Tag: ห่างไกลคนพาล

ห่างไกลคนพาล คือตัวอย่างของคนดี

February 18, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 830 views 0

ความเด็ดขาดที่จะตัดสิ่งไม่ดีออกจากชีวิตคือคุณสมบัติหนึ่งที่จะช่วยให้ชีวิตเป็นอยู่ผาสุก

ความห่วงกังวลก็เหมือนแผลเหมือนฝี ต้องคอยระวัง เจ็บปวดอยู่เป็นประจำ ชีวิตที่เนื่องด้วยคนพาลก็เช่นเดียวกัน

คนพาลคือผู้ที่ไม่ประพฤติไปตามธรรม ไม่เอาธรรมะ เกเร เอาแต่ใจ หมกมุ่นกับกิเลส

ถ้าชีวิตของเรานั้นห่างไกลคนพาลได้ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ความเป็นจริงคือ เรามักจะรู้ตัวเมื่อสายไปเสียแล้ว คนพาลนั้นร้ายยิ่งกว่าเสือ เสืออย่างเก่งก็แค่ทำร้าย กัดเราตาย แต่ไม่มีพิษภัยมากกว่านั้น คนพาลนั้นมีพิษยิ่งกว่า แสร้งว่าเป็นคนดี ซ่อนตัวตนของความพาลอย่างแนบเนียน กว่าที่เราจะรู้ตัวก็เรียกว่าถลำคบหาไปเยอะ ใกล้เกินไป

แต่เมื่อเรารู้แล้วว่า คนนี้เป็นคนพาล คิดนี้ผิดศีล คนนี้พูดกลับกลอก ไม่พูดตามจริง พูดผิดเพี้ยนบิดเบี้ยว ไม่ปฏิบัติตามธรรม เราก็ควรจะออกห่างมา เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัว การไปเตือนคนพาลจะยิ่งทำให้เขาจองเวรเรา คือเขาไม่ฟังเราแล้วก็หนึ่งประเด็น เขาจะเห็นว่าเราเป็นศัตรูของเขาก็อีกประเด็น ดังนั้น ถ้าเห็นความพาลแล้ว ผมจะเลือกถอยออกมาเลย

ยิ่งถ้าผิดศีลกันชัด ๆ นี่ไม่ต้องพูดถึง ส่วนใหญ่ก็จะให้เวลาประมาณหนึ่ง เพื่อจะดูว่าสำนึกบาปไหม ถ้าดูท่าทีแล้วไม่สำนึกก็ต้องห่างไว้ คนผิดศีลแล้วรู้ตัวยังพอคบหาได้ แต่คนผิดศีลแล้วไม่สำนึกคบไม่ได้

ทีนี้มันก็ต้องอาศัยความเด็ดขาดอยู่เหมือนกัน เพราะถ้าไม่เด็ดขาด อนุโลม คบกันไป ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากจะไม่ช่วยคนพาลคนนั้น ไม่ทำประโยชน์ให้ตัวเองด้วย แล้วยังกลายเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับคนที่เขาศรัทธาเราด้วย

ถ้าเราชัดเจน คนที่ดูเราอยู่ เขาจะมั่นใจขึ้น ถ้าเราไม่คบใครเขาจะถอยตามเรา ถ้าเราไม่คบคนพาล แล้วเขาไม่คบคนพาลตามเรา อันนั้นมันก็ดี แต่ถ้าเราไม่คบคนพาลแล้วเขายังคบคนพาลอยู่ก็เรื่องของเขา แต่เราก็ทำหน้าที่ของเราให้เห็นแล้ว เราทำให้ดูชัดเจนแล้ว ว่าเราคบหรือไม่คบใคร

มันต้องอาศัยความเด็ดขาดเหมือนพระโมคคัลลานะที่จับพระทุศีลโยนออกจากองค์ประชุมนั่นแหละ แต่เราไม่ต้องทำถึงขั้นนั้นหรอก อันนั้นบารมีระดับอัครสาวก อย่างเราก็ทำให้ชัดเจนที่ตัวเราก็พอ

