Tag: หลง
ความวนเวียนในความรัก
ความวนเวียนในความรัก
กิเลสคือสิ่งที่จะทำให้เรายินดีในการหลงวนเวียนอยู่ในวัฏสงสาร ความรักก็เช่นกัน ความรักนั้นเป็นหนึ่งในสิ่งที่จะรัดและมัดคนไว้กับโลกนี้ ผูกไว้กับความทุกข์ ตรึงไว้ด้วยความเศร้าหมอง
ไม่ว่าอยู่ในขั้นตอนใดในความรัก ล้วนมีทุกข์แทรกอยู่เสมอ แต่ก็อยู่ที่ว่าใครจะมองทุกข์นั้นเห็น และอยู่ที่ว่าใครจะทำให้เหตุการณ์นั้น ๆ เป็นที่สุดแห่งทุกข์ คือ พอเสียทีกับทุกข์นี้ ไม่ทนทุกข์อีกต่อไปแล้ว
ความรักนั้น มีความหลงเป็นจุดเริ่ม แล้วก็จะแสวงหาคือพยายามหาสิ่งที่จะเข้าไปรัก เมื่อได้แล้วก็อยากได้ขึ้น โลภมากขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่ได้สมใจก็จะโกรธ อึดอัด ขุ่นเคือง หงุดหงิดในใจ เป็นฝุ่นในใจให้คอยรำคาญอยู่เสมอ สุดท้ายก็หลงวนเวียนไปหาสิ่งใหม่เพื่อที่จะได้ตอบสนองความต้องการของตนเองอย่างไม่รู้จุดจบ
ความรักนั้นคือสิ่งที่พาวนในอารมณ์ต่าง ๆ ที่พาให้เศร้าหมอง ตั้งแต่ความหลง เมื่อหลงก็ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ เป็นไปเพื่อการพ้นทุกข์หรือเพื่อความทุกข์ เมื่อได้ยินได้ฟังเขาว่ามา ว่ารักนั้นเป็นสุข เป็นสิ่งที่ควรครอบครอง เมื่อไม่มีปัญญารู้โทษภัยผลเสียที่แท้จริงของมัน ก็จะรู้สึกว่ารักนั้นไม่มีโทษไม่มีภัย หรือเห็นว่ามีโทษน้อยกว่าคุณ หรือเห็นว่าแม้จะมีทุกข์อยู่แต่ก็ยังมีคุณค่าพอที่จะรัก ความหลงนี้เองคือสิ่งที่ทำให้คนเกิดแรงผลักดันไปแสวงหารัก
รัก… เมื่อหลง ก็จะแสวงหาความรัก การดิ้นรนไปเพื่อหามาเสพ หรือการปั้นตัวตนขึ้นมาให้น่าเสพ ไม่ว่าจะวิ่งหา หรือทำตัวเองให้น่าสนใจ ล้วนเป็นกิจกรรมที่ไม่มีประโยชน์ทั้งสิ้น เสียพลังงาน เสียเวลา เสียทุนทรัพย์ แต่คนหลงจะไม่หยุดถ้าไม่ได้มาซึ่งสิ่งเสพที่ตนหมายปอง นี้คือทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจ ทุกข์เพราะอยาก ดิ้นรน แสวงหา ไขว่คว้า ฝันใฝ่ ฯลฯ
โลภ… ความโลภนั้นเกิดตั้งแต่หลง คืออยากได้ในสิ่งที่เขาไม่ได้ให้ แต่ด้วยความโลภ จึงพยายามทำให้เขายินดีให้ คอยจีบ คอยเอาใจ คอยให้ท่า ฯลฯ สารพัดลีลาที่ดิ้นรนเพื่อให้ได้เสพ เพราะจิตหลงว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งดี และโลภอยากได้มาเสพ แบบใช้การล่อลวงต่าง ๆ แม้จะเป็นการได้มาโดยอธรรมก็ยินดี
เมื่อได้มาก็โลภไปเรื่อย ๆ อยากให้เขาเป็นอย่างนั้น อยากให้เขาทำอย่างนี้ ตามใจเรา อยากให้เขาบำเรอเราไปเรื่อย ๆ อยากได้ อยากได้ อยากได้… ความรักนั้นมีแต่ความอยากได้อยู่ในนั้น ดูเผิน ๆ เหมือนจะสวยงาม เหมือนจะเกื้อกูล เหมือนจะดูแลกัน แต่ความจริงเน่าในเหมือนผีเปรตขอส่วนบุญ อยากได้ อยากให้เป็น อยากให้มี ฯลฯ ถ้าใครเห็นความจริงในความรัก ก็จะเห็นผีที่สิงในใจคน ผีโลภ โกรธ หลง ที่อาศัย “รัก” เป็นตัวเสพ เป็นสิ่งที่ไม่เจริญใจอย่างยิ่ง
