Tag: สหาย
คบสหายมีปัญญา ความเป็นสหายไม่มีในคนพาล
ถ้าบุคคลพึงได้สหายมีปัญญา เที่ยวไปด้วยกัน
เป็นนักปราชญ์คอยช่วยเหลือกัน
เขาครอบงำอันตรายทั้งปวงเสียได้
พึงพอใจ มีสติเที่ยวไปกับสหายนั้น
แต่ถ้าไม่ได้สหายมีปัญญาคอยช่วยเหลือกัน
พึงเที่ยวไปคนเดียว และไม่พึงทำบาป
เพราะความเป็นสหายไม่มีในคนพาล(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ “โกสัมพิขันธกะ”่ ข้อที่ ๒๔๗)
อ่านแล้วรู้สึกว่าเห็นด้วยมาก พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ให้ไปคบคนมั่ว ๆ ท่านแนะนำให้คบคนที่สูงกว่าหรือเสมอกัน ดังที่ท่านว่า คอยช่วยเหลือกัน ช่วยให้พ้นภัยอันตราย มีความพึงพอใจในกัน คือเคารพและยินดีในการมีอยู่ของกันและกัน ท่านให้คบหากับคนเหล่านั้น
แต่ถ้าหาไม่ได้ อย่าไปคบเชียว อย่าเชียวล่ะ คนที่ต่ำกว่า มีศีลธรรมต่ำกว่า จะพาปวดหัว เพราะท่านกล่าวว่า ความเป็นมิตรสหายไม่มีอยู่ในคนพาล ซึ่งก็จริงเช่นนั้นจริง ๆ คนที่เขาไม่พัฒนาตน ไม่พัฒนาศีลธรรม เชื่อใจไม่ได้หรอก ดีไม่ดีหลอกเราด้วยว่ามีศีลมีธรรม สุดท้ายก็ทำร้ายเรา นินทาเรา แทงหลังเรา พวกนี้เกิดจากเราไปคบคนพาล เสียทั้งเวลา และสารพัดเสีย ไม่มีมิตรแท้ในหมู่คนพาลนี่เรื่องจริง มีแต่ชิงดีชิงเด่นเอาหน้าเอาผลงาน
ยุคนี้คนพาลเขาฉลาด เขาก็แสร้งว่าเป็นคนดี มีศีลธรรม ก็เหมือนพระปลอม เนื้อปลอม ผู้ชายปลอม ผู้หญิงปลอม อะไรแบบนี้ ได้แค่เหมือน แต่ไม่ใช่ แม้กระนั้นก็ยังหลอกคนได้อยู่ดี แต่ถ้าเราใช้สูตรของพระพุทธเจ้า เราจะไม่พลาด เราไม่จำเป็นต้องไปอนุโลมคบกับคนต่ำกว่า แม้จะมีบทหนึ่งเว้นไว้สำหรับคนที่เขามาขอความช่วยเหลือก็สามารถเอาภาระสอนเขาได้ แต่การจะไปคบคนต่ำกว่าที่เขาไม่ได้ยินดีให้เราแนะนำหรือช่วยเหลือนี่มันผิดสัจจะ มันไม่พาเจริญ ดีไม่ดีเขายกตนข่มเราเข้าไปอีก ซวยไปกันใหญ่
ผมคบคนไม่เยอะ เพราะผมเน้นคุณภาพ ใครที่ดู ๆ แล้วท่าไม่ค่อยดี ผมก็ห่าง ๆ ไว้ มันเมื่อยหัว เพราะสร้างแต่เรื่องอกุศลและไร้สาระ เป็นคนรู้จักห่าง ๆ กันไปดีกว่า ไม่ต้องสนิทชิดใกล้กันหรอก ศีลมันไม่เสมอ ทำยังไงมันก็คุยกันไม่รู้เรื่อง
คนจะเป็นสหายกันนี่มันไม่ต้องพยายามหรอก คุยกันถูกคอ ศีลเสมอกัน ทิฏฐิเสมอกันเดี๋ยวก็ไปด้วยกันได้เอง ถึงจะพยายามแค่ไหน ถ้ามันไม่เสมอเดี๋ยวก็หลุดไปอยู่ดี ด้วยเหตุที่ฟังแล้วไม่เข้าใจบ้าง อิจฉาบ้าง ฯลฯ เดี๋ยวก็เพ่งโทษ ถือสา หานรก ป่วนไปหมด
