Tag: วนเวียน
ความวนเวียนในความรัก
ความวนเวียนในความรัก
กิเลสคือสิ่งที่จะทำให้เรายินดีในการหลงวนเวียนอยู่ในวัฏสงสาร ความรักก็เช่นกัน ความรักนั้นเป็นหนึ่งในสิ่งที่จะรัดและมัดคนไว้กับโลกนี้ ผูกไว้กับความทุกข์ ตรึงไว้ด้วยความเศร้าหมอง
ไม่ว่าอยู่ในขั้นตอนใดในความรัก ล้วนมีทุกข์แทรกอยู่เสมอ แต่ก็อยู่ที่ว่าใครจะมองทุกข์นั้นเห็น และอยู่ที่ว่าใครจะทำให้เหตุการณ์นั้น ๆ เป็นที่สุดแห่งทุกข์ คือ พอเสียทีกับทุกข์นี้ ไม่ทนทุกข์อีกต่อไปแล้ว
ความรักนั้น มีความหลงเป็นจุดเริ่ม แล้วก็จะแสวงหาคือพยายามหาสิ่งที่จะเข้าไปรัก เมื่อได้แล้วก็อยากได้ขึ้น โลภมากขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่ได้สมใจก็จะโกรธ อึดอัด ขุ่นเคือง หงุดหงิดในใจ เป็นฝุ่นในใจให้คอยรำคาญอยู่เสมอ สุดท้ายก็หลงวนเวียนไปหาสิ่งใหม่เพื่อที่จะได้ตอบสนองความต้องการของตนเองอย่างไม่รู้จุดจบ
ความรักนั้นคือสิ่งที่พาวนในอารมณ์ต่าง ๆ ที่พาให้เศร้าหมอง ตั้งแต่ความหลง เมื่อหลงก็ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ เป็นไปเพื่อการพ้นทุกข์หรือเพื่อความทุกข์ เมื่อได้ยินได้ฟังเขาว่ามา ว่ารักนั้นเป็นสุข เป็นสิ่งที่ควรครอบครอง เมื่อไม่มีปัญญารู้โทษภัยผลเสียที่แท้จริงของมัน ก็จะรู้สึกว่ารักนั้นไม่มีโทษไม่มีภัย หรือเห็นว่ามีโทษน้อยกว่าคุณ หรือเห็นว่าแม้จะมีทุกข์อยู่แต่ก็ยังมีคุณค่าพอที่จะรัก ความหลงนี้เองคือสิ่งที่ทำให้คนเกิดแรงผลักดันไปแสวงหารัก
รัก… เมื่อหลง ก็จะแสวงหาความรัก การดิ้นรนไปเพื่อหามาเสพ หรือการปั้นตัวตนขึ้นมาให้น่าเสพ ไม่ว่าจะวิ่งหา หรือทำตัวเองให้น่าสนใจ ล้วนเป็นกิจกรรมที่ไม่มีประโยชน์ทั้งสิ้น เสียพลังงาน เสียเวลา เสียทุนทรัพย์ แต่คนหลงจะไม่หยุดถ้าไม่ได้มาซึ่งสิ่งเสพที่ตนหมายปอง นี้คือทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจ ทุกข์เพราะอยาก ดิ้นรน แสวงหา ไขว่คว้า ฝันใฝ่ ฯลฯ
โลภ… ความโลภนั้นเกิดตั้งแต่หลง คืออยากได้ในสิ่งที่เขาไม่ได้ให้ แต่ด้วยความโลภ จึงพยายามทำให้เขายินดีให้ คอยจีบ คอยเอาใจ คอยให้ท่า ฯลฯ สารพัดลีลาที่ดิ้นรนเพื่อให้ได้เสพ เพราะจิตหลงว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งดี และโลภอยากได้มาเสพ แบบใช้การล่อลวงต่าง ๆ แม้จะเป็นการได้มาโดยอธรรมก็ยินดี
