นต้องเป็นเพศนักบวช ไม่จำเป็นต้องร่ำรวย มีชื่อเสียง มีคนนับหน้าถือตา มีคนยกย่อง มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย เพียงแค่มีโลกุตระธรรม คือธรรมที่พาสวนกระแส พาล้างกิเลส เป็นธรรมที่ไม่พาไปตามโลก ขัดกับโลก ขัดใจ แต่ไม่ขัดกับสัจจะ
3.คุณสมบัติของผู้รู้
คุณสมบัติหรือธรรมที่สัตบุรุษพึงมี (สัปปุริสธรรม ๗) ก็คือ ความเป็นผู้รู้ธรรม รู้ทั้งโลกียะธรรมและโลกุตระธรรม ,เป็นผู้รู้สาระประโยชน์ว่าทำสิ่งใดเป็นกุศล สิ่งใดเป็นอกุศล ,เป็นผู้รู้ตน คือรู้ว่าตนเองมีศักยภาพเท่าไหร่ แค่ไหน อย่างไร, เป็นผู้รู้ประมาณ สามารถประมาณ คาดคะเน สิ่งต่างๆให้พอดี ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป ,ผู้รู้เวลาอันควร รู้ว่าเวลาใดควรทำอะไร เท่าไหร่ อย่างไร, เป็นผู้รู้หมู่คน รู้ว่าคนหมู่นี้ต้องพูดอย่างไร ต้องปฏิบัติอย่างไร ,เป็นผู้รู้บุคคล รู้ว่าบุคคลนั้นควรจะสอนอย่างไร ควรจะปฏิบัติอย่างไรจึงจะเกิดความเจริญ
4.การตามหาผู้รู้
การตามหาผู้รู้หรือสัตบุรุษนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะตามหาเจอ ไม่ว่าจะเดินทางไปทั่วทั้งแผ่นดิน ทั่วฟ้า ใต้มหาสมุทรก็ไม่มีทางเจอ ถ้าไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “กรรม”
เรามักจะคิดกันไปว่าต้องหาอาจารย์ถูกจริต หาอาจารย์ที่ใช่ เราจะเลือกอาจารย์เอง หรืออาจารย์จะเลือกศิษย์เอง ความเข้าใจเหล่านี้ไม่เที่ยงทั้งนั้น เพราะบางทีก็เลือกได้ บางทีก็เลือกไม่ได้ บางทีที่เลือกมาเป็นอะไรก็ไม่รู้ ไอ้ที่ไม่เลือกกลับกลายเป็นดี ไม่มีอะไรแน่นอน จะยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ นอกจากจะเชื่อใน “กรรม”
กรรมจะเป็นผู้ที่เลือกให้เราได้พบกับใคร ได้พบกับอาจารย์ท่านไหน และอาจารย์ท่านไหนจะได้พบกับเรา เพราะการที่เราจะได้พบกับครูบาอาจารย์ท่านนั้น เป็นเพราะเราบำเพ็ญเพียร เรียนรู้ ศึกษาและปฏิบัติร่วมกันมาหลายภพหลายชาติแล้ว ดังนั้นแม้ว่าเราจะไปเจอครูบาอาจารย์ที่ใครเขาแนะนำว่าดีว่าเยี่ยมเพียงใด แต่ถ้าเราไม่เคยเกื้อกูลกันมา ก็มักไม่ถูกใจ ไม่เข้าใจ ถึงจะพยายามก็จะอยู่กันได้ไม่นาน หรือที่เรียกว่าไม่ตรงจริตนั่นเอง
