Tag: วิธีปฏิบัติธรรม

ไตรลักษณ์กับสมถะและวิปัสสนา

March 31, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,952 views 0

ไตรลักษณ์กับสมถะและวิปัสสนา

ดาวน์โหลดภาพขนาดเต็ม | Download full size image

ไตรลักษณ์กับสมถะและวิปัสสนา

ความแตกต่างของการใช้ไตรลักษณ์ระหว่างการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา

หากจะจำแนกวิธีปฏิบัติธรรมในปัจจุบันคงจะมีมากมายหลากหลาย มีชื่อ นิยาม และความหมายไปตามทิฏฐิที่แตกต่างกัน ซึ่งโดยหลักแล้วไตรลักษณ์ หรือลักษณะสามัญ 3 อย่าง คือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตนนี้เอง คือสิ่งที่หลายคนใช้ในการพิจารณาธรรม

แต่ในความจริงแล้ว การใช้ไตรลักษณ์เข้ามาพิจารณาธรรมนั้นก็มีวิธีการที่หลากหลายแตกต่างกันไป เหมือนกับมีเครื่องมืออยู่หนึ่งชิ้น สามารถนำไปทำอะไรได้หลายอย่าง มีวิธีการใช้และผลจากการใช้เครื่องมือนั้นที่เรียกกันว่า  “มรรค-ผล

การปฏิบัติโดยใช้สมถะก็มีมรรคผลแบบสมถะ การปฏิบัติโดยใช้วิปัสสนาก็มีมรรคผลแบบวิปัสสนา ถ้าโดยภาษาจะดูเหมือนมีมรรคผลเหมือนกัน แต่ในรายละเอียดนั้นจะแตกต่างกัน เมื่อมรรคต่างกัน ผลที่ได้ก็ย่อมต่างกันไปด้วย แล้วสิ่งไหนที่จะเป็นทางเดินที่ถูก ทางที่พาพ้นทุกข์(สัมมาอริยมรรค) ที่จะนำไปสู่ผลคือสภาพหลุดพ้นจากกิเลส (วิมุตติ)

สมถะกับไตรลักษณ์

สมถะในรูปแบบทั่วไปนั้น จะใช้การกำหนดจิต กดจิต ดับความคิด หรืออุบายต่างๆเข้ามาเพื่อควบคุมใจ แต่ก็ยังมีสมถะที่ใช้ตรรกะเข้ามาช่วยกดข่ม ในแบบชาวบ้านทั่วไปเช่น เราเป็นคนดี, เราจะไม่โกรธ, เราจะไม่กลัว และในรูปแบบที่ใช้ธรรมะเข้ามาก็เช่นการใช้ไตรลักษณ์นี่เอง

การใช้ไตรลักษณ์เข้ามาช่วยกดจิตให้นิ่งเมื่อเจอกับผัสสะที่ทำให้เกิดเวทนา เมื่ออาการผิดปกติเหล่านั้นเกิดขึ้นในจิต ก็จะใช้ “ธรรมะ” เข้ามาเป็นเหตุผล หรือนำสัจจะเข้ามาตบความฟุ้งซ่านนั้นๆทิ้ง เช่นเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่พอใจก็จะใช้การท่อง ระลึกถึง พิจารณาไตรลักษณ์ ความโกรธนั้นไม่เที่ยง ความโกรธนั้นเป็นทุกข์ ที่เรามีความโกรธเพราะเรามีตัวตน ฯลฯ

ลักษณะเหล่านี้คือปัญญาสมถะ จะดูคล้ายกับการวิปัสสนามากจนหลายคนเข้าใจผิดว่าวิธีนี้คือการวิปัสสนา ทั้งๆที่กระบวนการเหล่านี้เป็นรูปแบบของสมถะเท่านั้น เป็นเพียงการกดข่มจิตไม่ให้ไหวไปตามผัสสะที่เข้ามา จะเกิดสภาพสงบจากกิเลสที่โดนกดได้

เป็นมรรคผล แบบสมถะที่เกิดความสงบได้จริง กิเลสสงบจริง สุขจริง ผ่อนคลายจริง แต่ก็ไม่ใช่ผลที่ยั่งยืน แม้จะกดได้ข้ามภพข้ามชาติแต่วันใดวันหนึ่งก็ต้องระเบิดออกมาอยู่ดี เพราะปัญหาไม่ได้ถูกแก้ เหตุแห่งทุกข์ไม่ได้ทำให้รู้แจ้ง เพียงแค่ใช้ปัญญากดข่มอาการใดๆอันไม่น่าอภิรมย์ของจิตไปเท่านั้น

รูปแบบของสมถะจะซ้ำๆเดิมๆ เจอโจทย์ไหนก็ใช้วิธีเดิม ทุกอย่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน ทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ใช้ตรรกะ ธรรมะ เหตุผล คิดบวก ใช้ปัญญากดข่มอยู่แบบนี้เป็นมรรค และผลที่ได้จะเป็นเวทนา แบบเคหสิตอุเบกขา คือความวางเฉยแบบชาวบ้าน หรือความเบื่อแบบคนทั่วไป แบบโลกๆ แบบสามัญ ไม่ใช่ในแนวทางพ้นทุกข์ของพุทธศาสนา แต่เป็นแบบฤๅษีหรือเกิดความสงบอย่างผู้ปฏิบัติสมาธิทั่วไป

วิปัสสนากับไตรลักษณ์

กระบวนการของวิปัสสนานั้นจะต่างไปจากสมถะอย่างชัดเจน เพราะเป็นการ “คิด” (สัมมาสังกัปปะ) โดยมีพื้นฐานของความเห็นความเข้าใจที่ถูกตรงที่ยังมีกิเลสปนเปื้อนอยู่ (สัมมาทิฏฐิที่ยังมีสาสวะ)

