Tag: เจียมตัว

ดอกไม้กับความรัก

February 10, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,271 views 0

ดอกไม้กับความรัก

ดอกไม้กับความรัก

ย้อนไปเมื่อหลายสิบปีก่อน สมัยที่ผมยังเป็นเด็กประถม เด็กน้อยคนหนึ่งที่ชอบปลูกต้นไม้….

หน้าบ้านของผมมีพื้นที่โล่งๆ เป็นทุ่งกว้างแต่ก็ไม่มีอะไรนอกจากกอหญ้าและวัชพืชทั้งหลาย พื้นที่ของมันกว้างขนาดมองทะลุไปอีกซอยได้เลยทีเดียว สำหรับเด็กคนหนึ่งนั่นคือสนามเด็กเล่นที่ใหญ่มาก

ผมใช้เวลากับทุ่งแห่งนั้นอยู่บ่อยครั้ง มีครั้งหนึ่งที่ผมไปเจอต้นไม้ต้นหนึ่ง หน้าตาไม่คุ้นสักเท่าไรนัก แต่สิ่งที่น่าสนใจของมันคือดอก เป็นช่อที่มีลักษณะแปลกประหลาดกว่าต้นหญ้าและดอกไม้ทั่วไปที่ขึ้นอยู่แถวนั้น บนพื้นที่กว้างใหญ่แห่งนี้มีเพียงต้นนี้ต้นเดียว

เมื่อรู้สึกถูกอกถูกใจต้นไม้ที่มีดอกสวยแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อนก็จึงเกิดความอยากได้ ผมจำได้ว่าสุดท้ายก็ไปขุดต้นไม้ต้นนั้นกลับมาใส่กระถางที่บ้าน ทั้งๆที่ระยะของต้นไม้กับบ้านห่างกันไม่ถึงร้อยเมตร

แม้ว่าจะเป็นเด็กแต่ผมก็เคยเห็นดอกไม้มามากมายจากหนังสือ แต่ในหนังสือกับความจริงไม่เหมือนกัน พอเราเจอสิ่งที่แตกต่าง ไม่ทั่วไป ดูโดดเด่น เราก็มักจะสนใจสิ่งนั้น

สุดท้ายต้นไม้ที่มีดอกแปลกใจถูกใจผมต้นนั้น ด้วยความที่ไม่รู้วิธีดูแลหรืออาจจะขุดมาแล้วต้นบอบช้ำ ต้นไม้ก็ค่อยๆเหี่ยว ร่วงโรยและตายจากไปในที่สุด แน่นอนว่าผมเสียใจที่ต้องเสียมันไป

….เป็นเรื่องง่ายๆที่เข้าใจได้ไม่ยาก ผู้ใหญ่ก็คงจะมองว่าเอามาทำไม ปล่อยมันโตอยู่แบบนั้นก็ได้ดูทุกวันแล้ว ทำไมต้องเอามาครอบครอง มันก็เป็นแค่ต้นไม้ต้นหนึ่งในทุ่งกว้างเท่านั้นเอง ถ้าไม่อยากได้ก็ไม่ต้องขุด ต้นไม้ก็ไม่ต้องตาย อาจจะเติบโตและแพร่พันธุ์มากขึ้นก็ได้ แต่สำหรับผมในตอนนั้นมันไม่ได้ง่ายแบบนั้น ต้นไม้ต้นนั้นเป็นความหวัง เป็นความสุข เป็นทุกอย่าง

….ความรักก็เช่นกัน

แม้ว่าคนอื่นจะมองว่าไม่น่าจะหลงและเมามายกับความรักได้ขนาดนี้แต่คนที่มีแต่ความอยากได้อยากครอบครองจนเต็มหัวใจ ต่อให้มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าเท่าไหร่ก็คงจะมองไม่เห็น หรือจะเรียกให้ถูกคือไม่อยากมอง อยากได้รักนั้นมาเก็บไว้กับตัวอย่างเดียว มองความรักเป็นเรื่องที่ต้องได้มา ต้องได้ครอบครอง ต้องได้เป็นเจ้าของโดยไม่สนใจผลจะเป็นอย่างไร ขอให้ได้พรากจากจุดที่เขาอยู่มาเป็นของเราก็พอ