ผู้ที่ไม่มีกรรมดีมาหนุนนำ แม้จะพบสัตบุรุษอยู่ตรงหน้า ได้พูดคุยสนทนากันนานหลายชั่วโมง ก็อาจจะไม่เข้าใจ ไม่รับรู้ ไม่ถูกใจก็ได้ เพราะวิบากบาปหรือบาปกรรมที่เขาเหล่านั้นได้กระทำไว้ ได้บังไม่ให้เขาได้เข้าถึงสิ่งที่ดี สิ่งที่มีประโยชน์คอยขัดขวางไม่ให้เขาเจอกับผู้รู้ธรรม ให้เขาได้ทนทุกข์นานเท่าที่กรรมจะยังมีผล
5.การจะได้พบผู้รู้
การได้เกิดมาพบพระพุทธเจ้านั้นยากเสียยิ่งกว่ายาก หากไม่เคยทำกุศลมามากพอ ก็จะไม่มีวันได้พบกับสัตบุรุษใดๆเลย ถึงแม้จะพบ ก็เหมือนไม่ได้พบ แม้จะใกล้ชิดก็เหมือนไม่ได้ใกล้ชิด
การที่เราจะได้พบผู้รู้นั้น จำเป็นต้องสร้างกุศลกรรม หรือการสะสมบุญบารมีที่มากพอเราจึงต้องทำดีไปเรื่อย ช่วยเหลือคนไปตามที่ทำได้ แบ่งปัน เสียสละ ทำทาน ถือศีล อดทนฝืนข่มสู้กับกิเลสเท่าที่จะทำได้ ในวันใดวันหนึ่งเมื่อเราทำกุศลไปเรื่อยๆ เมื่อสะสมบุญบารมีที่มากพอ กรรมจะจัดสรรให้เราได้เข้าถึงกุศลที่ยิ่งใหญ่ขึ้น
เช่น เมื่อเราทำบุญทำทานไปเรื่อยๆ อยู่มาวันหนึ่งก็บังเอิญไปทำทานให้กับพระอริยะ ซึ่งก็เป็นทานที่ทำให้เกิดอานิสงส์มากกว่าทำทานกับ สัตว์ คน หรือพระทั่วไป เมื่อได้ทำสิ่งที่เป็นกุศลมากขึ้น ก็จะผลักดันให้เราได้เจอกับผู้รู้ได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น เพราะทุกอย่างเป็นไปตามกรรม เมื่อเราสะสมกรรมดีมากๆ กรรมดีก็จะผลักดันเราให้ทำกรรมดีที่มากขึ้นไปเรื่อยๆ โดยเริ่มจากจากหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใสจากความเศร้ามองซึ่งมีที่มาจากกิเลส
ใครที่ยังรู้สึกว่าตามหาผู้รู้หรือครูบาอาจารย์ ที่ตอบได้ทุกคำถามที่สงสัยไม่เจอ เป็นเพราะเรายังทำดีไม่มากพอ เหมือนเรายืนอยู่บนบันไดขั้นที่ 5 แล้วการจะได้พบผู้รู้นั้นต้องขึ้นบันไดไปขั้นที่ 100 การขึ้นบันไดต้องอาศัยพลังกุศลเป็นตัวผลักดัน เมื่อเราทำกุศลมากๆ วันหนึ่งเราก็จะได้พบเจอเอง
ในทางกลับกัน ถ้าเราอยู่บันไดขั้นที่ 5 แล้วมีผู้ไม่รู้ ผู้หลงผิดเข้าใจว่าตนเป็นครูบาอาจารย์ อยู่ในบันไดขั้นที่ 3 เมื่อเราเผลอทำอกุศลหรือสิ่งชั่ว ทำสิ่งไม่ดีมากๆ อกุศลก็อาจจะพลักดันให้เราไปเจอกับอาจารย์ที่เป็นผู้มัวเมา หลอกลวง หรือพระอลัชชี พระนอกรีต ก็เป็นได้
การจะตามหาผู้รู้นั้น เพียงแค่ทำกุศลให้ถึงรอบ เมื่อถึงเวลาที่ควรเมื่อไหร่ก็จะได้พบเอง การตั้งจิตโดยไม่ได้ทำกุศลนั้น ก็เหมือนเรายืนอยู่ที่บันไดขั้นที่ 5 แต่เฝ้าฝันว่าจะไปถึงบันไดขั้นที่ 100 โดยที่ไม่ก้าวขาออกไป ดังนั้นในชีวิตนี้คงจะไม่มีวันเจอ
