Tag: พระไตรปิฎก
พระไตรปิฎกคือคลังปัญญาวุธ
ปัญญาวุธ = ปัญญา + อาวุธ น่าจะอยู่ในลักษณะของคำสนธิ
สมัยก่อนผมไม่อ่านหนังสือเลยนะ พอเรียนจบมานั่นแหละ จึงได้หัดอ่านหนังสือบ้าง แต่ก็เป็นพวก how to เรียนรู้ต่าง ๆ ก็เป็นคนรักการอ่านมากขึ้น พอมาอ่านพระไตรปิฎกนี่รู้ได้เลยว่านี่คือ “คลังแสง”
พระไตรปิฎก คือคลังปัญญาวุธ เป็นสิ่งที่พระเถระได้ทำทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังได้ใช้ ผ่านมากว่า 2500 ปี แม้จะมีฝุ่นอยู่บ้าง แต่อาวุธในคลังนี้ยังคมกริบเหมือนเดิม
เป็นอาวุธที่เอาไว้ประหารกิเลสได้เป็นอย่างดี และเอาไว้ใช้ปกป้องศาสนาจากคนเห็นผิดได้อีกด้วย เรียกว่าใช้ได้ทั้งภายในตนเองและภายนอก
ตัวผมนี่ค่อนข้างได้ประโยชน์มาก เพราะเข้าไปศึกษาแล้วเอามาใช้ได้เยอะ พวกอาวุธเบา ๆ นี่ใช้ได้เยอะ กลาง ๆ ก็พอได้ แต่หนัก ๆ ก็ไม่ไหวเหมือนกัน มีหลายบทหลายสูตรที่ยากเกินภูมิไปเหมือนกัน ต้องให้ระดับครูบาอาจารย์ท่านขยายให้ฟัง
แม้แต่บทเดียวกัน มีดเล่มเดียวกัน ผมก็จะใช้ได้เก่งไม่เท่าครูบาอาจารย์ ในแต่ละบทแต่ละสูตรจะสามารถตีความลึกซึ้งขึ้นได้ตามปัญญาญาณของแต่ละท่าน สรุปคือฝึกมามากก็เก่งมาก
ส่วนคนไม่มีสภาวะ ก็จะเอามีดไปตอกตะปู อะไรแบบนี้ คือไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งนี้คือมีด ดังนั้นพระไตรปิฎกจึงไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะใช้ได้เท่าเทียมกันทั้งหมด จึงเป็นเครื่องอาศัยในการศึกษา ไม่ใช่เครื่องยึดมั่นถือมั่น
เพราะสุดท้ายคนสัมมากับคนมิจฉาก็จะตีความหมายของคำหรือประโยคต่าง ๆ ในพระไตรปิฎกต่างกันอยู่ดีนั่นเอง
โสดดีหรือมีคู่ – ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
ผมได้ร่วมโครงการเก็บข้อมูลเพื่อการวิจัย โครงการโสดดีหรือมีคู่ โดยจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม ครับ ล่าสุดก็มีผลงานออกมาเผยแพร่กันมากมายทีเดียว เป็นแนวคิดของคนที่ปฏิบัติตนให้เป็นโสด ตามแนวทางของพุทธศาสนา ด้วยวิธีการสอนแบบแพทย์วิถีธรรม ก็ติดตามกันได้ครับ เนื้อหาด้านล่างก็ยกมาสำรองไว้ แต่ในหน้าหลักจริง ๆ ก็จะเป็นหน้า โสดดีหรือมีคู่ ครับ
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ ชื่อเล่น: ดิน เพศ:ชาย อายุ:36 ปี สถานภาพ:โสด (เคยมีแฟน)
รู้จักและปฏิบัติตามหลักแพทย์วิถีธรรมมาแล้วเป็นระยะเวลา:6 ปี
ก่อนพบแพทย์วิถีธรรม ท่านมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการอยู่เป็นโสดหรือมีคู่อย่างไร?