โกรธ… เมื่อมีความโลภ ความโกรธก็จะต่อคิวเข้ามา เมื่อเกิดความโลภแล้วไม่ได้เสพสมกับความโลภนั้น อยากแล้วไม่ได้สมอยาก ก็จะเกิดอาการโกรธ ไปดูเถอะ คู่รัก คนรักที่ไหน ขัดใจกันแล้วไม่โกรธ อึดอัด ขุ่นเคืองใจกัน แค่นึกก็ยังนึกไม่ออกเลย ธรรมดาความรักนี่แหละเป็นตัวพาโกรธ พาจองเวรจองกรรมกันก็เพราะเหตุนี้ เพราะอยากได้แล้วไม่ได้สมอยากก็โกรธ หลังจากนั้นก็สารพัดกิเลส สารพัดลีลามารยาของฝ่ายมารที่งัดออกมาปะทะ ประชดประชันหมายจะเอาชนะกัน การสงบศึกไม่มีอยู่ในผู้ที่ยังมีความรัก ยังจะต้องรบอยู่เรื่อยไป ไม่จบไม่สิ้น เดี๋ยวเราก็โกรธเขา เดี๋ยวเขาก็โกรธเรา ง้องอนกันไปกันมา คนก็หลงว่าเป็นสุข เพราะมันมีรสของการปะทะ รสของการกระทบในสิ่งที่อยากกระทบ แม้โกรธก็เสพสุขได้กับคนที่หลง จริง ๆ โกรธมันไม่น่าเสพหรอก แต่คนเขาหลงว่าเป็นสุขว่าเป็นคุณค่า เขาก็เลยชอบโกรธกันทะเลาะกัน
จริง ๆ คนขี้โกรธ ขี้งอนนี่มันไม่น่าจะมีคุณค่าให้ง้อหรือไปเสียเวลาเลยนะ แต่เพราะมีอีกฝ่ายคอยให้คุณค่า คนก็หลงอัตตา หลงว่าแม้ตนจะโกรธ จะงอน เขาก็จะมาง้อ หรือเขายิ่งจะต้องให้คุณค่า ทั้งที่จริงความโกรธหรืองอนนี่มันคือการทำลายคุณค่าของตน แต่เขาหลงกลับหัวกลับหางเลย ก็ใช้การโกรธการงอนนี่แหละในการเสพคุณค่าในตน คนง้อก็หลงตามเขาไป วนเวียนไปกันแบบนั้น
หลง… สุดท้ายไม่ว่าจะคบหรือจะจบ กิเลสก็จะพาคนหลงวนแสวงหาเสพเหมือนเคย มีคนรักก็แสวงหาสุขอยู่กับคนรัก ไม่มีคนรักก็ดิ้นรนแสวงหาคนมาเสพสุข เป็นความวนหลงอยู่ในโลกีย์ แม้รักนั้นจะดีแสนดี เป็นคนดีแค่ไหน แต่ก็เป็นเพียงตัวพาวนเท่านั้นเอง จะวนแบบดี วนแบบร้าย มันก็คือการวนเวียน แล้วดีก็ไม่ได้ดีได้ตลอด สุดท้ายมันก็จะร้ายอยู่ดี เพราะความหลงคือบาป ยิ่งต่อเวลาเนิ่นนานไปเท่าไหร่ยิ่งก่อบาป ก่อชั่ว ก่ออกุศลกรรม มากเท่านั้น
กิจกรรมที่อยู่ภายใต้ความหลง แม้จะพยายามทำดี แม้ดีที่สุดในชีวิต แต่ยังไม่พ้นจากความหลงในรสรัก ก็ยังเป็นดีที่ยังไม่เหนือความรัก ยังไม่เป็นดีเหนือดี ยังเป็นดีที่ติดเพดานบาป เป็นดีที่ถูกบาปครอบอยู่ ดังนั้นกุศลผลบุญอะไรนั่นมันก็จะไม่เกิดผลเต็มร้อย ไม่แผ่ออกไปเพราะมีบาปครอบอยู่ ดีไม่ดีติดลบด้วย เพราะบางทียิ่งพากันทำดี ยิ่งจะหลงในภาพความดีของคู่ครอง เลยไปกันใหญ่ กอดคอกันวนเวียนอยู่ในวัฏสงสารด้วยความยินดี เต็มใจ พอใจ เห็นกงจักรเป็นดอกบัวที่สวยงามเต็มที่
…. สุดท้าย ความรักก็คือสิ่งหนึ่งที่ขังคนไว้ในโลก ให้ยินดีในโลกที่ทุกข์ระทม ไม่ให้เจริญไปในจุดที่ดีกว่านั้น ผูกไว้ไม่ให้สูงไปสู่ความผาสุกที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น ตรึงคนไว้ให้ยินดีกับสุขลวงทุกข์จริง ก็ขึ้นอยู่กับว่าคนเหล่านั้นเขาจะ “พอ” กับสุขลวงทุกข์จริงเช่นนั้นเมื่อไหร่ เขาจึงจะพยายามเดินออกจากวงเวียนแห่งรักอันไม่รู้จักจบนี้ด้วยตนเอง
5.3.2563
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
ถูกเพื่อนร่วมงานที่มีครอบครัวอยู่แล้วมาตามจีบ คุกคาม ฯลฯ ต้องทำอย่างไร?