ให้เราพ้นจากอำนาจบารมีของคนพาล แน่ล่ะสมัยนี้คนพาลเขาไม่ได้มาตัวเปล่า ๆ ส่วนใหญ่ก็พกอำนาจ พกบารมีกันมาเยอะ ๆ ทั้งนั้น เพราะเขารู้ว่าจะใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ให้เขาได้เสพสมใจในกิเลสเขาได้ ยิ่งพาลลึกซึ้ง ยิ่งมีอำนาจมาก แสวงหาอำนาจมาก ใช้อำนาจมาก และบ้าอำนาจมาก จะยิ่งใหญ่ โต พองไปเรื่อย ๆ

ที่เขาโตก็เพราะว่าเราไม่เด็ดขาด ไปเติมอาหาร ไปเป็นแขนขาให้เขานั่นแหละ ถ้าเรายังอยู่ใต้อำนาจของคนพาลอยู่ ก็ยังเป็นมิจฉาชีพอยู่ มรรคผิด ในข้อมิจฉาอาชีวะ ที่ว่า “การมอบตนในทางที่ผิด” คือมอบตนรับใช้คนชั่วคนพาล คือการอยู่ใต้อำนาจ ใต้บารมีของคนพาล

ชีวิตมันต้องเป็นอิสระจากความชั่ว ไม่ถูกความชั่วบงการสิถึงจะผาสุก บางคนตัวเองไม่ทำชั่วแล้ว แต่ยังถูกความชั่วบงการอยู่ มันก็ยังมีส่วนผิดอยู่ดี

มันก็เลยต้องอาศัยความเด็ดขาดในการออกจากสิ่งไม่ดีนั้น ๆ แน่นอนว่ามีผลกระทบ แต่สุดท้ายมันจะดี เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ตัวเราก็ได้ห่างไกลคนพาล คนอื่นเห็นเขาจะได้รู้ชัดเจนขึ้น เขาจะได้ตัดสินใจเลยว่าจะไปเติมพลังทางไหน ส่วนคนพาลก็ไม่ได้อาหารจากเรา ความพาลของเขาก็จะไม่เติบโตเพราะความไม่เด็ดขาดของเรา

วิธีป้องกันคนชั่วคนพาล

June 27, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 5,883 views 0

วิธีป้องกันคนชั่วคนพาล

วิธีป้องกันคนชั่วคนพาล

แค่มีศีลมีธรรม คนชั่วเขาก็หนีแล้ว

ยิ่งเสนอให้เขาถือศีล เขาจะทุกข์ร้อนหวาดผวา

เหมือนที่ใครเขาเปรียบกันว่า

ถ้าจะกันผี(กิเลส) ต้องใช้สายสิญจน์(ศีล)

……………………………………..

การที่เราเจอแต่คนพาลเข้ามาในชีวิตนั้น ใช่ว่าจะเกิดจากกรรมเก่าในปางก่อนเสมอไป ส่วนใหญ่ก็กรรมเก่าในชาตินี้นี่แหละ คือไม่ศึกษาวิธีป้องกันคนชั่ว ไม่เคยมีศีลมีธรรมเป็นเกราะคุ้มครองตนเอง พอเจอคนชั่วก็โทษกรรมเก่าในชาติก่อนๆเสียหมด กลายเป็นว่าหาเหตุไม่ได้ หาที่มาไม่ได้ พอหาเหตุไม่ได้ก็ไม่มีวันพ้นทุกข์ได้เช่นกัน

การที่เรายังชั่วอยู่นั้น หมายถึงเราเองเป็นหนึ่งในเหตุปัจจัยที่ยังดึงดูดคนชั่วเข้ามาในชีวิต เพราะถ้าเราชั่ว เราก็จะได้เจอกับคนชั่วๆ อยู่ในสังคมชั่วๆ วนเวียนอยู่กับคนพาลที่สร้างปัญหาให้กับชีวิต