วิปัสสนานั้นเป็นอุบายทางปัญญาที่จะเข้ามาใช้บริหารจิตเพื่อกำจัดกิเลสโดยเฉพาะ เมื่อเจอกับอาการของกิเลสที่สะท้อนผ่านความสุขหรือความทุกข์ที่เกิดขึ้น จึงใช้อาการเหล่านั้นเป็นเบาะแสที่จะขุดค้นลงไปหาต้นสายปลายเหตุแห่งทุกข์หรือรากของกิเลสนั้นๆ (สมุทัย)

เมื่อเจอกับต้นตอของปัญหา จึงใช้การคิดพิจารณาธรรมะต่างๆ เช่น การใช้เรื่องกรรม, ผลของกรรม, ประโยชน์, โทษ และการใช้ไตรลักษณ์นี้เองก็เป็นสุดยอดเครื่องมือในการพิจารณาเพื่อทำลายกิเลสเช่นกัน

เมื่อเราเจอกับตัวกิเลสจริงๆ มันจะไม่มองความจริงตามความเป็นจริง มันจะไม่คิดไปตามความถูกต้อง ยังเป็นมิจฉาสังกัปปะอยู่ คือคิดอย่างไรมันก็ตามใจกิเลสไปเรื่อยๆ แต่เมื่อเรามาวิปัสสนา เราก็จะเริ่มให้ปัญญากับตัวเอง ซึ่งมันจะไม่ง่ายและไม่ดับลงในทันที

เราจะใช้ธรรมะต่างๆเข้ามาพิจารณาที่เหตุ เช่น เมื่อเราโกรธ เราก็จะหาเหตุแห่งความโกรธ ว่าเรานั้นหวังเสพสิ่งใด ไม่ถูกใจสิ่งใด ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด แล้วขุดค้นลงไปจนเจอตัวเหตุจริงๆ จึงใช้ธรรมะเข้าไปเจรจากับกิเลส

แต่จิตที่เต็มไปด้วยกิเลสมันจะไม่ยอม มันจะเห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง มันจะเห็นทุกข์เป็นสุข มันจะเห็นอนัตตาเป็นอัตตา เช่นเราชอบกินขนม เราก็จะบอกว่ามันสุข มันอร่อย เราชอบกินมัน ซึ่งเราจะเห็นแบบถูกตรง(สัมมาทิฏฐิ)ไม่ได้ และคิดแบบถูกตรง(สัมมาสังกัปปะ)ไม่ได้ กิเลสมันจะค้าน กินยังไงมันก็จะยังอร่อยและเป็นสุขอยู่ดี เราจึงต้องใช้ปัญญาเข้ามาสู้ หาธรรม หาสัจจะ พิจารณาความจริง ทุกข์โทษภัยที่เกิดขึ้นจริงๆจากการเสพการติดสิ่งนั้น ประโยชน์เมื่อออกจากสิ่งที่ยึดติดนั้นผลกรรมที่จะต้องรับหากยังยึดติดสิ่งนั้น และสภาพจริงคือไตรลักษณ์นั้นหมายถึง ความสุขที่จะได้รับนั้นไม่เที่ยง เมื่อไม่เที่ยงก็เป็นทุกข์ เพราะเรายึดมั่นถือมั่นความอยากกินขนมไว้เป็นตัวตน

ซึ่งจะยากตรงที่ต้องเปลี่ยนผี(กิเลส) ให้เป็นคนด้วยตัวเองนี่เอง ตรงนี้จะให้ใครทำแทนไม่ได้ ต้องเพียรพิจารณาจนกระทั่งเกิดปัญญาเอง รู้เองเห็นเอง ปริยัติ ปฏิบัติ จนเกิดปฏิเวธ กลายเป็นธรรมะในตน มีปัญญารู้แจ้งกิเลสในตน เป็นปัจจัตตังจริงๆ

การวิปัสสนาจะเห็นผลไม่ง่ายนัก ไม่ได้ทำเพื่อบรรลุธรรมในทันที แต่ทำไปเพื่อให้รู้เห็นความเป็นจริงตามความเป็นจริงไปโดยลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด ซึ่งมีวิมุตติเป็นเป้าหมาย

ความต่างของสมถะและวิปัสสนากับไตรลักษณ์

สมถะนั้นจะใช้ไตรลักษณ์เพื่อทำความดับให้เกิดขึ้น ดับความคิด ดับจิตที่ฟุ้งซ่าน เรียกง่ายๆว่าดับทุกข์ที่เกิดนั่นเอง แต่วิปัสสนาจะใช้ไตรลักษณ์เพื่อทำให้เกิดปัญญา แต่ในส่วนของความดับกิเลสนั้นเป็นผลที่เกิดจากปัญญานั้นได้รู้แจ้งไปตามลำดับ

จะเห็นได้ว่าเครื่องมือเดียวกันแต่การใช้งานนั้นต่างกัน เราสามารถใช้ได้ทั้งวิธีสมถะและวิปัสสนา ซึ่งแล้วแต่เหตุปัจจัย เรื่องไหนควรดับในทันทีก็ควรจะใช้สมถะ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วก็ควรจะวิปัสสนาเป็นหลักแล้วใช้สมถะเป็นตัวเสริม เพราะสมถะเองนั้นมีไว้พักจิตเท่านั้น ไม่ใช่ตัวบรรลุธรรม ไม่ใช่วิธีที่จะทำให้เกิดปัญญา

การประมาณการใช้สมถะวิปัสสนานั้นขึ้นอยู่กับอินทรีย์พละของแต่ละคนซึ่งมีสะสมมาต่างกัน บางคนไม่ต้องทำสมถะเลยก็สามารถผ่านโจทย์ต่างๆได้โดยง่าย แต่บางคนแม้จะทำสมถะก็แล้วแต่ก็ยังแพ้ให้กิเลสอยู่เรื่อยไป ดังนั้นอย่าพยายามอ้างอิงสูตรหรือวิธีการปฏิบัติของใครเพราะเรามีกรรมต่างกัน มีอินทรีย์พละต่างกัน ทั้งนี้สมถะนั้นเป็นตัวเสริมพลังให้วิปัสสนา ซึ่งทำควบคู่กันไปจะเห็นผลเจริญได้ไวที่สุด

