Tag: หุ้นส่วน

การซื้อเนื้อสัตว์ คือหุ้นส่วนร่วมฆ่า

December 2, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,826 views 3

การซื้อเนื้อสัตว์ คือหุ้นส่วนร่วมฆ่า

การซื้อเนื้อสัตว์ คือหุ้นส่วนร่วมฆ่า

การที่กิจการใดๆจะสามารถดำรงอยู่และเจริญเติบโตขึ้นได้นั้น เกิดจากแรงสนับสนุนจากหุ้นส่วนใหญ่ที่เรียกว่า “ลูกค้า” เมื่อกิจการปราศจากลูกค้า กิจการนั้นย่อมล้มละลาย

ลูกค้านั้นคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับกิจการ คือหากซื้อผลิตภัณฑ์นั้นแล้วจะเกิดความสุขความพอใจ หากว่าหาซื้อไม่ได้ก็จะเกิดความหงุดหงิดรำคาญใจ นั่นหมายถึงว่ามีการเกื้อกูลกันระหว่างลูกค้าและกิจการ เป็นการขายสิ่งหนึ่งเพื่อแลกกับอีกสิ่งหนึ่ง

เช่นเดียวกับกิจการค้าขายเนื้อสัตว์ การที่อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เจริญเติบโตอย่างยิ่งใหญ่จนเป็นธุรกิจระดับประเทศในทุกวันนี้ก็เรียกได้ว่า ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าเสมอมา เงินทุกบาททุกสตางค์ของลูกค้าที่จ่ายเข้ามาให้กิจการนั้น ได้นำไปพัฒนาปริมาณของการผลิตสินค้าอย่างมากมายเพื่อที่จะมาตอบสนองต่อ “ตัณหา” ของลูกค้าปริมาณมากเพื่อให้ได้ซึ่งเงินปริมาณมหาศาลนั่นเอง

เงินทุกบาทที่ลูกค้าได้จ่ายไปนั้น ยังช่วยเอื้อให้เขาได้เบียดเบียนสัตว์อย่างครบวงจร ไม่ว่าจะกิจการเล็กหรือใหญ่ จะระดับชาวบ้านหรือบริษัทมหาชน เงินที่ได้จ่ายไปนั้นล้วนช่วยผลักดันให้เกิดการ กักขัง บังคับ ยัดเยียด ข่มขืน ทำร้าย และเข่นฆ่า แม้แต่การซื้อเนื้อสัตว์ผ่านนายหน้าค้าเนื้อสัตว์ ดังเช่นร้านอาหารต่างๆ ก็ส่งผลให้เกิดเงินสะพัดในกลุ่มธุรกิจบาปนี้เช่นกัน

เจตนาที่จะซื้อขายทั้งที่สิ่งเหล่านั้นเป็นการเบียดเบียน นั่นหมายถึงเจตนาที่จะมีส่วนร่วมในกรรมชั่ว เป็นหุ้นส่วนร่วมฆ่า แม้จะไม่ได้ฆ่าเองแต่ก็มีส่วนได้ส่วนเสียในการฆ่า คือได้เสพสุขจากผลของการฆ่าเหล่านั้น

แน่นอนว่าการปันผลให้กับผู้ร่วมหุ้นโดยกรรมนั้นยุติธรรมเสมอ เราร่วมลงทุนไปเท่าไหร่ เขาก็ปันผลให้เท่านั้น เราเบียดเบียนไปเท่าไหร่ เขาก็ให้เราได้รับการเบียดเบียนเท่านั้น เป็นการร่วมหุ้นในกิจกรรมที่ได้รับปันผลอย่างยุติธรรม ทุกคนจะได้รับปันผลเท่าๆกับเงินที่ร่วมลงทุนไปกับการฆ่าเหล่านั้น

และยังมีโบนัสอีกมากมาย เช่น การร่วมหุ้นลงทุนร่วมธุรกิจบาปเหล่านั้น ยังไปส่งเสริมให้คนหลงในอาชีพที่ผิดไปจากทางพ้นทุกข์ ให้เขาได้หลงมัวเมาว่าการล่า การกักขัง การฆ่านี้เป็นคุณ แม้จะบาปแต่ก็คุ้มค่าที่ได้เงินมาใช้จ่าย เป็นอาชีพที่ผู้ร่วมหุ้นทุกคนยอมรับและมองว่าเป็นพนักงานที่เสียสละ

นั่นหมายถึงเราจะได้รับวิบากกรรมอีกส่วนที่ทำให้คนหลงมัวเมาในอาชีพที่ผิดศีล เห็นผิดเป็นชอบ เห็นเงินมีคุณค่ามากกว่าคุณธรรม หลงว่าการเบียดเบียนนั้นไม่มีโทษ ซึ่งเราก็จะได้เผชิญกับเรื่องที่วิปริตผิดศีลธรรมแบบใดแบบหนึ่งในอนาคตอย่างแน่นอน

เมื่อเห็นดังนี้แล้ว ควรแล้วหรือที่เรายังร่วมลงทุนในธุรกิจบาปเหล่านี้อีก ในเมื่อเม็ดเงินทุกเม็ดได้ไหลไปสร้างความทุกข์ โทษ ภัยให้กับสัตว์อื่น หรือยังมีความเห็นผิดว่าการร่วมหุ้นในธุรกิจบาปเหล่านี้ไม่มีการปันผลกรรมชั่ว ยังเห็นผิดว่ากรรมที่ทำแล้วไม่มีผล ยังเห็นผิดว่าการเบียดเบียนไม่มีโทษทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

เมื่อนักลงทุนผู้มีปัญญาเห็นดังนี้แล้วว่า นี้เป็นการร่วมหุ้นที่มีแต่ขาดทุนฝ่ายเดียว ไม่มีแม้แต่กำไรใดๆ จึงควรถอนหุ้นจากธุรกิจบาปนี้เสีย และชักชวนให้คนอื่นเลิกลงทุนในธุรกิจบาปเหล่านี้ด้วย รวมทั้งสนับสนุน ส่งเสริม ยินดี ชื่นชมในประโยชน์แห่งการออกจากธุรกิจบาปนี้ เพื่อความสุข เพื่อความเจริญ เพื่อความเกื้อกูล เพื่อประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น

– – – – – – – – – – – – – – –

30.11.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)