ตั้งแต่เด็กจนโตขึ้นมา ก็ศึกษาธรรมะทั่ว ๆ ไป ความคิดไม่เคยเปลี่ยนไปเลย คือ การอยู่เป็นโสด ไม่เคยมีในหัว ไม่รู้จัก ไม่รู้ว่าดีอย่างไร ไม่สนใจ ไม่ใช่เป้าหมาย แน่นอนว่าความเชื่อก็ต้องเป็นด้านตรงกันข้าม คือเชื่อว่ามีคู่แล้วชีวิตมันจะเป็นสุขแน่นอน อย่างน้อยก็ได้สุขจากสารพัดเสพ
จริง ๆ ในการมีคู่มันก็ทุกข์อยู่ แต่สุขลวงมันก็บังไว้ ให้หลง ให้งง ให้แสวงหา ให้ยึดติดอยู่แบบนั้น ไม่ละ ไม่หน่าย ไม่คลาย นั่นเพราะยังไม่เห็นทุกข์ที่เป็นของแท้ของจริง แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วจะเป็นทุกข์แสนสาหัสอยู่ก็ตาม แต่ด้วยความมืดบอด ตามองเห็น แต่ปัญญาไม่มี จึงไม่เห็นความจริงตามความเป็นจริง อีกทั้งธรรมะโลก ๆ จนถึงกระทั่งกลุ่มที่ศึกษา ก็ไม่มีพลังในการส่งเสริมการเป็นโสด ไม่สอนให้เห็นโทษภัยของการมีคู่ แม้ธรรมะที่แสดงอยู่ในโลกตามที่ได้รู้ เมื่อศึกษาดูก็ไม่ได้รู้สึกถึงโทษภัยใด ๆ เลย
หลังพบแพทย์วิถีธรรม ท่านมีความคิดเห็นอย่างไร?
มาเข้าค่ายครั้งแรกเป็นค่ายสุขภาพ แต่เมื่อได้ยินอาจารย์หมอเขียว ยกธรรมะในหมวดของการอยู่เป็นโสดและคนคู่ โดยยกพระไตรปิฎกมาอ้างอิง ก็ได้รู้มากขึ้น ได้เข้าใจถึงน้ำหนักที่มากขึ้น ได้ความชัดเจนอย่างที่ไม่เคยรู้มาก่อน
แต่ถึงกระนั้นความอยากมีคู่ก็ไม่ได้หายจางไปไหน ความรู้ยังคงเป็นเพียงแค่ความรู้ ไม่ใช่ความเข้าใจตามจริง ก็ยังมีจิตแสวงหาอยู่ สมัยนั้นก็นั่งหน้าเวที อาจารย์ก็แสดงธรรมเรื่องคู่ ใจก็คิดถามอาจารย์ว่า แล้วมีได้ไหม? แล้วมีได้ไหม? ว่าแล้วก็หาทางจนได้ มันมีช่องเล็ก ๆ ให้มุดเข้าไป เป็นช่องอนุโลมของเด็กน้อย เราก็คิดว่าเราไม่ไหวหรอกชาตินี้ ขอมีก่อนแล้วกันนะ เอาฐานนี้แหละ
ไป ๆ มา ๆ เจอของจริงเลย คือต้องเจอทุกข์จากความรักจริง ๆ ใช้เวลาเกือบ 2 ปีกว่าจะเข้าใจ ว่าความทุกข์ที่แท้จริงคืออะไร ประโยชน์ที่แท้จริงคืออะไร อะไรคือการเกื้อกูล อะไรคือการเบียดเบียน อะไรคือความรักที่แท้จริง อะไรคือความลวงของกิเลส แต่กว่าจะผ่านมันมาได้ก็ไม่ได้ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก ถ้าจะเปรียบเทียบก็เหมือนผ่านสงความมา แขนขาด ขาขาด จากการรบไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งในสองปี เล่นจริง รักจริง เจ็บจริง ทุกข์จริง เรียกว่าสาหัส แต่ก็ทำให้ได้เข้าใจทุกกระบวนการของกิเลสในเรื่องความรัก ตั้งแต่เกิดยันดับ จะเรียกว่าคุ้มค่าไหม? ก็ไม่หรอก เพราะถ้าเราไม่หลงไปแบบนั้นมันก็ดีกว่า เพราะอะไรที่ทำไปแล้วมันก็จะกลายเป็นวิบากกรรม มันก็ต้องรับ มันก็ต้องทนใช้
สุดท้ายก็พบว่าที่พระพุทธเจ้าตรัส ที่ครูบาอาจารย์สอน นี่แหละจริงที่สุด ผาสุกที่สุด ทางอื่นไม่สุขเลย ทุกข์ไม่จบไม่สิ้น ตอนนี้เราปฏิบัติจนได้ปัญญามาแล้ว เราก็ไม่ต้องไปโง่แสวงหาทุกข์มาใส่ตัวแล้ว มันก็สบายไป
ท่านมีการปฏิบัติต่อไปอย่างไร?