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องรู้จักอย่างแท้จริงว่าอย่างใดคือสมถะ อย่างใดคือวิปัสสนา ไม่เช่นนั้นก็จะปฏิบัติหลงทางวนเวียนอยู่เรื่อยไปเพราะโดยพื้นฐานแล้ว คนจะไปติดสมถะกันมาก เพราะวิธีสมถะจะทำให้เกิดความสงบในทันทีซึ่งดูจะเป็นผลที่สัมผัสได้ง่ายกว่าวิธีวิปัสสนา

ในส่วนวิปัสสนา คนที่ไม่เข้าใจกระบวนการปฏิบัติก็เห็นว่าวิธีนี้จะไม่สามารถทำให้เกิดความสงบได้เลย เห็นว่าการคิดนี้เองจะยิ่งทำให้ฟุ้งซ่าน พอไม่ได้ความสงบอย่างที่หมายก็เลยหลงไปติดกับสมถะอีก แท้จริงแล้ววิปัสสนานี่แหละคือสงความความคิด ที่เราจะต้องสร้างความคิดที่จะชำระกิเลส(สัมมาสังกัปปะ)มาสู้กับความคิดที่อยากสนองกิเลส(มิจฉาสังกัปปะ) ดังนั้นสมถะจึงเหมือนสถานที่พักรบซึ่งคนชอบไปพักและติดสงบจนหลงว่าอารมณ์เหล่านั้นคือการบรรลุธรรมบ้าง คือการหลุดพ้นบ้าง นิพพานบ้าง ทั้งๆที่นั่นคือการพักรบเท่านั้นเอง

การวิปัสสนานั้นเป็นวิธีของคนที่เพียรอย่างถูกต้อง แต่กระนั้นก็เห็นผลไม่ได้ง่ายๆ จะเกิดปัญญารู้แจ้งกิเลสกันไม่ได้ง่ายๆ ทำความดับไม่ได้ง่ายๆ แต่จะรู้ได้เองว่ากิเลสลดลงไปเท่าไหร่แล้ว เมื่อปฏิบัติอย่างถูกตรงจะมีญาณปัญญารับรู้กิเลสได้ชัดเจนขึ้นตามลำดับ และผลที่ได้นั้น ยั่งยืน เที่ยงแท้ ถาวร ตลอดกาล ข้ามภพข้ามชาติ ตราบปรินิพพาน

– – – – – – – – – – – – – – –

31.3.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

วิธีปฏิบัติธรรม จากการกินอาหารมังสวิรัติ

September 24, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 8,712 views 0

วิธีปฏิบัติธรรม จากการกินอาหารมังสวิรัติ

วิธีปฏิบัติธรรม จากการกินอาหารมังสวิรัติ

วิธีการที่จะนำมาเสนอต่อไปนี้ เป็นการสรุปย่อเพื่อให้เข้าใจหลักปฏิบัติโดยรวมได้ง่าย พยายามที่จะใช้ศัพท์เฉพาะให้น้อยเพื่อการเข้าถึงที่ง่าย หากมีโอกาสในวันใดวันหนึ่งคงได้พิมพ์ฉบับละเอียดออกมา ซึ่งจะร้อยเรียงข้อธรรมะเข้ากับการปฏิบัติให้เห็นถึงความสอดคล้องของสภาวธรรมที่เจริญไปพร้อมกับการปฏิบัติ แต่ในบทความนี้ คงพิมพ์ไว้ให้เป็นแนวทางไปก่อน

1). บทนำ

การลดเนื้อกินผัก กินอาหารมังสวิรัติ กินเจ ใครหลายคนก็มักจะมองไปในเรื่องของเมตตา หรือการไม่เบียดเบียนเป็นหลัก แต่ในอีกมุมหนึ่งนั้นเราสามารถใช้มังสวิรัติเป็นการปฏิบัติธรรมได้อย่างดีเยี่ยม

การปฏิบัติธรรมของศาสนาพุทธนั้น เป็นการปฏิบัติที่ใจ เป็นการขัดเกลาจิตใจ ขัดเกลากิเลส พัฒนาใจให้สูงขึ้น แต่การจะพัฒนาใจให้สูงขึ้นนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ไปนั่งสมาธิ เดินจงกรม หรือทำสมถะเท่านั้น แต่จำเป็นต้องวิปัสสนา เพื่อให้เกิดผลเจริญขึ้นในจิตใจด้วย

ถ้าจะกล่าวถึงมังสวิรัติหลายคนคงเบือนหน้าหนี มีหลายล้านเหตุผลที่เราจะไม่กินมังสวิรัติ และมีอีกหลายล้านเหตุผลที่จะทำให้เรากลับไปกินเนื้อสัตว์ เหตุผลเหล่านั้นมาจากกิเลสของเรา แต่แท้จริงกิเลสนั้นไม่ใช่เรา เราจะมาเริ่มปฏิบัติการจับผี ล่าผี ล้างป่าช้า ฆ่ากิเลสกันง่ายๆ ใน 3 ขั้นตอน คือ เตรียมตัว ระวัง ไป!