เมื่อได้มาก็โลภไปเรื่อย ๆ อยากให้เขาเป็นอย่างนั้น อยากให้เขาทำอย่างนี้ ตามใจเรา อยากให้เขาบำเรอเราไปเรื่อย ๆ อยากได้ อยากได้ อยากได้… ความรักนั้นมีแต่ความอยากได้อยู่ในนั้น ดูเผิน ๆ เหมือนจะสวยงาม เหมือนจะเกื้อกูล เหมือนจะดูแลกัน แต่ความจริงเน่าในเหมือนผีเปรตขอส่วนบุญ อยากได้ อยากให้เป็น อยากให้มี ฯลฯ ถ้าใครเห็นความจริงในความรัก ก็จะเห็นผีที่สิงในใจคน ผีโลภ โกรธ หลง ที่อาศัย “รัก” เป็นตัวเสพ เป็นสิ่งที่ไม่เจริญใจอย่างยิ่ง
โกรธ… เมื่อมีความโลภ ความโกรธก็จะต่อคิวเข้ามา เมื่อเกิดความโลภแล้วไม่ได้เสพสมกับความโลภนั้น อยากแล้วไม่ได้สมอยาก ก็จะเกิดอาการโกรธ ไปดูเถอะ คู่รัก คนรักที่ไหน ขัดใจกันแล้วไม่โกรธ อึดอัด ขุ่นเคืองใจกัน แค่นึกก็ยังนึกไม่ออกเลย ธรรมดาความรักนี่แหละเป็นตัวพาโกรธ พาจองเวรจองกรรมกันก็เพราะเหตุนี้ เพราะอยากได้แล้วไม่ได้สมอยากก็โกรธ หลังจากนั้นก็สารพัดกิเลส สารพัดลีลามารยาของฝ่ายมารที่งัดออกมาปะทะ ประชดประชันหมายจะเอาชนะกัน การสงบศึกไม่มีอยู่ในผู้ที่ยังมีความรัก ยังจะต้องรบอยู่เรื่อยไป ไม่จบไม่สิ้น เดี๋ยวเราก็โกรธเขา เดี๋ยวเขาก็โกรธเรา ง้องอนกันไปกันมา คนก็หลงว่าเป็นสุข เพราะมันมีรสของการปะทะ รสของการกระทบในสิ่งที่อยากกระทบ แม้โกรธก็เสพสุขได้กับคนที่หลง จริง ๆ โกรธมันไม่น่าเสพหรอก แต่คนเขาหลงว่าเป็นสุขว่าเป็นคุณค่า เขาก็เลยชอบโกรธกันทะเลาะกัน
จริง ๆ คนขี้โกรธ ขี้งอนนี่มันไม่น่าจะมีคุณค่าให้ง้อหรือไปเสียเวลาเลยนะ แต่เพราะมีอีกฝ่ายคอยให้คุณค่า คนก็หลงอัตตา หลงว่าแม้ตนจะโกรธ จะงอน เขาก็จะมาง้อ หรือเขายิ่งจะต้องให้คุณค่า ทั้งที่จริงความโกรธหรืองอนนี่มันคือการทำลายคุณค่าของตน แต่เขาหลงกลับหัวกลับหางเลย ก็ใช้การโกรธการงอนนี่แหละในการเสพคุณค่าในตน คนง้อก็หลงตามเขาไป วนเวียนไปกันแบบนั้น
หลง… สุดท้ายไม่ว่าจะคบหรือจะจบ กิเลสก็จะพาคนหลงวนแสวงหาเสพเหมือนเคย มีคนรักก็แสวงหาสุขอยู่กับคนรัก ไม่มีคนรักก็ดิ้นรนแสวงหาคนมาเสพสุข เป็นความวนหลงอยู่ในโลกีย์ แม้รักนั้นจะดีแสนดี เป็นคนดีแค่ไหน แต่ก็เป็นเพียงตัวพาวนเท่านั้นเอง จะวนแบบดี วนแบบร้าย มันก็คือการวนเวียน แล้วดีก็ไม่ได้ดีได้ตลอด สุดท้ายมันก็จะร้ายอยู่ดี เพราะความหลงคือบาป ยิ่งต่อเวลาเนิ่นนานไปเท่าไหร่ยิ่งก่อบาป ก่อชั่ว ก่ออกุศลกรรม มากเท่านั้น
กิจกรรมที่อยู่ภายใต้ความหลง แม้จะพยายามทำดี แม้ดีที่สุดในชีวิต แต่ยังไม่พ้นจากความหลงในรสรัก ก็ยังเป็นดีที่ยังไม่เหนือความรัก ยังไม่เป็นดีเหนือดี ยังเป็นดีที่ติดเพดานบาป เป็นดีที่ถูกบาปครอบอยู่ ดังนั้นกุศลผลบุญอะไรนั่นมันก็จะไม่เกิดผลเต็มร้อย ไม่แผ่ออกไปเพราะมีบาปครอบอยู่ ดีไม่ดีติดลบด้วย เพราะบางทียิ่งพากันทำดี ยิ่งจะหลงในภาพความดีของคู่ครอง เลยไปกันใหญ่ กอดคอกันวนเวียนอยู่ในวัฏสงสารด้วยความยินดี เต็มใจ พอใจ เห็นกงจักรเป็นดอกบัวที่สวยงามเต็มที่
