Tag: สละกิเลส
รวยเท่ากับซวย #4
รวยเท่ากับซวย #4
…หยุดความซวยด้วยเศรษฐกิจพอเพียง
วิธีเดียวที่จะหยุดความซวยจากความรวยได้นั้นก็คือหยุดรวย แต่จะบอกให้คนรวยนั้นหยุดรวยก็คงจะทำใจกันยากสักหน่อยเพราะคงจะไม่มีใครที่จะยอมสละกิเลสกันง่ายๆ ดังนั้นเราจึงต้องมาศึกษาความพอเพียงกัน
ความพอเพียงนี้ก็มีอยู่หลายระดับ ความพอเพียงของเศรษฐีกับความพอเพียงของคนจนยอมแตกต่างกัน ถ้าหากคนรวยมองไปในความพอเพียงของคนจนก็มักจะมองว่า ทำไมมีน้อยจัง กินน้อยใช้น้อยจัง ชีวิตลำบากจัง แต่นั่นคือความพอดีของคนจนแล้วนะ จะให้เขาไปมีในระดับความพอดีของคนรวยมันก็คงจะไม่ไหว มันก็มากเกินไป มากเกินจะแบก เป็นภาระให้ปวดหัวเข้าไปอีก
จะเห็นได้ว่าความพอเพียงนั้นต้องเป็นไปตามฐานะของแต่ละคน ไม่ใช่ให้คนรวยมาพอเพียงอย่างคนจนเลยมันทำไม่ได้ กิเลสเราสะสมมาเยอะแล้วไปขัดใจมันเข้ามากๆมันจะบีบคอเราตายเอา มันจะทำให้เราทรมานจนขยาดไปเลย ดังนั้นคนรวยก็ควรจะพอเพียงในระดับที่ตนรับไหวก่อนแล้วค่อยลดระดับลงมาเรื่อยๆ จนเข้ามาใกล้เคียงหรือต่ำกว่าคนจนให้ได้ ในส่วนคนจนเมื่อพอเพียงแล้วก็จะพบว่ามีรายได้มากขึ้น ลดรายจ่ายได้มากมาย ก็อย่าหลงไปตามโลก ไปอยากได้อยากมีอะไรที่เกินความจำเป็นตามเขา ซึ่งมันจะเริ่มไม่พอเพียง มันจะฟุ้งเฟ้อแล้วกิเลสมันก็จะโตตามไปด้วย
ความพอเพียงนั้นเกิดขึ้นได้จากการลดกิเลส ลดความอยากได้อยากมี เป็นเศรษฐกิจพอเพียงที่เราทำได้ในชีวิตประจำวันกันนี่แหละ แทรกเข้าไปในชีวิตเลย ไม่ต้องไปเรียนรู้ที่ไหน เรียนรู้กันอยู่ในใจนี่แหละว่าฉันโลภไหม ฉันอยากได้ไปทำไม กระเป๋าใบเก่าก็ยังดีอยู่แล้วจะซื้อใบใหม่ทำไม ,น้ำเปล่าก็ดีต่อสุขภาพแล้วจะกินกาแฟไปทำไม, แค่สองสามชั้นก็น่าจะเดินได้จะขึ้นลิฟท์ให้เปลืองไฟไปทำไม ,เรากินอาหารมื้อนี้แพงไปไหม ,จริงๆแล้วเรากินแค่ข้าวผัดหนึ่งจานก็อิ่มแล้วทำไมต้องกินบุฟเฟต์ให้มันจุก ให้มันลำบากด้วย เราจะเห็นได้ว่าเพียงแค่จิตใจของเราหัดพอเพียงในสิ่งเล็กๆน้อยๆ ลดกิเลสจากเรื่องที่มันดูเหมือนไม่มีสาระนี่แหละ มันจะขยายไปเรื่องที่มันยิ่งใหญ่ขึ้นได้เอง