2). เตรียมตัว! ตั้งศีล

การจะลดกิเลสไม่ได้มีความยากในเรื่องของกระบวนการ แต่จะยากในเรื่องของการปฏิบัติ เป็นการปฏิบัติสู้กับกิเลสตัวเอง สู้กับความอยากของตัวเอง ใช้พลังของตัวเองในการฝ่าฟันกิเลสเหล่านั้น

การเริ่มต้น เราจะเริ่มจากการตั้งศีล ศีล คือข้อปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลส เพื่อความปกติสุข เพื่อความเจริญ ศีลที่เราจะตั้ง หรือให้ตนเองถือว่าก็คือ “กินมังสวิรัติ” เราจะไม่กำหนดเวลา ไม่กำหนดกรอบ เราแค่ลดเนื้อกินผัก ลดเนื้อเท่ากับศูนย์ กินแต่ผัก

การตั้งศีลนี้เราควรตั้งหรือถือไว้ด้วยปัญญา ไม่ควรเชื่อหากใครบอกว่าศีลนี้ดี ในขั้นตอนนี้เราควรจะหาความรู้ว่าทำไมจึงต้องกินมังสวิรัติ กินมังสวิรัติแล้วดีอย่างไร การกินเนื้อเบียดเบียนอย่างไร จงใช้เวลาหาความรู้จนมั่นใจว่าตัวเองยินดีที่จะตั้งศีลนี้ เพราะความยินดีในประโยชน์ในการออกจากทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย เป็นด่านแรกของปัญญา ซึ่งคนไม่มีปัญญาก็จะไม่สามารถตั้งศีลนี้ได้ เพราะไม่สามารถมองทะลุถึงประโยชน์แท้ในการมีศีล ถึงจะถือศีลก็ถือตามคนอื่นเขา ถือแบบเหยาะแหยะ ถือแบบลูบๆคลำๆถือเอาไว้อวดบารมี ถือไว้เฉยๆ ทำอะไรกับมันไม่ได้ ไม่รู้ว่ามันทำอะไรได้ เหมือนคนป่าถือสมาร์ทโฟน

ข้อดีของศีลมังสวิรัติคือเราจะได้สู้กับกิเลสทุกวัน วันละหลายครั้งตามมื้ออาหารที่เรากิน เป็นการปฏิบัติธรรมที่สามารถทำได้ง่าย ทำได้ทุกวัน ไม่ต้องเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน ไม่ต้องรอไปวัด ไม่ต้องใช้เวลาสวดมนต์ เพียงแค่แทนที่อาหารมื้อเดิมด้วยอาหารมังสวิรัติเท่านั้นเอง ถือว่าเป็นการเริ่มต้นการปฏิบัติธรรมที่ง่าย สะดวกที่สุด และเหมาะกับทุกคน ทุกสังคม ทุกชนชั้น

อาจจะมีบางคนงงเกี่ยวกับ “ศีลมังสวิรัติ” การกินมังสวิรัติเป็นศีลได้อย่างไร? มังสวิรัติคือส่วนหนึ่งของศีลข้อ ๑ คือไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ในระดับของอธิศีล คือ ยากกว่าการไม่เบียดเบียนทั่วไป เป็นขั้นกว่าของศีลข้อ๑ แบบปกติ นั่นคือ นอกจากเราจะไม่ฆ่าแล้ว เรายังต้องมีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณาต่อสัตว์และเพื่อนมนุษย์อื่นๆด้วย( ดูส่วนขยายได้ในจุลศีลข้อ ๑)

3). ระวัง! ข้อควรระวังในการถือศีล

การถือศีลของเรานั้นไม่ใช่การถือเพื่อทำเล่นๆ แต่เป็นการถืออย่างจริงจัง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถตั้งศีลกินมังสวิรัติตลอดชีวิตได้ตั้งแต่แรก อาจจะตั้งเป็น 3 วันต่อสัปดาห์ หรือเดือนละ 2 สัปดาห์ก่อนแล้วค่อยตั้งอธิศีล คือเพิ่มศีลขึ้นไปเรื่อยๆ เป็น 1 เดือน 2 เดือน 3 เดือน 1 ปี จนกระทั่งมั่นใจว่าทำศีลนี้ได้ดีจึงตั้งศีลว่า “มังสวิรัติตลอดชีวิต

เราควรประมาณการตั้งศีลของตัวเองให้เหมาะกับพลังของตัวเอง ถ้ามันตึงจนเครียดทรมานจิตใจตัวเองเกินไปก็ให้ผ่อนลงมา เก่งแล้วค่อยขยับขึ้นไปใหม่ หรือใครที่รู้สึกว่าตัวเองทำศีลได้ดีก็อย่าไปแช่อยู่นานให้ตั้งอธิศีลขึ้นไปอีก ถ้ากินมังสวิรัติได้ดี ก็ให้ขยับไปทำศีลอื่นๆเช่น การกินจืด การกินมื้อเดียว การลดชนิดและความหลากหลายของอาหาร เป็นต้น

การปฏิบัติศีลต้องรับรู้ได้ด้วยตัวเองว่ากิเลสหรือความอยากเสพของตนเองนั้นเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด เพิ่มขึ้นหรือลดลง มากน้อยเท่าไหร่ ถ้ายังไม่สามารถรู้ถึงกิเลสของตัวเองได้แสดงว่าอาจจะปฏิบัติมาผิดทางหรือความเข้าใจยังคลาดเคลื่อน

4). ไป! ลุยกันเลย ลงมือปฏิบัติ

หลังจากที่เราตั้งศีล ถือศีล ยึดศีลนี้เพื่ออาศัยไปสู่ความเจริญแล้ว เราก็จะดำเนินชีวิตประจำวันไปตามปกติ เราจะไปเจอกับอาหารในแต่ละมื้อ ที่เราจะต้องใช้สมาธิที่มากกว่าเดิมในการกดข่มความอยาก และปัญญาที่มากกว่าเดิมในการที่จะหาทางออกเพื่อที่จะได้กินอาหารมังสวิรัติรวมถึงปัญญาที่จะใช้ฆ่ากิเลสด้วย จะลองจำลองสถานการณ์พอเห็นภาพดังนี้

มื้อเช้า…. เราออกไปทำงานพบกับแผงขายเจอหมูปิ้งหน้าปากซอย เราเคยกินหมูปิ้งกับข้าวเหนียวและชอบมากแค่เห็นยังน้ำลายไหล แต่เราอดทนข่มใจ พิจารณาเข้าไปว่ากินเนื้อสัตว์ไม่ดีอย่างไร ว่าแล้วเราก็เดินเข้าร้านหมูปิ้ง ดิ่งตรงเข้าไปสั่งข้าวเหนียวสองห่อ เพื่อกินให้อิ่ม ให้ผ่านๆไปหนึ่งมื้อ