ต้นไม้จะเติบโตและงดงามก็ต่อเมื่อมันอยู่ในจุดที่มันควรจะอยู่ คนก็เช่นกัน เขาหรือเธอจะสามารถแสดงคุณค่าและความหมายของชีวิตได้ก็ต่อเมื่อพบที่ที่ควรจะอยู่ สิ่งที่ควรจะทำ ซึ่งนั่นหมายถึงเขาจะต้องค้นหาความหมายเหล่านั้นด้วยตัวเอง มันไม่ได้หมายความว่าการที่เรามีสิ่งดี เป็นคนดี มีเงิน มีตำแหน่ง มีชื่อเสียง มีความรู้ มีธรรมะ แล้วจะสามารถนำใครเข้ามาในชีวิตได้เสมอไป

มันเหมือนกับที่ผมมั่นใจว่าจะดูแลต้นไม้ที่ขุดมาได้ ผมมีทั้งดิน ปุ๋ย น้ำ แสงแดด มีทุกอย่างที่คิดว่าจะทำให้มันเติบโตและงดงาม แต่ความจริงได้ทำลายความเชื่อของผมลงอย่างสิ้นเชิง ต้นไม้จะโตและงดงามได้ก็ต่อเมื่อมีปัจจัยที่เหมาะสม ไม่ได้หมายความว่ามีมากจะดี แต่ต้องมีให้เหมาะสม

เช่นเดียวกับความรักความห่วงใย แม้ว่าเราจะมีสิ่งที่ดีมอบให้กับใครได้มากมายแต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเหมาะสม เขาจะมีความสุข อบอุ่น สบายใจก็ต่อเมื่อได้รับสิ่งที่เหมาะสมเท่านั้น เราไม่มีวันประมาณให้สิ่งใดเหมาะสมกับคนอื่นได้ถูกต้องเสมอไป

แต่ด้วยความอวดเก่ง อวดดี ยึดดีถือดี ก็มักจะคิดว่าฉันนี่แหละจะสามารถดูแลเขาได้ ฉันนี่แหละจะสามารถทำให้เขามีความสุขได้ ฉันนี่แหละจะทำให้เขาเก่งและเจริญก้าวหน้ายิ่งกว่านี้ได้ ฉันนี่แหละจะมาเป็นคนที่ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น … คนที่เห็นผิดจะมีความเข้าใจในแนวทางนี้

แท้จริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องครอบครองใครเลย ไม่จำเป็นต้องนำใครเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของชีวิต เพราะเขาเหล่านั้นก็ดำเนินชีวิตไปอย่างดีที่สุดที่เขาควรจะเป็นแล้ว การพยายามฝืนให้ใครสักคนเข้ามาในชีวิตจะต้องพบกับทุกข์ ทุกข์ และทุกข์ที่ปนเปไปกับสุขลวงเล็กน้อยที่ทำให้เราเห็นว่าดี ได้รับแค่สุขน้อยทุกข์มาก สุขลวงทุกข์แท้

ถ้าเราไม่มีความอวดเก่งอวดดี ไม่ถือว่าเราเป็นคนสำคัญ เราก็คงจะไม่นำใครเข้ามาในชีวิต เราจะอยู่อย่างเจียมเนื้อเจียมตัวว่าเราไม่สามารถเข้าไปทำให้ชีวิตของใครดีขึ้นได้จริงๆหรอก

เหมือนกับเรื่องของผมและต้นไม้ หากผมเองไม่มีความหลง ไม่มีความอวดเก่ง คิดไปเองว่าตัวเองจะดูแลต้นไม้ต้นนั้นได้ ก็คงจะระวังมากกว่านี้ คงไม่ไปขุดต้นไม้ต้นนั้นมาไว้ที่บ้านตัวเอง คงจะปล่อยต้นไม้ให้ออกดอกไปแบบนั้น คอยชมและดูแลมันอยู่ห่างๆตามที่มันควรจะเป็น ปุ๋ยที่เรามีก็สามารถเดินไปใส่ให้ต้นไม้ต้นนั้นได้ ใส่บนพื้นดินที่มันงอกอยู่ และเอาน้ำมารดบนพื้นดินที่ไม่ได้เป็นของเรา เพราะเราแค่เพียงอยากเห็นต้นไม้นั้นออกดอกงดงาม ไม่ได้อยากให้มันเป็นของเรา

ความรักก็เช่นกัน เราไม่จำเป็นต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในชีวิตใครเลย ถึงแม้เราจะรักและห่วงใยเขาแค่ไหน เราก็เพียงแค่คอยช่วยเหลืออยู่ห่างๆ คอยช่วยในแบบที่เขาเป็น ไม่ใช่แบบที่เราอยากให้เป็น ดูแลและแนะนำในบริบทของเขา ในความเข้าใจแบบของเขา อย่าพยายามเอาความรักและความดีไปทำให้เขาเปลี่ยนไป ถ้าเขาจะเปลี่ยนแปลงเพราะเห็นสิ่งที่ดีในตัวเราเขาก็จะเปลี่ยนแปลงชีวิตเขาเอง