การจีบกันนั้นเป็นการเบียดเบียนอย่างหนึ่ง ไม่ทำให้หลง ก็ทำให้โกรธ น้อยคนที่จะรู้สึกเฉย ๆ ไม่ยินดียินร้าย คนจีบเขาก็หวังจะให้หลงรักเขานั่นแหละ ทีนี้ก็ใช่ว่าทุกคนจะชอบการจีบหรือการเข้าหาในลักษณะต่าง ๆ มันก็เลยกลายเป็นความอึดอัด สุดท้ายก็สะสมกลายเป็นความโกรธเกลียด เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น สรุป การจีบไม่สร้างประโยชน์ใด ๆ กับใครเลย จะสร้างแต่ผลอันเป็นความมัวเมา หดหู่ เศร้าหมองในท้ายที่สุด
ถ้าคนทั่วไป ไม่ค่อยเจอกัน มันก็ไม่เท่าไหร่ ถ้าเป็นเพื่อนร่วมงานมาจีบนี่มันก็อาจจะทำตัวลำบาก เพราะเกรงใจบ้าง กลัวบ้าง ฯลฯ ยิ่งถ้าเป็นหัวหน้ามีตำแหน่งสูงกว่ายิ่งไปกันใหญ่ คนที่เขามีความกำหนัด ใคร่อยาก เขาก็แสดงท่าทีลีลาต่าง ๆ เพื่อยั่วเย้า หรือเกี้ยวพาราสีเป็นธรรมดา แน่นอนว่าเขาต้องมุ่งหวังผลคือได้เสพสมใจ เขาก็ใช้ทุกวิถีทางที่เขามีนั่นแหละ เข้ามาเป็นกรอบมาบีบให้เราอยู่ในสถานการณ์น่าอึดอัดต่าง ๆ
ในการเสพสมใจของเขานั้นเป็นไปได้หลายระยะ ตั้งแต่เราออกอาการเมื่อเขาแซว จนถึงขั้นเรายอมตกเป็นของเขา แม้เขาจะมีครอบครัวแล้วก็ตาม การสาสมใจนั้นเกิดขึ้นเพราะมีการตอบสนองเป็นอาหาร กิเลสจะมีกิเลสเป็นอาหาร ดังนั้นถ้าเราควบคุมอาการไม่ได้ ก็หมายถึงเรายังไปให้อาหารกิเลสเขาอยู่ คนที่ยังยั่วขึ้นอยู่ ก็ยังเป็นเหยื่ออยู่ดีนั่นเอง
การปฏิบัติก็เริ่มจากเบาไปก่อน คือถ้าลองพูดคุยกันได้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้น มันเป็นโทษ มันเบียดเบียนอย่างไร ถ้าประเมินแล้วว่าพูดแล้วไม่อันตราย ก็พูด บอกเตือนสิ่งดีมันก็เป็นประโยชน์ แต่ถ้าไม่มั่นใจในการควบคุมสติของตัวเองก็ให้หาเพื่อนหรือผู้ใหญ่ที่มีศีลธรรม ไว้ใจได้ มาช่วยอยู่เป็นเพื่อนหรือมาช่วยแก้ปัญหา แต่ถ้ายิ่งทำยิ่งแย่ ยิ่งเละก็ลองอ่านต่อไป
สิ่งที่ต้องทำคือพิจารณาประโยชน์ของตนเองให้มาก ว่าเราจะสามารถทำงานอยู่อย่างผาสุกต่อไปได้จริงไหม หากเรายังอยู่กับคนที่เขามีความอยากมีคู่ขนาดที่ยอมผิดศีลนั้น บางงานนั้นมีคุณประโยชน์ก็จริง มีผลตอบแทนมากก็จริง แต่สิ่งที่แลกไปบางทีมันก็ไม่คุ้ม คือได้ประโยชน์นิดหน่อย ได้เงินจำนวนหนึ่ง ได้กุศลเล็กน้อย แต่เขาก็จะเอาสิ่งเหล่านั้นนั่นแหละมาล่อเรา ให้เราหลงไปตามสิ่งที่เขาล่อลวง ถ้าเราเมากับโลกธรรมที่เขาล่อลวงไว้ เราก็หลงต่อไป ยังเป็นมิจฉาชีพ เพราะมอบตนในทางที่ผิด รับใช้คนผิดศีล แต่ถ้าเราไม่ได้ยึดติดกับสิ่งเหล่านั้น เราจะมองเห็นความจริงตามความเป็นจริงมากขึ้น