ครูบาอาจารย์ก็เคยบอกสอนไว้ แม้ในองค์กรเดียวกัน ก็ต้องเลือกกลุ่มให้ถูก เพราะกลุ่มที่ไม่พาเจริญก็มี กลุ่มที่พาเจริญก็มี ต้องเลือกให้ถูกระดับศีลเรา ถ้าเราถือศีลเคร่ง เราไปอยู่กับกลุ่มเหยาะแหยะบ้ากามหลงงานไม่ปฏิบัติธรรม อันนี้ตายอย่างเดียว มีแต่เสื่อม ไม่มีเจริญเลย เราก็ต้องเลือกกลุ่มที่เสมอกันเป็นอย่างน้อย ถ้ามีดีกว่า ก็ไปอยู่กลุ่มที่ดีกว่า
พระพุทธเจ้าท่านเน้นว่า “สหายมีปัญญา” ด้วยผมเองก็เป็นสายปัญญาอยู่แล้ว ดังนั้นจึงหาคนที่มีปัญญามากกว่าไม่ยาก ยิ่งสายปัญญายิ่งมีน้อย ๆ อยู่แล้วด้วย คุยไปเถอะ นานไปเดี๋ยวก็รู้เอง คนไม่มีปัญญา เขาจะตามไม่ทัน เข้าใจผิด หลงประเด็น เพ่งโทษ ถือสา ฯลฯ แต่คนมีปัญญาเขาจะตามทัน แถมเขาจะรู้ด้วยว่าเราวางหมากอะไรไว้ แล้วเขาจะแก้ให้เราดูแล้วสอนท่าใหม่ที่เหนือกว่าที่เรามีให้เราด้วยความเมตตา
ครูบาอาจารย์ และสหายธรรม ตามกรรมที่ทำมา
ครูบาอาจารย์ และสหายธรรม ตามกรรมที่ทำมา
การปฏิบัติธรรมนั้น หากคิดจะก้าวหน้าได้ไวเพื่อให้เรียนรู้สู่การพ้นทุกข์ด้วยหนทางที่สั้นและง่ายที่สุดนั้น จำเป็นต้องมีครูบาอาจารย์ที่รู้ทางเป็นผู้ชี้ทาง มีเพื่อนผู้ปฏิบัติธรรมเป็นผู้ร่วมเรียนรู้ แบ่งปัน เสนอแนะ และตักเตือนกัน จึงจะสามารถเจริญไปได้เร็วที่สุด
การเริ่มต้นปฏิบัติธรรมนั้นจึงควรเริ่มจากการเสาะแสวงหามิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี เพราะถ้าพยายามปฏิบัติไปทั้งที่ไม่รู้ทางก็คงหลงทางเสียเวลาไปเปล่าๆ
การแสวงหาครูบาอาจารย์นั้นต้องเริ่มด้วยการมีเหตุปัจจัยสองอย่างคือการเปิดใจรับฟังผู้อื่นและการนำมาขบคิดพิจารณา ผู้ที่ปฏิบัติธรรมมักจะเกิดสภาพยึดมั่นถือมั่นเมื่อเจอครูบาอาจารย์ที่ถูกใจ เมื่อปฏิบัติไปนานเข้าก็จะปิดใจ ไม่รับฟังแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างจากตน และนั่นอาจจะหมายถึงการปิดประตูสู่การพ้นทุกข์เลยก็ว่าได้
เพราะไม่มีใครรู้ได้เองหรอกว่า อาจารย์ที่ตนเจอนั้นสัมมาทิฏฐิหรือมิจฉาทิฏฐิ เพราะถ้าตัดสินด้วยทิฏฐิของคนที่ยังหลงทางแล้ว มันก็ดูเหมือนจะสัมมาทั้งหมดนั่นแหละ คือเราชอบอะไร ถูกใจอะไร เราก็เหมาว่าสัมมาหมด เพราะคิดตรงกับเรา เป็นอย่างที่ใจเราหมาย และเมื่อคิดว่าถูกจึงปักมั่นลงไป
การพิสูจน์ว่าของจริงหรือไม่นั้นเกิดจากการนำธรรมของท่านเหล่านั้นมาปฏิบัติตาม ซึ่งความเจริญนั้นจะสามารถวัดได้จากความโลภ โกรธ หลง ที่ลดน้อยลง สรุปง่ายๆว่าถ้าถูกทางกิเลสต้องลด ถ้าปฏิบัติตามแล้วกิเลสไม่ลดก็ควรจะทบทวนทิศทางและศึกษาแนวทางอื่นๆประกอบ
ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้ที่จะสามารถเจอครูบาอาจารย์ที่ถูกตรงได้ไว คือผู้ที่เปิดใจรับฟังการปฏิบัติที่หลากหลาย และนำหลักการเหล่านั้นมาปฏิบัติตามโดยใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นถึงสาระประโยชน์ในการปฏิบัติธรรมนั้นได้