ถ้าเขาเห็นว่าความคิดที่เขามี ชีวิตที่เขาเป็น หรือสิ่งที่เขาเชื่อมั่นนั้นไม่ได้ทำให้เขาเป็นสุขหรือทำให้ชีวิตดีขึ้น และเห็นว่าความรักความห่วงใยที่เรามอบให้นั้นเป็นสิ่งที่ดี เขาก็จะมารับจากเราเอง ถ้าเราคือที่ที่เขาจะสามารถเติบโตได้ดีที่สุด เขาก็จะมาเอง

แต่ถึงแม้ว่าเขาจะยินดีมารับความรักและความห่วงใยจากเรา ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องรับเขาเข้ามาไว้ในชีวิต เพราะรู้ดีว่าเขาจะเติบโตขึ้นได้ก็เพราะตัวเขาเอง ไม่ใช่เพราะตัวเรา การเอาตัวเขามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเราจะทำให้เขาไม่เติบโตตามที่เขาควรจะเป็น

ดังที่กล่าวมาทั้งหมด จึงให้ความหมายของความรักนั้นว่า การยินดีที่จะให้โดยที่ไม่ครอบครอง ให้แต่สิ่งที่ดีโดยที่ไม่หวังผล ยอมไม่เอาสิ่งใดกลับมา ยอมแม้แต่จะไม่ได้รับคำขอบคุณ ยอมแม้ว่าจะไม่มีใครเห็นคุณค่า ยอมแม้ว่าจะไม่มีเราอยู่ในความทรงจำของเขา ยอมแม้แต่จะไม่มีโอกาสได้ให้สิ่งดีๆเหล่านั้น

…..จนถึงตอนนี้ผมก็ไม่เคยเห็นต้นไม้ต้นนั้นอีกเลย มันกลายเป็นแค่อดีต กลายเป็นแค่ความทรงจำ ให้เราได้เรียนรู้ว่าเราไม่ควรจะหยิบฉวยสิ่งใดมาเป็นของตนเลย …ความรักก็เช่นกัน

– – – – – – – – – – – – – – –

9.2.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ทำไมเธอไม่กินมังสวิรัติ?

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,753 views 0

ทำไมเธอไม่กินมังสวิรัติ?

ทำไมเธอไม่กินมังสวิรัติ?

…เป็นคำถามที่ยังสงสัย หรือเป็นเราเองที่กำลังหลงลืมอะไรไป?

หลายคนที่สามารถลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจได้ดี มักจะมีคำถามลึกๆอยู่ในใจว่า ลดเนื้อกินผักมันยากตรงไหน กินเนื้อสัตว์มันดีตรงไหน แล้วกินผักมันไม่ดีอย่างไร ในเมื่อมีข้อมูลมากมายมายืนยันว่ากินผักแล้วดี ทำไมเธอถึงยังไม่เลิกกินเนื้อสัตว์

ท่ามกลางความสงสัย เขาเหล่านั้นก็มักจะกระหน่ำโถมใส่ข้อมูลในด้านดีของมังสวิรัติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาพความโหดร้ายของการฆ่าสัตว์ บทความที่ทำให้ตระหนัก ข้อมูลวิจัยและข้อมูลอ้างอิงต่างๆ ทั้งในด้านสุขภาพและด้านจิตใจ ในสมัยนี้เราก็มักจะใช้ เฟสบุ๊ค เว็บบอร์ด เว็บไซต์ ฯลฯ เป็นเครื่องมือในการให้และกระจายข้อมูลกัน แต่ยิ่งทำก็ยิ่งไม่เข้าใจและกลับยิ่งสงสัย คนบางส่วนหันมากินมังสวิรัติก็จริง แต่ทำไมคนอีกมากมายกลับไม่สนใจ ไม่ใยดี แม้ว่าเราจะเสนอข้อมูลให้เขาเหล่านั้นได้เห็นผ่านช่องทางที่เรามีเท่าไหร่แต่เขาก็ยังไม่ยินดีที่จะมากินมังสวิรัติ

ทำไม? เพราะอะไร? หรือเขาไม่เมตตาเหมือนเรา ไม่อดทนเหมือนเรา ไม่มีศีลเหมือนเรา หรือเป็นเราเองที่กำลังหลงเข้าใจอะไรบางอย่างผิดไป….