ภาพช้า… ในขณะที่เราเดินเข้าไป สายตาจะจับจ้องที่หมูปิ้ง กลิ่นควันหอมลอยแตะจมูก ใจก็คิดจะสั่ง ปากก็อยากจะบอก มือก็อยากจะเอื้อมไปคว้าหมูปิ้ง แต่ด้วยพลังการกดข่มที่เราฝึกไว้บ้าง ทำให้เราพอจะผ่านไปได้

มื้อเที่ยง…. วันนี้มีลูกค้าพาไปเลี้ยงบุฟเฟต์นานาชาติ ด้วยความเกรงใจจึงไปด้วย เห็นอาหารละลานตา ไอ้นั่นก็อยากกิน ไอ้นี่ก็อยากกิน สายตาผ่านไปเจอเมนูกุ้งเผาสุดโปรด น้ำลายไหลโดยยังไม่ทันรู้ตัว ว่าแล้วก็เดินตรงดิ่งเข้าไปจะสั่งกุ้งเผา บังเอิญว่าเพื่อนร่วมงานเข้ามาทักได้ทัน บอกเตือนว่า ไหนเราตั้งใจว่าจะกินมังสวิรัติ แล้วเราก็ได้สติกลับมาอีกครั้ง เลยไปตักแต่ผักกิน ผ่านไปอีกมื้อ

ภาพช้า…ในขณะที่เห็นกุ้งเผา สติ ได้หลุดลอยออกไป ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีไม่มีอีกต่อไป ศีลอะไรก็ช่างมันเถอะ กุ้งเผาไม่ใช่ของที่จะกินกันได้บ่อยๆ ถ้าไม่กินตอนนี้ แล้วจะได้กินตอนไหน ยิ่งมีลูกค้าเลี้ยงด้วยแบบนี้ ลุยกันให้เต็มที่ไปเลย

มื้อบ่าย…. เพื่อนๆในออฟฟิศชวนกันไปซื้อลูกชิ้นเจ้าประจำ แต่ก่อนตอนยังไม่ตั้งศีลก็ชอบซื้อกินกับเขา ลูกชิ้นเนื้อ เอ็นเนื้อนี่ของโปรดเลยทีเดียว แต่วันนี้เกือบจะพลาดมื้อกลางวันมาแล้วจึงข่มใจ พยายามนั่งนิ่งๆไว้ไม่ตอบรับ ทันใดนั้นเพื่อนผู้หวังดีก็มาสะกิดถาม ฝากซื้อไหม เอาลูกชิ้นกี่ไม้? ด้วยความที่ตั้งศีลไว้จึงอดกลั้นไว้ก่อนบอกเพื่อนว่าวันนี้ไม่กิน ผ่านไปได้อีกวัน

ภาพช้า… ตอนเพื่อเข้ามาถาม ฝากซื้อไหม เอากี่ไม้ เหมือนมีคลื่นกิเลสผลักดันให้ลุกออกไป ใจก็คิดไปแล้วว่า เหมือนเดิมอย่างละสองไม้ ปากก็เกือบจะพูดออกไปแล้ว ดีว่าได้สติก่อนจึงสงบปากสงบคำ ปล่อยให้ความอยากนั้นอยู่แค่ในใจ

มื้อเย็น…. ว่าจะกลับบ้าน แต่เจ้านายชวนไปกินอาหารญี่ปุ่นเป็นเพื่อน เจ้านายสั่งชุดปลาดิบราคาแพงมา ประกอบด้วยปลาชั้นดี รสชาติน่าจะละมุนนุ่มลิ้น แถมยังมีแค่ในฤดูนี้เท่านั้น ในตอนนั้นใจก็กดข่มไว้ เปิดเมนูพยายามมองหาเมนูข้าวปั้นกับเต้าหู้ แต่สายตาก็ยังไม่ละจากจานที่หัวหน้าสั่งไว้ให้ ว่าแล้วด้วยความมั่นใจจึงสั่งข้าวปั้นเต้าหู้ทอดมา แต่ด้วยความที่เจ้านายเป็นห่วงสุขภาพ จึงบอกว่า กินไปเถอะ กินปลาไม่เป็นไรหรอก อย่าเคร่งมากนักเลย…

ภาพช้า… เสียงและคำพูดของเจ้านายช่างดูเป็นห่วงเรา เป็นคำพูดที่มาปลดปล่อยความเครียด ปลาอยู่ตรงหน้า ตะเกียบก็อยู่ในมือ จะช้าอยู่ทำไม ก็เขาอนุญาตแล้วนี่นา จะกินสักครั้งก็ไม่เห็นเป็นไรอย่างที่เจ้านายว่าเลย จะเครียดไปทำไมเนาะ

มือไม้แทบสั่นไปด้วยความอยาก ว่าแล้วก็หยิบปลาจิ้มโซยุ พลันคีบปลาเข้าปาก เคี้ยวด้วยความเอร็ดอร่อยสมอยาก มื้อนี้ก็แพ้กิเลสไปอย่างราบคาบ พอกลับมาบ้านก็ต้องมาสลดเพราะไปแพ้กิเลสมาอีกแล้ว แต่ก็ไม่ตีตัวเองเพิ่ม รู้แค่แพ้แต่ครั้งหน้าจะสู้ใหม่ (สู้ต่อไป ทาเคชิ!)