เมื่อไม่เจอก็ไม่มีวันพ้นทุกข์ เกิดมาตายไปเปล่าๆ หนึ่งชาติ แล้วก็ต้องเกิดมาหลงทางใหม่อีกหนึ่งชาติและเกิดต่อไปอีกหลายชาติ ถ้าจังหวะพอเหมาะวิบากบาปส่งผลก็อาจจะได้ไปเกิดในช่วงกลียุคที่ประมาณ พ.ศ. ๕๐๐๐ ยามที่พุทธศาสนาสูญสิ้น มีแต่คนบาปเต็มโลก ไม่สามารถทำกุศลได้ มีแต่อกุศล ก็เป็นโอกาสที่คนชั่วจะได้สะสมบาป สะสมอกุศลเพื่อเก็บไว้ทรมานในนรกกันต่อไป
6. แล้วเป็นผู้รู้จริงรึเปล่า
เมื่อเราไปคบคุ้นคบหากับผู้ที่กล่าวอ้างว่าเป็นครูบาอาจารย์ อ้างว่าตนนั้นเป็นผู้รู้ อ้างว่ารู้ธรรมของพระพุทธเจ้า อ้างว่าเป็นอรหันต์ อ้างว่าเป็นผู้ไม่กลับมาเกิดอีก
พระพุทธเจ้าท่านไม่สอนให้เชื่ออะไรง่ายๆ ท่านได้ตรัสไว้ในกาลามสูตรว่า อย่าได้เชื่อถือตามที่ได้ยินมา ตามที่เขาเล่ามา ตามที่เป็นข่าวลือ ตามตำเรา ตามที่เดาเอาเอง คาดคะเนเอาเอง นึกคิดเอาเอง อย่าเชื่อเพราะท่านเหล่านั้นคิดตรงกับเรา หรือเพราะเขาดูน่าเชื่อถือ หรือแม้กระทั่งคนผู้นั้นเป็นครูบาอาจารย์ของเราก็อย่าเพิ่งปักใจเชื่อ ท่านให้พิจารณาเอาว่าสิ่งนั้นหรือธรรมที่กล่าวอ้างนั้นปฏิบัติแล้วเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าเป็นกุศลก็ปฏิบัติให้เข้าถึงที่สุดแห่งกุศลนั้น แต่ถ้าเป็นอกุศลก็ให้ถอยห่างออกมา
ในสมัยพุทธกาลก็มีพระที่หลงผิดอยู่มาก หลงเข้าใจว่าตัวเองบรรลุอรหันต์ก็มี ทำให้อัครสาวกต้องคอยตามแก้มิจฉาทิฏฐิกันอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าในสมัยนี้ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ที่ความเสื่อมของพุทธนั้นได้มาถึงครึ่งทางแล้ว ความหลงผิด ความมัวเมาย่อมจะรุนแรงและขยายตัวมากกว่าในสมัยพุทธกาลอย่างแน่นอน
ถ้าอยากรู้ก็ลองปฏิบัติตามท่านที่เราศรัทธาดู ถ้าทำเต็มที่แล้ว ถามท่านก็แล้ว ยังคงสงสัย ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดแล้วก็ยังรู้สึกว่า กิเลสไม่ลด ชีวิตยังเหมือนเดิม ปีที่แล้วชอบกินน้ำอัดลม ปีนี้ก็ยังชอบกินน้ำอัดลมเหมือนเดิม ก็ให้ลองถามท่านดูว่าจะกำจัดความอยากนี้ได้อย่างไร ถ้าเราคอยปรึกษาและทำตามท่านอย่างเต็มที่แล้ว ปฏิบัติไม่มาไม่ไป ไม่เจริญ ก็มีสองอย่าง 1.เรามีวิบากบาปที่จะกั้นไม่ให้เราบรรลุธรรม ให้ทำดีให้มากๆ 2. ท่านไม่ได้รู้จริง … ให้ลองแก้ที่ข้อ 1 ให้เต็มที่ก่อน คือปฏิบัติตามท่านแล้วทำดีให้มากๆ ก็จะรู้เองว่าสุดท้ายคำคอบคืออะไร
7.ไม่ต้องพบสัตบุรุษแล้วบรรลุธรรมได้ไหม?