1).หรือเป็นเราเองที่เข้าใจผิด

บางครั้งเมื่อเราทำอะไรได้ง่ายจนเกินไป เราก็มักจะมองข้ามรายละเอียดหลายๆอย่างไป หลงคิดว่าทุกคนต้องเข้าใจเหมือนเรา เห็นเหมือนเรา ทำได้เหมือนเรา เราเริ่มที่จะเอาตัวเองหรือกลุ่มของตนเป็นมาตรฐานในการวัดคน จึงเริ่มก่อเกิดอัตตาทั้งในตัวเราเองและอัตตาในกลุ่มของเรา

จนกระทั่งเราหลงเข้าใจไปว่าการกินมังสวิรัตินั้นเป็นปกติของชีวิตเป็นมาตรฐานที่สังคมของเราส่วนใหญ่ทำได้ เราก็จะยิ่งสงสัยมากขึ้นไปอีกเมื่อเห็นคนมีความสุขกับการกินเนื้อสัตว์ และแม้เราจะพยายามบอกหรือถ่ายทอดมากเท่าไหร่ก็ยังไม่มีผล ถึงจะมีผลก็เป็นผลที่กดดันเขา บีบคั้นเขา ใช้ความดีเข้าไปอัดกระแทกจนคนกินเนื้อสัตว์หวาดผวา

ในความจริงแล้วยุคสมัยนี้เราต้องยอมรับว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นเรื่องปกติ การลดเนื้อกินผักเป็นเรื่องไม่ปกติ คนปกติเขาไม่ทำกัน ไม่มีใครอยากพรากจากความอร่อยของเนื้อสัตว์ คนจำนวนมากแม้ได้เห็นภาพสัตว์ตาย ข้อความที่ร้องขอหรือกระตุ้นจิตสำนึก จนกระทั่งได้รับข้อมูลวิจัยมากมาย แต่ก็ไม่สามารถที่จะเลิกเนื้อสัตว์ได้

คนที่เลิกได้ก็เลิกได้ แต่คนที่เลิกไม่ได้ก็คือเลิกไม่ได้ และไม่คิดจะเลิกกินเนื้อสัตว์ หากเราเอาความดีความชั่วความเมตตามาวัด เราก็จะได้ผลที่ผิดเพี้ยนไปจากความจริง เพราะแท้จริงแล้วไม่มีใครอยากทำชั่วหรืออยากเบียดเบียนคนอื่น แต่เพราะกิเลสอันคือความอยากเสพในตัวเขา กระตุ้นให้เขาอยากกิน ให้เขาแสวงหา ให้เขาหลงวนเวียนอยู่กับเนื้อสัตว์

2). ใจเขาใจเรา

เมื่อเรามีกิเลส การจะเลิกเบียดเบียนนั้นทำได้ยาก ถึงแม้จะแค่ในขั้นลดก็ยังทำได้ยากเช่นกัน ถ้าเราลองเข้าใจในเรื่องกิเลสให้มากอีกสักนิดก็จะไม่มีคำถามว่าทำไมคนอื่นไม่หันมากินมังสวิรัติ มากินผักลดเนื้อกัน เพราะเข้าใจในเรื่องกิเลสจึงจะสามารถปล่อยวางได้ ไม่ตั้งคำถาม ไม่กดดัน ไม่บีบคั้นใครๆ

หากเรามองว่าการกินมังสวิรัติเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับเราแล้วมัวแต่มองไปยังคนที่กินเนื้อแล้วรู้สึกว่าตนเองนั้นทำได้ดีกว่า เก่งกว่า เมตตากว่า เบียดเบียนน้อยกว่า ความรู้สึกเหล่านี้จะก่อตัวเป็นอัตตาทำให้เราเป็นคนยึดดีและติดดีในที่สุด

ให้เราลองพิจารณาถึงคนที่มีศีลสูงกว่า เบียดเบียนน้อยกว่า ยกตัวอย่างเช่น พระที่ฉันอาหารมื้อเดียว ท่านก็เบียดเบียนโลกน้อยกว่าเราจริงไหม เพราะปกติเรากินตั้งสามมื้อเสียทั้งเงินเสียทั้งเวลาในการกิน แต่ท่านกินมื้อเดียวก็สามารถเอาเวลาที่ไม่ได้กินมื้ออื่นมาทำประโยชน์ได้มากขึ้น เหลืออาหารให้คนอื่นมากขึ้น เพราะไม่ได้เอาอาหารมาบำเรอตัวเองจนเกินความจำเป็น