…. สุดท้าย ความรักก็คือสิ่งหนึ่งที่ขังคนไว้ในโลก ให้ยินดีในโลกที่ทุกข์ระทม ไม่ให้เจริญไปในจุดที่ดีกว่านั้น ผูกไว้ไม่ให้สูงไปสู่ความผาสุกที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น ตรึงคนไว้ให้ยินดีกับสุขลวงทุกข์จริง ก็ขึ้นอยู่กับว่าคนเหล่านั้นเขาจะ “พอ” กับสุขลวงทุกข์จริงเช่นนั้นเมื่อไหร่ เขาจึงจะพยายามเดินออกจากวงเวียนแห่งรักอันไม่รู้จักจบนี้ด้วยตนเอง
5.3.2563
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
ชาตินี้ ชาติหน้า
ชาตินี้ ชาติหน้า
คงจะมีบางครั้ง ที่เรามักจะสงสัย ชาติหน้ามันมีจริงหรือ? แล้วชาติหน้าจะเป็นอย่างไร? หรือมันไม่มีจริง เราเกิดกันมาแค่ครั้งเดียวจริงๆหรือ? เราเกิดมาแล้วต้องใช้ชีวิตให้สุดๆก่อนตายจริงหรือ? แม้ไม่เคยสงสัย แต่หลายคนก็มักจะมีความเชื่อไปในทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเชื่อว่าเกิดมาครั้งเดียว หรือชาติหน้ามีจริง ก็ไม่รู้หรอกว่ามันเป็นอย่างไร มีที่มาอย่างไร แล้วต่อไปจะเป็นอย่างไร ในบทความนี้เราจะมาแบ่งปันความรู้กัน
อดีต…จนถึงปัจจุบัน
ก่อนจะมีชาตินี้ ก็ต้องมีอดีตชาติ หรือชาติก่อน …. คนธรรมดาสามัญอย่างเราจะให้นึกไปถึงชาติก่อนก็คงจะนึกไม่ออก ถึงจะไปถามผู้รู้ ก็ไม่รู้อยู่ดีว่าเรื่องที่เขาบอกเรามา มันจริงหรือเขาคิดไปเอง การจะรู้ว่าชาติก่อนเราเป็นอย่างไรนั้น ไม่ยากเลย ก็แค่ดูนิสัยในชาตินี้ ดูสังคมสิ่งแวดล้อม ดูผู้คนรอบข้างของเราในชาตินี้
ถ้านิสัยในชาตินี้เราเป็นอย่างไร ชาติก่อนเราก็เป็นอย่างนั้น เหมือนวันนี้เรายังชอบกินไอติม พรุ่งนี้ก็จะยังชอบอยู่ดี วันต่อๆไปก็ยังจะชอบอยู่ดี นิสัยหรือสันดานที่เรามีนี่แหละ คือสิ่งที่แสดงถึงชาติก่อนของเรา สังคมสิ่งแวดล้อมผู้คนรอบข้างนั้นสะท้อนถึงบุญบารมีที่เราเคยสร้างมา เช่นเราอยู่ในสังคมที่พาให้หลงมัวเมาในกิจกรรมอะไรสักอย่าง นั่นก็เพราะเราเคยพากันมัวเมาก่อนแล้ว เหมือนดังที่เราสนุกกับการเที่ยวเล่นวันนี้ อีกไม่นานเราก็จะพยายามหาทางชวนเพื่อนไปเที่ยวเล่นกันอีก เพราะเราเสพติดการเที่ยวเล่น