เช่น เราจะซื้อรถคันใหญ่ไปทำไม ในเมื่อเราก็ตัวคนเดียว คนในครอบครัวก็มีรถกันหมดแล้ว ,เราจะแต่งรถไปทำไม เพื่อเติมกิเลสใดให้สมใจเรา ถ้าสวยแล้วเราจะเป็นสุขหรือ ,เราจะมีบ้านใหญ่ไปทำไม ไว้อวดใครหรือแค่ไว้ซุกหัวนอนเท่านั้น ,เราจะแบกอะไรให้มากมายไปทำไม ทำงานเท่าที่ควรจะทำให้เสร็จเรียบร้อยให้เหมาะกับตำแหน่งหน้าที่แล้วพักผ่อนให้เพียงพอก็พอแล้ว …
เศรษฐกิจพอเพียงในชีวิตมันก็เรื่องเพียงแค่นี้แหละ แค่เราถามตัวเองบ่อยๆว่าเราจะเสพมากไปทำไม จะทำตามกิเลสไปทำไม เราจะอยากได้อยากมีไปทำไม มันจำเป็นจริงหรือ เรามีแล้วมันจะเป็นอย่างไร ถ้าเราไม่มีแล้วจะเป็นอย่างไร มันจำเป็นกับชีวิตไหม มันสำคัญไหม
ถ้าจิตใจมันไม่พอเพียงมันจะตีทิ้งคำถามพวกนี้หมดเลยนะ เวลาคนกิเลสขึ้นใจมันโลภ มันอยากเสพ มันจะหน้ามืดจะเสพ มันจะเอามาให้ได้ มันไม่สนอะไรทั้งนั้น จะขอข้ออ้างเหตุผลอะไรเพื่อเสพมันมีให้หมด มีธรรมะมีสติแค่ไหนมันก็ตีทิ้งหมด เวลามันจะเสพตามกิเลสมันชนะหมดทุกความพอเพียงนั่นแหละ
คนพอเพียงจริงๆแล้วก็คือคนที่ตามทันกิเลส รู้ทันกิเลส สามารถทำให้กิเลสสงบลงและสยบกิเลสนั้นได้ ส่วนคนที่ไม่พอเพียงก็เป็นเพียงคนที่ตามกระแสกิเลส ทำตามกิเลส คล้อยตามกิเลส สุดท้ายจะรวยหรือจะซวยยังไงก็ไม่สน ขอให้ได้เสพสมใจตามกิเลสก็เป็นพอ ชาติภพนี้จะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน จะทุกข์ข้างหน้าก็ไม่เป็นไรขอให้ได้เสพสุขตอนนี้ก็เป็นพอ
…ดูสิพลังของกิเลสมันรุนแรงขนาดไหน จะแก่เดือน แก่ปี แก่พรรษา เป็นผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมามากแค่ไหน แต่ถ้ายังแพ้กิเลสก็ยังถือว่าเด็กๆอยู่ดี เด็กต่อกิเลส ยอมให้กิเลสมันหลอก ไม่รู้ทันกิเลส จะเกิดมากี่ชาติต่อกี่ชาติก็ยังเป็นเด็กให้กิเลสหลอกให้หัวปั่นอยู่เรื่อยไป อย่าว่าแต่เศรษฐกิจพอเพียงเลย แค่เลี้ยงตัวเองให้ทันตามกิเลส ให้พอเสพกิเลสยังเอาตัวไม่รอดเลย แบบนี้จะให้ตั้งหลักสู้กับกิเลสคงไม่ไหว คงต้องยอมปล่อยให้เป็นไปตามกิเลส ปล่อยให้เรียนรู้กันอีกหลายภพหลายชาติจนกว่าจะพอเข้าใจ ว่าความรวยนั้นมันนำมาซึ่งความซวยอย่างไร
– – – – – – – – – – – – – – –
15.12.2557
ชาตินี้ ชาติหน้า
ชาตินี้ ชาติหน้า