พระพุทธเจ้าให้ห่างไกลคนพาล คบบัณฑิต ชีวิตจึงจะอยู่ผาสุก คนที่เขามีคู่อยู่แล้ว แล้วยังมาตามจีบ หรือทำท่าทีหมาหยอกไก่กับคนอื่น อันนี้เขาก็ผิดศีลของเขาอยู่แล้ว เขานอกใจไปแล้ว เขาต่ำกว่าศีล ๕ นะ คนไม่มีศีล คบไว้ไม่เจริญหรอก คนไม่มีศีลก็คือคนพาลนั่นแหละ เพราะเดี๋ยวก็ทำบาป เดี๋ยวก็ทำชั่ว เดี๋ยวก็พาให้เราเดือดร้อน
เข้าหาบัณฑิต คือเข้าหาหมู่มิตรที่ปฏิบัติดี มิตรดีจะช่วยเพิ่มกำลังใจและกำลังปัญญา จะมีพลังในการต้านความชั่ว ต้านคนผิดศีล จะเป็นอยู่ผาสุกต้องเลือกกลุ่มในการร่วมใช้ชีวิต ให้เป็นกลุ่มมีศีลธรรม เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อพัฒนาตนสู่ความพ้นทุกข์ กุญแจที่จะไขรหัสสู่ความสำเร็จของคำถามนี้คือการเข้าหาบัณฑิตนี่แหละ ก็เข้าหา ปรึกษา เป็นลำดับ มันจะมีปัญหาขึ้นมาเรื่อย ๆ ก็แก้ไปเรื่อย ๆ โดยพึ่งพาปัญญาของมิตรดี ปัญหาก็จะคลายไปเรื่อย ๆ
แต่ถ้าคลุกอยู่กับหมู่คนพาลมันก็มีแต่เรื่องแบบนี้แหละ เรื่องชู้สาว เรื่องผิดศีล ดีไม่ดีเขาลวงเราไปข่มขืนอีก ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ นะ คนพาลนี่เขาอัตตาจัดมาก เขามีความอยากเอาชนะจัดมาก ๆ ยิ่งเราทำแข็งข้อ เขาก็ยิ่งสู้ ยิ่งทำตัวเป็นดีแสนดีดั่งนักบวช เขายิ่งอยากปราบเรา อยากพิชิตเรา แล้วก็ใช่ว่าเราจะไปสอนเขาได้นะ บางทีเขาไม่ได้เราด้วยการยอมของเรา เขาก็ใช้กำลังอำนาจของเขาบีบเราให้เราต้องจำนนได้เลย ดีไม่ดีเขาฆ่าเราปิดปากด้วย คบคนพาลมีแต่เสีย เสียเวลา เสียแรงงาน เสียทรัพย์ เสียชีวิต
แต่หมู่มิตรดีนี่ก็ต้องเลือกนะ ไปเข้าสำนักผิดหนีเสือปะจระเข้อีก กลายเป็นว่าหลงไปในหมู่นักปฏิบัติธรรมเมากาม ปฏิบัติธรรมหาคู่ มันจะไม่พ้นเรื่องบาปที่น่าปวดหัวเหล่านี้
พระพุทธเจ้าตรัสว่า อย่าพรากประโยชน์ตนเพื่อผู้อื่นแม้มาก หมายถึง ต้องยึดประโยชน์ตัวเองไว้เป็นหลักก่อน ต้องเอาตัวเราพ้นทุกข์ให้ได้ก่อนแล้วถึงจะไปช่วยคนอื่น แม้คุณประโยชน์ในการช่วยคนอื่นนั้นจะดูเหมือนมีคุณมากก็ตามที เหมือนกับเรือร่ม เราก็ต้องเอาตัวรอดให้ได้ก่อน ถึงจะไปช่วยคนอื่น เราว่ายน้ำไม่เป็น ไม่มีอุปกรณ์ ไปช่วยคนอื่นมันก็จะพากันตายเปล่า ๆ มันไม่เหมือนการเสียสละนะ การเสียสละ คือเรามี แต่เราสละสิ่งนั้นให้ อันนี้ประโยชน์ตนเรายังไม่มี เรายังพาชีวิตเราเองไปพ้นทุกข์ยังไม่ได้เลย แล้วเราจะไปช่วยคนอื่นได้อย่างไร
ในความเห็นของผม ถ้าต้องคลุกอยู่กับกลุ่มคนผิดศีลเป็นประจำ ผมไม่อยู่หรอก เขาจะพาเราฉิบหาย แต่ถ้ามันมีภาระมาก มันออกไม่ได้ ก็ลองปรึกษาขอความช่วยเหลือกับผู้ใหญ่ในที่ทำงานที่มีศีลธรรม ถ้าเขาช่วยจัดการจนคลี่คลายก็พอทนอยู่ไปได้ แต่ถ้าอยู่แล้วโดดเดี่ยวไม่มีหวัง ไม่มีมิตรดี ไม่สามารถทำให้เจริญขึ้นได้ ก็ลองพิจารณางานอื่น ๆ ดู อย่างน้อยเราก็เจริญขึ้นเพราะพ้นจากมิจฉาอาชีวะอีกหนึ่งเรื่อง