กรรมที่เราทำจะนำพามาซึ่ง นิสัย เหตุการณ์ ความคิด ปัญญา รูปร่าง หน้าตา ฐานะ ครอบครัว สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ถ้าใครรู้สึกว่าโลกนี้ไม่ยุติธรรมก็ขอให้ลองพิจารณาดูว่าอีกทีว่า เป็นเพราะเราไปทำอะไรมารึเปล่า เราถึงได้เจอเหตุการณ์ที่ทำให้ทุกข์ ให้ลำบาก ให้เดือดร้อน ทรมาน แตกต่างจากคนอื่นเขาเหลือเกิน
คำว่าอดีตนั้นหมายรวมถึงอดีตที่เราจำไม่ได้ เช่น ในชาติก่อนภพก่อน หรืออดีตเมื่อปีก่อน เดือนก่อน วันก่อน อดีตเป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ เมื่อกระทำสิ่งใดแล้วก็กลายเป็นอดีต กลายเป็นกรรม เราจึงต้องมาแก้ไขกันในปัจจุบัน
มองภาพรวม อดีต….ปัจจุบัน….อนาคต
คงจะมีบางครั้งที่เราอยากรู้ว่าตายแล้วเราจะไปไหน ไปสู่อนาคตแบบไหน ก็ลองดูกันว่าที่ผ่านมาในอดีต ตั้งแต่ที่เราเกิดมา เราได้ทำอะไรไว้บ้าง เคยลองสรุปบัญชีกรรม จัดระเบียบกิเลสตัวเองบ้างไหมว่า ที่ผ่านมากิเลสของเราเพิ่มขึ้น หรือกิเลสของเราลดลง เราทำสิ่งที่เป็นกุศลมาก หรือทำอกุศลมากกว่ากันแน่
การทำทานด้วยเงิน ไม่ใช่เหตุปัจจัยที่ส่งผลขนาดที่ว่าทำให้เราได้เกิดในชาติที่ดีภพที่ดี เพราะกรรมยุติธรรมเสมอ เราทำทานไป 1,000 บาท ชาติหน้าเราก็ควรจะได้แค่ประมาณ 1,000 บาท หรืออะไรที่ใกล้เคียงกันไม่ใช่หวังไปว่าจะถูกหวย จะได้ลาภลอย หวังจะให้ไปเกิดในตระกูลร่ำรวยหรือหวังเกินกว่าสิ่งที่ตัวเองได้ทำ
หรือแม้แต่การปฏิบัติ ดังเช่น การนั่งสมาธิ เดินจงกรม สวดมนต์แบบไม่เข้าใจความหมาย ก็ไม่ได้ทำให้บรรลุหรือหลุดพ้นอะไร ถ้าเรายังคงทำแค่ในลักษณะของสมถะ คือการกำหนดจิตไปไว้ที่ใดที่หนึ่ง ไม่ให้ใจวอกแวก สงบนิ่ง ติดจิต ตบความคิดทิ้ง อย่างดีที่สุดเราก็จะได้ความสงบในตอนนั้น หรืออย่างมากก็เป็นแบบฤาษี ก็เหมาะสมกับกรรมที่ทำมาแล้วนี่ แค่นั่งสมาธิจะไปหวังอะไรกับการบรรลุมรรคผล
แต่สิ่งที่ซ้อนเข้าไปกับการทำกิจกรรมใดๆ ยกตัวอย่างเช่น การทำทาน ก็คือการทำทานนั้นมีผลเพื่อสละกิเลสหรือไม่? ถ้าทำเพื่อความไม่ได้ไม่มี ไม่หวังอะไร ให้เพื่อลดความตระหนี่ ความขี้งกขี้เหนียว ตรงนี้ก็ถือเป็นบุญ และการนั่งสมาธิถ้าใช้การวิปัสสนาเข้ามาร่วมให้เห็นรากของปัญหา เห็นต้นเหตุของกิเลสที่ยึดมั่นถือมั่นอยู่ แล้วหมั่นพิจารณาจนรู้ความจริงตามความเป็นจริง ตรงนี้ก็ถือว่าเป็นบุญ
บุญนี้เองคือตัวที่จะมาตัดกับกิเลส เมื่อเราลดกิเลสได้ในวันนี้ วันพรุ่งนี้ก็จะไม่มีกิเลสตัวนั้นๆ จะเดือนหน้า ปีหน้า ชาติหน้าก็จะไม่มีกิเลสตัวนั้นๆมาทำให้ชีวิตต้องลำบากในอนาคต