คงจะมีบางครั้ง ที่เรามักจะสงสัย ชาติหน้ามันมีจริงหรือ? แล้วชาติหน้าจะเป็นอย่างไร? หรือมันไม่มีจริง เราเกิดกันมาแค่ครั้งเดียวจริงๆหรือ? เราเกิดมาแล้วต้องใช้ชีวิตให้สุดๆก่อนตายจริงหรือ? แม้ไม่เคยสงสัย แต่หลายคนก็มักจะมีความเชื่อไปในทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเชื่อว่าเกิดมาครั้งเดียว หรือชาติหน้ามีจริง ก็ไม่รู้หรอกว่ามันเป็นอย่างไร มีที่มาอย่างไร แล้วต่อไปจะเป็นอย่างไร ในบทความนี้เราจะมาแบ่งปันความรู้กัน
อดีต…จนถึงปัจจุบัน
ก่อนจะมีชาตินี้ ก็ต้องมีอดีตชาติ หรือชาติก่อน …. คนธรรมดาสามัญอย่างเราจะให้นึกไปถึงชาติก่อนก็คงจะนึกไม่ออก ถึงจะไปถามผู้รู้ ก็ไม่รู้อยู่ดีว่าเรื่องที่เขาบอกเรามา มันจริงหรือเขาคิดไปเอง การจะรู้ว่าชาติก่อนเราเป็นอย่างไรนั้น ไม่ยากเลย ก็แค่ดูนิสัยในชาตินี้ ดูสังคมสิ่งแวดล้อม ดูผู้คนรอบข้างของเราในชาตินี้
ถ้านิสัยในชาตินี้เราเป็นอย่างไร ชาติก่อนเราก็เป็นอย่างนั้น เหมือนวันนี้เรายังชอบกินไอติม พรุ่งนี้ก็จะยังชอบอยู่ดี วันต่อๆไปก็ยังจะชอบอยู่ดี นิสัยหรือสันดานที่เรามีนี่แหละ คือสิ่งที่แสดงถึงชาติก่อนของเรา สังคมสิ่งแวดล้อมผู้คนรอบข้างนั้นสะท้อนถึงบุญบารมีที่เราเคยสร้างมา เช่นเราอยู่ในสังคมที่พาให้หลงมัวเมาในกิจกรรมอะไรสักอย่าง นั่นก็เพราะเราเคยพากันมัวเมาก่อนแล้ว เหมือนดังที่เราสนุกกับการเที่ยวเล่นวันนี้ อีกไม่นานเราก็จะพยายามหาทางชวนเพื่อนไปเที่ยวเล่นกันอีก เพราะเราเสพติดการเที่ยวเล่น
กรรมที่เราทำจะนำพามาซึ่ง นิสัย เหตุการณ์ ความคิด ปัญญา รูปร่าง หน้าตา ฐานะ ครอบครัว สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ถ้าใครรู้สึกว่าโลกนี้ไม่ยุติธรรมก็ขอให้ลองพิจารณาดูว่าอีกทีว่า เป็นเพราะเราไปทำอะไรมารึเปล่า เราถึงได้เจอเหตุการณ์ที่ทำให้ทุกข์ ให้ลำบาก ให้เดือดร้อน ทรมาน แตกต่างจากคนอื่นเขาเหลือเกิน
คำว่าอดีตนั้นหมายรวมถึงอดีตที่เราจำไม่ได้ เช่น ในชาติก่อนภพก่อน หรืออดีตเมื่อปีก่อน เดือนก่อน วันก่อน อดีตเป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ เมื่อกระทำสิ่งใดแล้วก็กลายเป็นอดีต กลายเป็นกรรม เราจึงต้องมาแก้ไขกันในปัจจุบัน
มองภาพรวม อดีต….ปัจจุบัน….อนาคต
คงจะมีบางครั้งที่เราอยากรู้ว่าตายแล้วเราจะไปไหน ไปสู่อนาคตแบบไหน ก็ลองดูกันว่าที่ผ่านมาในอดีต ตั้งแต่ที่เราเกิดมา เราได้ทำอะไรไว้บ้าง เคยลองสรุปบัญชีกรรม จัดระเบียบกิเลสตัวเองบ้างไหมว่า ที่ผ่านมากิเลสของเราเพิ่มขึ้น หรือกิเลสของเราลดลง เราทำสิ่งที่เป็นกุศลมาก หรือทำอกุศลมากกว่ากันแน่