แต่ถึงอย่างนั้นการจะได้พบครูบาอาจารย์หรือสหายธรรมนั้นก็มีข้อจำกัดในเรื่องของกรรม นั่นคือเราไม่สามารถได้มากกว่ากรรมที่เราทำมา เราไม่สามารถพบอาจารย์ที่ถูกตรงได้เลย หากเราไม่มีกรรมที่ปฏิบัติอย่างถูกตรงหรือกรรมดีที่จะพาให้พบกับคนที่ถูกตรงได้ สรุปได้ว่า เราไม่สามารถพบกับสิ่งดีได้เกินกว่ากรรมดีที่เราทำมา
ดังนั้นเราจะเห็นได้ในสังคมที่ว่า คนบางพวกไปศรัทธากับผู้บวชมาหากินกับศาสนาบ้าง ศรัทธาครูบาอาจารย์ที่ใช้เดรัจฉานวิชาบ้าง ศรัทธาอลัชชีบ้าง นั่นเพราะพวกเขามีกรรมที่ต้องไปศรัทธาคนเหล่านั้น มันหนีไม่พ้น จะพยายามอย่างไรก็จะต้องไปจมกับสิ่งเดิม เพราะมีกรรมที่เคยผูกกันมาหลายภพหลายชาติเป็นพลังดูดดึงที่มองไม่เห็น
ในทางเดียวกัน คนที่ทำดีมากๆก็เช่นกัน เขาก็จะมีพลังดูดดึงกันระหว่างคนดี ได้พบกับคนที่ดี ได้พบกับผู้ที่ปฏิบัติอย่างถูกตรงจริง ได้เจอมิตรดี สหายดี เรื่องเหล่านี้ก็เป็นเรื่องของกรรมเก่าที่ทำมาเช่นกัน เพราะเคยเกื้อกูลคนดีมาหลายต่อหลายชาติ แล้วชาตินี้มันจะหนีไปไหนพ้น มันก็เจอแต่คนดี หลงไปในหมู่คนดีอยู่นั่นเอง
เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของกรรมเก่าที่จะลิขิตเส้นทางให้ได้เจอกับคนดี ส่วนกรรมใหม่นั่นคือจะคว้าโอกาสนั้นไว้หรือไม่ จะสนใจหรือไม่ หากได้เจอครูบาอาจารย์ที่คิดว่าสามารถชี้ทางให้พ้นทุกข์ได้ แล้วเราจะสามารถปฏิบัติตามท่านเหล่านั้นได้หรือไม่ หรือเรายังมีกรรมกิเลสที่ต้องเป็นทาสกิเลส ไปคอยเสพสิ่งต่างๆให้เสียเวลาปฏิบัติธรรมไปอีกหรือไม่
การมีกรรมเก่าผลักดันให้เจอคนดี ไม่ได้หมายความว่าจะเจอได้ทุกชาติ กรรมดีมันก็มีหมดเหมือนกัน กรรมใดที่ส่งผลไปแล้วมันก็หมดพลังของมันเอง ทีนี้พอกรรมดีส่งผลให้เจอกับคนดี แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจ ให้เวลาไปกับการสนองกิเลส กรรมดีที่ทำมานั้นก็เสียเปล่า ส่วนกรรมชั่วที่สร้างขึ้นมาใหม่ก็รอส่งผล ซึ่งมันก็ทำให้เสื่อมลงไปได้เรื่อยๆเช่นกันหากไม่ได้ทำกรรมดีเพิ่ม
ดังนั้นถ้าอยากเจอคนดี เจอครูบาอาจารย์ที่ถูกตรงไม่พาหลงทางจริงๆ ก็ให้ทำดีให้มากๆ เพียรทำดีโดยไม่ประมาท ขยันศึกษารับฟังสิ่งที่แตกต่างจากที่ตนยึดมั่นถือมั่น และนำมาพิจารณาหาประโยชน์ที่แท้ แม้ว่ากรรมเก่าจะมีพลังดีไม่มากนัก แต่กรรมใหม่ที่ทำนั้นทรงพลังมากกว่า ฟ้าไม่มีทางกั้นให้คนดีไม่พบกับทางพ้นทุกข์ได้นาน แม้จะหลงทางไปบ้างแต่ถ้าขยันทำดีไปเรื่อยๆ วิบากกรรมดีก็จะดลให้ได้พบกับครูบาอาจารย์ที่ถูกตรงในวันใดวันหนึ่งเอง