เมื่อเราได้เข้าใจความจริงในแต่ละการกระทำที่เราได้ทำไปแล้ว ก็จะสามารถคำนวณบัญชีกรรมของตัวเองได้ชัดเจนขึ้น ว่าเราสร้างกุศล อกุศลไปแค่ไหน เราลดกิเลสได้แค่ไหน หรือไม่เคยลดเลยมีแต่สะสมเพิ่ม ยิ่งแก่ยิ่งเฮี้ยน ยิ่งเสพ ยิ่งยึดมั่นถือมั่น ยิ่งอัตตาเยอะ
ปัจจุบัน…ไปสู่อนาคต
การเลือกที่จะคิด พูด ทำ ภายใต้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น จะเป็นตัวตัดสินอนาคตของเรา เช่น มีคนมีตำหนิเรา เรามีสองทางเลือกที่ชัดเจน คือทำกุศล หรืออกุศล ส่วนลีลา ท่าทางที่จะออกไปก็แล้วแต่ใครจะปรุงแต่ง
ในทางกุศล เช่น เราไม่โกรธตอบยินดีรับฟังด้วยใจที่เป็นสุข ถามเขาว่าเราควรจะเริ่มแก้ไขตรงไหนดี ฯลฯ
ในทางอกุศล เช่น โกรธ อาฆาต พยาบาท ผูกโกรธ ไม่เชื่อ ไม่ฟัง เพ่งโทษ ด่าตอบ ทำร้าย ฯลฯ
ทางไปนรกหรือสวรรค์ มันก็อยู่กับปัจจุบันนี่แหละ ถ้าเราไปทางกุศลมันก็ไปสวรรค์ คิดอกุศลมันก็ไปนรก สุขทุกข์มันก็มีให้เห็นอยู่ตรงนี้ ทำกันตรงปัจจุบันนี่แหละ เพราะอดีตมันแก้ไม่ได้ และอนาคตก็คือผลของปัจจุบันอยู่ดี
ในแต่ละวันจะมีเหตุการณ์ให้เราเลือกทำสิ่งที่เป็นกุศลหรืออกุศลตลอด ตั้งแต่ตอนตื่นนอน เราขี้เกียจไหม , เดินทาง เราแย่งเราเบียดคนอื่นไหม , ทำงาน เราเอาเปรียบบริษัทไหม เราแอบอู้งานไหม เราโกรธใคร นินทาใครไหม ,เวลากินอาหาร เราเลือกกินของที่ชอบแต่ไม่มีประโยชน์ หรือกินของที่มีคุณค่าต่อร่างกาย, เรากลับมาบ้านเราพูดดีกับคนในครอบครัวไหม ฯลฯ
ช่วงเวลาเหล่านี้แหละคือช่วงเวลาที่จะตัดสินอนาคต คือช่วงเวลาที่จะปฏิบัติธรรม ปฏิบัติกันไปในชีวิตประจำวันเลย โดยไม่ต้องรอไปวัด ไปทำบุญ ไปนั่งสมาธิ ไปสวดมนต์ เพราะกุศล อกุศล บุญ บาป เกิดได้ทุกวินาทีในชีวิต ผู้ไม่ประมาทพึงรู้ได้ด้วยตนเองว่า ทุกวินาทีเป็นวินาทีแห่งบุญ เราสามารถสร้างนรกสวรรค์ขึ้นมาด้วยตัวเราเองได้ทุกขณะ แม้ครั้งนี้จะพลาดไป ก็ยังมีครั้งหน้า โอกาสหน้า หรือชาติหน้า ถ้าเราไม่ประมาทเราก็พยายามทำกุศลในทุกเหตุการณ์ให้ได้
….คำว่าชาติหน้านั้นหมายรวมไว้ถึงการเกิดของกิเลสครั้งหน้า การเกิดเหตุการณ์ครั้งหน้า หรือชีวิตหน้าด้วย เช่น ถ้าเรายังมีกิเลสที่หลงในรสของไอติม เมื่อเจอไอติมครั้งต่อไปก็ยังต้องมีอาการอยากกินอีก แม้จะรู้สึกเบื่อไปเองก็อย่าเผลอคิดไปว่ากิเลสตาย แต่จริงๆแล้วกิเลสแค่เปลี่ยนไปเสพของอร่อยชนิดอื่นแทนแค่นั้นเอง
ชีวิตหน้าจะเป็นอย่างไรนั้น ก็ให้พฤติกรรมของตัวเองในชาตินี้เป็นตัวพยากรณ์ ไม่ต้องให้ใครมาบอกหรอกว่าจะไปที่ไหน เป็นอย่างไร เรารู้ดีอยู่แก่ใจว่าเราทำอะไรมา เราเบียดเบียนผู้อื่นแค่ไหน หรือสร้างประโยชน์ให้สังคมเท่าไหร่ เราก็รู้ชัดเจนอยู่ในตัวเอง