การทำทานด้วยเงิน ไม่ใช่เหตุปัจจัยที่ส่งผลขนาดที่ว่าทำให้เราได้เกิดในชาติที่ดีภพที่ดี เพราะกรรมยุติธรรมเสมอ เราทำทานไป 1,000 บาท ชาติหน้าเราก็ควรจะได้แค่ประมาณ 1,000 บาท หรืออะไรที่ใกล้เคียงกันไม่ใช่หวังไปว่าจะถูกหวย จะได้ลาภลอย หวังจะให้ไปเกิดในตระกูลร่ำรวยหรือหวังเกินกว่าสิ่งที่ตัวเองได้ทำ
หรือแม้แต่การปฏิบัติ ดังเช่น การนั่งสมาธิ เดินจงกรม สวดมนต์แบบไม่เข้าใจความหมาย ก็ไม่ได้ทำให้บรรลุหรือหลุดพ้นอะไร ถ้าเรายังคงทำแค่ในลักษณะของสมถะ คือการกำหนดจิตไปไว้ที่ใดที่หนึ่ง ไม่ให้ใจวอกแวก สงบนิ่ง ติดจิต ตบความคิดทิ้ง อย่างดีที่สุดเราก็จะได้ความสงบในตอนนั้น หรืออย่างมากก็เป็นแบบฤาษี ก็เหมาะสมกับกรรมที่ทำมาแล้วนี่ แค่นั่งสมาธิจะไปหวังอะไรกับการบรรลุมรรคผล
แต่สิ่งที่ซ้อนเข้าไปกับการทำกิจกรรมใดๆ ยกตัวอย่างเช่น การทำทาน ก็คือการทำทานนั้นมีผลเพื่อสละกิเลสหรือไม่? ถ้าทำเพื่อความไม่ได้ไม่มี ไม่หวังอะไร ให้เพื่อลดความตระหนี่ ความขี้งกขี้เหนียว ตรงนี้ก็ถือเป็นบุญ และการนั่งสมาธิถ้าใช้การวิปัสสนาเข้ามาร่วมให้เห็นรากของปัญหา เห็นต้นเหตุของกิเลสที่ยึดมั่นถือมั่นอยู่ แล้วหมั่นพิจารณาจนรู้ความจริงตามความเป็นจริง ตรงนี้ก็ถือว่าเป็นบุญ
บุญนี้เองคือตัวที่จะมาตัดกับกิเลส เมื่อเราลดกิเลสได้ในวันนี้ วันพรุ่งนี้ก็จะไม่มีกิเลสตัวนั้นๆ จะเดือนหน้า ปีหน้า ชาติหน้าก็จะไม่มีกิเลสตัวนั้นๆมาทำให้ชีวิตต้องลำบากในอนาคต
เมื่อเราได้เข้าใจความจริงในแต่ละการกระทำที่เราได้ทำไปแล้ว ก็จะสามารถคำนวณบัญชีกรรมของตัวเองได้ชัดเจนขึ้น ว่าเราสร้างกุศล อกุศลไปแค่ไหน เราลดกิเลสได้แค่ไหน หรือไม่เคยลดเลยมีแต่สะสมเพิ่ม ยิ่งแก่ยิ่งเฮี้ยน ยิ่งเสพ ยิ่งยึดมั่นถือมั่น ยิ่งอัตตาเยอะ
ปัจจุบัน…ไปสู่อนาคต
การเลือกที่จะคิด พูด ทำ ภายใต้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น จะเป็นตัวตัดสินอนาคตของเรา เช่น มีคนมีตำหนิเรา เรามีสองทางเลือกที่ชัดเจน คือทำกุศล หรืออกุศล ส่วนลีลา ท่าทางที่จะออกไปก็แล้วแต่ใครจะปรุงแต่ง
ในทางกุศล เช่น เราไม่โกรธตอบยินดีรับฟังด้วยใจที่เป็นสุข ถามเขาว่าเราควรจะเริ่มแก้ไขตรงไหนดี ฯลฯ
ในทางอกุศล เช่น โกรธ อาฆาต พยาบาท ผูกโกรธ ไม่เชื่อ ไม่ฟัง เพ่งโทษ ด่าตอบ ทำร้าย ฯลฯ