3.2.2563
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
โสดก่อนซวย
โสดก่อนซวย : ชิงโสดก่อนแต่ง หรือแต่งก่อนแล้วจำยอมโสด (ตายก่อนตายในมุมของการมีคู่)
หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า ตายก่อนตาย หมายถึง ทำให้กิเลสนั้นตายก่อนจะถึงวันตายของเรา โสดก่อนซวยก็เช่นกัน หมายถึงให้เรามีความยินดีในความโสดของเราก่อนจะถึงวันซวยของเรา…
ความโสดนั้นเป็นสถานะของคนที่พึ่งตน เป็นอิสระ เป็นค่ามาตรฐานของคน เกิดมาก็ได้มาเลยไม่ต้องแสวงหา ไม่มีบ่วง ไม่มีเครื่องผูก ตรงกันข้ามกับสถานะ “แต่งงาน” ที่ต้องผูกพันพึ่งพากัน เป็นสิ่งยึดมั่นของกันและกัน เป็นบ่วงของกันเลยกัน เป็นเจ้ากรรมนายเวรของกันและกัน สร้างวิบากที่ผูกมัดไว้ด้วยกัน ในบทความนี้เราจะแทนด้วยความ “ซวย”
ซวย นั้นหมายถึงเคราะห์ร้าย อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงจะงงว่าทำไมถึงตีความว่าการแต่งงานเป็นความซวย ทั้งๆที่เวลาใครเขาแต่งงานก็มีแต่คนแสดงความยินดี ไม่เห็นมีใครเสียใจ ได้ทั้งลาภ(เงินใส่ซอง) ยศ(สามี-ภรรยา) สรรเสริญ(คำยินดี คำชม) สุข(สุขลวงตามอุปาทานที่แต่ละคนสร้างมา) การแต่งงานคือความซวยอย่างไร ก็ขอเชิญให้ลองพิจารณาเนื้อหาต่อจากนี้กัน
๐. ทางสู่ความผาสุกที่แท้จริง
ศาสนาพุทธแม้จะไม่ได้ห้ามการมีคู่ แต่ก็ไม่ได้สนับสนุนให้คนแต่งงานหรือครองคู่กัน พระพุทธเจ้าเปรียบคู่ครองกับบุตรนั้นเป็นเหมือนบ่วงถ่วงความเจริญในธรรม ดังนั้นเส้นทางธรรมของคนโสดกับคนคู่จึงแตกต่างกัน แต่ไม่ว่าจะแตกต่างกันเท่าไหร่ โจทย์หนึ่งในการปฏิบัติธรรมนั้นคือต้องก้าวข้าม “ความอยากมีคู่” เป็นโจทย์ที่ถูกบังคับให้แก้ปัญหา ไม่ว่าจะคนโสดหรือคนคู่ก็ตาม ซึ่งรายละเอียดจะถูกขยายไว้ในบทวิเคราะห์ต่อไปนี้
๑.ชิงโสดก่อนแต่ง
ความโสดเป็นสถานะแรกที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่ไม่ได้หมายความว่าสถานะนี้จะคงอยู่ตลอดไป เพราะ “ความอยากมีคู่” ทำให้คนมากมายพยายามที่จะทิ้งความโสดไป บ้างก็สละโสดได้ บ้างก็สละไม่ได้ ซึ่งความจริงแล้วสิ่งที่ควรสละไม่ใช่ความโสด แต่เป็นความอยากมีคู่ต่างหาก
เมื่อเราเลือกสละความผาสุกเพื่อที่จะได้เสพสุขลวงตามกิเลส นั่นก็หมายถึงธรรมะพ่ายแพ้ต่ออธรรม แต่ถ้าหากเราพยายามที่จะรักษาความโสดไว้และผลักไสความอยากมีคู่ออกไป นั่นก็หมายถึงธรรมะนั้นมีกำลังเหนืออธรรม
มีคนจำนวนมากใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือหาคู่ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการหลีกหนีการมีคู่ ผู้ที่ประพฤติตนเป็นคนโสด พระพุทธเจ้ากล่าวว่าเป็นผู้รู้ ดังนั้นจึงมีคนจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นผู้รู้ คือรู้โทษชั่วของการมีคู่ จึงพยายามที่จะทำลายเหตุของความอยากมีคู่ หรือกิเลสที่เข้ามาฝังอยู่ในจิตวิญญาณของตน ซึ่งเป็นเหตุที่จะทำให้เขาเหล่านั้นพลาดพลั้งเผลอใจไปมีคู่ในอนาคตได้
เมื่อเขาเหล่านั้นรู้แจ้งชัดเจนในโทษภัยของการมีคู่ จึงจะสามารถละหน่ายความอยากมีคู่นั้นได้ นั่นหมายถึงไม่จำเป็นต้องไปมีคู่ ก็สามารถเกิดปัญญารู้แจ้งโทษชั่วได้ เรียกว่าชิงโสดก่อนแต่ง คือประพฤติตนให้รู้แจ้งเห็นจริงในคุณค่าของความโสดและโทษภัยของการมีคู่ก่อนที่จะหลงไปแต่งงานเพราะความอยากมีคู่ พวกเขาจึงไม่ต้องสร้างกรรมกับใคร ไม่ต้องเบียดเบียนกัน ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นกัน ไม่ต้องพากันหลงเสพหลงสุขให้มัวเมา ทำให้พวกเขาไม่ต้องรับวิบากบาปเหล่านั้น เบาสบายไปอีกชาติ ปัญญาก็มี ทุกข์ก็ไม่ต้องรับ
๒.แต่งก่อนแล้วจำยอมโสด
คนที่ “หลง” มาจนถึงขั้นแต่งงาน มีทั้งคนที่พ่ายแพ้ต่อกำลังของกิเลส จนถึงคนที่หลงมัวเมาว่ากิเลสนั้นเป็นของดี ยอมเป็นทาสกิเลสกันเลยก็มี เขาเหล่านั้นมักมีความเชื่อว่า การครองคู่ก็สามารถเจริญในธรรมได้เช่นกัน และแน่นอนว่าลึกๆในใจย่อมเชื่อว่าทางที่ตนเลือกนั้นดีกว่าอยู่เป็นโสด
โดยทั่วไปคนที่จะแต่งงานกันนั้นจะมีกิเลสมากกว่าคนโสดอยู่แล้ว เพราะกว่าคนจะรู้จักกัน คบหากัน จนถึงขั้นแต่งงานกัน จะมีระดับชั้นของความยึดมั่นถือมั่นที่แตกต่างกัน ถ้าแค่รู้จักกันก็ยึดว่ารู้จักกัน คบหากันก็ยึดว่านี่แฟนฉัน แต่งงานกันก็ยึดว่านี่ผัวฉันเมียฉัน ไม่มีใครยึดผู้อื่นมาเป็นคู่ตั้งแต่แรก กิเลสมันจะค่อยๆโต ค่อยๆผูกพัน ค่อยๆยึด จนแต่งงาน มีลูกมีหลานนั่นแหละ เรียกว่ากิเลสสุกงอมจนเห็นผลเป็นรูปธรรมได้แล้ว ดังนั้นจะบอกว่าแต่งงานแล้วเจริญในธรรมนี่ไม่จริงอย่างแน่นอน มีแต่เสื่อมกับเสื่อมมากเท่านั้นเอง
การเจริญในธรรมของคนโสดกับคนคู่นั้นต่างกัน คนโสดเหมือนกับต้องพยายามห้ามตนไม่ให้หลงเข้าไปเขาวงกต แต่คนมีคู่นั้นจะต้องพาตนเองออกจากเขาวงกตเพราะหลงเข้าไปเรียบร้อยแล้ว นี่เป็นโจทย์ที่แตกต่างกันในการปฏิบัติ
ตั้งแต่เริ่มคิดจะมีคู่ ก็เอาตัวมาจ่อรออยู่หน้าเขาวงกตแล้ว พอมีคู่ก็พากันเดินเข้าเขาวงกต ทุกก้าวที่เดินไปก็โปรยตะปูเรือใบเอาไว้ด้วย ตะปูเหล่านั้นคือความยึดมั่นถือมั่นที่สร้างไว้ ป้องกันไม่ให้กลับไปหาความโสดได้ง่าย และยิ่งสะสมความหลงเสพหลงสุขตามกิเลสมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งไกลจากปากทางเข้ามากเท่านั้น