พอเจอผู้ชี้ทางแล้วได้ฟังธรรม นำมาศึกษาและปฏิบัติจนเกิดผล กิเลสลด ความโลภ โกรธ หลง เบาบาง ปฏิบัติศีลที่ยากได้ดีขึ้น เช่นสามารถมีศีล ๕ ได้โดยปกติทั้งกาย วาจา ใจ นิสัยดีขึ้น มีความสุขขึ้น มักน้อยกล้าจนมากขึ้น กล้าที่จะเสียสละแบ่งปันให้กับผู้อื่นมากขึ้น สามารถที่จะรับรู้ถึงความเจริญเหล่านี้ได้เอง จนเข้าใจได้ว่าธรรมของท่านเหล่านั้นเป็นของจริง ทำให้ลดกิเลสได้จริง ทำให้เกิดความผาสุกได้จริง ทำลายสิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่นได้จริง
เช่นจากที่เคยชอบกินขนมชนิดหนึ่งมาก ก็ประหารความอยากนั้นได้จริงๆ ,เคยกินเนื้อสัตว์ ก็หันมากินมังสวิรัติได้แบบปกติสุข , เคยกินหลายมื้อ ก็หันมากินมื้อเดียวได้อย่างมีปัญญา , เคยอยากมีคู่ แต่ก็ทำลายความอยากนั้นจนสิ้นซากได้ต่อหน้าต่อตา พอมันทำได้จริงเช่นนี้ เอาวิธีปฏิบัติมาทำให้เกิดผลเจริญได้แบบนี้ มันก็หมดสงสัยอีก ไม่ต้องถามกันอีกว่าถูกหรือผิด เพราะถ้าผิดมันทำลายกิเลสไม่ได้อยู่แล้ว มีแต่ทางที่ถูกเท่านั้นที่จะสามารถต่อกรกับกิเลสได้
นั่นหมายความว่ามีแต่สงฆ์สาวกแท้ๆของพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะสามารถสอนวิธีทำลายกิเลสจนสิ้นซากได้ นอกเหนือจากนี้ไม่มี วิธีอื่นใดในโลกไม่มี วิธีจัดการกับกิเลสจนสิ้นเกลี้ยงมีในธรรมวินัยนี้เท่านั้น ลัทธิอื่นนอกจากนี้ไม่มี
พอรู้ได้ด้วยตนเองเช่นนี้ก็ถือว่าจบภารกิจในการตามหาครูบาอาจารย์และมิตรสหาย เพราะรู้ว่าถ้าทำดีไปตามแนวทางนี้ก็จะได้พบกับคนที่ดียิ่งขึ้น คนที่เก่งกว่านี้ และที่แน่นอนคือเราสามารถทำตนเองนี่แหละให้ดียิ่งๆขึ้น จนเป็นที่พึ่งของผู้อื่นได้เช่นกัน
ทั้งหมดนี้เป็นขีดความสามารถของกรรมใหม่ที่สามารถทำได้ แม้ว่ากรรมเก่าจะขีดเขียนมาเช่นไรก็ตาม แต่หากเราใช้ทุกวันของชีวิตเพียรสร้างกรรมดีใหม่ๆขึ้นมา โอกาสที่จะได้เรียนอริยสัจ หรือความจริงอันประเสริฐสุดของชีวิตก็จะถูกเปิดเผยให้ได้ไขว่คว้ามา
ยกเว้นเสียแต่ชีวิตนี้ได้ทำอนันตริยกรรมลงไปแล้ว ประตูโอกาสทุกบานก็จะถูกปิดลง แม้จะมีทางแต่ก็ไม่เห็น แม้จะมีพระอรหันต์อยู่ตรงหน้าแต่ก็ไม่รู้ แม้จะมีธรรมที่พาพ้นทุกข์ประกาศอยู่แต่ก็จะไม่เข้าใจ แม้ครูบาอาจารย์จะเก่งแค่ไหนแต่ก็ไม่มีวันจะเรียนรู้ได้ เรียกได้ว่าหมดโอกาสบรรลุธรรมในชาตินี้ คงทำได้อย่างมากแค่ทำดีเท่าที่กำลังปัญญาจะพอมี และรอวันตายไปฟรีๆอีกหนึ่งชาติ
– – – – – – – – – – – – – – –
1.5.2558