การปฏิบัติต่อจากนี้ ก็ตั้งใจว่าจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่นอย่างแท้จริง ให้ได้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป คือตนเองก็ยินดีในการอยู่เป็นโสด ยินดีในธรรมที่พาให้คนเป็นโสด และยังส่งเสริมผู้อื่นให้ยินดีและปฏิบัติตนในการอยู่เป็นโสด หรือถ้าอยู่เป็นคู่ ก็ให้มีศิลปะในการพราก ในการปฏิบัติเพื่อความละหน่ายจากคลายจากความยึดมั่นในความผูกพันธ์ ในบทละครที่หลงไปเล่น เพราะจริงๆ แล้ว สถานะคู่คือสถานะสมมุติที่คนปั้นกันขึ้นมาเอง จริง ๆ มันไม่มีอะไรหรอก คนเต็มคน จะไม่ต้องการแสวงหาคนอื่นมาเติม และยังสามารถเผื่อแผ่แบ่งปันโดยไม่ยึดมั่นถือมั่น หรือสำคัญมั่นหมายว่านี่เป็นเรา นี่เป็นของเรา นี่เป็นคนของเรา นี่คนรักเรา นี่ญาติเรา นี่เพื่อนสนิทเรา ฯลฯ มันจะเป็นอิสระจากสภาพยึดจะเสพสิ่งดีจากบุคคลหนึ่ง ๆ
และเพื่อการเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับผู้อื่น ก็จะพยายามรักษาระยะห่างกับเพศตรงข้ามที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับชีวิต ไม่ให้สนิทเกินไป ไม่ให้หวั่นไหวจนเกินเลย โดยใช้ปัญญาของเรานี่แหละ ในการตรวจจับอาการที่ดูเหมือนจะเป็นอกุศล ถ้ามีแนวโน้มว่าท่าจะไม่ดีก็ถอยออกมา หรือคบหาในระยะที่ไม่ใกล้จนเป็นอกุศลในใจเขา
ภาพยนต์อาบัติ กับความเสื่อมของศาสนาพุทธ
การนำเสนอภาพยนต์ “อาบัติ”
เรื่องนี้ตอนแรกก็ไม่ได้มีกระแสอะไรมากมาย แต่พอถูกแบนด้วยเหตุผลที่ว่ามันไม่งาม ฯลฯ สรุปคือรับไม่ได้ที่จะเห็นภาพศาสนาพุทธเป็นเช่นนั้น ก็เกิดกระแสขึ้นมาในหลายๆที่
ผมได้เห็นเนื้อหาบางส่วนจากตัวอย่างแล้ว มองเป็นเรื่องธรรมดา เพราะจากที่ศึกษาในพระไตรปิฎก เรียกว่าที่โหดกว่านี้ยังมีอีกเยอะ บรรยายถึงความเสื่อมไว้เป็นขั้นเป็นตอน
เช่น นักบวชในศาสนาชายหญิงเปิดของลับให้กันดู หมายจะให้อีกฝ่ายเกิดความใคร่อยากสมสู่กัน หรือนักบวชในศาสนาแม่ลูกสมสู่กัน และยังมีอีกหลายกรณีที่เข้าขั้นวิตถาร ก็มีให้ศึกษากันทั่วไปในพระไตรปิฎก
ซึ่งเป็นสิ่งที่พุทธศาสนิกชนควรศึกษา เพราะความเสื่อมในศาสนามีอยู่เสมอ และมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ซึ่งถ้าเราไม่ศึกษา เราก็จะไม่รู้ว่ามันเริ่มต้นอย่างไร และควรจะแก้ไขอย่างไร
ซึ่งจะทำให้ศาสนาพุทธค่อยๆกลายเป็นศาสนาแห่งความงมงาย เป็นเรื่องลึกลับ แตะต้องไม่ได้ กลายเป็นศาสนาเทพเทวดา นักบวชกลายเป็นผู้วิเศษ บริสุทธิ์ได้เพียงแค่ห่มผ้าเหลือง
ในสมัยพุทธกาลนั้นฆราวาสมีบทบาทมากกว่าในปัจจุบัน การคว่ำบาตรนักบวชทุศีล ก็เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้ายังสรรเสริญ ถ้าฆราวาสไม่ดูแลศาสนา แล้วใครจะดูแล?