เราทุกคนไม่ว่าจะเกิดมาอีกสักกี่ครั้งก็จะมีบาปบุญ ภูมิเก่า และกรรมสะสมมาด้วยเสมอ ถ้าหากท่านบำเพ็ญเพียรจนเป็นพระอรหันต์มีหลายภพหลายชาติแล้ว เก็บสะสมปัญญาบารมี สะสมโลกะวิทู คือการรู้โลกนี้(โลกียะ)และโลกหน้า(โลกุตระ)อย่างแจ่มแจ้ง มากพอที่จะทำให้จิตตั้งมั่นว่าจะบำเพ็ญเป็นพระพุทธเจ้า ท่านก็ไม่จำเป็นต้องพบสัตบุรุษในชาตินั้นๆ ดังจะสังเกตได้ว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ได้เองโดยไม่มีใครสอนธรรมะแท้ของพุทธให้กับท่านเลยในชาตินั้น นั่นเกิดมาจากการที่ท่านสะสมบุญบารมีมานานนับ 4 อสงไขย กับแสนมหากัป
ในสมัยนี้ก็มีมาก ที่มีผู้มัวเมา ตีขลุม ตีกิน ทึกทักเอาเอง อวดอ้างเอาเอง ว่าตนนั้นบรรลุธรรมมีบุญบารมีมาก ก็ขอให้ท่านใช้ปัญญาพิจารณากันเอาเองว่าท่านเหล่านั้นมีลักษณะและคุณสมบัติของสัตบุรุษหรือไม่
– – – – – – – – – – – – – – –
25.9.2557
ตรวจสอบศีล ข้อ๑ เราเมตตามากพอหรือยัง
ตรวจสอบศีล ข้อ๑ เราเมตตามากพอหรือยัง
ถือศีลกันมาก็นานแล้ว เราเคยตรวจสอบกันบ้างไหมว่าจิตใจของเราเจริญขึ้นมาอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะศีลข้อ ๑ คือให้เว้นขาดจากการฆ่าทำร้ายทำลาย ทำชีวิตสัตว์ให้ตกร่วง ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่เบียดเบียนสัตว์ เราสามารถถือศีลข้อนี้ได้ดีอยู่หรือไม่ แล้วการถือศีลข้อนี้ ได้ทำให้จิตใจของเราเจริญขึ้นอย่างไร จะแบ่งปันประสบการณ์ให้ได้ลองทบทวนกัน
ผ่านมาเมื่อไม่กี่ปีก่อน ผมยังเป็นอย่างคนทั่วไป มดกัดบี้มด ยุงกัดตบยุง เหตุการณ์ล่าสุดที่ผมยังจำความอำมหิตโหดร้ายของตัวเองได้ดีคือ คือเมื่อครั้งไปเที่ยวเขาใหญ่กับเพื่อนๆ กลางปี 2012 ที่ผ่านมาไม่นานนี่เอง
เนื่องจากเป็นหน้าฝน ก็เลยมีทากมาก พอเดินเข้าไปน้ำตก ก็มีทากเกาะบ้าง พอมันเกาะแล้วกัดเรา เราก็ดึงออกไม่มีอะไร ทีนี้พอเดินผ่าน เดินเล่น ทำกิจกรรมอะไรเล็กน้อยเสร็จแล้วก็มานั่งพักกัน เพื่อนสังเกตว่ามือเราเลือดไหล เราก็สงสัยว่าไม่ได้เจ็บไม่ได้เป็นแผลอะไรนี่ ทำไมเลือดไหลเยิ้ม สุดท้ายก็มาเจอตัวการคือทากหนึ่งตัว
เมื่อได้เห็นตัวการและผลงานที่มันทำ ผมจึงหยิบมันมาบี้ๆด้วยความแค้นที่เย็นชา ไม่มีคำพูดคำด่าอะไร รู้แค่อาฆาตมัน บี้แล้วมันไม่ตายก็เลยวางลงบนพื้นแล้วเอาพื้นรองเท้าบี้และขยี้จนมันแหลกไปกับพื้น ด้วยความสะใจ
ผมยังจำสายตาของเพื่อนที่มองการกระทำของผมได้อย่างดี มองคนที่ใจดำอำมหิต ที่ฆ่าได้อย่างเลือดเย็น ด้วยวิธีที่โหดร้ายรุนแรง ผมยังจำบาปที่ทำในตอนนั้นได้ดี เป็นสิ่งที่เก็บไว้สอนใจอย่างไม่มีวันลืม
เรียนรู้ธรรมะ