แล้วถ้าไปจนถึงขั้นแต่งงาน มีคนมายินดี ให้ลาภยศสรรเสริญสุขเข้ามากๆ ก็จะยิ่งเป็นวิบากบาปที่ต้องรับไว้ เพราะที่เขาเข้ามาแสดงความยินดีนั้น เพราะเขาไม่มีปัญญารู้ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นโทษ เห็นคนมีคู่แสดงท่าทางว่ามีความสุข เขาก็หลงไปว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งดี การนำเสนอชีวิตรักจนถึงการจัดงานแต่งงานจึงเป็นการสร้างกรรมที่ลวงคนให้หลงยินดีในการครองคู่ นั่นหมายถึงต้องรับผลกรรมที่ทำให้คนอื่นหลงมัวเมาในสุขลวงเหล่านี้ด้วย ยิ่งเผยแพร่ไปมากเท่าไหร่ ยิ่งจัดงานยิ่งใหญ่เท่าไหร่ ยิ่งจะต้องรับผลของกรรมมากเท่านั้น ถึงแม้โลกจะถือว่าการแต่งงานเป็นเรื่องมงคล แต่ในทางธรรมนั้นไม่ใช่อย่างแน่นอน
ทีนี้ยิ่งเดินก็ยิ่งไกล ยิ่งลึกเข้าไปในเขาวงกต ทางที่ผ่านก็มีแต่ตะปูเรือใบที่เผลอวางไว้โดยไม่รู้ตัว แม้คิดจะถอยหลังกลับ แต่กิเลสก็ไม่ยอมให้กลับไปง่ายๆ เดินไปข้างหน้าเสพสุขนั้นดูเหมือนจะสบายกว่าถอยหลงแล้วยอมทนทุกข์ ซึ่งโดยมากก็มักจะคิดเช่นนั้น
แน่นอนว่าคนมีคู่ก็คงไม่มีใครอยากกลับไปหาความโสด แต่โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ คนเราต้องพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบใจเป็นธรรมดา วันหนึ่งเมื่อวิบากกรรมส่งผล อาจจะทำให้รักนั้นเกิดปัญหา ทะเลาะรุนแรง,รักจืดจาง,มือที่สาม หรืออาจจะเกิดอุบัติเหตุพิกลพิการ ป่วยหรือตายก็ได้ มีปัญหาอีกสารพัดที่จะทำให้ชีวิตคู่นั้นสั่นคลอน บางคู่ก็ประคองต่อไปได้ บางคู่ก็ต้องจบตรงนั้น
แล้วจะทำอย่างไรในเมื่อเขาวงกตนั้นไม่มีทางออก มันมีแต่ทางเข้า เข้าทางไหนมันก็ต้องออกทางนั้นจึงจะเป็นการแก้ปัญหาที่แท้จริง คนจำนวนหนึ่งยินดีที่จะหลงวนเวียนในเขาวงกตนั้นต่อไปเรื่อยๆ เจอคนใหม่ก็พากันหลงต่อไป ถึงไม่เจอก็รออยู่ตรงนั้นจนกว่าจะเจอ จมอยู่กับความอยากปริมาณมหาศาลที่ไม่มีทางออก เขาวงกตนี้เรียกว่าวัฏสงสารน้อยๆ (เฉพาะเรื่องคนคู่)
ซึ่งการจะออกนั้นคือต้องกลับไปทางที่เข้ามา ยึดมั่นถือมั่นในอะไรก็ต้องทุกข์เพราะสิ่งนั้น สร้างไว้เท่าไหร่ก็ต้องรับเท่านั้น เหมือนกับการที่ต้องทนเจ็บปวดลุยเหยียบตะปูเรือใบเพื่อกลับไปที่ปากทางเข้า แล้วเข้ามาทางไหนก็จำไม่ได้ กี่แยกกี่ซอยที่วกวนผ่านพ้นมา เสียเวลาหลงทางมากขึ้นไปอีก ถึงแม้จะกลับออกไปได้ แต่ถ้ายังไม่มีปัญญาเห็นโทษของความอยากมีคู่ เดี๋ยวก็จะพากันเข้ามาหลงสุขในเขาวงกตนี้ใหม่ (กี่ชาติๆ ก็ยังไม่เข็ด)