30+ โสดก็ทุกข์ ไม่โสดก็ทุกข์( โลกธรรม )
30+ โสดก็ทุกข์ ไม่โสดก็ทุกข์( โลกธรรม )
เมื่ออายุล่วงเลยเข้าไปถึงสามทศวรรษ สิ่งต่างๆก็เปลี่ยนแปลงไป ทั้งร่างกาย ความคิด โดยเฉพาะเสียงจากสังคม
โดยส่วนมากความเปลี่ยนแปลงของวัยจะมีผลอย่างมากกับผู้หญิงและมีสิ่งที่ทำให้กังวลใจเกิดขึ้นมากมาย ทำให้เกิดความเข้าใจว่า เมื่อเข้าช่วงอายุประมาณ 30 ขึ้นไปจะต้องรีบหารถไฟขบวนสุดท้าย เป็นความเชื่อจากสังคมและโลกที่ปรุงแต่งให้เราคิดและกังวลเกี่ยวกับชีวิต โดยเฉพาะในเรื่องของการมีคู่
ทำให้คนที่อยู่ในช่วงอายุนั้นๆเกิดความทุกข์ ความกังวลใจ จากกระแสสังคมและความเชื่อที่มีโหมกระหน่ำเข้ามาจนทำให้จิตใจสั่นไหว ไม่มั่นคง ไม่เป็นไปตามเหตุและผล แต่เป็นไปตามกิเลส เป็นไปตามโลกธรรม เป็นปลาที่ไหลไปตามน้ำ ในบทความนี้จะมาไขเสียงเรียกร้องของกิเลสที่มักจะได้ยินกันในสังคมของคนในช่วงอายุนี้กัน
1). ทุกข์ของคนโสด
เป็นคนโสดก็มีความทุกข์ในแบบของคนโสด เราเป็นคนโสดมาตั้งแต่แรกกันทั้งนั้น แต่ใครจะเสียความโสดไปในขั้นตอนไหนก็ลองมาศึกษากันเลย
1.1). โสดไม่เป็นสุข
พออายุเข้า 30+ ก็ยังโสดอยู่ คนรู้ใจก็ไม่มี คนที่เข้าตาก็มองไม่เห็น และด้วยความที่ยังโสดแต่ก็ไม่มีความสุข ชีวิตยังเหมือนขาดอะไรไป ยังพร่องอยู่ ไม่รู้สึกว่าเต็มเสียที มองเห็นคนมีคู่ก็คิดไปว่าถ้าเรามีก็คงจะสุข ใครเขาว่ามีคู่ก็มีความสุข มันก็เลยทำให้คนโสดไม่เป็นสุข เพราะไม่เห็นคุณค่าของความโสด ไม่มีปัญญารู้แจ้งในประโยชน์ของความเป็นโสด กลับไปเห็นดีเห็นงามในการมีคู่จึงทำให้โสดอย่างไม่เป็นสุข
โลกธรรมก็จะเข้ามาช่วยเร่งรัด เช่นเพื่อน ครอบครัว คนใกล้ชิด เข้ามาบอกว่าทำไมไม่มีคู่ล่ะ, ไม่มีแฟนสักทีล่ะ, อยู่คนเดียวตอนแก่จะลำบากนะ, เป็นคู่ปฏิบัติธรรมก็ได้นะ เหตุผลร้อยแปดพันเก้ากระหน่ำเข้ามาด้วยคำพูดเสริมกิเลสซ้ำๆย้ำๆ จนคนโสดเริ่มเมาหมัด อยู่ไม่เป็นสุข ถึงแม้ว่าตอนแรกคิดว่าตั้งใจจะโสด แต่สุดท้ายก็อาจจะหวั่นไหวไปตามกิเลสจนต้องแสวงหาก็ได้
1.2). โสดแสวงหา