จนเมื่อวันที่ผมได้ก้าวเข้ามาใกล้ชิดกับธรรมะมากขึ้น เรียนรู้เรื่องศีลมากขึ้น แต่ก่อนผมก็คิดนะเรื่องถือศีล๕ ก็ถือบ้างไม่ถือบ้าง แต่พอได้ศึกษาเรียนรู้มากขึ้น จึงได้พบว่าศีลนั้นมีคุณค่ามากกว่าแค่การถือ ศีลเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้เราพัฒนาและเจริญเติบโตได้ ถ้าเรายังไม่เข้าใจคุณค่าของศีล หรือถือศีลตามเขาไปโดยที่ไม่รู้เนื้อหาสาระ ก็จะไม่มีวันพัฒนาได้เลย
ศีลที่ผมเรียนรู้มาคือศีลที่มีไว้เพื่อให้เห็นกิเลส เป็นเครื่องบีบคั้นให้จิตใจได้ต่อสู้กับกิเลส ได้แพ้กิเลส ได้ล้างกิเลส ซึ่งก่อนหน้านี้มันมีแต่แพ้กับกดข่ม เพราะไม่เคยสู้เลย ผมถือศีลแบบยอมกิเลสมาตลอด อะไรพออดทนไหวก็ทำไป อะไรไม่ไหวก็ศีลแตกบ้างก็ไม่ได้คิดอะไร แต่พอได้เรียนรู้คุณค่าแห่งศีลแบบนี้แล้ว ก็เลยใช้ศีลนี่แหละเป็นตัวขัดเกลาตนเอง
เมื่อผมปฏิบัติศีลมาอย่างตั้งมั่น ได้พบกับความโกรธ ความอาฆาตของตัวเองอยู่หลายครั้ง เพราะมีศีลเป็นเครื่องจับผี จับจิตใจที่โกรธเคืองของเราได้อย่างดีและดักมันไว้อย่างนั้นจนกว่าเราจะทำอะไรสักอย่างกับมัน ผมได้มีโอกาสฝึกกับยุงที่มากัดตั้งแต่ขั้นกดข่ม คือมันกัดแล้วก็แค้นนะ แต่ไม่ตบ จนเจริญมาถึงเรื่องที่กำลังจะเล่าต่อไป
ผลของการปฏิบัติศีล– เรื่องของยุง
เมื่อวานก่อนผมนอนงีบหลับพักผ่อนอยู่ รู้สึกเจ็บคัน บริเวณขา จึงรู้แน่นอนว่ายุงกัด ก็เลยไม่ขยับตัวสักพัก ปล่อยให้มันดูดไป เพราะหากเราขยับตัวหรือบิดตัว ก็เกรงว่าจะทำให้มันตายได้ หรือไม่มันก็บินกลับมาดูดเลือดอีกจุดอยู่ดี การไม่ยอมให้มันดูดเลือดในครั้งนี้จึงไม่เป็นผลดีกับใครเลย ก็เลยปล่อยให้มันดูดไปอย่างนั้น ไม่ได้โกรธแค้นอะไรมัน
ทีนี้รอสักพักมันคงดูดเสร็จแล้ว เราก็งีบต่ออีกหน่อยจนลุกขึ้นมาทำงานต่อ มียุงตัวหนึ่งบินมาวนเวียนหน้าโต๊ะทำงาน ท้องของมันป่อง เต็มไปด้วยเลือด มันบินช้าเพราะมันหนักเลือดที่ท้อง บินวนอยู่ก็หลายรอบ
ในใจก็สงสารมันนะ มันคงออกไม่ได้ แต่จะทำอย่างไร จะไปจับมัน ก็กลัวจะพลาดผิดเหลี่ยมผิดมุมตายคามือ ก็คิดอยู่สักพัก ตัดสินใจว่าถ้ามันบินผ่านหน้ามาอีกครั้งจะลองจับดู และแล้วมันก็บินผ่านหน้ามาอีกที ผมค่อยๆ เอามือไปล้อมมัน โชคดีที่มันกินอิ่มมันจึงบินช้า เลยจับไว้ในอุ้งมือได้ง่ายๆ
ผมเก็บมันไว้ในอุ้งมือ และเปิดกระจกออกพอประมาณมือสอดออก เพราะเกรงว่าเดี๋ยวมันจะบินผิดทิศ บินกลับเข้ามาในห้องอีก พอยื่นแขนออกไปได้สักหน่อยก็คลายมือออก ยุงตัวนั้นก็บินจากไปตามทางของมัน
ผลของการปฏิบัติศีล– เรื่องของแมงป่อง