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่ากินมื้อเดียวนี่ดีที่สุดในโลกนะ และการกินมื้อเดียวนี่มีประโยชน์มากนะ ทำให้เจ็บป่วยน้อย ลำบากกายน้อย เบากายเบาใจ มีกำลัง เป็นอยู่ผาสุก (กกจูปมสูตร) เห็นไหมมีแต่ประโยชน์ทั้งนั้นเลย ก็เหมือนกับการที่เราอยากให้คนอื่นหันมากินมังสวิรัตินั่นแหละ เราก็มองว่าเป็นสิ่งดี เป็นกุศล มีประโยชน์

ทีนี้เราลองมาดูบ้างถ้ามีคนยื่นสิ่งที่มีประโยชน์กว่าการกินสามมื้อ มาเสนอให้เรากินมื้อเดียวนี้ เราจะเอาไหม? เราจะเห็นดีกับเขาไหม? เราจะทำตามเขาไหม? ถึงสิ่งนั้นจะดีแต่มันก็ทำได้ไม่ง่ายเลยใช่ไหม?

ก็เหมือนกับที่เราไปอยากให้คนอื่นเขามากินมังสวิรัติเหมือนเรานั่นแหละ ถ้าเราเริ่มเห็นแล้วว่ากิเลสมันเป็นแบบนี้ มันทำงานแบบนี้ มันดื้อด้านแบบนี้ มันจะหาเหตุผลมากมายเพื่อไม่ให้เข้าถึงสิ่งที่ดี ถึงแม้ว่าจะมีสิ่งที่มีประโยชน์มาอยู่ตรงหน้ามันก็จะไม่เอาแบบนี้

เราก็จะเข้าใจคนที่ยังติดกับการกินเนื้อสัตว์อยู่ได้โดยไม่สงสัย เพราะเข้าใจว่าเรื่องกิเลสเป็นเรื่องยาก ฐานใครก็ฐานมัน เขาทำได้เท่านั้นมันถูกตามกิเลสของเขาอย่างนั้น เราทำได้ขนาดนี้เรายังไม่อยากพัฒนาไปมากกว่านี้เลย

3). เจียมตัว

เมื่อเราเข้าใจเรื่องกิเลสเราก็จะมีแนวโน้มที่อ่อนนุ่มลง ไม่ถือตัวถือตน ไม่อวดดิบอวดดี อ่อนน้อมถ่อมตน เป็นมังสวิรัติที่เจียมตัว ไม่กดดันใคร ไม่บีบคั้นใคร ไม่เสนอให้ใครขุ่นใจ มีการประมาณที่ดีให้เหมาะกับจิตใจของผู้ฟัง

การอ่อนน้อมถ่อมตนนี้เองคือคุณสมบัติของผู้เมตตา เป็นผู้มีธรรมะในตนเพราะไม่มีอัตตา ไม่ยกตนข่มท่านให้ใครมัวหมอง มีแต่จิตเมตตาให้ทั้งสัตว์และคนที่ยังมีกิเลส เข้าใจว่าสัตว์นั้นก็ต้องรับกรรมของเขา และเข้าใจว่าคนนั้นก็ต้องสู้กับกิเลสไปตามฐานที่เขามี จะให้เขาทำเกินกำลังที่เขามีมันจะไม่ไหว เขาจะทรมานจนกระทั่งไม่ทำเสียเลยยังจะดีกว่า

ความทรมานจากความยึดดีถือดีนี้เองคือ อัตตกิลมถะ หรือทางโต่งในด้านอัตตา ไม่เป็นไปในทางสายกลาง หากเราเองยังมีความยึดดีถือดีจนไปทำให้ใครลำบากใจอยู่นั้นก็ไม่สามารถเรียกว่าอยู่บนทางสายกลาง แม้ว่าเราจะสามารถออกจากความอยากกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว แต่ถ้ายังมีอัตตา ยึดว่าตนทำได้ทำไมคนอื่นทำไมได้ ทำไมเขาไม่เมตตา ทำไมเขาไม่เลิกเบียดเบียน มันก็ยังสร้างความทุกข์ทรมานให้กับตนเองและผู้อื่นอยู่ดีนั่นเอง

ดังนั้นนักมังสวิรัติที่เข้าใจในเรื่องมังสวิรัติจริงๆก็จะเป็นผู้ที่เข้าใจผู้อื่น เพราะเข้าใจว่ากิเลสเป็นแบบนี้ ก็จะเจียมตัวปฏิบัติตนเองในแนวทางลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจต่อไปโดยไม่สงสัยและไม่ไปยุ่งวุ่นวายในการปฏิบัติของคนอื่น

– – – – – – – – – – – – – – –

7.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)