พอโสดอย่างไม่เป็นสุขและโดนความเชื่อตามที่สังคมเข้าใจกันว่าเมื่อใกล้ถึงวัยนี้ โอกาสลงจากคานช่างยากเต็มที ก็จะเริ่มแสวงหาใครสักคนมาช่วยทำให้ความโสดนั้นหายไป โดยมีตัวเลขที่เรียกว่าอายุเป็นปัจจัยเร่งรัด ทำให้หน้ามืดตามัวแสวงหาคู่อย่างไม่มีสติ ทั้งนี้ทั้งนั้นอายุที่สมควรจะมีคู่นั้นเป็นเพียงสมมุติโลก ในพระไตรปิฎกมีบันทึกไว้ว่า เมื่อถึงกลียุคหญิงสาวจะแต่งงานและมีบุตรได้เมื่ออายุ 5 ขวบ แต่เมื่อผ่านพ้นกลียุคและเจริญไปจนกระทั่งมนุษย์มีอายุ 80,000 ปี หญิงสาวจะแต่งงานก็ต่อเมื่อมีอายุ 500 ปี ทั้งหมดนี้เป็นสมมุติโลกทั้งนั้น และสิ่งที่เราเชื่อกันว่าขบวนสุดท้ายก็เป็นสิ่งที่เราหลงเชื่อกันต่อๆมานั่นเอง เป็นค่าสถิติที่เก็บได้ แต่ใช้ตามความจริงไม่ได้ เพราะเรามีกรรมเป็นของของตน ดังนั้นสถิติจึงไม่มีผลใดๆเลยในวิถีของพุทธ
และเมื่อตั้งหน้าตั้งตาแสวงหาแต่พบว่าหาไม่ได้เสียที หากกิเลสน้อยก็ปลงและจมทุกข์ไป หากกิเลสมากก็จะปรุงแต่งมากขึ้น เสริมสวยมากขึ้น แต่งโป๊มากขึ้น บริหารเสน่ห์มากขึ้น เอาง่ายๆว่ายั่วกิเลสหาเหยื่อนั่นแหละ ก็ใช้การเสริมกิเลสเป็นเหยื่อล่อกิเลสกันไป
โลกธรรมจะเข้ามาเสริมทัพของกิเลสโดยอาจจะมี ครอบครัว เพื่อน เป็นพ่อสื่อแม่สื่อให้ ชักนำคนนั้นคนนี้เข้ามาในชีวิตเพื่อช่วยให้เราได้แสวงหาหรือมีคู่ได้มากขึ้น คนที่อยากมีคู่มากก็จะพ่ายแพ้ต่อพลังของกิเลสไปในที่สุด
1.3). โสดเลือกได้
ทีนี้พอมีคุณสมบัติครบพร้อม รูปงาม เสียงงาม ฐานะ หน้าที่การงาน ฯลฯ เมื่อผ่านพ้นช่วงแสวงหาจนได้เป้าหมายมา อย่างน้อยๆก็จะมีมาให้เลือกหนึ่งคนหรือที่เรียกกันว่าคนที่ดูๆกันไป แต่ในสังคมทุกวันนี้ดูไปถึงร่างกายแล้ว แม้จะมีสัมพันธ์ทางกายกันแต่ก็ยังไม่นับว่าเป็นคู่กันก็มีมาก เป็นความเสื่อมอย่างแท้จริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้
คนที่มีโอกาสเลือกมากก็มักจะคัดเลือกคนตามกิเลสของตน ดังคำตัดพ้อที่นิยมในสมัยนี้ว่า “ชอบคนดี รักคนหล่อ แต่งงานกับคนรวย” สุดท้ายไม่ว่าจะดีแค่ไหน ปัจจัยที่จะมีน้ำหนักในการเลือกนั้นก็คือคนที่สนองกิเลสตนให้ได้มากที่สุด ใครสนองกิเลสของฉันได้มากที่สุด ต้องสนองเท่าที่ฉันต้องการได้ด้วยนะ ก็จะได้สิทธิ์เป็นทาสกิเลสของฉันไปจนตาย โดยไม่มีสิทธิ์เลิก
แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่หลายคนใฝ่ฝันว่าจะได้คนที่เพียบพร้อมมาสนองตนเอง แต่ในชีวิตจริงนั้นมักจะไม่ได้สมใจทั้งหมด คนที่เข้ามาให้เลือกจะพร่องๆขาดๆ คนนั้นดีตรงนั้น คนนี้ดีตรงนี้ คนนั้นรวยแต่เลว คนนั้นดีแต่จน มันก็จะทำให้ชั่งน้ำหนักยาก เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์นักหรอก
ซึ่งเวลาเลือกก็คงจะมีไม่มากสำหรับคนวัย 30+ โลกธรรมจะเข้ามาเป็นตัวเร่ง ถามอยู่นั่น เร่งอยู่นั่น เมื่อไหร่จะเลือก คนนั้นดีนะ คนนี้ดีนะ คนนั้นจนอย่าไปเอาเลย คนนั้นเจ้าชู้แต่รวยเอาเงินไว้ก่อนดีกว่า พอมันไม่ได้มีแค่กิเลสของตัวเราเป็นตัวผลักดันแต่ยังมีกิเลสของญาติมิตรสหายที่กิเลสหนาเป็นตัวร่วม โสดที่เลือกได้ก็เหมือนจะไม่ได้เลือกด้วยเหตุและผลอันเป็นกุศล แต่มักจะเลือกด้วยเหตุที่สามารถสนองผลคือสนองกิเลสของฉันและหมู่คณะของฉันได้
2). ทุกข์ของคนไม่โสด
สุดท้ายแล้วพอโสดแล้วมันอยู่ไม่เป็นสุข มันทุกข์มากก็เลยมีคู่เสียเลย เอามาสนองความอยากเสียเลยจะได้ลดทุกข์ของการไม่มีคู่ลงบ้าง แต่ใครจะรู้ว่าแท้จริงแล้ว ทุกข์มันไม่ได้ลดลงแต่กลับเพิ่มขึ้นและที่สำคัญโลกธรรมก็จะยังอยู่กับเราเช่นเคย
2.1). คบหาดูใจ
เมื่อเราเริ่มคบหาดูใจกัน หรือที่เรียกว่าเป็นแฟนกัน คือคนนี้แหละที่น่าจะเป็นคู่แต่งงานในอนาคต ตอนแรกก็คิดว่าจะคบหาดูใจกันไป แต่ในความจริงมันไม่เป็นแบบนั้น สภาพของแฟนในปัจจุบันแทบไม่ต่างกับคู่แต่งงาน เพียงแค่ไม่ได้จัดงานแต่งงานกันเท่านั้น
กิเลสจะเร่งเร้าให้ทำมากกว่าคบหาดูใจ คือพยายามจะคบหาดูร่างกายกันไปด้วย เมื่อพลาดพลั้งไปจึงเกิดสภาพผูกมัดที่มากกว่าแฟน เพียงแต่ยังเรียกว่าแฟนอยู่ แต่ถึงอย่างนั้นสิ่งเหล่านี้ก็ยังเป็นแค่เพียงปากทางแห่งนรกเท่านั้น
เมื่อคบหาดูใจกันในวัย 30+ คบกันไม่ทันไรก็จะมีแต่คำถามและคำแซวมากมาย หวานกันจังนะ, เข้ากันดีนะ, ดูเหมาะสมกันดีนะ, เมื่อไหร่จะแต่งงานกัน ฯลฯ เจอใครเขาก็ถามแบบนี้ กลายเป็นโดนโลกธรรมสะกดจิต ตัวเองก็ต้านกิเลสไม่เป็นอยู่แล้ว และโดยมากมักจะเห็นดีเห็นงามกับการแต่งงานเสียด้วย
สุดท้ายเมื่อโดนโลกธรรมรบเร้าจนกิเลสโต อยากแต่งงานขึ้นมาอย่างจริงจัง ก็เลยพยายามคุยกันเรื่องแต่งงานบ่อยๆ หาเหตุที่จะได้แต่งงาน ไม่มีเงินก็ขยันหา ไม่มีเรื่องราวก็พยายามสร้าง สรุปคือพยายามสนองกิเลสจนทั้งคู่พร้อมใจจะแต่งงานนั่นเอง
2.2). แต่งงาน