จริงๆแล้วชาติหน้าก็ไม่ต่างกันกับชาตินี้เท่าไหร่หรอก อะไรที่เรายึดติดมา เราก็ยังยึดติดเหมือนเดิม เหมือนละครเรื่องเก่าที่เปลี่ยนคนแสดงใหม่ เป็นอย่างนี้มาแล้วทุกชาติ ซ้ำไปซ้ำมา วนเวียนไม่มีจบสิ้น หลงโง่มาเกิดแล้วแบกความโง่ไปจนตาย ก็ต้องเรียนรู้กันต่อไปจนกว่าจะเกิดปัญญา จนกว่ากิเลสจะตาย
– – – – – – – – – – – – – – –
17.9.2557
เกิดมาทำไม?
เกิดมาทำไม?
เกิดมาแล้วก็ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม… รู้แค่เกิดมาแล้ว มีสุข มีทุกข์ มีหน้าที่ตามที่เขาอยากให้ทำ และดำเนินชีวิตไปตามทางที่กิเลสจะพาไป จนวันหนึ่งมีคนถามคำถามนี้กับเรา… “เกิดมาทำไม?”
เป็นคำถามที่ชวนให้คิด… เกิดมาทำอะไร แล้วทำไมถึงเกิดมา…
เกิดมาทำอะไร?… ในเมื่อเกิดมาแล้วทั้งที จะต้องเรียนรู้ ทำงานไปเรื่อยๆ และสุดท้ายก็เกษียณอายุงาน กลายเป็นคนแก่นั่งอยู่บ้านอย่างนั้นหรือ ในเมื่อเห็นปลายทางแบบนั้นแล้ว มันก็ไม่เห็นจะน่าเดินไปตรงไหน ชีวิตในกรอบสังคมช่างน่าเศร้า เหมือนทุกข์ที่วนเวียนไม่รู้จบตั้งแต่เกิดจนตาย สุดท้ายก็ตายไปโดยที่ไม่รู้ว่าเกิดมาทำอะไร
ทำไมถึงเกิดมา?… แล้วอะไรล่ะทำให้เราเกิดมาแบบนี้ หน้าตาแบบนี้ นิสัยแบบนี้ มีครอบครัว และสังคมแบบนี้ อะไรเล่าเป็นตัวกำหนด จะตอบว่าความบังเอิญก็ดูจะมักง่ายและคลุมเครือเกินไป สุดท้ายก็ต้องไปตามหาคำตอบว่าเราเกิดมาได้อย่างไร
ใช้เวลาตามหาคำตอบกันอยู่นานหลายปี จนพบว่าเราเกิดมาเพื่อใช้เวลาที่มีเรียนรู้ทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การดับทุกข์ และวิถีปฏิบัติไปสู่การดับทุกข์ ซึ่งก็คือการล้างกิเลส เป็นหน้าที่หลักที่ต้องทำไปพร้อมกับสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและโลกในช่วงเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่
ส่วนทำไมเราถึงเกิดมานั้น “กรรม” เป็นสิ่งที่ทำให้แต่ละชีวิตมีความแตกต่างกันออกไป และก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า หน้าที่มันยังไม่จบ ความอยากมันยังไม่หมดมันก็ต้องเกิดมาเสพต่อ เหมือนเราชอบขนม ถ้าวันนี้ได้กินขนม พรุ่งนี้มันก็อยากกินอีก…เกิดความอยากสะสมมากขึ้นไปเรื่อยๆ จนต้องพยายามหามาเสพให้ได้ แม้จะตายก็ต้องเกิดมาสนองความอยากกันต่อไป ถ้ายังเหลือความอยากอยู่ก็ยังต้องเกิดอยู่เรื่อยไป
เกิดมาทำไม?