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อตอนไปทำงานที่ไร่ ตื่นนอน ทำธุระยามเช้า ขับรถออกจากบ้านเช่า ไปถึงไร่ก็ระยะ 2 กิโลเมตรเท่านั้น เมื่อถึงก็จอดรถ ขณะที่กำลังจะลงจากรถก็รู้สึกว่ามีตัวอะไรมาไต่แขน ซึ่งตอนนั้นใส่เสื้อฝ้ายแขนยาว จึงนึกไปว่าแมงมุม ไม่รู้จะทำอย่างไรเลยไปจับผ้าเบาๆ เพื่อล็อกมันไม่ให้ขยับก่อนที่จะเปิดประตูรถออกไปเพื่อเหย่ามันออก แต่มันก็ไม่ออก แถมยังต่อยอีก ทันทีที่โดนต่อย ก็อาการปวดร้อนรุนแรงขึ้นมาทันที จึงถอดเสื้อแล้วสะบัดออก พบว่าเป็นแมงป่อง ซึ่งน่าจะเป็นแมงป่องบ้าน ตัวไม่ใหญ่มาก มันก็ค่อยๆเดินหนีเข้าไปตามซอกดินที่แตก
ในขณะที่โดนแมงป่องต่อย ไม่ได้มีความโกรธแค้นเลยแม้แต่นิดเดียว มีแต่ความเจ็บปวดที่แขน คือทุกข์ที่เกิดจากพิษ ส่วนใจยังเป็นห่วงว่ามันจะโดนบี้ในตอนถอดเสื้อ เพราะเสื้อแขนยาวนั้นไม่ได้ตัวใหญ่ หรือหลวมมากนัก เมื่อเห็นมันตกลงมาและเดินต่อได้ โดยภาพที่เห็นมันก็ครบองค์ประกอบดี ทำให้รู้สึกสบายใจที่ไม่ได้ไปฆ่ามัน สบายใจที่มันยังดีอยู่เหมือนเดิม รู้สึกได้เลยว่าจิตอิ่มเอิบไปด้วยเมตตา
ทั้งๆที่ในความจริง(แบบโลกๆ)แล้ว เราควรจะโกรธ ควรจะแค้น สิ่งที่มาทำเราเจ็บ แต่ความรู้สึกเหล่านั้นกลับไม่เกิดเลย
สรุปผล
ดังตัวอย่างเรื่องยุงและเรื่องแมงป่อง ผมจึงได้เห็นจิตใจที่พัฒนาของตัวเอง จากเป็นคนที่โกรธง่าย อาฆาตแรง แค้นฝังใจ กลับกลายเป็นคนที่ไม่โกรธ นอกจากจะไม่โกรธแล้วยังรู้สึกว่ามีเมตตา อยากให้มันพ้นภัย จนกระทั่งกรุณาคือลงมือทำให้มันเป็นสุข เช่นการนำยุงไปปล่อย มีความมุทิตา คือยินดีเมื่อมันสามารถหนีไป จากไป ได้แบบเป็นสุขดี และอุเบกขาตรงที่ปล่อยให้มันเป็นไปตามบาปบุญของมันต่อไป
การถือศีลนั้น จึงเป็นการถือเพื่อที่จะขัดเกลากิเลสออกจากจิตใจของตนเอง มากกว่าที่จะถือไปเพราะมัวเมา เพราะหลง เพราะงมงาย เพราะเห็นว่าเขาถือกัน เพราะได้ยินเขาพูดกันว่าดี แต่ถือเพราะเรามีปัญญารู้ถึงคุณค่าของศีลนั้น เราจึงใช้ศีลนั้นเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตัวเอง
ถ้าไม่มีศีล หรือไม่ถือศีล เราก็จะไม่เห็นกิเลสของเรา ถ้าถือศีลบ้างไม่ถือศีลบ้าง หรือถือศีลแบบเหยาะแหยะ หยวนๆ ลูบๆคลำๆ ไม่เอาจริงเอาจัง ก็จะกลายเป็นไม่ได้อะไรเลย จะดีก็ไม่ดี แต่จะชั่วก็ไม่ใช่ เป็นอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน
ดังนั้นการจะถือหรือยึดสิ่งใดมาอาศัย เราจึงควรพิจารณาให้เห็นถึงคุณค่าของสิ่งนั้น เข้าถึงประโยชน์ของสิ่งนั้นด้วยปัญญารู้จริงถึงประโยชน์ เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งการรู้แจ้ง ศาสนาแห่งปัญญา มิใช่ศาสนาที่พาให้หลงงมงาย หลงมัวเมา แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นความดีก็ตาม
การตรวจสอบศีลของเราก็เอาจากเรื่องง่ายๆในชีวิตประจำวันแบบนี้ละนะ ถ้าแค่เรื่องง่ายๆ เรื่องเบาๆ เรายังทำไม่ได้ ก็อย่าหวังว่าจะทำศีลที่ยากกว่า หนักกว่า รุนแรงกว่า ได้เลย
– – – – – – – – – – – – – – –
23.9.2557