เมื่อแต่งงานแล้ว ด้วยวัย 30+ เรื่องที่ตามมาก็มักจะเป็นเรื่องของลูก คนจะถามกันว่าจะมีลูกไหม, รีบมีลูกนะเดี๋ยวไม่ทันใช้, มีลูกน่ารักนะ, คิดนานไม่ดีนะ, มีลูกตอนแก่สุขภาพจะไม่อำนวย, มีลูกตอนนี้พ่อแม่ยังช่วยดูแลไหว ฯลฯ โลกธรรมมันจะเข้ามายั่วกิเลสแบบนี้ จริงๆคือมันจะลากลงนรกไปด้วยกันนั่นแหละ
คนที่พอจะต้านทานกระแสโลกได้ก็แต่งงานแต่ไม่มีลูก อยู่กันไปแบบนั้น อย่างดีเลยก็ถือศีล 8 อยู่กันแบบพรหมไป เจริญในธรรมได้แบบมีวิบากกรรมตามมาหลอกหลอนประมาณหนึ่ง แต่ไม่มีทางเป็นสุขและสบายเท่าคนโสด ส่วนคนที่กิเลสหนาก็จะเห็นว่าการแต่งงานนี่แหละดี กิเลสมันบังอยู่แบบนี้มันก็จะเห็นแบบนี้ มันก็ถูกตามแบบของคนเห็นผิดแบบนี้
ส่วนคนที่ต้านทานกระแสโลกไม่ไหว และตัวเองก็อยากมีลูกด้วย สุดท้ายก็พยายามหวังให้มีลูก ที่ว่าหวังเพราะการมีลูกกับไม่มีลูกในปัจจุบันไม่ก็ไม่ได้ต่างอะไรที่กระบวนการนัก เพราะมีการสมสู่กันเป็นประจำอยู่แล้ว แต่การจะติดลูกนั้นก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง บางคนมีลูกยากก็ทุกข์ บางคนมีลูกง่ายก็ทุกข์ มันก็ทุกข์ไปคนละแบบ
2.3). ครอบครัว
ทีนี้พอมีลูกแล้วองค์ประกอบของครอบครัวก็ครบพร้อมทันที เป็นชีวิตอุดมคติที่หลายคนใฝ่ฝัน เกิดเป็นสภาพที่โดนครอบไว้ออกไปไหนไม่ได้อีกต่อไป เป็นหนี้ เป็นทาส ขาดอิสระ ต้องเอาชีวิต เวลา พลังงาน ทรัพยากรต่างๆมาดูแลเด็กที่เกิดขึ้นมาใหม่คนนี้ ทุกข์ตรงนี้ต้องรับไปเต็มๆ
ส่วนชาวโลกที่มาช่วยเสริมโลกธรรมตั้งแต่แรกเขาไม่มารับทุกข์ด้วยหรอก เขามาเล่นกับเด็กแค่พอสนุกไม่นานเขาก็ไป ส่วนหน้าที่เช็ดขี้เช็ดเยี่ยวดูแลชีวิตเด็กคนนี้ไปอีกจนกว่าเขาจะตายก็อยู่ที่คนสร้างนั่นแหละ หน้าที่ดูแลบุตรมันไม่ได้หยุดแค่เขาทำงานเลี้ยงตัวเองได้นะ แต่มันต้องดูแลเขาไปตลอดโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆและไม่ว่านานเท่าไหร่ เรียกง่ายๆว่าดูแลจนกว่าจะหมดวิบากกรรมที่ตัวเองสร้างมา
แล้ววิบากกรรมมันจะหมดได้อย่างไร ก็เมื่อตัวเองสร้างเด็กคนนั้นมา เด็กคนนั้นก็เป็นผลแห่งกรรมที่เราต้องดูแลนั่นแหละ ก็รับกันไปจนตายกันไปข้างหนึ่งนั่นแหละ บางทีตายแล้วยังไม่จบเลย เกิดมาใหม่ยังต้องมารับกันต่ออีก
….