มื้อค่ำ…. ด้วยความที่กินผักมาทั้งวัน แถมยังเป็นมือใหม่ ทำให้น้ำย่อยในกระเพาะยังคงเหลืออยู่ เพราะแต่ก่อนกินแต่เนื้อ ต้องใช้น้ำย่อยเยอะ พอมากินผักน้ำย่อยเลยเหลือให้แสบท้องเล่น ว่าแล้วก็เดินไปเปิดตู้เย็น เห็นไส้กรอกหมูที่ซื้อมาเมื่อวานก่อน ถึงกลับกลืนน้ำลายดังเอื้อก

ภาพช้า… เมื่อเห็นไส้กรอก ก็พลันนึกถึงภาพ ตัวเองเอาไส้กรอกเข้าเตาไมโครเวฟ ปิดฝาตั้งตารอด้วยใจจดจ่อ นำมันออกมาพร้อมหั่นเป็นชิ้นอย่างบรรจง จิ้มซอสและมายองเนสนิดหน่อย เอาใส่ปากช้าๆ อั้มมม~

ดูเหมือนว่าสติจะหลุดลอยไปทันทีที่ได้เห็นไส้กรอก แต่โชคยังดีที่มีนมถั่วเหลืองอยู่ข้างๆอีกหนึ่งกลอ่ง

ภาพช้า… เมื่อเห็นนมถั่วเหลือง กับไส้กรอก น้ำหนักของไส้กรอกช่างหนักและดึงดูดเหมือนแม่เหล็กที่ดูดลูกเหล็ก นมถั่วเหลืองมันจะไปอิ่มได้อย่างไรมันต้องไส้กรอกสิ

ว่าแล้วก็หยิบไส้กรอกไปทำกินตามที่หมายไว้ เพราะแท้จริงแล้วเรากินไปด้วยความอยาก ไม่ได้กินเพราะความหิว การอดทนอดกลั้นมักจะมีขีดจำกัด และสะสมเป็นความเครียด ถ้าเราบริหารความเครียดไม่ดีก็จะออกมาในลักษณะของการตบะแตก ซึ่งเราควรประมาณให้ดี เมื่อเริ่มฝึกใหม่ๆก็อย่าไปใกล้เนื้อสัตว์มากนัก อยู่ให้ห่างๆไว้ หรือซื้ออาหารจำพวกมังสวิรัติมาเตรียมไว้แทนเลยก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง

เห็นไหมว่าการถือศีลมังสวิรัติ เราจะได้สนุกกับการเห็นกิเลสขนาดไหน เราจะได้เจอกับกิเลสทุกวัน อย่างน้อยก็วันละ 2 – 3 มื้อเชียวนะ

5). ลีลาของกิเลส

กิเลสมักจะมีลีลาที่หลากหลาย มีการส่งข้อความ ส่งความทุกข์กดดันให้เรารู้สึกอยากเสพ เช่น ทำให้เราน้ำลายไหล ทำให้เราหิวเร็ว ทำให้เราอยากกิน ทำให้เรากลับไปกินด้วยประโยคเช่น กินๆไปเถอะ พลาดมื้อเดียวไม่เป็นไรหรอก, กินไปเถอะ เรากินเขา เขาได้บุญ , กินไปเถอะ อันนี้แพง หากินยาก , กินไปเถอะ ไม่มีใครรู้หรอก, กินไปเถอะแค่มีความสุขก็พอแล้ว , กินไปเถอะไม่ได้อยากจะเอาสวรรค์วิมาน , กินไปเถอะ เกรงใจเขา , กินไปเถอะ เราต้องใช้พลังงาน , กินไปเถอะมันอร่อยนี่นา , กินไปเถอะเดี๋ยวเขาหาว่าเราเรื่องมาก , กินไปเถอะ อย่าเคร่งนักเลย ฯลฯ เหล่านี้แหละ คือลีลาของกิเลส ส่วนกิเลสของใครจะปรุงลีลาออกมาหลากหลายเท่าไหร่ก็แล้วแต่ระดับความอยากของคนนั้น ยิ่งกิเลสมาก ก็จะยิ่งยาก ยิ่งซับซ้อน ต้องเพียรให้มาก

6). การพัฒนาไปเป็นลำดับ

ในระหว่างที่ปฏิบัตินั้น เราจะต้องใช้ปัญญาที่เป็นมรรค(ข้อปฏิบัติ วิธีการปฏิบัติ) คือเราจะกินมังสวิรัติอย่างไรในสถานการณ์แบบนี้ สุดท้ายเมื่อปฏิบัติไปเรื่อยๆ จะได้ปัญญาที่เป็นผล(ผลเจริญ ความเจริญที่ได้)มาเป็นลำดับๆ เช่นถ้าเราไปในที่แบบนี้ เราก็จะกินอาหารชนิดนี้ หรือเราอาจจะไม่กิน หรือกินไปก่อน ก็ได้ นี่เป็นลักษณะของปัญญาที่ใช้ในเชิงโลกียะ ส่วนปัญญาในเชิงโลกุตระนั้นจะเป็นลักษณะของการเห็นทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียของการกินมังสวิรัติ

เมื่อปฏิบัติอย่างตั้งมั่น จะพบว่าตนเองสามารถตั้งศีลที่ยากขึ้นไปได้ (อธิศีล) โดยไม่ลำบากนัก เช่น ลดเนื้อสัตว์ได้แล้วยังสามารถที่จะลดไข่ได้อีก และมีพลังสติ พลังสมาธิ ความอดทนอดกลั้น (อธิจิต) เพิ่มขึ้นจากการปฏิบัติไปเป็นลำดับ รวมทั้งได้ปัญญาเพิ่มขึ้น (อธิปัญญา) จากการสู้สั่งสมปัญญาในแต่ละด่านที่ผ่านมา พลาดก็ได้ปัญญา ชนะก็ได้ปัญญา ทั้งหมดนี้เป็นความเจริญที่เป็นไปโดยลำดับ และเมื่อปฏิบัติสำเร็จจะได้ปัญญาชุดหนึ่งที่สามารถที่จะตัดกิเลสนั้นได้ ซึ่งกิเลสจะคลาย ณ จุดนี้ ในส่วนของปัญญานั้นเจริญไปต่อได้เรื่อยๆอย่างไม่มีจำกัด จนกว่าจะเป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง

7). ข้อสังเกต

ผู้ที่ตั้งศีลมังสวิรัติอย่างถูกต้องและมีปัญญา เมื่อไม่ได้กินเนื้อสัตว์ จะมีความรู้สึกหรือเวทนาที่แตกต่างกับตอนที่ยังไม่ได้ตั้งศีล ตอนที่เราไม่ได้ถือศีลนี้ เมื่อเราอยากกินเนื้อสัตว์แต่เราไม่ได้กินเราก็จะทุกข์จากการที่ไม่ได้กิน ในส่วนของผู้ที่ถือศีลนั้น แม้จะมีเนื้อสัตว์อยู่ตรงหน้า แต่เราก็จะฝืนไม่ยอมกิน เป็นทุกข์ที่เกิดจากการกดข่ม ฝืนใจกิเลส

ในส่วนของผู้ไม่ถือศีลแล้วทุกข์จากการไม่ได้กิน เรียกว่า เคหสิตโทมนัส , เคหะ หรือ ชาวบ้าน แบบบ้านๆ คนทั่วไป คือทุกข์แบบชาวบ้านทั่วไป ไม่ได้เสพก็ทุกข์ ได้เสพก็สุข เป็นไปในทางโลกียะ มีลักษณะ สุข ทุกข์สลับกันไปเรื่อยๆ เกิด ดับ อย่างไม่มีวันสิ้นสุด

ในส่วนของผู้ถือศีลแล้วทุกข์จากการไม่ยอมไปกิน เรียกว่า เนกขัมมสิตโทมนัส , เนกขัมมะ หรือ นักบวช เป็นการปฏิบัติแบบผู้บวช เป็นการปฏิบัติเพื่อที่จะหลุดออกจากโลกียะเข้าสู่โลกุตระเป็นความทุกข์ที่เกิดการที่เราฝืนกิเลส กิเลสจะสร้างความรู้สึกทุกข์ให้กับเรา เพื่อที่จะกดดันให้เราไปเสพ พร้อมด้วยเหตุผลต่างๆนาๆที่มันจะคอยเป่าหูเราให้เรากลับไปเสพ การปฏิบัติแบบเนกขัมมะคือการอดทนต่อสู้ ฝืน ทน ข่ม เราจะเจอแต่ทุกข์ ทุกข์ ทุกข์ และทุกข์ ไปตลอดทางของการปฏิบัติ แม้ว่าเราจะกลับไปเสพเราก็จะทุกข์ ทุกข์เพราะเรารู้สึกผิดต่อศีลมากกว่าสุขที่ได้จากเสพ

เมื่อวันหนึ่งหลังจากที่เราสามารถกดหัวกิเลสอดทนไม่ไปเสพและใช้ปัญญาพิจารณาทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียจากความอยากกินของเรา จนรู้แจ้ง เห็นความจริงตามความเป็นจริง เห็นว่ากิเลสไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวเรา เป็นแค่เพียงผู้ที่มาอาศัยใช้ร่างกายและจิตใจของเราไปบำรุงบำเรอความอยาก เราทำลายกิเลสเหล่านั้นจนสิ้นเกลี้ยง แล้วเราก็จะพบกับสุข เป็นสุขแบบเนกขัมมะ สุขจากการฆ่ากิเลส จนกระทั่งสงบลงเป็นอุเบกขา และต่อจากนี้ทั้งชีวิตที่เหลือ ในชาตินี้และชาติหน้า เราก็จะไม่มีวันทุกข์กับเรื่องนี้อีกเลย

ในการถือศีลปฏิบัติในแบบเนกขัมมะนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะสามารถเข้าใจและปฏิบัติสำเร็จได้ในเวลาอันรวดเร็ว บางคนอาจจะใช้เวลาเป็นเดือน บางคนอาจจะเป็นปี บางคนสิบปี บางคนทั้งชีวิตก็อาจจะไม่มีวันเข้าใจเลยก็ได้ เพราะการปฏิบัติทางใจนี้เป็นเรื่องยากกว่าการปฏิบัติทางกายนัก มีความสลับซับซ้อนของกิเลสมากมายที่เราต้องคอยแก้ ในหลากหลายสถานการณ์

เหมือนดังสงครามที่รบกันไม่จบไม่สิ้นระหว่างเรากับกิเลส มีเมืองมากมายที่เราต้องไปตีคืนจากกิเลส ในขณะเดียวกันกิเลสก็ส่งกองทัพมาโจมตีเราเช่นกัน เราจึงต้องสู้กันไปกันมาอยู่แบบนี้กันหลายภพหลายชาติแล้ว ซึ่งผู้ที่คิดจะสู้ก็ยังดีกว่าคนที่ไม่สู้ ผู้ที่ไม่ปฏิบัติศีล ไม่ถือศีลก็เหมือนยอมให้กิเลสได้ครอบครองใจ บ้างก็อ้างว่าใจไม่มีกิเลส แต่พอได้ลองถือศีลกลับต้องพบว่ามีแต่ผีร้ายเต็มบ้านเต็มเมือง เต็มจิตใจของตัวเองไปหมด

การปฏิบัติในแบบเวทนาเนกขัมมะเช่นนี้ไม่ว่า พระ หรือฆราวาสก็สามารถทำได้ ไม่ได้หมายความว่าพระจะเป็นเนกขัมมะหรือฆราวาสจะเป็นเคหสิตะ แต่เรื่องนี้เป็นสภาพของจิต ที่จิตนั้นเป็นนักบวช หรือเป็นชาวบ้าน อยู่ที่ตัวเราปฏิบัติ

8). สมถะ-วิปัสสนา

ในการปฏิบัติศีล เราจะใช้สมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป โดยสมถะ คือการพักจิต เพิ่มพลังจิต โดยใช้วิธีนั่งสมาธิ เดินจงกรม ฯลฯ เพื่อเพิ่มพลังที่จะใช้ในการกดข่มกิเลสไว้