นี่คือความซวยของคนคู่ คือต้องทุกข์เพราะตนเองหลงสุขในกิเลส อยากได้ก็เป็นทุกข์ พยายามหามาก็เป็นทุกข์ ได้เสพก็เพิ่มเชื้อทุกข์(ความยึดมั่นถือมั่น) เสียไปก็ทุกข์ วนเวียน อยาก แสวงหา เสพ สูญสลาย เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แล้วก็เกิดขึ้นอีกวนเวียนไปอย่างนี้ไม่จบไม่สิ้น
ซึ่งสุดท้ายทุกคนก็ต้องไปคนเดียว สถานะสุดท้ายยังไงก็ต้องจบที่โสด ไม่โสดตอนเป็นก็โสดตอนตาย เวลาตายเราก็ไปของเราคนเดียว ไม่มีใครไปด้วย ซึ่งในกรณีนี้เป็นการถูกบังคับให้โสด ต้องโสดด้วยความจำยอม ผู้บังคับคือวิบากกรรมของเราเอง ต่างจากผู้ที่ประพฤติตนเป็นโสด เป็นผู้ที่ขีดเส้นกรรมด้วยตัวเอง ยินดีที่จะเป็นโสดด้วยตนเอง จึงไม่ต้องพบกับทุกข์เพราะความเปลี่ยนแปลง ความผิดหวัง หรือการพลัดพรากใดๆเลย
สรุปก็คือคนที่แต่งงานสุดท้ายก็ต้องกลับไปเป็นโสดอยู่ดีนั่นเอง ไม่ว่าจะเพราะกรรมบังคับ หรือเพราะการเจริญในทางธรรมก็ตาม นั่นหมายถึงแต่งงานไปก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา ได้แต่ความยึดมั่นถือมั่นและวิบากบาปสารพัดติดตัวมา แม้จะกลับมาประพฤติตามธรรมอยู่เป็นคนโสด แต่ก็จะมีวิบากบาปมากกว่าการตั้งใจอยู่เป็นโสดตั้งแต่แรก เรียกว่าเริ่มต้นที่ติดลบก็ว่าได้ ในส่วนปัญญาแม้จะรู้เรื่องคู่มากแต่ถ้าไม่รู้เท่าทันความอยากมีคู่ของตัวเองมันก็ยังไปเทียบกับคนที่ปฏิบัติตนให้เป็นโสดไม่ได้
การเป็นโสดนั้น ไม่ได้และไม่ต้องเสียอะไร ไม่ทำร้ายและไม่เบียดเบียนใคร ใครที่เข้าใจแล้วพาตนเองให้เป็นโสดก่อนก็จะได้พบกับความผาสุกก่อน ต่างจากคนคู่ที่มุ่งทำร้ายทำลายกัน(เช่นการสมสู่กัน) หลอกลวงกันด้วยความหลงและสร้างความยึดมั่นถือมั่นให้แก่กัน ซึ่งเป็นไปเพื่อการจองเวรกันชั่วกาลนาน ดังนั้นใครโสดได้ก่อนก็ไม่ต้องซวยทีหลัง ส่วนคนที่อยากสละโสดก็ต้องพบกับความซวยกันต่อไป
– – – – – – – – – – – – – – –
21.4.2559
ความรักไม่ลึกลับ
ความรักไม่ลึกลับ
ความรัก แท้จริงแล้วไม่ลึกลับ ที่มันลึกลับเพราะว่าหลง หลงจนรู้สึกว่าสิ่งนั้นน่าใคร่น่าพอใจ
คนที่ไม่หลงในความรักจะชัดเจนว่า ความรู้สึกรักและชอบใจนั้นเกิดขึ้นเพราะอะไร ความรู้สึกเช่นว่า ทำไมฉันจึงชอบคนนั้น ในขณะที่รู้สึกเฉยๆกับคนอื่นๆ หรือทำไมถึงคิดถึงคนหนึ่งได้ขนาดนี้ทั้งๆที่แต่ก่อนไม่เคยคิดอะไร ฯลฯ สิ่งเหล่าจะไม่เกิดขึ้นกับผู้ที่รู้ชัดเจนในความรัก
ผู้ที่ยังมีรักที่ลึกลับ รักที่ไม่อยากจะหานิยาม รักที่หาคำตอบไม่ได้ว่ารักเพราะอะไร คือผู้ที่ยังหลงวนอยู่ในความไม่รู้ ไม่รู้เหตุปัจจัยในการเกิดความรัก นั่นหมายความว่า เขาย่อมที่จะไม่รู้เหตุแห่งการดับความทุกข์จากความรักเช่นกัน
เมื่อไม่รู้เหตุแห่งทุกข์ ดังนั้นการดับทุกข์ย่อมไม่มีวันเกิดขึ้นได้
– – – – – – – – – – – – – – –
17.9.2558