ดังจะเห็นได้ว่าถึงแม้ว่าเราจะไม่รู้สึกอยากมีคู่ ไม่มีความอยากมีครอบครัวเป็นส่วนตัว แต่ถ้าเราไม่มีพลังพอที่จะต้านกระแสโลกธรรม เราก็จะหลงไปตามโลก หลงไปตามที่เขาว่าดี ตามที่เขายึดถือ หลงไปตามโลกียะนั่นเอง
แต่คนโดยส่วนมากนั้นมีความอยากมีคู่ อยากมีคนสนองกิเลส อยากมีครอบครัว อยากมีลูกมาเป็นหลักประกันผูกรั้งคู่ของตนไว้กับคำว่าครอบครัว (แม้สุดท้ายจะกลายเป็นบ่วงที่ผูกรั้งตัวเองก็ตาม) เรามักจะมีกิเลสเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อได้รับแรงผลักดันจากกิเลสของสังคมและโลกหรือที่เรียกว่าโลกธรรม ก็มักจะละทิ้งความโสดและความปกติสุขไปโดยลำดับเพื่อแลกมาซึ่งบาป เวร ภัย ภาระ อกุศลกรรม เพียงเพื่อที่จะได้เสพสมใจตามที่โลกเขาเห็นว่าดี ตามที่โลกเขายอมรับ
คนที่อยู่ในวัย 30+ มักจะโดนแรงจากโลกธรรมกระหน่ำแบบนี้ และเมื่อต้านไม่ไหวก็จะเป็นทุกข์ โสดก็ทุกข์ ไม่โสดก็ทุกข์ ต่างจากคนที่โสดอย่างเป็นสุข ที่เป็นสุขเพราะมีสภาพรู้เห็นความจริงตามความเป็นจริงในเรื่องคู่ครอง โลกธรรมที่กระหน่ำเข้ามาไม่ว่าจะมากน้อยหรือรุนแรงซับซ้อนเพียงใดก็ไม่อาจจะทะลุทะลวงกำแพงแห่งปัญญาได้เลย มิหนำซ้ำปัญญาเหล่านั้นแหละจะไปทำลายโลกธรรมจนสิ้นซากไม่เหลือท่าใดๆเลย
ถึงแม้ว่าสิ่งที่จะกดพลังแห่งโลกธรรมไว้ได้คือการใช้อัตตา คือความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน มีความมั่นใจในตัวเองสูง จะสามารถป้องกันภัยของโลกธรรมได้บ้าง ดังที่เห็นได้บ้างว่ามีคนจำนวนหนึ่งสามารถต้านโลกธรรมด้วยความแข็งแกร่งในตน นั่นก็คืออัตตา แต่ก็ยังไม่ใช่จุดที่ดีที่สุดที่จะป้องกันกิเลสได้ เพราะดีกว่านั้นยังมี สุขกว่านั้นยังมี สมบูรณ์กว่านั้นยังมี
เราจึงต้องศึกษาเกี่ยวกับกิเลสให้เข้าใจอย่างรู้แจ้งชัดเจน ถ่องแท้ในกิเลสเรื่องนั้นๆจนสามารถเห็นความจริงตามความเป็นจริง ข้ามพ้นกามและอัตตา ดำเนินอยู่บนทางสายกลางที่ไม่เปื้อนไปในด้านใดด้านหนึ่ง นั่นแหละคือที่สุดของการปฏิบัติ
– – – – – – – – – – – – – – –
26.2.2558