ทางไปนรกหรือสวรรค์ มันก็อยู่กับปัจจุบันนี่แหละ ถ้าเราไปทางกุศลมันก็ไปสวรรค์ คิดอกุศลมันก็ไปนรก สุขทุกข์มันก็มีให้เห็นอยู่ตรงนี้ ทำกันตรงปัจจุบันนี่แหละ เพราะอดีตมันแก้ไม่ได้ และอนาคตก็คือผลของปัจจุบันอยู่ดี
ในแต่ละวันจะมีเหตุการณ์ให้เราเลือกทำสิ่งที่เป็นกุศลหรืออกุศลตลอด ตั้งแต่ตอนตื่นนอน เราขี้เกียจไหม , เดินทาง เราแย่งเราเบียดคนอื่นไหม , ทำงาน เราเอาเปรียบบริษัทไหม เราแอบอู้งานไหม เราโกรธใคร นินทาใครไหม ,เวลากินอาหาร เราเลือกกินของที่ชอบแต่ไม่มีประโยชน์ หรือกินของที่มีคุณค่าต่อร่างกาย, เรากลับมาบ้านเราพูดดีกับคนในครอบครัวไหม ฯลฯ
ช่วงเวลาเหล่านี้แหละคือช่วงเวลาที่จะตัดสินอนาคต คือช่วงเวลาที่จะปฏิบัติธรรม ปฏิบัติกันไปในชีวิตประจำวันเลย โดยไม่ต้องรอไปวัด ไปทำบุญ ไปนั่งสมาธิ ไปสวดมนต์ เพราะกุศล อกุศล บุญ บาป เกิดได้ทุกวินาทีในชีวิต ผู้ไม่ประมาทพึงรู้ได้ด้วยตนเองว่า ทุกวินาทีเป็นวินาทีแห่งบุญ เราสามารถสร้างนรกสวรรค์ขึ้นมาด้วยตัวเราเองได้ทุกขณะ แม้ครั้งนี้จะพลาดไป ก็ยังมีครั้งหน้า โอกาสหน้า หรือชาติหน้า ถ้าเราไม่ประมาทเราก็พยายามทำกุศลในทุกเหตุการณ์ให้ได้
….คำว่าชาติหน้านั้นหมายรวมไว้ถึงการเกิดของกิเลสครั้งหน้า การเกิดเหตุการณ์ครั้งหน้า หรือชีวิตหน้าด้วย เช่น ถ้าเรายังมีกิเลสที่หลงในรสของไอติม เมื่อเจอไอติมครั้งต่อไปก็ยังต้องมีอาการอยากกินอีก แม้จะรู้สึกเบื่อไปเองก็อย่าเผลอคิดไปว่ากิเลสตาย แต่จริงๆแล้วกิเลสแค่เปลี่ยนไปเสพของอร่อยชนิดอื่นแทนแค่นั้นเอง
ชีวิตหน้าจะเป็นอย่างไรนั้น ก็ให้พฤติกรรมของตัวเองในชาตินี้เป็นตัวพยากรณ์ ไม่ต้องให้ใครมาบอกหรอกว่าจะไปที่ไหน เป็นอย่างไร เรารู้ดีอยู่แก่ใจว่าเราทำอะไรมา เราเบียดเบียนผู้อื่นแค่ไหน หรือสร้างประโยชน์ให้สังคมเท่าไหร่ เราก็รู้ชัดเจนอยู่ในตัวเอง
จริงๆแล้วชาติหน้าก็ไม่ต่างกันกับชาตินี้เท่าไหร่หรอก อะไรที่เรายึดติดมา เราก็ยังยึดติดเหมือนเดิม เหมือนละครเรื่องเก่าที่เปลี่ยนคนแสดงใหม่ เป็นอย่างนี้มาแล้วทุกชาติ ซ้ำไปซ้ำมา วนเวียนไม่มีจบสิ้น หลงโง่มาเกิดแล้วแบกความโง่ไปจนตาย ก็ต้องเรียนรู้กันต่อไปจนกว่าจะเกิดปัญญา จนกว่ากิเลสจะตาย
– – – – – – – – – – – – – – –
17.9.2557