การเริ่มต้นห่างไกลคนพาล ซึ่งเป็นสิ่งแรกที่สมควรทำเพื่อชีวิตที่ผาสุกคือทำลายความชั่วในตนเสียก่อน เพราะสิ่งที่ดึงดูดชั่วภายนอกเข้ามาหาก็คือชั่วข้างในตัวเองนี่แหละ ดังนั้นหากจะโทษสิ่งใดสักสิ่งที่นำสิ่งชั่วเข้ามาในชีวิตเราก็โทษความชั่วที่เรายังมีนี่แหละ ยังไม่ต้องไปโทษเวรโทษกรรมอะไรที่มันไกลตัวหรอก เพราะชั่วนี่มันเห็นได้ง่าย กรรมมันเห็นได้ยาก

พอเราเริ่มมีศีลมีธรรมก็จะเป็นเกราะคุ้มครองที่ดีระดับหนึ่ง แต่กระนั้นก็ใช่ว่าจะสามารถป้องกันได้ทั้งหมด เราจึงควรมีกลยุทธ์เชิงรุกด้วย นั่นคือชักชวนให้คนรอบข้างถือศีล คิดดี พูดดี ทำดี ถ้าเขาดีพอ เขาก็จะเอาดีและพยายามจะพัฒนาตัวเองไปสู่ความเจริญ แต่ถ้าเขาชั่วมาก เขาจะออกไปจากชีวิตเราเอง เพราะทนความดีไม่ไหว นั่นเพราะชั่วในตัวเขามันไม่ยอมให้ทำดี

ซึ่งก็เป็นประโยชน์กับทั้งตัวเขาและตัวเรา สำหรับตัวเขานั้นก็จะได้ไม่ต้องมาทำบาปเวรภัยกับคนอื่น เพราะมีดีมาขวางไว้ และได้เรียนรู้ว่าความดีนั้นเป็นอย่างไร เอาดีมาถ่วงไว้จะได้ไม่ชั่วมากจนเกินไป สำหรับตัวเรานั้นก็ได้อาจจะได้ทั้งบุญและกุศลเกิดขึ้นกับเรา เป็นพลังที่จะหนุนให้เราเกิดความสุขความเจริญ ห่างไกลคนพาล ปกป้องคุ้มครองตัวเองโดยธรรม

แม้แต่คนพาลที่เข้ามาในคราบของคนดี เป็นสัตว์ร้ายที่ปลอมตัวมา เป็นมารในคราบเทวดา แม้จะมีท่าทางดูดี คิดดี พูดดี ทำดี ในทีแรก แต่ถ้าเจอศีลเข้าไปแล้วก็ยากที่จะรอด เพราะศีลจะทำให้คนกิเลสหนาเกิดอาการร้อนรน ไม่เอาศีล รังเกียจศีล ไม่อยากถือศีล ลำบากในการคบหาคนมีศีล

ยิ่งมาดีเท่าไหร่ลองเพิ่มศีลเข้าไปเท่านั้น เดี๋ยววันหนึ่งก็ออกลายเอง ดีไม่ดีคุยกันไม่กี่วันก็หายไปจากชีวิตเลย นี่แหละพลังของศีลที่จะป้องกันคนชั่วที่จะมาในสารพัดลีลาด้วยท่าทีงามสง่าน่าอัศจรรย์ สุดท้ายต้องมาตกม้าตายด้วยศีลกันทุกรายไป

แต่สิ่งที่สำคัญคือ เรารู้จักศีลดีหรือยัง เข้าใจศีลดีหรือยัง สาระของศีลคืออะไร ศีลใดที่ควรใช้ ศีลใดที่เหมาะ ศีลใดไม่เหมาะ รายละเอียดของศีลนั้นต่างกันไป การใช้เพื่อประโยชน์ใดๆก็ต่างมุมกันไป เราจึงควรศึกษาในสาระและประโยชน์ของศีลกันให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น

เพราะการใช้ศีลในการป้องกันสิ่งชั่วนั้น จะใช้ได้เฉพาะในศีลในระดับที่ตนปฏิบัติไหว ใช่ว่าเราจะสามารถให้คนอื่นศึกษาในศีลที่เรายังไม่สามารถปฏิบัติและเข้าใจได้ นั่นหมายถึงถ้าเราไม่ศึกษาและปฏิบัติในสิ่งใด ก็จะไม่สิทธิ์ในการใช้คุณวิเศษของสิ่งนั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

27.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)