และวิปัสสนา คืออุบายทางใจ ที่จะใช้สร้างปัญญา ให้รู้เห็นจริงตามความเป็นจริง การจะฆ่าล้างกิเลสนั้นต้องใช้วิปัสสนาเป็นหลักจึงจะสามารถล้างกิเลสได้ ส่วนสมถะเป็นแรงเสริมให้วิปัสสนาสามารถคงสภาพได้ยาวนานขึ้น เป็นเครื่องหนุน เครื่องช่วย

เราจะวิปัสสนาโดยการพิจารณาความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน ทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย พิจารณากรรมและผลของกรรม ของความอยากเสพเนื้อสัตว์ เช่น ทำไมฉันต้องอยากกิน ฉันติดใจอะไรในเนื้อสัตว์นั้น มันอร่อยตรงไหน กินผักแทนไม่ได้หรือ กินแล้วเบียดเบียนเป็นกรรมของเราจะดีได้อย่างไร ให้ใช้ปัญญาหาเหตุพิจารณาโทษของการกินเนื้อสัตว์ และประโยชน์ของการกินผัก อย่างซ้ำๆ ย้ำๆ ด้วยความเพียรพยายาม แม้บางครั้งจะต้องพ่ายแพ้ต่อกิเลสก็ควรจะพิจารณาไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งจะได้ปัญญาที่จะสามารถชำระกิเลสนี้เอง

9). ข้อควรระวังในการปฏิบัติ

ความหลงไปในธรรมมักจะเกิดได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะความเข้าใจผิดเรื่องสมถะ ผู้ที่หลงในสมถะ หลงในภพ หลงในการปฏิบัติแบบฤาษีจะเข้าใจผิดไปว่าเป็นการปฏิบัติของตนเป็นแบบวิปัสสนา เมื่อกดข่มเก่งๆ จะเข้าสู้ภาวะกดข่มแบบอัตโนมัติ สามารถดับจิตที่เกิดได้โดยอัตโนมัติ ทำให้ไม่เห็นตัวกิเลส และไม่เห็นตัวทุกข์ ไม่เห็นเหตุแห่งทุกข์ เป็นนิโรธแบบดับสนิท ดำมืด ไม่รู้อะไรเลย และไม่ใช่สัมมามรรค เป็นการปิดตัวเองไว้ในภพ หรือสภาวะที่ตนสุขใจ ติดภพ ติดชาติ ไปอีกนาน ยากที่จะบรรลุธรรม

10). ตรวจสอบ

ในขั้นแรกก็ต้องทดสอบในระดับของการร่วมโต๊ะกับคนอื่นที่ยังกินเนื้อให้ได้ก่อนว่าเราไหวหรือไม่ เรายังอยากไปกินกับเขาหรือไม่ เขาตักเนื้อสัตว์มาให้เราแล้วเราอยากกินหรือไม่ แม้เราจะไม่ได้กินเนื้อสัตว์นั้น เรายังคิดห่วงหา คิดเสียดายโอกาสนั้นหรือไม่

ถ้าอยากรู้ว่าเราผ่านด่านความอยากของเนื้อสัตว์ได้จริงไหม ก็ลองกลับไปกินดูก็ได้ ถ้าเรากินแล้วไม่รู้สึกว่าอร่อย ไม่รู้สึกว่าติดใจ สามารถทิ้งได้ ละได้ วางได้ เมื่อละมาแล้วจิตใจไม่พะวง ไม่อาลัย ไม่เสียดาย ก็ถือเป็นใช้ได้

11). กาม-อัตตา

ที่กล่าวมาทั้งหมดคือการฆ่ากิเลสในทางโต่งของกามของการเสพเนื้อสัตว์เท่านั้น เมื่อเรากินมังสวิรัติได้อย่างมีความสุขแล้ว เรายังต้องกลับไปล้างกิเลสในฝั่งของอัตตาด้วย นั่นคือทางโต่งอีกด้านที่เราจะไปติด

ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในบทธัมมจักกัปปวัตนสูตร ว่าด้วยเรื่องทางโต่งทั้งสองด้าน ให้พึงละเสีย คือทางหนึ่งโต่งไปด้านกาม (กามสุขัลลิกานุโยค) คือการทรมานตนด้วยการเสพ อีกทางหนึ่งโต่งไปทางด้านอัตตา (อัตตกิลมถานุโยค) คือการทรมานตนด้วยความยึดดีถือดี

เมื่อเราละเนื้อสัตว์เราจะผ่านกามและอัตตาในมุมเนื้อสัตว์ แต่เราจะมาติดกามและอัตตาในมุมของคนที่ไม่อยากกินเนื้อสัตว์ หรือการติดดีนั่นเองเป็นส่วนกลับของกิเลสทุกตัว เหมือนเป็นด้านมืดที่เรียกว่านรกคนดี ซึ่งก็ต้องล้างไปด้วย

กามในอัตตาที่เราต้องล้างต่อไปคือการความอยากกินแต่ผัก ไปแนะนำ ไปสั่งสอน ไปเพ่งโทษ ทำร้ายทำลายใจคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ ส่วนอัตตา คือ ความยึดว่าต้องกินแต่ผัก ความยึดดี ถือดี คิดว่าตนเป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์แล้วจึงยึดว่าตนนั้นดีเลิศ ทำแบบตนสิดี ไม่มีใครดีเท่าตน

เมื่อเราสามารถพ้นนรกคือการกินเนื้อสัตว์และพ้นนรกจากความเกลียดคนกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว จึงจะสามารถพบกับความสุขแท้หรือทางสายกลางได้นั่นเอง ทางสายกลางไม่ใช่ทางที่แค่พูดและเข้าใจความหมายแล้วจะเข้าถึงได้แต่ต้องปฏิบัติทำลายทางโต่งทั้งสองด้านจนเข้ารูปเข้ารอยของทางสายกลาง ซึ่งเป็นทางเอกทางเดียวในการพ้นทุกข์หรือสัมมาอริยมรรค นั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

24.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์